9 ปีก่อน อำพล ตั้งนพกุล หรือ ‘อากง’ เสียชีวิตลงจากอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งในระยะสุดท้าย ระหว่างถูกคุมขังที่เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ มา 1 ปีเศษ ภายใต้ข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการส่งข้อความสั้น (SMS) จำนวน 4 ข้อความ ที่มีเนื้อหาหมิ่นเบื้องสูงไปยังโทรศัพท์มือถือของเลขานุการส่วนตัวของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 

ชีวิตปกติประจำวันของชายวัย 61 ปี (ในวันที่ถูกจับ) อาศัยอยู่กับภรรยาในห้องเช่าราคาเดือนละ 1,200 บาท ย่านสำโรง คอยเลี้ยงดูหลาน 3-4 คน ด้วยเงินที่ลูกๆ ส่งให้เดือนละ 3,000 บาท ต้องพลิกผันไปอย่างไม่อาจหวนกลับ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ตำรวจกว่า 15 นาย บุกมายังห้องพักเพื่อจับกุมตัวเขาตามข้อกล่าวหาข้างต้น

ภาพ : iLaw

จุดเริ่มต้นของจุดจบอันน่าเศร้า

หลังถูกจับกุมอากงถูกฝากขังรอบแรกเป็นเวลา 63 วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว แม้จะให้การปฏิเสธตลอดว่าตัวเองส่ง SMS ไม่เป็น และไม่รู้เบอร์ของบุคคลสำคัญ แต่หลักฐานที่ตำรวจใช้ยืนยันความผิดคือ รหัสประจำเครื่องโทรศัพท์ หรือหมายเลขอีมี่ (IMEI) ซึ่งทางกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) แจ้งว่าตรงกับเลขโทรศัพท์ที่จำเลยใช้ การต่อสู้คดีจึงลงท้ายด้วยคำพิพากษาให้อากงได้รับโทษจำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 

คดีของอากงที่เกิดขึ้นช่วงการต่อสู้อันครุกรุ่นระหว่างรัฐบาลและ ‘คนเสื้อแดง’ หลักฐานที่ใช้ในการเอาผิดที่มีช่องโหว่มากมาย ตลอดเส้นทางการพิจารณาคดี ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการศาลอย่างหนัก สังคมไม่อาจปักใจเชื่อได้ว่าอากงเป็นผู้ส่ง SMS จริง เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจำนวนมากยืนกรานว่าหมายเลขอีมี่เป็นหลักฐานเอาผิดที่เชื่อถือไม่ได้ หรือการกล่าวหาว่าอากงอยู่กลุ่มฮาร์ดคอร์การเมืองของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทั้งที่เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเป็นครั้งคราว ทั้งหมดนี้ล้วนส่งกลิ่นไม่ชอบมาพากลบางอย่าง จนนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยว่า นี่อาจเป็น ‘คดีการเมือง’ หรือ ‘การเชือดไก่ให้ลิงดู’ 

ต่อมาจึงเกิดกระแสเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 ผ่านการเดินขบวนภายใต้ชื่อ ‘Fearlessness Walk’ และแคมเปญของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่ได้สร้างกระแสการตื่นตัวอย่างมากในโลกออนไลน์ จากการเชิญชวนร่วมรณรงค์โดยการเขียนชื่ออากงบนฝ่ามือ ภายใต้แคมเปญชื่อง่ายๆ สั้นๆ ว่า ‘ฝ่ามืออากง’

หลังจากศาลชั้นต้นตัดสินคดี มีการพยายามยื่นขอประกันตัวอากงหลายครั้ง ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่ทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ประกันตัว เหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี และโรงพยาบาลราชทัณฑ์สามารถดูแลอาการเจ็บป่วยได้อยู่แล้ว 

สุดท้าย อากงเสียชีวิตลงในวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 เวลา 9.10 น. ไม่นานก่อน รสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาของเขาจะมาถึงในเวลา 9.40 น. รสมาลิน เล่าความรู้สึกช่วงที่สามีอยู่ในเรือนจำและอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้บอกกับเขา ผ่านวีดีโอซีรีย์ Still Lives ของสำนักพิมพ์อ่าน ร่วมกับสตูดิโออคิระห์และสตูดิโอญุโต 

