เรื่องราวของ ‘แอม ไซยาไนด์’ กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหลายสื่อแถวหน้าทั้งไทยและต่างประเทศในหลายวันที่ผ่านมา หลังจากสังคมไทยจับจ้องเหตุการณ์ ‘การเสียชีวิตปริศนา’ ของเหยื่อนับ 13 ราย ขณะที่มีผู้รอดชีวิตเพียงหนึ่งเดียว
มากกว่าความสนใจถึงวิธีการสังหารด้วย ‘สารเคมีไซยาไนด์’ หรือมูลเหตุในการก่ออาชญากรรม คือปัญหาหนี้สิ้นและการหวังผลในทรัพย์สมบัติ ผู้คนยังจับตามองคดีดังกล่าวด้วยความหวาดกลัว เพราะเข้าข่าย ‘การเป็นคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง’ แม้ว่าการสอบสวนยังไม่ชัดเจน และผู้ต้องหายังคงใช้สิทธิที่จะไม่พูด ไม่ตอบคำถาม และยืนยันการต่อสู้ทางกฎหมายเท่านั้น
อันที่จริง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คดีฆาตกรรมต่อเนื่องเกิดขึ้นในไทย หากย้อนดูเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ‘บุญเพ็ง หีบเหล็ก’ อาชญากรในสมัยรัชกาลที่ 6 หรือแม้แต่ ‘ซีอุย’ แพะรับบาป อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม
แต่ประเทศไทยยังไม่คุ้นเคยกับคดีในลักษณะนี้มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการสอบสวนคดีแอม ไซยาไนด์ เป็นไปตามที่หลายคนคาดการณ์ไว้จริง นี่จะเป็นการก่ออาชญากรรมอันน่าสยดสยองครั้งใหญ่ของประเทศ และทำลายมายาคติดั้งเดิมว่า “อาชญากรเป็นผู้หญิงไม่ได้” เพราะพละกำลังและศักยภาพการต่อสู้ไม่เทียบเท่าผู้ชาย
อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปในสังคมตะวันตก ฆาตกรรมต่อเนื่องเกิดขึ้นบ่อยมาก โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1970-2000 จนถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ หรือเกมอยู่บ่อยครั้ง เช่น ซีรีส์เกมเซอร์ไววัลแนวสยองขวัญ The Dark Pictures Anthology: ‘The Devil in Me’ โดย Bandai Namco Entertainment มีเนื้อเรื่องหลัก คือเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์โรงแรมสยองขวัญ ซึ่งในอดีตเคยเป็นรังก่ออาชญากรรมของ เอช. เอช. โฮล์มส์ (H.H. Holmes) ฆาตกรต่อเนื่องคนแรกแห่งสหรัฐอเมริกา
แต่ไม่ใช่ว่าเรื่องราวเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียใกล้บ้านเรา เพราะ ‘เกาหลีใต้’ ดินแดนแห่งกิมจิและวัฒนธรรมป็อปคัลเจอร์ เคยเผชิญ ‘ยุคแห่งฆาตกรรมต่อเนื่อง’ ในทศวรรษ 1990-2000 จนเกิดอาชีพ ‘นักวิเคราะห์พฤติกรรมอาชญากร’ หรือ ‘โพรไฟเลอร์’ (Profiler) ในประเทศ ซึ่งทำหน้าที่สืบสวนและวิเคราะห์นิสัย-ตัวตนของอาชญากรโดยเฉพาะ
