ผ่านแบบไม่ต้องลุ้นกันมาก สำหรับการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 โดยมีปัจจัยสำคัญคือการได้คะแนนเสียงเกิน 1 ใน 3 ของ ส.ว.ขึ้นไปสูงถึง 149 เสียง เอาชนะเสียง ‘งดออกเสียง’ และเสียง ‘ไม่เห็นชอบ’ ซึ่งอยู่ที่ 76 เสียง

ขณะเดียวกัน แม้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคหลักของรัฐบาล จะเกิดความแตกร้าวภายใน จากกรณีของ ร้อยเอก​ ธรรมนัส พรหมเผ่า และความขัดแย้งระหว่าง 2 ป. คือ ป. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค และ ป. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ พรรคพลังประชารัฐก็เห็นตรงกันว่าจะได้ประโยชน์จากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่นี้มากกว่า

นั่นหมายความว่า พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมเต็มที่แล้วในการก้าวไปสู่การเลือกตั้งรอบหน้า และต่อให้เลือกเดือนหน้าหรือเลือกตั้งสัปดาห์หน้า ทั้ง 2 พรรคก็พร้อมภายใต้เงื่อนไขใหม่จากร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข

แล้วมีความเป็นไปได้อะไรที่จะเกิดขึ้นบ้าง ภายหลังการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีหลักการสำคัญว่าด้วยการเปลี่ยนบัตรเลือกตั้ง จาก 1 ใบ เป็น 2 ใบ และเปลี่ยนสัดส่วน ส.ส.เขตต่อปาร์ตี้ลิสต์ จาก 350:150 เป็น 400:100

1. สมการการเมือง ว่าด้วยเรื่องพรรคใหญ่

การแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ ตั้งต้นจากโจทย์ของพรรคใหญ่ คือพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย โดยมีที่มาจาก ปัญหาในร่างรัฐธรรมนูญ​ 2560 ที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนขึ้น กำหนดไว้ว่า หากพรรคใดก็แล้วแต่มีสัดส่วนของ ส.ส.เขตเกินจำนวน ส.ส. ‘พึงมี’ จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จะถูกตัดทิ้งไปโดยปริยาย ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเจตนารมณ์นี้เขียนขึ้นนั้นเพื่อทำให้พรรคเพื่อไทย ‘แพ้’ การเลือกตั้ง และหมดสิทธิ์ได้เสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร

เดิมนั้น ทักษิณ ชินวัตร วางแผน ‘แตกแบงก์พัน’ ด้วยการให้เพื่อไทยเก็บ ส.ส.เขตให้ได้มากที่สุด และตั้งพรรคไทยรักษาชาติ เพื่อเก็บ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่ก็เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ ทำให้พรรคเพื่อไทยซึ่งไม่ได้ส่ง ส.ส. ลงครบทุกเขตเลือกตั้ง มีคะแนนเสียง ส.ส.เขต เกินคะแนนเสียงพึงมี ปาร์ตี้ลิสต์ของเพื่อไทยกลายเป็น 0 คน ทั้งที่เป็นพรรคที่ควรจะมี ส.ส. มากที่สุดของประเทศ

2 ปีผ่านไป รอบนี้ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีพลเอกประวิตรเป็นหัวหน้าเต็มตัว และแต่เดิมนั้น มีร้อยเอกธรรมนัสเป็นตัวการสำคัญในการคุม ‘หัวคะแนน’ ต่างก็มองเห็นแล้วว่าพรรคจะได้ ส.ส.มากขึ้น จะชนกับพรรคเพื่อไทยได้สมน้ำสมเนื้อขึ้น และสุดท้ายจะประสบปัญหาเดียวกับเพื่อไทย นั่นคือ หากใช้รัฐธรรมนูญของมีชัย จะได้จำนวน ส.ส.เขตมากเกินไป และจะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลยแม้แต่คนเดียว

ขณะที่ทักษิณก็มองปัญหาในภาพเดียวกัน นั่นคือหากรัฐธรรมนูญยังเป็นระบบเดิม ก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องตั้งพรรคมา ‘แตกแบงก์’ อีก กลับไปใช้ระบบเดิมแบบรัฐธรรมนูญ 2540 น่าจะสะดวกกว่า ง่ายกว่า

