เช้ามืดของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพพม่าภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ทำการก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลอองซานซูจี โดยให้เหตุผลในการรัฐประหารว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นมีการกระทำทุจริตหรือ ‘โกงเลือกตั้ง’ ขึ้น1 จากนั้นพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก็ออกมาเปิดใจว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเมียนมาเป็นไปตามการเรียกร้องของหลายฝ่าย และเป็นการดำเนินการที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงตัดสินใจก่อรัฐประหาร2 หลังจากนั้น ประชาชนทั้งในประเทศเมียนมาและประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างประเทศไทย รวมถึงตัวแทนจากประเทศประชาธิปไตยในประชาคมโลก3 ต่างก็ตบเท้าออกมาต่อต้านและประณามการกระทำอันเป็นการทำลายประชาธิปไตยของกองทัพพม่า (Tatmadaw) ตรงกันข้ามกับคนจำนวนหนึ่งและประเทศอำนาจนิยมบางประเทศ4 ที่ได้แสดงท่าทีในลักษณะว่า คนอื่นๆ ในฐานะบุคคลภายนอก ‘ไม่ควรไปยุ่งกิจการภายในของเมียนมา’5 

คำถามคือ จริงหรือ ที่เราไม่ควรแสดงท่าทีไม่พอใจ ประณาม หรือต่อต้านการรัฐประหาร รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพพม่า และการสนับสนุนประชาชนชาวเมียนมาที่ออกมาต่อต้านไม่ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารเป็นเรื่องที่ผิด เพราะเป็นเรื่อง ‘กิจการภายใน’ ของรัฐอื่น ?

บรรทัดฐานใหม่ภายใต้ ‘หลักการความรับผิดชอบในการคุ้มครอง’ (Responsibility to Protect)

การสร้างระเบียบโลกที่มนุษย์ทุกคนได้รับการคุ้มครองสิทธิในการมีชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน อาจเปรียบเป็นเป้าหมายในอุดมคติของใครหลายคน ทว่าการไปถึงเป้าหมายเช่นว่านั้น ต้องปะทะกับบรรทัดฐานในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเดิม ที่รัฐทุกรัฐต้องยึดเอาหลักการเคารพอำนาจอธิปไตย โดยไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของประชาคมโลกที่ได้ร่วมกันพัฒนา ‘หลักการความรับผิดชอบในการคุ้มครอง’ เพื่อเป็นบรรทัดฐานขึ้นมาใหม่6

หลักการความรับผิดชอบในการคุ้มครอง หรือหลัก R2P ถือเป็นบรรทัดฐานอย่างหนึ่งที่กำหนดสิทธิหน้าที่ของแต่ละรัฐในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อแสวงหาฉันทามติร่วมกันหรือการหาแง่มุมใหม่ๆ ในประเด็นการแทรกแซงด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Intervention)7 เพื่อแก้ไขปัญหาความล้มเหลวเกี่ยวกับการป้องกันการกระทำอันมีลักษณะทารุณโหดร้ายต่อมนุษย์ 4 ประเภท ได้แก่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การกำจัดชาติพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม และการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ8 ซึ่งผลเสียที่ตามมาก็คือความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่าได้ และความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง หลัก R2P จะเน้นย้ำเรื่อง ‘ความรับผิดชอบรัฐ’ ที่จะต้องปกป้องประชาชนของตนจากความรุนแรง และความสูญเสียอันเกิดจากอาชญากรรม ทั้ง 4 ประเภทข้างต้น โดยไม่ให้นำหลักการเรื่องอำนาจอธิปไตย และหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐ มาใช้เป็นข้ออ้างหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้อีกต่อไป

ปี 2005 ณ ที่ประชุมสหประชาชาติ ผู้นำจากประเทศและรัฐบาลทั่วโลกได้ให้ความเห็นชอบและให้การรับรองหลักการ R2P อย่างเป็นทางการครั้งแรก ดังที่ปรากฏในเอกสารผลการประชุมสุดยอดผู้นำ (World Summit Outcome Document) ในย่อหน้าที่ 138-140 ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้เป็นเสาหลัก 3 ประการดังนี้9

1. รัฐแต่ละรัฐมีความรับผิดชอบเบื้องแรกในการปกป้องคุ้มครองประชาชนของตนจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การกำจัดชาติพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม และการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ

2. ประชาคมระหว่างประเทศมีความรับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือรัฐเพื่อให้ทำหน้าที่ดังกล่าว และ

3. ในกรณีที่รัฐได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ไม่สามารถและ/หรือไม่เต็มใจที่จะให้การปกป้องและคุ้มครองพลเมืองของตนจากอาชญากรรมทั้งสี่ประการนั้นได้ ประชาคมระหว่างประเทศมีความรับผิดชอบร่วมกันในการรับภาระหน้าที่ดังกล่าวโดยไม่ลังเลและอย่างทันการ โดยยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ

แม้ว่าหลักการ R2P จะไม่ได้ก่อให้เกิดผลผูกพันใหม่ในทางกฎหมาย แต่มีองค์ประกอบอันเป็นพันธกรณีทางการมืองที่ผูกพันประชาคมระหว่างประเทศที่มีความเชื่อมโยงกัน 3 ประการคือ ความรับผิดชอบในการป้องกัน ความรับผิดชอบในการดำเนินการตอบโต้ และความรับผิดชอบในการฟื้นฟูเยียวยา ส่งผลให้การเข้าแทรกแซงด้วยกำลังอาวุธ (แม้ในฐานะมาตรการท้ายสุด) โดยได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อยับยั้งการทำลายชีวิตประชาชนจำนวนมาก เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ซึ่งด้วยเหตุดังกล่าว ‘หลักอำนาจอธิปไตย’ จึงไม่ได้หมายความว่า รัฐมีใบอนุญาตฆ่า (Kill License) หรือรัฐจะกระทำอย่างไรก็ได้ต่อประชาชนของตัวเอง10

การต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐ ไม่ใช่การยุ่งเรื่องกิจการภายใน

ดังนั้น การเรียกร้องให้รัฐใดก็ตาม เคารพสิทธิมนุษยชนพื้นฐานและเสรีภาพของประชาชน ย่อมไม่ใช่การยุ่งเรื่องกิจการภายในของรัฐอื่นโดยมิชอบ และขณะเดียวกันยังเป็นการเรียกร้องให้รัฐนั้นต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติอีกด้วย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเกิดกรณีที่รัฐใดรัฐหนึ่งได้กระทำการอันเป็นอาชญากรรมร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติ เช่น การฆ่าคนตายโดยเจตนา การบังคับให้สูญหาย การซ้อมทรมาน การจำคุก หรือการลิดรอนเสรีภาพในร่างกายโดยการละเมิดหลักการพื้นฐานของกฎหมาย ที่เป็นการโจมตีโดยตรง กว้างขวาง หรือเป็นระบบ ไม่ว่าเหยื่อความรุนแรงจะอยู่สังกัดรัฐใดก็ตาม ย่อมไม่ได้หมายความว่า การที่ผู้นำรัฐอื่นๆ หรือคนที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่ออกมาประณาม ต่อต้าน กล่าวโจมตี ผู้ก่ออาชญากรรมเหล่านั้น จะเป็นการ ‘ยุ่งเรื่องกิจการภายใน’ หากแต่เป็นการขอให้รัฐนั้นปฏิบัติตามภาระหน้าที่ที่มีอยู่แล้วในทางกฎหมาย และจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐทุกแห่งมีพันธะกรณีร่วมกัน

ที่สำคัญ ปัจเจกบุคคลอาจไม่สามารถที่จะเข้าไปหยุดยั้งความรุนแรงได้ด้วยมือตัวเอง แต่จากการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ได้แปรเปลี่ยนให้การสื่อสารและการเผยแพร่ข้อมูลบนโลกไร้พรมแดนอย่างโลกสื่อสังคมออนไลน์ กลายเป็นอาวุธที่ทรงพลานุภาพอย่างยิ่งของผู้คนในสังคมโลก เพื่อใช้ในการต่อต้านประณาม และต่อสู้กับ ‘ความอยุติธรรม’ หรือการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐอำนาจนิยม

“ความอยุติธรรมไม่ว่าเกิดขึ้นที่ไหน ก็เป็นภัยคุกคามความยุติธรรมทุกหนทุกแห่ง”

คำกล่าวที่ว่า “ความอยุติธรรมไม่ว่าเกิดขึ้นที่ไหน ก็เป็นภัยคุกคามความยุติธรรมทุกหนทุกแห่ง” (Injustice anywhere is a threat to justice everywhere) ของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)11 นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองแก่ชาวแอฟริกัน-อเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ คงเป็นประโยคสำคัญที่สะท้อนถึงหน้าที่ และพันธะของมนุษย์ทั่วทุกแห่งในการต่อสู้ ต่อต้าน ไม่ยอมรับ อำนาจแห่งการกดขี่และ ‘ความอยุติธรรม’ ไม่ว่าจะเกิดขึ้น ณ ที่ใดก็ตาม เพราะเมื่อไหร่ที่เห็นความอยุติธรรมปรากฏตรงหน้า แต่กลับเลือกเพิกเฉยหรือทำเป็นไม่รับรู้ วันหนึ่ง ความอยุติธรรม ความวิปริตและอาการบิดเบี้ยวเหล่านั้น ย่อมต้องส่งผลสะเทือนไปถึงชีวิตของมนุษย์ทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือ เนื่องจากมนุษย์ทุกคนล้วนอยู่ในเครือข่ายทางอารมณ์ ความรู้สึก และจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ร่วมกัน ความอยุติธรรมใดที่ส่งผลต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยตรง ย่อมส่งผลไปยังทุกคนทางอ้อมไปด้วย12

