สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตสำหรับคุณคืออะไร? 

 

‘ความกลัว’ อาจเป็นสิ่งที่เราไม่อยากเผชิญ แต่ก็ถือเป็นสัญชาตญาณดิบอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องชีวิตตัวเอง ความกลัวจึงเป็นเหมือนกลไกขั้นพื้นฐานที่คอยตักเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ถ้าเรายังคงฝ่าฝืนความกลัวนั้นต่อไป

 

มนุษย์มีความกลัวมากมายจนพัฒนากลายมาเป็นโรคกลัว (Phobia) ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องอันตรายถึงแก่ชีวิต หรืออะไรก็ตามที่สามารถพบเห็นในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่โรคกลัวความสูง (Acrophobia) โรคกลัวแมงมุม (Arachnophobia) ไปจนถึงโรคกลัวสีเหลือง (Xanthophobia) หรือโรคกลัวเงิน (Plutophobia)

 

จิตใต้สำนึกของมนุษย์สามารถพัฒนาความกลัวประเภทต่างๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว และพัฒนาจากเรื่องทางกายภาพจนกลายเป็นความกลัวที่ฝังอยู่ในจิตใจ ซึ่งอีกหนึ่งโรคกลัวที่ฝังอยู่ในใจของใครหลายคนอย่างที่ก็คือโรคกลัวการถูกลืม หรือ ‘Athazagoraphobia’

 

Athazagoraphobia คือโรคกลัวการถูกลืม ถูกเพิกเฉยในสิ่งต่างๆ หรือแม้กระทั่งว่าเป็นอาการที่คนเรากลัวว่าตัวเองจะลืมใครสักคนได้เช่นเดียวกัน โดยคนที่ทุกข์ทรมานจากภาวะ Athazagoraphobia จะเกิดอาการวิตกกังวล เครียดขั้นรุนแรง จนเกิดอาการตื่นตระหนก (Panic Attack) เมื่อเกิดความคิดที่ว่าพวกเขานั้นกำลังถูกลืมโดยใครบางคนอยู่ 

 

คนที่ทุกข์ทรมานจากโรคกลัวการถูกลืมมักพบว่าพวกเขานั้นจะพยายามทำให้ตัวเองแน่ใจว่าจะไม่ถูกลืมอย่างถึงที่สุด ด้วยการพยายามทำให้ตัวเองเป็นที่ต้องการอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าการกระทำดังกล่าวนี้ก็สามารถที่จะส่งผลย้อนกลับทำให้พวกเขาเกิดอาการกังวลเพิ่มเติมว่าพวกเขาพยายามที่จะทำให้ตัวเป็นที่จดจำได้มากพอหรือยัง ซึ่งสุดท้ายมันก็จะทำให้อาการกลัวของโรค Athazagoraphobia นี้ย่ำแย่ลงไปอีก

 

สาเหตุของโรคกลัวการถูกลืมนี้ยังไม่ได้รับการระบุอย่างแน่ชัด เพียงแต่ว่าโรคนี้มักถูกพบในคู่สมรส หรือ ผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เพราะพวกเขาเชื่อว่าคนที่เขารักจะลืมเขาในที่สุด และสำหรับเคสที่พบเห็นในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม เพราะพวกเขากลัวจะลืมคนที่ตัวเองรักเช่นกัน

 

อีกหนึ่งต้นตอที่อาจจะเป็นไปได้สำหรับโรคนี้คือ เป็นผลมาจากการที่พวกเขาได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจครั้งที่ตัวเองยังเป็นเด็ก ไม่ว่าการที่พวกเขานั้นเคยถูกลืมไว้ที่ใดที่หนึ่ง หรือถูกเมินเป็นเวลานาน จนสมองได้สร้างคำอธิบายให้กับตัวเองว่าตนนั้น ‘ไม่สำคัญ’ หรือ ‘ไม่มีตัวตน’ รวมถึงเมื่อตอนเป็นเด็กพวกเขาอาจเคยไปเยี่ยมปู่ย่าตายายที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ความทรงจำนั้นอาจยังตกค้างอยู่ในใจเป็นเวลานาน เพราะพวกเขาจดจำความเจ็บปวดที่พ่อแม่เผชิญได้  

 

เหตุการณ์เหล่านี้ทั้งหมดสามารถค่อยๆ กลายเป็นความรู้สึกที่คอยทับถมลงไปเรื่อยๆ ในจิตใจ จนพัฒนากลายมาเป็นโรคกลัวการถูกลืมอย่างเป็นทางการนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม โรคกลัวการถูกลืมสามารถรักษาหรือเยียวยาได้ด้วยวิธีการที่คล้ายกับการรักษาโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) เช่น การทำจิตบำบัด หรือ CBT (Cognitive Behavioral Therapy)

 

การฝึกสติและการหายใจ (Mindfulness and Breathing Techniques) การใช้ยาลดความวิตกกังวล (Anti-Anxiety Medication) การใช้ยาต้านเศร้า SSRIs ซึ่งเป็นกลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้าที่ออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มระดับสารเซโรโทนินในสมอง (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors)

 

สำหรับใครบางคน ‘การลืม’ หรือ ‘ถูกลืม’ อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ถึงขนาดคอขาดบาดตาย มันไม่อาจทำให้เราเลือดไหลหมดตัว หรือเต็มไปด้วยแผลฟกช้ำ แต่มันเป็นความเจ็บปวดมากพอที่จะทำให้ใครบางคนนอนไม่หลับจนต้องเสียน้ำตา เพราะฉะนั้นถ้าใครก็ตามที่มีเพื่อนที่ไม่ได้คุยกันนานหรือครอบครัวที่ไม่ได้สนิทกันเหมือนวัยเด็กนั้น แค่หยิบโทรศัพท์โทรไปหา หรือทักไปคุยเล็กๆ น้อยๆ อาจช่วยให้เขาคนนั้นคลายความหวาดกลัวได้ และสุดท้ายเมื่อถึงเวลาที่ต้องลาจาก ‘ความทรงจำ’ จะเป็นสิ่งเดียวที่ถูกเหลือทิ้งเอาไว้

 

 

ที่มา

https://psychtimes.com/athazagoraphobia-fear-of-being-forgotten-or-ignored/

https://www.fearof.net/fear-of-being-forgotten-phobia-athazagoraphobia/

https://practicalpie.com/athazagoraphobia/

https://www.healthline.com/health/athazagoraphobia#treatment

Tags: ,