เราไม่คิดว่าการพูดคุยกับ วีรพร นิติประภา ในช่วงงานสัปดาห์หนังสือฯ ที่ผ่านมา จะพาเราไปไกลกว่าเรื่อง พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ หนังสือเล่มใหม่ของเธอ

หลายเรื่องที่วีรพรพูดในวันนั้น (ซึ่งเป็นความคิดเบื้องหลังผลงานเล่มใหม่) พาเราย้อนกลับไปถึงอดีตที่เชื่อมโยงกับปัจจุบัน

คำพูดบางคำของเธอ ชวนให้นึกถึงผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ อันพลิกโผ เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา

วีรพรบอกว่า โลกกำลังวิ่งมาถึงจุดที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงและจัดระเบียบอีกครั้ง

“พี่พบว่าผู้คนเริ่มตระหนักถึงการปรับเปลี่ยนระบบอะไรบางอย่างในสังคมของเรา อย่าง Brexit เองก็เป็นเรื่องที่คนไม่คาดการณ์ ถ้า 5 ปีที่แล้วบอกว่าจะมี Brexit คนจะหัวเราะ แต่วันนี้มันเกิดขึ้นแล้ว”

สำหรับคนที่ผ่านตาคำแนะนำหนังสือเล่มนี้ของวีรพร จะรู้ว่าเรื่องราวทั้งหมดล้วนเป็นความทรงจำของแมวตัวหนึ่งที่มีต่อครอบครัวหนึ่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

และถ้าคุณได้เปิดอ่าน อาจพบว่าเรื่องราวในพุทธศักราชอัสดงฯ กำลังสะท้อนบางสิ่งที่เกิดขึ้นในพุทธศักราชปัจจุบัน

ราวกับว่าเรื่องราวใดๆ ในโลกล้วนเกิดขึ้นและวนซ้ำเป็นวัฏจักร

“พี่ตื่นเช้าราวๆ หกโมง และใช้เวลาเขียนเช้าถึงเที่ยง แต่ช่วงใกล้ๆ จะปิดเล่มนี่ตื่นตั้งแต่ตีสี่”

4 ปี 1 เดือน 1 อาทิตย์กับอีก 6 ชั่วโมง คือช่วงเวลาที่วีรพรใช้เขียนหนังสือเล่มนี้

หนังสือที่บอกเล่าความทรงจำของทรงจำที่มากกว่านิยายรักน้ำเน่าแบบ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต แต่พาย้อนกลับไปสู่ความทรงจำของโลก ประวัติศาสตร์ สังคม

หรือแม้กระทั่ง ‘ตัวตน’ ของเราเอง

ส่วนตัวคิดว่าทำงานด้วยความรู้สึกยากอยู่เสมอ
สมมติทำงานแล้วรู้สึก “เฮ้ย! ง่ายว่ะ”
แปลว่าเราไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่
เพราะฉะนั้นจงเลิกกลับไปขายขนมครก หรือขายหมูปิ้งซะ

คุณออกตัวว่าพูดถึงเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ได้ไม่มาก อะไรคือสิ่งที่พูดถึงได้บ้าง?

พี่คิดว่าเล่มนี้จะเป็นเล่มแรกที่พี่คิดจะเขียน แต่มันไม่มีวิธีคิด เพราะตัวละครมันเยอะ แล้วโครงเรื่องก็ใหญ่ ระยะเวลาในเรื่องก็หลายปี เลยเปลี่ยนมาทำไส้เดือนฯ (ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต – นิยายเรื่องแรก) ก่อน จริงๆ ก็ไม่ได้คิดว่าไส้เดือนฯ จะได้รับความนิยมมากมาย และไม่ได้คิดว่าตัวเองเขียนแปลกหรืออะไร แต่จะพูดให้รู้เรื่องแบบชาวบ้าน มันทำไม่เป็น ไม่ได้เก่ง แต่ทำไม่เป็น (ย้ำ) เลยออกมาเป็นไส้เดือนฯ ถ้าคุณสังเกตจะเห็นว่า ในไส้เดือนฯ มันมีเทคนิคเยอะมาก คือบิวด์เทคนิคขึ้นมาเพื่อที่จะหาวิธีคิดว่า เราจะเล่าเรื่องแบบไหนได้บ้าง แล้วค่อยมาเขียนเรื่องนี้

