เช้าตรู่ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 หรือวันนี้เมื่อปีที่แล้ว กองทัพพม่าภายใต้การควบคุมของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ขับรถถังเข้าใจกลางเมือง กั้นรั้วปิดถนนหลายเส้น เข้าคุมตัวนักการเมืองหลายคนก่อนการประชุมสภาจะเริ่มต้นขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง เป็นสัญญาณที่บอกแก่ทุกคนว่า ‘กองทัพก่อรัฐประหารอีกแล้ว’ แม้ก่อนหน้าการทำรัฐประหารเพียงสองวัน พลเอกอาวุโสรายนี้เคยยืนยันต่อสื่อมวลชนว่าจะไม่ทำรัฐประหาร เพราะ “รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด ควรเคารพและปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ”

การก่อรัฐประหารครั้งดังกล่าวสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ประเทศเมียนมาเป็นอย่างมาก นับเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่จะทำให้เมียนมาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความเปลี่ยนแปลงที่ว่ามีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชน ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมหาศาล และการทำงานของรัฐบาลทหารที่เรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติ

The Momentum ได้รวบรวมการทำงานของรัฐบาลทหารตลอดหนึ่งปีหลังรัฐประหาร รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เป็นอย่างไรบ้าง ประสบความสำเร็จแค่ไหน หรือว่าพาประเทศไปสู่จุดล้มเหลวด้านใดบ้าง

ปิดกั้นสื่อ จับนักข่าว แบนอินเทอร์เน็ต

การปิดกั้นเสรีภาพสื่อ ปิดกั้นเสรีภาพทางการสื่อสารของประชาชน เกิดขึ้นตั้งแต่เช้าวันก่อรัฐประหาร ขณะที่ทหารกำลังเข้าจับกุมเหล่านักการเมืองที่เตรียมตัวประชุมสภาฯ เกิดเหตุขัดข้องทั้งกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายโทรศัพท์ สถานีวิทยุและโทรทัศน์ต้องระงับการออกอากาศชั่วคราว​ โดยให้เหตุผลว่า ‘เกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิค’

หลังก่อรัฐประหารได้เจ็ดวัน รัฐบาลทหารทำการบล็อกการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย ควบคู่กับการปิดกั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ตในหลายพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมที่ออกมาต่อต้านการทำรัฐประหารสามารถติดต่อนัดหมายรวมตัวได้ แต่ถึงอย่างนั้น ชาวพม่าพยายามหาทางเข้าใช้งานเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และแอพพลิเคชันแชต ด้วยการเข้าใช้งานผ่าน VPN

หลังกองทัพพม่าทำรัฐประหารได้สิบห้าวัน รัฐบาลทหารมอบหมายให้กระทรวงการสื่อสารแห่งเมียนมา ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสมาคมสื่อ ขอให้สื่อมวลชนระมัดระวังการใช้คำเวลาเขียนข่าวเกี่ยวกับเมียนมา ห้ามเรียกรัฐบาลชุดใหม่ว่า ‘รัฐบาลรัฐประหาร’ (Coup Government) เพราะมีสื่อหลายสำนักรายงานข่าวผิดพลาด บิดเบือนความจริง เขียนข่าวโดยไม่ยึดหลักจรรยาบรรณสื่อ เตือนว่าหากสื่อใดในประเทศเมียนมายังคงดึงดันจะใช้คำว่า ‘รัฐบาลรัฐประหาร’ ต่อไป หรือไม่ยอมปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐ สื่อออนไลน์และสิ่งพิมพ์ของสำนักข่าวนั้นๆ จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตและถูกดำเนินคดีอาญา

ช่วงที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศต่างรายงานถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในเมียนมา ในเดือนมีนาคม 2021 นักข่าวจากสำนักข่าว A Democratic Voice of Burma (DVB) ที่ถูกรัฐบาลทหารเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสื่อ ถูกทหารบุกจับกุมเนื่องจากถ่ายทอดสดการชุมนุมทางเฟซบุ๊กของช่อง DVB ซ้ำยังถูกทำร้ายร่างกายและห้ามเข้าเยี่ยม ก่อนตัดสินว่ามีส่วนยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก 

