ดิฉันดีใจที่ได้ทราบว่าวงการนักเขียนนักอ่านวรรณกรรมในเมืองไทยเติบโตมากขึ้นพอสมควร อย่างน้อยในรอบสิบปีที่ผ่านมา หรือ อันที่จริง นักอ่านในเมืองไทยอาจจะทั้งมากขึ้นด้วย และเรามีพื้นที่ถกเถียงเพิ่มขึ้นมากกว่าสักสิบปีก่อนด้วย มีเทศกาลหนังสือมากขึ้น (ไม่ใช่แค่เพียงงานสัปดาห์หนังสือหรืองานมหกรรมหนังสือ) นักเขียน นักวิจารณ์ และนักวิชาการมีพื้นที่แสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ผลงานมากขึ้น ในสายตาดิฉันเมื่อสักสิบห้ายี่สิบปีที่แล้ว นักเขียนที่โด่งดังและเป็นที่ยอมรับในแวดวงสังคมไทยคือนักเขียนที่มีผู้จัดละครนำผลงานไปดัดแปลงเป็นละคร แต่ปัจจุบันนี้ ชื่อเสียงของนักเขียนไม่จำเป็นต้องอิงอยู่กับวงการละครหรือภาพยนตร์อีกแล้ว เมื่อนิตยสารออนไลน์ฉบับต่างๆเริ่มให้ความสนใจกับวรรณกรรมและประเด็นทางสังคม นักเขียนจึงได้โอกาสปรากฏตัวในฐานะผู้เขียนคอลัมน์ หรือผู้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลงานใหม่ๆหรือประเด็นทางสังคมที่ตนสนใจ นอกจากนี้ พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆได้กลายเป็นพื้นที่ถกเถียงของนักอ่าน และช่องทางเผยแพร่ผลงานของทั้งนักเขียนและนักวิชาการ
เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกคนน่าจะสังเกตเห็น อย่างไรก็ดี ในขณะที่โลกสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยเริ่มเต็มไปด้วยความคิดเชิงวิเคราะห์วิพากษ์ ไม่ว่าจะวิพากษ์สังคมก็ดี หรือจะวิจารณ์วรรณกรรมในรูปแบบต่างๆก็ดี หลายๆคนยังเห็นว่าการวิเคราะห์วิจารณ์วรรณกรรมในบางกรณีนั้นฟังดูเหลือเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงถูกอ่านในมุมที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน ยิ่งในกรณีที่สังคมยังไม่มีนักวิเคราะห์วิจารณ์มากพอจนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้ว การวิเคราะห์วิจารณ์วรรณกรรมก็อาจดูเหมือนการกระทำของคนประหลาด หรือคนที่จริงจังเกินไปกับสิ่งที่หลายๆคนอาจจะมองว่าไม่ควรต้องจริงจัง
การมองเห็นความ “ผิดเพี้ยน” ของวรรณคดีวิจารณ์ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในต่างประเทศเช่นกัน ดิฉันเคยเห็นมีม (Meme) หรือมุกตลกจำพวก “ตัวละครสวมเสื้อสีแดง นักวิจารณ์/อาจารย์วรรณคดีบอกว่า เสื้อสีแดงแสดงความโกรธของตัวละคร นักเขียนบอกว่า ตัวละครสวมเสื้อสีแดงเฉยๆ” บ่อย บางฉบับเปลี่ยนเป็นสีม่านบ้าง บางฉบับถึงขั้นหนีออกมาจากชั้นเรียนวิชาวรรณคดี (ซึ่งน่าจะเป็นระดับมัธยมปลายในกรณีของสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา เหมือนกับที่ประเทศไทยเรียนรามเกียรติ์หรือขุนช้างขุนแผน) แล้วประดิษฐ์ไทม์แมชชีนไปถามนักเขียน ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วว่านักเขียนคิดยังไง แล้วนักเขียนก็ตอบว่าไม่ได้คิดว่าเสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์อะไรทั้งนั้น คนที่ย้อนเวลาไปก็แสดงสีหน้าดีใจที่ชนะครูได้
ดิฉันไม่ได้ว่าอะไรถ้าใครจะมองว่าวรรณกรรมศึกษาประหลาดและเข้าใจยาก ดิฉันไม่ได้ต้องการให้ทุกคนกลายเป็นนักวรรณคดีวิจารณ์ หรือต้องชื่นชมวิชาสายนี้โดยห้ามวิพากษ์วิจารณ์ แต่ปัญหาที่ดิฉันพบในมีมนี้อาจคือการขัดขวางการเปิดเสรีทางความคิด ซึ่งหลายๆคนอาจสนับสนุนอยู่โดยไม่ทันได้ฉุกคิดก็เป็นได้ พื้นฐานประการแรกของการตีความวรรณกรรมเรื่องใดๆก็ตามคือ คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อนักเขียน ไม่ว่านักเขียนจะออกมาให้สัมภาษณ์ว่าอะไรก็ตาม ถ้าคุณคิดว่านักเขียนเป็นเจ้าของภาษาและข้อความในงานชิ้นนั้นแต่เพียงผู้เดียว คุณก็จะยินยอมให้คนคนเดียวกำหนดความหมายและการอ่านของคุณ ดิฉันไม่ได้บอกว่าในมุกตลกนี้ ครูพูดถูก นักเรียนทำผิด แต่ดิฉันกำลังจะบอกว่า คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อนักเขียนหรือเชื่อครูก็ได้ คุณไม่ต้องทำราวกับว่างานเขียนหนึ่งชิ้น เจ้าของความหมายสูงสุดคือนักเขียน เป็นคนเดียวที่จะให้คำตอบได้ว่าการตีความแบบไหนถูกหรือผิด เมื่องานเขียนเผยแพร่แล้ว เสียงของนักเขียนเป็นเพียงเสียงเดียว ในบรรดาสรรพเสียงของทั้งผู้อ่าน ทั้งบริบท ที่จะมีผลต่อการตีความ เพราะการใช้คำศัพท์ ไม่ว่าจะคำว่าอะไร ย่อมไม่ทำให้เกิดภาพเดียวกัน คำหนึ่งคำย่อมมีคนตีความต่างกัน เช่นคำว่ายุติธรรม ผู้เขียนอาจจะเขียนในหนังสือว่า “โฉมจันทร์คิดว่าโลกนี้ยุติธรรมสำหรับเธอแล้ว” แต่คนอ่านอาจจะรู้สึกว่าโลกในหนังสือไม่ได้ยุติธรรมก็ได้ หรือโลกจริง ที่อิงจากหนังสือ ก็อาจจะไม่ได้ยุติธรรมก็ได้สำหรับผู้อ่าน คุณไม่จำเป็นต้องซื้อสิ่งที่นักเขียนพูด คุณก็ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่นักวิจารณ์พูดเช่นกัน