The Momentum พาย้อนดูเรื่องราว ‘3 ฆาตกรต่อเนื่องของเกาหลีใต้’ ที่ทำให้คนทั้งเมืองสั่นผวา และพลิกโฉมหน้าวงการสืบสวนกับกระบวนการยุติธรรมของเกาหลีมาแล้วในอดีต
***Trigger Warning: เรื่องราวสะเทือนใจ การฆาตกรรม การเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ การล่วงละเมิดทางเพศ การกินเนื้อมนุษย์ (Cannibalism) ความเกลียดชังผู้หญิง (Misogyny) การฆ่าตัวตาย และอาชญากรรมต่อเด็ก
ย้อนรอย ‘3 คดีใหญ่’ ฆาตกรต่อเนื่องในเกาหลีใต้ในยุค 1990-2000
สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับซีรีส์และภาพยนตร์เกาหลี เรื่องราวของฆาตกรต่อเนื่องมักถูกนำเสนออยู่บ่อยครั้ง เช่น การหยิบยกคดีโด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ ‘ฆาตกรต่อเนื่องฮวาซอง’ (Hwaseong) มาเล่าเรื่องใน Memories of Murders, Partners for Justice, Tunnel และ Signal (2016) หลังจากทางการเกาหลีต้องใช้เวลานับ 30 ปี จึงสามารถจับตัวฆาตกรโหดเหี้ยมอย่าง อี ชุนแจ (Lee Chun-jae) ได้ในปี 2020
อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงยุคแห่งอาชญากรต่อเนื่องที่สั่นสะเทือนวงการสืบสวน นิติวิทยาศาสตร์ และกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่ คงหนีไม่พ้นช่วงทศวรรษ 1990-2000 ที่ไม่ได้เพียงแต่ให้กำเนิด ‘ตำนานโพรไฟเลอร์เบอร์หนึ่ง’ ของเกาหลีใต้คือ ควอน อิลยง (Kwon-Il yong) นักวิเคราะห์พฤติกรรมอาชญากรคนแรกของประเทศ แต่ยังรวมถึงอาชญากร ผู้เป็นฝันร้ายของยุค ได้แก่ ยู ยองชอล (Yoo Young-chul) จอง นัมกยู (Jeong Nam-gyu) และฆาตกรกลุ่มจีจน (Jijon Clique)
ยู ยองชอล
ยู ยองชอลเป็นฆาตกรต่อเนื่องคนแรกในเกาหลี ที่นักนิติจิตวิทยาชื่อดัง อี ซูจอง (Lee Soo-jung) นำคำว่า ‘ไซโคพาท’ (Psychopath) หรือโรคจิตประเภทชนิดหนึ่ง มาใช้เพื่ออธิบายตัวตนของอาชญากร ซึ่งมีอาการต่อต้านสังคม พฤติกรรมรุนแรง มองตนเองสูงส่งกว่าคนอื่น ปราศจากความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ฯลฯ
ฆาตกรต่อเนื่องรายนี้เริ่มก่ออาชญากรรมครั้งแรกด้วยการงัดบ้านและฆาตกรรมเศรษฐีใจกลางกรุงโซล โดยเหยื่อรายแรกของเขา คือคู่สามีภรรยาอาจารย์มหาวิทยาลัยในปี 2003 ด้วยค้อนที่ประดิษฐ์เอง