ผู้สื่อข่าวต่างประเทศจำนวนมากถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวเช่นกัน แดนนี เฟนซ์เตอร์ (Danny Fenster) บรรณาธิการสัญชาติอเมริกันของสำนักข่าว Frontier Myanmar ถูกทหารควบคุมตัวในสนามบินนานาชาติย่างกุ้ง ขณะกำลังขึ้นเครื่องออกนอกประเทศ ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2021 เขาถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ละเมิดกฎหมายคนเข้าเมือง ปลุกระดม และติดต่อกับองค์กรผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกรวม 11 ปี กรณีของแดนนีทำให้รัฐบาลทหารถูกวิจารณ์อย่างหนัก โดยภายหลังรัฐบาลตัดสินใจปล่อยตัว แดนนี เฟนซ์เตอร์ เนื่องจากมีการเจรจาทางการทูตระหว่างสถานทูตเมียนมาและสถานทูตสหรัฐฯ

สำนักข่าว AFP เคยรายงานว่า ‘นักข่าว’ ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่ตำรวจและทหารต้องควบคุมตัว เพื่อป้องกันไม่ให้การสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง และภาพการละเมิดสิทธิมนุษยชนถูกเผยแพร่ออกสู่สายตาชาวโลก มีช่างภาพและผู้สื่อข่าวจำนวนไม่น้อยถูกจับขณะลงพื้นที่ทำข่าวการประท้วง นักข่าวจากสำนักข่าว AP ของสหรัฐอเมริกา ถูกจับกุมและตั้งข้อหาเผยแพร่ข่าวปลอม สร้างความตื่นกลัวต่อสังคม และสร้างความสับสนแก่เจ้าหน้าที่ หลายคนถูกปล่อยตัวภายหลัง แต่มีอีกไม่น้อยที่ยังถูกคุมขังอยู่ รวมถึงคดีทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าวที่มีให้เห็นตลอดทั้งปี แต่กลับไม่สามารถดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่ทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าวได้เลย

การพยายามห้ามปรามสื่อหลายต่อหลายครั้งของรัฐบาลทหาร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยืนยันหลายต่อหลายครั้งว่าการยึดอำนาจครั้งนี้เป็นไปอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญปี 2008 และกองทัพพยายามแสดงให้โลกเห็นอยู่เสมอว่าการทำรัฐประหารในครั้งนี้ ไม่เหมือนกับรัฐบาลทหารที่ผ่านๆ มา

วันที่ 20 มกราคม 2022 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลได้จับกุมผู้สื่อข่าวอีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นผู้สื่อข่าวของ ทวาย วอตช์ (Dawei Watch) ที่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตสื่อ ในเวลาเดียวกัน มีรายงานว่ารัฐบาลพม่าเตรียมประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ฉบับใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนใช้งาน VPN ให้ผู้ให้บริการต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใช้งาน ทั้งชื่อ นามสกุล ที่อยู่ตามบัตรประชาชน และสิทธิเข้าถึงประวัติการใช้งานก่อนหน้า และกำหนดโทษไว้ที่ 1-3 ปี

หากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้จริง จะส่งผลเสียมหาศาลกับระบบเศรษฐกิจ หลายบริษัทได้แสดงความกังวลว่ากฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ฉบับใหม่จะทำให้เกิดความยากในการทำงาน โดยเฉพาะสถาบันทางการเงินและบริษัทเทคโนโลยี ที่จำเป็นต้องใช้ VPN ในการดำเนินการ

 

จับกุม คุมขัง สังหารหมู่ เรียกประชาชนว่า ‘ผู้ก่อการร้าย’

ภายหลังการทำรัฐประหาร มีประชาชนจำนวนมากไม่ยินยอมต่อการยึดอำนาจโดยมิชอบ พากันออกมาเดินขบวนประท้วงแบบดาวกระจายทั่วประเทศ ไม่สนใจคำสั่งภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินของกองทัพ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อขับไล่รัฐบาลทหาร ทั้งการประท้วงอย่างสันติ การทำอารยะขัดยืน นัดกันหยุดงานประท้วง เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐลาออกแล้วตั้งกองทุนเยียวยา แต่แทบทุกครั้งที่ชาวพม่าออกมาแสดงจุดยืน พวกเขาจะโดนทหารปราบปราม จับกุม คุมขัง ทำร้ายร่างกาย และถูกสังหารอย่างโหดร้าย

