เมื่อปี ค.ศ. 1969 นักสะสมหนังสือชาวออสเตรียคนหนึ่งนามว่า ฮานส์ พี เคราส์ (Hans P. Kraus) ได้บริจาคหนังสือเล่มเก่าแก่จากคริสต์ศตวรรษที่ 15 เล่มหนึ่งให้แก่หอสมุดของมหาวิทยาลัยเยล (Yale) หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า ข้อเขียนวอยนิช (Voynich Manuscript) ซึ่งตั้งชื่อตามพ่อค้าหนังสือ วิลฟริด เอ็ม วอยนิช (Wilfrid M. Voynich) ที่เป็นคนซื้อหนังสือเล่มนี้มาในปี ค.ศ. 1912
ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ก็คือ ทุกวันนี้ยังไม่มีใครอ่านออก เพราะเขียนด้วยตัวหนังสือที่ไม่มีใครรู้จัก แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านการถอดรหัสและแกะภาษาหลายคนจะได้ลองพยายามศึกษาแต่ก็ยังไม่มีใครไขใจความในหนังสือเล่มนี้ได้ ทำให้ยังไม่มีใครเข้าถึงเนื้อความในหนังสือที่เขียนขึ้นเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว และตราบใดที่เรายังอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่ออก ความรู้นี้ก็จะอยู่เกินเอื้อมของมนุษยชาติต่อไป
ในโลกที่การอ่านเป็นเรื่องพื้นฐานมากจนคนส่วนใหญ่มองข้าม ข้อเขียนวอยนิชนี้เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีว่าการอ่านมีความสำคัญยิ่งยวดเพียงไหน
ในโลกที่เราเห็นตัวหนังสือคุ้นตาดาษดื่นรอบตัว บางครั้งเราก็ลืมไปว่าตัวหนังสือเหล่านี้มีพลังมหัศจรรย์และเป็นพาหนะนำความคิดของอีกบุคคลหนึ่งจากอีกสถานที่และกาลเวลาหนึ่งมาสู่เรา
และคงไม่มีงานประจำปีในประเทศไทยงานไหนที่จะชวนให้เราหวนนึกถึงความมหัศจรรย์ของการอ่านได้เท่ากับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ซึ่งกำลังจะเวียนมาบรรจบอีกรอบในสัปดาห์ที่จะถึงนี้
ดังนั้น หลังจากที่ได้เคยเขียนเกี่ยวกับที่มาของชื่อสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ และคำที่เกี่ยวกับกระดาษ ไปแล้ว ในสัปดาห์นี้ เราจะไปเจาะลึกคำง่ายๆ อย่างคำว่า read ที่แปลว่า อ่าน และสำรวจสำนวนในภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการอ่านกัน
ที่มาของคำว่า read
คำว่า read นี้มาจากคำว่า rædan ในภาษาอังกฤษเก่า มีความหมายว่า แนะนำ ชี้แนะ พิจารณา รวมไปถึงตีความสิ่งต่างๆ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ขีดเขียนเป็นตัวอักษรหรือสิ่งที่ไม่ใช่ตัวอักษร เช่น ปริศนา หรือ ความฝัน ก็ได้
คำว่า rædan นี้ไม่ได้กลายร่างมาเป็นคำว่า read คำเดียว แต่ยังมีลูกหลานคำอื่นที่แอบซ่อนอยู่ในภาษาอังกฤษอีกด้วย เช่น rede ซึ่งเป็นคำโบราณ หมายถึง คำแนะนำ คำปรึกษา รวมไปถึงชื่อคนอย่าง Conrad ซึ่งมาจาก koun แปลว่า อาจหาญ รวมกับ ræd หรือ rad แปลว่า วิจารณญาณ ความปราดเปรื่อง ที่มาจาก rædan มีความหมายรวมทำนองว่า ผู้มีความคิดความอ่านองอาจปราดเปรื่อง รวมไปถึงชื่อ Ralph ซึ่งมาจาก ræd หรือ rad รวมกับ wulf ที่แปลว่า หมาป่า อีกด้วย
คำว่า rædan ยังปรากฏในชื่อพระเจ้าแอเธลเรดที่ 2 แห่งอังกฤษ (Æthelred II) ในคริสต์ศตวรรษที่ 10-11 มาจาก æthel หมายถึง สูงส่ง รวมกับ ræd ได้ความหมายรวมว่า ผู้ที่มีความคิดสูงส่ง มีผู้แนะนำชี้ทางไปในทางที่ดี แต่เนื่องจากพระองค์ต้องขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังเล็ก อีกทั้งยังป้องกันการรุกรานของทัพชาวเดนไม่ได้ ชาวบ้านร้านตลาดจึงตั้งสมญานามให้ Æþelræd Unræd หรือ Ethelred, the Unready ที่น่าสนใจก็คำว่า unready นี้ไม่ได้แปลว่า ไม่พร้อม แต่มาจาก un- ที่แปลว่า ไม่ รวมกับ ræd จึงมีความหมายว่า ขาดผู้ชี้นำ โง่เขลา ถือเป็นการตั้งสมญานามตรงข้ามกับพระนามจริงที่แสบสันมาก
