ตลอดทั้งปี 2565 ทีมงาน The Momentum มีโอกาสได้นำเสนอบทสัมภาษณ์เชิงลึกของ ‘บุคคล’ จากหลากหลายสาขาที่มีความโดดเด่นมากมาย ผู้ใช้สิทธิ์ เสียง ความสามารถของตนเอง เพื่อสร้างสรรค์ แสดงออกถึงจุดยืน หรือขับเคลื่อน ท่ามกลางประเด็นต่างๆ ที่ไหลทะลักอยู่ในสังคมไทย ซึ่งหลายเหตุการณ์เป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ทางความคิด การกระทำ และเป็นแรงบันดาลใจที่ถูกส่งต่อ
ที่สำคัญ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ช่วยเสริมให้บทสัมภาษณ์มีความน่าสนใจและน่าติดตาม นอกเหนือจากเรื่องราวแล้ว ‘รูปภาพ’ คือสิ่งที่ทรงพลังและช่วยสื่อสารความเป็นตัวตนของบุคคลนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
ต่อไปนี้คือบางส่วนของ ‘ภาพถ่ายบุคคล’ ที่ถูกบันทึกไว้ผ่านเลนส์กล้องและมุมมองจากทีมช่างภาพ The Momentum ที่กองบรรณาธิการได้คัดเลือกมา และเห็นว่าสามารถ ‘เล่าเรื่องราว’ ของตัวบุคคลนั้นๆ ผ่านภาพหนึ่งใบได้ทรงพลังและน่าจดจำมากที่สุดแห่งปี 2565
‘อย่ากลัวการเป็นผู้ใหญ่’ อดีตเด็กซ่า ‘พุฒ ต้า เร’ มิตรภาพ วันวาน และการกลับมารวมตัว
ย้อนกลับไปช่วงกลางยุคสองพัน วัยรุ่นเมืองไทยได้เฮฮาไปกับรายการทางโทรทัศน์ พุฒ ต้า เร ของสามเพื่อนซี้แห่งวงการบันเทิงอย่าง เร แม๊คโดแนลด์ ลีโอ พุฒ และต้า บาร์บี้ ที่แต่ละคนล้วนสร้างชื่อเสียงในเส้นทางของตนเองและโด่งดังมาตั้งแต่เป็นวัยทีนในยุค 90 พร้อมด้วยบุคลิก ลีลา หน้าตา และเอกลักษณ์แบบฉบับเฉพาะของแต่ละคน ทำให้ชื่อของ ‘พุฒ ต้า เร’ กลายเป็นที่จดจำในความเป็นตัวของตัวเองแบบเด็กหนุ่มสุดเฮี้ยว และเป็นไอคอนของวัยรุ่นหลายคนในยุคนั้น
ระยะหลัง ด้วยอายุอานามที่เติบโตขึ้นสู่วัยกลางคน เส้นทางของแต่ละคนจึงถูกลากต่างกันออกไป ทำให้ชื่อของ ‘พุฒ ต้า เร’ เลือนจางห่างหายไปจากหน้าจอ พร้อมกับคลื่นลูกใหม่ๆ ในวงการบันเทิง และโลกที่เปลี่ยนผ่านจากทีวีสู่ออนไลน์ แต่ทุกครั้งที่มีชื่อของเพื่อนซี้ทั้งสามปรากฏตัวทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน ก็กลายเป็นจุดให้ผู้คนหันมาสนใจได้เสมอ
ภาพพวกคุณดูซี้กันมาก แต่เคยมีบางคนบอกว่าอย่าทำอะไรร่วมกับเพื่อน เพราะอาจจะแตกคอกัน พวกคุณเคยมีประสบการณ์ที่เรียกได้ว่า ‘ทะเลาะ’ กันบ้างไหม
เร: ถ้าพูดตามตรงมันก็เป็นแหละ ตอนที่เริ่มทำ พุฒ ต้า เร แรกๆ ก็สนุก แต่พอมันเริ่มเป็นทุกสัปดาห์ เริ่มกลายเป็นงาน มันก็เริ่มไม่สนุก แน่นอน Conflict มันเกิดขึ้น