“ครอบครัวป้าอุ๊ (ชื่อเล่นรสมาลิน) มันก็พื้นๆ นะ จนกระทั่งมามีเรื่องอะไรอย่างนี้ จากที่ว่ารักเหนื่อยๆ ธรรมดา กลายเป็นว่าเป็นห่วงเป็นใยมากขึ้นกว่าเก่า เหมือนกลับมารักมาก ทั้งรักทั้งห่วง ที่นี้เราก็จะนึกถึงว่า เราไม่น่าจะเคยทะเลาะกันเลยนะ เขามาโดนอะไรอย่างนี้เราเป็นห่วงมากเลย พอเขามีปัญหาได้เข้าไปอยู่ในนั้น เรารู้สึกสงสาร อยากจะพูดห่วงใยเขา แต่มันก็ได้แค่คำพูด จริงๆ แล้วเราจะห่วงจะใยแค่ไหนมันก็ไม่หลุดพ้นตรงที่ว่าเราเป็นคนพูดได้ เราอยู่ข้างนอก แต่เขาอยู่ข้างในเขาต้องรับอะไรบ้างเราก็ไม่รู้ แล้วพูดได้หรือไม่ได้เราก็ไม่รู้

“แล้วพอต้องจากกันไป มันเป็นเหมือนกับว่าเรายังไม่ได้คุยอะไรกันอีกตั้งเยอะเลย เรายังไม่ได้บอกตอนเขาอยู่ในนั้นว่า เรารักเธอมากกว่าเก่านะ เราเป็นห่วงเธอ เรายังไม่ได้บอกเขาเลย แล้วอยู่ๆ เราก็จะนึกว่าเขายังอยู่ แล้วอยู่ๆ วันหนึ่งมารู้ว่าเขาตายก่อนที่เราจะได้เห็นหน้า 20นาทีเท่านั้น ทั้งๆ ที่เราไปหาเขาแล้ว แต่ก็ไม่ทัน มันรู้สึกมีอะไรที่เราไม่ได้บอก อยากจะไปบอกเรื่องทางบ้าน อยากไปบอกเรื่องลูกคนนู้น หลานคนนี้ แล้วเรื่องว่าเราเป็นห่วงจริงๆ นะ เราเป็นห่วงสุดๆ เราก็ไม่ได้พูด ”

ทุกวันนี้ รสมาลินยังคงดูแลหลานและเหลนด้วยความแร้นแค้นเพียงลำพัง ความทรงจำของการพบ การจากลา และสิ่งที่หลงเหลือระหว่างทางเมื่อสามีของตัวเองต้องเสียชีวิตอยู่ในเรือนจำจากคดี 112 ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือชื่อว่า รักเอย

“มันเหงาจนที่ว่าบางทีมันมีอะไรที่บอกไม่ได้กับคนอื่น มันบอกได้กับคนที่มันไม่มีแล้ว เรื่องราวในโลกนี้มันเยอะแยะที่เราจะพูดได้ พูดไม่ได้ พูดกับใคร ความเหงามันจะแทรกเข้ามาตรงนั้น…บางทีป้าอุ๊ก็หลอกตัวเองว่าคิดนู่นคิดนี่มันก็เหมือนฝัน แต่เราก็จะบอกตัวเองว่าเพียงฝันก็สุขหนักหนา แค่ฝัน… ”

หนึ่งเดือนก่อนจะเสียชีวิต อากงเขียนจดหมายถึง อานนท์ นำภา บอกเล่าความรู้สึกดีใจที่ทีมทนายกำลังเตรียมยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษให้เขาและผู้ต้องหาคดี 112 คนอื่นๆ ใจความสำคัญในจดหมายมีว่า 