รัฐบาลทหารพยายามหาวิธีตั้งรับการประท้วง ทั้งการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต บังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิว ควบคุมสื่อ ไปจนถึงออกกฎหมายใหม่หลายฉบับ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2021 ออกคำสั่งระงับกฎหมายความมั่นคง อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถบุกค้นบ้านผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบโดยไม่ต้องขอหมายศาล

รายงานของสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งระบุตรงกันว่ามีการ ‘เผาผู้ชุมนุมทั้งเป็น’ ยังไม่รวมความรุนแรงอื่นๆ ทั้งการขับรถชน ใช้อาวุธทุบตีจนเสียชีวิตคาที่ สลายการชุมนุมด้วยการใช้กระสุนจริง ยืนยันจากภาพและวิดีโอที่ถ่ายเจ้าหน้าที่ใช้ปืนเล็งที่ศีรษะของประชาชน ผิดหลักการสลายการชุมนุมสากลแทบทุกข้อ และยังคงโต้ตอบประชาชนอย่างรุนแรงเรื่อยมา จนทำให้ย่างกุ้งและอีกหลายเมืองในเมียนมากลายเป็นพื้นที่สงคราม

ก่อนรัฐบาลคู่ขนานที่จัดตั้งโดยกลุ่มอำนาจเก่าของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ร่วมกับประชาชนจะประกาศสงครามกับรัฐบาลทหาร สำนักข่าว Channel News Asia ของสิงคโปร์รายงานว่า กองทัพพม่าใช้อาวุธหนักกับผู้ประท้วงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งตั้งแนวกั้นกระสุนปืน เบิกเครื่องยิงจรวดมาใช้บ่อยครั้ง เช่น เหตุการณ์ต่อสู้ในวันที่ 9 เมษายน 2021 ในเมืองพะโค ทหารใช้อาวุธหนักโจมตีผู้ประท้วงจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 80 ราย โดยทางสถานีประจำชาติ ยืนยันว่าทหารพม่าจำเป็นต้องใช้อาวุธหนักเพื่อปราบจลาจลที่เกิดขึ้นจากกลุ่ม ‘ผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรง’

วันที่ 25 มกราคม 2022 รัฐบาลทหารออกประกาศเตือนฉบับใหม่ ห้ามประชาชนเคาะหม้อ เคาะกระทะส่งเสียงรบกวน โดยระบุว่าหากพบว่ามีใครเคาะหม้อประท้วงรัฐบาล หรือส่งต่อโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านกองทัพ อาจถูกจับกุมในข้อหายุยงปลุกปั่น รวมถึงข้อหาร้ายแรงอย่างการเป็น ‘กบฏ’

ในวันครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร มีรายงานว่ารัฐบาลได้สังหารประชาชนไปแล้วกว่า 1,500 คน และมีผู้ถูกจับกุมเกิน 11,000 คน

 

สั่งฟ้องรัฐบาลชุดเก่า

เมื่อนักการเมืองจำนวนมากถูกควบคุมในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ถัดจากนั้นราวสองสัปดาห์ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความเคลื่อนไหวว่า ทหารจำนวนมากบุกค้นบ้านพักของอองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ก่อนแจ้งแก่สื่อมวลชนว่าพบวิทยุสื่อสารในบ้านจำนวน 10 เครื่อง ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นวิทยุสื่อสารที่ไม่ได้รับอนุญาต ทำให้คาดการณ์ได้ว่ารัฐบาลของเธออาจ ‘ไม่โปร่งใส’ และมีความเป็นไปได้อย่างมากที่พรรคเอ็นแอลดีจะโกงเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงสิ้นปี 2020

ในตอนแรกอองซานซูจีและ อู วิน มยินต์ (U Win Myint) อดีตประธานาธิบดีเมียนมา ถูกตั้งข้อหาละเลยหน้าที่ และละเมิดมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากในช่วงหาเสียงเลือกตั้งได้พบปะผู้คนจำนวนมากโดยไม่เว้นระยะห่างทางสังคม ก่อนวันที่ 10 พฤศจิกายน 2021 ศาลจะระบุว่าทั้งสองคนมีความผิดเพิ่มเติมฐานทุจริตคอร์รัปชัน นำเข้าและครอบครองเครื่องมือสื่อสารผิดกฎหมาย

