อีกไม่นานเกินรอ ในวันที่ 24 กรกฎาคมปีนี้จะถึงเวลาเปิดม่านมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดอย่าง ‘โอลิมปิกเกมส์ 2020’ ที่จะจัดขึ้นในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะแข่งขันกันยาวตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม ไปจนถึงวันที่ 9 สิงหาคม ก่อนพักหายใจเล็กน้อยและตัดเข้าสู่ ‘พาราลิมปิกเกมส์ 2020’ ในวันที่ 25 สิงหาคม และสิ้นสุดลงในวันที่ 9 กันยายน

นอกเหนือจากทั่วทุกมุมโลกจะตั้งตารอลุ้นและให้กำลังใจตัวแทนของชาติตนเองได้เข้าชิงเหรียญทองมาให้แล้ว อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือภาพโปสเตอร์ของงานดังกล่าว เพราะนอกจากความสวยงามทางชั้นเชิงศิลปะ มันยังเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกส่งไปถึงสายตาคนทั่วโลก เพื่อสะท้อนถึงบริบทของสังคม การเมือง และแนวคิดทางประวัติศาสตร์ของช่วงเวลาปัจจุบัน ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อๆ ไป

โดยเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ทีมผู้จัดงานโอลิมปิกเพิ่งเปิดตัวโปสเตอร์โอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูร้อนทั้งหมด 20 ชิ้น โดยแบ่งเป็นสำหรับงานโอลิมปิก 12 ชิ้น และพาราลิมปิก 8 ชิ้น ซึ่งถูกออกแบบผ่านฝีมือของศิลปินหลายแขนงทั้งในและนอกญี่ปุ่น 19 ราย อาทิ ภาพสเก็ตลายเส้นแบบมังงะ-นาโอกิ อุราซาวะ (Naoki Urasawa) เจ้าของผลงาน ‘20th Century Boys’ นักออกแบบตัวอักษรและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิผู้พิการ-โชโค คานาซาวะ (Shoko Kanazawa) ช่างภาพ-ทากาชิ โฮมมะ (Takashi Homma) ศิลปินร่วมสมัย-โทโมโกะ โคโนอิเกะ (Tomoko Konoike) ศิลปินชาวอังกฤษ เจ้าของรางวัลเทอเนอร์ ไพรซ์ (Turner Prize) ปี 1998-คริส โอฟีลี (Chris Ofili) 

งานทุกชิ้นจะถูกนำไปจัดแสดงที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยโตเกียว (Museum of Contemporary Art Tokyo) ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม ถึง 16 กุมภาพันธ์ นี้

Flow Line (แถวบน ชิ้นที่สามจากซ้ายมือ)

ไดจิโร่ โอฮาระ (Daijiro Ohara) – กราฟิกดีไซเนอร์ เลือกผสมลายเส้นหลากหลายแบบภายใต้ชื่อ ‘เส้นแห่งทัศนะ (lines of vision)’ เพื่อสะท้อนถึงการเคลื่อนขบวนคบเพลิงโอลิมปิกตั้งแต่เริ่มต้นที่กรีซมาจนถึงญี่ปุ่นในปัจจุบัน 

Fly High! (แถวบน ชิ้นที่สี่จากซ้ายมือ)

โชโค คานาซาวะ (Shoko Kanazawa) – นักออกแบบตัวอักษร เลือกออกแบบคำว่า fly high เพื่อสะท้อนถึงความมุ่งมั่นและเร่าร้อนของนักกีฬา ทีมงาน รวมถึงผู้ชมและทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานครั้งนี้ โดยเธอออกแบบให้มีประกายแสงสีทองบนตัวอักษรแทนความเร่าร้อนของนักกีฬา ส่วนพื้นหลังสีทองแทนความปราณีตของวัฒนธรรมญี่ปุ่น 

EXTREME REVELATIONS (แถวล่าง ชิ้นที่สามจากซ้ายมือ)

เทเซย์ ชาน (Theseus Chan) – อาร์ต ไดเรกเตอร์ รู้สึกแปลกใจที่สเก็ตบอร์ดถูกบรรจุเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ เพราะเขามองว่าสเก็ตบอร์ดมีรากฐานจากแนวคิดขบถต่อวัฒนธรรมกลุ่มใหญ่ โดยเขาแบ่งคอนเซปต์งานออกเป็นทั้งหมดสามชั้น 

ชั้นแรก เป็นการเปิดเผยของวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดสู่การยอมรับของโลก ชั้นสอง ความทับซ้อนหลายชั้นภายในงานสะท้อนถึงการกดทับวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ด ตัดกับการเลือกใช้สีสว่างแทนจิตวิญญาณสดใสของหนุ่มสาวที่ไม่อาจถูกกดเอาไว้ ชั้นสาม การซ้อนทับกันของกราฟิกตัวเลขและรูปทรงต่างๆ ที่เกือบจะมองไม่เห็น ชวนตั้งคำถามถึงคุณค่าของขนบในสังคม

Open (แถวบน ชิ้นที่สองจากซ้ายมือ)

โคจิ คาคินูมะ (Koji Kakinuma) – นักออกแบบตัวอักษร เลือกเขียนคำว่า ‘開’ ซึ่งหมายถึงการเปิดเผย เช่นเดียวกับนักกีฬาที่ฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อเปิดให้ตัวตนก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองในทุกวัน เขาหวังว่าทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ รวมถึงผู้ชมผู้เชียร์จะเปิดใจรับทุกความเป็นไปได้ ซึ่งเขาเชื่อว่าสิ่งนี้จะนำไปสู่สันติภาพของคนรุ่นต่อไป

Paralympian (แถวบน ชิ้นที่สามจากซ้ายมือ)

กู โชคิ พาร์ (GOO CHOKI PAR) – กราฟิกดีไซเนอร์ พวกเขาทั้งสามคนตั้งใจให้งานชิ้นนี้แทนความเคารพต่อความมุ่งมั่นและพัฒนาการของมนุษย์ตลอดประวัติศาสตร์ ความมุ่งมั่นที่จะก้าวเหนือขีดจำกัดของร่างกาย ละทิ้งความไม่สมบูรณ์ และก้าวผ่านเส้นแบ่งทางเชื้อชาติและเพศสภาพ 

อ้างอิง:

https://www.theguardian.com/sport/gallery/2020/jan/07/tokyo-2020-olympics-art-posters-revealed-in-pictures

https://tokyo2020.org/en/games/artposter/

https://www.designweek.co.uk/issues/6-12-january-2020/tokyo-2020-olympic-posters/

Fact Box

ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นเคยเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 1964 ซึ่งนับว่าเป็นงานโอลิมปิกครั้งแรกที่ถูกจัดขึ้นในเอเชีย โดยโอลิมปิกครั้งดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในโตเกียวมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น การคมนาคมในท้องถนน ระบบราง หรือการจัดการขยะ

โปสเตอร์งานโอลิมปิกเกมส์ 1964 ทั้ง 4 ชิ้น เกิดจากความร่วมมือของ ยูซากุ คาเมกุระ (Yusaku Kamekura) และช่างกล้องอีก 4 คน โดยสะท้อนถึงศักยภาพในศิลปะและอุตสาหกรรมการพิมพ์ของญี่ปุ่น ซึ่งได้รับคำชื่มชมและรางวัลมากมาย รวมถึงได้รับรางวัล Milan Poster Design Award

Tags: , , ,