การอิมโพรไวซ์สดๆ บนเวทีที่ดูเหมือนกระโดดโลดเต้นเป็นบัลเลต์ระหว่างร้องเพลง จนเป็นภาพที่ชินตาของผู้ชม การเข้าถึงอารมณ์ของคาแรกเตอร์ในการแสดงจนได้รับรางวัลการันตี หรือการสวมหมวกเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของโรงแรม The Siam Hotel
ไม่ว่าคุณจะจดจำ น้อย-กฤษดา สุโกศล แคลปป์ จากการเป็นนักร้องนำวงพรู การเป็นนักแสดง หรือการเป็นนักธุรกิจ ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ชายคนนี้มีความสามารถ และ ‘อิน’ กับทุกบทบาทที่เขาทำอย่างยิ่ง
ตั้งแต่ปรากฏตัวจากการเป็นนักร้องนำของวงพรู (PRU) วงดนตรีขวัญใจคนอินดี้ในยุคต้น 2000 จากค่ายเบเกอรีมิวสิก เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ชื่อของน้อยไม่เคยหายไปจากวงการดนตรีและวงการบันเทิงไทย โดยเฉพาะนับตั้งแต่หลังจากอัลบั้มล่าสุดของพรู (Zero) ในปี 2548 ที่สมาชิกในวงแยกย้ายกันไปทำโปรเจกต์ของแต่ละคน น้อยก็เดินหน้าสู่แวดวงการแสดงอย่างเต็มตัว และมีผลงานน่าจดจำอย่าง 13 เกมสยอง (2549), อันธพาล (2555) หรือขุนพันธ์ (2559) ไปพร้อมๆ กับการออกอัลบั้มโซโล่เดี่ยวของตนเอง (นี่แหละชีวิต – 2562) และการบริหารธุรกิจโรงแรม
แต่ไม่นานมานี้ แฟนเพจของพรูโพสต์ว่า วงกำลังกลับมารวมตัวกันอีกครั้งในรอบ 18 ปี เพื่อทำอัลบั้มใหม่ พร้อมภาพและวิดีโอ บรรยากาศการทำเพลงที่คุ้นเคย หลายต่อหลายโพสต์ และมีแฟนๆ เข้าไปกดไลก์พร้อมแสดงความเห็นเป็นจำนวนมาก
18 ปี เป็นเวลาที่เนิ่นนาน แม้ที่ผ่านมาแฟนเพลงจะมีโอกาสได้ฟังพรูเล่นสดบ้างเป็นบางครั้ง แต่นี่ถือเป็นโอกาสพิเศษที่ทั้งวงจะกลับมาเต็มรูปแบบอีกครั้ง พร้อมกับผลงานที่สดใหม่
และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เราอยากนัดคุยกับน้อยในครั้งนี้ รวมถึงเรื่องการแสดงที่เขารัก และแง่มุมของชีวิตชายวัย 52 ปี ที่เติบโตมากับครอบครัวที่เพียบพร้อม เปี่ยมด้วยพรสวรรค์ด้านศิลปะ กับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เขามองเห็น โดยเฉพาะในวงการดนตรีและการแสดง ที่เป็นส่วนหนึ่งของเขามาเกือบครึ่งชีวิต
รวมถึงเป้าหมายในอนาคตของเขาที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง
ยามบ่ายในบริเวณของโรงแรม The Siam Hotel ที่ร่มรื่นและกว้างขวาง มีลมสดชื่นจากแม่น้ำเจ้าพระยาพัดโชยตลอดเวลา น้อยปรากฏตัวในชุดสบายๆ เสื้อยืดแขนสั้นสีดำ คู่กับกางเกงขายาวสีเข้ม คาดเข็มขัดและสวมรองเท้าหนัง ผมสั้นเกรียน แม้มีร่องรอยตามกาลเวลาบนใบหน้า แต่ร่างกายสูงโปร่งดูสมส่วน ไร้ไขมันส่วนเกิน เหมือนคนที่ออกกำลังกายและคุมอาหารเป็นประจำ ท่าทางของเขาอ่อนน้อม น้ำเสียงสุภาพ ต่างจากอารมณ์ที่พลุ่งพล่านยามสวมบทบาทบนเวทีหรือในจอภาพยนตร์ที่เรามักคุ้นชิน
“เราเป็นคนที่ชอบปลดปล่อยอารมณ์ เราต้องมีสถานที่ให้ระบายอารมณ์ ซึ่งเราก็ทำตรงนั้นจากการขึ้นเวทีร้องเพลงกับพรูและการแสดง มันคือการได้ปลดปล่อยสิ่งที่มืดมิดในใจผ่านสิ่งเหล่านั้น”
น้อยกล่าวในบางตอนของการสนทนา ซึ่งไม่ว่าบทบาทใด เขาล้วนทำได้ยอดเยี่ยมและประสบความสำเร็จ
นอกจากแพสชันที่เขามีต่อสิ่งเหล่านั้น สาเหตุสำคัญอีกข้ออาจอยู่ในสิ่งที่เขายกขึ้นมาบ่อยครั้งในบทสนทนา
“life is all about timing”
เพราะชีวิตมันขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลาไม่นานมานี้แฟนเพจของวงพรูโพสต์สิ่งหนึ่งที่ทำให้แฟนเพลงตื่นเต้น นั่นคือการประกาศว่าวงพรูกำลังกลับมารวมตัวทำอัลบั้มกันอีกครั้งในรอบ 18 ปี โอกาสสุดพิเศษนี้เริ่มต้นได้อย่างไร
