ทุกๆ ปี บีบีซี (BBC) จะสำรวจวงการฟุตบอลในสหราชอาณาจักรและบางสโมสรใหญ่ๆ ในยุโรป การสำรวจนี้เรียกว่า Price of Football เน้นสำรวจค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่แฟนบอลต้องจ่ายในการดูบอลแต่ละครั้ง

Price of Football 2017 ที่เพิ่งออกมาแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจหลายด้าน โดยเฉพาะความพยายามแก้ปัญหาราคาตั๋วแพง สโมสรพรีเมียร์ลีกส่วนใหญ่ลดหรือตรึงราคาค่าตั๋วไม่ให้สูงขึ้น พยายามดึงแฟนบอลหนุ่มสาวเข้าสนามด้วยการลดราคาตั๋วให้เป็นพิเศษเข้าไปอีก แต่ถึงอย่างนั้นกลับพบว่าคนหนุ่มสาวอังกฤษก็ยังไม่เข้าสนามอยู่ดี

 

ทำความรู้จัก Price of Football

Price of Football คือการสำรวจที่บีบีซีทำเป็นประจำทุกปี ลักษณะของมันก็ตรงตัวตามชื่อ คือว่ากันด้วย ‘ราคาของฟุตบอล’ แต่ไม่ได้หมายถึงราคาค่าตัวหรือค่าจ้างของนักฟุตบอลอย่างที่เห็นกันตามข่าวกีฬาทั่วไป การสำรวจนี้สนใจชีวิตและค่าใช้จ่ายที่แฟนบอลตาดำๆ ต้องจ่ายเพื่อดูบอล หรือเรียกอีกอย่างว่าตัวเลขพวกนี้แหละที่สะท้อนถึงฟุตบอลของปุถุชนคนธรรมดาจริงๆ ไม่ใช่ค่าเหนื่อยมูลค่ามหาศาลของนักฟุตบอลเศรษฐีที่ไกลห่างจากตัวเราเหลือเกิน

ทุกๆ ช่วงปลายปี บีบีซีจะติดต่อไปยังสโมสรฟุตบอลเพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับราคาของการให้บริการต่างๆ ของแต่ละสโมสร โดยใน Price of Football 2017 นี้ได้ข้อมูลจากสโมสรในสหราชอาณาจักร 202 แห่งและสโมสรใหญ่ๆในยุโรปอีก 30 แห่ง ค่าใช้จ่ายที่บีบีซีเลือกใช้เป็นดัชนีชี้วัดเริ่มจากค่าใช้จ่ายพื้นฐานอย่างค่าตั๋วปี ค่าตั๋วรายนัด เสื้อแข่ง หนังสือโปรแกรมการแข่งขัน ค่าไปดูบอลนัดเยือน รวมไปถึงอาหารการกินยอดฮิตที่สนามของแฟนบอลอังกฤษอย่างน้ำชาและพาย เรียกว่าสำรวจไปถึงปากท้องของแฟนบอลเลย

 

การสำรวจนี้สนใจชีวิตและค่าใช้จ่ายที่แฟนบอลตาดำๆ ต้องจ่ายเพื่อดูบอล ไม่ใช่ค่าเหนื่อยมูลค่ามหาศาลของนักฟุตบอลเศรษฐีที่ไกลห่างจากตัวเราเหลือเกิน

ผลจากการสำรวจจะถูกนำมาประมวลผลว่าแฟนบอลต้องจ่ายมากน้อยแค่ไหนในการไปดูบอลแต่ละครั้ง และยิ่งมีผลสำรวจต่อเนื่องหลายๆ ปีก็จะยิ่งเห็นแนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจหลายอย่าง

 

(Over) Price of Football กับปัญหาที่ลีกอังกฤษกำลังรีบแก้

เนื่องจาก Price of Football เป็นการสำรวจของบีบีซี จึงเน้นความสำคัญไปที่พรีเมียร์ลีกอังกฤษเป็นพิเศษ แต่เอาจริงๆ ก็อาจไม่ใช่แค่นั้น สิ่งที่ทำให้พรีเมียร์ลีกถูกพูดถึงมากก็เป็นเพราะมันแพงกว่าลีกอื่นๆ เป็นพิเศษด้วย