ถ้าคุณเชื่อนักเขียนอย่างเดียว สุดท้าย ในกรณีที่นักเขียนเสียชีวิตไปแล้ว คุณก็ต้องจุดธูปเรียก ทำพิธีปลุกวิญญาณ หรือ นั่งไทม์แมชชีนไปหานักเขียนเพื่อขอคำตอบ นักเขียนทุกคนไม่ได้จะทิ้งจดหมายหรือบันทึกไว้ช่วยเราตีความเสมอไป บันทึกเหล่านี้ก็อาจเป็นเสียงหนึ่งที่ช่วยเราตีความได้จริง แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ตีความว่าจะใช้ข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ ความย้อนแย้งของมีมที่พูดไปตอนต้นคือสุดท้ายก็ต้องใช้เงื่อนไขของความเป็นไปไม่ได้ในโลกจริง ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่พบบ่อยในจินตนิยาม หรือวรรณกรรมแฟนตาซี (ไทม์แมชชีน) มาท้าทายการตีความวรรณกรรมที่ตัวเองไม่เห็นด้วย หรือมองว่าคิดมากเกินไป เราอาจจะกล่าวได้ด้วยซ้ำว่า สุดท้ายผู้เขียนก็ดูจะยอมรับกลายๆว่าเราก็จะไปพึ่งนักเขียนอย่างเดียวเพื่อมาท้าทายการตีความของครู นักวิจารณ์ หรือผู้ตีความอื่นๆไม่ได้เสมอไป (ยิ่งในกรณีที่นักเขียนตายไปแล้ว หรือกรณีที่นักเขียนไม่อธิบายอะไรเกี่ยวกับงานของตนเอง)
อันที่จริง การใช้อำนาจกำหนดความหมายของคำพูดไม่ว่าจะโดยใครนั้นเป็นไปไม่ได้ทั้งนั้น ถึงแม้ว่าเราจะเป็นคนพูดมันออกไป เราก็อาจจะต้อง “ขอโทษ” ถ้าคำพูดเหล่านั้นสร้างปัญหาอยู่ดีเพราะมีคนที่เข้าใจหรือมองไม่ตรงกับเรา หากเราเข้าใจว่าคำพูดของเราอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้
โฆษณายางรถยนต์จากเพจเฟซบุค ไม่ซิ่งก็ปิ้งย่าง Auto Racing
กรณีหนึ่งที่ดิฉันเหมือนจะเห็นคนแชร์ในทวิตเตอร์และเฟซบุคในช่วงนี้คือโฆษณายางรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเขียนสโลแกนไว้ว่า “ยางดีๆ ไม่มีดอก” อยู่ข้างๆข้อความที่เขียนว่า ผ่อน 0% แม้บริบทจะช่วยเอื้อให้คนพอเข้าใจได้ว่า “ดอก” ในที่นี้หมายถึงดอกเบี้ย แต่ด้วยความหมายที่หลากหลายของคำว่า “ดอก” ชวนให้เข้าใจว่า “ดอก” แปลว่า “หรอก” หรือแปลว่า “ดอกยาง” หรือแม้กระทั่งหมายถึงคำเรียกขานที่อาจฟังดูหยาบคายด้วยซ้ำ ทำให้ฟังดูราวกับว่ายางดีๆไม่มีจริง หรือยางดีๆนั้นไม่มีดอกยาง (ซึ่งเป็นอันตราย) เราอาจกล่าวได้ว่าผู้คิดสโลแกนยี่ห้อนี้ลืมคิดไปว่า “ดอก” มีความหมายอื่นๆ ไม่เช่นนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นแผนการตลาดของยางยี่ห้อนี้ก็ได้ เพื่อให้คนสนใจสโลแกนของตัวเอง ในกรณีนี้ ถึงแม้ผู้คิดสโลแกนตัวจริงจะออกมายืนยันกับดิฉันว่าเป็นแผนการตลาด เราก็มีสิทธิ์ที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อเขาก็ได้ ด้วยวิจารณญาณของเรา ความน่าขันที่เราเห็นในภาพโฆษณานี้ ไม่ว่าจะเจตนาให้เกิดขึ้นหรือไม่ ก็ชี้ให้เห็นว่าคำที่เลือกสรรมา อาจไม่ได้ให้ความหมายที่เราตั้งใจก็เป็นได้