Read ในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน ความหมายหลักของคำว่า read ก็คือการอ่านสิ่งที่เขียนเป็นตัวหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หนังสือพิมพ์ หรือข้อความต่างๆ เช่น Don’t believe everything you read in the papers. ก็จะหมายถึง อ่านเจออะไรในหนังสือพิมพ์ก็อย่าไปเชื่อเสียหมด หรือ Make sure you read the instructions correctly. ก็คือคำเตือนให้อ่านคำสั่งให้ถี่ถ้วนถูกต้อง
แต่ทั้งนี้ สิ่งที่ไม่ได้เป็นตัวหนังสือ แต่ต้องอาศัยการตีความหรือพินิจพิเคราะห์ เราก็สามารถใช้คำว่า read ได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น สมมติเราไปชอบผู้ชายอยู่คนหนึ่ง แต่เราดูไม่ออกว่าเขาชอบเราหรือเปล่า เพราะท่าทีกำกวมเสียเหลือเกิน แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า I can’t read him. ก็คือ อ่านไม่ออกว่าเขาคิดหรือรู้สึกอย่างไร หรือถ้าเป็นเรื่องศาสตร์การพยากรณ์ เช่น การดูดวงเช่นดูลายมือหรือไพ่ทาโร่ต์ ก็สามารถเรียกว่า palm reading หรือ tarot card reading ได้ หรือแม้แต่เวลาที่ใครพูดหรือทำอะไรตรงใจเรามากๆ ราวกับอ่านใจเราออก ตอบแทนเราได้ตั้งแต่ก่อนที่เราจะเอ่ยปากพูด เราก็สามารถพูดว่า You read my mind. ก็คือ เหมือนกับอ่านใจฉันออกเลยนะเนี่ย ได้เช่นเดียวกัน
ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเวลาผ่านไป คำว่า read ก็เริ่มถูกนำไปใช้ในความหมายใหม่ๆ เช่นในแวดวงแดรกควีนที่ read หมายถึง การแซวหรือแซะกัน ส่วนในวงการคอมพิวเตอร์เองก็นำคำว่า read ไปใช้ในความหมายใหม่เช่นกัน คือหมายถึง ดึงข้อมูลจากวัสดุบันทึกข้อมูล เช่น My computer can’t read DVDs. ก็คือ คอมพิวเตอร์ของเราอ่านดีวีดีไม่ได้ หรือ This is a read-only file. ก็คือ เป็นไฟล์ประเภทที่เปิดดูได้อย่างเดียว แต่แก้ไขข้อมูลข้างในไม่ได้
สำนวนที่มีคำว่า read
Read between the lines
สำนวนนี้หากแปลตรงตัวก็จะได้ความทำนองว่า อ่านระหว่างบรรทัด แต่ความหมายจริงๆ แล้วก็คือ พินิจความหมายที่แอบแฝงอยู่ มีที่มาจากการส่งสาส์นลับในอดีต ฝ่ายที่ส่งข้อความก็จะเขียนจดหมายที่ดูแล้วเหมือนเขียนด้วยน้ำหมึกธรรมดาทั่วไป แต่ในช่องว่างระหว่างบรรทัดนั้น ผู้ส่งสาส์นก็จะใช้หมึกล่องหนเขียนข้อความลับที่ต้องการส่งถึงผู้รับ เมื่อปลายทางได้รับจดหมายและต้องการอ่านข้อความลับที่อีกฝ่ายส่งถึง ก็จะต้องอ่านข้อความที่อยู่ระหว่างบรรทัดนั่นเอง ตัวอย่างการใช้สำนวนนี้ก็อย่างเช่น If you read between the lines, you can tell that their marriage is not a happy one. ก็คือ หากลองดูดีๆ แล้ว ก็จะบอกได้ว่าชีวิตสมรสของสองคนนี้ไม่ได้มีความสุขหรอก
Read the room
สำนวนนี้หากแปลตรงตัวแล้วอาจจะงงหน่อย เพราะปกติแล้วห้องไม่ใช่สิ่งที่เขียนเป็นตัวหนังสือที่เราจะอ่านได้ อันที่จริงแล้ว สำนวนนี้หมายถึง ดูอารมณ์ของคนในห้องเพื่อที่จะได้ทำตัวได้ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น เราเพิ่งได้เลื่อนขั้น เลยดีใจลิงโลดมาก เที่ยวบอกเพื่อนในออฟฟิศโดยไม่ได้ดูตาม้าตาเรือว่าเพื่อนบางคนกำลังเศร้าเพราะโดนไล่ออก แบบนี้ก็อาจจะโดนคนพูดเตือนสติว่า Read the room. ก็คือ ดูชาวบ้านชาวช่องบ้างว่าเขาอยู่ในอารมณ์ไหนกัน หรือหากลูกสาววางแผนบอกคนที่บ้านตัวเองเป็นเลสเบี้ยนวันนั้น แต่ไม่มั่นใจว่าคนในบ้านจะอยู่ในอารมณ์ที่พร้อมรับข่าวไหม ก็อาจจะพูดว่า I’ll read the room and see if they’re ready to hear it. เป็นต้น
