Present Continuous

นับว่าเป็นความน่าเห็นใจของหนังที่เข้าฉายได้ไม่กี่วัน สถานการณ์โควิด-19 ก็ระบาดจนต้องประกาศปิดโรงหนังไปจนถึง 31 มี..( และอาจต้องปิดยาวกว่านั้นอีกก็ได้ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ ) ดูจากเสียงตอบรับก็ค่อนข้างมีคนชอบหนังเรื่องนี้อยู่พอสมควร ทางค่ายหนัง ผู้สร้างเองก็หวังว่า เมื่อผ่านวิกฤตและเปิดโรงหนังได้ หนังจะมีโอกาสกลับมาฉายอีกครั้ง ดังนั้นถ้าใครอยากรอดู ก็ต้องแจ้งก่อนว่า บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของหนัง

หลังจากเต้ยกับโอ๊ต แยกย้ายจากกันใน Present Perfect ภาคแรก 4 ปีต่อมาความรักความทรงจำที่ได้อยู่ด้วยกันในเมืองเล็กๆ ที่ญี่ปุ่นในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ยังคงอยู่ เต้ยเดินทางมาพักผ่อนที่เกาะกูด แต่ในใจยังคิดถึงโอ๊ตอยู่ เฝ้าแอบเพียรดูเฟซบุ๊กของอีกฝ่ายและรับรู้ว่า โอ๊ตแต่งงานไปแล้ว มีลูกชายและครอบครัวที่อบอุ่น เต้ยไม่กล้าแอดเฟซบุ๊กของโอ๊ต แต่เห็นข้อความจากในแชตที่ยังถามไถ่ข่าวคราวถึงตัวเขาเสมอ แต่เขาไม่เคยตอบ เกาะกูดในวันที่เต้ยมาพักไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยว ทำให้แทบไม่มีนักท่องเที่ยวอื่นนอกจากเขาและเคนตะ นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นอีกคนหนึ่ง เขาเลือกพักรีสอร์ตของพี่เจน เจ้าของรีสอร์ตที่มีกิริยาท่าทางดูตลกล้นๆ ไปบ้าง

ในคืนที่ไร้นักท่องเที่ยว พี่เจนชวนเต้ยและเคนตะดื่มเบียร์ และเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา เมื่อเต้ยที่เฝ้าเพียรพิมพ์ความรู้สึกว่าตัวเองถูกทิ้ง ตัดพ้อโอ๊ต อยากรู้ข่าวคราวของโอ๊ตที่ตั้งแต่แยกย้ายจากญี่ปุ่นก็ไม่เคยเจอกัน แต่พิมพ์ลบๆ ไม่กล้าส่ง เผลอกดส่งข้อความไป จุดนี้เองทำให้เชื่อได้ว่า โอ๊ตรู้พิกัด GPS ของเต้ย และรีบเดินทางตามมาที่เกาะกูดทันที โดยบอกภรรยาว่า ไปประชุมที่ขอนแก่น 

การเจอกันครั้งแรกของทั้งสองหลังไม่เจอกันมานาน ก็มีการปะทะอารมณ์กันพอสมควร โอ๊ตเฝ้าแต่ขอโทษ  เต้ยเฝ้าแต่ตัดพ้อว่าโอ๊ตเป็นคนเห็นแก่ตัวที่ไม่เคยนึกถึงใจเขา แม้จะยังรัก แต่ความรู้สึกผิดบาปในใจของเต้ยเองก็ถาโถม รุนแรงว่าโอ๊ตมีครอบครัวแล้ว แล้วเต้ยล่ะจะอยู่ในฐานะอะไรของชีวิตเขาทำให้เต้ยพยายามหนี ผลักไสโอ๊ตออกไป แต่มีประเด็นที่เคนตะพูดชวนให้เขาคิดว่าผิดถูกใครคือคนตัดสินล่ะ ในประเทศไทย การไม่ลุกให้คนชรานั่งในรถสาธารณะถือว่าไม่มีน้ำใจ นั่นคือวิธีคิดของประเทศไทย แต่ในญี่ปุ่น การลุกให้คนชราหรือเด็กนั่ง กลายเป็นการแสดงความดูถูกถึงตัวตน วัยของเขาว่า ต้องได้รับการช่วยเหลือดังนั้นมันไม่มีชุดความคิดไหนที่ถูกต้องหรอก มีแต่สิ่งที่เราเลือกจะเชื่อว่ามันถูก มันควร ไปจนกระทั่งมันเป็นจริง