ต้า: ช่วงนั้นต้องมีทะเลาะกันเป็นปกติ เพราะถ่ายทุกอาทิตย์ ออนแอร์ทุกวีก ไปดูการตัด มานั่งประชุมกันว่าจะถ่ายอะไร อาทิตย์นึงเอาเวลาไปสี่ห้าวัน เราแทบไม่เหลืออะไร แล้วเจอหน้ากันทุกวัน มันก็มีอารมณ์แบบ กูไปดูตัดต่องานมึงยังตามมาดูกันอีก (หัวเราะ) ไม่จบไม่สิ้น ช่วงหลังคืออาทิตย์หน้าต้องถ่ายแล้ว แต่ยังคิดไม่ออกจะถ่ายอะไร คนนั้นอยากได้นั่น อยากได้นี่ แล้วไม่มีสต็อกเหลือ ความอยากได้อยากออกไปถ่ายรายการมันเริ่มไม่ตรงกัน ทำให้เราต้องมานั่งคุยกัน
พวกคุณมีภาพลักษณ์ที่เป็นตัวของตัวเองชัดมาก ซึ่งอาจจะต่างจากคนอื่นในวงการที่ต้องรักษาบุคลิก ยากไหมกับการเป็นตัวของตัวเองในวงการที่คนคาดหวังให้มี ‘ภาพลักษณ์’ อะไรบางอย่าง
พุฒ: เราคิดเองคนเดียว ไม่มีใครมาสอนนะ คือเราคิดว่าเราเลือกที่จะเป็นธรรมชาติของตัวเอง เพราะรู้สึกว่ามันง่ายดีในการดำรงชีวิต แต่ถ้าเกิดเรายอมเป็นไปตามแพตเทิร์นที่มันควรจะเป็น เราก็เชื่อว่าตอนนั้นเราไปได้ไกลกว่านี้ในสายอาชีพนะ แต่เรารู้สึกว่าชอบแบบนี้มากกว่า แล้วมันก็ไม่ได้ไปเดือดร้อนใคร หรือก่อปัญหาอะไร
เร: แต่ถ้าย้อนไปช่วงพีกที่สุดสมัยวัยรุ่น ซึ่งอาจจะเป็นช่วงพีกสั้นๆ ของเรา ตอนนั้นเรายังไม่รู้อย่างลึกซึ้งหรอกว่าตัวตนของเราจริงๆ แล้วเป็นยังไง เป็นใคร มันก็จะมีคนมาเป่าหูว่า มึงต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องไปอย่างนั้น ต้องไปอย่างนี้ บางทีเราก็เหมือนผ้าขาว ทั้งที่ตอนนั้นอายุยี่สิบกว่าแล้ว เราก็อาจจะมีเป๋ไปบ้าง แต่สุดท้าย มันไม่มีปัญหากับการเป็นตัวของตัวเอง ทุกคนควรจะเป็นตัวของตัวเอง เพราะว่ามันมีหนึ่งเดียวในโลก ทุกคนมีหนึ่งเดียว มึงเป็นสเปิร์มที่พุ่งออกมาชนะอีกพันล้านตัว
ต้า: เอาง่ายๆ สมมติจะแต่งตัวเพื่อไปร่วมงาน มีเสื้อหลายแบบให้เลือกใส่ ทั้งเสื้อเชิ้ต เสื้อที่ใส่แล้วดูโดดเด่น เราหยิบมาลอง แต่สุดท้ายก็หยิบตัวที่คุ้นมาใส่อยู่ดี คือกูเป็นแบบนั้นนะ แต่ถามว่ากูเคยลองจะใส่ชุดที่มันโดดเด่นมั้ย กูลองนะ แต่สุดท้ายก็หยิบห่านคู่มาใส่อยู่ดี
แต่ละคนมองคำว่า ‘ผู้ใหญ่’ ในแต่ละช่วงวัยอย่างไรบ้าง มันน่ากลัวไหม
ต้า: ไม่ต้องกลัว เราเป็นอยู่ ก็ไม่ได้เลวร้ายมาก ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ไม่มีใครหนีพ้นหรอก เป็นผู้ใหญ่มีข้อดีนะ คือได้กลั่นกรองอะไรมากขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น
เร: โห ถ้าผ่านมา 20 ปี แล้วมึงยังเข้าใจเหมือนเดิม หรือไม่ได้เรียนรู้อะไรตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มึงควรจะพิจารณาตัวเอง เวลามันก็ผ่านไป เราก็โตขึ้น แต่เอาเข้าจริง คำว่าผู้ใหญ่มันเป็นแค่คำเฉยๆ คืออายุ 40 กว่า มันจะมาเอง มันอยู่ในดีเอ็นเอ ซึ่งพอได้เป็นพ่อคน เราก็ได้เรียนรู้จากลูก จากน้องๆ เยอะเหมือนกัน
