ปฏิทินตั้งโต๊ะที่ถูกจัดทำเพื่อรำลึกถึงอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ มีมาเป็นสิบปีแล้ว โดยแต่ละปีจะสลับเรื่องราวและเนื้อหาที่ต้องการเล่าแตกต่างกันออกไป หากถามว่าทำไมในปีนี้ถึงจัดทำปฏิทินตั้งโต๊ะเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2575 เหตุผลหนึ่งคือความเกี่ยวข้องระหว่างอาจารย์ป๋วยกับกลุ่มคณะราษฎร ก่อนหน้าสมัยเด็ก อาจารย์ป๋วยไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อน จนเมื่อเรียนถึงชั้น ม.8 ก็มีคณะราษฎร และอาจารย์ป๋วยยังเป็นนักเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองรุ่นแรกอีกด้วย โดยปฏิทินที่ถูกจัดทำขึ้นทุกปีจะถูกใช้ชื่อเล่นว่า ‘ปฏิทินป๋วย’ นับตั้งแต่มีการเตรียมงานครบรอบร้อยปีอาจารย์ป๋วย

การจัดทำปฏิทินตั้งโต๊ะนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพยายามสร้างความตระหนักรู้และรำลึกถึงคุณูปการของอาจารย์ป๋วย สำหรับคณะจัดทำ เมื่อระลึกได้ว่าปีหน้าจะครบรอบ 90 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และครบรอบ 110 ปีของเหตุการณ์ ร.ศ. 130 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญ ถือเป็นการพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองที่แม้ว่าจะไม่สำเร็จ แต่เป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มคณะราษฎรไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นั่นจึงทำให้คณะผู้จัดทำปฏิทินดังกล่าวไม่ลังเลเลยว่าเนื้อหาของปฏิทินป๋วยปีนี้จะต้องเกี่ยวข้องกับ 2475 และสอดแทรกเนื้อหาสำคัญเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ร.ศ.130 อย่างแน่นอน 

ปฏิทินป๋วย ในธีม 2475 นี้มุ่งให้ความสำคัญกับศิลปะที่ขับเคลื่อนสังคม และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตงานศิลปะโดยราษฎร จึงมีการพยายามสร้างจินตภาพของผู้ก่อการมายืนรวมกันในรูปแบบลายเส้นและการใช้สีแบบ ‘American Comic’ โดยคณะผู้จัดทำมองปฏิทินป๋วยเป็นจุดเริ่มต้นที่จะกระทุ้งให้คนหันมาสนใจเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และการใช้ศิลปะเพื่อขับเคลื่อนสังคม

เมื่อศิลปะกับการเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นสิ่งที่แยกขาดกันไม่ได้ สถาบันปรีดี พนมยงค์ กลุ่มคนทำงานรำลึกร้อยปี ชาตกาล ป๋วย อึ้งภากรณ์ มูลนิธิเสถียรโกเศศ นาคะประทีป จึงจัดงานเสวนาว่าด้วยบทบาทของศิลปะและการบันทึกทรงจำของราษฎร เพื่อพูดคุยถึงความสำคัญของศิลปะราษฎรว่ามันคืออะไร และมีบทบาทอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

บทสนทนาเริ่มจากคำถามสำคัญว่าศิลปะของราษฎรคืออะไร เกี่ยวข้องกับเสรีภาพและประชาธิปไตย ความเป็นมนุษย์อย่างไรบ้าง โดยเชิญคนที่ใช้ศิลปะสื่อสารเรื่องสังคมมานั่งพูดคุยกัน ได้แก่ ประกิต กอบกิจวัฒนา จากเพจอยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป, ไลลา พิมานรัตน์ ภัณฑารักษ์จาก Manycuts Artspace และ รัศม์ ชาลีจันทร์ เจ้าของเพจทูตนอกแถว

ประกิต กอบกิจวัฒนา เล่าว่า หากให้นิยามความหมายของคำว่าศิลปะของราษฎร มองว่าศิลปะของราษฎรขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ มันคือความคิดที่ต้องการไปข้างหน้า ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม ถามว่างานศิลปะของราษฎรมีเส้นตัดอยู่ตรงไหน ก็ต้องดูที่อุดมการณ์ความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ ตราบใดที่อุดมการณ์รับใช้เรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แย่งพื้นที่ศิลปะกระแสอื่นมากๆ มันก็การระเบิดออก ศิลปะมันก็ลุกฮือ

