ใครๆ ก็รู้ว่าประชาธิปไตยในเมียนมายังไม่เคยปลอดจากคราบทหาร แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่ากองทัพพม่าจะ ‘ล้มกระดาน’ หวนคืนสู่วิธีการแบบโลกใบเก่าอีกครั้ง

1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เปิดฉากต้นฤดูกาลใหม่ด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) นำโดยนางอองซานซูจี ที่เพิ่งจะชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปีที่แล้วมาหมาดๆ ทั้งที่รัฐสภายังไม่ทันเปิด ประธานาธิบดีก็ยังไม่ได้เลือก

นับตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ชาวเมียนมาไม่จำนนต่ออำนาจเผด็จการ ลงถนนออกมาชุมนุมประท้วงเป็นครั้งแรกที่สี่แยกแลดาน ย่านมหาวิทยาลัยและแหล่งรวมวัยรุ่นเมืองย่างกุ้ง ผ่านมากว่าสองสัปดาห์ ประชาชนทุกชาติพันธุ์ ทุกศาสนา ทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่ม จากหลากหลายอาชีพ ก็ยิ่งออกมาชุมนุมต่อต้านการยึดอำนาจโดยไม่ชอบธรรมครั้งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการทำอารยะขัดขืน หรือ Civil Disobedience Movement อย่างพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศต่อเนื่องแม้กองทัพจะสั่งห้าม รวมถึงใช้ความรุนแรงกระจายไปทั่วหย่อมหญ้าทั้งกลางวันและกลางคืน 

แต่การต่อสู้ในต้นฤดูร้อนของประชาชนผู้ไม่รักในอำนาจเผด็จการได้เริ่มขึ้นแล้ว

รัฐบาลรัฐประหารกับ ‘อำนาจอันชอบทำ’

นับตั้งแต่เมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1948 จวบจนปัจจุบัน การเมืองเมียนมามีความผันผวนมาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีวันไหนที่ประเทศแห่งนี้ปราศจากเสียงปืนและคาวคลุ้งของเลือดเนื้อเพื่อนร่วมชาติ อาจจะนับได้ว่า เมียนมาเป็นประเทศที่มีสงครามกลางเมืองต่อเนื่องมายาวนานมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ วันดีคืนดีบางทีเสียงปืนก็ดังขึ้นตามแนวชายแดนฝั่งซ้ายของไทยราวกับอยู่ในฉากหนังสงคราม

แม้เมียนมาจะมีการเจรจาสันติภาพ (Myanmar’s Peace Process) มาแล้วหลายครั้ง มีการลงนามหยุดยิง (Nationwide Ceasefire Agreement: NCA) กับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ มาแล้วหลายครา แต่ทุกคนในประเทศก็รู้ดีว่ามันก้าวไปได้ไม่ไกลนัก ตราบใดที่ประชาธิปไตยในประเทศยังเป็นเพียงเปลือกที่ห่อหุ้มอำนาจทหาร หน่วยงานที่มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมาร่วมสมัยมาโดยตลอด

กองทัพเมียนมาสมัยใหม่ ถือกำเนิดขึ้นมาในฐานะของกองทัพกู้เอกราช (Burma Independence Army: BIA) เพื่อทำสงครามกู้อิสรภาพ ก่อนที่จะได้รับเอกราชจากอังกฤษ ทำให้กองทัพเกิดความภาคภูมิใจ เปรียบตัวเองเสมือนกับผู้พิทักษ์ค้ำจุนรัฐที่เข้ามากู้วิกฤติบ้านเมือง และมีความชอบธรรมในการเข้ามาปกครองประเทศ อีกทั้งยังเชื่อในอุดมการณ์และบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ที่เข้ามาขับเคลื่อนการเมืองว่าเป็นการเมืองเพื่อชาติ (National Politics) โดยเน้นผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ในขณะที่การเมืองเพื่อพรรค (Party Politics) ที่ขับเคลื่อนโดยนักการเมืองนั้น เน้นแต่ผลประโยชน์ของพวกพ้อง

ด้วยมโนทัศน์ดังกล่าว จึงถูกกองทัพนำมาใช้เป็นเหตุผลหลักอีกครั้งในการก่อรัฐประหารเมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ออกแถลงการณ์ผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ และอ้างความชอบธรรมของการยึดอำนาจครั้งนี้ว่ามาจากการทุจริตการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ชัยชนะของพรรคเอ็นแอลดี นั้นไม่โปร่งใส กองทัพจึงจำเป็นต้องเข้ามาจัดระเบียบบ้านเมืองใหม่ตามกลไกกฎหมายรัฐธรรมนูญ