พุฒ: ชีวิตจะสอนเอง ไม่ต้องไปเกร็ง หรือไปรอรับแรงกระแทกการเป็นผู้ใหญ่อะไรขนาดนั้นหรอก
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของ พุฒ ต้า เร ได้ทาง https://themomentum.co/theframe-putttaray/
‘แอนนา เสืองามเอี่ยม’ นางงามที่เชื่อว่าการเติมเต็มฝันคนอื่น ต้องเริ่มจากทำฝันตัวเองให้สำเร็จ
หากสังคมจะพูดถึง ‘แอนนาเสือ’ แอนนา เสืองามเอี่ยม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2022 สิ่งที่คนส่วนใหญ่นึกออกมักเป็นภูมิหลังความจน อาชีพของบุพการีที่พ่อเป็นพนักงานเก็บขยะ ส่วนแม่เป็นพนักงานกวาดถนนของรัฐวิสาหกิจสำนักงานเขตตลิ่งชัน นอกจากนี้เธอยังเติบโตท่ามกลางบรรยากาศของพุทธศาสนาในชุมชนแออัด เพราะทวดที่บวชอยู่ในสำนักชีนำแอนนาไปเลี้ยงดูในพื้นที่วัด
เรื่องราวข้างต้นคือสิ่งที่สื่อมวลชนนำเสนอซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชูประเด็นว่าเธอเติบโตมากับกองขยะ ให้ความสนใจกับอาชีพสุจริตของพ่อแม่ การกัดฟันดิ้นรนต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในสังคมจนมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการประกวดนางงาม แต่ถ้าเป็นเรื่องราวที่นอกเหนือจากนี้ เราอาจจะยังไม่เห็นภาพชัดว่าเธอสนใจอะไรเป็นพิเศษ เธอมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องราวอื่นๆ ในแบบไหนบ้าง หรือเธอจะทำอะไรหลังจากนี้
“เรื่องราวชีวิตของแอนนาทำให้ทุกคนรู้จักตัวตนของเรามากขึ้น แอนนาอาจจะประสบความสำเร็จจากสตอรีตัวเอง แต่จะดีกว่าไหม ถ้าแอนนาใช้เรื่องราวนี้เปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างได้ด้วย ไม่รู้จะทำอย่างไรให้หลายคนรู้ว่าเราพูดจากใจจริงๆ เพราะเราเคยผ่านเรื่องราวพวกนี้มาจริงๆ
“เวทีนี้เลยเหมือนมอบสองโอกาสให้กับแอนนา ทั้งทำเพื่อตัวเองและทำเพื่อคนอื่น ความคิดที่ว่าเรามาอยู่ตรงนี้เพราะอยากเป็นตัวแทนของคนกลุ่มหนึ่ง มันกลายเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ไม่ใช่แค่ตัวแอนนาอีกต่อไป แต่หมายถึงเด็กอีกหลายคนที่เคยมีชีวิตหรือกำลังเผชิญชีวิตแบบเราในตอนเด็ก สิ่งนี้ทำให้รู้สึกว่าเป้าหมายการเดินทางของชีวิตเราไม่ใช่แค่ตัวเราแล้ว แต่เป็นคนอื่นด้วยเหมือนกัน
“แอนนาเชื่อว่าทุกคนต้องการเห็นสังคมเราเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่เราต้องรู้ด้วยว่า ณ ตอนนี้เราทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้แอนนามีมงกุฎมิสยูนิเวิร์สที่ทำให้แอนนามีเสียงที่ดังขึ้น แอนนาก็อยากจะพูดให้ทุกคนได้ยินว่าเราเจออะไรมาบ้าง อยากให้ทุกคนได้รู้ว่ายังมีเด็กอยู่อีกหลายคนที่เฝ้ารอการเปลี่ยนแปลง
