สถานการณ์ของกลุ่ม LGBT ไทยนั้น จากการเปิดเผยผลสำรวจของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ( UNDP ) เมื่อปลายปี ..2562 พบว่า คนไทยมองกลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นบวก สนับสนุนให้ออกนโยบายหรือกฎหมายปกป้องคนกลุ่มนี้ แต่ยังพบการตีตรา การแบ่งแยก การถูกเลือกปฏิบัติ หรือที่ทางรายงานสรุปภาพรวมสถานการณ์ว่ารับได้แต่ไม่อยากสุงสิงและยอมรับ LGBT ที่เป็นคนนอกครอบครัวของตัวเองมากกว่า 

แม้ว่าประเทศไทยถูกมองว่าเป็นมิตรต่อกลุ่ม LGBT แต่รายงานของ Asher& lyric เราถูกจัดลำดับได้ที่ 82 หรือเกรด D+ ( อันดับหนึ่งคือสวีเดน ) หรือได้เกรดแค่ D+ ด้วยสาเหตุว่า ยังไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิเพียงพอ แต่การสำรวจนี้อาจไม่ถูกต้องนักที่บอกว่า ไทยไม่มีกฎหมายหรือกฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติ หรือกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน เพราะจริงๆ แล้วประเทศไทยมีกฎหมายนี้อยู่ คือ ...ความเท่าเทียมระหว่างเพศ .. 2558

...ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ..2558

ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ คือ ...ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ..2558 ซึ่งดูแลโดยกรมกิจการสตรีและครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ( พม.) โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ( สทพ.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะกำกับดูและกระทรวง พม.เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ

หากเพศใดก็ตามถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ สามารถร้องเรียนไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ( วลพ.) ได้ เพื่อตรวจสอบและไกล่เกลี่ย หรือชดเชยเยียวยาผู้เสียหาย ตามมาตรา 24 และในมาตรา 28 มีกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งมีที่มาจากเงินอุดหนุนรัฐบาล จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และค่าปรับจากการลงโทษผู้กระทำความผิดตาม  ...นี้ 

ซึ่งการร้องเรียนหากถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ สามารถร้องต่อกรมกิจการสตรีและครอบครัว หรือในต่างจังหวัดสามารถยื่นต่อศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว หรือสำนักงาน พม.ประจำจังหวัดนั้นๆ หรือผ่านทางอีเมลล์ genderact@dwf.go.th และมีสายด่วนร้องทุกข์ 1300  โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญคือผู้ร้องต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่สามารถร้องในคดีที่ฟ้องร้องอยู่ในศาลหรือมีคำพิพากษาเด็ดขาดแล้ว หรือเป็นคำร้องที่ยื่นเกิน 1 ปีนับจากวันที่ทราบเหตุแห่งการถูกเลือกปฏิบัติ

สำหรับการจัดสรรเงินกองทุนในปี ..2563 ประกอบด้วย 1. ส่วนที่ใช้ขจัดการเลือกปฏิบัติและไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ  3,650,000 บาท 2. ส่วนที่ใช้ปรับทัศนคติและค่านิยมเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ 1,460,000 บาท 3. ส่วนแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงคุกคามด้วยเหตุแห่งเพศ 1,460,000 บาท 4. ส่วนพัฒนาระบบบริหารจัดการกองทุน 730,000 บาท รวมทั้งสิ้น 7,300,000 บาท ซึ่งในการประชุม สทพ. ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ในการประชุมมีรายงานกรณีที่เยียวยาไปแล้วคือ 1. ให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับการชดเชยและเยียวยา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ 30,000 บาท ( มติ วลพ.วันที่ 20 กันยายน 2562 ) และ 2. การถูกเลือกปฏิบัติในการแสดงออกต่างจากเพศกำเนิด เรื่องการไว้ผมและการแต่งกาย 12,000 บาท ( มติ วลพ.วันที่ 24 กันยายน 2562 ) 