นอกเหนือจากนักการเมืองสองคนที่เป็นที่รู้จักในประชาคมโลก ธาน นายง์ (Than Naing) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนรัฐกะเหรี่ยง ถูกพิพากษาว่ามีความผิดข้อหาทุจริตทั้งหมด 6 กระทง ต้องจำคุก 90 ปี ส่วน นาน ขิ่น เว มยินต์ (Nan ​​Khin Htwe Myint) วัย 67 ปี อดีตหัวหน้าคณะรัฐมนตรีรัฐกะเหรี่ยง ถูกตัดสินว่ามีความผิด 5 ข้อหา มีโทษจำคุกข้อหาละ 15 ปี รวมเป็น 75 ปี

วันที่ 10 มกราคม 2022 ศาลนำตัวอองซานซูจีและอู วิน มยินต์ มาฟังคำพิพากษาอีกครั้ง และไม่ยอมให้สื่อมวลชนเข้าร่วมการไต่สวน รวมถึงสั่งห้ามจำเลยพูดคุยกับสื่อ โดยศาลตัดสินว่าทั้งสองและจำเลยร่วมมีความผิดรวม 11 ข้อหา เช่น รับสินบน, การทุจริตในหน้าที่, การใช้อำนาจโดยมิชอบในการเช่าที่ดินในกรุงเนปิดอว์, สร้างอาคารเพื่อเปิดเป็นสำนักงานใหญ่ของมูลนิธิดอว์ ขิ่น จี, เผยแพร่ข้อมูลลับทางราชการ, ละเมิดกฎหมายควบคุมการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทั้งสองได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

หลังจำเลยถูกนำตัวขึ้นศาล สถานีโทรทัศน์แห่งชาติเมียนมา (MRTV) รายงานว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ออกคำสั่ง ‘อภัยโทษบางส่วน’ แก่จำเลย ทำให้อองซานซูจีจะต้องรับโทษเป็นเวลา 2 ปี อยู่ใน ‘สถานที่ที่เธออยู่มาตั้งแต่ต้น’ อาจตีความได้ว่าก่อนหน้านี้ อองซานซูจีและอู วิน มยินต์ ไม่ได้ถูกคุมขังในเรือนจำ แต่ถูกขังแยกอยู่ที่บ้านพักในกรุงเนปิดอว์

ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2022 รัฐบาลทหารประกาศฟ้อง 5 ข้อหาใหม่แก่อองซานซูจี โดยข้อหาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการซื้อ-เช่า และบำรุงรักษาเฮลิคอปเตอร์ ในกรณีที่ศาลตัดสินว่าเธอทำผิดทุกข้อกล่าวหา อองซานซูจีอาจมีโทษจำคุกรวม 165 ปี

พลจัตวา ซอว์ มิน ตุน (Zaw Min Tun) โฆษกรัฐบาลทหาร กล่าวถึงกรณีที่มีการฟ้องอองซานซูจีทีละข้อหาสองข้อหาว่า เป็นเพราะสืบค้นลึกลงเรื่อยๆ จนทำให้พบการกระทำผิดหลายอย่าง ก่อนย้ำว่าไม่มีใครในเมียนมาจะอยู่เหนือกฎหมายได้ อองซานซูจีจะต้องถูกพิพากษาตามกฎหมาย

 

สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตแบบทหาร เข้าหาชาติมหาอำนาจ รัสเซีย จีน และเผด็จการเพื่อนบ้าน

เมื่อเกิดรัฐประหารในเมียนมา หลายประเทศพากันประณามและคว่ำบาตรการกระทำดังกล่าว ทว่าในช่วงแรก ปฏิกิริยาจากเหล่านายพลชั้นอาวุโสกลับไม่ได้รู้สึกอะไรกับการกดดันจากนานาชาติมากนัก เห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ของ พลเอกอาวุโส โซ วิน (Soe Win) ที่ระบุว่า “เราคุ้นเคยกับการคว่ำบาตร และเราก็รอดมาได้ทุกครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้คือการเรียนรู้ที่จะเดินหน้าต่อ แม้จะเหลือเพื่อนแค่ไม่กี่คนก็ตาม”