The Momentum มีบทสนทนาเล็กๆ กับแอนนา เพื่อขยายมุมมองของเธอจากประสบการณ์ตรง คือเรื่องการศึกษาที่นำ ‘การทำความดี’ มาเป็นเกณฑ์วัด ‘โอกาส’ ในการรับทุนเล่าเรียน รวมถึงการเป็นนางงามที่สามารถเป็น ‘กระบอกเสียง’ ให้คนที่ด้อยโอกาสได้มากน้อยแค่ไหน และบทเรียนระหว่างรันเวย์เวทีการประกวดที่ทำให้เธอได้เรียนรู้ที่จะ ‘รักตัวเอง’ ให้เป็น ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่เธอหวังว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของ แอนนา เสืองามเอี่ยม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2022 ได้ทาง https://themomentum.co/closeup-anna-sueangam-iam/
น้อย-กฤษดา เหตุผลของการร้องเพลงและการแสดงที่เป็นทั้ง ‘ความรัก’ และ ‘ความเจ็บปวด’
การอิมโพรไวซ์สดๆ บนเวทีที่ดูเหมือนกระโดดโลดเต้นเป็นบัลเลต์ระหว่างร้องเพลง จนเป็นภาพที่ชินตาของผู้ชม การเข้าถึงอารมณ์ของคาแรกเตอร์ในการแสดงจนได้รับรางวัลการันตี หรือการสวมหมวกเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของโรงแรม The Siam Hotel
ไม่ว่าคุณจะจดจำ น้อย-กฤษดา สุโกศล แคลปป์ จากการเป็นนักร้องนำวงพรู การเป็นนักแสดง หรือการเป็นนักธุรกิจ ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ชายคนนี้มีความสามารถ และ ‘อิน’ กับทุกบทบาทที่เขาทำอย่างยิ่ง
“เราคิดว่าตั้งแต่อายุ 28 เป็นต้นไป คนเรานิสัยจะเหมือนเดิมตลอดกาล เหมือนเวลาเห็นคนอาวุโสดื่มเหล้าด้วยกัน เขาก็จะดูเหมือนเด็กที่คุยกันสนุกสนาน เพียงแต่สังคมทำให้ต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่ ที่สำคัญ การขึ้นเวทีมันทำให้เรากลายเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง ได้ปลดปล่อยอารมณ์เหมือนเด็กอายุ 10 ขวบที่ไม่ต้องแคร์อะไร ซึ่งถ้าเป็นผู้ใหญ่เราจะต้องระมัดระวัง แต่เวลาอยู่บนเวทีเราทำได้ เราคิดว่าศิลปินทุกคนขึ้นร้องเพลงเพราะเหตุผลนี้
“สำหรับศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นด้านเพลง การแสดง ด้านอาร์ต สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างไรคุณก็สร้างสิ่งใหม่ได้อยู่แล้ว มันขึ้นอยู่กับคุณ แต่ตลาดหรือแฟนๆ อาจจะไม่ได้ยอมรับในสิ่งที่คุณสร้างขึ้นใหม่ นั่นคือสิ่งที่เราทั้งกลุ้มใจและเข้าใจ เราก็อยากเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ”