การจ่ายชดเชยผู้เสียหายทางการเงิน ตามมาตรา 26 เหตุแห่งการชดเชยคือ 1. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ วันละ 300 บาท  2.ค่าสูญเสียโอกาสที่เป็นค่าเสียหายในเชิงพาณิชย์ซึ่งสามารถคำนวณเป็นเงินได้ เพดานที่ 30,000 บาท 3. ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ และ 4.การชดเชยและเยียวยาในรูปแบบหรือลักษณะอื่น เพดานที่ 30,000 บาท

การใช้กฎหมาย

นับตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมาย เหตุในการร้องเรียนยังมีน้อย มีการตั้งข้อสังเกตจากคณะกรรมการ สทพ.ว่าประชาชนยังไม่รู้จักกฎหมายตัวนี้เพียงพอโดยตั้งแต่คณะกรรมการ วลพ.ชุดที่สองเข้ามาทำหน้าที่เมื่อเดือนตุลาคม 2562 มีการร้องเรียนจาก LGBT ทั้งสิ้น 9 คำร้อง เป็นคำร้องเรื่อง 1. สถาบันการศึกษาห้ามแต่งกายตามเพศสภาพ 2.หน่วยงานภาครัฐไม่ให้ใช้คำนำหน้านามตามเพศสภาพ 3. รัฐจัดห้องพักไม่เหมาะสมในการไปอบรมสัมมนา 4. ร้านอาหารกีดกันไม่ให้ LGBT เข้าใช้บริการ 5. บริษัทไม่รับ LGBT เข้าทำงาน 6. มีการประเมินครูที่เป็น LGBT โดยให้คะแนนต่ำ 7. ห้ามใช้ครุยวิทยฐานะตามเพศสภาพ 2 คำร้อง และ 8. รัฐกระทำการไม่เหมาะสมในการเข้าตรวจค้นเคหะสถาน 

ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา สิ่งที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และคณะกรรมการ สทพ.มุ่งเน้นคือพยายามให้เห็นว่ากฎหมายตัวนี้คุ้มครองสิทธิของประชาชนได้ โดยมีผลงานเป็นรูปธรรมชัดเจนใน 1 ปีซึ่งมีข้อเสนอในการประชุมที่น่าสนใจคืออะไรที่สามารถดำเนินการได้ก่อนโดยไม่ต้องออกเป็นกฎหมาย ระเบียบ หรือมติ ครม. ก็สมควรทำก่อนเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 17 คือ การกำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มาตรการ โครงการ หรือวิธีปฏิบัติ ของหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ จะกระทำมิได้ ( ในวรรคสอง ระบุว่า การคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัย หรือการปฏิบัติตามหลักการของศาสนา หรือเพื่อความมั่นคงของประเทศย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ )  

สิ่งที่พูดคุยกันใน สทพ.คือ สิ่งที่พอจะทำได้ก่อนการปรับปรุงกฎหมายในปี ..2564  อาทิ การปรับปรุงการรับเรื่องร้องเรียนให้รวดเร็วและง่ายขึ้น การสร้างศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคหญิงชาย (Gender Focal Point ) การรวบรวมระเบียบที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศเพื่อทำการแก้ไข เช่น บางหน่วยงานหรือสถานศึกษาไม่ควรมีการออกแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อ LGBT การประกาศรับสมัครงานควรคำนึงถึงคุณวุฒิและความสามารถมากกว่าเพศสภาพ 

และกรมกิจการสตรีฯ จะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ ในเดือนกรกฎาคม 2563 เพื่ออบรมภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมการไม่เลือกปฏิบัติ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับเพศสภาพ เช่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจหรือเอกชนที่ไม่มีกฎหมายเรื่องเครื่องแบบกำกับ ก็สนับสนุนให้แต่งกายตามเพศสภาพได้ แต่ละสถานที่มีการจัดห้องน้ำเพศกลาง ซึ่งในที่ประชุมเห็นว่า ไม่ควรเรียกว่าเป็นห้องน้ำสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศ”  เพราะจะดูเหมือนเป็นการบังคับให้บางคนต้องเปิดเผยเพศสภาพตัวเอง อาจเรียกว่าห้องน้ำสุภาพชนหรือหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะด้าน อย่างโรงพยาบาล สถานีตำรวจ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ควรจัดให้มีพื้นที่ดูแลกลุ่ม LGBT ที่เหมาะสมตามอัตลักษณ์แห่งเพศ 