การฆาตกรรมของเขากลายเป็นปริศนาสำหรับตำรวจในเวลาดังกล่าว หลังจากคว้าน้ำเหลวในการระบุตัว เพราะเขาแทบไม่ทิ้งร่องรอยใดๆ เลย จนกระทั่ง กล้องวงจรปิดบันทึกภาพจากข้างหลังได้ ยู ยองชอลจึงเปลี่ยนวิธีการและกลุ่มเป้าหมายอย่างสิ้นเชิง เริ่มจากการล่อเหยื่อ ซึ่งก็คือผู้หญิงขายบริการมายังอะพาร์ตเมนต์ของเขา ก่อนจะลงมือสังหารพวกเธออย่างโหดเหี้ยมด้วยอาวุธประจำตัว พร้อมชำแหละร่างกายเป็นส่วนๆ และนำร่างอันไร้ลมหายใจไปฝังไว้บนเขาอันห่างไกล
เขาถูกตำรวจจับได้ในปี 2004 แม้ว่าจะปั่นหัวทั้งสถานีให้วุ่นวายก็ตาม สุดท้าย ยู ยองชอลสารภาพว่า เป็นคนลงมือฆ่าคู่สามี-ภรรยา รวมถึงหญิงสาวนับ 10 กว่ารายด้วยตนเอง เนื่องจากต้องการลงโทษสังคมจากความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน และเปิดเผยสาเหตุการสังหารผู้หญิงค้าบริการ เพราะความเกลียดชังต่อผู้หญิง ซึ่งเกิดจากการหย่าร้างในปี 2002 อีกทั้งเขายังกินเนื้อมนุษย์อีกด้วย
“ผมหวังว่านี่จะเป็นบทเรียนให้กับผู้หญิงไม่ปล่อยตัวพร่ำเพรื่อ และอยากให้พวกเศรษฐีได้สติบ้าง” คำพูดของเขาที่ป่าวประกาศต่อหน้าคนทั่วโลกผ่านหน้าจอโทรทัศน์ หลังจากถูกจับกุมตัว
ปัจจุบัน ยู ยองชอลยังคงอยู่ในคุก แม้ว่าจะได้รับโทษประหารก็ตาม แต่เป็นเพราะการยกเลิกโทษรุนแรงนี้โดยพฤตินัยของเกาหลีในปี 1997
แม้ว่าเขาเคยเปิดเผยถึงความรู้สึกเสียใจต่อเหยื่อ แต่กลับเขียนในจดหมายอย่างน่าขนลุกว่า ต่อให้ได้ออกจากคุกและถูกลอตเตอรี่ ก็ไม่สามารถหยุดให้เขาฆ่าคนได้
ความเลวร้ายเหนือมนุษย์ของยู ยองชอล ถูกถ่ายทอดใน Netflix หากผู้สนใจอยากรู้เรื่องราวเพิ่มเติม สามารถติดตามผ่านสารคดี ‘The Raincoat Killers’: Chasing a Predator in Korea
จอง นัมกยู
“ความชั่วร้ายล้วนๆ ที่ผมเห็นในตัวเขา” ควอน อิลยง อธิบายความรู้สึกตอนสืบสวนอาชญากรรายนี้
จอง นัมกยู เป็นฆาตกรต่อเนื่องที่ก่อเหตุไปพร้อมกับยู ยองชอล ในปี 2004-2006 เขาสังหารผู้คนนับ 15 ราย โดยเหยื่อรายแรก คือเด็กวัยประถม 2 คน ซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศก่อนสังหาร ภายหลัง ตำรวจสืบสวนได้ว่าเขามีปูมหลังจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก และการถูกกีดกันจากสังคม
อีกทั้งยังเปิดเผยว่า การก่ออาชญากรรมของเขาเกิดขึ้น เพราะความรังเกียจคนรวยที่มีในสิ่งที่เขาไม่มี แต่นักวิเคราะห์พฤติกรรมหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เป้าหมายของเขาในการสังหาร คือผู้หญิง คนแก่ และเด็ก ซึ่งเป็นเหยื่อที่อ่อนแอกว่า จากลักษณะในการลอบสังหารเหยื่อจากข้างหลังตามท้องถนนที่เปล่าเปลี่ยว
จอง นัมกยูเป็นอาชญากรที่หมกมุ่นกับคำว่า ‘อาชญากรรมที่สมบูรณ์แบบ’ เป็นอย่างมาก เขาเปิดเผยว่า ต้องฝึกวิ่ง 10 กิโลเมตร ทุก 2 วัน เพื่อพัฒนาร่างกายและหลบหนีการไล่ล่าของตำรวจ นอกเหนือจากนั้น เขายังเปลี่ยนอาวุธจากมีด สู่เครื่องมือที่ไม่มีความแหลมคม เพราะหลีกเลี่ยงการถูกสงสัยโดยตำรวจ