ดังนั้น การออกมาเรียกร้องความยุติธรรม ปกป้องประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพประชาชนในประเทศเมียนมา ของผู้คนต่างแดนในฐานะที่เป็นพลเมืองโลกร่วมกัน และเป็นมนุษย์เหมือนกัน จึงไม่ถือเป็นสิ่งผิด กล่าวในอีกแง่หนึ่ง การเคลื่อนไหวเรียกร้องที่กำลังดำเนินอยู่ ไม่ว่าจะในประเทศเมียนมา ประเทศไทย หรือโลกออนไลน์ ล้วนเป็นนัยยะแห่งการต่อสู้และการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ของมนุษย์ทั้งสิ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ของคนเมียนมาเท่านั้น แต่เป็นเพื่อสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ทุกคน

 

 

อ้างอิง

1 สำนักข่าวบีบีซีไทย, รัฐประหารเมียนมา : กระบอกเสียงกองทัพยืนยัน ผบ. สูงสุด เข้ารักษาอำนาจรัฐแล้ว, 1 กุมภาพันธ์ 2564, บีบีซีไทย, https://www.bbc.com/thai/55882563 (สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564)  

2 สำนักข่าวเวิร์คพอยท์ทูเดย์, ‘มิน อ่อง หล่าย’ เปิดใจครั้งแรก หลังทำรัฐประหารเมียนมา ชี้รัฐประหารเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้, 3 กุมภาพันธ์ 2564, เวิร์คพอยท์ทูเดย์, https://workpointtoday.com/min-public-coup/ (สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564)

3 ประชาไท, โจ ไบเดน แถลงประณามรัฐประหารพม่า เรียกร้องทั่วโลกกดดันกองทัพลงจากอำนาจ, 3 กุมภาพันธ์ 2564, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2021/02/91496 (สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564)

4 ไทยรัฐ, อินโดฯ วอนกองทัพพม่าปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียน หลังก่อรัฐประหาร คุมตัวซูจี, ไทยรัฐออนไลน์1 กุมภาพันธ์ 2564, https://www.thairath.co.th/news/foreign/2023865 (สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564)

5 เพจ Look Myanmar, ณ จุดนี้ แอดขอบอกครับ อย่ามายุ่ง นี่มันกิจการภายในของพม่า ไม่ใช่ไทย โปรดแยกแยะด้วยเพราะพวกคุณกำลังสร้างปัญหาระหว่างประเทศ คนแบบพวกคุณไม่ได้อยู่ในพม่าเวลามีปัญหาไม่ใช่พวกคุณได้รับผลกระทบ ดังนั้นอย่าสร้างเรื่องสร้างปัญหา เพราะพวกคุณไม่ใช่คนสัญชาติเมียนมาร์, 1 กุมภาพันธ์ 2564, เฟซบุ๊คแฟนเพจ, https://www.facebook.com/lookmyanmar/photos/a.671691416232352/3669735869761210/

6 ปราณี ทิพยรัตน์, หลักการความรับผิดชอบในการปกป้อง (R2P) จากแนวคิดสู่การสร้าง “บรรทัดฐานใหม่” ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, รัฐคดีวิถีโลก ที่ระลึกเนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการ ศาสตราจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู, ใน วรศักดิ์ มหัทธโนบล (บรรณาธิการ), (กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553), หน้า 173 – 187.

7 เรื่องเดียวกัน, หน้า 173.

8 เรื่องเดียวกัน, หน้า 175 – 176.

9 เรื่องเดียวกัน, หน้า 176 – 177.

10 เรื่องเดียวกัน, หน้า 177.

11 King, Martin Luther Jr., Letter from a Birmingham Jail [King, Jr.] African Studies Center University of Pennsylvania, https://www.africa.upenn.edu/Articles_Gen/Letter_Birmingham.html

12 Ibid.

สำนักข่าวบีบีซีไทย, รัฐประหารเมียนมา : กระบอกเสียงกองทัพยืนยัน ผบ. สูงสุด เข้ารักษาอำนาจรัฐแล้ว, 1 กุมภาพันธ์ 2564, บีบีซีไทย, https://www.bbc.com/thai/55882563 (สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564)

Tags: , ,