ผลการเลือกตั้งซ่อมเขต 1 จังหวัดชุมพร หาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตคนใหม่แทน ชุมพล จุลใส และผลการเลือกตั้งซ่อมเขต 6 จังหวัดสงขลา แทน ถาวร เสนเนียม สองแกนนำ กปปส. จากพรรคประชาธิปัตย์ ต่างสามารถรักษาเก้าอี้ทั้งสองนี้ไว้ได้ ทั้งเก้าอี้ของ อิสรพงษ์ มากอำไพ ที่จังหวัดชุมพร และเก้าอี้ของ สุภาพร กำเนิดผล ที่จังหวัดสงขลา ล้วนสะท้อนภาพชัดถึงความเหนียวแน่นที่คนภาคใต้ยังคงมีต่อ ‘พรรคสะตอ’ ไม่เสื่อมคลาย แม้ผู้สมัครหลายคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ใช้อำนาจรัฐและอำนาจเงินมากที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นคู่ท้าชิงอย่างพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังคงเจาะทั้งสองพื้นที่ไม่ได้
ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยังคงเหนียวแน่น เป็นเพราะกระแสพรรค หรือเป็นเพราะกระแสคน แล้วยุคตกต่ำของพรรคประชาธิปัตย์จากปี 2562 ที่เสียเก้าอี้ภาคใต้หลายจังหวัดให้พรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นกระบี่ พัทลุง หรือนครศรีธรรมราช…ยุคตกต่ำนั้นจบสิ้นหรือยัง นี่คือสิ่งที่ The Momentum มองเห็นผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้
1. ‘พรรคสะตอ’ ยังแข็งแรง
นับตั้งแต่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากหัวหน้าพรรคหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 และได้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตเจ้าของพื้นที่ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เด็กในคาถา ชวน หลีกภัย ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ภาพพรรคสะตอของประชาธิปัตย์ก็ดูจะแข็งแรงขึ้น ไม่ได้เป็นพรรคนักเรียนนอกหรือพรรคผู้ดีตามแบบฉบับของอภิสิทธิ์อีกต่อไป
ประชาธิปัตย์ภายใต้จุรินทร์ยังให้ความเคารพผู้อาวุโสปักษ์ใต้ ด้วยการเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น บัญญัติ บรรทัดฐาน และ ‘สามสี’ – ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ซึ่งร้างเวทีปราศรัยมานานนับสิบปี มาขึ้นเวทีช่วยผู้สมัครรอบนี้ ซึ่งผู้ใหญ่อีก 2 คน ที่รู้กันว่าเป็น ‘ไม้เบื่อไม้เมา’ ยอมจับมือสงบศึกกันชั่วคราว เพื่อรักษาพรรคไว้ให้ได้ ดังเช่นกรณีของ เดชอิศม์ ขาวทอง และนิพนธ์ บุญญามณี เจ้าของพื้นที่สงขลา เพราะรู้ดีว่าหากปล่อยให้พรรคพลังประชารัฐชนะ สุดท้ายการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่ช้าไม่นานอาจต้องเหนื่อยหนักแน่นอน
เมื่อแม่ทัพใหญ่และทีมใหญ่เป็น ‘คนใต้’ ด้วยกันทั้งหมด คนใต้ก็เกิดความไว้ใจว่าประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคที่ ‘ทำประโยชน์’ ให้ท้องถิ่นของตนได้ กอปรกับผู้สมัครทั้งสองคน ล้วนเป็นคนในพื้นที่ที่มีคนในพื้นที่ให้การสนับสนุน ทั้งอิสรพงษ์ ที่มี ชุมพล จุลใส อดีต ส.ส. ผู้มีศักดิ์เป็นอาคอยช่วย และสุภาพร ที่มี เดชอิศม์ ผู้เป็นสามี หนึ่งใน ‘บ้านใหญ่’ ของจังหวัดสงขลา ที่เพิ่งได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรคโควตาภาคใต้ เอาชนะ ชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.หลายสมัย และรองประธานวิปรัฐบาลไปได้หมาดๆ เป็นผู้ผลักดัน ย่อมทำให้เห็นว่า ‘แรงส่ง’ จากผู้ใหญ่ในภาคใต้ล้วนมีส่วนผลักให้ประชาธิปัตย์สร้างชื่อกลับมาได้อีกครั้ง
2. คนใต้รักใคร รักจริง
ต้องไม่ลืมว่าทั้งชุมพลและถาวรนั้นถูกเพิกถอนสิทธิ ส.ส. จากการถูกศาลสั่งจำคุก เพราะเป็นแกนนำการชุมนุม กปปส. ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 8 ปีก่อน