ด้วยบรรยากาศเป็นใจ ได้อยู่ในเมืองเงียบๆ เหมือนที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง  ซึ่งอาจเป็นอีกครั้งเดียวที่ชีวิตนี้มีโอกาส เต้ยตัดสินใจวางกรอบความคิดเรื่องความถูกผิดไว้ก่อน ขอทำตามใจตัวเองสักครั้งในช่วง 4 วันที่ได้อยู่ด้วยกัน เต้ยเปิดใจรับโอ๊ตเข้ามาและทำตัวเหมือนเป็นคู่รักกันจริงๆ ให้โอ๊ตสอนว่ายน้ำ ในขณะเดียวกัน พี่เจนเองก็บังเอิญไปรู้ความลับ ( ด้วยวิธีที่หนังทำไม่ค่อยมีชั้นเชิง และเป็นบทเรียนให้พนักงานบริการทั่วโลกอย่าทำตาม) โดยการไปเห็นโทรศัพท์สายเรียกเข้าของโอ๊ตที่ตั้งภาพพักหน้าจอเป็นภาพน้ำหวาน ภรรยา อุ้มลูกชาย พี่เจนรีบนำสำเนาบัตรประชาชนผู้เข้าพักของโอ๊ตไปเช็กในเฟซบุ๊กแล้วพบว่า โอ๊ตมีครอบครัวแล้ว

ถ้าเคนตะคือตัวแทนของการให้ใช้ใจประเมินความถูกผิดเอง พี่เจนก็คือตัวแทนของสายศีลธรรมที่พยายามหาจังหวะ (แบบล้นๆ จนดูน่ารำคาญมากกว่าตลก) เพื่อบอกเต้ยว่าสิ่งที่เต้ยทำอยู่มันผิดศีลธรรมเพราะตัวพี่เจนเองเคยผ่านประสบการณ์เลิกรากับสามีด้วยเหตุของมือที่สามมาก่อน จึงไม่อยากให้เต้ยเป็นมือที่สามที่น่ารังเกียจแบบเดียวกัน แต่น้ำหนักในการให้ข้อคิดทางศีลธรรมของพี่เจนดูค่อนข้างอ่อนบาง ไม่ซับซ้อนนัก และเต้ยก็ดูไม่สนใจพี่เจนนัก อาจเพราะผู้กำกับต้องการให้เป็นหนังรักที่พูดถึงการแค่อยากทำอะไรตามใจกันหน่อยแค่นั้น แค่ต้องการทำตามใจบอกสักครั้ง เธอไม่ต้องห่วง ฉันเข้าใจมันดีว่าเรา..สุดท้ายก็คือเพื่อนกัน” (ตามเพลง ‘สุดท้ายก็เพื่อนกัน’ ของบีม จารุวรรณ ที่ใช้ในตัวอย่างหนัง

พูดกันง่ายๆ คือนี่คือหนังที่ทำตามสูตรหนังโรมานซ์ เน้นอารมณ์ถวิลหาอาวรณ์หวาม โยนเรื่องการปะทะสังสรรค์ทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องต้องห้าม หรือเรื่องผิดศีลธรรมทิ้งไปก่อน (แบบโรมิโอแอนด์จูเลียต) คือความรักมักจะมีอุปสรรค หากมีเวลาได้รักก็จงรัก และเก็บเกี่ยวช่วงเวลามีค่านั้นไว้ก่อนจะต้องพรากจากกันไป ความรักที่สวยงามในแบบโรมานซ์คือความรักที่ไม่ได้จบลงด้วยความสมหวังเสมอไป แต่มันจบลงด้วยนาทีที่ตราตรึงในหัวใจที่สุด

