ในการแสดงออกทางการเมือง การละเมิดกฎหมายเพื่อแสดงการประท้วงหรือต่อต้านความไม่เป็นธรรม หรือแสดงออกเพื่อกดดันให้รัฐเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางการเมืองที่เต็มไปด้วยการกดขี่ แบ่งแยก เอารัดเอาเปรียบ อย่างสงบไร้ความรุนแรง (เป็นส่วนใหญ่) นั้นมีชื่อเรียกว่า “การดื้อแพ่ง” หรือ “อารยะขัดขืน” (Civil Disobedience) ซึ่งแสดงออกด้วยการที่ประชาชนแสดงการไม่ยอมรับและไม่เชื่อฟังต่ออำนาจรัฐ แนวทางการเคลื่อนไหวเช่นนี้ถูกใช้ในหลายแห่งทั่วโลก
แนวคิดนี้ ริเริ่มโดยนักเขียนชาวอเมริกัน เฮนรี เดวิด ทอโร (Henry David Thoreau) ที่เขียนความเรียง Resistance to Civil Government (Civil Disobedience) ในปี 1849 ที่กล่าวว่า การต่อสู้กับรัฐนั้น ประชาชนไม่จำเป็นต้องต่อสู้ทางกายภาพ แต่พวกเขาต้องไม่ให้การสนับสนุน หรือไม่รับการสนับสนุนจากรัฐ (ที่เขาไม่เห็นด้วย) โดยตัวทอโรเอง ก็ทำการต่อต้านในวิธีนี้ด้วยการไม่ยอมจ่ายภาษี เพื่อเป็นการประท้วงระบบทาสและสงครามเม็กซิกันอเมริกัน
เพื่อแสดงออกถึงการไม่ยอมรับอำนาจรัฐ ผู้ประท้วงอาจเลือกการฝ่าฝืนกฎหมายบางอย่าง (ที่พวกเขาเห็นว่าไม่ชอบธรรม) เช่น การกีดขวางทางสัญจร เข้ายึดครองสถานที่ราชการ องค์กร หรือสถาบันต่างๆ อย่างผิดกฎหมาย โดยคาดหวังว่าจะถูกจับกุม หรือแม้แต่ถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และจะไม่ตอบสนองกลับด้วยความรุนแรง
ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านอังกฤษในประเทศอินเดียของมหาตมะ คานธี หรือการต่อสู้กับการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ รวมถึงการเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองของอเมริกาและยุโรป รวมถึงการต่อต้านการยึดครองของนาซี ของประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย
บ่อยครั้งที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือในการกระทำอารยะขัดขืนเหล่านี้อย่างทรงประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานศิลปะในเชิงสื่อสารมวลชนอย่าง ป้าย ภาพสัญลักษณ์ โปสเตอร์ หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อถึงสารหรือประเด็นที่เฉพาะเจาะจง เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนมวลชน การชุมนุมทางการเมือง และการประท้วงหรือเดินขบวน
งานศิลปะประเภทนี้โดยส่วนใหญ่มักจะใช้ภาพ สัญลักษณ์ หรือถ้อยคำที่สั้น กระชับ แต่สื่อความหมายอย่างชัดเจนและทรงพลังเพื่อแสดงถึงจุดยืนทางการเมืองและสร้างความรู้สึกร่วมให้กับผู้ร่วมชุมนุม
ยกตัวอย่างเช่นป้าย I AM A MAN ที่ถูกใช้ในการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง และต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวของคนผิวดำหลายต่อหลายครั้ง
เดิมที ประโยคนี้คือคำประกาศสิทธิพลเมือง ที่ถูกใช้เป็นแถลงการณ์เพื่อสิทธิเสรีภาพและต่อต้านการกดขี่ข่มเหงของคนผิวดำ
ในประวัติศาสตร์ ประเทศอย่างแอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกา คำว่า boy (เด็กชาย) นั้นเป็นคำหยาบคายที่เหล่าผู้เหยียดผิวใช้เรียกคนผิวดำและทาส ในการแสดงถึงสถานภาพของคนเหล่านั้นที่มีความต่ำต้อยกว่าความเป็น ‘คน’ หรือ ‘มนุษย์’ (man)
ในทางกลับกัน ประโยคว่า “Am I Not A Man And A Brother?” (ฉันมิใช่มนุษย์และพี่น้องของคุณหรอกหรือ?) กลายเป็นวลีติดปากที่ใช้กันแพร่หลายในหมู่ผู้รณรงค์ให้เลิกทาสชาวอังกฤษและอเมริกัน