เราคิดว่าทุกอย่างในชีวิตมันเกี่ยวกับเรื่องของจังหวะเวลา หรือ timing ยกตัวอย่างตั้งแต่สมัยที่ค่ายเบเกอรีมิวสิคสามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นช่วงยุค 90s ที่เริ่มต้นเพลงในบ้านเรา เพราะคนเริ่มอยากแสดงออกว่าตัวตนของฉันเป็นอย่างไร ทุกคนในค่ายก็ยังไฟแรง เพราะยังหนุ่มกัน
เราสังเกตว่า ศิลปินที่เป็นวงและทำเพลงกันตั้งแต่อายุน้อย พอช่วงอายุ 30 ก็จะเริ่มแต่งงาน มีครอบครัว หรือมีสิ่งใหม่ๆ ที่อยากค้นหา แต่พออายุเข้าเลข 40 ก็จะเริ่มอยากกลับมาร้องเพลงด้วยกันอีก ตอนนี้เราก็อายุเลข 50 แล้ว มันเป็นจังหวะที่เริ่มคิดว่า ถ้าจะกลับมาทำเพลงกัน ต้องเป็นตอนนี้ ไม่อย่างนั้นพออายุ 60 เราอาจไม่อยากขึ้นเวทีแล้ว กลัวกระโดดไม่ไหว
ดังนั้น มันเป็นจังหวะเวลาที่ทุกคนในวงพร้อมกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง โชคดีที่พรูยังมีฐานแฟนเพลงที่รอคอยอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งศิลปินหลายวงอาจไม่มีโอกาสแบบนี้ เลยคิดว่าเราควรกลับมาอีกครั้งดีกว่า หลังจากนั้น สุกี้ (กมล สุโกศล แคลปป์ – พี่ชาย) ก็เรียกทุกคนมารวมตัว มาซ้อม หาสปอนเซอร์เองหมดเลย เขามีความเป็นผู้นำตั้งแต่เด็กๆ แล้ว (หัวเราะ)
ฟังดูเหมือนทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ความจริงแล้วมันใช้เวลานานแค่ไหน ตั้งแต่ที่พวกคุณรู้สึกว่าต้องกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง จนกระทั่งเริ่มรวมตัวเพื่อทำเพลงกัน
ความจริงมันเกิดขึ้นมาเป็น 10 ปีแล้ว เพราะพวกเราได้เจอและคุยกันอยู่เรื่อยๆ ว่าพร้อมกันหรือยัง เพราะก่อนหน้านี้คณิณ (คณิณญาณ จันทรสมา – มือกลอง) ก็ทำงานโฆษณา เราก็ได้ลองไปทำอัลบั้มเดี่ยว สุกี้ก็เพิ่งมีลูกคนใหม่ มีแต่ยอด (ยอดเถา ยอดยิ่ง – มือเบส) ที่พร้อมเสมอ (หัวเราะ) มันเกี่ยวกับจังหวะของแต่ละคน คือต้องรอจนกว่าจะลงตัว ซึ่งมันสำคัญมากสำหรับชีวิตคนเรา แต่เราคิดว่า สุดท้ายทุกคนก็คิดถึงการเล่นดนตรีบนเวทีด้วยกัน อยากกลับมารวมตัวบนเวทีด้วยกัน
คนที่เป็นศิลปินตั้งแต่ตอนอายุยังไม่มาก ไม่ว่าใครก็ตาม เขาจะมีความเป็นศิลปินที่ยังอยากเพอร์ฟอร์มเสมอ มีน้อยคนที่พออายุมากขึ้นแล้วจะหมดไฟ หรือไม่อยากเล่นแล้ว ถ้าเป็นนักแสดงก็อย่างเช่น เดเนียล เดย์ ลิวอิส (Daniel Day-Lewis) ซึ่งเราไม่เชื่อว่าเขาจะรีไทร์แล้วนะ (หัวเราะ) แต่เท่าที่สังเกต ทุกคนยังมีความเป็นเด็กเสมอ เหมือนเวลาเราเห็น พอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) ที่อายุ 80 กว่า ก็ยังขึ้นเวทีเสมอ เขาหยุดไม่ได้ หรืออย่าง โรลลิง สโตนส์ (The Rolling Stones) แม้แต่เราเองที่ดูอายุมากขึ้นภายนอก แต่ข้างในก็ยังเหมือนเดิม
เราคิดว่าตั้งแต่อายุ 28 เป็นต้นไป คนเรานิสัยจะเหมือนเดิมตลอดกาล เหมือนเวลาเห็นคนอาวุโสดื่มเหล้าด้วยกัน เขาก็จะดูเหมือนเด็กที่คุยกันสนุกสนาน เพียงแต่สังคมทำให้ต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่ ที่สำคัญ การขึ้นเวทีมันทำให้เรากลายเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง ได้ปลดปล่อยอารมณ์เหมือนเด็กอายุ 10 ขวบที่ไม่ต้องแคร์อะไร ซึ่งถ้าเป็นผู้ใหญ่เราจะต้องระมัดระวัง แต่เวลาอยู่บนเวทีเราทำได้ เราคิดว่าศิลปินทุกคนขึ้นร้องเพลงเพราะเหตุผลนี้
บรรยากาศในการกลับเข้าห้องซ้อมอีกครั้ง หรือได้เขียนเพลงด้วยกัน เป็นอย่างไรบ้าง
ที่จริงตอนนี้ยังไม่ได้ซ้อมด้วยกันทุกคน เพราะยังอยู่ในขั้นตอนเขียนเพลงกันอยู่ มันก็เป็นวิถีทางใหม่ในการทำงาน คือเมื่อก่อนทุกคนจะเข้ามาอยู่ในห้องด้วยกัน เริ่มคุยกัน เริ่มซ้อม ซึ่งแต่ก่อนเราจะเป็นคนคิดทำนองมาก่อน แล้วสุกี้จะเอาคอร์ดมาใส่ในเพลง แต่ตอนนี้ 4-5 เพลงแรกที่กำลังทำ สุกี้กับยอดเถาจะช่วยกันแต่งท่อนเวิร์ส คอรัส ใส่เสียงเบส มาให้เราฟัง แล้วเราก็จะเอาทำนองมาใส่ในสิ่งที่เขาสร้างมา ซึ่งมันจะต่างกับสมัยก่อน ทั้งเรื่องเทคโนโลยีด้วย สมัยนี้ส่งอะไรผ่านโทรศัพท์ได้หมด
