เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4 มิถุนายน 2023) ประเทศไทยจัดไพรด์พาเหรดขึ้นเป็นปีที่สอง โดยปีนี้เริ่มต้นขบวนจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ไปยังสยาม และสิ้นสุดที่เซ็นทรัลเวิลด์อันเป็นหมุดหมายของงาน
บรรยากาศความหลากสีสัน ความหลากหลายมากมายจากผู้คนที่เนรมิตให้บรรยากาศในวันดังกล่าวเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความภาคภูมิใจ และแสดงออกในอัตลักษณ์ของตนเอง วันนี้ The Momentum พาทุกคนไปสำรวจขบวนไพรด์อย่างละเอียดว่า บรรยากาศในงานเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงการนำเสนอในประเด็นความเท่าเทียมและหลากหลายทางเพศ
งาน Pride คืออะไร?
งานไพรด์มีจุดเริ่มต้นมาจากที่ ‘เดือนมิถุนายน’ ของทุกปี กลายเป็นเดือนเฉลิมฉลองการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์และความเป็นตัวเองอย่างภาคภูมิใจของเหล่าผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+)
ผู้จัดงานไพรด์ครั้งแรกในอเมริกาได้เลือกเดือนนี้เพื่อรำลึกถึง ‘เหตุการณ์การจลาจลสโตนวอลล์’ (Stonewall Riots) ในเดือนมิถุนายน 1969 ณ นครนิวยอร์กซิตี้ ซึ่งช่วยจุดประกายการเคลื่อนไหวสิทธิเกย์ยุคใหม่ อย่างไรก็ตาม อาจมีบางแห่งที่จัดงานเฉลิมฉลองในช่วงเวลาอื่นของปี เช่น ไต้หวัน จัดงานในเดือนตุลาคมเพราะมีเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ
หากดูจากบริบททางประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่า งานไพรด์มีจุดเริ่มต้นมาจากการรวบรวมความภาคภูมิใจมีรากฐานมาจากประวัติศาสตร์อันยากลำบากของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นผู้ถูกกดทับ และต่อสู้มานานหลายทศวรรษเพื่อเอาชนะอคติและได้รับการยอมรับว่าพวกเขาเป็นใคร
จุดเด่นอีกหนึ่งอย่างของงานไพรด์คือ ‘Pride Parade’ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเดินขบวนเพื่อเฉลิมฉลองในนามของเดือนสำคัญแห่งความหลากหลาย เป็นการแสดงออกเพื่อโอบรับกันและกันของคนในชุมชน รวมไปถึงการนำเสนอนัยยะแห่งการเรียกร้องสิทธิ โอกาส และปัญหาหลายอย่างที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศยังต้องเผชิญในสังคม ทั้งในแง่ของอคติทางความคิดและการกระทำ
จากนฤมิตไพรด์ 2022 สู่ ‘บางกอกไพรด์ 2023’
‘นฤมิตรไพรด์’ (Bangkok Naruemit Pride) เป็นงานไพรด์ที่จัดขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยกลุ่มผู้จัดเริ่มต้นจากการจัดกิจกรรม IDAHOT 2013 และ 2014 ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อว่า ‘Siam Pride’ และหลังจากนั้น กลุ่มผู้จัดก็ร่วมจัดกิจกรรมบนท้องถนนโดยเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Bangkok Pride’ ในปี 2016 เพื่อร่วมจัด ILGA World Conference
กระทั่งปีที่แล้ว มีนักกิจกรรมเยาวชนรุ่นใหม่ร่วมกันจัดขบวนไพรด์พาเหรดในชื่อ ‘นฤมิตไพรด์’ โดยมีจุดยืนคือเพื่อความภาคภูมิใจ ได้ขับเคลื่อนความเป็นธรรมและโอบกอดกันและกัน ‘นฤมิตไพรด์’ มีจุดเริ่มต้นมาจากการรวมกลุ่มของนักกิจกรรมที่ทำงานผลักดันประเด็นความหลากหลายทางเพศเพื่อความเสมอภาคทางเพศ ทั้งการเรียกร้องสิทธิด้านกฎหมายให้กับพนักงานบริการทางเพศ แคมเปญล่ารายชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 (สมรสเท่าเทียม) ไปถึงประเด็นว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศอื่นๆ โดยเน้นไปที่ความยากลำบากที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญ
สำหรับพื้นที่จัดงานไพรด์ครั้งแรกในกรุงเทพฯ นั้น คณะจัดงานเลือกจัดในวันที่ 5 มิถุนายน 2022 ที่บริเวณถนนสีลม เพราะเป็นสถานที่ที่มีเรื่องราวและประวัติศาสตร์การมีอยู่ของกลุ่มคนเพศหลากหลายในกรุงเทพฯ และการจัดงานยังพยายามสะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นความหลากหลายทางเพศนั้นกว้างไกล ซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะได้เฉลิมฉลอง ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในพื้นที่ใดหรือเป็นใครก็ตาม
จนนำมาสู่การจัดงานไพรด์ในปี 2023 ในครั้งนี้ บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด จับมือกับกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยองค์กรสิทธิเพศหลากหลายกว่า 30 องค์กร จัดงาน ‘บางกอกไพรด์ 2023 (Bangkok Pride 2023)’ เพื่อสานต่อและเน้นย้ำการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยและพื้นที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชน LGBTQIAN+ ภายใต้แนวคิด ‘Beyond Gender ประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศที่คุณอยากก้าวข้าม’ โดยมีจุดนัดหมายการเดินขบวนจากแยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 ฝั่งสยามพิวรรธน์ มาจนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณเซ็นทรัลเวิลด์เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา
งาน Bangkok Pride 2023 มีเหล่านักการเมืองและผู้มีชื่อเสียงมากมายเข้าร่วม เช่น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย รวมไปถึง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
การนำเสนอ ‘ประเด็นที่หลากหลาย’ ผ่าน ‘ขบวนพาเหรด’
ในงานบางกอกไพรด์ 2023 นี้ มีขบวนทั้งหมด 6 ขบวน ได้แก่
ขบวนแรกว่าด้วย ชุมชน (Community) อาจกล่าวได้ว่าเป็นขบวนที่รวมตัวเหล่า Drag Queen ไว้มากที่สุด ความน่าสนใจของขบวนนี้ คือการหยิบยกเอา ‘Gender X’ มาพูดถึง เพื่อเสนอให้มีการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศที่รวมไปถึงกลุ่ม Intersex, Transgender และ Non-binary ของชุมชนผู้มีความหลากหลายในประเทศไทย
The Momentum พูดคุยกับหนึ่งในผู้ร่วมขบวนซึ่งเป็นผู้ผลักดันแคมเปญ ‘Gender X’ โดยทางผู้ผลักดันได้ตอบเราอย่างน่าสนใจว่า
“จริงๆ Gender X ตัว ‘X’ มาจากการกากบาท มาจากการไม่ระบุ คือเราคิดว่าปัญหาคำนำหน้านามที่ไม่สอดคล้องกับเพศสภาพของเราในปัจจุบัน มันส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมาก ที่ผ่านมาเราต้องต่อสู้อย่างยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งกายในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร การสมัครงาน ใบสมัครงานของเราถูกคัดออกทันทีเมื่อเขาเห็นว่า คำนำหน้านามของเราไม่ตรงกับเพศที่เราเกิดมา ไหนจะเรื่องการเข้าใช้พื้นที่สาธารณะต่างๆ ที่มีการบังคับให้แยกหญิงแยกชาย แล้วถามว่าแยกจากไหนก็แยกจากคำนำหน้านาม เพราะฉะนั้น เราจึงต้องการให้คำนำหน้านามสามารถเลือกได้ ใครอยากจะข้ามเพศไปจากหญิงเป็นชาย ใครใคร่ใช้นาย นาง นางสาวอะไรก็แล้วแต่เลย แต่ใครประสงค์จะไม่ระบุก็ควรให้สิทธิเขา เพราะมันทำให้เขารู้สึกปลดปล่อยและมีเสรีภาพในตัวเองมากกว่า ไม่มีอำนาจรัฐอะไรมากดทับเขาผ่านการกำหนดคำนำหน้านามในชื่อ
“เราเน้นให้ความสำคัญไปที่ ‘เจตจำนงเสรี’ ความต้องการของเราในการเลือกเอง Gender X เกิดจากความร่วมมือกันของหลายองค์กรทั้งทางการเมืองและภาคประชาสังคมช่วยกันเขียนร่างกฎหมาย ที่จริงพวกเราเขียนกฎหมาย Gender X เสร็จแล้วด้วย และถ้ามีการยอมให้เปิดสภาฯ เมื่อไร เราก็พร้อมที่จะยื่นกฎหมายฉบับนี้ทันที”