ในปี 1787 โจไซยา เว็ด์จวูด (Josiah Wedgwood) ออกแบบเหรียญให้กับการรณรงค์เพื่อต่อต้านการมีทาสของอังกฤษ เขาคัดลอกจากดีไซน์ต้นฉบับของสมาคมต่อต้านการค้าทาสของอังกฤษ (Society for Effecting the Abolition of the Slave Trade) และทำเป็นรูปนูนต่ำและตัวหนังสือสีขาวกับดำ ภายหลังมันถูกผลิตซ้ำอย่างกว้างขวาง และกลายเป็นประโยคยอดฮิตในการรณรงค์เพื่อความยุติธรรม มนุษยธรรม และสิทธิเสรีภาพ
ประโยค “Am I Not A Man?” ยังถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งในระหว่างการพิจารณาคดี Dred Scott decision คดีของทาสผิวดำที่ฟ้องร้องเพื่อต้องการเป็นอิสระจากนายทาสในศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ในปี 1857
ส่วนป้าย I AM A MAN นั้นถูกใช้เป็นครั้งแรกในการประท้วงหยุดงานของพนักงานทำความสะอาดผิวดำ ที่เมืองเมมฟิส (Memphis Sanitation Strike) รัฐเทนเนสซี ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1968 อันมีต้นเหตุจากการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของนายจ้าง (ซึ่งประโยค I AM A MAN นี้ ดูๆ ไป ก็เหมือนเป็นการตอบคำถามของประโยค Am I Not A Man? ข้างต้นอยู่เหมือนกัน) และเมื่อช่างภาพข่าวชาวอเมริกัน เอิร์นเนสต์ ซี. วิทเธอร์ (Ernest C. Withers) ถ่ายภาพผู้ประท้วงที่ถือป้ายนี้เอาไว้และตีพิมพ์เผยแพร่ ประโยคนี้ก็กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ในปี 1988 เกล็น ไลกอน (Glenn Ligon) ศิลปินคอนเซ็ปชวลชาวอเมริกันผิวดำ ผู้ทำงานศิลปะที่สำรวจประเด็นเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมของเชื้อชาติ ภาษา เพศ และสีผิว ทำการจำลองป้ายนี้ขึ้นมาใหม่ ในรูปแบบของภาพวาดสีน้ำมันที่มีชื่อว่า Untitled (I Am a Man) (1988) โดยเขาวาดประโยค I AM A MAN ด้วยสีดำบนพื้นสีขาว (ตัวหนังสือบนป้ายดั้งเดิมเป็นสีแดง) เพื่อแสดงการรำลึกถึงภาพถ่ายของ เอิร์นเนสต์ วิตเธอร์ ที่เขาเห็นในห้องทำงานของสมาชิกรัฐสภาอเมริกัน ตอนที่เขาเป็นเด็กฝึกงานในสตูดิโอของพิพิธภัณฑ์ในฮาร์เล็ม ในช่วงปี 1980
ภาพวาดภาพนี้นอกจากจะรำลึกถึงการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองในปี 1968 แล้ว มันยังจุดกระแสให้สังคมตระหนักถึงการการกดขี่ข่มเหงและเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างผิวดำที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานในสหรัฐอเมริกา และการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการประท้วงในเมืองเมมฟิส จนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิต (หนึ่งในนั้นเป็นเด็กวัยรุ่นอายุ 16 ปี ที่ถูกยิงด้วยปืนลูกซอง) ในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการลอบสังหาร มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกันผิวดำ ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการประท้วงครั้งนี้ด้วย
ถ้อยคำที่สั้น เรียบง่าย แต่ทรงพลังและแสดงออกถึงความมุ่งมั่นยืนกรานของผู้ประท้วงในครั้งนั้นที่ปรากฏในภาพวาด เป็นเสมือนหนึ่งสัญลักษณ์ของการต่อต้านอย่างสันติของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองอย่างชัดแจ้ง
ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ คำว่า “I Am a Man” ถูกใช้เป็นชื่อหนังสือ ละคร และภาพยนตร์ และเพื่อยืนยันสิทธิของประชาชนในการปฏิบัติด้วยการให้เกียรติและเท่าเทียม ป้าย “I Am a Man” ยังถูกทำขึ้นเป็นภาษาอารบิก (أنا رجل! / Ana Rajul) เพื่อใช้ในการประท้วงอาหรับสปริงอีกด้วย
หรือการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ Bed-Ins For Peace ของ จอห์น เลนนอน และ โยโกะ โอโนะ ในช่วงสงครามเวียดนามกำลังระอุในปี 1969 พวกเขาทำศิลปะการแสดงสด ด้วยการนอนอยู่บนเตียงโรงแรมฮิลตัน ในอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ และโรงแรมควีนเอลิซาเบธ ในมอนทรีออล แคนาดา โดยไม่ไปไหนเป็นเวลาสองสัปดาห์ เพื่อเป็นการแสดงการประท้วงเชิงสัญลักษณ์โดยไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อต่อต้านสงคราม และทดลองหนทางใหม่ๆ ในการเรียกร้องสันติภาพ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการประท้วงแบบ ‘sit-in’ ที่เป็นรูปแบบหนึ่งของการประท้วงโดยไม่ใช้ความรุนแรง ด้วยการที่ผู้ประท้วงเข้าไปนั่งเผชิญหน้าเจ้าหน้าที่รัฐหรือในสถานที่ราชการหรือสถาบันต่างๆ จนกว่าพวกเขาจะถูกขับไล่ จับกุม หรือจนกว่าข้อเรียกร้องของพวกเขาได้รับการตอบสนอง
การแสดงสดของเลนนอนและโอโนะครั้งนั้นถูกบันทึกและทำออกมาเป็นหนังสารคดีในชื่อ Bed Peace (1969) ซึ่งมีให้ชมฟรีในเว็บไซต์ http://imaginepeace.com/ ของโยโกะ โอโนะ
นอกจากนี้ทั้งคู่ยังทำศิลปะเชิงสื่อสารมวลชนในรูปของ การ์ดอวยพรวันคริสต์มาส ที่เขียนข้อความเรียบง่ายด้วยตัวอักษรสีดำบนพื้นขาว ใจความว่า
WAR IS OVER!
IF YOU WANT IT
Happy Christmas from John & Yoko
และทำออกมาทั้งในรูปแบบของโปสการ์ดอวยพร โปสเตอร์ โฆษณาในหนังสือพิมพ์ และบิลบอร์ดขนาดยักษ์ ที่กระจายไปปรากฏในเมืองใหญ่ 12 แห่ง ในสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นเขายังทำออกมาเป็นสปอตโฆษณาทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ เรียกได้ว่าเป็นการรณรงค์เพื่อสันติภาพแบบครบวงจรจริงอะไรจริง!
อนึ่ง หลายๆ คนอาจรู้จัก โยโกะ โอโนะ ในฐานะภรรยาชาวญี่ปุ่นของ จอห์น เลนนอน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เธอคือศิลปินคนสำคัญของกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้าในนิวยอร์กในช่วงยุค 1960s อย่าง ฟลักซัส (Fluxus) ที่มีแนวคิดในการต่อต้านค่านิยมเดิมๆ ของศิลปะ และผสมผสานสื่อและวิธีการแสดงออกทางศิลปะอันหลากหลายและล้ำยุคล้ำสมัยเป็นอย่างยิ่ง
บางครั้ง ภาพการประท้วงหรือต่อต้านเพื่อแสดงการไม่ยอมรับอำนาจรัฐเหล่านี้ ก็ถูกบันทึกเอาไว้ในรูปแบบของงานศิลปะของศิลปินร่วมสมัยในยุคนั้นๆ ในฐานะบันทึกหน้าหนึ่งทางประวัติศาสตร์
ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Birmingham Race Riot (1964) ของ แอนดี้ วอร์ฮอล ที่นำภาพของเหตุการณ์จลาจลในเมืองเบอร์มิงแฮม รัฐอลาบาม่า (Birmingham Race Riot) ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดไคลแมกซ์ของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองของผู้สนับสนุน มาร์ติน ลูเทอร์ คิง โดยผู้ประท้วงที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาผิวดำ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจโจมตีด้วยสุนัขตำรวจและสายฉีดน้ำดับเพลิง และตัวคิงเองก็ถูกจับกุม ภาพข่าวเหตุการณ์อันอื้อฉาวนี้ช็อกคนไปทั่วทั้งอเมริกา และเป็นแรงกระเพื่อมหนึ่งที่ก่อให้เกิดการประกาศกฎหมายสิทธิพลเมืองในปี 1964 (Civil Rights Act of 1964) ที่ควบคุมโอกาสในการจ้างงานที่เท่าเทียมกันในสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา
วอร์ฮอลจำลองภาพนี้ออกมาเป็นภาพพิมพ์ซิลค์สกรีน โดยเปลี่ยนแค่ขนาดและสถานะจากภาพข่าวในสื่อสิ่งพิมพ์ มาเป็นศิลปะภาพพิมพ์ เพื่อแสดงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตสมัยนิยมของคนอเมริกันตามสไตล์ป๊อปอาร์ต และอีกนัยหนึ่งก็เป็นการบันทึกสถานการณ์ทางการเมืองของอเมริกันในรูปแบบของงานศิลปะด้วยท่าทีเหินห่างเย็นชาเป็นอย่างยิ่ง
หรือศิลปินอเมริกัน คริส เบอร์เดน ที่ขอให้เพื่อนยิงตัวเองด้วยปืนไรเฟิล .22 ในผลงาน Shoot (1971) เพื่อเป็นการแสดงปฏิกิริยาต่อต้านสงครามเวียดนาม
หรือผลงาน L.A.P.D. Uniforms (1993) ที่เบอร์เดนทำขึ้นหนึ่งปีหลังจากเหตุการณ์จลาจลที่เมืองลอสแอนเจลิส ในปี 1992 (1992 Los Angeles riots) ซึ่งเกิดขึ้นหนึ่งปีหลังจากเหตุการณ์ที่ตำรวจแอล.เอ สี่นาย ร่วมกันใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในการจับกุมและทำร้ายร่างกาย ร็อดนีย์ คิง (Rodney King) ชายผิวดำในข้อหาขับรถเร็วเกินกำหนด
เหตุการณ์ที่ว่าถูกบันทึกวิดีโอ และนำเอาไปเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ การทารุณกรรมผู้ต้องหาผิวดำที่มีหลักฐานชัดเจนนี้ ถูกจับตาจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและคนผิวดำทั่วประเทศ แต่ในภายหลัง เจ้าหน้าที่ทั้งสี่กลับพ้นผิดจากข้อกล่าวหาทั้งหมด ยังผลให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงปะทุขึ้นทั่วแอล.เอ. ทั้งการจลาจล ปล้มสะดม ลอบวางเพลิง และการต่อต้านแบบอารยะขัดขืนเป็นเวลาหกวัน ก่อให้เกิดความเสียหายและมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่เหตุการณ์นี้ก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของนโยบายของกรมตำรวจแอล.เอ. (LAPD) ในการละเลิกการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและสีผิวมาจนถึงทุกวันนี้
โดยเบอร์เดนทำงานศิลปะจัดวางด้วยการแขวนเครื่องแบบของตำรวจแอล.เอ.ไว้บนผนัง ให้ดูคล้ายกับตุ๊กตากระดาษ โดยให้แขนเสื้อกางออกจนดูคล้ายปีกเครื่องบิน ผลงานชิ้นนี้แสดงถึงพลังอำนาจของภาพจากสื่อมวลชน ที่กลายเป็นหลักฐานและเครื่องมืออันสำคัญของประชาชนในการต่อสู้กับอำนาจอันไม่เป็นธรรม
หรือศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวรัสเซียอย่าง พีเทอร์ ปาฟเลนสกี้ ที่แสดงการประท้วงเชิงสัญลักษณ์และการกระทำอารยะขัดชืน ด้วยการทำงานศิลปะการแสดงสดสุดหวาดเสียวและสุดอื้อฉาว อย่างการเย็บปากของตัวเองจนปิดสนิท เพื่อเป็นการแสดงการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ต่อการที่ Pussy Riot วงดนตรีพังก์ร็อกหญิงล้วนจากมอสโกถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและตัดสินจำคุกจากการแสดงคอนเสิร์ตต่อต้านประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน
หรือการที่เขาเปลือยกายและพันตัวเองด้วยลวดหนาม หรือนั่งเปลือยหน้าสุสานเลนิน ในจัตุรัสแดง แล้วใช้ค้อนตอกตะปูตรึงถุงอัณฑะของตัวเองติดกับพื้นหิน ไปจนถึงการจุดไฟเผาทางเข้าสำนักงานใหญ่ของสำนักงานความมั่นคงกลางของรัสเซีย (FSB) ในกรุงมอสโคว์ เพื่อแสดงการประท้วงระบอบการเมืองของรัสเซีย จนถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมตัวหลายครั้ง