แล้วสมัยก่อนเวลาทำเพลง วงพรูมีขั้นตอนอย่างไร
ส่วนมากเพลงพรูสมัยก่อน โดยเฉพาะเพลงฮิตอย่าง ทุกสิ่ง, Romeo&Juliet, พรู หรือแค่ จะมาจากทำนองที่เราร้อง เพราะเราเล่นดนตรีไม่เก่ง เราจะมาหาสุกี้แล้วฮัมเพลงให้เขาฟัง เนื้อเพลงก็ไม่มี (น้อยฮัมเพลงทุกสิ่งขึ้นมาให้ฟัง) แล้วสุกี้ก็จะเอาคอร์ดมาใส่ หลังจากนั้นวงก็จะเริ่มเรียบเรียงเพลงด้วยกัน
พอมาสมัยนี้มันตรงกันข้าม ก็น่าสนใจดี แต่ไม่ต่างกับตอนที่เราอ่านเรื่องราวของศิลปินเมืองนอก การทำงานแบบสมัยใหม่มันเกิดขึ้นบ่อยกับคนที่อายุมากขึ้นแล้วกลับมารวมตัวกัน สมมติยกตัวอย่างวง U2 ทุกคนก็มีบ้านอยู่ทั่วโลก เวลาที่เขียนเพลงก็ไม่ต้องมารวมตัวกันในห้องอัด เท่าที่เราเคยอ่าน เขาก็จะส่งไฟล์ให้กัน แต่เราก็ไม่รู้ว่าวิญญาณบางอย่างมันจะหายไปหรือเปล่า แต่เข้าใจได้ว่า มันมีเทคโนโลยีแล้ว ทุกคนก็มีชีวิตกับครอบครัวแล้ว เขาก็ต้องทำงานกันแบบนี้ เวลาที่ต้องอยู่กับครอบครัวของเขามันสำคัญ
แต่วงพรูเรากำหนดวันที่เราทั้ง 4 คน จะมาเจอกันและเริ่มซ้อมกันแล้ว คือวันที่ 25 สิงหาคม ตอนนี้ก็มีเพลงคร่าวๆ ประมาณ 4-5 เพลงที่เป็นเพลงใหม่ เราก็รอคอยวันรวมตัว เพราะจะได้เริ่มแชร์ไอเดียให้กันและกันได้
การห่างหายจากการทำอัลบั้มไป 18 ปี ความท้าทายที่สุดในการกลับมาของพรูครั้งนี้คืออะไร
หลายคนบอกว่า พี่กลับมาเขียนเพลงเหมือนเพลงทุกสิ่ง แค่นี้ก็ดังแล้ว แต่เราจะบอกว่ามันยากนะที่เขียนเพลงที่โดนจริงๆ เราไม่ใช่ บอย โกสิยพงษ์ หรือจอห์น เลนนอน (John Lennon) ที่เขียนเพลงฮิตได้เยอะแยะ (หัวเราะ) มันยากมาก ของพวกนี้มันเกี่ยวกับ timing ของชีวิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เอลตัน จอห์น (Elton John) ที่เคยเขียนเพลงฮิตเยอะมากถึง 3 อัลบั้มในช่วงสิบปี แต่หลังจากนั้นจินตนาการก็อาจจะไปทิศทางอื่นแล้ว
สำหรับเรา ช่วงอัลบั้มแรกคือสิ่งที่เราจับต้องไม่ได้ มันมาจากข้างในแล้วเราก็เขียนทำนองเพลงที่ทุกคนชอบออกมาเลย แต่ตอนนี้ก็เกือบ 20 ปีแล้ว เรารู้สึกว่านักเขียนเพลงทุกคนจะมีเพดานอยู่ ไม่มีใครเขียนเพลงฮิตได้ตลอดกาล แม้กระทั่งตำนานอย่าง พอล แม็กคาร์ตนีย์ เพราะว่าเพลงเพราะๆ ที่เขาเขียนมันเป็นช่วงที่เขายังวัยรุ่น ซึ่งมีแรงบันดาลใจเยอะ ดังนั้น จินตนาการของนักเขียนเพลงเพราะๆ ทุกคนจะมีเพดานอยู่ ถึงเวลาหนึ่งมันจะตัน ส่วนตัวเราคิดว่า ตอนนี้ 10 เพลงที่เราเขียน อาจจะมีแค่เพลงเดียวที่คนชอบก็ได้
เหมือนว่าชีวิตแต่ละช่วงคุณก็มีมุมมองหรือทัศนะกับชีวิตต่างกันไป และสะท้อนผ่านเพลงของพรู ตอนทำอัลบั้มแรกก็เป็นความรู้สึกแบบหนึ่ง ซึ่งมันทำงานกับคนฟังมาก แต่ตอนนี้ก็อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่งใช่ไหม
ใช่ สมัยนั้นเราอาจจะยังหาคนที่รักไม่เจอสักที มันเลยมีไฟ มีความเจ็บปวด ที่ระบายจากเพลงที่ทำมา แต่ตอนนี้ก็ปล่อยวางมากขึ้น แต่ก็เริ่มมีความเจ็บปวดนิดหน่อยแล้วนะ (หัวเราะ) เลยอาจจะมีเพลงแบบลึกๆ ในอัลบั้มนี้เหมือนกัน แต่มันก็ขึ้นอยู่กับ timing ของชีวิตใช่ไหม เราไม่ได้อยากพูดบ้าๆ บอๆ เหมือนที่คนชอบบอกว่า ศิลปินที่ทำเพลงเพราะต้องมีความเจ็บปวดเหมือนกับ เคิร์ต โคเบน (Kurt Cobain) มันไม่ควรเป็นอย่างนั้นนะ (หัวเราะ) แต่บางทีมันก็กระทบกับความรู้สึกเราอยู่แล้ว