“ที่ผ่านมาผมยอมรับว่าเหนื่อยมากๆ เหนื่อยที่จะมีชีวิตอยู่ เหนื่อยที่จะต่อสู้เพื่อค้นหาความยุติธรรมให้กับตัวเองและคนในครอบครัว ผมหมดกำลังใจหลายครั้ง คิดถึงแต่ลูกเมียและหลานๆ ก็มีแต่คุณหนุ่มที่จะคอยชาร์จแบตให้ คุณหนุ่มจะบ่นว่าเสมอ ผมเป็นพวกแบตเสื่อม ชาร์จได้ไม่กี่นาทีก็ต้องกลับมาชาร์จอยู่เรื่อยๆ คิดแล้วก็เห็นใจหนุ่มเขานะ แต่ผมก็ท้อจริงๆ ในแต่ละวันผมจะเฝ้ารออุ๊มาเยี่ยม บางวันพาหลานๆ มา ทำให้ผมมีกำลังใจยิ้มได้บ้าง นี่แหละคือความสุขของผม

“คุณอานนท์ไม่ต้องห่วงผม ผมจะพยายามอดทนและมีกำลังใจสู้ต่อไป หวังแต่เพียงว่าคุณอานนท์และรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์จะช่วยกันผลักดันการขออภัยโทษของพวกเราในกรณีพิเศษ เพื่อว่าผมจะได้กลับไปอยู่กับหลานๆ ลูกเมียเสียที ผมบอกตามตรงเลยนะครับ ว่าผมคิดถึงหลานๆ มากที่สุด ผมเขียนจดหมายถึงหลานทีไร ผมก็น้ำตาไหลทุกทีเลย เลยไม่อยากเขียนไปหา คุณอานนท์ครับ ฝากกราบขอบคุณคนที่มาเยี่ยมให้กำลังใจผมและนักโทษ 112 ทุกคนด้วย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผมจะได้รับข่าวดีในเร็ววันนี้ ขอขอบพระคุณมากครับ” 

น่าเสียดาย ข่าวดีที่อากงเฝ้ารอ ไม่ทันมาถึงก่อนเขาจะสิ้นลมหายใจ 

คำถามถึงสิทธิของผู้ต้องขังกับคลื่นแห่งการแก้ไข ม.112 ที่ถูกซัดหายไป

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความของอากงให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า อากงมีอาการปวดท้องมาเป็นเดือน แต่ปวดหนักในวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 จึงถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลช่วงก่อนเที่ยงของวันนั้น และรอคิวได้เตียงเป็นผู้ป่วยในเมื่อเวลา 15.40 น. แต่ไม่มีการเจาะเลือดหรือตรวจเพิ่มเติม เพราะหมดเวลาทำการและติดวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จนได้มาเจาะเลือดในวันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2555 แต่ผลตรวจยังไม่ออก กระทั่งอากงเสียชีวิต 

การตั้งคณะทำงานตรวจสอบการเสียชีวิตของอากง ทำให้ทราบว่าอากงเป็นมะเร็งตับมาไม่ต่ำกว่า 3-6 เดือน และตามปกติ เมื่อคนไข้ใกล้เสียชีวิตต้องมีการปั้มหัวใจหรือใช้วิธีการต่างๆ เพื่อกู้เสียชีวิต ทว่า ผลการชันสูตรกลับไม่เห็นร่องรอยความพยายามช่วยเหลือคนไข้อย่างเพียงพอ และผู้ต้องขังที่อยู่ใกล้ชิดอากงระบุในจดหมายด้วยว่า “ระหว่างเจ็บป่วย อากงไม่เคยได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องเหมาะสม”

อีกทั้งคำให้การของ รัชนี หาญสมกุล หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังเผยให้เห็นความแออัดของห้องรับรองผู้ป่วยหนัก ซึ่งปกติมีผู้ป่วยประมาณ 70 คน เต็มตลอด ภายใต้การดูแลของพยาบาลประจำชั้น 6 คน แต่ในช่วงวันเวลาดังกล่าวที่เป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และหยุดชดเชยวันฉัตรมงคล เจ้าหน้าที่อื่นจะไม่ได้มาทำงาน ยกเว้นพยาบาลเวรชายเพียงคนเดียวที่ต้องทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยทั้งตึก โดยพยาบาลจะเข้าไปตรวจเยี่ยมผู้ป่วยได้เฉพาะเมื่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าไปด้วยเท่านั้น และทางโรงพยาบาลก็ไม่มีแพทย์หรือเครื่องมือเฉพาะทางด้านมะเร็ง การส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลอื่นจะทำได้ต่อเมื่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลตัดสินใจเท่านั้น 