ผลงานศิลปะตามท้องถนนอย่างกราฟฟิตี้ และสตรีทอาร์ต ที่ทำลงบนผนังกำแพงอาคารบ้านเรือน และพื้นที่สาธารณะ ไปจนถึงสถานที่ราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็เป็นลักษณะหนึ่งของการขัดขืนกฎหมายและอำนาจรัฐเช่นกัน อย่างเช่นศิลปินกราฟฟิตี้ชื่อดังชาวอังกฤษสุดลึกลับผู้เป็นที่รู้จักกันในฉายา แบงก์ซี (Banksy)
กับผลงานกราฟฟิตี้เชิงเสียดสีประชดประชัน มืดหม่น ตลกร้าย และการใช้ภาพลักษณ์สะดุดตา ผนวกกับสโลแกนกระแทกใจ ผลงานของเขาแฝงประเด็นทางสังคมการเมือง วิพากษ์วิจารณ์สงคราม ความปลิ้นปล้อนกลับกลอกและโลภโมโทสันของสังคมทุนนิยมอย่างแสบสันต์ ด้วยเทคนิคพ่นสเปรย์แบบสเตนซิล ผลงานของเขาปรากฏอยู่บนท้องถนน ผนัง กำแพง สะพาน อาคาร และที่สาธารณะต่างๆ ทั่วลอนดอน และในอีกหลายแห่งทั่วโลก นอกจากเป็นศิลปินกราฟฟิตี้แล้ว เขายังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองตัวยง และเป็นคนทำหนังอีกด้วย
และที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ ศิลปินชาวจีนผู้ทรงอิทธิพลอย่าง อ้าย เว่ยเว่ย ที่นอกจากจะสร้างสรรค์ผลงานอันโดดเด่นในเวทีศิลปะระดับโลกแล้ว เขายังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนอย่างเผ็ดร้อน ทั้งในประเด็นเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในประเทศจีน จนกลายบุคคลที่ถูกทางการจีนหมายหัวมากที่สุดคนหนึ่ง
นอกจากจะเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติแล้ว การเคลื่อนไหวของเขายังเผื่อแผ่ไปโดยไม่จำกัดอยู่แค่ในประเทศของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย โดยเขาไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่งทั่วโลก และใช้การทำงานศิลปะเป็นเครื่องมือในการรณรงค์เพื่อตีแผ่ประเด็นนี้ให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง อาทิเช่น ในหนังสารคดี Human Flow (2017) ที่เขาใช้เวลานับปี ในกว่า 23 ประเทศ ตามติดเรื่องราวของผู้ลี้ภัยที่แตกกระสานซ่านเซ็นไปทั่วโลก เพื่อมุ่งนำเสนอสถานการณ์อันยากลำบากของเหล่าผู้ลี้ภัยให้โลกได้ตระหนักรู้อีกด้วย
ติดตาม Resistance Art ตอนแรกได้ที่ https://themomentum.co/resistance-art-1/
และติดตามตอนจบได้ในตอนหน้า
ข้อมูล
http://www.seismopolite.com/art-as-civil-disobedience
https://en.wikipedia.org/wiki/Civil_disobedience
https://www.whitney.org/WatchAndListen/718
https://butdoesitfloat.com/I-Am-a-Man
https://en.wikipedia.org/wiki/I_Am_a_Man!
https://en.wikipedia.org/wiki/Memphis_sanitation_strike
https://www.archives.gov/education/lessons/memphis-v-mlk
https://en.wikipedia.org/wiki/Bed-Ins_For_Peace
http://www.tate.org.uk/art/artworks/warhol-birmingham-race-riot-p77809
https://pantip.com/topic/30881543
https://en.wikipedia.org/wiki/Banksy
บทความ WAR IS OVER : ดีไซน์เพื่อสันติภาพ จากหนังสือ ดีไซน์ + คัลเจอร์ ผู้เขียน ประชา สุวีรานนท์ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
Tags: Body Art, Resistance Art, Art and Politic, Civil Disobedience, Pop Art, conceptual art