ในสัปดาห์นี้ ผู้นำจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีนัดหารือเกี่ยวกับกิจการเอเชียตะวันออก นับเป็นความพยายามในนาทีสุดท้ายก่อนถึงเส้นตายที่เกาหลีเหนือขู่จะ ‘มอบของขวัญคริสต์มาส’ ให้อเมริกา ซึ่งกองทัพสหรัฐฯ คาดว่าอาจเป็นขีปนาวุธพิสัยไกล

ระหว่างการพบปะที่นครเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ในวันอังคาร (24 ธ.ค.) ประธานาธิบดีจีน สีจิ้นผิง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ และประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มุนแจอิน จะหยิบยกทั้งประเด็นความร่วมมือระหว่างกัน และประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาค ขึ้นพูดคุย หนึ่งในประเด็นร้อนที่โลกกำลังเฝ้าดู ไม่พ้นเรื่องเกาหลีเหนือ

รัฐบาลเปียงยางขีดเส้นตายไว้ว่า ถ้าสหรัฐฯ ไม่ยอมลดราวาศอกภายในสิ้นปี 2019 ด้วยการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนอย่างแรกๆ ในกระบวนการที่มีหลายขั้นตอนก่อนบรรลุเป้าหมาย ‘ถอดถอนนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี’ นั่นถือว่า สหรัฐฯ ตัดสินใจเองที่จะรับ ‘ของขวัญคริสต์มาส’ จากเกาหลีเหนือ

ผู้นำประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งสามจะเสนอให้รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกแซงค์ชั่นบางส่วนหรือไม่ เพื่อดึงให้เกาหลีเหนือยังคงอยู่ร่วมในกระบวนการลดอาวุธด้วยวิถีทางการทูตต่อไป อันนี้ต้องคอยดูกัน

สามประสานแห่งเอเชีย

การหารือในวันอังคารเป็นกำหนดการประจำปีของกลไกที่เรียกว่า ‘การประชุมผู้นำสามฝ่าย จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้’ ซึ่งเป็นความร่วมมือในรูปแบบของการสนทนากัน

วงประชุมนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2008 หลังจากเกาหลีใต้ปรารภว่า ผู้นำประเทศทั้งสามต้องมาเจอกันในเวทีอาเซียนบวกสามทุกปี ทำไมไม่นัดเจอกันเองบ้าง เวที China-Japan-South Korea Trilateral Summit จึงเกิดขึ้น

ประเด็นที่วงประชุมดังกล่าวจะหารือกันในปีนี้ มี 3 เรื่องหลักๆ คือ ความร่วมมือสามฝ่ายที่ว่านี้จะยกระดับในเชิงสถาบันอย่างไรได้บ้าง ประเทศทั้งสามจะเดินหน้าจัดตั้งกลุ่มการค้าเสรีหรือไม่ อย่างไร และคาบสมุทรเกาหลีจะปลอดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิงได้อย่างไร

บรรยากาศในภูมิภาค

เอเชียตะวันออกในเวลานี้ยังไม่ถึงขั้นระอุอ้าวด้วยความขัดแย้ง ทว่าอุณหภูมิการเมืองถือว่าอุ่นนิดๆ ด้วยเหตุว่าความสัมพันธ์ในทั้ง 3 คู่ระดับ คือ ระดับมหาอำนาจโลก มหาอำนาจกับพี่ใหญ่ในภูมิภาค และในหมู่พี่เบิ้มด้วยกันเอง ล้วนมีปมสะดุดที่สร้างบรรยากาศไม่ราบรื่น

ในระดับมหาอำนาจ อย่างที่เห็นกัน สหรัฐฯ มหาอำนาจภายนอกที่เข้ามามีบทบาทในภูมิภาค กำลังงัดข้อกับจีนด้วยเรื่องการค้า ตลอดไปถึงประเด็นทางยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น ทะเลจีนใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง

สำหรับระดับที่สอง ถึงแม้เป็นพันธมิตรในด้านการทหาร จับมือกันสร้างดุลอำนาจเพื่อรักษาเสถียรภาพในย่านเอเชีย-แปซิฟิก ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ กำลังเกี่ยงงอนให้ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายให้มากกว่าเดิมสำหรับการหล่อเลี้ยงกองกำลังอเมริกันที่ประจำการอยู่ในประเทศทั้งสอง

ส่วนคู่ความสัมพันธ์ชั้นล่างนั้น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยังมีประเด็นคาใจให้ต้องสะสางระหว่างกัน บางประเด็นเป็นปมที่ต้องแก้กันยาวนาน เช่น ข้อพิพาทเขตแดน แต่บางประเด็นเป็นเรื่องร้อนที่กระทบผลประโยชน์เฉพาะหน้าของแต่ละฝ่าย ซึ่งต้องเร่งพูดจาหาทางคลี่คลาย