จุดนี้ สองพรรคใหญ่จึงเห็นตรงกัน และไม่ว่าอย่างไรก็วิน-วินทั้งคู่

2. ทุบ ‘ก้าวไกล’ ให้แหลกคามือ

จุดอ่อนสำคัญของรัฐธรรมนูญมีชัย และข้อผิดพลาดจากการที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบนั้น ทำให้พรรคอนาคตใหม่เติบโตอย่างมาก การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียง ส.ส.ถึง 81 ที่นั่ง จากจำนวนประชาชนที่เลือกพรรคนี้กว่า 6.3 ล้านคน คิดเป็น 17.8% กลายเป็นพรรคใหญ่อันดับ 3 รองจากเพื่อไทยและพลังประชารัฐ

การเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็วของพรรคที่บรรดาคนการเมืองตั้งชื่อให้ว่าเป็นพรรคที่ ‘อยู่ไม่เป็น’ ทำให้เกิดความหวาดกลัวในบรรดาชนชั้นนำ-นักการเมืองเก่า ซึ่งต้องอาศัยช่องทางในการ ‘ทุบ’ พรรคนี้ตลอดเวลา เริ่มจากตัวหัวหน้าพรรคอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่โดนคดีถือหุ้นสื่อ ไม่ได้เข้าสภาตั้งแต่วันแรก ตามมาด้วยการยุบพรรคอนาคตใหม่จากคดีที่ธนาธรให้พรรคกู้เงิน

ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรค เคยให้สัมภาษณ์กับ The Momentum โดยยอมรับว่า เป็นไปได้ที่สาเหตุสำคัญของการยุบพรรคมาจากการโหวต ‘ไม่เห็นชอบ’ พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ หรือ พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ ทั้งที่พรรคอื่นยกมือรับโดยพร้อมเพรียงกันทั้งหมด ซึ่งการยุบพรรคนั้นตามมาด้วยการทยอย ‘ดูด’ ส.ส. จนทำให้พรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบ กระทั่งกลายมาเป็นพรรคก้าวไกลวันนี้ เหลือ ส.ส. ไม่ถึง 50 คน จากที่เคยมี ส.ส. มากถึง 81 คน

กระนั้นเอง ในเชิงประเด็น พรรคก้าวไกลก็ไม่ได้แผ่ว แต่ยังอยู่ในคอนเซ็ปต์ ‘อยู่ไม่เป็น’ เหมือนเดิม หากนับจากการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา ที่พยายาม ‘ไต่เพดาน’ มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังคงเป็น ‘เด็กดื้อ’ คนสำคัญในสภาผู้แทนราษฎรเสมอ

การมีเด็กดื้ออยู่ในสภาย่อมทำให้พวก ‘อยู่เป็น’ ไม่พอใจ และระบบที่ทำให้เด็กดื้อเป็นใหญ่ก็ควรต้องถูกจัดการ แน่นอนว่าสมการใหม่มีเป้าประสงค์อย่างหนึ่งในการตัดทอนคะแนนเสียงของ ‘พรรคส้ม’ พรรคที่ชนชั้นนำ – กองทัพ – อำนาจเก่า มองว่า ‘อันตราย’ และ ‘ซ้ายจัดดัดจริต’ เกินไป ด้วยการลดคะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ หากเป็นระบบใหม่ บรรดาผู้ที่มีส่วนสำคัญในการแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ ประเมินกันว่าก้าวไกลจะกลายเป็น ‘พรรคเล็ก’ มี ส.ส. เพียง 10-20 คนเท่านั้น

เพราะด้วยระบบใหม่ ‘ปาร์ตี้ลิสต์’ จะถูกกระจายไปยัง ‘เพื่อไทย’ มากขึ้น ขณะที่ระบบ ส.ส.เขตก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดี ที่ก้าวไกลจะหา ส.ส.ตัวแข็งๆ ไปแข่งกับเจ้าถิ่นเดิม จนได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 กลายเป็นพรรค ‘แลนด์สไลด์’ ภายใต้ระบบการเมืองแบบนี้ แม้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค จะประกาศว่าพร้อมต่อสู้ทางการเมืองในทุกระบบ ทุกรูปแบบ และทุกกติกาก็ตาม