ศิลปะในวันนี้ ปีนี้ จะเห็นว่าศิลปะของคนรุ่นใหม่น่าสนใจ โดยมีอุดมการณ์คือมรดกของคณะราษฎร อย่างงานศิลปะของคนรุ่นใหม่มาในรูปของคุกกี้ เป็นอะไรที่ก้าวหน้าและรุกคืบอย่างรวดเร็ว ในขณะที่งานสถาปัตยกรรมแบบ 2475 ไม่มี แต่ศิลปะในรูปแบบอื่นๆ ก็เฟื่องฟู ทิ้งขนบของการเขียนรูปประพันธ์เพลงแบบเดิมไป

การเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นคลื่นที่สร้างผลกระทบเป็นอย่างมากทางด้านการเปลี่ยนแปลงไปของการผลิตงานศิลปะ ศิลปะวัดวังถูกท้าทายด้วยศิลปะสมัยใหม่มีการเกิดขึ้นของศิลปะอย่างอนุเสาวรีย์ต่างๆ ที่ถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบใหม่ และการกำเนิดของมหาวิทยาลัยศิลปากร

โดยกระแสการเปลี่ยนทิศทางของงานศิลปะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากพิจารณาแล้วเกิดขึ้นในยุคเดียวกับปี ค.ศ. 1990 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโค่นล้มระบอบกษัตริย์ในหลายประเทศในยุโรป อย่างในอิตาลีเองก็มีศิลปะแบบ Futurism ในรัสเซียก็มีศิลปะแบบ Constructivism และในฝรั่งเศสเองก็เกิดศิลปะแบบ Impressionism ขึ้นเช่นกัน 

ศิลปะแบบ Impressionism มีที่มาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ส่งผลให้ทัศนะการเขียนภาพหรือดนตรีเริ่มมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น โดยในยุโรป ผู้ที่มีอิทธิพลและชนชั้นปกครองได้จัดการประกวดศิลปะกรรมแห่งชาติ เพื่อชี้ทางว่าอะไรคือนิยามของ ‘ศิลปะที่ดี’ และต่อต้านกลุ่มงานแบบ Impressionism ว่าเป็นศิลปะที่เสื่อมทราม ซึ่งท่าทีของชนชั้นปกครองดังกล่าวนั้นเองนำมาสู่กระบวนการเคลื่อนไหวศิลปะภาคประชาชน ที่ถึงแม้จะถูกกีดกันจากการประกวด แต่มันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เหตุการณ์นี้มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทิศทางของศิลปะในประเทศไทยเช่นกัน อย่างเรื่องของการจัดประกวดก็พยายามดึงพื้นที่การส่งเสียงออกจากผู้มีอำนาจโดยตั้งรางวัลคู่ขนานกับรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ ชื่อรางวัลศิลปกรรมแห่งประเทศไทย

งานประกวดศิลปกรรมแห่งประเทศไทยถือเป็นงานประกวดที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับใช้ประชาชน เป็นศิลปะที่เล่าเรื่องชีวิตของชาวนา คนรากหญ้า พูดถึงเรื่องการเมืองสังคมมากกว่าให้แสงไปอยู่ที่คนที่อยู่ในอำนาจปกครองในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งมีนัยสำคัญของการเชิดชู ชาติ ศาสน์ กษัตริย์

ทางด้านของ ไลลา พิมานรัตน์ กล่าวว่า ศิลปะของราษฎรคืองานศิลปะที่เข้ามามีส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวในท้องถนน เช่น มีม ม็อบเฟสต์ ศิลปะปลดแอก เหล่านี้ส่งเสริมการช่วงชิงพื้นที่ของราษฎร เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้ต้องการรางวัลหรือการจัดแสดง ดังนั้นงานศิลปะเหล่านี้เกิดขึ้นเยอะมาก มีศิลปินทำงานศิลปะมากขึ้นอย่างเป็นปรากฏการณ์ ไลลายังกล่าวเสริมอีกว่า งานศิลปกรรมแห่งชาติ สุดท้ายแล้วผู้อุปถัมภ์คือรัฐ อะไรที่ถูกอุปถัมภ์ด้วยรัฐ เมื่อนึกถึงงานศิลปะ คนมักพูดถึงรูปที่มีทุกบ้าน อยู่ในวัฒนธรรมที่รัฐสนับสนุน สิ่งที่รัฐมองว่าดี แต่สิ่งที่เป็นความดีงามของรัฐมันไม่ได้เข้าไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกร่วมสมัย เทียบกับต่างประเทศมันเหมือนอยู่กันคนละโลก 