ในระหว่างการพิจารณาคดี เขาให้การว่าไม่รู้สึกเสียใจต่อเหยื่อ และภูมิใจที่ได้ฆ่าคนจำนวนมาก
“ผมโชคไม่ดีที่ถูกจับ แต่ถ้าไม่โดนจับนะ ผมจะฆ่าคนให้มากกว่านี้อีก” เขากล่าว
ปัจจุบัน จอง นัมกยูเสียชีวิตแล้ว หลังจากตัดสินใจจบชีวิตในคุกด้วยการแขวนคอตนเองด้วยถุงพลาสติกในปี 2007 แม้ว่าจะถูกตัดสินด้วยโทษประหารเหมือนคนอื่นๆ ก็ตาม
ฆาตกรกลุ่มจีจน
กลุ่มจีจนประกอบด้วยสมาชิก 8 คน มีหัวหน้ากลุ่ม คือ คิม กีฮวาน (Kim Ki-hwan) ซึ่งเป็นการรวมตัวของชายหนุ่มจากชนบทในปี 1993 เป้าหมายของกลุ่ม คือการฆ่าคนรวย เพราะความเหลื่อมล้ำในสังคม
เป้าหมายแรกของกลุ่มจีจน คือพนักงานธนาคารวัย 23 ปี เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศและสังหารในปี 1994 พวกเขามักก่ออาชญากรรมด้วยวิธีการมากมาย นับตั้งแต่การลักพาตัว การทรมานร่างกาย การกินเนื้อมนุษย์ และการสังหาร นอกจากนี้ สมาชิกจีจนยังตั้งคุกชั่วคราว และเปิดโรงเผาคนในชั้นใต้ดินของบ้านของคิม กีฮวาน ที่จังหวัดช็อลลาใต้
นอกเหนือจากนั้น กลุ่มจีจนยังเคยลงมือสังหารสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่ม คือ ซง บงอึน (Song Bong-eun) หลังจากเขาพยายามออกจากกลุ่มอาชญากรนี้
ต่อมา ในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน พวกเขาลักพาตัวบุคคล 4 ราย และลงมือฆาตกรรม 3 รายด้วยวิธีการโหดร้ายทารุณ ทว่า คุณอี (Lee) ซึ่งไม่เปิดเผยชื่อจริง เป็นผู้ที่รอดมาได้เพียงหนึ่งเดียว และหลบหนีไปแจ้งตำรวจ สมาชิกทั้งหกจึงถูกจับ และได้รับโทษประหารชีวิต ท่ามกลางเสียงก่นด่าของประชาชนว่า พวกเขาคือ ‘ลูกหลานของปีศาจ’
“เรื่องเดียวที่ผมเสียใจ คือการที่จะไม่ได้ฆ่าคนรวยมากกว่านี้อีกแล้ว” ฆาตกรคนหนึ่งประกาศหลังถูกจับกุม
สำหรับผู้ที่สนใจอยากทราบเรื่องราวของกลุ่มจีจนเพิ่มเติม สามารถติดตามสารคดี ‘Non-fiction Diary’ ได้ หาก Documentary Club นำเรื่องราวของฆาตกรอันโหดเหี้ยมในประวัติศาสตร์เกาหลี กลับมาฉายอีกครั้ง
‘กำเนิดฆาตกรต่อเนื่อง’ กับคำถามสุดคลาสสิก ว่าด้วยปีศาจในร่างมนุษย์เกิดขึ้นจากอะไรกันแน่?
จากเรื่องราวทั้งหมดในข้างต้น นำมาสู่คำถามสำคัญมากมายที่ตามมา นับตั้งแต่ปีศาจในร่างมนุษย์อย่างฆาตกรต่อเนื่อง เกิดขึ้นด้วยสาเหตุใด? คนเราสามารถเป็นอาชญากรโดยกำเนิดผ่านพันธุกรรม หรือเพราะสิ่งแวดล้อมเป็นตัวแปรสำคัญกันแน่?
