“กาลครั้งหนึ่ง ชาวบ้านพบหญิงงามลอยน้ำมาติดหน้าหมู่บ้าน พวกเขาช่วยกันพาเธอขึ้นฝั่ง ด้วยความงามและกลิ่นหอมของเธอทำให้ชายหนุ่มต่อสู้แย่งชิงกัน จนเดือดร้อนถึงเจ้าเมืองต้องลงมายุติศึก โดยรับสั่งให้พาเธอไปอาศัยกับฤาษีและนักพรตหญิงทั้ง 12 ในป่าศักดิ์สิทธิ์
วันหนึ่งขณะหญิงงามปีนขึ้นเก็บผลไม้ ให้เผอิญประจำเดือนหยดแรกของเธอตกลงใส่ร่างชายคนหนึ่งผู้มีอาคมแกร่งกล้าที่เดินผ่านมาทางนี้พอดี ทำให้เวทมนต์ของเขาเสื่อมฤทธิ์ลง ชายคนดังกล่าวขอให้เธอชดใช้ด้วย ‘ความสาวบริสุทธิ์’ อันเป็นสิ่งต้องห้าม ทั้งสองจึงลักลอบมีความสัมพันธ์กัน ครั้นเมื่อพิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ ฤาษีและเหล่าสตรีผู้บำเพ็ญตบะทั้ง 12 โปรยดอกไม้นานาชนิดลงในบ่อน้ำและอัญเชิญเธอลงสระ น้ำใสบริสุทธิ์กลับสีแดงฉาน บ่อน้ำไม้ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป เหล่าผู้ทำพิธีและชาวบ้านต่างพากันสาปแช่งเธอ ด้วยความโกรธแค้นเธอจึงถูกลงโทษด้วยการเฉือนหน้าอก และตัดอวัยวะเพศเพื่อเป็นการเซ่นไหว้ขอขมาแก่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ก่อนเธอสิ้นลม เธอตั้งจิตอธิษฐานต่อพระอินทร์ว่า ชาติหน้าขอให้เธอเกิดมาเป็น ‘ดอกบัว’ ดอกไม้เพื่อรับใช้ความศักดิ์สิทธิ์ตลอดไป”
นั่นคือตำนาน ‘บัวแดง’ ที่อย่าแปลกใจถ้าคุณไม่เคยได้ยินจากที่ไหน ขณะเดียวกันก็รู้สึกคลับคล้ายคลับคลาองค์ประกอบบางอย่างของมัน นั่นเพราะ ปูนปั้น—กมลลักษณ์ สุขชัย ศิลปินที่นำเรื่องราวของตำนานเก่าแก่ของแต่ละพื้นที่มาสร้างเป็นภาพถ่าย ผ่านตำนานบัวแดงที่เธอแต่งขึ้นใหม่โดยดึงเอาองค์ประกอบสำคัญของเรื่องเล่าในอดีตเหล่านั้นมาถักร้อยเป็นเรื่องราวสดใหม่ในเส้นทางเดิม ทั้งเรื่องของผู้หญิง ประจำเดือน อาคมอิทธิฤทธิ์ของผู้ชาย เหล่าฤาษีและความบริสุทธิ์อันเป็นเสมือนคุณค่าสำคัญของเพศหญิงในเรื่อง
เช่นเดียวกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันที่เติบโตพร้อมเรื่องราวเก่าแก่ที่ถูกเล่าผ่านปากต่อปากของคนในครอบครัว ได้อ่านวรรณคดีพื้นบ้านจากหนังสือเรียน และตอกย้ำตำนานเหล่านั้นด้วยละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่เธอตื่นมาดูเกือบทุกเช้าก่อนกดเปลี่ยนไปดูการ์ตูน มุขปาฐะเหล่านี้จึงอยู่ในชีวิตประจำวันของกมลลักษณ์เสมอมา บวกกันกับการเติบโตมาในฐานะนางรำตั้งแต่เด็กทำให้เธอผูกพันและหลงใหลกับชุดไทยอย่างลึกซึ้ง