วันที่ 7 เมษายน 2021 สำนักข่าว Channel News Asia เผยแพร่บทวิเคราะห์ ‘หรือทหารพม่ามีไทยเป็นต้นแบบและอาจกำลังเดินตามรอยพลเอกประยุทธ์’ ที่เขียนโดย พอล แชมเบอร์ส (Paul Chambers) นักวิชาการจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ตั้งข้อสันนิษฐานว่า การทำรัฐประหารของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย อาจมีไทยเป็นแบบอย่าง ทั้งในแง่ความมั่นใจว่าการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนยังคงเป็นไปได้ แม้รัฐบาลดังกล่าวจะได้รับเลือกจากประชาชน แต่รัฐบาลพลเรือนไม่มีอำนาจควบคุมกองทัพ และหากศาลเลือกข้างกองทัพ ซ้ำผู้คนในสังคมเกิดความแตกแยก (ดังเช่นประเทศไทย) ความสำเร็จในการทำรัฐประหารก็จะเพิ่มสูงขึ้น  

บทความของแชมเบอร์สยังระบุอีกด้วยว่า ก่อนหน้านี้กองทัพพม่ามีความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญพม่าปี 2008 ให้ใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญไทยฉบับ 2560 แต่ถูกสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีคัดค้าน หากกองทัพพม่าสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ พรรคสหภาพเพื่อเอกภาพและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party: USDP) ซึ่งเป็นพรรคของทหาร จะสามารถเปิดประตูเข้าสู่โลกการเมืองได้เต็มที่เหมือนกับที่พรรคพลังประชารัฐของไทยเคยทำได้

ไม่ใช่เพียงแค่ข้อสันนิษฐานที่ว่ากองทัพพม่าอาจมีกองทัพไทยเป็นต้นแบบทำรัฐประหาร หลังทำรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากรัฐบาลทหารพม่ามักแวะเวียนมาพบกับนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลไทย โดยไม่สนสายตาของประชาคมโลก ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศหลายแห่งในอาเซียน ทั้งสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เคยแสดงความคิดเห็นไปในทางว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหารพม่า รวมถึงขอให้กองทัพเร่งปล่อยตัวนักการเมืองที่ถูกคุมขัง โดยเฉพาะนางอองซานซูจีกับอู วิน มยินต์ แต่ไทยกลับขอยึดหลักการ ‘เชื่อใจ’ รัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร

ความสัมพันธ์ระหว่าง ฮุน เซน (Hun Sen) กับรัฐบาลพม่าก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรง โดยเฉพาะเหตุการณ์วันที่ 21 มกราคม 2022 ไซฟุดดิน อับดุลละห์ (Saifuddin Abdullah) รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ระบุว่าสมาชิกอาเซียนบางประเทศมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเดินทางเยือนพม่าของ ฮุน เซน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2022 และถือเป็นผู้นำประเทศคนแรกของโลกที่เยือนเมียนมาหลังจากเกิดรัฐประหาร

ความไม่เหมาะสมที่ว่านั้นเป็นเพราะในเวลานี้ ฮุน เซน ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มอาเซียน การเดินทางไปเยือนพม่า พบกับทหารที่ทำรัฐประหาร อาจทำให้อาเซียนถูกมองว่าให้ความชอบธรรมแก่ทหารพม่า แต่ทางด้าน ฮุน เซน กลับไม่สนใจเสียงวิจารณ์ และต่อว่ารัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียว่า “ไม่ควรแสดงความไร้มารยาทด้วยการแสดงความคิดเห็นไม่เหมาะสมกับผมซึ่งเป็นผู้นำอาเซียน”