อันที่จริง คำถามนี้นับเป็นเรื่องราวดีเบตสุดคลาสสิกในวงการอาชญาวิทยา หากจะให้ตอบคำถามโดยมีเพียงคำตอบเดียวตายตัว คงเป็นเรื่องยาก เพราะสาเหตุที่แท้จริงของการเป็นอาชญากรต่อเนื่อง ยังไม่มีใครทราบอย่างชัดเจนและเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
อย่างไรก็ตาม คำตอบพื้นฐานที่พอเป็นไปได้ คงจะหนีไม่พ้นคำตอบของผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรม และนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ในสารคดี The Raincoat Killers รวมถึงผู้กำกับสารคดีฆาตกรต่อเนื่องจีจน ‘Non-Fiction Diary’ จอง ยุนซุก (Jong Yoon-suk)
พวกเขาอธิบายเหตุการณ์การแพร่หลายของฆาตกรต่อเนื่องในบริบทเฉพาะของแดนโสมอย่างน่าสนใจว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากโครงสร้างสังคมของเกาหลีใต้ที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยเฉพาะการเข้ามาของระบอบทุนนิยมแบบ ‘เสรีนิยมใหม่’ (Neo-Liberalism) ในทศวรรษ 1980
แม้ว่าเสรีนิยมใหม่จะนำความเจริญเข้ามาสู่เกาหลีใต้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มนายทุนและชนชั้นนำที่ได้ประโยชน์จากระเบียบดังกล่าว เช่น นโยบายผ่อนคลายกฎระเบียบทางการเงินที่ดึงดูดให้ต่างชาติมาลงทุนในประเทศ แต่ทุกอย่างก็พังทลายลง เมื่อโซลประสบวิกฤตทางการเงินในปี 1997 (เหตุการณ์เดียวกับต้มยำกุ้ง) และต้องกู้ยืมเงินจาก ‘กองทุนระหว่างประเทศ’ (IMF) เพื่อแก้ไขวิกฤตในครั้งนั้น
จากเหตุการณ์นี้ สังคมเกาหลีแตกแยกเป็นสองฝ่าย คือคนรวยและคนยากจน จนเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างสูง เมื่อฝ่ายผู้อยู่รอดกอบโกยอย่างเดียวโดยไม่สนใจกลุ่มชนชั้นล่าง ความยากจนในครั้งนี้นำมาสู่ปัญหาสังคมที่ตามมามากมาย ได้แก่ ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ และอาชญากรรมทำร้ายร่างกายอื่นๆ ซึ่ง คิม จียุน (Kim Ji-yoon) นักวิชาการรัฐศาสตร์อธิบายว่า เกาหลีใต้ตกอยู่ ‘สภาวะไร้ตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม’ (Social Security Net) ในช่วงเวลาดังกล่าว
ควอน อิลยง ชี้ให้เห็นว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของอาชญากรรมต่อเนื่อง เพราะความรู้สึกถูกลิดรอนของกลุ่มชายขอบ พัฒนากลายเป็นความแปลกแยกจากสังคม ซึ่งเป็นลักษณะของการก่ออาชญากรรมหลังทศวรรษ 1990 เป็นต้นไป มีรูปแบบ คือไม่เจาะจง ไม่มีมูลเหตุชัดเจน และแสดงออกถึง ‘ความไม่พอใจต่อสังคม’
“พวกเขารู้สึกขาดโอกาสจากการเป็นส่วนหนึ่งในสังคม จึงกระทำความรุนแรงอย่างน่าสยดสยองกับคนที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย เพียงเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกเหนือกว่า และแสดงความโกรธต่อสังคม
“แม้ว่าฉันจะโกรธและลงมือทำร้ายแกไป ฉันก็ไม่จำเป็นต้องขอโทษ” เขาอธิบายความรู้สึกของอาชญากรในยุคใหม่ รวมถึงฆาตกรต่อเนื่อง