มวลชน กปปส. ส่วนใหญ่ในเวลานั้นเดินทางมาจากภาคใต้ มาปักหลักชุมนุมในกรุงเทพฯ ยาวนานหลายเดือน จนถึงเวลานี้ผ่านมานานเกือบทศวรรษ เลือดความเป็น กปปส. ผู้เกลียด ‘ระบอบทักษิณ’ นั้นยังคงเข้มข้น ไม่เคยมีกระแส ‘ตีกลับ’ เหมือนในกรุงเทพฯ
ความภาคภูมิใจใน กปปส. ส่งผ่านมายังคะแนนเสียงเลือกตั้งของทั้งชุมพลและถาวร ผ่านการเลือกตั้งในปี 2562 ทำให้ทั้งคู่ได้รับคะแนนเสียงถล่มทลาย ไม่ว่าพลังประชารัฐจะใช้แคมเปญว่า ‘เลือกสงบ จบที่ลุงตู่’ หรือไม่ว่าอภิสิทธิ์จะประกาศว่า ‘ไม่เอาพลเอกประยุทธ์’ แต่ความเชื่อถือศรัทธาในตัวแกนนำ กปปส. ของทั้งคู่ก็ยังคงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม เพราะถือว่าเป็น ‘มิตรร่วมรบ’ กันมา
ชุมพลนั้นยอมรับผ่านการให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า การต่อสู้ในฐานะแกนนำ กปปส. ทำให้คนชุมพรยังไว้ใจในตัวเขา ซึ่งส่งผลสะท้อนผ่านไปยังทายาททางการเมืองของเขา ส่วนกรณีของสงขลา แม้ถาวรจะไม่ได้ให้การสนับสนุนสุภาพรอย่างชัดเจน และถือบท ‘เป็นกลาง’ แต่ภาพของ กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์นั้นเหนียวแน่นอย่างชัดเจนกว่าพรรคพลังประชารัฐ ที่ค่อยๆ ‘เขี่ย’ แกนนำ กปปส. ออกจากพรรคทีละคน จนปัจจุบันไม่เหลือแกนนำ กปปส. อยู่ในพรรคประชารัฐเลยสักคน
หากมองย้อนกลับไปจะพบว่า พื้นที่ชุมพรเขต 1 เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว หรือย้อนกลับไปปี 2535 ตั้งแต่ครั้งที่ ชวน หลีกภัย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก พื้นที่สงขลาแทบจะเป็นประชาธิปัตย์ยกจังหวัดมาตั้งแต่ปี 2518 หรือเมื่อ 47 ปีก่อน
เพราะฉะนั้น เมื่อผู้แทนราษฎรสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น หัวคะแนนก็ย่อมตามมาด้วยกัน ในเวลาเดียวกัน เมื่อพื้นที่แข็งเจาะยากขนาดนั้น ก็ยากที่พรรคอื่นจะใช้ ‘กระแสพรรค’ เข้าเจาะ ไม่ว่าจะอาศัยกลยุทธ์หรือกลเม็ดใดก็ตาม
3. เมื่อพลังประชารัฐไม่ใช่ ‘ลุงตู่’
สิ่งที่ต้องยอมรับคือพลังประชารัฐเป็นพรรคใหม่ที่ไม่ได้มีฐานเสียงดั้งเดิม หากแต่คะแนนเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ล้วนเกิดจากการ ‘ดูด’ สารพัด ส.ส. จากทั่วประเทศ ไม่ว่าจะด้วยเงิน ไม่ว่าจะด้วย ‘โปรย้ายค่าย’ การถือครองอำนาจรัฐภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกอบรวมกันจนทำให้พรรคประสบความสำเร็จ และมีเสียงมากพอจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
แต่ปัจจัยที่ลืมไม่ได้ก็คือ ในเวลานั้นทุกป้ายหาเสียงแทบจะวางภาพ ‘ลุงตู่’ คู่กับผู้สมัครทุกคน พร้อมด้วยคำขวัญ ‘เลือกสงบ จบที่ลุงตู่’ มากกว่าจะบอกว่าพรรคมีนโยบายอะไรบ้าง
เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปี การเมืองในพรรคพลังประชารัฐเปลี่ยนขั้วไปมาอยู่หลายตลบ เริ่มจากขั้ว สมคิด จาตุศรีพิทักษ์-สามมิตร มาสู่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ-สามมิตร และจบลงด้วย พลเอกประวิตร–ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งในเวลาเดียวกัน พรรคก็พยายามลดบทบาทของ ‘ลุงตู่’ ลงเรื่อยๆ เช่นที่ร้อยเอกธรรมนัสเคยมีความพยายาม ‘ล้มลุงตู่’ กลางสภามาแล้วในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา
ป้ายหาเสียงทุกป้ายมีเพียงภาพของประวิตร–ธรรมนัสเคียงคู่กับผู้สมัคร ไม่ได้มีภาพของลุงตู่แทรกเข้าไปด้วย เช่นเดียวกับการหาเสียง ก็ไม่ได้ ‘อ้าง’ ถึงลุงตู่อย่างที่เคยเป็นมา