“การเป็นนักแสดงทำให้เราได้ประสบการณ์ใหม่ๆ แม้ตอนนี้งานการแสดงจะซาลง ไม่ได้เยอะเท่าแต่ก่อน แต่ทุกอย่างที่เราทำมันคือการสร้างอะไรใหม่ๆ อย่างตอนทำเพลงพรูชุดแรกก็มีความป็อบหน่อย อัลบั้ม 2 ก็ลึกหน่อย การแสดงก็เหมือนกัน คนอาจจะคิดว่าถ้าต้องเสียเงินมาดูเราแสดง อาจจะต้องเป็นหนังโรคจิต ต้องดราม่า ต้องแรงๆ แต่หนังเรื่องแรกที่เราแสดงคือหนังตลกอย่าง ทวารยังหวานอยู่ (2547) หลังจากนั้นก็เป็น 13 เกมสยอง (2549) ก็เริ่มมีความดราม่า แล้วก็ได้เล่นอะไรใหม่ๆ อย่างหนังตลกเรื่องหลวงพี่เท่งภาค 3 (2553) เพราะอยากสัมผัสว่าโลกของดาราตลกเป็นอย่างไร
“ต้องยอมรับว่าเมื่ออายุมากขึ้น บทที่คุณอยากเล่นจริงๆ อาจจะไม่มาเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่เราอาจจะผิดก็ได้ เพราะมันก็ขึ้นอยู่กับนักแสดงแต่ละคน เราสังเกตว่า นักแสดงชายต่างประเทศที่อยู่ได้นานอย่าง ทอม ครูซ (Tom Cruise) คีอานู (Keanu Reeves) พออายุ 50 ขึ้น ต้องเล่นหนังแอ็กชัน เราก็กลุ้มใจ ในประเทศไทยคนที่เป็นซูเปอร์สตาร์อายุ 18 แต่ที่เมืองนอกอายุ 18 ยังไม่มีใครเป็นเลย เมืองไทยเกิดเร็วมากแล้วก็ไปเร็ว เราก็โมโหว่าทำไมในประเทศอินเดียหรือเกาหลีใต้ นักแสดงอาวุโสเขายังเป็นพระเอกกันอยู่เลย แต่ทำไมเมืองไทยถึงไม่ได้ ซึ่งมันเป็นวัฒนธรรมบ้านเรา
“เราอยากร้องเพลงและเป็นนักแสดงต่อไปนะ แต่ก็กลัวว่าเมื่อไรจะต้องหยุด ซึ่งมันต้องหยุดสักวันหนึ่ง เหมือนค่อยๆ ลดลงไป เราก็กลัวว่าจะต้องเอาความรู้สึกไปไว้ตรงไหน หรืออาจจะโชคดีเหมือนศิลปินรุ่นใหญ่คนอื่นๆ ที่ยังไปได้เรื่อยๆ ก็ได้ อีก 8 ปี เราก็อายุ 60 แล้ว อีก 30 ปี ก็ตายแล้ว เวลามันผ่านไปเร็ว แต่ว่ามีอะไรที่อยากทำไหม เราอาจจะทำงานด้านสังคม แต่ไม่ใช่นักการเมือง มันแปลกดี การเป็นนักร้อง นักแสดง ตอนอายุเท่าเราอาจจะดูแก่ แต่ถ้าเป็นงานด้านสังคม ถือว่าไม่แก่นะ แต่เราก็ยังไม่กล้าพูดเยอะ เพราะมันเป็นความรับผิดชอบที่มโหฬารมาก”
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของ น้อย-กฤษดา ได้ทาง https://themomentum.co/theframe-noi-pru/
เสียงนำทางความฝันของ ‘เพียว-เอกพันธ์’ แชมป์ The Voice All Stars คนแรก
.ย้อนกลับไป 12 ปีก่อน เพียว-เอกพันธ์ วรรณสุทธิ์ ในวัย 18 ปี คว้าแชมป์รายการร้องเพลงเวทีใหญ่ของประเทศไทยอย่าง KPN เส้นทางดนตรีของเขาดูจะสดใส ด้วยวัยที่ยังน้อยและความสามารถที่ถูกพูดถึงอย่างมาก