Read somebody like a book
แน่นอนว่าโดยปกติแล้ว เราไม่ได้อ่านคนออกง่ายอย่างหนังสือ ดังนั้น หากเราพูดว่าเราอ่านใครออกได้อย่างกับอ่านหนังสือ ก็จะหมายถึงว่า เราเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนคนนั้นได้อย่างง่ายได้ มองเห็นทะลุปรุโปร่ง เช่น I can read you like a book, so there’s no use hiding things from me. ก็จะหมายถึง ฉันอ่านเธอออกอยู่แล้ว พยายามปิดบังอะไรก็ไม่มีประโยชน์หรอก
ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราพูดว่าใครเป็น an open book ก็จะหมายถึงว่า คนคนนั้นไม่มีความลับหรือลับลมคมใน ทุกอย่างเปิดเผยชัดเจนทุกอย่าง เหมือนหนังสือที่เปิดอ้าอยู่พร้อมให้ทุกคนอ่าน เช่น I’m an open book. Ask me anything. ก็คือ ผมพร้อมบอกคุณทุกอย่าง ถามมาได้เลย
Read my lips
สำนวนนี้อาจจะแปลว่าให้อ่านปากจริงๆ เวลาที่ฝ่ายที่พูดเปิดปากแต่ไม่ได้ออกเสียง (คล้ายๆ เพลงของพี่โต๋ ศักดิ์สิทธิ์) แต่นอกจากนั้น ทางฝั่งอเมริกายังใช้สำนวนเพื่อเน้นย้ำสิ่งที่กำลังจะพูดด้วย ทำนองว่าให้ฝ่ายผู้ฟังตั้งใจฟังให้ดี คล้ายๆ ที่สมัยหนึ่งน้องณัชชาเชิญชวนให้คุณผู้ชมดูปาก ตัวอย่างเช่น หากเราบอกเพื่อนแล้วว่าเราจะไม่ไปงานปาร์ตี้ แต่เพื่อนก็ยังคะยั้นคะยอ เราก็อาจจะเน้นย้ำกับเพื่อนให้เด็ดขาดว่า Read my lips. I’m not going. ก็คือ อ่านปากอั๊วนะ อั๊วไม่ไป จบเนอะ
Read into
บางครั้งเราก็มีจินตนาการกว้างไกล ตีความบางอย่างไปไกลกว่าความเป็นจริงเพราะเอาความคิดหรืออคติของตัวเองเจือลงไป เช่น มารู้ทีหลังว่าเพื่อนที่ออฟฟิศไปกินข้าวกันมาแต่ไม่ได้ชวนเรา ก็คิดไปเป็นตุเป็นตะว่าเขาต้องแอบเกลียดเราแน่เลย ทั้งที่จริงๆ แล้วเพื่อนอาจแค่นึกว่าเราไม่ว่างเลยไม่ได้ชวน ในกรณีแบบนี้ เราก็อาจจะใช้สำนวน read into something ซึ่งหมายถึง คิดไปเองว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ทั้งที่จริงๆ ไม่มีอะไร เช่น You’re reading too much into it. Maybe they just thought you weren’t free.
บรรณานุกรม
Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.
American Heritage Dictionary of the English Language
Atherton, Mark. Complete Old English. John Murray Learning: London, 2019.
Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.
Dargie, Richard. The History of Britain: From Neolithic Times to the 21st Century. Arcturus: London, 2018.
Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
Hanks, Patrick., Kate Hardcastle, and Flavia Hodges. Oxford Dictionary of First Names. OUP: New York, 2006.
Jenkins, Simon. A Short History of England. Profile Books: London, 2018.
Longman Dictionary of Contemporary English
Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.
Shorter Oxford English Dictionary
Tags: อ่าน, read, ภาษาอังกฤษ, ศัพท์ภาษาอังกฤษ, สำนวนภาษาอังกฤษ