ที่สำคัญคือ การเก็บข้อมูลจำแนกเพศ ตามมาตรา 10 ( 6 ) ซึ่งที่ประชุม สทพ.ได้ทำหนังสือเวียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลจำแนกเพศตามปฏิญญาปักกิ่ง เกี่ยวกับข้อมูลสตรี 12 ข้อ ประกอบด้วยเรื่อง ความยากจน, การศึกษาและการฝึกอบรม, สุขภาพ, ความรุนแรง, ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ, เศรษฐกิจ, การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ, กลไกทางสถาบันเพื่อความก้าวหน้า,สิทธิมนุษยชน, สื่อ, สิ่งแวดล้อม, เด็กผู้หญิง เพื่อนำมาออกแบบปรับใช้การส่งเสริมบทบาทของทั้งสตรีและกลุ่ม LGBT ที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรส่งเสริมให้มีการสรรหาบุคคลตามสัดส่วนเพศอย่างเหมาะสม เพื่อสะท้อนความต้องการในมิติทางเพศอย่างแท้จริง ตลอดจนออกแบบทางด้านสวัสดิการต่างๆ เช่น กรณีความจำเป็นในการใช้ผ้าอนามัย ซึ่งอาจรวมถึงกลุ่มข้ามเพศเกี่ยวกับความจำเป็นเรื่องการใช้ฮอร์โมน

อีกเรื่องหนึ่งที่ สทพ.ให้ความสำคัญคือ จัดการปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศอย่างจริงจัง โดยใช้มติ ครม.วันที่ 16 มิ.. 2558 เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศและการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน โดยแต่ละหน่วยงานต้องมีเจตนารมณ์ประกาศเป็นลายลักษณ์อักษร มีแนวปฏิบัติ มีการคุ้มครองพยานและผู้กล่าวหา มีศูนย์ประสานงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ( ศปคพ.) โดยต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อ สทพ.ปีละครั้งทุกวันที่ 31 ตุลาคม

ความเห็นจากผู้สังเกตการณ์

นายกฤษฏิ์ เพียรมุ่งสัมพันธ์ ปรึกษาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าร่วมประชุม สทพ.นัดสุดท้ายของปี ..2562 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา เขาเล่าถึงเรื่องนี้ว่า  “นายจุรินทร์ได้ขอให้กรรมการ สทพ. ระบุระดับความสำคัญเร่งด่วนของงานไหนมีความสำคัญที่สุด ระหว่างการ 1. ขจัดการเลือกปฏิบัติ 2. การปรับทัศนคติ 3. การลดความรุนแรง ซึ่งที่ประชุมได้แสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง เช่น นายนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ กรรมการ สทพ. ระบุว่า การขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศยังถูกพูดถึงในเรื่องของผู้หญิงเสียมาก ทั้งที่ความเป็นจริงกลุ่ม LGBT เองก็ถูกเลือกปฏิบัติมาก จึงอยากเน้นเรื่องแผนขับเคลื่อนการเปลี่ยนทัศนคติ  ที่ทางกรมกิจการสตรีฯ  ควรมียุทธศาสตร์ในการหากลุ่มเป้าหมายที่เป็นแกนนำในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เช่น หัวหน้าหน่วยราชการควรมีความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างไร” 

ควรออกแบบหลักสูตรอบรมสำหรับผู้บริหารให้ปรับทัศนคติองค์กรภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ รวมถึงภาคเอกชน ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ และมีการออกดัชนีชี้วัดทัศนคติเรื่องนี้ของแต่ละหน่วยงาน  จากงานวิจัยพบว่า กลุ่ม LGBT มักจะถูกเลือกปฏิบัติ ดังนั้น ทัศนคติขององค์กรภาครัฐที่มีอำนาจ หรือรัฐวิสาหกิจน่าจะเป็นกลไกหลักที่ต้องเปลี่ยนแปลงก่อน แล้วภาคส่วนอื่นจะเปลี่ยนตาม การส่งเสริมให้มีการอบรมผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้าง Chief Gender Equality Officer ( CGEO ) เพื่อเป็นผู้นำสร้างความเท่าเทียม และยังต้องปรับทัศนคติในกลุ่มสื่อด้วย เพราะสื่อเป็นผู้ที่สร้างความรับรู้ต่อสังคม ควรทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ จนเปลี่ยนทัศนคติของสังคม และจะต้องมีการสนับสนุนการทำงานวิจัยเพื่อเกี่ยวกับการสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการปรับปรุงกฎหมายด้วย

นายนฤพนธ์ มองด้วยว่า ทางกรมกิจการสตรีฯ ควรคิดแคมเปญที่เป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ( gender diversity ) จัดประกวด ทำงานร่วมกับสถาบันศึกษา สื่อ โฆษณาในช่องทางต่างๆ ให้คนเรามองข้ามการตัดสินผู้อื่นด้วยกรอบเพศ  และให้เกิดความเข้าใจความหลากหลายทางเพศตั้งแต่ในสถานศึกษา  แต่ในคณะกรรมการ สทพ.เองบางคนก็มองว่า เรื่องการลดความรุนแรงเป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่สำคัญที่สุด เพราะในบางกรณีที่มีการร้องเรียนมาจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาด่วน  ส่วนการปรับทัศนคตินั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลามากจึงต้องทำให้เป็นเรื่องคู่ขนานกันไป

นอกจากนี้ยังมีการสั่งให้เพิ่มเรื่องการประชาสัมพันธ์ในสายด่วนร้องทุกข์ 1300 และปรับปรุงขั้นตอนให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถร้องเรียนได้ง่ายที่สุด แก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด จากที่พบว่า การร้องเรียน สามารถนัดทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องมาไกล่เกลี่ยได้ในเวลา 90 วัน และขยายเวลาครั้งละ 30 วันออกไปได้อีก 2 รอบ  แต่บางครั้ง ผู้ร้องเรียนเองก็มีปัญหาไม่มาให้ข้อมูล และเมื่อพิจารณาเสร็จ วลพ.จะส่งผลวินิจฉัยให้คู่กรณี ส่วนของเงินเยียวยานั้นจะไม่มีการจ่ายหากผู้ร้องเรียนไม่ขอ ซึ่งกรณีที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จได้เร็วที่สุดคือ 9 เดือน ล่าช้าที่สุดคือยังเชิญผู้ถูกร้องมาให้ข้อมูลไม่ได้ อีกทั้ง วลพ.เองก็สามารถประชุมได้เพียงเดือนละ 2 ครั้งเพราะมีงานประจำ

กฎหมายป้องกันการกลั่นแกล้งรังแก

ในขณะที่เรามีกฎหมายเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ และภาคประชาชนก็กำลังร่วมกันผลักดันกฎหมายอีกตัวหนึ่งเพื่อช่วยเหลือกลุ่มอัตลักษณ์เปราะบางที่ถูกเลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งรังแกได้ง่าย  นายกฤษฏิ์ อธิบายว่าภาคประชาชนกำลังผลักดันร่าง ...ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ให้ออกโดยกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อคุ้มครองกลุ่ม 9 อัตลักษณ์เปราะบาง คือ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี, คนพิการ , ผู้สูงอายุ , กลุ่มชาติพันธุ์ , กลุ่มหลากหลายทางเพศ , กลุ่มผู้ติดยา, เด็กและเยาวชน , ผู้หญิง , แรงงาน เพราะการไม่เลือกปฏิบัติเป็นรากฐานสำคัญของสิทธิมนุษยชน

...ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ที่น่าจับตาคือกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งกลุ่ม LGBT ถูกตีตรามากว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมเคยหาข้อมูลและพบว่า คนกลุ่มนี้เขาประสบปัญหาในเรื่องการถูกกีดกันการทำงานหรือถูกเลือกปฏิบัติ หรือถูกเหยียดมาก ผมขอเล่าสาระสำคัญของกฎหมายนี้บางส่วน มันอยู่ที่มาตรา 7 การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลจะกระทำมิได้ คือ 

