ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) กำลังคุกคามประเทศพัฒนาหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี หรือแม้กระทั่งประเทศไทย ที่ถูกมองว่า เป็นประเทศกำลังพัฒนา ‘ประเทศแรกของโลก’ ที่ประสบปัญหาดังกล่าว จากปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลโดยตรงให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามมา อีกทั้งภาครัฐยังต้องทุ่มงบประมาณมาเป็นสวัสดิการผู้สูงอายุในสัดส่วนที่มากขึ้น

ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีกว่า 13 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นในอนาคต นับว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) และมีสัดส่วนประชากรสูงอายุกว่าร้อยละ 20

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 เปิดเผยว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้สถานภาพทางการคลังของประเทศมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยรายได้ที่นำเข้ารัฐจะลดลง และมีภาษีที่จะเก็บได้น้อยลงจากการที่สัดส่วนแรงงานของประเทศในอนาคตลดลง และภาระรายจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุจะมีเพิ่มมากขึ้น หากมองในปี 2557 งบประมาณรายจ่ายของภาครัฐด้านสวัสดิการมีสัดส่วนอยู่ที่ 4.78 แสนล้านบาท แต่ในปี 2567 มีสัดส่วนอยู่ที่ 8.53 แสนล้านบาท นับว่าทศวรรษที่ผ่านมา งบประมาณรายจ่ายสวัสดิการนั้นโตเฉลี่ย 6%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินความเสี่ยงที่จะกระทบต่อภาระการคลังของรัฐ 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้

1. รายจ่าย ‘เบี้ย’ ผู้สูงอายุที่มากขึ้นทั้งจากอัตราการจ่ายและจำนวนผู้สูงอายุ กล่าวคือ ปัจจุบันคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ เสนอให้มีการปรับอัตราการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากระบบขั้นบันได เป็นระบบถ้วนหน้า 1,000 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำให้ต้องเตรียมงบประมาณมากขึ้น โดยในปี 2567 ตั้งงบประมาณไว้กว่า 9.3 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ถึงว่า ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุขั้นสุดภายในปี 2572

2. รายจ่ายสวัสดิการด้านสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือ มีการคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรัฐทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ และเงินอุดหนุนประกันสังคม มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ในปัจจุบันสัดส่วนงบประมาณบัตรทองสูงถึง 2.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 62% ของงบประมาณสวัสดิการด้านสุขภาพ

3. กองทุนประกันสังคมอาจไม่เพียงพอและหมดลงในระยะข้างหน้า กล่าวคือ ในปัจจุบันมีแรงงานกว่า 25 ล้านคนในระบบประกันสังคม ประกอบกับรายได้ที่จัดเก็บไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็ว เมื่อเทียบกับรายจ่ายรวมของกองทุน หากพิจารณารายจ่ายช่วงปี 2557-2566 รายจ่ายเฉลี่ยเติบโต 10% ต่อปี ขณะที่รายรับมีเพียง 3% เท่านั้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นควรว่า การดำเนินนโยบายการคลังควรสอดคล้องกับสภาพประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้เกษียณอายุให้มีมากขึ้น และมีภาครัฐจะมีภาระทางการคลังน้อยลง โดยเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

1. ขยายอายุเกษียณและส่งเสริมการจ้างงานแรงงานสูงอายุ โดยปัจจุบันอายุเกษียณเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 58 ปี แต่อายุขัยของคนไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการขยายอายุเกษียณเป็นหนึ่งในวิธีที่หลายประเทศใช้ เช่น ฝรั่งเศสมีอายุเกษียณที่ 62 ปี และจะปรับเป็นอายุ 64 ปี ในปี 2575

นอกจากนั้นรัฐยังต้องสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีการสนับสนุนการจ้างผู้สูงอายุมากขึ้น ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ที่จูงใจมากกว่าการลดหย่อนภาษี เช่นการให้เงินอุดหนุนธุรกิจที่สนับสนุนผู้สูงอายุ

2. จัดสรรกองทุนประกันสังคมทั้งด้านรายได้และรายจ่าย ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการขยายอายุเกษียณผู้ประกันตน การดึงแรงงานข้ามชาติเข้าระบบประกันสังคม และปรับแผนการลงทุนให้มีผลตอบแทนมากยิ่งขึ้น

3. เพิ่มจำนวนคนที่พึ่งพาตัวเองได้ให้โตเร็วกว่าภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีเงินออมเพื่อเกษียณมากขึ้น โดยเฉพาะการดึงแรงงานนอกระบบมาออมในระบบ ทั้งนี้ภาครัฐมีแนวคิดการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการออมมากขึ้น เช่นหวยเกษียณที่คาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2568

อีกทั้งยังต้องส่งเสริมให้ประชาชนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมดูแลในเรื่องสุขภาพ อาหารการกิน และการใช้ชีวิต เพื่อแบ่งเบาภาระทางด้านสวัสดิการสุขภาพของรัฐบาล

Tags: , ,