แต่แน่นอน เพลงจะไปทางไหนมันก็เป็นสิ่งที่เราคิดเสมอ (นิ่งคิด) เราก็รู้สึกบีบคั้นอยู่เหมือนกัน คือเราเข้าใจและอยากให้ในสิ่งที่แฟนเพลงต้องการ แต่ขณะเดียวกันชีวิตเราก็มูฟออนแล้ว อาจจะมีหลายคนที่ยังอยากฟังเพลงแบบ Romeo&Juliet ในอัลบั้มใหม่ ซึ่งหากปล่อยเพลงออกไป ก็อาจจะรู้สึกว่าทำไมไม่เหมือนเดิม เราเองก็แคร์ แต่ในเวลาเดียวกันเราก็ไม่ได้อายุ 30 แล้ว เราอายุเลข 50 แล้ว ซึ่งถ้าย้อนไปตอนอัลบั้มแรก เพลงพรูจะถูกเขียนมาในช่วงที่เราอายุประมาณ 27-28 แต่ว่ามาอัดอัลบั้มกันจริงๆ ตอนปี 2001 ที่อายุ 31 แล้ว
แสดงว่าความคาดหวังของแฟนเพลงก็เป็นความกังวลของคุณเหมือนกัน
ใช่ กับเรื่องที่ว่าจะมีเพลงฮิตอีกไหม เราว่าไม่ต้องคิดเลย มันยากแล้ว แต่ยอมรับได้ เราพูดเสมอว่า ไม่ว่าจะเป็นศิลปินวัยเราหรือว่าศิลปินอายุ 20 ต้นๆ ลึกๆ แล้วทุกคนอยากมีเพลงฮิตทั้งนั้น เพราะเราเป็นมนุษย์ แต่ในวัยเราก็เข้าใจว่ามันยากที่จะมีเพลงดัง เพราะมันเปลี่ยนไปอีกยุคหนึ่งแล้ว สำหรับพวกเราแค่ล้านวิวก็ถือว่าบุญแล้ว เราจะไปหวังสิบล้านคงไม่ได้ เพราะแฟนเพลงพรูก็อายุ 35 กันหมด หรือคงมีครอบครัวกันหมดแล้ว
เรื่องเพลงฮิตเราไม่ได้หวังอะไรมากมาย แต่ที่คิดเยอะคือเรื่องแฟนเพลง วงพรูก็คุยกันอยู่ว่า ในเรื่องการทำเพลง เราจะเห็นแก่ตัวแค่ไหน หรือเจอกันครึ่งทางกับแฟนเพลงไหม ซึ่งความจริงก็เป็นแบบนี้ตั้งแต่ต้น ตอนอัลบั้ม Zero (2005) ก็เป็นแบบนี้ สุดท้ายเราอยากพูดว่า มันไม่มีคำตอบกับเพลงว่าอะไรเวิร์กหรือไม่เวิร์ก เพราะมันทำจากความรู้สึกของเราในเวลานั้น อย่างอัลบั้มแรก PRU (2001) ก็ประสบความสำเร็จมาก แต่พออัลบั้ม 2 มันแป้กเลย ปล่อยเพลงโปรด ก็แป้ก แต่เมื่อสัก 7 ปีที่แล้วคนกลับมาเริ่มชอบเพลงโปรด หรือเพลงบิน เราก็ตกใจที่หลายเพลงเริ่มมาเกิดทีหลัง มันเลยเดาไม่ได้ว่าเพลงไหนจะโดนหรือไม่โดน
แล้วอะไรคือสิ่งที่คุณหรือวงพรูคาดหวังในการกลับมาทำอัลบั้มครั้งนี้
เราคุยกับวงบ่อยว่า อะไรคือสิ่งที่เราต้องการ แต่อย่างที่บอกว่าเราแค่อยากกลับมาเล่นด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง
หลายคนชอบถามว่าชื่อวงพรูมาจากไหน เราก็ตอบว่ามาจากหนังเรื่อง From Here To Eternity (1953) ซึ่งเป็นหนังขาวดำ นักแสดงคนโปรดของเราในเรื่องนี้คือ มอนต์โกเมอร์รี คลิฟต์ (Montgomery Clift) ซึ่งคาแรกเตอร์ที่เขาเล่นมีนามสกุลว่าพรู (Robert E. Lee ‘Prew’ Prewitt) เราเลยตั้งชื่อวงจากคาแรกเตอร์ของเขา ในหนังมีโควตที่เขาพูดแล้วเราชอบเยอะมาก อย่างเช่น ประโยคที่บอกว่า “A man loves a thing that don’t mean it’s gotta love him back” หรือเรารักอะไร ไม่ได้แปลว่าสิ่งนั้นจะต้องรักเราคืน คือแค่คุณได้รักหรือเป็นเกียรติที่ได้รัก นั่นก็เป็นสิ่งที่สุดยอดแล้ว เราใช้ตรรกะนี้บ่อยในชีวิตกับคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นลูก แฟน และเรื่องงาน เรารักในการเล่นดนตรี ไม่ได้แปลว่าจะต้องมีรางวัลหรืออะไรกลับคืนมา คุณเล่นดนตรีเพราะคุณรักดนตรี นั่นคือหัวใจหลักที่พรูอยากกลับมาเล่นด้วยกันใหม่ ถ้าไปได้ดีก็ขอบคุณและถือว่าโชคดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะมันเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ได้มีโอกาสอย่างเรา พรูโชคดีที่ยังมีฐานแฟนๆ และยังรวมกลุ่มกันได้อีกครั้ง นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุด
แม้จะคาดหวังว่าแค่อยากกลับมาสนุกกับดนตรี แต่ในเรื่องการทำเพลงพวกคุณเข้มงวดไหม
แน่นอน กลับมาแล้วเพลงก็ต้องดีด้วย ไม่ใช่ปล่อยเพลงไปแล้วคนฟังรู้สึกว่าหายไป 18 ปี ได้เท่านี้เองเหรอ (หัวเราะ) มันก็มีความกดดันอยู่ ไม่มีใครอยาก make a shitty song (ทำเพลงห่วยๆ) อย่างไรเพลงก็ต้องมีวิญญาณ มีคุณภาพ มีอะไรลึกๆ ที่คนรู้สึกได้ มันอาจจะไม่ได้เป็นเพลงฮิต แต่คนฟังแล้วรู้สึกว่า โอเค คิดถึงเพลงสไตล์นี้จัง