ระหว่าง ไส้เดือนฯ กับ พุทธศักราชอัสดงฯ เล่มไหนเขียนยากกว่ากัน

ตอบไม่ได้ค่ะ เพราะว่ามันต่างกัน ส่วนตัวคิดว่าทำงานด้วยความรู้สึกยากอยู่เสมอ สมมติทำงานแล้วรู้สึก “เฮ้ย! ง่ายว่ะ” แปลว่าเราไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นจงเลิกกลับไปขายขนมครก หรือขายหมูปิ้งซะ

ประเด็นใหญ่ๆ ที่พูดถึงในพุทธศักราชอัสดงฯ คืออะไร?

ความหวัง การดิ้นรนของผู้คนที่จะมีพื้นที่ ซึ่งก็เป็นที่มาของความหวัง แต่ปกติเรามักจะมองว่าพื้นที่เป็นเรื่องของเขตแดน หรือแผนที่ แต่ความจริง ‘พื้นที่’ ยังมีเรื่องมากมายอยู่ในนั้น เช่น พื้นที่ทางความรู้สึก พื้นที่ของครอบครัว พื้นที่ของการรักและการได้รับ ถามว่ามันสำคัญไหม จริงๆ แล้วพื้นที่มันบ่งบอกว่า เรามีอยู่หรือไม่มีอยู่ด้วยซ้ำ

การเมืองไม่ใช่เรื่องที่จะมานั่งบอกว่าข้างนี้ผิดหรือข้างนี้ถูก
แต่คำถามก็คือ ถ้ามึงมีลูกสองคน มึงก็รู้ว่าต้องโหวตไง
เพราะถ้าไม่โหวต ลูกมึงอาจจะฆ่ากันเองได้ไง

ทำไมถึงมองว่าการมี ‘พื้นที่’ คือความหวัง

ถ้าคุณมีลูกสองคน คนหนึ่งมีพื้นที่มากกว่าอีกคนหนึ่ง หมายถึงเสียงดังกว่า อีกฝั่งก็จะรู้สึกหงอยเหงา เหมือนไม่มีพื้นที่ในชีวิต คุณก็รู้ว่าลูกที่พ่อแม่ไม่รักมักจะลงเอยด้วยการติดยา หรือไม่ก็เป็นนักเลงหัวไม้ เพราะเขาไม่มีพื้นที่ หรือมีพื้นที่น้อยเกินไป ก็เติบโตไม่ได้ มันสิ้นหวัง พ่อแม่ไม่รักกู แล้วใครจะรักกู พี่เริ่มเล่าเรื่อง ‘พื้นที่’ ในครอบครัว ทั้งๆ ที่พี่พูดถึงพื้นที่ที่ใหญ่กว่านั้น

หมายถึงพื้นที่ของประเทศ พื้นที่สิทธิในสังคม?

ใช่ แต่จริงๆ พี่สนใจการเมืองน้อยกว่าการเป็นมนุษย์นะ และพี่ไม่พยายามพูดประเด็นการเมืองในหนังสือ เพราะพี่มีความรู้สึกว่า ถึงที่สุดมันก็แค่มนุษย์สันดานดีกับสันดานไม่ดี และเราทุกคนก็ทำสิ่งต่างๆ ภายใต้แรงกดดันหรือสภาพแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นการเมืองไม่ใช่เรื่องที่จะมานั่งบอกว่าข้างนี้ผิดหรือข้างนี้ถูก แต่คำถามก็คือ ถ้ามึงมีลูกสองคน มึงก็รู้ว่าต้องโหวตไง เพราะถ้าไม่โหวต ลูกมึงอาจจะฆ่ากันเองได้ไง

