เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมงานเปิดโครงการศิลปะที่เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะร่วมสมัย Bangkok Biennial 2018 ตัวโครงการนี้ถูกจัดขึ้นในสถานที่หลักๆ สี่แห่ง โดยประกอบด้วยศิลปิน 23 คน จาก 3 ประเทศ ไทย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

โครงการศิลปะที่ว่านี้มีชื่อว่า RE/FORM/ING PATANI

โครงการศิลปะนี้เป็นหนึ่งในพาวิลเลียน หรือพื้นที่แสดงงานที่ใหญ่ที่สุดของเทศกาล Bangkok Biennial กิจกรรมทางศิลปะระดับรากหญ้าของสามัญชน โดยสามัญชน และเพื่อสามัญชนครั้งนี้ เกิดขึ้นได้จากการรวมตัวของศิลปิน ภัณฑารักษ์ และชุมชมอย่างแท้จริง ถึงแม้ปัตตานีจะมีภาพลักษณ์อันน่าหวาดกลัวของความรุนแรงที่คอยหลอกหลอนอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ชุมชนศิลปินที่กำลังแตกหน่อต่อยอด ก็กำลังขยับขยายแวดวงศิลปะขึ้นที่นี่ และก่อร่างสร้างเครือข่ายที่ขยับขยายออกไปสู่สากล

พาวิลเลียนปัตตานีแห่งนี้คัดสรรโดยสองภัณฑารักษ์จากสิงคโปร์อย่าง มูฮัมมัด อาราฟัต บิน โมฮัมมัด (Muhammad Arafat bin Mohamad) และ ซุลฟาดี ฮิลมี บิน โมฮัมมัด (Zulfadhli Hilmi bin Mohamad) หลังจากใช้เวลาหลายต่อหลายปีทำการวิจัยในปัตตานี ทั้งคู่ก็ไม่ใช่คนแปลกหน้าในจังหวัดภาคใต้อีกต่อไป และยังพัฒนาความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับพื้นที่และผู้คนที่นั่นอีกด้วย

โครงการศิลปะ RE/FORM/ING PATANI เป็นความพยายามในการเปิดเผยสุ้มเสียง และความใฝ่ฝันของศิลปินผู้เข้าร่วมโครงการเหล่านี้ รวมถึงความหวัง วิสัยทัศน์ของชุมชน และจิตวิญญาณแห่งความเป็นมิตรของพวกเขา ดังถ้อยแถลงของภัณฑารักษ์ของนิทรรศการที่ว่า

“ปาตานี เป็นคำที่มักจะทำให้หลายคนคิ้วขมวดด้วยความประหลาดใจ เพราะมันเป็นชื่อที่ทำให้หวนรำลึกไปถึง ‘อาณาจักรปาตานี’ รัฐที่ถูกปกครองโดยกษัตริย์ชาวมลายู ก่อนจะรวมตัวกับสยามตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 คำคำนี้ถูกใช้อย่างกว้างขวางและดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มันเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสงสัยให้แก่ผู้คนไม่น้อย และน่าจะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป เพราะคนไทยหลายคนรวมถึงชาติอื่นๆ ต่างให้ความสนใจในประเด็นนี้ และดูเหมือนมันจะเป็นส่วนหนึ่งที่มักจะนำไปสู่การเหมารวมเพื่อเชื่อมโยงกับแนวคิดชาตินิยมของมลายู และต่อต้านคตินิยมทางการเมืองของไทย

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคปาตานี ก็เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของชาติพันธุ์ โครงการ RE/FORM/ING PATANI พยายามเน้นให้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ โดยแสดงให้เห็นถึงผลงานของศิลปินจากภูมิหลังทางวัฒนธรรมและสังคมที่หลากหลาย ศิลปินทั้งหลายเหล่านี้ต่างก็ต่อสู้กับประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางสังคม ทั้งในอดีตและปัจจุบันของในภูมิภาคนี้ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต สถาปัตยกรรม และความหลากหลายอื่นๆ

แนวทางในการสร้างผลงานศิลปะเหล่านี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า การตระหนักต่อความหลากหลายและวิถีชีวิตในท้องถิ่นมากขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยต่อสังคม ในทางกลับกัน จุดประสงค์ของพาวิลเลียนนี้ก็คือการสะท้อนแง่มุมบางอย่างของการเป็นคตินิยมสากล (ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่ไม่มีชาติหรือภาษาเป็นเครื่องผูกมัด) ในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคปาตานี ด้วยความหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นบทเรียนสำหรับผู้คนในรุ่นปัจจุบันที่เราจะก้าวไปสู่การสร้างอนาคตอันสงบสุข ด้วยเหตุนี้ นิทรรศการนี้จึงเป็นการพยายามเสาะหาหนทางในการฟื้นฟูและปฏิรูป การตีความคำว่า ‘ปาตานี’ ในแบบร่วมสมัย ไปพร้อมๆ กับการสร้างสรรค์และปรับปรุงสังคมปาตานีขึ้นมาใหม่ เพื่ออนาคตอันยั่งยืน”

คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริงเลยที่จะพูดว่า พาวิลเลียนปัตตานีถูกสร้างขึ้นมาจากรากฐานและหยาดเหงื่อแรงงานของศิลปินและสมาชิกของชุมชนแห่งนี้ โดยจุดศูนย์กลางของโครงการนี้ก็คือ ปัตตานี อาร์ตสเปซ (Patani Art Space) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 โดย เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ (Jehabdulloh Jehsorhoh) ศิลปินและอาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) โดยเขาตระหนักว่าดินแดนแห่งนี้แทบไม่มีพื้นที่สำหรับชุมชนศิลปะท้องถิ่นเลย ดังนั้นเขาจึงใช้พื้นที่ที่เป็นมรดกตกทอดของครอบครัวสร้างหอศิลป์แห่งแรกของปัตตานี โดยใช้เงินทุนจากการขายงานศิลปะของตัวเอง

ด้วยความช่วยเหลือจากชุมชนในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และเหล่าบรรดานักศึกษาของเขา หอศิลป์แห่งนี้เป็นอาร์ตสเปซแห่งแรกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลายเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ศิลปินท้องถิ่นมีโอกาสได้แสดงออกทางศิลปะ โดยมีจุดเด่นในการดึงตัวตนของท้องถิ่นออกมาประยุกต์ให้เกิดเป็นงานศิลปะร่วมสมัย รวมถึงเป็นพื้นที่ให้คนท้องถิ่นได้จัดกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์ต่างๆ หลากหลายนอกเหนือไปจากศิลปะด้วย

เช่นเดียวกับพาวิลเลียนของ RE/FORM/ING PATANI ที่เจะอับดุลเลาะเป็นคนริเริ่มขึ้นจากจุดเล็กๆ ในความพยายามในการสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นจากชุมชนท้องถิ่น แต่หลังจากปรึกษากับเพื่อนและผู้ร่วมงานชาวสิงคโปร์ เขาก็ตระหนักถึงศักยภาพในการขยับขยายกิจกรรมนี้ให้กลายเป็นโครงการหรือพาวิลเลียนในเทศกาลศิลปะ Bangkok Biennial และเริ่มต้นสำรวจความเป็นไปได้ของพื้นที่และผู้ร่วมงานอื่นๆ ไม่นานหลังจากนั้น พื้นที่อย่าง มลายู ลีฟวิ่ง (Melayu Living) และ ปัตตานีการ์เด้น อาร์ตสเปซ (Patani Garden Art Space) ก็มาเข้าร่วมในโครงการนี้ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ศิลปินที่เข้าร่วมก็ขยับขยายออกไปจากปัตตานี ไม่ว่าจะเป็น ศิลปินจากกรุงเทพฯ อย่าง จักกาย ศิริบุตร, อำพรรณี สะเตาะ และ ตะวัน วัตุยา ศิลปินจากญี่ปุ่นอย่าง ทาคุโระ โกทากะ (Takuro Kotaka) และศิลปินชาวสิงคโปร์อย่าง ฟิร์ฮานา อัลมะดิน (Firhana Almuddin) ชุมชนศิลปินท้องถิ่นและศิลปินรับเชิญจากต่างถิ่นเหล่านี้รวมพลังกันสร้างสรรค์ จัดการและติดตั้งผลงานศิลปะด้วยสมองและสองมือของตัวเอง โดยไม่มีทีมงานมืออาชีพในการติดตั้งหรือขนย้ายผลงานเลยแม้แต่น้อย ในช่วงเวลาเพียงสามเดือน พาวิลเลียนปัตตานีแห่งนี้ก็ถือกำเนิดขึ้นจากการอุทิศแรงกายแรงใจและความร่วมไม้ร่วมมือในการทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยของเหล่าบรรดาผู้ร่วมงานและผู้สนับสนุนทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็นผลงานของ จักกาย ศิริบุตร ศิลปินร่วมสมัยผู้เชี่ยวชาญในการทำงานกับสิ่งทอ ที่แสดงใน มลายู ลีฟวิ่ง อาคารคฤหาสน์เก่าแก่ที่เคยเป็นของตระกูลวัฒนายากร ซึ่งเคยเป็นเจ้าภาษีนายอากร หรือผู้ทำหน้าที่เก็บภาษีแทนรัฐบาลในอดีต ที่ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับแสดงนิทรรศการและเสวนาและกิจกรรมสร้างสรรค์อันหลากหลาย ผลงานของจักกายในพื้นที่นี้ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากชุมชนในท้องถิ่นโดยไม่คำนึงถึงอายุ ศาสนา เชื้อชาติ หรือเพศสภาพของพวกเขา โดยคนที่เข้าร่วมจะช่วยสร้างงานศิลปะตลอดระยะเวลาที่จัดนิทรรศการ ด้วยการออกแบบและปักเย็บลวดลายและเรื่องราวลงในผืนผ้าที่ได้มาจากเศษผ้าและเสื้อผ้าเก่าๆ และนำผืนผ้าเหล่านั้นแขวนแสดงในพื้นที่แสดงงาน รูปแบบ มิติ และลักษณะของงานศิลปะของจักกายชุดนี้จึงขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยศิลปินหวังว่าผู้เข้าร่วมจะได้สัมผัสกับการทำสมาธิผ่านกระบวนการทำซ้ำของการเย็บปักผ้า

กิจกรรมศิลปะของ จักกาย ศิริบุตร

หรือผลงานของ ตะวัน วัตุยา ที่แสดงในพื้นที่เดียวกัน เป็นอะไรที่เรียบง่ายอย่างการวาดภาพของเหล่าผู้คนท้องถิ่นในปัตตานี ด้วยเทคนิคสีน้ำอันชำนิชำนาญของเขา ตะวันถ่ายทอดใบหน้าของสามัญชนชาวปัตตานีออกมาได้อย่างอิสระเปี่ยมอารมณ์เป็นอย่างยิ่ง เป็นใบหน้าที่โดยเนื้อแท้แล้วก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกับคนธรรมดาอย่างเราเลย

ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ตะวัน วัตุยา

หรือในพื้นที่ศิลปะท่ามกลางธรรมชาติอันร่มรื่นอย่าง ปัตตานี การ์เด้น อาร์ตสเปซ ของ พิเชษฐ์ เปียกลิ่น กับผลงานศิลปะกลางแจ้งหลากหลายชิ้น ที่นอกจากจะมีผลงานศิลปะที่นำเสนอประเด็นทางการเมืองอันตึงเครียดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังเต็มไปด้วยผลงานศิลปะที่นำเสนอประสบการณ์ทางด้านประสาทสัมผัสและสภาวะทางจิต เสมือนหนึ่งเป็นสถานที่บำบัดและพื้นฟูจิตด้วยงานศิลปะก็ปาน

พื้นที่ศิลปะกลางแจ้ง ปัตตานี การ์เด้น อาร์ตสเปซ ของ พิเชษฐ์ เปียกลิ่น

หรือผลงานแลนด์อาร์ต ขนาดใหญ่ บนหาดดาโต๊ะ หาดทรายขาวสะอาดที่ทอดยาวสู่อ่าวไทย ของ โสภิดา รัตตะ (Sopida Ratta) ที่เป็นเศษผ้าสีสันสดใส ถักทอเป็นตาข่ายทอดคลุมบนหาดทรายริมฝั่งทะเล ที่น่าจะเป็นสัญลักษณ์แทนความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อ ที่เกี่ยวกระหวัดรัดตรึงเป็นสังคมปัตตานี

ศิลปะแลนด์อาร์ตบนหาดดาโต๊ะของ โสภิดา รัตตะ

หรือผลงานศิลปะที่ติดตั้งในบ้านเดิมของ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ หรือ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ผู้นำและปัญญาชนของชาวไทยมุสลิมโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้หายสาบสูญ หลงเหลือไว้เพียงประวัติศาสตร์อันชอกช้ำจากโศกนาฏกรรรมที่กระทำโดยภาครัฐอย่างโหดเหี้ยมและอยุติธรรม และความทรงจำที่ถูกบันทึกไว้ในผลงานที่ทำโดยศิลปินรุ่นหลังเหล่านี้

และจากข่าวคราวของเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เรื่องราวเล่าขานที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคปัตตานี มักเป็นเรื่องของความอันตรายและความไม่มั่นคง ศิลปินชาวปัตตานีหลายคนจึงนำเสนอผลกระทบของการก่อความไม่สงบและการปรากฏตัวของทหารในผลงาน ในฐานะที่มันเป็นส่วนหนึ่งอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตของพวกเขา

ไม่ว่าจะเป็นผลงานศิลปะจัดวางของ สุไฮดี ซะตา (Suhaidee Sata) ใน ปัตตานี การ์เด้น อาร์ตสเปซ ที่ทำงานศิลปะเกี่ยวกับสภาวะความไม่สงบในรูปแบบของ ‘ของเล่นอันตราย’ หลากหลายประเภท ที่แสดงสภาวะขั้วตรงข้ามของของเล่นเด็กอันสนุกสนานกับน้ำหนักของความรุนแรงและความตาย

ผลงานของ สุไฮดี ซะตา

เช่นเดียวกับผลงานของ เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ จากปัตตานี อาร์ตสเปซ ที่ใช้ภาพของอาวุธในผลงานหลายชิ้นของเขา เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การที่คนนอกพื้นที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับสังคมปัตตานีและชุมชนชาวมาเลย์มุสลิมในจังหวัดภาคใต้

ศิลปินเหล่านี้มีความปรารถนาในการลบเลือนและแทนที่เรื่องราวเล่าขานในแง่ลบเหล่านี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวตนที่แท้จริงของปัตตานีนั้นมีความซับซ้อนหลากหลาย และไม่สามารถนิยามอย่างมักง่ายและเหมารวมว่าเป็น พื้นที่แห่งความรุนแรง เท่านั้น

ดังเช่นในผลงาน Beauty after death ใน ปัตตานี อาร์ตสเปซ ของ อัซเดียนา ฮะซา (Asdiana Hasa) ผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานศิลปะในการเสาะแสวงหาความงดงามหลังความตาย และใช้พลังงานและอารมณ์ของศิลปะนี้เพื่อรับมือกับความเจ็บปวดในการสูญเสียพ่อจากความรุนแรง อัซเดียนาบันทึกความรู้สึกเหล่านี้ ผ่านรูปทรงของดอกไม้ ที่ถูกแกะ ลอกออกจากวัสดุสังเคราะห์ที่มีพื้นผิวเรียบ บาง และละเอียด เสมือนสาระที่แท้จริงของชีวิต บางครั้งมองได้เป็นผิวหนังที่เสื่อมสลายไป หรือเป็นผ้าห่มอุ่นยามหลับไหล หรือเป็นผ้าห่อศพสีหม่นของผู้จากไปตลอดกาล

หรือผลงานศิลปะจัดวางของ กรกฎ สังข์น้อย ที่ติดตั้งใน มลายู ลิฟวิ่ง อย่าง Thailand Moving Forward ที่นำเสนอความหวังสำหรับการเปลี่ยนแปลง ที่ได้แรงบันดาลใจจากความปรารถนาที่จะเห็นสังคมก้าวพ้นจากความวุ่นวายรอบข้าง ด้วยงานศิลปะจัดวางรูปเต่าเหล็กที่ถูกดึงรั้งโดยเส้นด้ายจำนวนนับไม่ถ้วนที่ก่อตัวเป็นสีของธงชาติ อันเป็นสัญลักษณ์ของความเคลื่อนไหวอย่างยากลำบาก ความตึงเครียด และความหวังในผลงานชิ้นนี้

ผลงาน Thailand Moving Forward ของ กรกฎ สังข์น้อย

หรือในผลงานจิตรกรรมจัดวางของ อาหามะ ซาอิ (Ahama Sa-i) ใน ปัตตานี อาร์ตสเปซ ที่ขยายขอบเขตก้าวพ้นไปจากความเป็นส่วนตัวและสังคม เพื่อมุ่งเน้นในการนำเสนอความงดงามของโลก โดยได้แรงบันดาลใจจากคำสอนของศาสนาอิสลามเกี่ยวกับความสมดุลและความเป็นเอกภาพในจักรวาล ถึงแม้ภาพลักษณ์ของความรุนแรงจะแผ่กระจายไปทั่วพื้นที่ทั้งทางกายภาพและจินตภาพของปัตตานี แต่ศิลปินในพื้นที่แห่งนี้ก็ยังคงต่อสู้กับมายาคติเหล่านี้อย่างเข้มข้นตลอดมา

สิ่งเหล่านี้ถูกขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยพลังและความสามารถอันรุ่มรวยของเหล่าบรรดาศิลปินหน้าใหม่จากรั้ว ม.อ.ปัตตานี ที่ฝึกฝนเล่าเรียนและทำงานศิลปะในรูปแบบและแนวทางอันหลากหลายอย่างเหลือเชื่อ

ไม่ว่าจะเป็นผลงานในปัตตานี อาร์ตสเปซ ของ อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ผู้ทำงานศิลปะที่ทำเสนอประเด็นที่บรรจบกันระหว่าง เพศวิถี เพศสภาพ ศาสนา วัฒนธรรม ไปจนถึงความเป็นชาตินิยม ที่ส่งผลต่อสภาพความวุ่นวายของสังคมไทยในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยก ความขัดแย้ง จากมายาคติเหล่านี้ ด้วยผลงานภาพวาดที่ผสมผสานแรงบันดาลใจจากผลงานของศิลปินชั้นครูของตะวันตก (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอกอน ชีเลอ (Egon Schiele)) เข้ากับงานจิตรกรรมไทยประเพณี รวมถึงงานศิลปะการแสดงสด อันสุดแสนจะหาญกล้าท้าทายอย่างยิ่ง

ผลงานของ อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล

หรือผลงานของ มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ (Muhammadtoha Hajiyusof) ใน มลายู ลิฟวิ่ง กับการชิมลางศิลปะจัดวางที่ต่อยอดจากผลงานจิตรกรรมที่มุ่งเน้นในการสำรวจทัศนมิติ (perspective) และโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของเขา ด้วยผลงานประติมากรรมจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site Specific Installation Sculpture) ที่ประกอบขึ้นจากโครงเหล็กเส้นก่อสร้างและเศษชิ้นส่วนจากอาคารเก่าที่เป็นพื้นที่แสดงงาน

ผลงานของ มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ

หรือผลงานของ ซัลวาณี หะยีสะแม (Salwanee Hajisamea) อย่าง ‘Patani Kitchen’ ในพื้นที่เดียวกัน ที่ใช้อาหารและการครัวท้องถิ่นในการบอกเล่าถึงความเป็นเอกลักษณ์ของปัตตานีผ่านสื่อพื้นบ้านอย่างการเย็บปักถักร้อย

ผลงาน Patani Kitchen ของ ซัลวาณี หะยีสะแม

และผลงานของ ฟีร์ฮานา อัลมัดดิน (Firhana Almuddin) อย่าง #pataniplayhouse ผู้เคยมาเยี่ยมเยือนปัตตานีเป็นประจำมาตั้งแต่ปี 2003 ในช่วงที่สังคมปัตตานีก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น เธอหวนรำลึกถึงความสุขความเพลิดเพลิน ความสบายและความอบอุ่นในเวลานั้นด้วยผลงานที่นำเสนอความหวังของเธอในการย้อนกลับไปสู่สภาวะสังคมที่สงบสุขอย่างที่เธอรัก ด้วยผลงานศิลปะจัดวางรูปศาลาหย่อนใจทาสีขาวสลับแดงติดติดตั้งริมท้องทุ่งนาใน ปัตตานี อาร์ตสเปซ ที่ได้แรงบันดาลใจจากเครื่องกีดขวางสีขาวสลับแดงที่พบเห็นได้ตามด่านตรวจในปัตตานี ที่ถึงแม้สิ่งเหล่านี้ที่ปรากฎพร้อมกับทหารจะกลายเป็นเรื่องปกติในพื้นที่ และจุดตรวจเหล่านี้ก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องย้ำเตือนว่าสถานการณ์อาจเปลี่ยนไปเป็นเลวร้ายที่สุดได้ในทุกห้วงขณะ หากแต่การจับคู่เปรียบของสีสันอันจัดจ้านรุนแรงของด่านตรวจและศาลาหย่อนใจอันสดใสร่าเริงนั้นแสดงออกถึงความหวังที่เธอมีต่ออนาคตของปัตตานีต่อไปในอนาคตข้างหน้า

ผลงาน #pataniplayhouse ของฟีร์ฮานา อัลมัดดิน

ถึงแม้จะมุ่งเน้นในการนำเสนอเรื่องราวในชุมชนท้องถิ่นของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน ศิลปินรุ่นใหม่เหล่านี้ก็ยังนำเสนอความเป็นไปได้ของวงการศิลปะปัตตานีที่ขยายขอบเขตออกสู่สากลและก้าวข้ามความผิดพลาดที่ผ่านมา

โดยพื้นฐานแล้ว สิ่งที่เป็นขุมพลังอยู่เบื้องหลังโครงการศิลปะ RE/FORM/ING PATANI นั้นคือความหวัง มันคือการแสดงออกของความแตกต่างหลากหลาย และเป็นความพยายามในการก่อร่างและปฏิรูปแนวคิดที่ว่า ปัตตานีคืออะไร? และมันสามารถเป็นอะไรได้บ้าง?

และเช่นเดียวกับงานเปิดเทศกาลศิลปะร่วมสมัย Bangkok Biennial 2018 ที่สลายความศักดิ์สิทธิ์เคร่งขรึมของพิธีเปิดงานศิลปะและดึงศิลปะให้เข้าใกล้ชิดกับวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน ด้วยกิจกรรมการร่วมกันเต้นแอโรบิกหมู่เปิดงานกันอย่างครื้นเครง

นิทรรศการ RE/FORM/ING PATANI ก็ทำลายความเจ้ายศเจ้าอย่างของพิธีเปิดงานศิลปะ และหลอมรวมศิลปะเข้ากับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นอย่างกลมกลืน ด้วยการแข่งพายเรือกอและ เป็นการโหมโรงการเปิดงานกันอย่างสนุกสนานเร้าใจ นอกจากการแสดงศิลปะแล้ว ในงานยังมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่นๆ อย่าง การอ่านบทกวี ฉายหนังสั้น และการแสดงหนังตะลุงมลายู ที่นอกจากจะเพลิดเพลินแล้วยังเป็นการลดช่องว่างและความห่างเหินระหว่างศิลปะและผู้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

กิจกรรมการเปิดงานนิทรรศการ RE/FORM/ING PATANI ที่ปัตตานี อาร์ตสเปซ

กิจกรรมการแข่งพายเรือกอและ โหมโรงการเปิดงาน RE/FORM/ING PATANI

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ ถ้าหากเราไม่ได้ลงไปสัมผัสและรับรู้ด้วยตัวเอง เราก็คงไม่มีวันรับรู้เลยว่า ดินแดนปัตตานีแห่งนี้ ไม่ใช่สถานที่ที่น่าหวาดกลัวและเปี่ยมอันตรายแต่เพียงถ่ายเดียวอย่างที่เราเคยเข้าใจ หากแต่เป็นดินแดนอันรุ่มรวยด้วยศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันหลากหลายอย่างที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน ส่วนคุณจะเชื่อหรือไม่นั้น ก็คงต้องไปพิสูจน์กันด้วยตัวเองนั่นแหละนะ

RE/FORM/ING PATANI จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม ถึง 28 ตุลาคม 2018 ใครสนใจจะเดินทางไปชมก็สอบถามรายละเอียดได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก @RE.FORM.ING.PATANI โทรศัพท์ 091 328 2791 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ sara.lje@gmail.com

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก RE/FORM/ING PATANI, Patani Artspace

Tags: , , ,