ขณะเดียวกัน ต่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนเลือกคนจากพรรคพลังประชารัฐ นายกฯ ก็ยังชื่อพลเอกประยุทธ์อยู่ดี จึงไม่มีเหตุอันใดให้ต้องหันเหไปเลือกพลเอกประวิตรและร้อยเอกธรรมนัส ที่จนถึงวันนี้สิ่งที่ต้องยอมรับคือ ในสายตาคนใต้นั้น หากเอาทั้งสองคนรวมกัน ก็ยังไม่มีใครมีบารมีเด่นชัดเท่ากับลุงตู่เลยสักคน
4. เลือกคนที่ชาติตระกูล อำนาจธรรมนัสถูกท้าทาย ปมใหม่ที่จะส่งผลระยะยาว
ต้องยอมรับว่าจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ภาพของพลังประชารัฐเสียหายรุนแรง คือการปราศรัยเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ที่จังหวัดสงขลา ซึ่งธรรมนัสประกาศให้เลือกคนที่ ‘ชาติตระกูล’ และ ‘มีเงินให้ใช้’ ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐเสียคะแนนอย่างหนัก
การประกาศในลักษณะดังกล่าวอาจทำได้ในพื้นที่อื่นๆ หรือในพื้นที่ของธรรมนัสเอง หากแต่ภาคใต้นั้นมีลักษณะพิเศษ กล่าวคือมีความมั่นใจในตัวเองสูงและมักจะไม่ยอมให้ใครเหยียดหยาม เมื่อธรรมนัสพลาดประกาศเรื่องดังกล่าวออกมา สุดท้ายจึงได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกโจมตีอย่างหนักจากพรรคคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคประชาธิปัตย์
ขณะเดียวกัน อำนาจและที่ทางของธรรมนัสในพรรคพลังประชารัฐเริ่มมีปัญหามาหลายเดือนแล้ว นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา หลังจากการพยายามรัฐประหารพลเอกประยุทธ์ในสภาไม่สำเร็จ ในทางกลับกัน ความสัมพันธ์ระหว่างพลเอกประวิตรและพลเอกประยุทธ์กลับมา ‘คืนดี’ และ ‘แนบแน่น’ กันมากขึ้นเรื่อยๆ
ทว่าพรรคพลังประชารัฐก็ไม่อาจเสียร้อยเอกธรรมนัสไปได้ ทั้งจากการที่มี ‘หัวคะแนน’ ในมือเป็นจำนวนมาก และจากการเป็นนายทุนใหญ่ผู้ควักกระเป๋าให้ทุกครั้งเวลาที่พรรคเดือดร้อน
สัญญาณสำคัญของการพยายามลดอำนาจธรรมนัสคือการแต่งตั้ง สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อมทั้งสองเขตของพรรค แทนที่จะเป็นธรรมนัส ผู้เคยเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งที่นครศรีธรรมราชมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่จนแล้วจนรอด พรรคพลังประชารัฐยังต้องอาศัยมือและอาศัยแรงของธรรมนัสผู้คร่ำหวอดในสนามการเมืองมากกว่า ให้สู้ศึกจนหยดสุดท้ายอยู่ดี ก่อนจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้
แน่นอนว่าความปราชัยจากทั้งสองสนาม ซึ่งพรรคพลังประชารัฐระดมสรรพกำลัง ทั้งกำลังคนและกำลังเงินไปอย่างหนัก ย่อมเป็นประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การ ‘แซะ’ ขาเก้าอี้ของธรรมนัส นำไปสู่เกมต่อไปในการเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรค เพื่อจัดสรรขั้วอำนาจใหม่ในพรรคให้ลงตัวมากพอในการรับศึกเลือกตั้งครั้งใหม่
ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ และพรรคพลังประชารัฐจะมีแรงกระเพื่อมภายในมากน้อยขนาดไหน ต้องจับตาดูผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในเขตหลักสี่-จตุจักร ในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า หรือในวันที่ 30 มกราคม 2565 นี้ ว่าพรรคพลังประชารัฐจะสามารถรักษาพื้นที่ได้หรือไม่ หรือจะเป็นพรรคอื่นที่เจาะเข้ามาได้อีก
หากพรรคพลังประชารัฐพ่ายในสมรภูมิหลักสี่-ดอนเมืองอีกครั้ง ย่อมหมายความว่าพรรคนี้ต้องเผชิญหน้ากับการ ‘รื้อใหญ่’ ก่อนที่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะมาถึงในเวลาอันใกล้อย่างแน่นอน
Tags: The Momentum ANALYSIS, ชุมพร, ประชาธิปัตย์, ภาคใต้, พลังประชารัฐ, สงขลา, เลือกตั้งซ่อม, Analysis