“ชุดไทยสวยนะคะ” เป็นคำตอบของเธอพร้อมเสียงหัวเราะร่วนเมื่อเราถามว่าอะไรทำให้เธอชอบชุดไทยนัก “เราเป็นคนที่รำตั้งแต่เด็ก เป็นนางรำด้วย ตอนเด็กๆ อยู่บ้านก็มีโจงกระเบนสีชมพูกับสไบ ใส่อยู่บ้าน แล้วจะใส่ชุดไทยทุกปีเพราะปีหนึ่งๆ ก็จะมีวันพ่อ วันแม่ วันครู รำตลอด แต่ก็ไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นยังไง อาจจะไม่ชอบก็ได้ที่ต้องใส่ทุกวัน แต่เรารู้สึกว่า เราเอนจอยกับมันนะ ชอบกับการที่มันมีภาพแฟนตาซีที่มันแสดงความเป็นอุษาคเนย์ขนาดนี้
“ตอนเรียน เราไม่ว่าจะทำงานอะไร เพื่อนก็จะบอกว่าปั้นมันทำงานไทยๆ อีกแล้ว แต่เราก็รู้สึกว่า ทำไมล่ะ ทำไม่ได้เหรอ ก็ชอบไง คือเราไม่ได้รู้สึกว่าความเป็นไทย ต้องรักชาติ รักมากๆ จนเอามันมาทำเป็นงาน เราไม่ได้รักมันก็ได้ เราแค่อยู่กับมันแล้วก็ได้ผลอะไรแบบนี้มาแล้ว”
นั่นทำให้งาน ‘บัวแดง’ นิทรรศการภาพถ่ายของกมลลักษณ์เต็มไปด้วยส่วนผสมของตำนานพื้นเมือง กลิ่นอายละครจักร์ๆ วงศ์ๆ และชุดไทยโบราณ พร้อมกลิ่นอายความเซอร์เรียลด้วยสีจัดจ้านและองค์ประกอบสุดแสนจะเหนือจริงจากตัวละครสิบสองคน —ซึ่งเธอนำญาติๆ ในครอบครัวที่มีส่วนในการเล่าเรื่องมุขปาฐะเหล่านี้ให้ฟังเมื่อสมัยที่เธอยังเด็ก— มารับบทที่แตกต่างจน ‘บัวแดง’ เต็มไปด้วยภาพสีสันจัดจ้านและพร้อมกันนั้นก็ให้ความรู้สึกเสียดสีโลกของเพศหญิงและละครน้ำเน่าที่ถูกผลิตซ้ำเรื่อยมา
“จริงๆ มันเหมือนการใช้ตัวเองเข้าไปเล่าและสร้างตำนาน หยิบยกจากตำนานพื้นบ้านอันนี้บ้าง วรรณกรรมพื้นบ้านอันนี้บ้าง แล้วก็เล่าผ่านดอกบัว” กมลลักษณ์อธิบาย “ชื่อกมลลักษ์ของเราก็แปลว่าดอกบัว คือยังมีความรู้สึกเกี่ยวพันกับชื่อตัวเอง ความเป็นตัวเอง และดอกบัวเป็นดอกที่มีความไหลลื่นอย่างหนึ่ง ในเรื่องก็มีการพูดถึงดอกบัวในลักษณะของการบูชา การที่อยู่ภายใต้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ในอุษาคเนย์เองก็เป็นภาพแทนของความเป็นหญิง หน้าอก เวลาพูดถึงบทอัศจรรย์ เราเลยรู้สึกว่าอันนี้แหละที่ดูเป็นทั้งเรา เป็นทั้งเพศ เป็นทั้งศาสนา แล้วมันคืออะไรไม่รู้ ซึ่งดอกบัวมันก็คือดอกไม้ที่ผุดออกมาจากน้ำแล้วเราไปให้ความหมาย ให้สัญญะมัน
“ในเรื่องของผู้หญิง มันจะเป็นเรื่องแฟนตาซี โดยพื้นฐานแล้วถ้าอันไหนเป็นพราหมณ์ผู้ชายจะเป็นใหญ่ในเรื่องเสมอ นอกจากว่าผู้หญิงคนนั้นจะเป็นผู้บริสุทธิ์ ตำนานนางเลือดขาว หรือตำนานที่ผู้หญิงเกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่โดยที่ไม่มีการปฏิสนธิ ต้องเป็นกรณีที่ไม่มีเรื่องของการร่วมเพศเข้ามาเกี่ยวข้องถึงจะศักดิ์สิทธิ์