การเสียชีวิตของอากง ได้กระพือความตื่นตัวต่อการแก้มาตรา 112 ยิ่งกว่าเดิม เกิดกลุ่มกิจกรรมชื่อ ‘กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล’ ที่จัดกิจกรรมการเสวนาหน้าศาลอาญา รัชดา ต่อเนื่องทุกวันอาทิตย์ และกลุ่ม ‘คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112’ หรือ ครก.112 ซึ่งประกอบไปด้วย วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ปิยบุตร แสงกนกกุล, สาวตรี สุขศรี, จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ฯลฯ ที่เริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอต่อรัฐสภาขอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยอาศัยร่างกฎหมายของนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์เป็นหลัก 

ปลายเดือนพฤษภาคม 2555 ครก.112 ได้นำรายชื่อประชาชนที่รวบรวมได้เกือบ 3 หมื่นรายชื่อ ยื่นต่อขอแก้ไขมาตรา 112 ต่อรัฐสภา แต่ถูกปัดตกไปด้วยเหตุผลว่า ร่างพระราชบัญญัติที่ ครก.112 นำเสนอเพื่อให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวด้วยหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ จึงไม่ใช่กฎหมายที่ประชาชนจะมีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอได้ ตามมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญ 2550 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่อาจเสนอร่างกฎหมายนี้ให้รัฐสภาพิจารณาได้

ถึงอย่างนั้น ครก.112 ได้ทำหนังสืออุทธรณ์ไป พร้อมเรียกร้องให้ประธานรัฐสภาเร่งนำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขมาตรา 112 ให้สภาพิจารณาต่อไปโดยเร็ว แต่การอุทธรณ์ไม่เป็นผล รัฐสภาไม่ได้รับข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของประชาชนเอาไว้พิจารณา จนกระทั่งปลายปี 2556 เกิดความขัดแย้งทางการเมืองระลอกใหม่ และนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2557 เมื่อรัฐสภาและรัฐธรรมนูญถูกยกเลิก ข้อเสนอต่างๆ ที่ค้างอยู่จึงเป็นอันตกไป 

ย้อนมองคดีอากงผ่าน สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้เห็นความเป็นอยู่ของอากงในเรือนจำ

ในวันนี้ที่มาตรา 112 ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง นักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนถูกแจ้งข้อหาคดีนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับกระบวนการจัดการกับคนที่ถูกกล่าวหาว่าผิดมาตรา 112 ที่ไม่ต่างอะไรจากอากงเคยเผชิญ ไม่ว่าจะกระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการศาล 

The Momentum ชวน สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตผู้ต้องหาคดี มาตรา 112 ซึ่งอยู่เรือนจำในเวลาเดียวกันกับที่อากงยังมีชีวิตอยู่ บอกเล่าถึงชะตากรรมที่อากงต้องเจอระหว่างถูกกุมขัง และย้อนกลับไปมองคดีของอากงในวันนั้นว่า สะท้อนอะไรถึงวันนี้บ้าง หลังเขาเพิ่งได้รับอนุญาตให้ประกันตัวออกมา 

“ตอนอยู่ในคุก อากงอยู่ในวัยชราแล้ว โดยบุคลิกภาพก็เหมือนคนแก่ทั่วไป เงอะงะ ซื่อๆ และดูเหมือนเป็นคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์มากคนหนึ่ง ผมถามแกว่าถ้าได้ปล่อยตัวออกจากคุกไป จะไปไหนก่อนเป็นที่แรก แกบอกจะไปถวายพระพร เพราะตอนนั้น ในหลวง รัชกาลที่ 9 ท่านรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลศิริราช จึงไม่น่าเชื่อว่าแกจะรู้เบอร์โทรศัพท์เลขานุการของนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ และผมเคยถามแกว่าเคยไปร่วมม็อบไหม แกบอกว่า แกก็ไปสนามหลวง ไปเจอม็อบ เลยนั่งกินข้าว ฟังเขาปราศรัย แต่ไม่ได้มีบทบาทอะไร เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไปพักผ่อนสนามหลวงบ่อยเฉยๆ ไม่ได้ไปฟังต่อเนื่องหรือไปชุมนุมกับเขาตลอด” 