ผลจาก Price of Football ในแต่ละปีชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพรีเมียร์ลีกอังกฤษนั้นราคาแพงกว่าลีกอื่นๆ ทั้งในประเทศและทั่วยุโรปอย่างเห็นได้ชัด ราคาโดยเฉลี่ยของตั๋วปีแบบถูกสุดของแต่ละสโมสรในพรีเมียร์ลีกอยู่ที่ 464 ปอนด์ (ประมาณ 20,000 บาท) ตั๋วปีแบบแพงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 843.58 ปอนด์ (ประมาณ 37,000 บาท​)

ถ้าไล่เป็นรายสโมสรจะพบว่าสโมสรพรีเมียร์ลีกที่ตั๋วปีแพงที่สุดคืออาร์เซนอล (ที่แม้จะไม่ได้แชมป์ลีกแต่ก็ครองแชมป์ค่าตั๋วมาหลายสมัยแล้ว) ตั๋วปีแบบถูกสุด-แพงสุดของอาร์เซนอลอยู่ที่ 891-1,768.50 ปอนด์ รองลงมาเป็นสเปอร์สที่ 645-1,700 ปอนด์ และเชลซีที่ 750-1,250 ปอนด์ (ทั้งสามอันดับแรกเป็นสโมสรในลอนดอนที่ค่าครองชีพแพงลิบ)

ขณะที่สโมสรใหญ่ๆ ของลีกอื่นอย่างเช่นบาเยิร์น แชมป์บุนเดสลีกาอยู่ที่แค่ 125.36-671.55 ปอนด์ ส่วนบาร์เซโลนาอยู่ที่ 87.78-737.24 ปอนด์ เรียกว่าพรีเมียร์ลีกแพงกว่าลีกอื่นแบบไม่เห็นฝุ่น

 

ผลจาก Price of Football ในแต่ละปีชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพรีเมียร์ลีกอังกฤษนั้นราคาแพงกว่าลีกอื่นๆ ทั้งในประเทศและทั่วยุโรปอย่างเห็นได้ชัด

หรือถ้าจะเทียบ เงินค่าตั๋วปีแบบถูกสุดของบาร์เซโลนา ยังซื้อตั๋วปีแบบถูกสุดของสโมสรในเนชันแนลลีกหรือลีกระดับ 5 ของอังกฤษไม่ได้แม้แต่สโมสรเดียวเลยด้วยซ้ำ!

อย่างไรก็ดี แชมป์ตั๋วปีแพงที่สุดในยุโรปก็ยังไม่ใช่อาร์เซนอล เพราะเปแอสเช สโมสรเงินถังจากเมืองหลวงของฝรั่งเศสก็ขายตั๋วปีแบบแพงสุดถึง 2,817.50 ปอนด์ (แต่ตั๋วปีแบบถูกสุดของเปแอสเชก็ราคาแค่ 357.26 ปอนด์)

เหตุผลที่ราคาตั๋วเป็นประเด็นสำคัญก็เพราะช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ปัญหาหนึ่งที่แฟนบอลยุโรป (โดยเฉพาะสโมสรใหญ่ๆ ในอังกฤษ) เดือดร้อนกันก็คือราคาตั๋วที่เพิ่มสูงขึ้นจนแฟนบอลท้องถิ่นไม่มีกำลังซื้อมากพอจะเข้าสนาม กลายเป็นว่าสนามฟุตบอลเต็มไปด้วยชนชั้นกลางกับนักท่องเที่ยว อย่างที่มีเสียงบ่นมาเรื่อยๆ เกี่ยวกับบรรยากาศบนอัฒจันทร์ที่ไม่เร้าใจอย่างเคย