การตระหนักรู้ว่าเจ้าของคำพูดอาจไม่ใช่เจ้าของความหมายอีกต่อไปจะทำให้เราระมัดระวังในการใช้คำพูดมากขึ้นและนึกถึงคนฟังและคนอ่านมากขึ้น เช่นเดียวกัน ในฐานะผู้รับสาร หากเราตระหนักว่าการตีความเป็นไปได้มากกว่าหนึ่งทาง เราอาจพยายามทำความเข้าใจมากขึ้น และคิดช้าลง การใช้ภาษาอย่างระมัดระวังไม่จำเป็นต้องหมายถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการพูดจากผู้มีอำนาจเสมอไป แต่หมายถึงการตระหนักรู้ว่าเราควรพูดถึงอะไรอย่างไรในสังคมที่มีผู้รับสารอันหลากหลายได้ การตระหนักรู้นี้แม้จะเป็นการกระทำในระดับปัจเจก แต่ย่อมมีผลผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระดับโครงสร้างของภาษาและสังคม กรณีหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการใช้สรรพนาม they ในภาษาอังกฤษในกรณีของกลุ่มเพศหลากหลาย เนื่องจากสรรพนามเอกพจน์บุรุษที่สามในภาษาอังกฤษนั้นระบุเพศไว้เพียงชายและหญิงตามขนบสังคมรักต่างเพศ การใช้สรรพนาม they กับบุคคลในกลุ่มเพศหลากหลายตามที่เจ้าตัวได้เสนอให้ใช้นั้นชี้ให้เห็นการยอมรับการดำรงอยู่ของกลุ่มเพศหลากหลาย และท้าทายหลักภาษาเดิม เพราะสรรพนาม “they” ซึ่งเดิมหมายถึงสรรพนามพหูพจน์บุรุษที่สามเท่านั้น การใช้ภาษาโดยตระหนักรู้ถึงผู้สื่อสารคนอื่นๆที่ใช้ภาษาต่างจากเราจะทำให้เราเปิดพื้นที่ให้แก่ความหลากหลายอันไม่สิ้นสุด ไปพร้อมๆกับการสร้างความเท่าเทียมให้แก่ผู้ส่งสารและผู้รับสาร
การตระหนักว่าสิ่งที่เราพูดอาจหมายความอย่างอื่นคือการตระหนักถึงการดำรงอยู่กับคนอื่น และสามารถเป็นจุดเริ่มต้นให้เราครุ่นคิดถึงความสัมพันธ์ของเรากับผู้คนในสังคม และมองเห็นกรอบคิดของเราเมื่อเราได้ใช้เวลาฉุกคิด หรือไม่ก็ได้รับการปะทะถกเถียงจากคนอื่นๆ ในขณะเดียวกัน ในฐานะผู้รับสาร เราอาจได้โอกาสตระหนักถึงกรอบคิดที่เราใช้ตีความและตัดสินคนผ่านภาษา เราอาจมองเห็นความหมายมากกว่าหนึ่งความหมาย เจตนามากกว่าหนึ่งเจตนา แน่นอนว่า ไม่ว่าจะสื่อสารอย่างรอบคอบเพียงใด ไม่ว่าจะผ่านคำพูด ผ่านนวนิยาย หรือผ่านภาพยนตร์ ก็อาจมีคนท้วงติงและชี้แจง หรือเข้าใจไม่ตรงกับผู้สื่อสาร ซึ่งนำไปสู่การถกเถียงและตั้งคำถามทั้งตัวผู้สื่อสารเองและตัวผู้รับสาร บางครั้งเราตั้งคำถามสาร บางครั้งสารตั้งคำถามเรา เหมือนที่หนังสือบางเล่มสามารถเปลี่ยนความคิดเราได้ ท้าทายเราได้ แน่นอนว่าในบริบทของโลกภายนอกวรรณกรรม อาจจะต้องเกิดการตัดสินผิดถูกเพื่อหาข้อยุติ แต่การถกเถียงเรื่องวรรณกรรมอาจท้าทายอัตตาของผู้เขียนและผู้อ่าน เพราะท้ายที่สุด ไม่อาจมีใครเป็นเจ้าของความหมายที่แท้จริงได้เลย