องค์ประกอบที่นอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำในสังคม: อาการผิดปกติทางจิตของกลุ่มฆาตกรต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางสังคมจากเสรีนิยมเป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะอันที่จริงแล้ว มูลเหตุของอาชญากรต่อเนื่องมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่สุด ‘จดหมายของยู ยองชอล’ ซึ่งออกอากาศในรายการ All the Butlers ตอนพิเศษ ร่วมกับรายการสอบสวนชื่อดัง ‘Unanswered Question’ จะเป็นตัวอธิบายความซับซ้อนข้างต้นนี้ได้ทั้งหมด
“ผมถูกบีบให้เลือกวิธีสุดโต่งอย่างฆาตกรรมต่อเนื่อง เป็นวิธีจัดความโกรธแค้น แล้วคุณเป็นใครถึงมาประณามผม
“ผมเริ่มเกลียดชังโลกใบนี้เหมือนเด็กที่โดนไฟลวกและเข้าใกล้ไฟไม่ได้อีก
“ผมเกิดผิดที่ผิดเวลา ผมไม่มีทางเลือก นอกจากเกลียดโลกใบนี้”
นี่คือข้อความส่วนหนึ่งจากฆาตกรต่อเนื่องที่โหดเหี้ยมที่สุดของเกาหลี เห็นได้ชัดเจนว่า เขาโจมตีโครงสร้างสังคมที่เกิดความเหลื่อมล้ำ จนทำให้เขาไม่สามารถเก็บงำความโกรธแค้น และกลายเป็นปีศาจในร่างมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม พัค จีซอน (Park Ji-seon) นักจิตวิทยาอาชญากร เตือนว่า นี่คือสิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งในการอ่านจดหมายฉบับนี้ เพราะแท้จริงแล้ว ยู ยองชอลเป็นฆาตกรซับซ้อนมาก เขากำลังนำเรื่องความไม่เท่าเทียมมาสร้างความชอบธรรมให้กับการฆ่าผู้บริสุทธิ์หลายราย นับตั้งแต่เขาเขียนจดหมายยาวเหยียดถึง 8 หน้า แต่กลับไม่มีรอยลบใดๆ แสดงให้เห็นถึงการเตรียมการอย่างดี และรู้ว่าข้อความนี้จะต้องถูกเผยแพร่โดยสื่อ
เหยื่อแท้จริงของยู ยองชอล ไม่ใช่สังคมหรือผู้มีอำนาจ แต่เป็นกลุ่มคนอ่อนแอที่ไม่สามารถสู้เขาได้ เช่น คนชราและผู้หญิง มากกว่านั้น อาชญากรรายนี้ไม่ได้มีความสำนึกผิดต่อเหยื่อใดๆ และกำลังมองตัวเองในฐานะ ‘วีรบุรุษผู้พิพากษาสังคม’ ที่เหนือกว่าฆาตกรทั้งหมด จากข้อความที่ว่า
“คุณคิดว่ามันไร้สาระ แต่ผมเกลียดชังฆาตกรที่ก่อเหตุฆาตกรรม เพราะอารมณ์ชั่ววูบหรือความโลภ แม้จะเป็นฆาตกรเหมือนกันก็ตาม” คำพูดดังกล่าวชี้ได้อย่างชัดเจนว่า เขามองตนเองอยู่เหนือกว่าคนอื่น และจัดลำดับชั้นฆาตกร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาการทางจิตประเภทไซโคพาท
ควอน อิลยง เสริมว่า เป็นความจริงที่ฆาตกรต่อเนื่องหลายคน มักมีช่วงเวลายากลำบากจากวัยเด็ก เช่น การถูกคุกคามทางเพศ ความยากจน หรือการกีดกันทางสังคม แต่ผู้คนควรจะต้องตระหนักข้อเท็จจริงบางอย่างให้ดี
“คนหลายคนสามารถผ่านความยากลำบากไปได้ด้วยดี เพราะพวกเขามีจิตใจที่แข็งแรง แต่ฆาตกรมักมองเห็นความจริงบิดเบือน เรื่องนี้ค่อนข้างอัตวิสัยมาก
“เขาโทษคนอื่นและสิ่งรอบตัว โดยที่ยังไม่ได้ลองแก้ไขปัญหาดู นี่แหละคือสาเหตุว่าทำไมพวกเขาถึงเลวร้ายนัก”
