มนุษย์ใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของต้นไม้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร นอกจากจะใช้เป็นอาหารแล้ว ยังนำมาทำหยูกยา เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงอุ้มชูให้อารยธรรมมนุษย์เกิดขึ้นได้แทบทั้งสิ้น

นอกจากนั้น มนุษย์เรายังนำต้นไม้มารังสรรค์เป็นสื่อในการบันทึกข้อความด้วย ไม่ว่าจะเป็นในโลกตะวันออกที่มีผู้นำเยื่อไม้มาประดิษฐ์เป็นกระดาษเพื่อใช้เขียนตั้งแต่เมื่อราว 2,000 ปีที่แล้ว หรือในประเทศอียิปต์และแถบเมดิเตอเรเนียนที่มีการนำเนื้อด้านในของต้นกกอียิปต์หรือปาปิรุส (papyrus ในภาษาอังกฤษอ่านว่า เพอะพายเริส) มาฝานเป็นแผ่น นำมาเรียงเกยกันเป็นผืน แล้วทุบให้เป็นแผ่นเดียวกัน เกิดเป็นสิ่งที่คนไทยเรียกกันว่า กระดาษปาปิรุส

คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริงจนเกินไปหากจะพูดว่ากระดาษมีส่วนนำพามนุษยชาติมาจนถึงจุดที่เราอยู่กันในปัจจุบัน เพราะนอกจากจะช่วยให้เราบันทึกส่งต่อความรู้และความนึกคิดผ่านกาลเวลาได้ ทำให้เราไม่ต้องเริ่มต้นคิดหรือประดิษฐ์ทุกอย่างใหม่หมดทุกครั้งแล้ว ยังช่วยให้ความรู้แพร่กระจายง่ายขึ้นเพราะอยู่ในรูปที่จับต้องได้ ไม่ต้องอาศัยมุขปาฐะแต่เพียงอย่างเดียว

อิทธิพลของกระดาษนี้หยั่งรากลึกมากในภาษาอังกฤษ แม้ทุกวันนี้เราจะถอยห่างจากกระดาษและหันไปใช้เสพสื่อต่างๆ ผ่านหน้าจอกันมากขึ้นแล้วก็ตาม (เช่นที่ทุกท่านกำลังอ่านบทความนี้ผ่านหน้าจอเป็นต้น) แต่คำหลายๆ คำที่เรายังใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนั้นก็เป็นคำมีที่มาที่ไปเกี่ยวโยงกับกระดาษ และที่น่าสนใจก็คือ คำเหล่านี้ล้วนสืบสาวกลับไปสู่พืชที่เป็นวัสดุต้นกำเนิดของกระดาษได้ทั้งสิ้น

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่ามีศัพท์อะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับสื่อที่มนุษย์ใช้บันทึกขีดเขียนอย่างกระดาษและย้อนรอยว่าคำเหล่านี้เกี่ยวโยงกับพืชที่เป็นวัสดุในการทำกระดาษอย่างไรบ้าง

Bible

ชื่อพระคัมภีร์ไบเบิ้ลนี้ อันที่จริงแล้วมาจากคำว่า biblion ในภาษากรีก หมายถึง กระดาษ หรือ ม้วนกระดาษ เนื่องจากหนังสือก็ประกอบขึ้นจากกระดาษ คำว่า biblion จึงมีความหมายว่า หนังสือ ตามไปด้วย และปรากฏในคำต่างๆ ที่เกี่ยวกับหนังสือ เช่น bibliography (บรรณานุกรม) bibliophile หนอนหนังสือ คนชอบหนังสือ) bibliomania (โรคคลั่งหนังสือ) เป็นต้น

คำว่า biblion ในภาษากรีกนี้ ว่ากันว่ามาจากคำว่า byblos ที่หมายถึง ต้นปาปิรุส อีกทอดหนึ่ง และมีที่มาจากชื่อเมือง Byblos ซึ่งเป็นเมืองท่าของฟีนิเชีย (Phoenicia) และเป็นแหล่งส่งออกกระดาษปาปิรุสไปยังกรีซในอดีต

Paper

คำที่เราใช้เรียกกระดาษในปัจจุบันนี้มาจากคำว่า papier ในภาษาฝรั่งเศสเก่า แปลว่า กระดาษ หรือ เอกสาร แต่หากสืบสาวกลับไปอีกจะพบว่าคำนี้มาจากคำว่า papyrus ในภาษาละติน ซึ่งรับมาจากคำว่า papyros ที่ใช้เรียกต้นกกอียิปต์ในภาษากรีกอีกทอดหนึ่ง

ทั้งนี้ ในภาษาอังกฤษทุกวันนี้ คำว่า papier ยังมีให้เห็นในคำว่า papier-mâché หรือที่คนไทยเรียกว่า เปเปอร์มาเช่ ซึ่งเห็นเครื่องหมายแปลกตาเหนือตัวหนังสือปุ๊บก็รู้ทันทีว่ายืมมาจากฝรั่งเศสอีกที คำนี้เป็นชื่อเรียกเทคนิคการสร้างงานศิลปะด้วยการนำเศษกระดาษหรือเยื่อกระดาษมาผสมแป้งหรือกาวเพื่อปั้นหรือขึ้นรูป มาจาก papier ที่แปลว่า กระดาษ และ mâché ซึ่งแปลว่า บดย่อยจนเละ ซึ่งเป็นญาติกับคำว่า masticate ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า เคี้ยว ด้วย

เนื่องจากกระดาษเป็นสื่อที่นำไปใช้ผลิตสิ่งต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ธนบัตรไปจนถึงหนังสือ คำว่า paper เองจึงได้รับความหมายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นไปด้วย เช่น เวลาที่เราได้ยินใครพูด papers หากไม่มีบริบทแล้วก็อาจตีความได้หลายอย่างว่าคนคนนี้พูดถึงอะไรกันแน่ เพราะอาจจะหมายถึง หนังสือพิมพ์ เอกสาร ข้อสอบ หรือบทความ ก็ได้ นอกจากนั้น คำว่า paper ยังถูกนำไปใช้ประกอบเป็นคำใหม่ๆ มากมาย เช่น wallpaper (แผ่นปิดผนัง) paper money (เงินธนบัตร) และ rice paper (แผ่นห่อเปาะเปี๊ยะ)

ใครจะไปนึกว่าขนาดจะกินเปาะเปี๊ยะยังโยงกลับไปถึงต้นปาปิรุสได้

Card

ปัจจุบันเราใช้คำนี้เรียกแผ่นกระดาษแข็งหรือไพ่ในภาษาอังกฤษ หากย้อนรอยดูแล้วก็จะเห็นว่ามาจากคำว่า carta ในภาษาละติน แปลว่า กระดาษ ซึ่งมาจาก khartes ในภาษากรีกที่แปลว่า ใบปาปิรุส อีกทอดหนึ่ง

เนื่องจากแต่ประกาศคำสั่งต่างๆ ในยุคโบราณก็มักเขียนลงกระดาษ คำว่า carta ในภาษาละตินจึงหมายถึง กฎบัตร ได้ด้วย เมื่อมีการออกกฎบัตรจำกัดอำนาจของกษัตริย์อังกฤษในศตวรรษที่ 13 จึงเรียกชื่อกฎบัตรนี้ว่า Magna Carta แปลได้ว่า กฎบัตรใหญ่หรือมหากฎบัตร

ทั้งนี้ทั้งนั้น คำว่า charter ที่ใช้เรียกกฎบัตรต่างๆ ในปัจจุบันนั้นก็มาจาก carta ในภาษาละตินเช่นกัน ต่อมาภายหลังมีการนำมาใช้ในความหมายสัญญาจ้าง จึงเกิดเป็นกริยา charter ที่แปลว่า จ้างหรือเช่าพาหนะประเภทเรือและเครื่องบินแบบที่ใช้ในปัจจุบันด้วย

ไหนๆ ถึงพูดกฎบัตรในสมัยโบราณแล้วก็ขอไปแตะอีกสำนวนที่เกี่ยวกับกฎบัตรในยุคโบราณเช่นกัน ว่ากันว่าในสมัยก่อน บางครั้งกษัตริย์จะมอบราชโองการแบบลงพระปรมาภิไธยไว้ แต่ไม่ได้ระบุข้อความ เอาไว้มอบให้แก่ขุนนางหรือนางสนมที่ทรงโปรดเพื่อให้นำไปเขียนข้อความใช้เองได้ตามใจชอบ กระดาษราชโองการเปล่าๆ แบบนี้เรียกว่า carte blanche แปลว่า กระดาษขาวหรือกระดาษเปล่า มาจาก carte ที่มาจาก carta รวมกับ blanche ที่แปลว่า ขาว (เป็นที่มาของ point-blank ด้วย) ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันจึงมีการนำคำว่า carte blanche มาใช้ หมายถึง อำนาจเต็ม หรือ อำนาจแบบไม่มีขีดจำกัด นั่นเอง

คำที่มาจากใบปาปิรุสยังไม่หมดลงแต่เพียงเท่านี้ เพราะนอกจากกระดาษจะใช้ในการออกคำสั่งต่างๆ แล้ว ยังใช้ในการทำแผนที่ด้วย ดังนั้น คำว่า carta จึงเป็นที่มาของคำว่า chart ที่แรกเริ่มเดิมทีแปลว่า แผนที่ (คำว่า cartography ที่หมายถึง ศาสตร์การทำแผนที่ ก็มาจาก carta เช่นเดียวกัน) ต่อมาคำนี้จึงถูกนำไปใช้เรียกแผนภาพที่แสดงข้อมูลต่างๆ ในรูปแบบที่ไม่ได้มีแต่ตัวหนังสือติดพรืดเป็นร้อยแก้ว และกลายมาหมายถึงแผนภูมิอย่างในทุกวันนี้

คำว่า carta ยังถูกภาษาอิตาเลียนยืมไปเป็นคำว่า cartone และกลับมาในภาษาอังกฤษเป็นคำว่า carton ซึ่งเดิมทีหมายถึง กระดาษลัง ก่อนที่จะกลายมาเป็นคำที่ใช้เรียกกล่องกระดาษ โดยเฉพาะกล่องนม อย่างในปัจจุบัน ที่น่าสนใจก็คือ แต่ก่อนมีศิลปินนำกระดาษลังแบบนี้ไปใช้ร่างภาพด้วย จึงเรียกภาพร่างแบบนี้ว่า cartoon ส่วนที่ภาพร่างบนกระดาษลังกลายมาเป็นการ์ตูนได้ก็เพราะคำนี้ภายหลังถูกนำมาใช้เรียกภาพวาดการเมืองต่างๆ ในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารต่างๆ ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าภาพเหล่านี้จำนวนมากก็เป็นภาพล้อเลียน วาดให้มีความขบขัน ไปๆ มาๆ คำว่า cartoon เลยถูกนำมาใช้เรียกภาพวาดบันเทิงที่ไม่ได้เน้นความสมจริงและกลายมาเป็นการ์ตูนในที่สุด

นอกจากนั้นแล้ว ใบปาปิรุสก็ยังไปอยู่ในปรินเตอร์ของเราอีกด้วย เพราะคำว่า carta นี้เป็นที่มาของคำว่า cartridge ที่แปลว่า ตลับหมึก ด้วย ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะแต่ก่อนมีการนำกระดาษมาทำเป็นกระสุนที่บรรจุผงดินปืนทรงกระบอก เรียกว่า cartage ซึ่งจำเนียรกาลผ่านไปก็ค่อยๆ แผลงมาจนกลายเป็น cartridge และนำมาใช้เรียกตลับหมึกอย่างในปัจจุบัน

Schedule

อีกคำที่เราใช้กันโดยอาจไม่รู้เลยว่ามีที่มาเกี่ยวเนื่องกับกระดาษและพืชที่นำมากระดาษก็คือคำว่า schedule อย่างที่กล่าวเกริ่นไปว่ากระดาษปาปิรุสนี้ทำจากการนำเนื้อของต้นปาปิรุสมาฝานเป็นแถบ แล้วจึงนำแถบเหล่านี้มาวางเกยกันและทุบให้เป็นแผ่นเดียวกัน แถบเนื้อต้นปาปิรุสแต่ละแผ่นนี้ในภาษาละตินเรียกว่า scheda มาจากคำว่า skhizein ในภาษากรีกที่แปลว่า ผ่าออกจากกัน (เป็นที่มาของคำว่า schizophrenia ที่หมายถึง โรคจิตเภท และ schism ที่หมายถึง ความแตกแยก) ต่อมาภายหลัง คำว่า scheda นี้ถูกเอาไปเติมส่วนเติมท้ายให้ดูจุ๋มจิ๋มเป็น schedula หมายถึง แถบกระดาษ และนำไปใช้เรียก แถบกระดาษที่ใช้เป็นตั๋วหรือแทรกไปในเอกสารต่างๆ ไปๆ มาๆ คำนี้ก็ถูกนำไปใช้เรียกตารางเวลาของสถานีรถไฟ และกลายมาหมายถึงตารางเวลาอย่างในปัจจุบัน

ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคำนี้อีกอย่างหนึ่งคือการออกเสียง เพราะทางฝั่งอเมริกันจะอ่านทำนองว่า สเก็จจูล แต่ฝั่งอังกฤษอ่านว่า เช็ดจูล

อันที่จริงแล้ว คำนี้มีใช้มาในภาษาอังกฤษได้ราว 600-700 ปีแล้ว แต่เดิมคำนี้ออกเสียงว่า เซ็ดจูล เขียนว่า sedule หรือ cedule แต่นักวิชาการสู่รู้ในยุคต่อมาบอกว่าคำนี้มาจาก scheda ในภาษาละติน หากสะกดแบบเดิมจะไม่เห็นที่มาที่ไปของคำ จึงบัญญัติตัวสะกดใหม่เป็น schedule

เมื่อเปลี่ยนตัวสะกดเช่นนี้ ปัญหาจึงเกิดตามมา เพราะเสียง sch- ในคำจำนวนมากออกเสียงควบเป็น สก- เช่น scheme (ส่วนใหญ่คำที่สะกดแบบนี้เป็นคำภาษาละตินที่ยืมมาจากภาษากรีกอีกทอด) ผู้เขียนพจนานุกรมชาวอเมริกันชื่อดังจึงบอกว่า คำนี้ต้องออกเสียงว่า สเก็ดจูล เพื่อให้ตรงกับในภาษาต้นทางสิ การออกเสียงแบบนี้ดันได้รับความนิยมในอเมริกาจนเบียด เซ็ดจูล ตกกระป๋อง ส่วนในฝั่งอังกฤษเอง จากที่เคยออกเสียงว่า เซ็ดจูล ก็เริ่มหันไปออกเสียงว่า เช็ดจูล ตามฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้ ชาวอังกฤษและอเมริกันจึงออกเสียงคำนี้ต่างกันมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

Library

คำที่ใช้เรียกห้องสมุดนี้มาจากคำว่า liberium ในภาษาละติน แต่เดิมแปลว่า หีบเก็บหนังสือ ก่อนจะนำมาใช้เรียกร้านขายหนังสือและห้องสมุดในเวลาต่อมา คำว่า librarium นี้สร้างมาจากคำว่า liber ที่แปลว่า หนังสือ ในภาษาละตินนั่นเอง แต่หากสืบสาวกลับไปอีกจะพบว่าแรกเริ่มเดิมทีคำว่า liber นี้ แปลว่า เปลือกไม้ชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนที่เรียบและยืดหยุ่นพอที่จะนำมาทุบหรือรีดให้บางและนำมาใช้เขียน ด้วยเหตุนี้ คำที่ใช้เรียกเปลือกไม้ชั้นในจึงกลายมาเป็นคำที่ใช้เรียกหนังสือนั่นเอง

ทั้งนี้ คำว่า liber นี้ยังเป็นที่มาของคำว่า libel ที่แปลว่า การหมิ่นประมาท ด้วย คำนี้มาจาก libellus ที่แปลว่า หนังสือขนาดสั้น แผ่นพับ มาจากการนำคำว่า liber มาเติมส่วนเติมท้ายให้ดูจุ๋มจิ๋มขึ้น คำว่า libellus นี้ทำให้เกิดคำว่า libel ซึ่งแต่เดิมหมายถึง เอกสารคำแถลงของโจทก์ที่กล่าวอ้างถึงจำเลย ไปๆ มาๆ ความหมายของคำนี้ก็เริ่มแปรไปจากที่เคยหมายถึงการกล่าวหากลายไปเป็นการดูหมิ่นหรือพูดให้เสื่อมเสียนั่นเอง

Book

แม้แต่คำพื้นฐานอย่าง book ที่แปลว่า หนังสือ ก็เกี่ยวโยงกับพืชเช่นเดียวกัน คำนี้มาจากคำว่า boc ในภาษาอังกฤษเก่า หมายถึง หนังสือ เป็นญาติกับคำว่า beech ที่หมายถึง ต้นบีช ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ส่วนที่ต้นบีชมาเกี่ยวกับหนังสือได้ก็เพราะต้นไม้ชนิดนี้มีเปลือกด้านนอกเรียบ เมื่อนำมาตากแห้งและทับให้แบนแล้วนำมาใช้ขีดเขียนได้ ดังนั้น คำที่ใช้เรียกหนังสือกับชื่อต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นสื่อการเขียนได้จึงมีความเกี่ยวโยงกันในภาษาอังกฤษเก่า

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of English down the Ages: Words & Phrases Born out of Historical Events Great & Small. Kyle Cathie: London, 2005.

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

Merriam-Webster Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008.

 

Fact Box

  • อันที่จริงแล้ว ใบไม้เองก็มีส่วนโยงกับหนังสือและการขีดเขียนเช่นกัน ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือการใช้คำว่า leaf เรียกกระดาษแต่ละแผ่น (a leaf of paper) หรือหน้าสมุดแบบฉีกได้ก็เรียกว่า loose leaf อีกทั้งยังมีกริยา leaf through ที่ใช้หมายถึง พลิกดูหนังสือผ่านๆ ด้วย
  • นอกจากนั้น คำว่า portfolio ที่หมายถึง แฟ้มผลงาน ก็มาจากคำว่า portare ที่แปลว่า ถือ รวมกับคำว่า folium ที่แปลว่า ใบไม้ ซึ่งในที่นี้หมายถึงกระดาษหรือหน้าเอกสารนั่นเอง (คำว่า folium นี้รากเดียวกับคำว่า foliage ที่แปลว่า ใบไม้)

 

 

Tags: , , ,