วันนี้ (8 สิงหาคม 2564) ที่รัฐสภา ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) ได้แถลงข่าวกรณีปมจ่ายสินบนของผู้บริหารโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประเทศไทย แก่ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่รัฐของไทย ในการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์โตโยต้าพรีอุส ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รวมมูลค่ากว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.1 หมื่นล้านบาท ระหว่างปี 2553-2555

ธีรัจชัยกล่าวว่า การตรวจสอบครั้งนี้เป็นการต้องการหาข้อเท็จจริงของคดีว่าเป็นอย่างไร ไม่มีการตั้งธง ถ้าหากเป็นเรื่องไม่จริง จะได้หาทางออกเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของประเทศชาติ แต่หากมีการทุจริตจริงจะทำอย่างไร เพราะเรื่องนี้ถือเป็นความเสื่อมเสียต่อกระบวนการยุติธรรมที่สร้างความเสียหายอย่างมากต่อประเทศ ส่งผลกระทบทั้งความเชื่อมั่นในประเทศและต่างประเทศ สำหรับวันนี้ ทางคณะกรรมาธิการได้เชิญ โยริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และตัวแทนจากสำนักงานกฎหมาย เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ที่มารับช่วงต่อการดำเนินคดีนี้ในชั้นฎีกามาพูดคุยสอบถาม

ข้อเท็จจริงล่าสุดตอนนี้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้มีการยื่นฎีกาเรียบร้อยแล้ว และทางพนักงานอัยการได้ทำการยื่นแก้ฎีกาแล้วเช่นกัน ขณะนี้คดีจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จากการสอบถาม ผู้บริหารของโตโยต้าพบว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการว่าจ้างสำนักงานกฎหมายระหว่างคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้ลาออกไปแล้วทุกกรณี ซึ่งหมายความว่าคนที่เกี่ยวข้องในคดีไม่ได้อยู่ในบริษัทโตโยต้าแล้ว นอกจากนี้ยังมีการสอบถามไปถึงกระบวนการว่าจ้างบริษัทสำนักงานกฎหมายอันนานนท์ ที่ถูกพาดพิงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินคดีนี้ ถึงกระบวนการจ้างงานว่าเป็นอย่างไร

ภายหลังการตรวจสอบรายได้ของบริษัทอันนานนท์ตั้งแต่ปี 2553 พบว่าในปี 2553 บริษัทอันนานนท์มีรายได้ 2 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2.7 แสนบาท รายได้รวม 1.8 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 3 แสนกว่าบาท แต่ปี 2556-2557 กลับมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปี 2558 ที่มีรายได้รวมถึง 63 ล้านบาท, ปี 2559 มีรายได้รวม 56 ล้านบาท, ปี 2560 มีรายได้รวม 110 ล้านบาท, ปี 2561 มีรายได้ 409 ล้านบาท และปี 2562 มีรายได้ 46 ล้านบาท

ข้อสังเกตคือ จากเดิมบริษัทอันนานนท์มีรายได้เพียงหลักแสนหรือหลักสองล้านต่อปี กลับมีรายได้ร้อยล้านกว่าบาทต่อปีในช่วงเวลา 3-4 ปี ซึ่งเวลาของการก้าวกระโดดของรายได้ทับซ้อนกับคดีโตโยต้า จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสอบถามถึงกระบวนการจ้างงานว่าทำอะไรบ้าง

ทางบริษัทโตโยต้าได้ตอบกลับมาว่า มีการจ้างว่าความเรื่องนี้จริง และมีการจ่ายค่าว่าจ้างไปแล้ว 18 ล้านดอลลาร์ฯ ราว 589 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับข่าวที่บอกว่ามีการว่าจ้างมูลค่ารวม 27 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 844 ล้านบาท ส่วนอีก 9 ล้านดอลลาร์ฯ จะมีการชำระภายหลังบริษัทโตโยต้า ประเทศไทยชนะการอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีนำเข้ารถโตโยต้าพรีอุส ซึ่งทางคณะกรรมการธิการได้ขอเอกสารสำคัญอีกจำนวนมาก เช่น หลักฐานเกี่ยวกับการที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา และกระทรวงยุติธรรม สหรัฐฯ ได้มีการสอบสวน รวมถึงขอสัญญาว่าจ้างสำนักกฎหมายอันนานนท์ และอาจจะมีการเชิญโยริอากิ ยามาชิตะมาให้ข้อมูลอีกครั้ง