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะมีความเชื่อทางศีลธรรมตามศาสนา และยึดถือสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะหากเชื่อในกฎหมายตามหลักนิติธรรม (Rule of Law) สำนวนที่ว่า “ผลลัพธ์ไม่สร้างความชอบธรรมให้กับวิธีการ” (The end cannot justify the means) จะเป็นคำตอบที่ตัดสินว่า การเป็นฆาตกรไม่มีความชอบธรรมเลยสักนิด เมื่อผู้บริสุทธิ์มากมายถูกพรากชีวิตจากคนที่พวกเขารัก ครอบครัวของเหยื่อเหมือนตายทั้งเป็น สังคมตกอยู่ความหวาดกลัว เพียงเพราะความโกรธแค้นของคนหนึ่งคน
ยังไม่รวมถึง ‘บาดแผลทางใจ’ ของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ซึ่งต้องต่อสู้กับความโหดร้ายของปีศาจในร่างมนุษย์ที่ทิ้งร่องรอยผ่านร่างอันไร้วิญญาณ จนมีคำพูดของ ฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich Nietzsche) เตือนใจหมู่นักจิตวิทยาอาชญากรรมว่า “ผู้ที่ต้องสู้กับปีศาจ ต้องไม่กลายเป็นปีศาจเสียเอง หากคุณจ้องในก้นบึ้งลึกนานพอ ก้นบึ้งนั้นจะจ้องกลับมาหาคุณ” หลังจากเจ้าหน้าที่หลายคนเผชิญกับสภาวะผิดปกติทางจิตใจ หรือ ‘PTSD’ (Post-Traumatic Stress Disorder)
นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่ทุกคนควรเรียนรู้จากเรื่องราวทั้งหมด คือการมองย้อนกลับถึงโครงสร้างสังคมที่เราอยู่ในปัจจุบัน และร่วมกันเยียวยาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมอีก ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของรัฐ ผู้มีอำนาจ รวมถึงประชาชน ดังคำพูดของโพรไฟเลอร์คนแรกในเกาหลีว่า
“ถ้าเราไม่เตรียมพร้อมเหมือนที่เคยล้มเหลวในอดีต เราจะเป็นเหยื่อรายต่อไป เราควรสร้างสังคมที่ไม่ต้องมีโพรไฟเลอร์ นักจิตวิทยาอาชญากรรม และนักวิเคราะห์พฤติกรรม”
อ้างอิง
“The Raincoat Killers,” Netflix, October 22, 2021, documentary, 2.46.00. https://www.netflix.com/watch/81216888
“All the Butlers,” Viu, March 13, 2022, variety, 01.09.46. https://www.viu.com/ott/th/th/vod/428237/All-the-Butlers-2022
https://www.thansettakij.com/news/general-news/563353
https://www.bbc.com/thai/articles/cxelv3lm0p3o
https://www.ggkeystore.com/article/662/review-the-dark-pictures-anthology-the-devil-in-me
https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20170526000742
https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20170526000482
https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Psychopath
https://thaipublica.org/2018/08/documentary-club-71/
https://www.wsws.org/en/articles/2014/02/24/berl-f24.html
https://v.daum.net/v/20170526181318842
Tags: ความรุนแรงในครอบครัว, ฆาตกรต่อเนื่อง, ปัญหาเศรษฐกิจ, เสรีนิยมใหม่, โพรไฟเลอร์, Serial Killers, Proflier, neoliberalism, เกาหลีใต้