นอกเหนือจากอาเซียน การทูตสไตล์ทหารของรัฐบาลเมียนมายังคงเผยให้เห็นเรื่อยมา วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2021 กระทรวงต่างประเทศเมียนมาเผยแพร่แถลงการณ์ประณามกลุ่มชาติตะวันตกและองค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ออกมาแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ภายใน โดยได้แสดงความกังวลว่า การที่นานาชาติออกตัวประณามการรัฐประหารอาจกำลังฝ่าฝืนกฎบัตรยูเอ็น ละเมิดมาตรา 41 แห่งอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ค.ศ. 1961 ที่ระบุว่า “เจ้าหน้าที่ทางการทูตในแต่ละประเทศจะต้องเคารพ และปฏิบัติตามกฎหมายแห่งรัฐที่ตนได้ประจำการอยู่ และไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะก้าวก่ายกิจการภายในรัฐแห่งนั้น”

นอกจากนี้ เหตุการณ์วันที่ 7 เมษายน 2021 สำนักข่าว BBC รายงานจากกรุงลอนดอน จอ ซาร์ มิน (Kyaw Zwar Minn) เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสหราชอาณาจักร ไม่สามารถเข้าสำนักงานของตัวเองได้ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทหารเข้าควบคุมสถานทูตใจกลางกรุงลอนดอน ล็อกดาวน์ห้ามใครเข้า-ออกเด็ดขาด ทำให้เห็นว่ารัฐบาลทหารไม่สนใจเรื่องการทูต ไม่สนใจคำวิจารณ์ของนานาชาติเท่าไรนัก 

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเมียนมายังมีอีกสองประเทศที่น่าจับตามองคือจีนและรัสเซีย ย้อนกลับไปยังวันที่ 1 เมษายน 2021 ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีมติพิจารณามาตรการ ‘คว่ำบาตร’ และแทรกแซงการเมืองภายในประเทศเมียนมา แต่เมื่อถึงขั้นตอนการหารือการใช้ถ้อยคำในแถลงการณ์ ผู้แทนจากประเทศจีนขอให้หลีกเลี่ยงคำว่า ‘การประณามอย่างรุนแรงจากยูเอ็น’ เปลี่ยนเป็น ‘ยูเอ็นกำลังติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด’ ส่วนผู้แทนจากรัสเซียขอแก้แถลงการณ์ จากเดิมที่ระบุว่า ‘ขอประณามกองทัพที่ใช้ความรุนแรง’ เปลี่ยนเป็น ‘ขอให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง’

การรัฐประหารทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ปิดกั้นสื่อ ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และก่อให้เกิดปัญหาวงกว้าง เห็นได้จากการกระทบกระทั่งกันในชาติอาเซียนหรือในระดับโลก ที่แต่ละชาติแสดงจุดยืนต่อรัฐบาลทหารพม่าแตกต่างกัน ส่วนตัวของรัฐบาลทหารเองก็มีท่าทีชัดเจนว่าจะ ‘เลือกคบใคร’ หรือ ‘เลือกไม่คบใคร’ ซึ่งเหล่านักวิชาการหลายชาติต่างเห็นตรงกันว่า รัฐบาลทหารพม่าค่อนข้างแคร์จีน รัสเซีย รวมถึงไทย เพราะอาจมองว่ามีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน และจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยในแง่ผลประโยชน์

สถานการณ์ช่วงต้นของรัฐประหาร เราจะเห็นข่าวที่ทำให้อนุมานได้ว่าจีนสนับสนุนกองทัพพม่าอยู่บ่อยครั้ง ทั้งการประณามผู้ประท้วงที่เผาโรงงานของนักลงทุนจีนในพม่า การห้ามปราม UN ไม่ให้ตำหนิรัฐบาลพม่ารุนแรง และคิดว่าอีกไม่นานกองทัพจะสามารถจัดการกับความขัดแย้งได้ ทว่าเหตุการณ์ในเมียนมาตอนนี้กลับบานปลาย ประชาชนส่วนใหญ่ประกาศสงครามกับกองทัพพม่า จับอาวุธลุกขึ้นสู้ร่วมกับชนกลุ่มน้อยที่มีกองกำลังติดอาวุธเป็นของตัวเอง เกิดการตั้งรัฐบาลคู่ขนานและเจรจากับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อให้ได้รับการยอมรับแทนรัฐบาลทหาร เมื่อลมเปลี่ยนทิศ จีนจึงจำเป็นต้องกลับมาพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอีกครั้ง