“ในเรื่องของภาษี 1.1 หมื่นล้านบาท ผมเชื่อว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของคดีที่มีมูลค่ามาก แต่ละฝ่ายพยายามอ้างความชอบธรรมในการยกเว้นภาษีในส่วนของโตโยต้า และทางกรมศุลกากรก็อ้างการนำเข้าชิ้นส่วนรถที่สามารถนำมาประกอบได้ 80% ขึ้นไป สามารถแยกเก็บภาษีได้เต็มเหมือนรถทั้งคัน ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้จะเป็นเงื่อนงำไปสู่การกล่าวหาที่มีชื่อไปถึงอดีตตุลาการลำดับสูงของประเทศไทยหรือไม่ เรื่องนี้กรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด และจะรีบมารายงานให้ทราบ ถ้าเรื่องนี้ไม่ผิดก็ต้องมีมาตรการดำเนินการเพื่อให้มีคนรับผิดชอบที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเสียหาย แต่ถ้าผิด เราควรต้องทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย ใครทำผิดรับสินบนก็ต้องเป็นไปตามนั้น ไม่ว่าจะตำแหน่งใหญ่โตหรืออะไรก็แล้วแต่ เราจะทำให้เต็มที่ ไม่ตั้งธง และทำทุกอย่างให้โปร่งใส”

สำหรับเรื่องดังกล่าว เริ่มต้นจากกรมศุลกากรตรวจพบว่าโตโยต้าประเทศไทย ได้นำเข้าอะไหล่รถยนต์โตโยต้าพรีอุส เมื่อปี 2553 อย่างไม่ถูกต้อง ทั้งที่มีการนำเข้าชิ้นส่วนแล้วมากกว่า 245 ครั้ง มีการจดทะเบียนไปแล้ว 1 หมื่นคัน โดยต้องเก็บภาษีย้อนหลังกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท แต่โตโยต้าประเทศไทยได้โต้แย้งแล้วว่าถูกต้องตามข้อตกลง JTEPA ทุกประการ เรื่องดังกล่าวไปถึงชั้นศาล หลังจากโตโยต้าตัดสินใจฟ้องกรมศุลกากรและคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากร ต่อศาลภาษีอากรกลาง โดยโตโยต้าประเทศไทยชนะคดีในศาลชั้นต้น แต่แพ้คดีในศาลอุทธรณ์

ทั้งนี้ ในระหว่างที่โตโยต้าประเทศไทยมีการยื่นฎีกาสู้ต่อ ปรากฏข่าวว่า โตโยต้า คอร์ปอเรชัน สหรัฐอเมริกา ได้ส่งเอกสารต่อคณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ว่ามีการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบนในประเทศไทย ผ่านการจ่ายสินบนให้กับผู้พิพากษาหลายคน โดยมีบริษัทกฎหมายแห่งหนึ่งเป็นผู้จ่ายแทน เพื่อช่วยคดีดังกล่าวในชั้นศาลฎีกา อย่างไรก็ตาม โตโยต้าประเทศไทยได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด พร้อมกับยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลมาโดยตลอด

กระนั้นเอง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ Law360 ของสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงรายชื่อผู้พิพากษาที่อาจเกี่ยวข้อง และให้ข้อมูลว่าทางการสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าตรวจสอบการละเมิดกฎหมายและการจ่ายสินบนต่อไป ขณะที่ผู้พิพากษาที่มีรายชื่อเกี่ยวข้องนั้นปฏิเสธเรื่องการรับสินบน พร้อมทั้งเดินทางไปยังกองบังคับการปราบปราม เพื่อให้ตรวจสอบและดำเนินคดีกับเว็บไซต์ Law360 ขณะที่สำนักกฎหมายที่ถูกระบุว่าเกี่ยวข้องกับการจ่ายสินบนนั้น ได้แจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทและนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ไว้แล้วที่สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาในเวลานั้น ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 4 คน โดยทั้งหมดเป็นผู้พิพากษาชั้นฎีกาและชั้นอุทธรณ์ โดยให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวเสนอความเห็นว่ากรณีมีมูลเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หรือไม่มีมูลความผิดทางวินัย ขณะที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการต่อข้อกล่าวหากรณีภาษีอากรที่เป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน

Tags: , , ,