วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2567) ณ ห้องนนทบุรี ชั้น 3 อาคาร 4 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงความคืบหน้าเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ตพร้อมข้อเสนอที่รัฐควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ความสำคัญต่อนโยบายการเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และมีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 ซึ่งนโยบายดังกล่าวใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและอาจสร้างภาระการคลังในระยะยาว
คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมติแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต’ เพื่อศึกษารายละเอียด ผลกระทบ และความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการตามนโยบายดังกล่าว โดยมีการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง จากเอกสารหลักฐานต่างๆ รวมถึงการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลจากส่วนราชการและหน่วยงาน ตลอดจนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง โดยมีความเสี่ยง 4 ประเด็นสำคัญดังนี้
1. ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต เช่น ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย และความเสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการฯ
2. ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็น ตลอดจนผลกระทบและภาระทางการเงินการคลังในอนาคต และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรมีการจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงการพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง เช่น กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงอาจเป็นทางเลือกที่จะไม่ส่งผลกระทบทางการคลัง โดยเฉพาะดอกเบี้ยและสัดส่วนของหนี้สาธารณะได้มากกว่า
3. ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย ในการดำเนินโครงการภายใต้แนวนโยบายดังกล่าว รัฐบาลจะต้องตระหนัก ใช้ความระมัดระวังอย่างเคร่งครัด และรอบคอบ ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โปร่งใส ปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561, พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม, พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
4. ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง
ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีการประชุมเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 มีข้อเสนอ 8 ประเด็นที่คาดว่ารัฐควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
1. ควรศึกษาวิเคราะห์และชี้แจงอย่างเป็นรูปธรรมว่า กลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์คือใคร ซึ่งสมควรเป็นประชาชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย และเพื่อไม่ให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่ที่นักการเมืองหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อกระจายเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
2. การหาเสียงของพรรคเพื่อไทย และมีการจัดตั้งรัฐบาลและแถลงนโยบายเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้นซึ่งมีความแตกต่างกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งควรตรวจสอบว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ.ประกอบว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วย มิเช่นนั้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานของพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้ แต่เมื่อได้รับการเลือกตั้งกลับไม่ปฏิบัติตาม
3. การดำเนินนโยบายของรัฐบาล ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ควรคำนึงถึงความคุ้มค่า ความจำเป็นในการกระตุ้น ตลอดจนความโปร่งใส การถ่วงดุล ความมั่นคงระบบการคลัง ความคล่องตัว โดยพิจารณาระหว่างผลดี ผลเสีย ในการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 2.4 การกู้เงินจะสร้างภาระเงินให้รัฐและประชาชนในระยะยาว ซึ่งต้องตั้งระยะเวลาการใช้หนี้โครงการนี้ 4-5 ปี กระทบต่อการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ
4. ในการดำเนินโครงการนี้ คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาความเสี่ยงด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
5. คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประเมินความเสี่ยงรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยงและการป้องกันการทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินโครงการ โดยนำข้อเสนอแนะจากจาก ป.ป.ช.เรื่องการบูรณาการและการป้องกันการทุจริตของภาครัฐ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ไปประยุกต์ใช้ เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างโปร่งใส6. การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ในการดำเนินงานต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลาและงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่มีการแจกเงินเพียงครั้งเดียว โดยใช้จ่ายภายในระยะเวลา 6 เดือน
7. ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจจากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จากการศึกษาและตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรวบรวม และประมวลข้อมูลจากการศึกษาของธนาคารโลกและ IMF มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่มีศึกษาอัตราการเจริญเติบโตของไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤต เพียงแต่ชะลอตัว ดังนั้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน กระตุ้นการใช้จ่าย การลงทุนภาครัฐและเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน
ในกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยประชาชนภายใต้สถานการณ์ที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด เพราะเป็นกลุ่มที้ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง เช่น กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน
8. หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชน ควรช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางยากจน ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินปกติ ไม่ใช่เงินกู้ตาม พ.ร.บ.เงินกู้ และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม โดยการกระจายเงินเป็นงวดๆ ผ่านเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพและมีฐานข้อมูลครบ และการดำเนินโครงการโดยใช้เงินปกติ ไม่ใช่เงินกู้ จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ และประการสำคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม นิวัติไชยย้ำว่า การเสนอข้อเสนอแนะเชิงวิชาการต่อนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ และมีการรับฟังข้อคิดเห็นจากหลายภาคส่วนและพิจารณาจากข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ใช่การคิดเองเออเองของ ป.ป.ช.และเป็นการทำงานเพื่อป้องกันไม่ใช่กล่าวหาหรือวินิจฉัยเอาผิด เนื่องจากโครงการนี้ยังไม่มีการดำเนินงาน และหากแม้รัฐบาลไม่ดำเนินการตามก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเป็นเพียงข้อเสนอแนะ
Tags: การเงิน, ป.ป.ช., ดิจิทัลวอลเล็ต