(1 ) การกระทำหรือไม่กระทำการใดในทุกรูปแบบ อันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิ เสรีภาพ หรือสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพราะเหตุแห่งความแตกต่างของบุคคล

(2) การกำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มาตรการ โครงการ หรือวิธีปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใด ที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล การกระทำหรืองดเว้นการกระทำที่แม้จะมิได้มุ่งหมายให้เป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลโดยตรง แต่ผลของการกระทำนั้นทำให้บุคคลต้องเสียสิทธิประโยชน์หรืออาจจะเสียสิทธิประโยชน์ใด ที่ควรจะได้รับ เพราะเหตุแห่งความแตกต่างของบุคคล  

(3) การล่วงเกิน คุกคาม ก่อความเดือดร้อนรำคาญ หรือเป็นไปในลักษณะที่ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะเหตุแห่งความแตกต่างของบุคคล 

(4) การเลือกปฏิบัติอื่นใดที่คณะกรรมการกำหนดและประกาศโดยรัฐมนตรี ในกลุ่ม 9 อัตลักษณ์ ใครที่ถูกเลือกปฏิบัติ สามารถยื่นเรื่องกับคณะกรรมการ คชป. ( คณะกรรมการคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติ ) กรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรม เพื่อไกล่เกลี่ยและชดเชยความเสียหาย

โดยในส่วนขอบ ( 2 ) หน่วยงานออกระเบียบมาเลือกปฏิบัติไม่ได้ สำคัญสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะบางอาชีพไม่รับผู้ติดเชื้อ เช่น อาชีพที่ต้องเกี่ยวกับการสัมผัสเลือด อาชีพที่ต้องพบปะติดต่อกับผู้คนมากมายหรืออยู่ที่ปิด เช่น งานโรงแรม งานลูกเรือ เพราะผู้ติดเชื้อนี่มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อวัณโรคจากคนเป็นพาหะได้ 

แต่ถ้ากินยาต้านจนเข้าสู่ภาวะ undetectable= untransmittable  ( U=U ) ก็คือป้องกันโรคฉวยโอกาสแทรกซ้อนได้ ไม่แพร่เชื้อ ร่างกายก็เกือบเป็นปกติแต่ต้องระวังงานสัมผัสเลือด อย่าบริจาคเลือด ซึ่งเรื่อง U=U  ไม่ใช่ใบอนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์แบบสดกับใครก็ได้ เพราะมันแลกเปลี่ยนเชื้อได้ กลายเป็นเชื้อดื้อยาขึ้นมาอีก ภาวะเชื้อในเลือดกับสารคัดหลั่งต่างกัน กุศโลบายตัวนี้เขาออกมาให้คู่รักที่ไม่เปลี่ยนคู่ และเพื่อป้องกันการตีตราโดยสร้างความเข้าใจว่า คนที่เป็น u=u คือปลอดภัย

ผมมองว่า ถ้ากฎหมายตัวนี้ผ่านแล้วคุ้มครองผู้ติดเชื้อ น่าจะต้องมีประกาศหรือกฎหมายลูกว่า  ผู้ติดเชื้อจะต้องเข้าระบบรักษา และกินยาต่อเนื่อง ตรวจสอบผลเลือดตลอด เพื่อให้แพทย์รับรองว่าสถานะเป็น U=U  เมื่อแพทย์รับรองสถานะ ก็คือให้ออกใบรับรองแพทย์ว่าร่างกายแข็งแรง สามารถทำงานได้  แต่ถ้าขาดการมอนิเตอร์ผลเลือด ก็จะเปลี่ยนผลใบรับรองแพทย์ ซึ่งมันทำให้คนเข้าตรวจเลือด ตามผลเลือด กินยาด้วยความเต็มใจจน U=U ตามเกณฑ์รณรงค์ขององค์กรอนามัยโลก คือ 90 90 90 ครับ  90 แรก คือการตรวจแล้วพบเชื้อ 90 ที่สอง คือผู้พบเชื้อเข้าระบบรักษา และ 90 ที่สาม คือผู้เข้าระบบรักษาจนเข้าสู่ภาวะ U=U   เพราะถ้าเขาทำงานไม่ได้ก็กระทบปากท้องเขา” 