แต่เรารู้สึกว่าประจำเดือนมีอำนาจนะ ผู้ชายที่มีอาคมแล้วโดนประจำเดือนผู้หญิงจะเสื่อม แปลว่าฉันน่ะไม่ต้องมีอาคมเลยใช่ไหม เราก็มีอำนาจในทุกเดือน เดือนละครั้ง และมีอำนาจมากกว่าเขาอีก แต่มันกลายเป็นอำนาจที่ไม่ได้ถูกมองว่าอำนาจอยู่ดี”
หากเรามองย้อนกลับไปยังตำนานพื้นบ้านหรือนิทานเก่าแก่ เราคงพบรูปแบบบางอย่างที่คล้ายคลึงกันในนั้น ไม่ว่าจะเป็นความบริสุทธิ์ของผู้หญิงที่สำคัญที่สุดเสมอ, ความงามอันเลื่องลือ หรือการเป็นแต่เพียงทรัพย์สมบัติของเจ้าเมืองหรือผู้ชาย เรื่องราวและบทบาทความเป็นหญิงในตำนานพื้นบ้านเหล่านี้สอดรับกับสิ่งที่ครอบครัวของกมลลักษณ์ปลูกฝังให้เธอมาตั้งแต่ยังเด็ก
“เราอยู่กับคุณพ่อที่มีพี่สาวเจ็ดคน เป็นผู้หญิงล้วนเลย แต่ก็จะอยู่ด้วยกันจริงๆ ประมาณสามคน เราจึงอยู่กับครอบครัวที่เป็นผู้หญิงเป็นหลักเพราะบางทีพ่อก็ไม่ได้อยู่ในบ้าน เราจึงถูกปลูกฝังมาเหมือนครอบครัวทั่วไปเกี่ยวกับการรักนวลสงวนตัว”
จุดเปลี่ยนสำคัญจึงเป็นช่วงที่เธอเติบโตและเข้ามาเรียนภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัย Elles (2011) หนังสุดอื้อฉาวของ มัลกอร์ซาทาร์ ซูมาวสการ์ คนทำหนังสัญชาติโปแลนด์ที่ตีแผ่เรื่องราวของโสเภณีอย่างถึงพริกถึงขิง ที่ชวนให้กมลลักษณ์หวนนึกถึงบทบาทของผู้หญิงในโลกแห่งความจริงและโลกของเรื่องเล่าที่หล่อหลอมผู้คนมาอย่างยาวนาน
“ในประวัติศาสตร์มันจะเกี่ยวเนื่องกันหมดเลย ลองย้อนไปดูเรื่องราวในประวัติศาสตร์ เราไม่ได้มองแค่ผู้หญิงอย่างเดียว แต่เราย้อนดูบริบทสังคมด้วย คือในช่วงเวลาต่างๆ มันมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง อำนาจอยู่ที่ตรงไหน และด้วยตัวประวัติศาสตร์เอง เช่น เรื่องเล็กๆ อย่างผู้หญิงสมัยก่อนเป็นแบบนี้ ย่อมส่งผลให้ผู้หญิงปัจจุบันเป็นแบบนี้ เพราะผู้หญิงสมัยก่อนถูกสร้างความเชื่อแบบนี้เลยส่งผลมาถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมันเลยทำให้เราเริ่มสนใจเรื่องตำนาน
“การศึกษาเรื่องเพศและความเชื่อที่เกี่ยวพันกันมันทำให้เราสนุกนะ และเป็นเรื่องราวในอดีตที่เชื่อมโยงกันด้วย” เธอยิ้ม ประกายตาวาบวับทำให้เราเชื่อว่าเธอทั้งสนุกและใส่ใจกับสิ่งที่ทำจริงๆ
“ในอดีต มันมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับศาสนาดั้งเดิมและศาสนาใหม่ของอารยธรรมอินเดียที่เข้ามา มันมีการศึกษาว่าตำนานเป็นเหมือนทฤษฎีที่เกิดขึ้นจากปมขัดแย้ง ระหว่างศาสนาเก่ากับศาสนาใหม่ และปมขัดแย้งที่ศาสนาใหม่เข้ามาทำให้ศาสนาเก่าหายไป เป็นปมที่สามารถรวมกันได้ เรื่องความเก่ากับใหม่มันแทนด้วยเพศเสมอ เพราะศาสนาดั้งเดิม เพศที่เป็นใหญ่คือเพศหญิง ศาสนาใหม่ที่มีระบบจากอินเดียมาเป็นเพศชาย เลยมีการต่อสู้กันบางอย่าง