หากแต่สิ่งที่วาดฝันไว้กลับไม่เป็นดังคาด โลกของมืออาชีพทำให้เขาพบว่าตัวเองยังอ่อนประสบการณ์ และทำให้ท้ายที่สุด ชื่อของเพียวจึงค่อยๆ หายไป ความผิดหวังทำให้เขาต้องฟอร์มวงดนตรีเพื่อเข้าสู่การร้องเพลงในโลกกลางคืนตามผับ บาร์ ร้านเหล้า แต่ก็เป็นเวทีกลางคืนนี่เอง ที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาสกิลการร้อง การทำงาน และเติบโตในฐานะนักร้องอย่างมืออาชีพที่แท้จริง
ปีนี้ (2565) เพียวกลับมาพร้อมภาพลักษณ์ที่เติบโตขึ้นใน The Voice All Stars และสไตล์การแต่งตัวที่บ่งบอกความเป็นตัวตน พร้อมกับสกิลการร้องเพลงอันทรงพลัง ที่ได้รับคำชื่นชมทั้งจากโค้ช รวมถึงคนดูทั้งไทยและต่างชาติ จนถูกพูดถึงในแทบทุกครั้งที่ปรากฏตัวบนเวที กระทั่งคว้าแชมป์ในรอบไฟนอลกับเพลง ‘One Moment in Time’ จากศิลปินที่เขารักอย่าง วิตนีย์ ฮิวสตัน
“ตอนเราอยู่ชั้น ม.2 ที่โรงเรียนไพโรจน์วิชชาลัย (จังหวัดร้อยเอ็ด) เราไปประกวดร้องเพลงภาษาอังกฤษระดับจังหวัด แล้วก็ได้ที่ 1 ตอนนั้นร้องเพลง I think of you ของพี่ทาทายัง เราชอบพี่ทาทามาก เป็นไอดอลคนหนึ่งเลย อัลบั้ม I Believe คือร้องได้หมด เทปอัลบั้มแรกที่เราซื้อก็น่าจะเป็นของพี่ทาทานี่แหละ
“ความจริงเราเป็นคนขี้อาย ขี้กลัวเวทีมาก แต่ชอบเอนเตอร์เทนเพื่อน ซึ่งเพื่อนก็ชอบยุให้ขึ้นเวที แล้วเพื่อนก็จะจอยเว่อร์ และพอเราได้ขึ้นเวทีจริงๆ มันก็เหมือนเป็นไฟต์บังคับให้เราต้องร้องต้องแสดงออกไป
“หลังได้แชมป์เวที KPN รู้สึกเหมือนประสบความสำเร็จมาก แต่พอหลังจากนั้น เราได้เรียนรู้ว่า เรายังไม่รู้จักการทำงานในวงการจริงๆ ก็เลยไม่มีงาน แล้วก็ติดเรียนด้วย ความมืออาชีพยังไม่มี พอมาเจออะไรแบบนี้มันช็อก คือพอได้รับงานจริงๆ ได้ไปเจอบรรยากาศที่ต้องเป๊ะ แล้วเราเป็นเด็กอายุ 18 ที่จัดการความตื่นเต้นและความกลัวของตัวเองยังไม่ได้ บางทีก็ร้องหลุดแล้วกลัวจนสั่นไปหมด จากนั้นก็ไม่มีงานจ้าง เราก็หายไปเลย และเริ่มต้นใหม่คือไปตั้งวงใหม่ เพื่อเริ่มร้องเพลงกลางคืน ได้ค่าตัววันละ 500 ก็เริ่มมีคนจ้างงานนอกมา เริ่มได้เรียนรู้ว่า อ๋อ เราต้องทำงานแบบนี้นะ ขึ้นเวทีต้องแต่งตัวอย่างไร ต้องเอนเตอร์เทนอย่างไร ทุกอย่างเริ่มมาจากร้านเหล้า
“เราไม่ได้รู้สึกว่าการร้องเพลงกลางคืนมันด้อยกว่าการเป็นศิลปิน เพราะการร้องเพลงกลางคืน มันมีหลากหลายแบบมาก เราเองก็ไม่ได้ร้องแค่ร้านเหล้า เราร้องที่โรงแรมหรือแจ๊ซบาร์ด้วย ซึ่งเวลาไปร้องแจ๊ซบาร์ เราเล่นเพลงลึกมาก มันค่อนข้างคล้ายกับการศึกษาเลยนะ คือถ้าไปฟังในแจ๊ซบาร์จริงๆ จะเหมือนพวกนักดนตรีเก่งๆ มาแจมกัน เราคิดว่ามันเฟื่องฟูและหลากหลายกว่าเพลงในตลาดทั่วไปอีกด้วยซ้ำ