เพราะเหตุนี้ พี่จะไปพูดถึงเรื่องการเมืองใหญ่โตทำไม หรือทำไมต้องอธิบายกันมากมายก่ายกองด้วยคำว่า ประชาธิปไตย สังคมนิยม นั่นนู่นนี่ จริงๆ จะเผด็จการก็ได้นะคะ แต่ขอโหวตก่อนได้ไหมคะ เพราะปัญหาคือ ถ้าเผด็จการโดยไม่มีการโหวต ทั้งสองฝั่งอาจจะฆ่ากันไง อะไรฉันก็ไม่กลัว ฉันกลัวฆ่ากัน เพราะฉันอยากมีบ้านอยู่ ฉันอยากมีข้าวกิน ฉันอยากทำงาน ชีวิตคนไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่านั้นเลย ฉันไม่ต้องการอุดมคติประชาธิปไตย มันไม่ได้สูงส่งกว่ากันหรอก เพียงแต่คุณไม่สามารถที่จะให้สิทธิ์ใครมากกว่า หรือจะกดหัวใครได้

สังเกตว่าพุทธศักราชอัสดงฯ พูดถึงระยะเวลาช่วงหลังสงคราม ทำไมเลือกเขียนช่วงเวลานี้?

พี่รู้สึกว่าตรงจุดที่เราอยู่ทุกวันนี้ เราอาจคิดว่าเราพ้นช่วงเวลานั้นมาแล้ว แต่จริงๆ แล้วเรายังไม่พ้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นหลังซากปรักหักพังจากสงครามโลก คือการจัดระเบียบที่เข้มข้น คุณไปดูอิตาลี มีมุสโสลินีอยู่ 10-20 ปี และมีอีกหลายประเทศต้องเป็นเผด็จการเพื่อที่จะจัดระเบียบ

ส่วนตัวไม่ได้มองว่า การเป็นเผด็จการ เป็นประชาธิปไตย หรือเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี เพียงแต่มันต้องเป็นไป และเราก็วิ่งมาถึงจุดหนึ่งที่มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงและจัดระเบียบอีกครั้ง

พี่พบว่าผู้คนเริ่มตระหนักถึงการปรับเปลี่ยนระบบอะไรบางอย่างในสังคมของเรา อย่าง Brexit เองก็เป็นเรื่องที่คนไม่คาดการณ์ ถ้า 5 ปีที่แล้วบอกว่าจะมี Brexit คนจะหัวเราะ แต่วันนี้มันมีแล้ว และมันเกิดขึ้นจริงๆ เป็นไปได้ยังไง นั่นหมายความคนเริ่มมีการเรียกร้องที่จะหาการเปลี่ยนแปลง

ตอนนี้พอซีเรียมา คุณกลับไล่หรือไม่ก็ปล่อยพวกเขาให้จมน้ำตาย
ทั้งๆ ที่สมัยก่อนคุณเป็นคนอิมพอร์ตผู้ลี้ภัยด้วยซ้ำ
อย่างบรรพบุรุษคุณ ก็อาจจะเป็นคนจีน
ซึ่งเราต่างก็เป็นเชื้อสายคนอพยพไม่ต่างกัน

ทำไมถึงคิดว่าโลกเดินมาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงเหมือนยุคหลังสงคราม?

พี่สังเกตว่า ราวๆ 5-6 ปีมานี้ หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ประมาณปี 2010 ที่เราเริ่มกระวนกระวายกันอีกครั้ง ไม่ว่าปัญหาก่อการร้าย ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเราไม่เคยเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจตกทั้งโลกแบบอเมริการ่วง เราร่วง ในขณะที่วิกฤตต้มยำกุ้ง (วิกฤตการณ์การเงิน พ.ศ. 2540) อยู่แค่ในเขตเอเชีย ไม่ได้กระหน่ำไปทั้งโลก หรือปัญหาผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้มีแค่ซีเรียมาอยู่ยุโรป คนจีนก็เริ่มเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศ ถ้าคุณกลับไปมองช่วงหลังสงคราม ผู้ลี้ภัยทั้งโลกนะคุณ ไม่เห็นคุณจะร้องแรกแหกกระเชออย่างนี้เลย ตอนนี้พอซีเรียมา คุณกลับไล่หรือไม่ก็ปล่อยพวกเขาให้จมน้ำตาย ทั้งๆ ที่สมัยก่อนคุณเป็นคนอิมพอร์ตผู้ลี้ภัยด้วยซ้ำ อย่างบรรพบุรุษคุณ (มองคนสัมภาษณ์) ก็อาจจะเป็นคนจีน ซึ่งเราต่างก็เป็นเชื้อสายคนอพยพไม่ต่างกัน

คุณต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า เขตแดนเพิ่งจะปรากฏจริงๆ ในแผนที่หลังสงครามโลก เพราะก่อนสงครามคุณก็เดินข้ามกันไปมาเละเทะ ถ้าไม่มีสงครามโลกคุณก็ไม่สนใจหรอกว่าใครอยู่เขตไหน อย่างปัญหาชายแดนไทยกับเขมรที่มานั่งรบกันเมื่อหลายปีก่อน ชาวบ้านแถวนั้นเขาไม่รู้หรอกว่าเขตมันอยู่ตรงไหน ปกติก็เดินข้ามไปกินเหล้าบ้านนั้นบ้านนี้ ฉะนั้นคุณต้องเปิดแผนที่ดู ไม่พอ คุณต้องพล็อตแล้วฉายแสงมาจากบนฟ้า เพราะคุณดูในแผนที่คุณไม่เห็น

นอกจากนี้ ยังมีบางโครงสร้างที่เราต้องกลับมานั่งทบทวน เช่น โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ใช้ระบบเศรษฐกิจหนึ่งมาจนถึงระยะหนึ่ง และมันก็พิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้รองรับคนทุกคน

หมายถึงระบบทุนนิยมและความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนที่เห็นกันทุกวันนี้?

ไม่ใช่แค่ ‘เห็น’ แต่ระบบทุนนิยมที่เราใช้กันมาได้ ‘สร้าง’ ความเหลื่อมล้ำด้วยซ้ำ พอหลายสิบปีผ่านไป คุณกลับมามองดูอีกที ช่องว่างมันกว้างขึ้นเว้ย คนรวยรวยน่ากลัวมาก ในขณะที่คนจนก็ยังจนอยู่ แต่ไม่ได้จนน่ากลัวแค่นั้นเอง ไอ้การปฏิวัติประชาชนแบบที่มันเคยเกิดขึ้น มันถึงไม่เกิดไง เพราะว่าคนจนยังไม่จนถึงตาย แต่ในขณะเดียวกัน คนรวยมันรวยถึงตาย รวยเป็นหมื่นๆ แสนๆ ล้าน ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ ช่องว่างมันถ่างกว้างขึ้น แล้วคนจนก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ลุกฮือ เพราะตราบใดที่คุณยังมีข้าวกิน ถ้าเกิดคุณลุกฮือก็คือคุณขี้อิจฉาว่ะ องุ่นเปรี้ยวเนอะ ไม่ได้ขับเฟอร์รารีอย่างใครๆ เขาเลยยั๊วะ แต่จริงๆ มันคือเรื่องของความเหลื่อมล้ำ เพราะทรัพยากรไม่ได้ถูกเฉลี่ยอย่างเท่าเทียม

คุณกำลังสื่อว่าโลกที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เดินมาผิดทาง?