เรื่องร้อนที่สร้างความระคายแก่ความสัมพันธ์ในระดับนี้ คือ กรณีระหองระแหงระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ว่าด้วยเรื่องการเยียวยาชาวเกาหลีที่ถูกญี่ปุ่นบังคับใช้แรงงานในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีระหว่างปี 1910-1945 ซึ่งรวมความถึง ‘หญิงบำเรอ’ ด้วย

เหตุที่ต้องเร่งพูดจากันก็เพราะประเด็นนี้อาจส่งผลลุกลามกระทบถึงความร่วมมือของประเทศทั้งสอง

หลังจากศาลเกาหลีใต้สั่งให้บริษัทญี่ปุ่นในเกาหลีใต้จ่ายเงินชดเชยแก่แรงงานเกณฑ์เมื่อครั้งกระโน้น โตเกียวตอบโต้ด้วยการถอดเกาหลีใต้ออกจากบัญชีประเทศคู่ค้าที่ไว้วางใจได้ และควบคุมการส่งออกวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่โซลย้อนเกล็ดด้วยการถอนตัวจากข้อตกลงแบ่งปันข่าวกรองกับญี่ปุ่น

การตอบโต้กันที่ว่านั้นคงเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว เพราะถ้ายังยื้อต่อไปนานวัน ต่างฝ่ายก็จะต่างเสียผลประโยชน์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ดังนั้น คาดกันว่า ในซัมมิตรอบนี้ ผู้นำญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้คงพยายามหาข้อสรุปในเรื่องแรงงานบังคับในช่วงก่อนหน้าและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

กล่อม ‘ทรัมป์’ ถอยคนละก้าว

ในปี 2020 เอเชียตะวันออกจะกลับมาตึงเครียดด้วยวิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือหรือไม่ กำลังเป็นคำถามข้อใหญ่สำหรับภูมิภาค

ตลอดสองปีที่ผ่านมา การพบกันครั้งประวัติศาสตร์ของผู้นำวอชิงตันกับผู้นำเปียงยาง พร้อมกับคำมั่นถึงสันติภาพถาวร ผ่านการลดเลิกขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ช่วยให้ภูมิภาคนี้ผ่อนคลายความตึงเครียดลงไปได้มาก

อย่างไรก็ตาม การที่ทรัมป์ยังไม่ยอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ ด้วยหวังจะใช้เป็นเครื่องมือกดดันให้เปียงยางทำตามข้อเรียกร้องให้ปลดอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้การเจรจาไม่คืบหน้า เนื่องจากฝ่ายเปียงยางต้องการให้สหรัฐฯ ตอบสนองแบบ ‘หมูไป ไก่มา’ ทีละขั้นทีละตอน บนเส้นทางสู่เป้าหมาย ‘คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์’

ทำอย่างไรการเจรจาจึงจะคืบหน้า เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (16 ธ.ค.) สองมหาอำนาจโลก จีนกับรัสเซีย เสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ขอให้ยกเลิกมาตรการปิดกั้นการส่งออกสินค้าของเปียงยาง ซึ่งเป็นบทลงโทษที่ส่งผลบั่นทอนเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือเป็นอย่างมาก

ในเวทีหารือสามฝ่าย ต้องคอยดูว่า ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จะร่วมประสานเสียงกับจีนและรัสเซียอีกแรงหรือเปล่า ถ้าโตเกียวกับโซลเอาด้วย ข้อเสนอให้ยกเลิกการคว่ำบาตรบางส่วนจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากทีเดียว

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เกาหลีเหนือพยายามสร้างอำนาจต่อรอง ด้วยการยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้นับสิบลูก แต่รัฐบาลทรัมป์ยังไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนปรน อีกไม่กี่วัน เส้นตายในการแก้ไขวิกฤตนิวเคลียร์ด้วยการเจรจาจะมาถึง เกาหลีเหนือขู่ที่จะ ‘แจกของขวัญคริสต์มาส’ เมื่อถึงวันนั้น

พล.อ.อ.ชาร์ลส์ บราวน์ ผู้บัญชาการกองกำลังทางอากาศของสหรัฐฯ ประจำแปซิฟิก บอกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ของขวัญจากเกาหลีเหนืออาจเป็นขีปนาวุธพิสัยไกล ซึ่งสหรัฐฯ พร้อมที่จะตอบโต้

ถ้าสหรัฐฯ ยังไม่เลิกคว่ำบาตร ผู้นำเปียงยาง คิมจองอึน จะทำตามคำขู่หรือไม่ ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้คงได้เห็นกัน.

อ้างอิง:

Reuters, 20 December 2019

Asian Nikkei Review, 21 December 2019

AFP via Channel News Asia, 22 December 2019

ภาพ: REUTERS/Athit Perawongmetha

 

 

Tags: , , , , , ,