โดยในบทที่ 11 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ที่ใช้ในปัจจุบัน ระบุว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการประกาศสภาวะฉุกเฉินอันเป็นผลจากการที่สหภาพต้องขาดเอกภาพ ความสามัคคีของคนในชาติต้องถูกทำลายและอธิปไตยขาดความมั่นคงหรือสุ่มเสี่ยงต่อการแตกสลายของประเทศชาติ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสามารถก้าวเข้ามามีอำนาจในการบริหารปกครองรัฐแทนที่รัฐบาลพลเรือนเพื่อนำพาความสงบเรียบร้อยกลับคืนสู่สหภาพ…โดยผบ.สส. ต้องนำรัฐกลับคืนสู่สภาวะปกติ หรืออาจขยายเวลาหากยังไม่สามารถจัดระเบียบการปกครองตามกรอบเวลาเดิมได้ (ขยายได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน) …โดยเมื่อใดก็ตามที่เหตุการณ์ต่างๆ กลับเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยดังเดิม สภาความมั่นคงและป้องกันแห่งชาติจะประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศเพื่อสถาปนารัฐสภาและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จนเมื่อมีการก่อรูปของสถาบันต่างๆ เป็นที่เรียบร้อย อำนาจจึงถูกถ่ายโอนไปสู่ประธานาธิปดีและสถาบันการเมืองต่างๆ ตามแบบปกติ (ดุลยภาค ปรีชารัชช, 2563)

เมียนมามีการรัฐประหารไปแล้ว 4 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 3 ฉบับ (ในขณะที่ไทยมีรัฐประหาร 13 ครั้ง และมีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ) เกินกว่าครึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ที่ได้รับเอกราชจากการใช้อำนาจเผด็จการของทหารปกครองประเทศ มีการกดขี่ข่มเหงประชาชน ละเมิดสิทธิมนุษยชน และปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

กองทัพเคยใช้กำลังอาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งสำคัญใน ‘เหตุการณ์ 8888’ ที่นักศึกษาและประชาชนลุกฮือขึ้นมาประท้วงครั้งใหญ่ทั่วประเทศในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 นอกจากมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตไปหลายพันคน ประชาชนต้องอพยพลี้ภัยหนีออกนอกประเทศ และมีนักโทษการเมืองถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก เพียงแค่วิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านอำนาจอธรรมอย่างสันติ และในปี 2564 นี้ กองทัพก็ใช้ ‘อำนาจที่ชอบทำ’ อีกครั้ง

อาวุธปิดปาก จากกฎหมายสู่ห้องขัง

ไม่ใช่แค่ปืนหรือยุทโธปกรณ์ ที่ถูกนำมาใช้พิพากษาคนเห็นต่าง แต่ภายใต้การปกครองโดยทหาร การควบคุมความคิด และจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชนผ่านตัวบทกฎหมายในเมียนมา ก็เป็นไปอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะกับคนที่วิพากษ์วิจารณ์กองทัพและรัฐบาล 

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (The Assistance Association for Political Prisoners: AAPP) ระบุว่า ในปี 2551 หลังจากเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติจีวร (Saffron Revolution) ปี 2550 ที่นำโดยกลุ่มพระสงฆ์ มีจำนวนนักโทษการเมืองมากถึง 2,162 ราย และตั้งแต่ปี 2559 ที่รัฐบาลพลเรือนพรรคเอ็นแอลดีได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และมีการประกาศให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งหลายฝ่ายมีความหวังว่าสถานการณ์การกำจัดและจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ความเป็นจริงแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

จากการเก็บข้อมูลและให้คะแนนเสรีภาพการแสดงออกในเมียนมา โดยสมาคมนักเขียนสากล (PEN International) ในปี 2562 เมียนมาได้เพียง 6 คะแนน จาก 60 คะแนน และในรายงานครึ่งปี 2562 ของ Progressive Voice Myanmar พบว่ามีการใช้กฎหมายปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกมากมายหลายมาตรา โดยกฎหมายที่มักถูกหยิบยกมาใช้บ่อย ได้แก่

กฎหมายโทรคมนาคม มาตรา 66(d) (Telecommunications Law Section 66(d)) 

ในกฎหมายโทรคมนาคม มาตรา 66(d) ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำการข่มขู่ คุกคาม ขัดขวาง หมิ่นประมาท รบกวน ครอบงำหรือก่อให้เกิดความหวาดกลัวอย่างไม่เหมาะสม จะมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี เป็นกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ปิดปากสื่อและประชาชนไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและกองทัพอย่างบ่อยครั้ง และมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ง่ายมาก หลังจากที่ชาวเมียนมาสามารถเข้าถึงโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตได้ทั่วถึงขึ้น จากข้อมูลของ Progressive Voice Myanmar พบว่าในระยะเวลา 6 เดือนของต้นปี 2562 มีผู้ต้องหาคดีนี้มากถึง 40 ราย ส่วนมากเป็นความผิดมาจากการวิพากษ์วิจารณ์นักการเมือง เช่น อู่ อาวน์ ซาน อู นักเคลื่อนไหวที่วิพากษ์วิจารณ์สมาชิกรัฐสภาในสื่อออนไลน์ต้องโทษจำคุกถึง 2 ปี หรือ บรรณาธิการสำนักข่าว Myanmar Now ก็ถูกแจ้งข้อหานี้จากการรายงานข่าวแถลงการณ์ของพระวีระธู และหลายคนเพียงแค่แสดงความคิดเห็นที่ต่างไปจากรัฐก็ถูกดำเนินคดีราวกับก่ออาชญากรรมร้ายแรง