ไม่ๆๆ (ตอบเร็ว) พี่ไม่ได้กำหนดว่าสิ่งใดผิดหรือสิ่งใดถูก แค่จะบอกว่ามันเป็นอย่างที่มันเป็นนี่แหละ จนกว่าคุณจะเริ่มไปกำกับว่า มันต้องเป็นอย่างนี้ ตรงนั้นแหละผิด
เนื้อหาที่พูดถึงความหวัง ช่วงเวลาในยุคหลังสงครามที่มีแต่ซากปรักหักพัง ขอโทษนะครับ ช่วงเวลาหลัง

สงครามไม่ได้มีแต่ความสิ้นหวังหรือ?

มันเป็นยุคของความหวังต่างหาก เพราะสงครามสงบแล้ว และพี่พบว่าทุกอย่างมันเริ่มต้นหลังจากสงคราม เช่น มีการตัดถนนเกิดขึ้นมากมาย มีพ่อค้าที่ร่ำรวยเกิดขึ้น มีเทคโนโลยีที่ทะลักออกมา เพราะในช่วงสงคราม คนทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อที่จะเอาชนะคะคานกัน แล้วจากนั้นเราก็เข้าสู่ยุคเทคโนโลยีเต็มตัว

นั่นคือ ณ ตอนนั้น แต่ตอนนี้เรากำลังสิ้นหวังลงไปเรื่อยๆ

นี่คุณ! อย่าให้คนรุ่นคุณมาถามอะไรกับคนรุ่นเก่าๆ เลย
ไร้สาระ พวกเขาไม่รู้อะไรหรอก

ทำไมยุคนี้ถึงเป็นยุคแห่งความสิ้นหวัง?

ยุครุ่นแม่พี่อาจจะเปิดร้านขายของชำ และวาดหวังถึงการขยายธุรกิจ แต่วันนี้ใครเป็นคนขาย คนที่มี chainstore มากที่สุดในประเทศหรือเปล่า และถ้ามองธุรกิจทุกอย่างที่เขามี เขาคือพระราชาในอาณาจักรแห่งการค้า สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นแล้ว และถ้าวันนี้คุณเริ่มด้วยร้านขายของชำ คุณก็จะชำไปเรื่อยๆ ไม่ได้เป็นเจ้าสัว ซึ่งจริงๆ แล้วการเป็นเจ้าสัวไม่ได้เกี่ยวกับเสื่อผืนหมอนใบแต่อย่างใด แต่มันเกี่ยวกับช่วงเวลานั้นที่การผูกขาดยังไม่เกิดขึ้น การค้าระหว่างประเทศยังไม่รุ่ง และอื่นๆ อีกมากมาย

ดังนั้น คนรุ่นคุณไม่มีสิทธิ์หวังแบบนั้น แต่ในขณะเดียวกัน คุณก็ไม่รู้จักความหวังแบบนั้น อย่างคุณมีคอนโด 3 ล้าน คุณไม่ได้จนหรอก คุณโอเค แล้วถ้าคุณเป็นฟรีแลนซ์ นั่นอาจจะเป็นความหวังสูงสุด คือคุณเป็นอิสระ

แล้วในยุคที่สิ้นหวังแบบนี้ ในฐานะผู้มาก่อน คุณอยากแนะนำอะไรเด็กรุ่นใหม่เพื่อที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไป

นี่คุณ! อย่าให้คนรุ่นคุณมาถามอะไรกับคนรุ่นเก่าๆ เลย ไร้สาระ พวกเขาไม่รู้อะไรหรอก หรือต่อให้คุณไปถามเจ้าสัวว่ามีคำแนะนำอะไรให้กับคนรุ่นใหม่บ้างไหม คิดเหรอว่าเขาจะให้คำแนะนำที่ดี นั่นข้อที่หนึ่ง ข้อที่สอง เขาอาจจะให้คำแนะนำที่ดีกับคนของเขา ซึ่งก็อาจไม่สามารถเอามาใช้ได้กับคนอื่นๆ ข้อที่สาม เขาก็อาจจะชวนคุณเข้าทุ่งไปเลย เพื่อที่คุณจะได้ออกไปจากเส้นทางของเขา

