ไฟลุกลามไปทั่วในเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซียมานานกว่าหนึ่งเดือน รัฐบาลอินโดนีเซียส่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหลายพันคนเข้าดับเปลวไฟ คาดว่าเหตุของเพลิงไหม้มาจากการเตรียมหน้าดินด้วยวิธีเผาหญ้าเพื่อเตรียมปลูกปาล์มและไม้เศรษฐกิจอื่นๆ 

ไฟไหม้บริเวณกว้างเกิดขึ้นบนเกาะบอร์เนียว และยากที่จะดับได้ง่าย เพราะพื้นที่นั้นประกอบไปด้วยซากพืชที่ทับถมกันมานานอันเป็นกระบวนการแรกที่จะก่อให้เกิดถ่านหินหรือที่เราเรียกกันว่าพีท (Peat) ทั้งยังมีความลึกและความหนาแน่นในพื้นดิน จึงทำให้ติดไฟง่ายและยากที่จะดับ บางครั้ง เมื่อเกิดการเผาไหม้อาจจะกินเวลาแรมเดือนหรือเป็นปีได้ 

ช่วงวันที่ 8-15 กันยายนที่ผ่านมา ประมาณ 43% ของการเกิดเพลิงไหม้ในเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวอยู่ในพื้นที่ป่าพรุที่มีคาร์บอนสูง นอกจากนี้ จากภาพถ่ายของนาซ่ายังเห็นว่า พื้นที่บนชายฝั่งตะวันตกของเกาะบอร์เนียวถูกปกคลุมด้วยไฟที่ลุกลามขนาดใหญ่ และดูเหมือนจะแพร่กระจายเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ Mount Palung ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เช่นลิงอุรังอุตังและลิงโพรพีซิสอีกด้วย โดยขณะนี้คาดว่า พื้นที่ที่มีไฟไหม้นั้นมีขนาดประมาณ 22 เท่าของสวนเซ็นทรัลพาร์กในนิวยอร์ก หรือประมาณ 77 ตารางกิโลเมตร

ไม่เพียงแต่การทำลายพื้นที่ป่า ไฟไหม้ครั้งนี้ยังก่อให้เกิดมลพิษและหมอกควันมากมาย ดัชนีมาตรฐานมลพิษ (PSI) ในเมืองปาลังการายาซึ่งเป็นเมืองหลวงของกาลิมันตันกลางของเกาะบอร์เนียว เมื่อต้นเดือนนี้สูงถึง 500 หรืออยู่ในขั้นเป็น ‘อันตราย’ โดยข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ของอินโดนีเซียระบุว่า ดัชนีมาตรฐานมลพิษที่สูงกว่า 100 ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ 

นอกจากนี้ หมอกควันยังส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในมาเลเซียโดยเฉพาะบนเกาะซาราวักและซาบาห์ รวมไปถึงประเทศสิงคโปร์ ทางการมาเลเซียต้องสั่งปิดโรงเรียนหลายร้อยแห่งและส่งหน้ากากกว่าครึ่งล้านชิ้นไปให้ประชาชนในซาราวักเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ควันเพิ่มขึ้นสู่ระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ไฟไหม้ในอินโดนีเซียครั้งนี้ส่งผลให้เกิดคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศสูงขึ้นอีกด้วย และคาร์บอนหล่านี้ประกอบด้วยอนุภาคละเอียดที่เรียกว่า PM2.5 ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพและสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ยังพบว่าในภาคใต้ของประเทศไทย เกิดมลพิษฝุ่นควันปกคลุมทั่วทั้งพื้นที่ ทั้งจังหวัดสตูล สงขลา ยะลา และปัตตานี โดยเฉพาะ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ค่า PM2.5 มีค่าสูงถึง 127 มคก./ลบ.. ซึ่งสูงเกินมาตรฐานและอยู่ในระดับที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรง จนต้องแจ้งเตือนประชาชนงดกิจกรรมกลางแจ้ง และสวมใส่หน้ากากป้องกัน N95 เมื่อออกนอกอาคาร

 

อ้างอิง

  • https://graphics.reuters.com/SOUTHEASTASIA-HAZE/0100B2B91DS/index.html
  • https://www.channelnewsasia.com/news/asia/indonesia-firefighters-peatland-blaze-uphill-battle-11917658
  • https://www.hatyaifocus.com/ข่าว/10220

 

ภาพ : Willy Kurniawan/REUTERS

Tags: , , ,