สุดท้ายแล้วสิ่งที่ใหญ่ที่สุดของศิลปะคือรัฐ อย่างรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ รางวัลศิลปินแห่งชาติ ทำให้ศิลปินรุ่นต่อไปเห็น ชี้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดี ทำอะไรแล้วจะได้รางวัล เรียกว่าอีกชื่อว่างานจิตรกรรมเฉลิมพระเกียรติ คนเหล่านี้สุดท้ายได้ความสำเร็จ แข่งกันแสดงความจงรักภักดี ในด้านธุรกิจในประเทศไทย มีรางวัลธนาคารบัวหลวง รางวัลพู่กันทอง รางวัลช้างเผือก ซึ่งมีทุนกลุ่มสนับสนุน ดังนั้นไม่ใช่แค่ฝั่งรัฐ แต่เราเห็นการสอดรับของกลุ่มทุนในความพยายามจงรักภักดีเป็นงานกระแสหลัก

ในส่วนของ รัศม์ ชาลีจันทร์ เล่าว่า ศิลปะคือส่วนสะท้อนของสังคมหนึ่งหนึ่ง เป็นมาตรวัดอย่างหนึ่งว่าสังคมนั้นมีความเจริญมากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สภาพสังคมมันยังกดหรือไม่ได้สนับสนุนศิลปะมากขนาดนั้น เพราะสังคมเราถูกกดทับด้วย สถาบัน ความคิดอนุรักษนิยม และศาสนา สังคมเราถูกกดทับตั้งแต่ระดับเรียนหนังสือ ใครถาม หัวแข็งหัวดื้อ ทำให้ไม่รู้จักคิด ดังนั้นศิลปะของราษฎรคืองานที่ศิลปินต้องรู้สึกถึงเสรีภาพ ถึงจะสร้างงานได้ ศิลปินของราษฎรต้องแสดงออกบางอย่างเพื่อมุ่งรับใช้สังคม

คำถามสำคัญต่อมาคือ เมื่อสมัยนี้คนเริ่มให้ความสำคัญกับเสรีภาพมากขึ้น รัฐหรือเอกชนควรส่งเสริมหรือเริ่มทำอะไรเพื่อสนับสนุนศิลปะ คำตอบของวิทยากรทั้งสามท่านดูจะไปในทิศทางเดียวกันว่า ศิลปะกับเสรีภาพคือเนื้อตัวเดียวกัน มันหล่อเลี้ยงกัน และนำสังคมไปในพลวัตที่มันควรจะเป็น

แต่ตอนนี้เราอยู่ในสังคมแห่งการเซนเซอร์ ซึ่งมันการไม่เปิดกว้างทางความคิด กฎระเบียบขัดความคิดสร้างสรรค์ ทำลายงานอนุรักษ์เช่นกัน เช่น ประกวดนางงามก็ต้องใส่ชฎา ชุดมวยไทย หรือตุ๊กตุ๊ก ซึ่งมันตีบตันมาก

กระทรวงวัฒนธรรมทำหน้าที่รักษาอย่างเดียว งบประมาณก็เลยเถิดบานปลาย ในเมื่อวัฒนธรรมทุกชิ้นเป็นมรดกที่เราต้องส่งมอบให้กับคนในอนาคต ไม่รู้อดีต ไปอนาคตไม่ได้ มันจำเป็นต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้ ถ้ารัฐยังมองศิลปะของคนรุ่นใหม่เป็นศัตรู ศิลปะก็จะไม่ไปไหน เพราะศิลปะต้องมีเสรีภาพและการแสดงออก แต่ก็ยังมีความหวังสำหรับสังคมไทยเพราะคนรุ่นใหม่เป็น Content Generator สร้างศิลปะได้อย่างมีพลังแม้จะถูกจำกัดเสรีภาพ

Tags: , , ,