“ในวรรณกรรมพื้นบ้านที่เราเห็น จะมีเจ้าเมือง มีผู้หญิง ฤาษี ตายาย และขณะเดียวกันก็มีผีในป่า มีปู่เจ้าสมิงพรายที่ยังใช้พิธีกรรมแบบดั้งเดิม และตัวผู้หญิงก็ถูกผลักให้เป็นชนชั้นที่รองลงมา อย่างหมอผีประจำหมู่บ้านที่เคยเป็นผู้หญิงก็เปลี่ยนมาเป็นผู้ชายแทน ประจำเดือนที่ตอนแรกรู้สึกว่าเป็นแค่เรื่องที่ผู้หญิงต้องมี ก็ถูกมองว่าเป็นสิ่งสกปรกทั้งที่การมองว่าประจำเดือนเป็นสิ่งสกปรกนั้นเป็นศาสนาผี ซึ่งศาสนาผีก็เคยเป็นศาสนาที่เคยอยู่ใต้อำนาจของผู้หญิง มันเลยมีความย้อนแย้ง มันเหมือนมีการสนทนา ทะเลาะกันไปมาอยู่ในเรื่องราวเหล่านี้ จนสุดท้ายก็ผสมออกมาเป็นเราในปัจจุบันโดยที่เราก็ไม่แน่ใจว่าหรอกว่าต้นตอที่แท้จริงแล้วควรจะเป็นแบบไหน เพราะทุกอย่างมันเกิดจากการสมมติทั้งนั้นเลย”
หัวใจสำคัญที่กมลลักษณ์มองเห็นในมุขปาฐะเหล่านี้จึงไม่ใช่แค่บทบาทของเพศหญิง หากแต่ยังหมายถึงตัวอุดมการณ์ที่แฝงฝัง ซ่อนเร้นอยู่ในเรื่องราวต่างๆ ทั้งการช่วงชิงอำนาจของความเชื่อ ศาสนา ไล่เรื่อยมาจนถึงความเป็นเพศ และงาน ‘บัวแดง’ ของเธอไม่เพียงแต่ยั่วล้อนัยยะเหล่านี้ของมันด้วยท่าทีแสนจะดิบและเซอร์เรียลเท่านั้น หากแต่มันยังเป็นการตั้งคำถามถึงบทบาทและหน้าที่ของความเป็นหญิงที่ดูเหมือนจะยังไม่หลุดพ้นจากเมื่อหลายปีก่อนเท่าไรเลย
“อย่างเรื่องบึงบัวแดงของเรา จะพูดว่ามันเป็นการผลิตซ้ำตำนานความเชื่อเดิมก็ได้ แต่เราตั้งใจจะพูดซ้ำในอะไรที่มันเหมือนจะพูดมาในอดีต แล้วมาพูดรวมกันอีกทีเพื่อให้คนรู้สึกว่า มันโอเคใช่ไหมที่สุดท้ายแล้ว ตัวละครก็ต้องยอมตายอยู่ดี แล้วชาติหน้าก็ไปขอเกิดเป็นดอกบัวเพราะรู้สึกว่าตัวเองทำผิด” กมลลักษณ์ —ในอีกความหมายหนึ่งที่มีชื่อว่าดอกบัว—บอกเราเช่นนั้นและส่งยิ้มปิดท้าย
Fact Box
กมลลักษณ์ สุขชัย (เกิด 2537, ราชบุรี) ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 20 ศิลปินภาพถ่ายที่น่าจับตามองที่สุดในปี 2020 จากนิตยสาร FOAM - Photography Museum Amsterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ - ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ สังกัดกลุ่ม เอเชี่ยน สปิริตชวล เพลย์กราวด์
นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่ วันที่ 7 มีนาคม - 25 เมษายน 2563
สถานที่: Kathmandu Photo Gallery สีลม (ซอยวัดแขก)
เปิดงานแสดง วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม ตั้งแต่เวลา 18:30 เป็นต้นไป