“ขอบคุณความลำบากในการร้องเพลงกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นบางทีก็ซาวนด์ไม่ดี ต้องร้องแข่งกับเสียงดนตรี ทำให้เสียงเสีย หรือการขี่มอเตอร์ไซค์ไปร้องเพลงกลางคืน มันก็ลำบาก พอไปถึงร้าน ถอดหมวกกันน็อก ผมก็จะแฟบ ก็ต้องนั่งยีผมก่อนขึ้นเวที แต่อยากกลับไปแก้ไขให้มันดีขึ้นไหม ไม่ เรารู้สึกว่ามันคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ หมายถึงความลำบากในชีวิตทำให้คนฟังได้รู้สึกว่ามันมีอะไรมากกว่าการร้องเพลงที่ออกมาจากข้างในชีวิตเรา
“ทุกวันนี้ศิลปินไทยหลายๆ คนก็เริ่มเปิดเผยความเป็นตัวตนมากขึ้น ไม่ใช่แค่ LGBTQ แต่รวมถึงเรื่อง Real Size Beauty ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งเราคิดว่าไม่ควรจะเป็นแค่เรื่องอัตลักษณ์ แต่ควรจะเป็นทั้งเรื่องแนวเพลงและดนตรีที่ต้องหลากหลายมากกว่านี้ ซึ่งสมัยนี้มันเปิดมาก การฟังเพลงของคนไทยก็ลึกมาก อย่างเพลงที่เราร้องในติ๊กตอกบางทีมันเป็นของศิลปินสายลึกมาก แต่ก็มีคนรู้จัก มันทำให้เราเห็นว่าคนไทยเปิดหูไปไกลมาก”
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของ เพียว-เอกพันธ์ ได้ทาง https://themomentum.co/theframe-purenessly-the-voice-all-stars/
‘แลนด์สไลด์ ฝ่ายประชาธิปไตย และคูมธี’ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กับคำตอบว่าทำไมต้อง “พรุ่งนี้เพื่อไทย”
ในบรรดากรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ อิ่ม-ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.เขตลาดกระบัง อาจเป็น ส.ส. ที่มีแฟนคลับมากที่สุดคนหนึ่งในตอนนี้ ไหนจะมี ‘แฟนด้อม’ จำนวนไม่น้อยตามติดไปลงพื้นที่หรือรอเจอที่พรรคเพื่อไทยในทุกสัปดาห์
ความรู้สึกและการแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้พบกับแฟนคลับวัยรุ่น หลายกรณีที่นักการเมืองมีแฟนคลับวัยรุ่นคอยติดตามข่าวการทำงาน แต่จะเป็นแฟนด้อมเดียว ตามนักการเมืองที่ชอบคนเดียว แต่ในเคสของธีรรัตน์ มักถูกนำไป ชิป หรือ จิ้น กับ จิราพร สินธุไพร หรือที่เรียกกันว่า ‘น้องน้ำ’ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่ในวงการการเมือง
ธีรรัตน์อยู่ในโลกการเมืองไทยมา 11 ปี เห็นการเปลี่ยนแปลงมาก็มาก หากต้องมองพรรคเพื่อไทยในวันเก่า กับพรรคเพื่อไทยในวันนี้ มีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน
“พรรคเพื่อไทยมีหลักการทำงานที่พูดมาตลอดว่า ‘หัวใจคือประชาชน’ ตอนนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น การที่เราจะออกนโยบายมาตัวหนึ่ง เราต้องคำนึงว่าพี่น้องประชาชนต้องได้ประโยชน์ และไม่ได้ผลักภาระด้านใดด้านหนึ่งให้ประชาชน เพราะประชาชนในประเทศนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายลงไปถึงประชาชนทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียม ครอบคลุม ทั่วถึงมากที่สุด
