วันนี้ (1 มิถุนายน 2567) มีการจัดกิจกรรม Bangkok Pride 2024 ขบวนพาเหรดจากอาคารนิมิตบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ไปยังห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเฉลิมฉลองเดือนแห่งความหลากหลาย เดือนแห่งความเท่าเทียม อันมีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) เมื่อเดือนมิถุนายน 2512 ที่จุดประกายการเคลื่อนไหวสิทธิเกย์ยุคใหม่

Bangkok Pride 2024 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Celebration of Love เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ… ซึ่งปลดล็อกให้การแต่งงานไม่จำกัดเพียงชายและหญิงเท่านั้น และคาดว่าภายในปีนี้ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ที่ปลดล็อกการสมรสให้ทุกเพศสภาพแต่งงานกันได้

สำหรับพาเหรด Bangkok Pride ประกอบด้วย 5 ขบวนหลัก ได้แก่ 1. สมรสเท่าเทียม (Love Wins) 2. ตัวตน (Love for Identity) 3. ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Love for Dignity) 4. สันติภาพ (Love for Peace & Earth) และ 5. เสรีภาพ (Love for Freedom) โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมขบวนพร้อมกับบรรดานักการเมือง เซเลบริตี และอินฟลูเอนเซอร์สายต่างๆ

ทั้งนี้ เศรษฐากล่าวตอนหนึ่งขณะเปิดงานว่า จะเฉลิมฉลองเรื่องสมรสเท่าเทียมตลอดทั้งเดือนมิถุนายน และตั้งใจขับเคลื่อนกฎหมาย ทั้งกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายคำนำหน้าชื่อ รวมถึงกฎหมายให้สิทธิ Sex Worker ให้เกิดขึ้นจริงโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ในปีนี้มีข้อถกเถียงในเรื่องของ ‘ผู้สนับสนุน’ การจัดงาน โดยผู้สนับสนุนรายหนึ่งคือ เซเว่นอีเลฟเว่น ที่ทำให้ภาคประชาสังคมถกเถียงกันว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะให้ ‘ทุนใหญ่’ เข้ามาสนับสนุนขบวนพาเหรด รวมถึงเข้ากระบวนการ Rainbow-Washing หรือไม่ ขณะที่ผู้จัดงานยืนยันว่า หากไม่มีผู้สนับสนุน งานเช่นนี้ก็ไม่สามารถจัดขึ้นอย่างใหญ่โตได้

สำหรับกิจกรรมในช่วงเย็น บริเวณลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เริ่มต้นในเวลา 16.00 น. โดยมีทั้งการแสดงของกลุ่ม Sex Worker การกล่าวสนับสนุนเรื่องความหลากหลายทางเพศของนักการเมือง รวมถึงการแสดงคอนเสิร์ต และจะสิ้นสุดลงในเวลา 22.30 น.

Tags: , , , ,