และคนอาจอยากเข้าสู่ระบบการรู้ผลเลือดได้มากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาหากบริษัทที่สมัครงานเรียกผลเลือด เรียกว่าเป็นการระวังไว้ก่อน และถ้าประสบอุบัติเหตุว่าติดเชื้อ  การเข้าสู่ระบบรักษาก็ทำให้ทำงานได้  เช่นที่เพิ่งมีข่าวไปว่า James Bushe ชาวสก๊อตแลนด์ที่เป็นผู้ติดเชื้อ สามารถเข้าเป็นนักบินสายการบินพาณิชย์ได้  เรื่องเอชไอวี เรามุ่งลดการลดผู้ติดเชื้อหน้าใหม่เป็นศูนย์ในปี ..2573 แต่กลุ่มที่ติดเชื้อแล้วซึ่งมีหลายแสนคนในไทย เราก็ต้องให้ความสำคัญดูแลด้วยครับ

สำหรับ ( 3 ) นี่น่าสนใจมากครับ  ผมมองว่า มันอาจเป็นกฎหมายป้องกันการกลั่นแกล้งรังแกได้ คือถ้ามีใครละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ติดเชื้อ กลุ่ม LGBT หรือกลุ่มอัตลักษณ์เปราะบางอื่น สามารถฟ้องต่อ คชป. ซึ่งเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยตามกฎหมายนี้ได้ เพื่อการชดเชย ฟื้นฟู เยียวยา โดยตามมาตรา 10 (2) ให้สิทธิ์ให้สามารถมีผู้ร้องแทนได้คือ บิดา มารดา ทายาท ญาติ ผู้ปกครอง ผู้ดูแล ผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาลบุคคล ซึ่งกฎหมายตัวนี้ยังไม่ทราบว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อไร ผมมองว่า เรื่องสิทธิมนุษยชน การสื่อสารมันต้องทำให้เห็นว่าเกี่ยวกับปากท้องของคนเราอย่างไร แล้วจะมีคนให้ความสำคัญมากขึ้น” 

ในส่วนของ ...ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย พยายามอุดช่องโหว่ปัญหา  ทำให้ประชาชนรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น ที่สุดแล้วผมว่า ถ้าฝ่ายนโยบายมองข้ามกรอบเพศ ประชาชนมองข้ามกรอบเรื่องความรักชอบทางการเมือง แล้วเรามีเป้าหมายเดียวกัน คือเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ทุกคน ทุกเพศมีความเท่าเทียมกัน กฎหมายนโยบายอะไรเพื่อสิทธิ LGBT ก็จะสามารถออกมาเป็นรูปธรรมได้ง่ายขึ้น

ซึ่งในปี ..2563 นี้ การเคลื่อนไหวเชิงนโยบายของกลุ่ม LGBT มีความเข้มข้นมากขึ้น ทั้งการบังคับใช้กฎหมายเดิมให้เข้มแข็ง และการออกกฎหมายใหม่เพื่อสิทธิความเท่าเทียม สำหรับกฤษฏิ์แล้ว เขามองว่า กลุ่ม LGBT ควรต้องได้รับการรับรองทั้ง 3 ระดับคือการยอมรับตัวตน การให้สิทธิเท่าเทียม และการส่งเสริมบทบาท 

และก็เป็นที่น่าคาดหวังว่า พัฒนาการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเชิงนโยบายจะออกมาในด้านดี เพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทยที่ได้รับความเท่าเทียมโดยไม่มีกรอบเรื่องอัตลักษณ์ใดมาแบ่งแยก และเป็นแบบอย่างที่ดีของประเทศที่มีพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนในโลก ก็เป็นสิ่งที่น่าจับตาอยู่ว่า บทบาทของ สทพ.และ วลพ. จะทำได้จริงตามข้อเสนอหรือไม่ และการขับเคลื่อนอื่นของภาครัฐจะเป็นอย่างไร

Tags: , ,