กฎหมายการชุมนุมและสมาคมอย่างสันติวิธี (Peaceful Assembly and Peaceful Procession Law)

กฎหมายข้อนี้เป็นกฎหมายสำคัญมากที่มักจะถูกนำมาใช้ปิดปากนักเคลื่อนไหวและผู้ชุมนุมในเมียนมา แม้จะมีบทลงโทษจำคุกสูงสุดเพียง 6 เดือน ไม่หนักเท่ากฎหมายมาตราอื่น แต่รายละเอียดในตัวบทกฎหมายมีความคลุมเครือ ทำให้มีการตีความได้หลากหลาย จึงถูกเจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้เป็นเครื่องมือห้ามคิดต่างได้ง่าย ที่ผ่านมาในครึ่งปี 2562 มีผู้ต้องหาคดีนี้ 43 ราย ส่วนมากเป็นนักเคลื่อนไหวเยาวชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิชาติพันธุ์ โดยเฉพาะเยาวชนชาวคะเรนนี (กะเหรี่ยงแดง) ที่ออกมาต่อต้านการสร้างอนุสาวรีย์นายพลอองซานที่รัฐกะยาห์

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 505(a) และ 505(b) (Penal Code Sections 505(a) and 505(b))

ในประมวลกฎหมายอาญาข้อนี้ระบุว่า ผู้ใดผลิต เผยแพร่ หรือกระจายข้อความ ข่าวลือ หรือรายงานใดๆ ตามมาตรา 505(a): ด้วยเจตนาให้หรืออาจทำให้เจ้าหน้าที่ ทหารบก ทหารเรือ หรือทหารอากาศในกองทัพต้องฝ่าฝืนคำสั่ง เพิกเฉย หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือตามมาตรา 505(b): ด้วยเจตนาให้หรืออาจทำให้สาธารณชนเกิดความหวาดกลัว หรือตระหนกตกใจ เป็นเหตุชักจูงให้บุคคลกระทำความผิดต่อรัฐหรือความสงบเรียบร้อย จะต้องได้รับโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ 

โดยทั้ง 2 มาตรานี้มักถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามอย่างบ่อยครั้ง ที่ผ่านมาในครึ่งปี 2562 มีการฟ้องร้องจากรัฐบาล 3 คดี จากกองทัพ 7 คดี และจากพรรคเอ็นแอลดี 1 คดี หรือจากการออกมาประท้วงรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2564 นี้ก็มีผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้เป็นอันดับต้นๆ ในบรรดาข้อหาอื่นๆ 

กฎหมายการรวมตัวอย่างผิดกฎหมาย มาตรา 17(1) และ 17(2) (Unlawful Association Act Sections 17(1) and 17(2))

มาตรา 17(1) ระบุว่า ผู้ใดก็ตามที่เข้าร่วมการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีส่วนร่วมในการชุมนุมดังกล่าว หรือมีส่วนให้หรือรับหรือเรียกร้องเงินบริจาคใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ของการรวมตัวดังกล่าว จะต้องได้รับโทษจำคุก (ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 2 ปี และไม่เกิน 3 ปี และต้องโทษปรับด้วย) และในมาตรา 17(2) ระบุว่า ระบุว่าผู้ใดก็ตามที่จัดหรือช่วยจัดการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือสนับสนุนหรือช่วยสนับสนุนการชุมนุมดังกล่าว หรือเป็นสมาชิกใดๆ ของผู้จัดการชุมนุมดังกล่าว จะต้องได้รับโทษจำคุก (ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่เกิน 5 ปี และต้องโทษปรับด้วย) 

กฎหมายข้อนี้ถูกนำมาใช้ปิดกั้นการแสดงออกของผู้ชุมนุมและผู้ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังชาติพันธุ์ เช่นก่อนหน้านี้มีผู้ถูกดำเนินคดีเนื่องจากปล่อยบอลลูนที่มีรูปใบหน้าผู้นำกองทัพอารกัน (Arakan Army: AA) ในรัฐยะไข่

กฎหมายความลับราชการ (Official Secrets Act)

กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่มีมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม มีบทลงโทษผู้ที่รับ/เผยแพร่เอกสารราชการ หรือเข้าใกล้/เข้าไปในสถานที่ต้องห้าม โดยในมาตรา 3(1)(c) มีการกำหนดความผิดของการสอดแนมไว้อย่างกว้างๆ รวมถึงการทำเอกสาร ใบเสร็จ หรือติดต่อสื่อสารใดๆ ที่คาดการณ์ได้ว่า อาจจะหรือมีเจตนาที่เป็นประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อศัตรู จะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 14 ปี ที่ผ่านมามีคดีที่โด่งดังมากคือการดำเนินคดีนักข่าวรอยเตอร์ส วะ โลน กับ จ่อ โซ อู เมื่อปี 2560 เนื่องจากเผยแพร่ข่าวที่กองทัพพม่าสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่

และโดยเฉพาะในสถานการณ์ไม่ปกติล่าสุด ที่กองทัพหวนกลับมายึดอำนาจเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ก็ยิ่งทำให้สิทธิเสรีภาพทางความคิดของประชาชนน่าวิตกมากขึ้น เพราะนอกจากกองทัพจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี อ้างตามอำนาจกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปิดกั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็มีการออกคำสั่งห้ามสื่อมวลชนใช้คำว่า ‘รัฐบาลรัฐประหาร’ ตามกฎหมายสื่อ มาตรา 9 และกฎหมายการพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ มาตรา 8 และมีการระงับใช้กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของพลเมือง (Privacy and Security of Citizens) มาตรา 5,7,8 ที่เปิดช่องให้รัฐสามารถจับกุม ติดตาม ตรวจค้นบ้านหรือที่ทำงาน เข้าถึงข้อมูลการสื่อสาร หรือควบคุมตัวประชาชนได้เกิน 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องมีหมายศาล เพื่อมาควบคุมและจัดการคนที่ออกมาประท้วง 

ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (AAPP) ระบุว่า มีตัวเลขผู้ถูกจับกุมล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1-19 กุมภาพันธ์ 2564 มากถึง 546 ราย และในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา นอกจากกองทัพจะเริ่มใช้กฎหมายมาเป็นอาวุธปิดกั้นและจับกุมผู้ชุมนุม ก็เริ่มมีการใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ออกมาประท้วงมากขึ้น ทั้งทุบตี วางเพลิง ใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และกระสุนจริง จนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ล่าสุด ‘มยะ ตแวะ ตแวะ ข่ายน์’ เยาวชนหญิงวัย 20 ปี ที่ออกมาชุมนุมอย่างสันติในเนปิดอว์ก็ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเข้าศีรษะเสียชีวิต นับเป็นรายแรกที่สังเวยลมหายใจให้กับรัฐประหารครั้งนี้ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ยิงประชาชนที่มัณฑะเลย์เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกหลายราย

แล้วทำไม เราต้องถูกจับ ถูกทำร้าย ถูกบังคับให้สูญหาย ถูกพรากลมหายใจ เพียงเพราะอยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นความเท่าเทียม อยากเห็นความยุติธรรม อยากมีอิสระ เสรีภาพในการแสดงออก ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ และไม่รัก

ไม่จำนนจนกว่าโลกสลาย

บันทึกประวัติศาสตร์ที่จารึกไว้ด้วยเลือดของเรา

การปฏิวัติ

โอ้ บรรดาวีรชนที่เสียชีวิตไปในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเอ๋ย

ประเทศที่มีเหล่าผู้ยอมสละชีพสถิตอยู่

เหล่าประชาชนผู้กล้าหาญ

เลือดของพี่น้องที่เปื้อนบนถนน ยังไม่แห้ง 

อย่าลังเล ที่จะต่อต้านอย่างแข็งขันและพร้อมเพรียง 

โอ้ ดังวีรชนที่เสียชีวิตไปในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

(เนื้อเพลงแปล  ‘กะบ่า มะเจ่ บู’ จากเพจเฟซบุ๊ก Easy Burmese)

แด่หัวใจของประชาชนผู้กล้าหาญ

 

เอกสารอ้างอิง

ดุลยภาค ปรีชารัชช. 2563. เมียนมา การเมืองการปกครองระยะเปลี่ยนผ่าน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 

https://aappb.org/?p=13185

https://aappb.org/?p=328

https://pen-international.org/app/uploads/PEN_2019-Scorecard-English.pdf

https://prachatai.com/journal/2016/04/65127

https://bit.ly/3bAUi2x

https://www.hrw.org/report/2562/01/31/dashed-hopes/criminalization-peaceful-expression-myanmar

https://www.facebook.com/EasyBurmese/photos/pcb.3629828687065956/3629822783733213/

Tags: , , , , , ,