จากประสบการณ์ได้พูดคุยกับอากงในเรือนจำ สมยศมองว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่อากงจะเป็นคนส่ง SMS ซึ่งไม่ทราบว่าในทางคดีเกิดอะไรขึ้น แต่เข้าใจว่าช่วงนั้นเป็นปีที่ทางการเริ่มกำราบปราบปรามคนแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์อย่างจริงจัง 

“ปกติแดนนักโทษที่ยังไม่แล้วเสร็จการพิจารณาคดีแต่ไม่ได้รับการประกันตัว มักจะอยู่ที่แดน 1 เป็นหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกในหลายๆ เรื่อง สภาพแวดล้อมก็จะดีกว่าเพื่อน หลายคนจะได้อยู่แดนนี้ โดยเฉพาะคนที่มีชื่อเสียง หรือนักโทษชราภาพก็จะได้อยู่แดน 1 ด้วย เพราะเป็นแดนที่ใกล้สถานพยาบาล มันเลยแปลกตรงที่ว่าเขาปฏิบัติต่อนักโทษ 112 ที่กำลังต่อสู้คดี โดยให้ไปอยู่ในจุดที่ต้องรับแรงกดดันในแง่ของผู้ต้องขัง

“ก่อนที่จะเข้ามาในเรือนจำ อากงแกรักษาโรคมะเร็งอยู่ด้วย และทนายความ ซึ่งก็คือคุณอานนท์ นำภา ก็พยายามยื่นขอประกันตัวด้วยการยืนหลักฐานการเป็นคนไข้ แต่ไม่ได้รับการประกัน

“ปัญหาที่ตามมาก็คือ ในแดน 8 นักโทษจะถูกบังคับให้ทำงานด้านต่างๆ เช่น เย็บรองเท้า ทำกรวยกระดาษหรือถ้วยกระดาษ นักโทษทุกคนจะถูกให้ทำงาน และจะต้องมีการทำยอดในแต่ละวันให้ได้ เพราะฉะนั้น อากงถูกทำให้ต้องนั่งกับพื้นปั่นถ้วยกระดาษเป็นเวลานาน ปกติเขาต้องใช้คนหนุ่ม แต่อากงแกเป็นคนแก่ เลยทำงานช้ากว่าเพื่อน ก็จะถูกดุด่า และไม่มีโอกาสได้พักผ่อน เพราะต้องทำงานให้ได้เท่ากับคนอื่นเขา นั่นเป็นปัญหาที่ไปทรมานแกอย่างหนัก” 

ไม่เพียงแค่อากงที่ถูกกระทำเช่นนั้น สมยศเสริมว่า นักโทษที่โดนคดี 112 ยุคนั้นต่างถูกหมายหัวหมด แต่การที่อากงซึ่งมีอายุมากแล้วโดนกระทำต่างหาก ที่สะท้อนว่าเรือนจำต้องการทำให้อากงได้รับความทุกข์ทรมาณอย่างสาหัส และโดยสภาพเช่นนี้ก็ทำให้อากงเสียชีวิตเร็วขึ้น

ในมุมมองของสมยศตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่กระบวนการยุติธรรมไม่เคยเปลี่ยนคือ การพยายามปกปิดคดีให้อยู่ในความไม่รับรู้ของสาธารณชน 

“เหมือนการไต่สวนลับแบบกรณี ดา ตอร์ปิโด (ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล) หรือคดีของ อานนท์ นำภา ที่ถึงศาลจะไม่ใช้คำว่าไต่สวนลับ แต่พฤติกรรมการไต่สวนมีลักษณะค่อนข้างจะลับ เช่น ไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าไป โดยอ้างสถานการณ์โควิด-19 มันก็คล้ายๆ จะไม่เปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบถึงการไต่สวนในรายละเอียดของคดีนี้ และประการต่อมาก็คือ มีลักษณะเร่งรีบเป็นพิเศษมากกว่าการดำเนินคดี 112 ในอดีต เช่น ตอนนี้มีหมายเรียกและตารางนัดหมายเพื่อไต่สวนคดีนี้ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