แต่พูดตรงๆ ว่าพวกเราไม่ได้คิดจะทำเพลงแหวกแนวอะไรใหม่ ขอโทษนะ เราไม่ได้คิดจะทำเพลงเหมือนวงที่ทุกคนรักในยุคเราอย่าง Radiohead ซึ่งเดี๋ยวนี้แนวเพลงลึกและอาร์ติสมาก แต่เราก็อยากทำเพลงที่สะท้อนยุคนั้นในระดับหนึ่ง เราแค่ยังกลัวเรื่องทำนอง ซึ่งก็แล้วแต่ว่าทำนองที่เขียนออกมาจะป็อปเท่าไร หรือลึกแค่ไหน เหมือนอัลบั้ม Zero อย่างเพลงบิน ทำนองไม่ได้ป็อปเท่าเพลง โปรด นี่ก็เป็นสิ่งที่ท้าทาย
เราคิดว่าพรูยังเก็บวิญญาณจากยุคนั้นไว้อยู่ เราไม่ได้จะทำเพลงไปทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือไปทางแดนซ์มากขึ้น เราเคารพทุกวงที่เปลี่ยนแนวเพลง และไม่ได้วิจารณ์ใคร แต่เราคิดว่าพรูก็ต้องเป็นพรู
คุณพอใจกับเพลงอัลบั้มใหม่ที่เริ่มเขียนมากน้อยแค่ไหน
เรายังไม่ค่อยพอใจกับ 5 เพลงที่เขียนมา แล้วก็ยังมีเรื่องที่ต้องคิดกันจริงจังว่า เราจะทำเพลงเป็นอัลบั้มไหม เพราะในยุคเราก็ยังเชื่อว่าการทำอัลบั้มหนึ่งต้องมีหลายเพลงเป็นเรื่องราว แต่เราก็เข้าใจว่าคนไม่ฟังทุกเพลงหรอก เพราะเวลาที่ศิลปินโปรดของเรามีอัลบั้ม เราเองก็ไม่ได้ฟังทุกเพลงเลย แต่ฟังแค่บางเพลง มีวงเดียวที่เรารักมากและฟังทุกเพลงจริงๆ คือ The Cure
ไม่ว่าจะเป็นศิลปินไทยอย่างเราหรือว่าศิลปินระดับโลก ก็ไม่ต่างกัน ถึงจุดหนึ่งก็จะเริ่มดรอป เริ่มสลายตัว ไม่มีใครสามารถมีอัลบั้มฮิตได้ตลอดกาล มันเป็นเรื่อง impossible แต่เราอาจจะผิดก็ได้ ต้องรอดู เอ็ด ชีแรน (Ed Sheeran) กับเทเลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) เพราะเพลงเขายังฮิตเสมอทุกอัลบั้ม แต่เราก็เชื่อมั่นว่า เมื่อพวกเขาอายุ 50-60 มันก็จะเป็นธรรมชาติอย่างที่เราว่า ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของชีวิต
คำว่า timing หรือช่วงเวลา เป็นสิ่งที่คุณพูดบ่อย คำนี้สำคัญอย่างไร แล้วคุณมองว่าตัวเองผ่านช่วงเวลาพีกของตัวเองมาหรือยัง
I had it. It’s not gonna happen anymore, But I had it. (เราเคยมีช่วงพีก มันจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว แต่เราก็เคยมี) แต่พูดตรงๆ เราเองก็อยากมีเพลงฮิตเพลงใหม่อยู่แล้ว (หัวเราะ) เหมือนศิลปินหลายคน เราเข้าใจว่าคนก็อยากฟังเพลงเก่า คำว่า nostalgia เป็นคำที่สำคัญ ไม่มี nostalgia เราก็อยู่ไม่ได้ ทุกคนอยากมีคอนเสิร์ตรียูเนี่ยน แฟนเพลงก็ชอบเวลาได้ฟังเพลงสมัยที่เราเติบโตมา ศิลปินเองก็สนุกกับตรงนั้น
แต่สำหรับศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นด้านเพลง การแสดง ด้านอาร์ต สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างไรคุณก็สร้างสิ่งใหม่ได้อยู่แล้ว มันขึ้นอยู่กับคุณ แต่ตลาดหรือแฟนๆ อาจจะไม่ได้ยอมรับในสิ่งที่คุณสร้างขึ้นใหม่ นั่นคือสิ่งที่เราทั้งกลุ้มใจและเข้าใจ เราก็อยากเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ บางวงที่เราพูดถึงอย่าง Radiohead เขาก็ทำไปเรื่อยๆ ซึ่งคนอาจจะไม่ฟังเหมือนแต่ก่อนก็ได้ แต่นั่นถือเป็นศิลปินที่สุดยอด ขณะเดียวกันเราเชื่อว่าเขาก็ยังอยากมีเพลงฮิต เพราะเวลาขึ้นเวทีจะได้ร้องอะไรใหม่ๆ ที่คนอยากฟัง
ตอนนี้เราอายุ 52 ปี แต่อยากบอกว่ามันไม่ได้ต่างจากตอนอายุ 30 เราก็อยากมีเพลงฮิต อยากทำอะไรใหม่ๆ ที่รู้สึกว่ามีคนยอมรับ แต่ก็ยอมรับและเข้าใจว่ามันยากมาก เพลงก็เหมือนลูกเรา ใครยอมรับเขาเราก็รู้สึกดี ใครปฏิเสธเราก็รู้สึกเสียเซลฟ์นิดหน่อย ถ้าเป็นสมัยก่อนตอนทำพรูอัลบั้ม 2 แล้วไม่เวิร์ก เราเศร้ามาก เพราะทุ่มเทเยอะ แต่สมัยนี้ถ้าสร้างอะไรขึ้นมาแล้วไม่เวิร์ก เราก็ไม่ได้เศร้าเหมือนแต่ก่อน แต่จะเข้าใจ มันคล้ายกับผู้กำกับภาพยนตร์ระดับโลก เควนติน ทารันติโน (Quentin Taruntino) มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) หรือฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola) เขาก็อยากให้หนังที่ตัวเองกำกับฮิต เราอาจจะไม่ได้เป็นผู้กำกับหนัง แต่เวลาทำเพลงพรูมันก็รู้สึกเหมือนกับว่าเราเป็นผู้กำกับร่วมกับสุกี้ กับคณิณ กับยอด ที่สร้างมันขึ้นมา
