การเปิดเผยกำไรของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ประจำปี 2566 พบว่า ธนาคารพาณิชย์มีกำไรเฉลี่ยที่เติบโตกว่าปีก่อนถึง 14% ขณะที่อัตราการ ‘ปล่อยกู้’ กลับลดลงฮวบฮาบ
โดยเฉพาะบ้านหรือคอนโดมิเนียมราคา 1-3 ล้านบาท อัตรากู้ไม่ผ่านถึง 70% สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ค่าผ่อนบ้านสูงตาม ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยก็อยู่ในภาวะชะงักงัน รัฐบาลยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นวิกฤต จนต้องออก ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’
ทว่าท่ามกลาง ‘วิกฤต’ สิ่งที่ตามมาคือ ‘อัตราการเติบโตของกำไร’ ของ 5 อันดับธนาคารพาณิชย์ได้แก่
1. ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีกำไรกว่า 32,773 ล้านบาท โตขึ้นกว่า 51% จากปีก่อน
2. ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) มีกำไรกว่า 13,596 ล้านบาท โตขึ้นกว่า 31% จากปีก่อน
3. ธนาคารกรุงไทย (KTB) มีกำไรกว่า 30,505 ล้านบาท โตขึ้นกว่า 19% จากปีก่อน
4. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีกำไรกว่า 25,198 ล้านบาท โตขึ้นกว่า 8% จากปีก่อน
5. ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีกำไรกว่า 32,527 ล้านบาท โตขึ้นกว่า 7% จากปีก่อน
มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเติบโตของธนาคารพาณิชย์อาจเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) เป็นส่วนใหญ่ โดย NIM มีการคาดการณ์ว่า จะปรับตัวดีขึ้น 3.4% กล่าวคือยิ่งมีส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับ (ปริมาณเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้) และดอกเบี้ยจ่าย (ดอกเบี้ยเงินฝากและตราสารหนี้) ธนาคารพาณิชย์จะยิ่งมีกำไรมากนั่นเอง
เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือ แบงก์มีกำไรมาก เพราะคิดดอกเบี้ยเงินกู้แพง และจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ
ด้วยเหตุนี้ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ สรกล อดุลยานนท์ นักเขียน-คอลัมนิสต์ จึงตั้งคำถามว่า ในเมื่อธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย 10 แห่ง มีกำไรสุทธิรวมกันกว่า 2.2 แสนล้านบาท ข้อที่น่าสังเกตก็คือ แล้วธนาคารแห่งประเทศไทย ‘ตงิดใจ’ บ้างไหม
“สถานการณ์เศรษฐกิจในวันนี้แย่มาก แบงก์ชาติเพิ่งปรับลด GDP ปี 2566 จาก 3.6% เหลือ 2.4% โดยลำพังแค่เศรษฐกิจไม่ดี แต่แบงก์กำไรเพิ่มขึ้น ก็ถือว่าผิดปกติแล้ว” สรกลเขียนในเฟซบุ๊กส่วนตัว
พลันเมื่อเป็นเช่นนั้น แต่ละฝ่ายต่างก็ ‘รุมถล่ม’ โดยเฉพาะซีกรัฐบาลที่ออกมาดาหน้าถล่มธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็น พิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็น กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี รวมถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
จนดูเหมือนว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการ ‘ไม่ควบคุม’ ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะเป็นการเขี่ยลูกบอลเข้าเท้าไปยังฝ่ายรัฐบาลพอดิบพอดี เพราะคนในแวดวงการเมืองต่างก็รู้ดีว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยและเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เห็นด้วยกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
คำถามก็คือแล้ว ‘อัตราดอกเบี้ย’ ที่เป็นเช่นนี้ และกำไรของธนาคารพาณิชย์ที่สูงระดับนี้ คือเรื่องที่แบงก์ชาติไม่กำกับดูแลหรือเป็นด้วยเรื่องอื่น
กระทั่งวันนี้ (8 มกราคม 2567) นายกรัฐมนตรีก็ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับสื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า “ไม่เห็นด้วย” ที่อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยก็เป็นอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยหลังจากนี้ตนจะเข้าไปพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ขณะที่ แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ให้ความเห็นว่า ถึงเวลาจัดการอัตราดอกเบี้ยให้เป็นธรรม เพราะวันนี้ผู้ประกอบการและคนไทยเจออัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ห่างกัน 7-8% ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการสมาพันธ์ครั้งหน้าจะหารือกันถึงเรื่องนี้ เพื่อรวบรวมปัญหาและข้อเสนอส่งถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งการทบทวนวิธีการคิดดอกเบี้ยของธนาคาร และกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม
กระนั้นเองก็ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ธนาคารพาณิชย์กำไรสูงขนาดนั้น ไม่ได้มาจากการคิดคำนวณเพียง ‘ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ’ อย่างเดียว หากแต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ เป็นต้นว่า การขยายตัวของสินเชื่อ การตั้งสำรองหนี้เสีย และ ‘สภาพเศรษฐกิจ’
ส่วนหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ หากเทียบในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน เศรษฐกิจยังไม่ได้แย่เท่าวันนี้
ทั้งหมดต้องย้อนกลับไปดูสาเหตุที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังให้คงระดับอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2.50 หลังจากการประชุมครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 เป็นผลมาจาก
1. สภาพเศรษฐกิจในภาพรวมมีทิศทางฟื้นตัว โดยอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดเอื้อให้เงินเฟ้ออยู่มีกรอบเป้าหมายที่ยั่งยืน เสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว ป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน และช่วยรักษาความสามารถของนโยบายการเงิน ในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า
2. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น นอกจากราคาพลังงานโลกอาจปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
ด้านข้อมูลของศูนย์วิจัยกรุงศรีรายงานว่า การทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คาดว่าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับจาก 1.3% เป็น 2.0% ในปี 2567 ขณะที่อัตราดอกเบี้ย ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% ตลอดทั้งปี 2567 เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นให้อยู่ภายในกรอบเป้าหมาย และเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวกลับเข้าสู่แนวโน้มระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันยังไม่มีแถลงการณ์จากธนาคารแห่งประเทศไทยในประเด็นดังกล่าว จึงทำให้การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งถัดไปเป็นที่น่าจับตามองว่า จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่อย่างไร ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของหลายฝ่ายที่มีต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีหน้าที่กำกับดูแลนโยบายด้านการเงินของประเทศ
จนถึงวันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าว เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ก็ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดว่า ‘กำไร’ มาจากไหน
หากยังปล่อยเช่นนี้ต่อไป คาดว่าทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารแห่งประเทศไทย คงเป็น ‘จำเลย’ สังคมต่อไปเรื่อยๆ
ที่มา:
https://www.bot.or.th/th/news-and-media/news/news-20231129.html
https://www.pptvhd36.com/news/หุ้น-การลงทุน/208693
https://x.com/Thavisin/status/1744012891597181357?s=20
https://www.facebook.com/share/p/cM8mYZAswjyANB8V/?mibextid=7TVuMX
https://www.krungsri.com/th/research/macroeconomic/weekly/20240102
https://workpointtoday.com/thai-set-bank-earning-9m2023/
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ดอกเบี้ย, กระทรวงการคลัง, เศรษฐา, ธนาคารพาณิชย์