“แต่อย่างน้อยการปล่อยตัวผม ไผ่ ดาวดิน และรุ้ง มันก็ดูมีความคืบหน้าของกระบวนการยุติธรรมระดับหนึ่ง แม้ว่าจะอยู่ภายใต้มีเงื่อนไข แต่เมื่อก่อนไม่มีเงื่อนไขเลยนะ เป็นไปได้ยาก เรียกว่าแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะเขามองว่านี่คือกฎหมายที่ ‘สะเทือนใจประชาชน’ เลยไม่ให้ประกันตัว นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต

“ปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ประชาชนเขามีความห่วงใย และเห็นว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดี 112 เป็นนักโทษที่ถูกกระทำและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้น มันจึงแตกต่างจากคนที่เคยโดนคดี 112 เมื่อ 10 ปีก่อนหน้า วันนี้มีคนอดข้าวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว มีการออกมาชุมนุมหน้าศาลแม้ว่าเขาจะต้องโดนถูกกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาลก็ตาม ตรงนี้เราเห็นได้ว่าบรรยากาศทางสังคมเกี่ยวกับ 112 มันเปลี่ยนไป ซึ่งมันบ่งชี้เลยว่ากฎหมายนี้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามประชาชน เป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิประชาชน ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นเพื่อรักษาอำนาจรัฐเอาไว้เท่านั้นเอง

“หลายคดีของ 112 ไม่เคยมีมาตรฐานใดๆ ที่ชัดเจนมาก่อนเลย การตัดสินขึ้นๆ ลงๆ เบาบ้าง แรงบ้าง ผมก็ไม่รู้ว่ามีบรรทัดฐานประการใด และอีกสิ่งหนึ่งที่ศาลใช้คือ เมื่อกล่าวหาใครแล้ว ไม่ให้เขาได้รับการประกันตัว ทำคดีแบบมัดมือชกอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อถูกขังแล้วเขาจะสู้คดีอย่างไร ไม่เพียงแค่สู้คดีไม่ได้ แต่ยังสามารถติดเชื้อโควิด-19 ตายได้ง่ายๆ อีก เหมือนอานนท์หรือจัสติน แล้วเรือนจำกับศาลจะรับผิดชอบไหวไหมกับชะตาชีวิตของนักโทษ มันแทบไม่ต่างอะไรกับคดีของอากงที่กลายเป็นโศกนาฎกรรมในกระบวนการยุติธรรม ใครจะรับผิดชอบต่อชะตากรรมคนที่ยังไม่ผิด” 

สุดท้ายสมยศตั้งข้อสังเกตว่า โชคชะตาของ ‘อากง’ กับ ‘อานนท์’ มีความใกล้เคียงกันมากอย่างน่าสนใจ 

เมื่อ 9 ปีก่อน อากงเสียชีวิตในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ด้วยโรคมะเร็ง วันนี้ อานนท์รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์จากโควิด-19 

เมื่อ 9 ปีก่อน อานนท์เป็นทนายความ วันนี้กลับกลายมาเป็นนักโทษ 112 

เมื่อ 9 ปีก่อน ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาศาลอาญาที่เคยตัดสินคดีอากง วันนี้ได้กุมชะตากรรมของอานนท์ไว้เช่นกัน 

แต่สิ่งที่ทุกคนหวังคือ ชะตากรรมของนักโทษ 112 ทุกคน ไม่สมควรมีใครได้รับจุดจบอย่างอากงอีก

 

อ้างอิง 

https://ilaw.or.th/node/5793

https://freedom.ilaw.or.th/case/21#progress_of_case

https://readjournal.org/aan-on-line/16270/

https://www.facebook.com/MatichonMIC/posts/3883612198393302

Tags: , , , , ,