ส่วนประเทศรัสเซียที่เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่บอกว่าการทูตของทหารพม่ากับรัสเซียดูจะพินอบพิเทาพอสมควร เป็นเพราะรัฐบาลทหารพม่าจำเป็นต้องพึ่งรัสเซียอยู่มาก ทั้งการสั่งอาวุธจำนวนมากมาใช้ปราบปรามประชาชน การพึ่งพากันในแง่การค้า ผลประโยชน์ และการมีบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน คือส่วนประกอบสำคัญที่ประกอบร่างแล้วทำให้เห็นว่ารัฐบาลทหารพม่าสนใจอยากผูกมิตรกับประเทศใดบ้าง

 

เศรษฐกิจแบบ ‘ผูกขาด’ เอื้อทุนใหญ่ นักลงทุนต่างชาติพากันถอนตัว

ก่อนหน้านี้รัฐบาลพลเรือนที่ได้รับเลือกจากประชาชนพยายามดิ้นรนพาประเทศให้พ้นวิกฤต หลังจากที่รัฐบาลเผด็จการเข้าควบคุมประเทศกว่า 50 ปี จนทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังที่ต้องทยอยแก้ ทั้งปัญหาสังคม การศึกษา แรงงาน และเศรษฐกิจ 

ช่วงเวลาที่พรรคเอ็นแอลดีเป็นรัฐบาล ตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตขึ้นสม่ำเสมอเฉลี่ยปีละ 6.6 เปอร์เซ็นต์ ชาวพม่าที่อยู่ในเส้นยากจนลดจำนวนลงอย่างมาก ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น การจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น ทุกอย่างกำลังจะดีขึ้น แต่ตอนนี้ทุกอย่างกลับต้องหยุดชะงักหันสู่ปากเหวอีกครั้งเพราะรัฐประหาร

หลังรัฐประหาร ประชาชนราว 1.2 ล้านคน ตกอยู่ในสภาวะว่างงาน นักลงทุนและบริษัทต่างชาติพากันถอนตัวออกจากเมียนมา มีรายงานตัวเลขระบุชัดเจนว่า หลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2021 บริษัทเอกชนทุกระดับพร้อมใจกันระงับแผนการลงทุนในเมียนมา ส่งผลให้สูญเงินที่ควรจะเข้ามาหมุนเวียนในประเทศกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ฯ ซ้ำร้ายค่าเงินจัตอ่อนตัวลงเรื่อยๆ กระเทือนทั้งภาคธุรกิจ แรงงาน และผู้บริโภค

โดยปกติแล้วรัฐบาลเมียนมาจะมีรายได้จากภาษี ค่าธรรมเนียม ค่าขนส่ง ของโครงการก๊าซธรรมชาติราว 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี ทำให้ก๊าซธรรมชาติกลายเป็นเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ มีบริษัทหลายเจ้าพากันเข้ามาลงทุน ทั้งยาดานา (Yadana) ที่มีฐานอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน วู้ดไซด์ (Woodside) บริษัทด้านพลังงานของออสเตรเลีย โททาลเอเนอจี (Total Energies) บริษัทปิโตรเลียมยักษ์ใหญ่ที่ถือสัมปทานร้อยละ 31 เชฟรอน (Chevron) บริษัทน้ำมันสหรัฐฯ ที่ถือสัมปทานร้อยละ 28 สลอร์ก (SLORC) ซึ่งมีฐานการผลิตในเมียนมามายาวนาน และโวลทาเลีย (Voltalia) บริษัทพลังงานทดแทนของฝรั่งเศส แต่ตอนนี้บริษัททั้งหมดที่ว่ามาพากันถอนตัวออกจากเมียนมาแล้ว

สาเหตุที่ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายเจ้าต้องตัดสินใจออกจากเมียนมามีหลายอย่างด้วยกัน ประการสำคัญคือการทำรัฐประหารที่ทำให้ภาพรวมประเทศย่ำแย่ ไหนจะการกดดันจากประชาคมโลกและรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ยังไม่รวมถึงข้อกังวลเรื่องความเสียหายที่จะได้รับจากสงครามกลางเมือง ความกังวลเรื่องความเสี่ยงขาดทุนจากปัจจัยร่วมหลายประการ และปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