ที่มาของปัญหาดังกล่าวมาจากการกลายเป็นธุรกิจ (commercialization) ของฟุตบอลที่ทำให้ฟุตบอลลีกยอดฮิตกลายเป็นธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ที่บริโภคกันไปทั่วโลก หรือพูดอีกแบบก็คือความนิยมที่มากขึ้นนี่แหละที่ทำให้คนท้องถิ่นเข้าถึงฟุตบอลได้ยากขึ้น ในอังกฤษ ช่วงหลายปีหลังมานี้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มแฟนบอลอิสระทั้งระดับสโมสรและระดับชาติหลายกลุ่มเพื่อเรียกร้องเรื่องค่าตั๋วที่แพงเกินจะทน ถ้าใครที่สนใจเรื่องนอกสนามหญ้าเสียหน่อยก็น่าจะเคยเห็นป้ายบนอัฒจันทร์ที่มีข้อความว่า supporter not customer หรือกระทั่ง against modern football ที่มีนัยสื่อไปถึงประเด็นนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี แม้จะดูว่าราคาแพงเหลือเกิน แต่หากเทียบผลสำรวจจาก Price of Football ในแต่ละปีจะพบว่าสโมสรในพรีเมียร์ลีกส่วนมากเริ่มลดหรือตรึงราคาตั๋วไม่ให้สูงขึ้น ราคาตั๋วปีโดยเฉลี่ยของสโมสรพรีเมียร์ลีกนั้นลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สองติดต่อกันแล้ว แถมยังลดลงจนต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013

การกลายเป็นธุรกิจ (commercializatio

n) ของฟุตบอลทำให้ฟุตบอลลีกยอดฮิตกลายเป็นธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ที่บริโภคกันไปทั่วโลก ความนิยมที่มากขึ้นนี่แหละที่ทำให้คนท้องถิ่นเข้าถึงฟุตบอลได้ยากขึ้น

สโมสรฮัดเดอส์ฟิลด์ที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นพรีเมียร์ลีกลดราคาตั๋วปีแบบถูกสุดจาก 179 ปอนด์ เป็น 100 ปอนด์ ส่วนลิเวอร์พูลมีโครงการตั๋วราคาพิเศษสำหรับคนท้องถิ่นที่ขายตั๋วราคาแค่ 9 ปอนด์นัดละ 500 ใบให้คนท้องถิ่นโดยเฉพาะ นอกจากนี้แล้ว ทุกสโมสรยังมีข้อตกลงร่วมกันที่จะเก็บเงินแฟนบอลที่ไปดูเกมนัดเยือนในราคาไม่เกิน 30 ปอนด์​

แนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเหล่าสโมสรต่างๆ เริ่มพยายามแก้ปัญหาราคาตั๋วแพงกันแล้ว แม้ราคาโดยรวมจะยังสูงอยู่ แต่ก็หวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการฟื้นคืนบรรยากาศบนอัฒจันทร์กลับมา และคืนฟุตบอลให้กับคนท้องถิ่นได้บ้าง

ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็ยังเพิ่มราคาขึ้นนิดหน่อย เสื้อแข่งไซส์ผู้ใหญ่ขายเฉลี่ยประมาณตัวละ 50 ปอนด์ ไซส์เด็กประมาณ 40 ปอนด์ น้ำชากับพายก็แพงขึ้นบ้าง ที่สนามบอลในอังกฤษพายราคาเฉลี่ยชิ้นละ 3.26 ปอนด์ น้ำชาเฉลี่ยแก้วละ 1.88 ปอนด์​

สโมสรดังอย่างแมนฯยูไนเต็ดขายพาย 3.90 ปอนด์ น้ำชา 2.50 ปอนด์ ส่วนที่แอนฟิลด์ของลิเวอร์พูลขายพาย 3.40 ปอนด์ น้ำชา 2.50 ปอนด์ คิดเล่นๆ น่าจะได้ว่าแมนฯ ยูไนเต็ดต้องขายพายประมาณ 23 ล้านชิ้นเพื่อเป็นค่าตัวของพอล ป็อกบา ส่วนลิเวอร์พูลที่ปฏิเสธไม่ขายฟิลิปเป คูตินโญ ให้บาร์เซโลนาก็น่าจะต้องขายน้ำชา 40 ล้านแก้วเพื่อทดแทนค่าตัวประมาณ 100 ล้านปอนด์

 

ทำไมหนุ่มสาวอังกฤษหันหลังให้สนามฟุตบอล

นอกจากปัญหาราคาตั๋วแพงแล้ว ดูเหมือนว่าอีกปัญหาหนึ่งที่อังกฤษพยายามแก้คือการที่คนรุ่นใหม่เข้าสนามบอลกันน้อยลง ผลสำรวจเมื่อปี 2015 พบว่า หากไม่นับเด็กเล็กกับคนสูงอายุแล้ว อายุเฉลี่ยของแฟนบอลพรีเมียร์ลีกอยู่ที่ 41 ปี รวมถึงข้อมูลจากพรีเมียร์ลีกก็ระบุว่าคนที่ซื้อตั๋วปีเป็นคนวัยหนุ่มสาวแค่ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นปัญหาใหญ่พอสมควร เพราะถ้าคนรุ่นใหม่ไม่เข้าสนาม ในระยะยาวมันต้องส่งผลต่อวงการฟุตบอลแน่ๆ

แน่นอนว่าสโมสรต่างๆ ก็ไม่ได้มองข้ามปัญหานี้ ปัจจุบัน สโมสรในอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์ จำนวน 135 สโมสรจากทั้งหมด 190 สโมสร มีตั๋วราคาพิเศษให้กับคนหนุ่มสาวโดยเฉพาะด้วย เฉลี่ยแล้วคนหนุ่มสาวสามารถซื้อตั๋วปีในราคาต่ำกว่าปกติได้ถึงเกือบ 150 ปอนด์​

ด้วยเหตุนี้ Price of Football 2017 จึงสำรวจพิเศษเพิ่ม ว่าด้วยการบริโภคฟุตบอลของแฟนบอลหนุ่มสาวช่วงอายุระหว่าง 18-24 ปี โดยเก็บตัวอย่างจากแฟนบอลหนุ่มสาวในสหราชอาณาจักร 1,000 คน

ผลสำรวจออกมาน่าตกใจพอสมควร นั่นคือ แม้ว่าราคาตั๋วโดยรวมจะลดลงแล้ว แถมสโมสรส่วนมากยังลดราคาตั๋วให้เป็นพิเศษสำหรับคนหนุ่มสาวอีก แต่พวกเขาก็ยังไม่เข้าสนามฟุตบอล ผลสำรวจพบว่ามีแฟนบอลหนุ่มสาวเข้าสนามเพื่อดูบอลอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้งแค่ 11 เปอร์เซ็นต์ เดือนละสองถึงสามครั้ง 15 เปอร์เซ็นต์ และฤดูกาลละห้าถึงสิบครั้ง 14 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าน้อยมากถ้าเทียบกับคนวัยอื่น

ปรากฏว่าค่าใช้จ่ายที่แพงเกินไปเป็นอุปสรรคสำคัญ โดย 82 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าค่าตั๋วแพงเป็นอุปสรรค อีก 65 เปอร์เซ็นต์บอกว่าค่าใช้จ่ายระหว่างเดินทาง ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้แฟนบอลหนุ่มสาว 55 เปอร์เซ็นต์บอกว่าพวกเขาไปดูบอลที่สนามน้อยลงหรือไม่ก็เลิกไปเลย เพราะถึงจะลดราคาแล้วมันก็ยังแพงเกินไป

 

ข้อมูลจากพรีเมียร์ลีกก็ระบุว่าคนที่ซื้อตั๋วปีเป็นคนวัยหนุ่มสาวแค่ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นปัญหาใหญ่พอสมควร เพราะถ้าคนรุ่นใหม่ไม่เข้าสนาม ในระยะยาวมันต้องส่งผลต่อวงการฟุตบอลแน่ๆ

ผลสำรวจอีกส่วนหนึ่งให้ข้อมูลที่น่าสนใจมากและน่าจะตอบคำถามที่ว่าทำไมคนหนุ่มสาวอังกฤษหันหลังให้สนามฟุตบอลได้ พวกเขาบริโภคฟุตบอลผ่านการเล่นเกมคอมพิวเตอร์มากถึง 61 เปอร์เซ็นต์ เล่นพนัน 44 เปอร์เซ็นต์ เตะฟุตบอล 37 เปอร์เซ็นต์ เล่นแฟนตาซีฟุตบอล 33 เปอร์เซ็นต์ และเป็นโค้ช 11 เปอร์เซ็นต์ เป็นไปได้ว่าช่องทางการบริโภคที่หลากหลายขึ้นทำให้แฟนบอลหนุ่มสาวเข้าสนามเพื่อดูบอลกันน้อยลง

การหันหลังให้กับสนามฟุตบอลของคนหนุ่มสาวน่าจะกลายเป็นปัญหาสำคัญของวงการฟุตบอลต่อไป และบางทีอาจไม่ใช่แค่ปัญหาในสหราชอาณาจักรหรือยุโรป แต่รวมไปถึงที่อื่นๆ ทั่วโลกด้วย เพราะเท่าที่ผู้เขียนสังเกตมาก็พบว่าคนรุ่นใหม่ในไทยเองก็ดูฟุตบอลกันน้อยลง ยิ่งในสนามฟุตบอลไทย แทบจะเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ของผู้ใหญ่มากกว่าวัยรุ่นเสียด้วยซ้ำ

 

พรีเมียร์ลีกลดแล้ว ไยไทยลีกยังไม่ลด

จาก Price of Football 2017 ก็ทำให้ผู้เขียนย้อนมานึกถึงวงการฟุตบอลไทยอยู่เหมือนกัน ประเด็นแรกคือ ผลสำรวจที่บีบีซีทำมานั้นน่าสนใจมาก มันทำให้เรารู้จักแวดวงฟุตบอลที่หมายถึงคนดูฟุตบอลจริงๆ ไม่ใช่แค่ตัวเลขนู่นนี่ของพวกสโมสรกับนักฟุตบอล ถ้ามีใครสำรวจข้อมูลพวกนี้ของแฟนบอลไทยไว้บ้างก็น่าจะดี น่าจะช่วยให้เห็นอะไรได้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่วงการฟุตบอลไทยเริ่มชนเพดาน จำนวนคนเข้าสนามเริ่มน้อยลงอย่างทุกวันนี้ (ลองคิดกันดูเล่นๆ ว่านอกจากพวกค่าตั๋ว-ค่าเสื้อแล้วอังกฤษใช้พายกับน้ำชาเป็นตัวชี้วัด ราคาของฟุตบอลเวอร์ชันไทยลีกจะใช้อะไรดี?)​

ประเด็นที่สองคือเรื่องค่าตั๋วและนโยบายเชิงรุกต่างๆ อย่างที่เห็นกันว่าสโมสรส่วนใหญ่ในอังกฤษเริ่มรู้สึกถึงปัญหาและพยายามแก้กันไปแล้ว ไทยลีกที่อยากเจริญรอยตามพรีเมียร์ลีกก็น่าจะลองคิดถึงวิธีการในแบบเดียวกันนี้บ้าง ทั้งการดึงแฟนบอลรุ่นใหม่เข้าสนามและโดยเฉพาะการลดหรือตรึงราคาตั๋วไม่ให้สูงขึ้นจนเกินไป เพราะทุกวันนี้ก็เริ่มมีเสียงบ่นจากแฟนบอลไทยกันมากเรื่องค่าตั๋วที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากไม่กี่ปีก่อนที่แค่นัดละ 50-60 บาท แต่เดี๋ยวนี้ 200-300 บาทก็มีให้เห็นกันแล้ว ขนาดลีกอังกฤษที่รากฐานทางฟุตบอลมั่นคงยังพยายามมองหาอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ลีกไทยก็น่าจะสนใจมองไปข้างหน้าบ้าง โดยเฉพาะปัจจัยนอกสนาม ก็ฟุตบอลมันไม่ใช่แค่เรื่องในสนามเสียหน่อย

 

*** บีบีซีใช้ฐานข้อมูลจาก Price of Football 2017 สร้างโปรแกรมคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับการดูบอลของแฟนบอลแต่ละสโมสรขึ้นมา ผู้สนใจสามารถเข้าไปลองเล่นได้ที่นี่ ***

 

 

อ้างอิง:
Price of Football: Full results 2017
Price of Football: Young adult tickets 2017
Price of Football 2017: Premier League clubs cut or freeze majority of prices
Price of Football 2017: Young adult fans are ‘put off’ by cost of football

Tags: , , , , ,