3. กำจัดพรรคเล็ก-พรรคปัดเศษให้สูญพันธุ์

หากจำกันได้ ในช่วงจัดตั้งรัฐบาล ความยากลำบากก็คือ เสียงของ ส.ส.รัฐบาล และเสียงของ ส.ส.ฝ่ายค้านใกล้เคียงกันมาก คือต่างกันไม่ถึง 10 เสียง จนทำให้มีการ ‘ตีความ’ รัฐธรรมนูญแบบใหม่ คือปัดเศษ ส.ส. จาก ‘พรรคเล็ก’ โดยใช้คะแนนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรียกว่าคะแนน Overhang หรือคะแนนส่วนเกินจากพรรคเพื่อไทย ไปเพิ่มที่นั่งให้ ส.ส.พรรคเล็กพรรคน้อย ซึ่งมีคะแนนตั้งแต่ 4-8 หมื่นเสียง ให้เข้าสภาพรรคละคน กลายเป็น ส.ส.ปัดเศษ

ไม่ว่าพรรคไทยศรีวิไลย์ ของ มงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์ หรือพรรคประชาชนปฏิรูป ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ต่างก็เข้าสภาด้วยวิธีนี้

ตอนจัดตั้งรัฐบาล ส.ส.ปัดเศษกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา กลายเป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรคการเมืองมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ถึง 19 พรรค โดยผู้ที่รับผิดชอบ ‘ดีล’ กับพรรคเล็ก คือร้อยเอกธรรมนัส ที่ว่ากันว่าเหงื่อตก หมดทรัพย์ศฤงคารไปพอสมควรกับการ ‘แจกกล้วย’ รอบนั้น จนทำให้รัฐบาลมีเสียงถูไถในรอบแรก ก่อนที่จะทยอยเก็บตก ‘งูเห่า’ จากแต่ละพรรคในเวลาต่อมา

แน่นอน ระบบนิเวศการเมืองที่เต็มไปด้วยพรรคปัดเศษ หรือพรรคที่มี ส.ส. ในระดับ 1-10 คนจำนวนมาก ย่อมไม่เป็นผลดีกับพรรคใหญ่ที่เป็นแกนนำรัฐบาล เพราะคณิตศาสตร์การเมืองแบบไทยๆ มี ส.ส. 7 คน เท่ากับต้องได้ตำแหน่งรัฐมนตรี 1 คน และหากรวมเสียงได้มากขึ้นเท่าไร ก็ออกอาการตีรวนได้ทุกเมื่อ ยิ่งหากกฎหมายสำคัญไม่ผ่าน ก็หมายความว่ารัฐบาลชุดนั้นมีอันเป็นไปทันที

ด้วยเหตุนี้ การกลับไปเป็นระบบ ‘พรรคใหญ่’ จึงเป็นประโยชน์สูงสุดกับผู้มีอำนาจ ที่วันนี้ถือหางข้าง ‘พลังประชารัฐ’

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า การลงคะแนนเสียงรอบนี้ได้เปิดกล่องแพนโดรา เปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้ทักษิณกลับมาสู้ง่ายขึ้นแล้ว อีกทั้งรัฐบาลก็เพิ่งผลัก ‘คีย์แมน’ คนสำคัญของพลังประชารัฐอย่างร้อยเอกธรรมนัสออกไปหมาดๆ

จริงอยู่ ไม่มีหลักฐานอะไรว่าทักษิณและร้อยเอกธรรมนัสอยู่ข้างเดียวกัน แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรที่จะบอกว่าทั้งคู่เป็น ‘ศัตรู’ หรือเป็นขั้วตรงข้ามที่จะต้องห้ำหั่นกัน

ที่ชัดมากขึ้นเสียอีกก็คือ ทั้งทักษิณและร้อยเอกธรรมนัสกำลังมีศัตรูร่วมคนเดียวกัน ที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ ในสนามการเลือกตั้งครั้งหน้า

และต้องไม่ลืมว่า ตลอด 20 ปี ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้นมา ทักษิณก็ไม่เคยแพ้การเลือกตั้งเลยสักครั้งเช่นเดียวกัน…

Tags: , , , , , , , ,