หนังปล่อยฉากหวานๆ ออกมาเป็นระยะ เช่น ฉากโอ๊ตสอนเต้ยว่ายน้ำ ฉากอยู่ด้วยกันที่น้ำตก หรือฉากอยู่ด้วยกันที่ชายหาด บางฉากก็ดูจะกินเวลายาวนานเกินไป แต่ความดีงามของหนังคือการที่นักแสดงหลักทั้งสองคนเอาบทอยู่ โดยเฉพาะกฤษณะที่รับบทโอ๊ต ซึ่งฉายเสน่ห์ออกมาแบบเต็มจอแทบทุกฉากที่เข้าคู่กับเต้ย ขณะที่ตัวอดิศรเองในหลายๆ ฉากก็ยังดูเด็กกว่าบทที่ตัวเองได้รับไปหน่อย มีอารมณ์พ่อแง่แม่งอนหนักกว่าโอ๊ต ทำให้ภาพตัวละครของหนังเรื่องนี้มีกลิ่นอายของการแบ่งบทบาททางเพศแบบ binary อยู่ (โดยไม่ต้องถึงฉากขึ้นเตียง) ที่โอ๊ตคือเพศสภาพชาย เต้ยคือเพศสภาพหญิง   

ขณะเดียวกัน ก็มีส่วนที่ถูกใส่เข้ามาแบบไม่รู้ใส่มาทำไมคือขั้วทางการเมือง จากฉากของน้ำหวานที่อยู่ที่กรุงเทพฯ ที่เอาลูกไปฝากเลี้ยงกับแม่ที่ภาคใต้ และแม่ส่งคลิปเสียงมาบ่นพฤติกรรมของอาร์ม ลูกชายเป็นระยะด้วยภาษาใต้ โดยที่น้ำหวานไม่เคยฟังจนจบคลิป แถมยังแซวกับเพื่อนเรื่องแม่ไปเป็น กปปส. ซึ่งมันก็ไม่ใช่มุมมองทางการเมืองที่จะต้องเอามาเล่า นอกจากถ้าจะตีความกันจริงๆ อาจใส่มาเพื่อให้เห็นว่า แม่ของน้ำหวาน (หรือ กปปส.) คือตัวแทนของกลุ่ม babyboom ที่ยังยึดมั่นวิธีในการเลี้ยงลูกแบบเก่าๆ (หรือยึดมั่นความคิดแบบเก่า) ขณะที่น้ำหวานเองเป็นคน generation X ที่เบื่อจะพูดคุยกับคนรุ่น babyboom เพราะเบื่อการยึดมั่นกับกรอบที่คนรุ่นเก่า (หรือคนที่มีความคิดแบบเดียวกับ กปปส.) ยึดถือ เลือกเชื่อในความเป็นเสรีและความสะดวกสบายของชีวิตมากกว่าส่วนเกินเล็กๆ นี้กลายเป็นการวิพากษ์ทั้งเรื่องอุดมการณ์ ทั้งเรื่อง generation ซึ่งมันก็อาจทำให้เกิดได้ทั้งการปะทะทางความคิด หรือตัดบทให้กลายเป็นหนังเฉพาะกลุ่มแนวคิดเดียวกับฉัน ของรุ่นฉัน กลุ่มอื่นไม่ต้องมาทำความเข้าใจก็ได้’ 

จบดีหรือจบไม่ดี ?

ช่วงเวลาอ่อนหวานระหว่างคู่รักดำเนินไปในเวลา 4 วัน ในคืนสุดท้ายที่เป็นคืนพิเศษที่ทั้งสองคนได้แนบชิดมีสัมพันธ์สวาทกัน โอ๊ตพร่ำบอกรักเต้ยไม่เปลี่ยนแปลง พร่ำบอกว่าดีแค่ไหนถ้าเราสองคนสามารถแต่งงานอยู่ด้วยกันได้  แต่กลายเป็นหนามกลับมาตำใจเต้ย ว่า ความสัมพันธ์ต้องห้ามของเขาเรียกว่าอะไรกัน โอ๊ตทิ้งเต้ยไป 4 ปีแล้วมาให้ความหวัง  และใครกันแน่ที่เป็นคนเห็นแก่ตัว โอ๊ตจะทิ้งครอบครัวมาหาเต้ย โอ๊ตก็เห็นแก่ตัว เต้ยจะสานสายสัมพันธ์ต่อ เต้ยก็เห็นแก่ตัว โอ๊ตจะประคับประคองความสัมพันธ์ไปทั้งสองฝ่ายโอ๊ตก็เห็นแก่ตัว เต้ยยอมให้เป็นอย่างนั้นเต้ยก็เห็นแก่ตัว แล้วสุดท้ายเต้ยควรจะอยู่ในฐานะอะไรเมื่อเลิกรักโอ๊ตไม่ได้ ฉากการต่อสู้ระหว่างความต้องการกับกรอบศีลธรรมนี้กลายเป็นฉากที่ดีที่สุดในหนัง ที่สองตัวละครปล่อยพลังแห่งความอัดอั้นตันใจหาทางออกไม่ได้ใส่กันอย่างเต็มที่

แต่ในที่สุดแล้ว ในโลกของสังคมเปิดเผยของโอ๊ต เขาก็ต้องกลับไปที่กรุงเทพฯ กลับไปหาน้ำหวานและลูก จอค่อยๆ มืดลงด้วยฉากที่เต้ยนอนร้องไห้อยู่คนเดียวในห้องพักที่รีสอร์ต ขณะที่โอ๊ตกลับไปถึงบ้านก็เข้านอนบนเตียงที่น้ำหวานหลับอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว และจากนั้นก็ขึ้นฉากตัวชื่อภาพยนตร์ ‘Pre2ent Still Perfect  แค่นี้ก็ดีแล้ว 2’ ซึ่งมันก็น่าจะจบลงตรงนั้นที่ทั้งสองฝ่ายเลือกตัดสินใจแล้วว่า สุดท้ายก็คือเพื่อนกันจะจบในสูตรของโรมานซ์ คือความรักที่ไม่ได้คู่กัน มันเป็นความรักที่สวยงามที่สุด เราอาจเศร้าเสียใจเมื่อแยกจาก แต่เราสร้างภาพฝันหวานชื่นของมันเพื่อหล่อเลี้ยงหัวใจต่อไปได้ โดยไม่ต้องรู้หรือสนใจว่าอนาคตมันจะเป็นไปตามฝันหรือไม่ 

ถ้าจะอธิบายภาพตรงนี้ให้ชัดขึ้น ลองนึกถึงหนังชุด Before Sunrise, Before Sunset, Before Midnight ของผู้กำกับริชาร์ด ลินเคลเตอร์ ที่สองภาคแรกจบลงด้วยความงดงามน่าประทับใจ เมื่อไม่รู้ว่าสองคนจะได้กลับมาพบกันอีกหรือไม่ แต่เมื่อภาคสาม Before Midnight ทั้งเจสซี่และเซลีนได้แต่งงานกัน ชีวิตแห่งความเป็นจริงมันก็มีทั้งความขมขื่น เจ็บปวด ผิดหวัง ไม่เหมือนภาพฝันโรแมนติกที่ต่างฝ่ายต่างเคยจินตนาการถึงมันหลังจากผ่านความประทับใจที่เจอกันชั่วครู่ยาม

   พอชื่อหนังขึ้นคิดว่าจบ ก็เกือบลุกและชื่นชมว่าจบได้ดี’ แต่กลายเป็นว่า หนังเดินเรื่องไปต่อ โอ๊ตสารภาพกับน้ำหวานถึงเรื่องของเต้ย และน้ำหวานก็เพียงแค่บอกว่ารู้แล้วเพราะมีเหตุให้ไปใช้คอมพิวเตอร์ของโอ๊ตและเห็นแชตทางเฟซบุ๊กระหว่างทั้งสองคนที่เปิดค้างอยู่ เมื่อหนังมาสูตรหนังรัก มันก็ไม่ได้เน้นการปะทะทางความคิดในมิติเรื่องเพศ เรื่องครอบครัว เรื่องสังคมอะไรเลย แต่ไปพูดถึงเรื่อง ‘การตัดสินใจตามความพอใจของปัจเจกเสียเป็นหลัก 

ความพอใจของปัจเจกที่ว่าคือ แม้ว่าน้ำหวานจะแต่งงานมีลูกกับโอ๊ต แต่ก็รู้ได้แบบง่ายๆ ว่าจริงๆ แล้วหัวใจของโอ๊ตอยู่ที่ใครหลังจากคำว่ารู้แล้วคือการบอกว่า มันไม่เป็นไรหรอกที่โอ๊ตจะรักกับใคร ไม่เป็นไรหรอกที่ครอบครัวของโอ๊ตและน้ำหวาน จะอยู่กันในลักษณะ การทำหน้าที่พ่อแม่มากกว่าการอยู่ด้วยกันเพราะความผูกพันทางใจ  (และเหมือนจะบอกเป็นนัยๆ ว่า เด็กเจเนอเรชั่น Alpha อย่างอาร์มก็คงจะรับได้ เพราะตอนอาร์มโต โลกมันก็คงจะเสรีไปมากกว่าการใช้กรอบเพศตัดสินใครไปแล้ว ) นี่ก็คือสารที่ท้าทายนิยามความหมายของครอบครัวอีกอันหนึ่ง ว่าครอบครัวอยู่กันด้วยความรักหรือการทำหน้าที่ แล้วแต่ใครยึดชุดความเชื่อไหนแล้วรู้สึกปลอดภัยกับมันมากกว่ากัน

ในเรื่องที่เป็นมิติความขัดแย้ง ความสัมพันธ์ต้องห้าม หนังคลี่คลายปมแบบง่ายดาย ไม่ซับซ้อน ไม่มีถกเถียงอะไร  จนรู้สึกว่า จริงๆ จบแค่ที่ฉากทั้งคู่แยกย้ายกันก็สมบูรณ์แบบแล้ว เพราะมันจบอย่างที่มันควรเป็น  เผลอๆ เฟมินิสต์บางคนที่มาสายสิทธิสตรีอย่างสุดโต่งอาจเบ้ปากใส่หนังเอาง่ายๆ ว่าทำไมผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายถูกหลอกให้แต่งงานกับเกย์เพื่อบังหน้า ทั้งที่ถ้าโอ๊ตรักเต้ยจริงๆ ก็ไม่ควรแต่งงานกับน้ำหวานแต่แรก แล้วกรณีเช่นนี้ผู้หญิงเป็นฝ่ายถูกทำร้ายหรือไม่ 

โลกแห่งความเป็นจริง น้ำหวานเองมีโอกาสถูกสังคมรอบข้างตั้งคำถามยิ่งกว่าตัวโอ๊ตเสียอีก แต่ก็อาจเป็นวิธีคิดของคนเจเนอเรชั่นเอ็กซ์  อย่างน้ำหวานที่เลือกจะทลายกรอบหรือขนบที่สังคมสร้างมาได้แบบไม่ยี่หระ หรือคือการแสดงอำนาจ ความแข็งแกร่งว่า ผู้หญิงเองไม่ใช่ช้างเท้าหลังที่ให้ผู้ชายเป็นผู้กำหนดชีวิตในครอบครัว ผู้หญิงตัดสินใจและทำอะไรด้วยตัวเองได้ ไม่รักก็ไม่ง้อ

 Love Win

ประโยค Love Win เป็นประโยคที่มักจะใช้ประกาศชัยชนะในการรณรงค์กฎหมายการสมรสเพศเดียวกันได้ และสารท้ายเรื่องของหนังเรื่องนี้ก็คือการสนับสนุนกฎหมายสมรสเพศเดียวกันแบบเต็มๆ โอ๊ตและน้ำหวานเดินทางกลับไปหาเต้ยที่เกาะกูด ตอนแรกเต้ยหนี แต่น้ำหวานเป็นคนคลี่คลายปัญหาทุกอย่างเองว่า มันไม่เป็นไรถ้าสองคนจะรักกัน และในที่สุด โอ๊ตก็คุกเข่าขอเต้ยแต่งงานอย่างโรแมนติกที่ริมชายหาด โดยใช้แหวนที่ถอดจากนิ้วของน้ำหวานนั่นแหละ จากนั้นในช่วงค่ำก็จัดพิธีแต่งงานกันที่รีสอร์ต โดยให้พี่เจนทำหน้าที่เหมือนบาทหลวงรับรองกลายๆ 

หนังก็จบลงด้วยวิธีที่ค่อนข้างเชย คือการขึ้นฉากอธิบายว่า แล้วต่อไปชีวิตของแต่ละคนเป็นอย่างไร ก็แน่นอนตามสูตรหนังที่ผู้กำกับอยากให้ Love Win คือต่างก็แยกย้ายกันไปมีความสุข ซึ่งมันไม่ใช่หนัง base on true story มันเลยกลายเป็นส่วนเกินแบบไม่รู้จะใส่มาทำไม แถมพูดไปถึงอนาคตว่า ในปี 2564 พี่เจนคืนดีกับสามี แล้วไปเป็นแกนนำต่อสู้เพื่อให้ได้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในประเทศไทย (ซึ่งในกระบวนการตรากฎหมายตัวนี้เพิ่งผ่านในชั้นกฤษฎีกา ยังไม่มีการเปิดเผยร่าง ไม่รู้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อไร แต่มีการให้สิทธิด้านการจัดการทรัพย์สิน , สิทธิตัดสินใจด้านสุขภาพ, สิทธิการรับบุตรบุญธรรมของคู่สมรสเพศเดียวกัน และไม่แน่ว่าจะมีการไปแก้ไขในชั้น ครม.หรือสภาผู้แทนราษฎรอีกหรือไม่ ) การจบเช่นนี้ทำให้หนังกลายเป็นหนังรณรงค์ ...คู่ชีวิตฯ ไปหน้าตาเฉย ซึ่งโรมานซ์มาครึ่งค่อนเรื่อง แล้วไปการรณรงค์เชิงนโยบายตอนปลายดูมันจะไม่ค่อยเข้ากันเท่าไร

ส่วนปลายเรื่องที่ดูเหมือนเป็นการเปลี่ยนขนบหรือค่านิยม ที่ต้องมีการถกเถียงทางความคิด เพื่อการผลักดันไปสู่กฎหมายที่เกิดขึ้นได้จริง ถ้าจะยกตัวอย่างหนังที่พูดถึงการโต้แย้งระหว่างกลุ่มหัวก้าวหน้ากับอนุรักษ์นิยมเกี่ยวกับกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ที่พูดแบบเป็นทางการและมีประเด็นให้ขบคิดคือเรื่อง The sociologist and the bear cub หนังฝรั่งเศสที่พูดถึงเหตุการณ์ก่อนที่ฝรั่งเศสจะประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในเดือนพฤษภาคม 2013 หนังเรื่องนั้นหลักใหญ่ใจความอยู่ที่การพูดถึงการเปลี่ยนความคิดเรื่องคุณค่าในสังคม ที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับยุค ให้ความสำคัญกับทุกคน ถึงจะเรียกว่าเป็นความเท่าเทียม และยังถกเถียงเรื่องความหมายของครอบครัวอีกด้วย ซึ่งยังหวังว่า ทาง documentary club จะหามาจัดฉายซ้ำอีกครั้งหลังจากที่ฉายไปเมื่อปีก่อน ให้เห็นภาพว่าก่อนกฎหมายจะผ่านเขาคุยกันแบบไหน

ที่สำคัญการรณรงค์ให้มีกฎหมายที่ไม่พ้องกับขนบหรือประเพณีดั้งเดิมที่มีอยู่ก่อน จำเป็นต้องหา ‘แนวร่วม’ (allies) ที่อาจไม่ใช่ผู้มีความจำเป็นต้องใช้กฎหมาย แต่มีความเข้าใจคนที่เขาต้องการกฎหมายมาร่วมรณรงค์ด้วย อย่าลืมว่าฝ่ายนิติบัญญัติในประเทศเราก็เป็นพวกอนุรักษ์นิยมเสียเยอะ (ถึงขนาดมีข่าว ..อนาคตใหม่ออกมาพูดว่า ในกรรมาธิการมีบางคนบอกให้เอาเวลาไปสอนลูกไม่ให้เบี่ยงเบนดีกว่าไหม) จะให้คนกลุ่มนี้เห็นด้วย แนวร่วมที่มีพลังขับเคลื่อนเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่เพียงแค่ให้กลุ่ม LGBT หยิบมือเดียวเคลื่อนไหวกันอยู่ แต่กลุ่ม cisgender ไม่ได้สนใจ กลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่เข้าใจก็ไม่ได้  บ้านเรายังต้องพูดเรื่องความสำคัญของสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกันอีกเยอะ   

พอมาสูตรโรมานซ์แบบหนังวาย หรือหนังเกย์แบบนี้ มันก็กลายเป็นหนังรักเฉพาะกลุ่ม (แถมยังมีส่วนที่มีน้ำเสียงแบบไม่อยากสนใจคนรุ่นเก่าด้วย อย่างปฏิกิริยาของน้ำหวานกับแม่) ถึงบอกว่าใครดูก็ได้ แต่จะให้มันทำหน้าที่ในการรณรงค์กฎหมายคู่ชีวิต มันก็ไปไม่สุด ประเด็นถกเถียงว่าผิดถูกดีงามควรตัดสินอย่างไรมันเบาบาง  แต่จะบอกว่าเป็นหนังโรมานซ์ มันก็มีประเด็นกฎหมายเข้ามาเป็นติ่งที่ดูเป็นส่วนเกิน อาจเพราะผู้กำกับอนุสรณ์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง (พรรคสามัญชน) และคงอยากเสนอนโยบายทางกฎหมายลงในหนังด้วย แต่มันทำให้หนังดูไม่ไหลลื่น จาก Present Perfect กลายเป็น Almost Perfect ไป  

หนังเป็น soft power ในการรณรงค์ประเด็นทางสังคมใดๆ ได้ แต่การให้น้ำหนักในสิ่งที่ต้องการรณรงค์น่าจะมีความชัดเจนมากกว่าแค่ให้รู้ แต่ต้องทำให้คนดูคิดและคล้อยตาม ยกตัวอย่างเช่นเรื่องเอดส์ เราเจอหนังที่น้ำเสียงรณรงค์เรื่องเอดส์กับสิทธิของเกย์อย่างจริงจังก็เช่นเรื่อง Normal Heart  หรือ Longtime Company ซึ่งมันใส่มิติทางความรัก อารมณ์มาเป็นตัวหนุนสารให้แข็งแรง ขณะที่ Pre2ent Still Perfect เหมือนเป็นหนังรักที่ใส่สาระเพิ่มมาแบบ ติดไว้หน่อยสาระที่ว่ามันจึงไม่มีน้ำหนักพอ ถ้าหนังต้องการรณรงค์เรื่อง ...คู่ชีวิตจริงๆ

ถ้าจะชื่นชมก็ถือเป็นความกล้าหาญหนึ่งที่พาประเด็น ...คู่ชีวิตให้ออกมาในหนังระดับมวลชนได้ แต่อย่างที่ว่าคือมันยังไม่ลงตัวและยังไม่แข็งแรงพอ’  

Tags: , , , ,