“เราเชื่อว่าความเข้มแข็งขององค์กรต้องเริ่มจากภายใน สามารถคุยได้ทุกเรื่อง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำความเข้าใจ และสื่อสารไปถึงประชาชน ตอนนี้มีคนยุคใหม่เข้ามาทำงานมากขึ้น ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างแนวคิดเก่าจากผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองกับแนวคิดใหม่ๆ ที่ได้จากคนรุ่นใหม่ จนได้ส่วนผสมที่ลงตัวมากที่สุด
“จุดสำคัญที่ทำให้เราได้รับการยอมรับคือนโยบาย เราเรียกกันว่า ‘นโยบายที่กินได้’ เป็นนโยบายที่ถึงมือประชาชนได้จริง ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น ทุกคนได้รับสิทธิที่ควรจะเป็นอย่างทั่วถึง เว้นเสียแต่ตอนปี 2562 มีกติกาที่เกิดจากรัฐประหาร กติกาที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มอำนาจ ครั้งนั้นเป็นครั้งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยอาจจะใช้คำว่าแลนด์สไลด์ไม่ได้
“สำหรับพรรคเพื่อไทย เราพูดแล้วทำได้จริง ต่อให้สถานการณ์ตอนนี้กำลังย่ำแย่ ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง หรือเรื่องความเป็นอยู่ เราก็ยังมั่นใจว่าถ้าเราได้ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถ มีวิธีการในการหารายได้เข้าประเทศ หารายได้อื่นนอกเหนือจากหารายได้ภายในประเทศ สามารถที่จะค้าขายกับต่างชาติได้ด้วย จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ ทุกคนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“เจ้าของพรรคเพื่อไทยคือประชาชน เรามั่นใจ เราอยากที่จะทำให้พรรคของเราเป็นสถาบันที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด การที่เราอาจถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นพรรคของนายทุน เป็นพรรคของคนตระกูลนู้น ตระกูลนี้ นั่นก็คือเป็นเพียงแค่วิธีทางการเมืองที่จะดิสเครดิตด้อยค่าพวกเรา ต้องถามกลับไปว่า ทุกครั้งที่เราทำงาน เราทำเพื่อคนใดคนหนึ่งเหรอ เราทำเพื่อตระกูลใดตระกูลหนึ่งเหรอ ซึ่งไม่ใช่ เราทำเพื่อประชาชน”
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของ อิ่ม-ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ได้ทาง https://themomentum.co/closeup-theerarat-samrejvanich/
Tags: Portraits of The Year 2022, ภาพถ่ายบุคคล