เพราะฉะนั้นคนในแต่ละรุ่นก็มีอภิสิทธิ์ของตัวเอง เหมือนที่คุณมีอภิสิทธิ์ของคุณ ซึ่งชีวิตมันก็ดีงามแบบนี้แหละ

เท่าที่รู้ เนื้อเรื่องในนิยายอ้างถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไม่น้อย และคุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์บ้านเรา มันมีความเป็น ‘เมจิคัลเรียลลิสม์’ อยากให้ช่วยขยายความตรงนี้หน่อยครับ

เคยได้ยินเรื่อง ‘กาคาบข่าว’ ไหม เรื่องนี้เกิดขึ้นตอนต้นรัชกาลที่ 2 คือมีการอ้างว่า มีกาคาบข้อความไปทิ้งไว้หน้าวัง บอกว่า ‘เจ้าฟ้าเหม็น’ (สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมขุนกษัตรานุชิต – ลูกพระเจ้าตากสินที่รอดพ้นจากการถูกกำจัดในต้นรัชกาลที่ 1 เพราะยังเล็กมาก และเป็นหลานองค์โตของรัชกาลที่ 1) จะก่อกบฏ ก็เลยเอาเจ้าฟ้าเหม็นไปฆ่าซะ คำถามคือ หนึ่ง มีกาคาบข่าวจริงหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่สอง มีการยอมรับว่ากาคาบข่าวไม่ผิด และข่าวที่กาคาบมานั้นเป็นจริง อย่างเนียะ! คือมันเมจิกคัลว่ะ

หรือตอนที่ประหารบรรดาลูกๆ ของพระเจ้าตากสิน แล้วในคืนนั้นจู่ๆ ก็มีการจัดมหรสพในวังหน้าซึ่งเอิกเกริกมาก ดังไปทั้งพระนคร ถ้าตัดสองเหตุการณ์นี้ออกจากกัน คุณก็จะเห็นว่า แปลกว่ะ อยู่ๆ วังหลวงก็จัดมหรสพ แต่ถ้าคุณรู้เรื่องนี้ด้วย ก็จะรู้ว่า อ๋อ เอาไว้กลบเสียงกรีดร้องของบรรดา… (เงียบไปสักพัก) พี่คิดว่าตรงนี้เร้าใจว่ะ คุณนึกถึงว่า คุณเป็นประชาชนโง่ๆ เนอะ วันหนึ่งก็อ้าว มโหรีปี่พาทย์ ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เช้าวันต่อมา ลูกท่านหลานเธอก็หายไปทั้งกระบิ ไม่มีใครรู้อีก ถ้าเกิดคุณดูเส้นสายประวัติศาสตร์ของเราเป็นอย่างนี้หมด มันมีความอิหลักอิเหลื่อ และเป็นอย่างนั้นเสมอ

ซึ่งเรื่องลักษณะนี้แหละเป็นเรื่องเล่า เป็นทรงจำของทรงจำที่มีคนพูดถึง แต่มันเป็นจริงหรือเปล่า เอ๊ะ! แต่มันก็เหมือนจะจริง ซึ่งสิ่งนี้คือทรงจำของทรงจำในหนังสือเล่มนี้ เหมือนที่เป็นทรงจำของแมว หรือว่าจะเป็นทรงจำของใคร

พอพูดถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงชื่อหนังสือ ทำไมถึงตั้งชื่อ ‘พุทธศักราชอัสดงกับความทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ ซึ่งเรียกยากและจำยากมาก

น่าอ่านปะ

น่าอ่าน…

เอ้า! ก็จบ (หัวเราะ)

Tags: