วันเสาร์ที่ผ่านมา หลังจากชวนแก๊งก๊วนไปเยือนร้านปิ้งย่างในตำนานที่ตึกธนิยะ สีลม ซึ่งจะเปิดบริการเป็นวันสุดท้ายก่อนย้ายร้าน หลังจากอิ่มหนำสำราญแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ด้วยความที่ต้องใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งสถานีตั้งอยู่หน้าโรงแรมดุสิต จึงทำให้ต้องเดินลัดเลาะฟุตบาทแถบสีลม (ฝั่งเซ็นทรัล) ที่เต็มไปด้วยร้านขายของข้างทาง ซึ่งเปลี่ยนไปจากซีดีหนังโป๊เมื่อ 20 ปีที่แล้วมาเป็นของเบ็ดเตล็ดตั้งแต่เคสโทรศัพท์มือถือไปจนถึงเสื้อผ้า
สายตาพลันไปเจอกับ ‘หน้ากากอนามัย’ ที่วางขายปลีกแยกเป็นชิ้นและแบบหลายชิ้น แต่เท่าที่เห็นคือจำนวนไม่น้อย ในใจคิดว่า “ไหนว่าขาดตลาดยะ แปลว่านายกฯ พูดจริง หน้ากากไม่ได้ขาดตลาดสักหน่อย” จึงรีบแถตัวเข้าไปกะว่าจะซื้อเก็บไว้ใช้ส่วนตัวและแจกเพื่อนฝูง แต่พอเห็นป้ายราคาที่ติดไว้ก็ทำให้ชะงัก “30 บาท” ใช่หน้ากากอนามัยราคา 30 บาทต่อชิ้น จากที่เคยซื้อราคาชิ้นละไม่ถึง 2 บาทด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้มันกลายเป็นแรร์ไอเท็ม ราคาพุ่งสูงขึ้นยิ่งกว่าทองคำด้วยซ้ำไป
หน้ากากอนามัยไม่ได้ขาดตลาด แต่ไม่สามารถซื้อได้ในราคาถูกตามตลาดทั่วไปต่างหาก
เดินสำรวจร้านอื่นๆ ที่มีมากกว่า 10 ร้านตามฟุตบาทสีลมก็พบว่า ราคาไม่ต่างกันมากนัก มีตั้งแต่ 30 บาทไปจนถึง 50 บาทต่อชิ้น อาจจะเป็นเพราะนี่คือย่านการท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยฝรั่งหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติเม็ดเงินหนา จึงทำให้อะไรๆ ก็พลอยราคาแพงไปด้วย แต่หลังจากโทรถามเพื่อนก็ได้ทราบว่าราคาทั่วไปตอนนี้ก็ประมาณ 20-25 บาทต่อชิ้นเช่นเดียวกัน
ทำไมหน้ากากอนามัยถึงราคาแพง
หลังจากครม. ประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามมาด้วยข่าวการเปิดขายหน้ากากอนามัยที่หน้าทำเนียบในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ซึ่งขายในราคาแพ็กละ 25 บาท (10 ชิ้น) ตกราคาชิ้นละ 2.5 บาท ก่อนจะโดนกระแสโซเชียลมีเดียถล่มเพราะราคาแพง (แพงว่าองค์การเภสัช ที่ขายชิ้นละ 1 บาท) และที่สำคัญควรเป็นการแจกฟรีมากกว่า จนสุดท้ายก็ทำให้ยกเลิกการขายไป แต่หลังจากนั้น ราคาก็ขึ้นเอาๆ
ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยประมาณ 11 โรงงาน มีกำลังการผลิตจำกัดที่ 1,350,000 ชิ้นต่อวัน ซึ่งล่าสุด (2 มี.ค.) กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในมีการจัดระเบียบโรงงานผลิตกระจายหน้ากากให้แบ่งการจำหน่ายออกเป็น 2 ส่วน คือ จัดสรรให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข รวมวันละ 600,000 ชิ้น โดยแบ่งให้บุคลากรทางการแพทย์ 350,000 ชิ้น ผ่านโรงพยาบาลโดยตรง 150,000 ชิ้น ผ่านองค์การเภสัชกรรม 200,000 ชิ้น และแบ่งให้กรมการค้าภายใน 250,000 ชิ้น เพื่อกระจายไปยังร้านขายยา ร้านธงฟ้า เซเว่นอีเลฟเว่น บิ๊กซี เทสโก้โลตัส ขายให้ประชาชนคนละไม่เกิน 1 แพ็กๆ 10 บาทมี 4 ชิ้น (ราคาชิ้นละ 2.50 บาท) นอกจากนี้ในส่วนที่เหลืออีก 750,000 ชิ้น/วัน ให้โรงงานสามารถดำเนินการบริหารจัดการการค้าได้ตามปกติ
จากการพูดคุยกับพ่อค้าขายปลีก (ในตลาดออนไลน์) เขากล่าวว่า ก่อนหน้านี้ราคาหน้ากากอนามัยลงแล้วในช่วงที่รัฐบาลประกาศห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย แล้วราคาก็ถีบตัวสูงขึ้นอีกครั้งหลังมีประกาศฉบับใหม่ที่ให้ส่งออกได้ ซึ่งในขณะนี้ราคาขายปลีกจากโรงงานตกอยู่ที่ชิ้นละ 6 บาท ราคาพ่อค้าคนกลางทอดต่อมาคือ 8-9 บาทต่อชิ้น ในขณะที่ราคาขายปลีกแบบกล่องในตลาดออนไลน์ ก่อนจะนำไปขายปลีก ตกราคาประมาณชิ้นละ 13-18 บาท (ขึ้นอยู่กับจำนวนการซื้อ) และอาจจะมีปลีกของปลีกอีกตามที่เห็นริมฟุตบาทตามที่ต่างๆ ในราคาชิ้นละ 20-30 บาทอีกที
สิ่งที่น่าสนใจก็คือมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้จำหน่ายหน้ากากอนามัยชิ้นละ 2 บาท นั่นคือพาดหัวข่าว แต่เมื่ออ่านรายละเอียดจะพบว่า ประกาศข้อ 3 กล่าวว่า
“ให้ผู้ผลิต ตัวแทนจำหน่าย ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ปันส่วนหน้ากากอนามัยไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของปริมาณการผลิต หรือปริมาณที่ครอบครอง แล้วแต่กรณี และจำหน่ายหน้ากากอนามัยจำนวนดังกล่าวให้แก่ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ในราคาไม่เกิน 2 บาท เพื่อบริหารจัดการให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ”
ซึ่งหมายความว่าราคาไม่เกิน 2 บาทนั้น คือราคาขายแก่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ไม่ใช่การออกประกาศควบคุมราคาขายปลีกทั่วไปในท้องตลาด และแม้จะมีการประกาศจากทางกระทรวงพาณิชย์ว่า หากพบว่ามีการจำหน่ายสินค้าตามร้านค้าต่างๆ หรือในช่องทางค้าขายออนไลน์ ในราคาสูง สามารถโทรศัพท์แจ้งรายละเอียดต่อกระทรวงพาณิชย์ได้ทันทีที่หมายเลขโทรศัพท์ 1569 ก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีการกำหนดว่า แล้วคำว่า ‘ราคาสูง’ นั้น สูงกว่าเท่าไร
หน้ากากอนามัยจึงเหมือนกับสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ทุกครั้งภาครัฐลงไปตรวจสอบก็จะไม่พบว่ามีการขายในราคาสูงเกินกว่าที่กำหนด แต่เมื่อเราไปซื้อเองก็ไม่เคยได้ตามราคาที่กำหนดไว้สักที
แล้วหน้ากากอนามัยหายไปไหนหมด
จากข่าวสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในโรงพยาบาลเอกชน จะพบว่าปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่มีการกล่าวถึงในประเด็นนี้เป็นเพราะ “กรมการค้าภายในได้ประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม และโรงงานผู้ผลิตต้องจัดส่งให้กับกรมการค้าภายในเท่านั้น ไม่สามารถจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลเอกชนได้ และโรงพยาบาลเอกชนได้ติดต่อขอซื้อหน้ากากอนามัยจากทางการการค้าภายใน แต่ได้รับคำตอบว่า ให้แจ้งเข้าไปเพื่อเข้าระบบการรอคิว”
นอกจากนี้ จากการโทรศัพท์พูดคุยสอบถามกับเซลล์ที่รับผิดชอบในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์เข้าสู่โรงพยาบาล ได้ข้อมูลมาว่า การขาดแคลนหน้ากากอนามัยนั้นเป็นเพราะปริมาณและความต้องการในการใช้ที่เพิ่มสูงมากขึ้น ในขณะที่ทางโรงพยาบาลก็ไม่สามารถเพิ่มยอดในการสั่งซื้อได้ เพราะนอกจากโรงงานจะต้องปันส่วนการผลิตแก่กรมการค้าภายในแล้ว ยังมี ‘เจ้าประจำ’ ที่ต้องส่งจำหน่ายอีกด้วย ซึ่งทำให้ไม่สามารถเพิ่มปริมาณการการจำหน่ายแก่ผู้ที่จะเพิ่มยอดการสั่งซื้อได้ และในยอดการสั่งซื้อปกตินั้นราคาก็ยังเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
สิ่งที่น่าสนใจจากการพูดคุยกับเซลล์ที่สามารถจัดซื้อหน้ากากอนามัยได้ก็คือ เซลล์สามารถหาของมาให้ได้ใน ‘ล็อตใหญ่’ โดยไม่บอกที่มาว่าของนี้สั่งตรงมาจากโรงงานหรือที่ใด แต่สามารถจัดส่งให้ได้คราวละไม่เกิน 1 แสนชิ้น (ในกรณีที่สั่งซื้อมากกว่า 1 แสนชิ้น) เท่านั้น ไม่สามารถส่งมอบให้ทีเดียวได้ และที่สำคัญก็คือมีการกล่าวกันว่าการซื้อขาย ‘ล็อตใหญ่’ นี้ส่วนมากมีค่าหัวคิวอยู่ที่ประมาณ 1%
“หรือไม่บางที อาจจะไม่ต้องล็อตใหญ่มาก แค่บวกเพิ่มชิ้นละ 1 บาท ขาย 1 แสนชิ้นก็ได้ 1 แสนบาทแล้วพี่”
ก่อนหน้านี้เซลล์ที่ได้พูดคุยกันนี้เล่าว่า พยายามจะหาหน้ากากอนามัยให้กับ ‘ผู้ที่สั่ง’ จำนวน 1 แสนชิ้น และสามารถติดต่อผู้ขายได้แล้ว แต่ได้ในราคาชิ้นละ 12.5 บาท จึงทำให้ผู้ซื้อปฏิเสธ แต่ในท้ายที่สุดผู้ซื้อรายนี้ก็สามารถติดต่อหาซื้อได้เองในราคาชิ้นละ 11 บาท
“ตอนนี้คนไม่ค่อยมีของแบบเยอะๆ แล้ว อย่างมากก็หลักพันชิ้น หรือแบบที่มีของเยอะๆ ก็จะเป็นหน้ากากอนามัยแบบปนๆ กันไป ไม่ได้เป็นแบบเดียว ยี่ห้อเดียว ซึ่งคิดว่าก็น่าจะเป็นการรวมรวม (เก็บไว้ ?) มาจากหลายๆ ที่ ล่าสุดมีน้องคนหนึ่งติดต่อมาให้หาของให้ เขาก็ได้ไป 3,000 ชิ้น ในราคาชิ้นละ 12.5 บาท ก็มาจากเจ้าที่จะขายแสนชิ้นแต่ลูกค้าไม่เอานั่นแหละ” แหล่งข่าวเล่า
ไม่เพียงแค่นั้นเมื่อได้เข้าไปอยู่ในกลุ่ม (เฟซบุ๊ก) การซื้อขายหน้ากากอนามัยออนไลน์ ซึ่งมีการขายตั้งแต่แบบเป็นกล่อง กล่องละ 50 ชิ้น ไปจนถึงหลักเป็นล็อต ล็อตละ 5-6 หมื่นชิ้นก็จะพบว่า นอกจากหน้ากากอนามัยล็อตใหม่ๆ ที่ ‘บางเป็นพิเศษ’ แล้ว (ทั้งชั้นเดียวและสองชั้น) ยังมีอีกหลากหลายผู้ขายที่ขายหน้ากากอนามัยจำนวนปริมาณมาก ที่มี ‘ใบรับรองแพทย์’ การันตีสินค้ามาด้วย (ซึ่งก็จะมีราคาสูงกว่าพวกที่ขายแบบไม่มีกล่อง)
ในวงการการซื้อขายหน้ากากอนามัยออนไลน์ เล่ากันว่ายอดสั่งซื้อหลักล้านชิ้นขึ้นไปในตอนนี้ มาจากต่างประเทศทั้งนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศจีน ซึ่งหน้ากากอนามัยที่มีการซื้อขายกันนี้ ไม่ได้มาจากภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังนำเข้ามาจากต่างประเทศด้วย (ไม่มีการเปิดเผยว่าต้นทางการผลิตมาจากประเทศใด) ส่งผ่านมาทางประเทศเมียนมา ซึ่งสินค้าในส่วนนี้มีทั้งการตัดล็อตมาขายวนในประเทศ และเป็นเพียงแค่การรับมา กินค่าหัวคิวแล้วส่งต่อไปยังประเทศจีน
การการเช็กราคาในประเทศจีนล่าสุด เว็บไซต์ JD.com ซึ่งเปิดขายหน้ากากอนามัยเป็นเวลา ราวๆ 2 ชั่วโมงต่อวัน หน้ากากเด็ก 10 ชิ้น 19.8 หยวน (ชิ้นละประมาณ 9 บาท) หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 10 ชิ้น 19.9 หยวน (ชิ้นละประมาณ 9 บาท) ส่วน Tmall ขายหน้ากากอนามัยธรรมดา 30 ชิ้น 96 หยวน (ชิ้ละประมาณ 14-15 บาท)
อ้างอิง
https://themomentum.co/govt-selling-mask-procedure/
https://themomentum.co/ministry-of-health-mask/
https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/120536
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/044/T_0017.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/040/T_0011.PDF
Tags: โคโรนาไวรัส, หน้ากากอนามัย, โควิด-19