หนังสือเป็นประดิษฐกรรมของผู้เขียนคนเดียวไม่ได้ ผู้อ่านก็มีส่วนสร้าง มีส่วนตีความ มีส่วนให้ความหมายของตนเองกับข้อความที่เขาเห็น แม้ผู้เขียนจะประดิดประดอยสัญลักษณ์ อุปลักษณ์ หรือโวหารภาพพจน์อื่นๆ คนอ่านที่ไม่เห็นก็คือไม่เห็น คนที่เห็นก็คือเห็น บางทีผู้เขียนก็ไม่เห็น แต่ผู้อ่านเห็น งานเขียนหลายๆชิ้นก็อาจจะไม่ได้ประดิษฐ์อย่างตรงไปตรงมา ผู้เขียนบางคนอาจจะวางแผนเป็นมั่นเป็นเหมาะและทำได้ตามแผน อันนี้จะเป็นสัญลักษณ์ของอันนั้น อะไรว่าไป แต่นักเขียนบางคนเขาอาศัยภาพจากจินตนาการแล้วเขาก็เขียนไปเรื่อยๆ บางทีตั้งใจใส่สัญลักษณ์บ้าง แต่บางทีก็ไม่ได้ตั้งใจ สุดท้ายเขาก็อาจจะชอบจินตนาการว่าตัวละครตัวนี้สวมชุดแดงตลอด แต่เขาไม่ได้คิดว่ามันเป็นสัญลักษณ์ แต่สมมติว่าบังเอิญว่าทุกครั้งที่ตัวละครนี้จะฆ่าคน เขาต้องสวมชุดแดง ผู้อ่านก็มีสิทธิ์ตีความได้ว่าสีแดงอาจจะเป็นสัญลักษณ์ในกรณีนี้ โดยไม่จำเป็นต้องมาคิดว่าผู้เขียนจะให้สีแดงนี้เป็นสัญลักษณ์หรือเปล่า (และผู้ฟังก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อการตีความของครู/นักวิจารณ์) ถ้าเรามัวแต่คอยถาม สุดท้ายงานสร้างสรรค์ใหม่ๆก็ไม่เกิด ลองนึกภาพว่าเราต้องอธิษฐานถึงเชคสเปียร์ก่อนจะจัดแสดงโรเมโอกับจูเลียตทุกรอบเพื่อจะถามว่าโรเมโอควรใส่เสื้อสีแดงเพื่อแสดงความโกรธหรือไม่ดูสิคะ และในขณะเดียวกัน ผู้เสพก็ไม่ควรยืนยันกับใครว่าโรเมโอต้องสวมเสื้อสีแดงเท่านั้น ไม่ว่าคุณจะมั่นใจแค่ไหนก็ตาม เราสามารถเขียนบทวิจารณ์หรือเสนอข้อคิดเห็นได้ แต่บทวิจารณ์หรือข้อคิดเห็นของเราย่อมไม่ใช่ที่สิ้นสุด (และบทวิจารณ์ก็เป็นงานเขียนอีกหนึ่งชิ้นที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปได้)
ดิฉันเชื่อมั่นในการสร้างชุมชนจากวรรณกรรมและศิลปะเสมอ ทั้งผู้สร้าง (ถ้ายังมีชีวิตอยู่) และผู้เสพได้ถกเถียงกันโดยไม่จำเป็นต้องเอาเป็นเอาตาย เพราะสุดท้ายก็ไม่มีใครรู้ หรือถึงแม้ผู้เขียนจะอ้างได้ว่ารู้ เขาก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง และผู้เสพงานไม่จำเป็นต้องเชื่อเขาเสมอไป เมื่อวรรณกรรมได้กลายเป็นพื้นที่แห่งความเป็นอื่นที่ไม่อาจฟันธงได้เสียทั้งหมด ในสังคมที่ผู้เสพ(และผู้สร้าง)ถกเถียงแลกเปลี่ยนมุมมองกันได้อย่างเสรีและเคารพกัน วรรณกรรมจะช่วยให้คนรับฟังเสียงของคนอื่น และตั้งคำถามเสียงของตัวเอง