ไม่ใช่แค่บริษัทพลังงานเท่านั้นที่ย้ายออก บริษัทเทเลนอร์ (Telenor) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์สัญชาตินอร์เวย์ ประกาศขายกิจการทั้งหมดในเมียนมา ส่วนบริษัทยาสูบ บริติช-อเมริกัน โทแบคโค (British American Tobacco: BAT) ที่มีฐานผลิตขนาดใหญ่อยู่ในเมียนมา ตัดสินใจถอนตัวเมื่อเดือนตุลาคม 2021

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติทยอยหนีหาย การกินรวบในประเทศยังคงเกิดขึ้นต่อไป วันที่ 24 มกราคม 2022 สำนักข่าวอิรวดีรายงานว่า ในการประมูลสัมปทานการออกเอกสารประจำตัวผู้ใช้แรงงานของกระทรวงแรงงาน บริษัทที่ชนะการประมูลครั้งนี้คือบริษัท United KMK ซึ่งผู้บริหารระดับสูงในบริษัทเคยเป็นอดีตทหารที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย

ตอนนี้บริษัท United KMK จะเป็นผู้ได้รับสิทธิเปิดศูนย์ออกเอกสารประจำตัวผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย โดยสาขาจะตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี เชียงใหม่ สมุทรปราการ และระนอง สำนักข่าวอิรวดียังระบุอีกว่า เมื่อแรงงานที่ต้องต่ออายุเอกสารรู้ว่าบริษัทที่ชนะการประมูลมีความใกล้ชิดกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย พวกเขาตัดสินใจไม่ต่ออายุเอกสาร

วันที่ 26 มกราคม 2022 ธนาคารโลกคาดการณ์งบประมาณและเศรษฐกิจเมียนมาว่าอาจมีการขยายตัวประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีกว่าปี 2021 ที่ติดลบ 18 เปอร์เซ็นต์

การปิดตัวของร้านค้าจำนวนมาก อัตราคนว่างงานที่เพิ่มขึ้น และการถอนตัวของบริษัทต่างชาติ แต่หากมองในอีกแง่มุมหนึ่งที่สมมติว่าไม่เกิดการรัฐประหารและไม่มีการระบาดของโควิด-19 ในปีนี้เศรษฐกิจเมียนมาจะขยายตัวถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่น่าเศร้าที่ตัวเลขดังกล่าวจะไม่มีวันเกิดขึ้นจริงในเร็ววันนี้

 

อ้างอิง

https://themomentum.co/myanmar-army-coup-detat-2021/

https://www.facebook.com/themomentumco/posts/2636784873279867

https://www.facebook.com/themomentumco/posts/2646683688956652

https://www.facebook.com/themomentumco/posts/2671748816450139

https://www.facebook.com/themomentumco/posts/2849669055324780

https://plus.thairath.co.th/topic/speak/100431

https://www.reuters.com/article/myanmar-politics-india/policemen-firemen-among-over-400-myanmar-nationals-seeking-shelter-in-india-idUSKBN2B72CA

https://www.reuters.com/article/us-myanmar-politics-asean-idUSKCN2AT1M5

https://www.channelnewsasia.com/asia/un-condemns-violence-against-myanmar-protesters-and-deaths-191596?fbclid=IwAR0edPe2ZpTfuJ7wGsq-Ius15OxY_S4Sd2sxsm5Iw_UPrhv4XpzXhElmOvE

https://www.theguardian.com/world/2021/nov/10/myanmar-court-jails-two-aung-san-suu-kyi-allies-for-165-years?fbclid=IwAR3_1CH7a20ousSHs9Z5VKYsdP2fq4PTnZQhAJFBix7x_Ojg-JV5n47lvRE

https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmar-juntas-new-cyber-law-to-jail-anyone-using-vpn.html

https://www.irrawaddy.com/news/burma/junta-insider-wins-myanmar-migrant-contract-in-thailand.html

https://www.reuters.com/business/media-telecom/us-journalist-fenster-sentenced-11-years-jail-myanmar-lawyer-2021-11-12/

https://totalenergies.com/media/news/press-releases/totalenergies-withdraws-myanmar

Tags: , , , , , , , , , ,