เราจะได้ฟังพรูอัลบั้มใหม่กันเมื่อไร
ก็หวังว่าจะเป็นปีหน้า เราพูดเสมอว่าเราจะไม่ปล่อยเพลงถ้าเรายังไม่แฮปปี้กับมัน แต่จะเป็น 5 เพลงหรือ 10 เพลงยังไม่แน่ใจ ต้องคุยกันอีกที เราอาจจะหาวิถีทางใหม่ก็ได้ให้คนฟังเพลง เพราะโลกอินเทอร์เน็ตก็ไม่เหมือนเดิม มันไม่ได้มีกฎเกณฑ์การทำเพลงเหมือนสมัยก่อนแล้ว เดี๋ยวนี้เวลาเราโพสต์อะไรในแฟนเพจ บางทีได้ยอดไลก์เป็นหมื่นๆ ก็ตกใจนะ อย่างโพสต์เรื่องข้าวซอยของเราที่โพสต์แค่สนุกๆ แต่ถึงกับมีรายการทีวีเอาไปออกข่าว (หัวเราะ) มันไม่รู้จริงๆ ว่าอะไรจะเกิดหรือไม่เกิด
เหมือนที่คนชอบเปรียบเทียบคุณกับนักแสดงอย่าง คริสเตียน เบล แล้วโลกโซเชียลฯ ก็ดูจะถูกใจ
(หัวเราะ) ใช่ๆ ก็มีกระแสนิดๆ หน่อยๆ มันไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดหรือไม่เกิด หรือบางโพสต์เราก็คิดว่าจะมีคนดูเยอะ แต่กลับไม่มีใครดูเลย ปัญหาคือเดี๋ยวนี้คนสนใจไลฟ์สไตล์เรามากกว่าผลงานเรา นั่นคือสิ่งที่เราไม่ค่อยชอบเท่าไร การจะพูดว่าเรามีซิงเกิลใหม่ ยอดไลก์อาจไม่เยอะ แต่พอโพสต์เรื่องข้าวซอยได้ยอดไลก์เกือบแสน มันเป็นเรื่องของยุคสมัย เราก็เข้าใจ เราทำแฟนเพจมา 2 ปี ก็เริ่มเข้าใจธรรมชาติของมัน ถ้าเรายังอยากมีงาน ถ้าอยากให้คนยังฟังอัลบั้มพรูชุดใหม่ เราก็ต้องเล่นแฟนเพจด้วย มันสำคัญจริง เพราะมันทำให้งานเข้ามา ทำให้คนพูดถึง มันไม่ใช่แค่เรา ศิลปินทั่วโลกก็ทำ แม้เราอาจจะไม่ค่อยชอบก็ตาม
เราอยากเป็นอาร์ติสมากกว่านี้นะ ที่ไม่ต้องแตะอะไรเลย แต่เราไม่ได้เจ๋งเท่านั้น เราไม่ได้เจ๋งเท่านักแสดงที่เรารักอย่าง เดเนียล เดย์ ลิวอิส ที่ไม่ทำอะไรเลย แต่คนก็ยังเคารพเขา หรือแม้แต่สมัยนี้ มิก แจกเกอร์ (Mick Jagger นักร้องนำวง The Rolling Stones) ยังมีช่อง TikTok เลย (หัวเราะ) เราก็ตกใจนะ แต่พูดง่ายๆ ไม่ต้องคิดมากก็ได้ บางครั้งเราก็รู้สึกว่า เราก็ประสบความสำเร็จแล้วนะ คนก็ยอมรับเรานะ ช่างแม่ง อย่าไปคิดมาก
สิ่งหนึ่งที่คุณพิสูจน์ให้เห็นนอกจากการเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ คือการเป็นนักแสดง โดยเฉพาะตั้งแต่อัลบั้มล่าสุดของพรูก่อนที่แต่ละคนจะแยกย้ายกันไปทำงานของตนเอง หลังจากนั้น คุณมีงานแสดงหลายเรื่องมาก อยากให้เล่าถึงบทบาทของการเป็นนักแสดงให้ฟังหน่อยว่าเป็นอย่างไรบ้าง
มีหลายสาเหตุที่เราชอบการแสดง แต่ตอนนี้เราชอบเพราะได้เจอประสบการณ์ใหม่ๆ มากกว่าการทำเพลง เราลองสังเกตว่า ตั้งแต่เราปล่อยอัลบั้มโซโล่ ซึ่งก็ไม่ได้เวิร์กนะ เวลาร้องเพลงในเมืองไทย สถานที่ร้องก็เป็นที่ที่เราคุ้นเคย เล่นผับนู้นผับนี้ เราโชคดีที่เคยมีประสบการณ์ได้เล่นดนตรีในสเตเดียมด้วย ซึ่งก็สนุกทุกครั้ง แต่สุดท้ายมันก็เป็นสิ่งที่ทำมาแล้ว
เราเพิ่งไปเล่นหนังเรื่องใหม่เรื่องหนึ่ง แล้วได้ถ่ายทำที่โลเคชั่นในป่า 2 เดือน คาแรกเตอร์ที่เล่นก็เป็นอีกคนหนึ่งเลย ซึ่งการได้เจอนักแสดงคนใหม่ๆ ได้เป็นคาแรกเตอร์ใหม่ มันคือสิ่งที่พิเศษของการแสดงที่เพลงทําไม่ได้ แต่อย่าเข้าใจผิด เวลาเพอร์ฟอร์มบนเวทีเราก็ยังชอบ มันเลยเป็นสาเหตุที่เวลาร้องกับพรู ทุกโชว์เราจะอิมโพรไวซ์ เต้นก็ไม่เหมือนกัน เพราะเราอยากให้มันเฟรช มันใหม่ ไม่ซ้ำเดิม แต่อย่างที่บอกว่า ถ้าเรามีเพลงฮิตใหม่ๆ ก็จะได้ทำอะไรใหม่ๆ แต่ถ้าไม่มี เราก็ยังร้องเพลงใหม่ไม่ได้ ต้องร้องเพลงเก่า เพลงมันก็ซ้ำ
