วันนี้ (13 มิถุนายน 2566) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) แถลงข่าวในงาน ‘365 วัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ซึ่งเป็นการแถลงผลงานในวาระ 1 ปี การดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ว่า พอใจการทำงานในหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่อง Traffy Fondue ซึ่งเป็นช่องทางการแก้ปัญหา ทั้งนี้ ในระบบ Traffy Fondue จากผลงานทั้งหมด 3 แสนเรื่อง ได้แก้ปัญหาไปแล้ว 2 แสนกว่าเรื่อง และอีกราว 6 หมื่นเรื่อง ส่งต่อให้หน่วยงานอื่น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาโดยที่ผู้ว่าฯ กทม.ไม่ต้องสั่งการอะไร และใช้เทคโนโลยีเป็นตัวแก้ไข อีกทั้งเชื่อว่า เทคโนโลยีจะเปลี่ยนระบบราชการในอนาคต

ผู้ว่าฯ กทม.ยังระบุด้วยว่า พลังจริงๆ ที่ กทม.ได้รับ ไม่ใช่พลังจากเจ้าหน้าที่ กทม.เพียงอย่างเดียว แต่คือการหาภาคีเครือข่าย โดยปัจจุบัน แม้ กทม.จะมีคนอยู่แค่ 8 หมื่นคน แต่มีคนข้างนอกที่ช่วยเหลืออีกเกือบ 6 ล้านคน

“ยกตัวอย่างโครงการแยกขยะ ไม่น่าเชื่อว่าขยะปี 2565-2566 ลดไปวันละเกือบ 700-800 ตันต่อวัน พอเรามีแคมเปญแยกขยะ Bangkok Zero Waste มีคนร่วมกับเราหลายพันหน่วยงาน เราคิดว่าขยะจะเพิ่มเป็น 1.1 หมื่นตันต่อวัน แต่กลับกลายเป็น 8,800 ตันต่อวัน”

ชัชชาติยังระบุด้วยว่า ขณะนี้พอใจกับเรื่องการแยกขยะ โดยสามารถประหยัดเงินค่าจัดการขยะ 85 ล้านบาท จากโครงการ ‘ไม่เทรวม’ ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 930 ราย สามารถแยกขยะเศษอาหารเฉลี่ยได้ 1,650 ตันต่อเดือน และในอนาคตหวังว่าจะลดปริมาณขยะได้ 3,000 ตันต่อวัน

ทั้งนี้ 5 หัวข้อที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำงานตลอดปีที่ผ่านมาคือ 1. เส้นเลือดฝอย 2. ความโปร่งใส 3. เทคโนโลยี 4. การเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ 5. การหาภาคีเครือข่าย อย่างไรก็ตาม ชัชชาติยังให้คะแนนตัวเอง 5 เต็ม 10 เพราะอยากเป็น ‘น้ำพร่องแก้ว’ เพื่อเติมให้เต็มต่อไป

สำหรับโครงการขนาดใหญ่ กทม.มีเรื่องอุโมงค์ยักษ์ โรงบำบัดน้ำเสีย การจราจร-ไฟจราจรอัจฉริยะ รวมถึงการตัดถนนเพิ่ม ทำรถไฟฟ้าเพิ่ม 3 สาย คือสายสีเทา สายสีเงิน และส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว บางหว้า- ตลิ่งชัน ซึ่งยังอยู่ในระหว่างหารือว่าจะนำเงินงบประมาณจากรัฐบาลมาก่อสร้าง หรือใช้งบประมาณของ กทม.

ชัชชาติยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องการใช้เทคโนโลยีสามารถ ‘ตัดขั้นตอน’ ได้ชัดเจน และในอนาคตจะมองไปถึงเรื่องการขอใบอนุญาต

“ผมเชื่อว่าใช้เทคโนโลยีดีที่สุด ยกตัวอย่าง Traffy Fondue ปกติเรื่องร้องเรียนจากประชาชนกว่าจะถึงผู้ว่าฯ ต้องใช้ข้าราชการ 7 คน 15 วัน แต่ตอนนี้ ผู้อำนวยการเขตเอาไปทำเลย และผมเชื่อว่าเทคโนโลยีจะเป็นตัวตัดขั้นตอน อย่างการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ใช้เทคโนโลยีเข้ามาได้ ซึ่งกระบวนการในการเข้าหาแต่ละโต๊ะต้องไม่มี เจอคนต้องไม่มี ในที่สุด การใช้วิจารณญาณส่วนบุคคล เรียกส่วย เรียกเงินใต้โต๊ะ ก็จะน้อยลง”

ภาพ: กรุงเทพมหานคร

Tags: , ,