ต่อกันที่ขบวนที่สอง ทีมคาบาเรต์ยกขนนกมาโบกสะบัดร่วมเดินเพื่อนำเสนอถึง เจตจำนง (Purpose) ว่าด้วยการสะท้อนถึง ‘My body my choice’ การรณรงค์ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีเพื่อคืนสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพให้กับเหล่าพนักงานค้าบริการ (Sex Worker) และผู้ผลิตสื่อเกี่ยวกับเซ็กซ์ (Sex Creator) ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการสนับสนุนเซ็กซ์ทอย (Sexual Wellness Product) ให้ถูกกฎหมาย และสนับสนุนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาและหลักของการยินยอม (Consent) ไปถึงการรณรงค์สิทธิเนื้อตัวร่างกายเพื่อยุติการข่มขืนและความรุนแรงในครอบครัว
The Momentum สัมภาษณ์สั้นๆ กับ ‘กลุ่มทำทาง’ กลุ่มที่ผลักดันเกี่ยวกับประเด็นการทำแท้งถูกกฎหมายโดยตรง ซึ่งได้ตอบเราอย่างน่าสนใจว่า สิทธิ การยอมรับ และมากไปถึงมุมมองของผู้ทำแท้งที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศยังไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก อย่างไรก็ดี สิ่งนี้เป็นเจตจำนงเสรีและสิทธิเหนือร่างกายอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน
“ปีที่แล้วเราไม่ได้มาร่วมขบวน แต่ปีนี้เราตั้งใจมาร่วมขบวน คือคนที่ทำงานด้านทำแท้งปลอดภัย อย่างพวกเราก็มีคนที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่ง ‘การทำแท้ง’ ในวงของผู้มีความหลากหลายทางเพศเองยังถูกพูดถึงน้อยมาก เรื่องทำแท้งไม่ใช่เฉพาะเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น เขาอาจจะเป็นไบเซ็กชวลก็ได้ หรือเป็นทรานส์ที่ข้ามเพศที่เขาก็ยังคงตั้งครรภ์ได้ เรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องที่เราพูดแต่ไม่ค่อยมีเสียงตอบรับ แต่ก็มีคนที่เป็น LGBTQIAN+ มาทำแท้งเยอะแยะ เราก็อยากให้เข้าใจว่ามันเป็นประเด็นส่วนหนึ่งของกันและกัน หลังเลือกตั้งและสามารถเปิดสภาฯ ตั้งจัดรัฐบาลใหม่ได้ เราก็หวังว่าเรื่องนี้จะดีขึ้น เพราะว่าพรรคที่กำลังจะเป็นว่าที่รัฐบาลก็มีนโยบายเรื่องทำแท้งด้วยจากที่เราเข้าไปคุยกับเขา เราก็ยังไม่รู้ว่าใครจะได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ถึงยังไงเราก็จะติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่ดี
“(ขอฝากอีกประเด็นได้ไหมคะ) ถึงผู้ว่าฯ ชัชชาติ เราเห็นอยู่แล้วว่าเขาสนับสนุน LGBTQ+ แต่เรื่องทำแท้งเขายังเงียบมาก แล้วก็โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ก็ปฏิเสธที่จะให้บริการการทำแท้ง ดังนั้น เราจึงอยากให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล้าที่จะบอกว่า เขาสนับสนุนให้การทำแท้งได้ถูกให้บริการ เพราะว่าตอนนี้โรงพยาบาลปฏิเสธ โดยเฉพาะโรงพยาบาลในสังกัดของผู้ว่าฯ เขาบอกว่าเขาไม่ยอมทำ ไม่อยากทำ ซึ่งมันก็ขัดกับกฎหมายนะ ซึ่งเรารู้สึกกว่าเสียงเราไปถึงผู้ว่าฯ ยังไม่พอ เขายังไม่พูดเรื่องนี้มากพอ”
สำหรับขบวนที่สาม ว่าด้วย ความสัมพันธ์ (Relationship) นำขบวนมาโดยนางงามจากเวที Miss Grand Thailand ต่อด้วยการร่วมขบวนเพื่อแสดงถึงพลังของความรักจากคู่รักเพศหลากหลายที่ใช้ชีวิตมาด้วยกันอย่างยาวนาน และเพื่อต้องการสะท้อนถึง Chosen Family เพื่อรณรงค์ให้สังคมเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายในรูปแบบของความสัมพันธ์และครอบครัว เพื่อนำไปสู่การรับรองสิทธิการก่อตั้งครอบครัวในกฎหมายสมรสเท่าเทียมเพื่อให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย
ขบวนที่สี่ คือประเด็น สิ่งแวดล้อม (Environment) ว่าด้วยการรณรงค์ถึง Peace & Earth เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิของโลกและทรัพยากรธรรมชาติเพื่ออนาคตที่เท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับทุกคนและทุกเพศ
“ในปัจจุบันคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางภูมิอากาศ (Climate Emergency) มากที่สุด จะเป็นคนกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก กลุ่มชาติพันธุ์ แล้วก็ผู้มีความหลากหลายทางเพศ จริงๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องของกลุ่มเพศหลากหลายเท่านั้น แต่ Climate Emergency ส่งผลกระทบต่อทุกคน มันจะทำให้การใช้ชีวิตยากขึ้น จะทำการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ จากคนกลุ่มที่มีปิตาธิปไตยครอบอยู่แล้ว โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ก็ยิ่งยาก ด้วยการที่มันเกิดวิกฤติสภาพภูมิอากาศ มันจะทำให้เกิดความเสียเปรียบในการเข้าถึงทรัพยากร การเข้าถึงโอกาสต่างๆ ก็ยิ่งลดน้อยลงไปด้วย”
กลุ่มกรีนพีซไทยแลนด์ (Greenpeace Thailand) อธิบายในประเด็นของความยุติธรรมทางอากาศ (Climate Justice) กับการผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรกับโครงสร้างสังคมแบบปิตาธิปไตยในข้างต้น
สำหรับขบวนที่ 5 ว่าด้วยประเด็น สุขภาพ (health) ที่สะท้อนไปยังการเข้าถึงสิทธิทางการแพทย์อย่างเท่าเทียม (Equal Rights to Health) โดยต้องการรณรงค์สิทธิในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์สำหรับทุกเพศ และเรียกร้องสวัสดิการการยืนยันเพศ (Gender-Affirming Care) สำหรับบุคคลข้ามเพศ
และขบวนสุดท้ายเกี่ยวกับ ความปลอดภัย (security) โดยบอกเล่าถึง ‘I’m Home’ ว่าด้วยแนวคิดหลักคือ เพื่อยืนยันถึงสิทธิการมีความปลอดภัยในชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผ่านการสนับสนุนและอำนวยความปลอดภัยจากทุกภาคส่วน ไปจนถึงเสรีภาพในการแสวงหาความสงบสุขทางจิตวิญญาณของแต่ละบุคคล รวมถึงการเปิดกว้างทางศาสนาสำหรับทุกเพศ
‘ความหวัง’ และ ‘ความฝัน’: มองภาพอนาคตประเทศไทยในความหลากหลายและความเท่าเทียม
จากขบวนไพรด์พาเหรดครั้งนี้ ถึงแม้ว่าความหลากหลายทางเพศจะมีการยอมรับในวงกว้างมากขึ้น พวกเขาสามารถเป็นตัวเองและแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองอย่างภาคภูมิใจได้ หากแต่สิ่งที่พวกเขาต่อสู้เรียกร้องในประเด็นต่างๆ ยังคงเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงในทุกวันนี้ และยังต้องต่อสู้ต่อไป
หากแต่พวกเขา ทั้งนักขับเคลื่อนภาคประชาสังคม ประชาชนทั่วไป รวมไปถึงนักการเมืองเองก็ตามกำลังต่อสู้เพื่อให้นโยบายและประเด็นต่างๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริงได้ในสังคมไทย และเราในฐานะผู้เขียนเองก็คิดว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในสักวันหนึ่งเช่นกัน
ท้ายที่สุดนี้ สำหรับงานไพรด์ 2023 ยังคงมีการจัดงานทั่วประเทศไทยอีกมากกว่า 22 ครั้ง ใน 12 จังหวัด ช่วงเดือนมิถุนายนเช่นกัน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการแสดงออกซึ่งตัวตนและศักยภาพ ไปจนถึงแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย โดยผู้จัดงานกล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมมุ่งมั่นสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ผลักดันให้ไทยจัดงานระดับโลก World Pride เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของ LGBTQIAN+ จากทั่วโลก และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศให้สามารถฉลอง ‘ความไพรด์ (Pride)’ ได้ตลอดทั้งปี
Tags: นฤมิตไพรด์, บางกอกไพรด์, Bangkok Pride 2023, LGBTQIAN+, LGBTQ+ Rights, Gender Equality, Gender-Identity