นั่นคือข้อแตกต่างของการเป็นนักแสดงกับการเป็นนักร้อง
ถูกต้อง การเป็นนักแสดงทำให้เราได้ประสบการณ์ใหม่ๆ แม้ตอนนี้งานการแสดงจะซาลง ไม่ได้เยอะเท่าแต่ก่อน แต่ทุกอย่างที่เราทำมันคือการสร้างอะไรใหม่ๆ อย่างตอนทำเพลงพรูชุดแรกก็มีความป็อบหน่อย อัลบั้ม 2 ก็ลึกหน่อย การแสดงก็เหมือนกัน คนอาจจะคิดว่าถ้าต้องเสียเงินมาดูเราแสดง อาจจะต้องเป็นหนังโรคจิต ต้องดราม่า ต้องแรงๆ แต่หนังเรื่องแรกที่เราแสดงคือหนังตลกอย่าง ทวารยังหวานอยู่ (2547) หลังจากนั้นก็เป็น 13 เกมสยอง (2549) ก็เริ่มมีความดราม่า แล้วก็ได้เล่นอะไรใหม่ๆ อย่างหนังตลกเรื่องหลวงพี่เท่งภาค 3 (2553) เพราะอยากสัมผัสว่าโลกของดาราตลกเป็นอย่างไร
เราพูดเสมอว่า เพลงไทยหรือหนังไทยไม่มีอะไรออริจินัลหรอก ออริจินัลของไทยคือลูกทุ่งกับหนังตลก พวกหนังอาร์ต หนังแอ็กชั่น ดราม่า เราได้รับอิทธิพลมาจากเมืองนอกเยอะ แต่ความเป็นไทยคือลูกทุ่งกับหนังตลก เราเลยอยากมีประสบการณ์ตรงนั้น ซึ่งก็สนุกดี เราเคยลองเล่นหนังโรแมนติกด้วย แต่ไม่เวิร์ก (หัวเราะ) สุดท้ายเราก็เข้าใจว่า หนังที่คนอยากดูเราเล่น ก็ต้องเป็นหนังแรงๆ ซึ่งเราก็ชอบนะ เพราะเราเป็นคนที่ชอบปลดปล่อยอารมณ์ เราต้องมีสถานที่ให้ระบายอารมณ์ ซึ่งเราก็ทำตรงนั้นจากการขึ้นเวทีร้องเพลงกับพรู และการแสดง มันคือการได้ปลดปล่อยสิ่งที่มืดมิดในใจผ่านสิ่งเหล่านั้น
คุณมีหลักการในการเลือกรับบทอย่างไร เช่น ต้องเป็นบทที่ไม่เคยเล่นเท่านั้น หรือต้องเป็นบทที่ทำให้ได้ปลดปล่อยบางอย่างเท่านั้น
มีหลายสาเหตุ เมื่อก่อนก็จะเป็นเหตุผลที่ว่า อยากทำงานกับผู้กำกับคนนี้ หรือนักแสดงคนนั้น ตอน หลวงพี่เท่งภาค 3 เราเล่นเพราะว่าอยากรู้ว่าวงสังคมของดาราตลกเป็นอย่างไร มันเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ได้เล่นกับนักแสดงตลกที่เป็นตำนาน มันเลยมีหลายเหตุผล แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการที่ตัวคาแรกเตอร์มีมิติ กับเรื่องบท เราจะคิดเสมอว่า ถ้าเรารับบทนี้แล้วจะสามารถช่วยตรงไหนได้บ้าง หรือไปช่วยเพิ่มอะไรให้หนังเรื่องนี้ได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นบทใหญ่หรือบทเล็กก็ตาม
เราพูดเสมอว่า พระเอกนางเอกในประเทศไทยจะต้องดูหนุ่มสาวหน่อย ไม่เหมือนต่างประเทศ อเมริกา เกาหลี อินเดีย ที่แม้อาวุโสก็ยังเป็นพระเอกได้ แต่เมืองไทยไม่เป็นแบบนั้น เราก็เข้าใจ
ก่อนหน้านี้ เพิ่งมีคนส่งบทงานโฆษณาออนไลน์มาให้เราอ่าน เป็นคนขี่มอเตอร์ไซค์กำลังพาผู้หญิงหนี เราก็รู้สึกว่า โอ้ เท่ แต่สุดท้ายเขาบอกว่า พี่น้อยไม่ได้เป็นคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์พาผู้หญิงหนีนะ แต่เล่นเป็นศาสตราจารย์ ซึ่งเป็นคุณพ่อของนางเอก เราก็ หา! เวลาของเราเริ่มหมดแล้วหรือนี่ (หัวเราะ) เขาใช้นักแสดงวัยรุ่นมาเป็นคนเดินเรื่อง ส่วนเราเองตอนนี้ก็เริ่มมีบทพ่อเข้ามาแล้ว หรือไม่ก็เป็นบทเมนเทอร์ (Mentor) หรือบทโค้ชของเด็กๆ อย่างที่ มอร์แกน ฟรีแมน (Morgan Freeman) มักได้รับ
บทที่แปลกที่สุดที่คุณเคยปฏิเสธไปคือบทอะไร
มีอันหนึ่งที่เราเสียดายมาก เขาให้เล่นเป็นตัวละครคล้ายๆ ซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) แต่ตอนนั้นเราปฏิเสธไป เพราะว่าไม่อยากรับบทโรคจิตแล้ว เราไม่อยากซ้ำตัวเอง อยากหาอะไรใหม่ๆ ให้ตัวเอง แต่บทนั้นแปลกมาก คือไม่ได้เป็นซัลวาดอร์ ดาลี แต่เป็นศิลปินอารมณ์แปลกๆ ที่ใส่กิโมโนและเขียนภาพ หลายคนก็บอกว่าปฏิเสธไปได้อย่างไร (หัวเราะ) หลังจากนั้น พอเราได้เห็นนักแสดงที่ได้บทนั้น ซึ่งเขาเอาภาพให้ดูว่าได้แต่งตัวอย่างไร เราก็บอกตัวเองเลยว่า น้อย ยูทำอะไรลงไป โง่มาก ไม่ทันแล้ว (หัวเราะ) เสียดายมาก เพราะลึกๆ เราก็อยากเล่นแบบนั้น แล้วคิดว่าคนดูก็อยากดูเราแบบนั้นด้วย
ในการเป็นนักร้องก็จะมีวิธีพัฒนาตัวเองแบบหนึ่ง แล้วในศาสตร์การแสดงคุณมีวิธีพัฒนาตัวเองอย่างไร หรือคุณมีเทคนิคที่ใช้ในการแสดงของตัวเองไหม
เราเชื่อว่าทุกคนมีเทคนิคของตัวเองในการแสดง บางคนก็ใช้วิธี method (method acting) บางคนก็แค่ pretend เหมือนที่นักแสดงดังอย่าง แอนโธนี ฮอปกินส์ (Anthony Hopkins) ที่พรสวรรค์สูงมาก เขาแค่แสดงอย่างเดียว แต่อย่าง อัลปาชิโน (Al Pacino) ก็จะใช้วิธี method แต่เราคิดว่าตอนนี้ความหมายของ method มันเริ่มไปกันใหญ่จนสับสนแล้ว
เราเคยไปเรียนการแสดง แล้วคุณครูให้นักเรียนทุกคนนั่งตรงกลางห้อง และนึกเรื่องที่เศร้าที่สุดในชีวิตว่าเป็นแบบไหน สถานที่เป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร นักแสดงแต่ละคนก็เริ่มร้องไห้ ครูก็พยายามเจาะลึกอีก กลิ่นวันนั้นเป็นอย่างไร คุณเห็นอะไรนอกหน้าต่าง เหมือนพยายามทรมาน แต่ละคนก็ร้องไห้ถึงวันนั้นที่เขาเศร้า แล้วก็มาแสดงในฉาก เรามองแล้วคิดว่า “Fuck you, I’m not doing that. This is a private. My problem is a private.” (เราจะไม่ทำแบบนั้นเด็ดขาด นี่มันเรื่องส่วนตัว ปัญหาของเราคือเรื่องส่วนตัว) เราจะไม่ปล่อยให้ใครมาวิจารณ์ หรือให้คุณครูมาวิจารณ์ว่าปัญหาที่เศร้าที่สุดนั้นเป็นอย่างไร
ล่าสุดที่เรื่องที่เราแสดงก็มีเวิร์กช็อปการแสดง ซึ่งมีนักแสดงเด็กๆ ด้วย วันนั้นก็มีน้องคนหนึ่งอายุ 30 ปีมาสอน ในใจเราก็คิดว่า อีกแล้วเหรอ แต่ก็พยายามคิดว่า เรามาเป็นทีม อย่ามีอีโก้มากเกินไป นี่คือทีมเวิร์ก พอเริ่มเวิร์กช็อป น้องๆ นักแสดงก็เริ่มร้องไห้ เราก็คิดว่า I’m not doing this (จะไม่ทำแบบนี้แน่ๆ) เราอยากแสดงให้เต็มที่กับน้องๆ แต่ก็คิดว่า นั่นไม่ใช่เทคนิคเรา เราจะเก็บอารมณ์ไว้เวลาต้องเข้าฉากจริงๆ ดังนั้น ทุกคนมีเทคนิคไม่เหมือนกัน
ความจริงเราอยากพูดว่าการซ้อมเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้เตรียมตัวก่อนเข้าฉาก แต่สำหรับเรา ถ้าจะให้มาร้องไห้เยอะแยะก่อนซ้อม เราขอเก็บไว้ก่อนเข้าฉากดีกว่า มันส่วนตัวสำหรับเรา ไม่ต่างจากเวลาเราร้องเพลง เราไม่ชอบมานั่งรอสองชั่วโมงก่อนขึ้นเวที แต่จะชอบมาถึงแล้วขึ้นไประเบิดบนเวทีเลย คนมักจะบอกว่าเราโอเวอร์มากบนเวที บางทีก็เกือบร้องไห้ แต่ในช่วงที่ซ้อมเราก็ไม่ได้อินขนาดนั้น แต่จะปล่อยมันออกมาบนเวที แล้วเราก็จะรู้สึกดี ทั้งเจ็บปวดและรักมัน เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ทุกคนยอมให้มาปลดปล่อยปัญหาที่อยู่ในจิตใจออกมา นั่นคือเหตุผลว่าเวลาทำไมเราร้องเพลง ทำไมเราแสดงหนัง
มีเรื่องหนึ่ง ตอนคอนเสิร์ตที่เราคืนดีกับเสก (โลโซ) ที่อิมแพคอารีน่า คอนเสิร์ตยาว 4-5 ชั่วโมง แต่เราจะไม่มานั่งรอ 3 ชั่วโมงจนกว่าจะขึ้นเวทีกับเสก เราต้องบิลด์อารมณ์ มาถึงจะได้พร้อมเลย ตอนนั้นเสกร้องเพลงแรกแล้ว ทีมงานก็ถามว่าเราอยู่ไหน เราก็บอกว่ากำลังอาบน้ำอยู่เลย (หัวเราะ) เขาก็คงกลัวเราไปสาย อยากให้มานั่งรอให้เรียก เราก็ถามว่าต้องขึ้นเวทีเมื่อไร เขาบอกอีกประมาณครึ่งโชว์ คืออีก 2 ชั่วโมง สำหรับเรามันนาน ทีมงานก็กลัวรถติด แต่เราก็บอกไปว่า ไม่เป็นไร เรารู้เส้นทาง และระหว่างขับรถก็จะเปิดเพลงสร้างมู้ดไปด้วย เพื่อพอไปถึงคอนเสิร์ตเราจะได้ถึงจุดพีคพอดี
วิธีนี้ของคุณมันเวิร์กทุกครั้งเวลาทำงานไหม
บางทีเวิร์ก บางทีไม่เวิร์ก แต่ส่วนใหญ่จะเวิร์ก อย่างในหนังเรื่อง ขุนพันธ์ (2559) ที่เล่นกับอนันดา (อนันดา เอฟเวอร์ริงแฮม) ฉากนั่งโต๊ะถือกระสุนที่คนชอบ เราก็จะไม่มานั่งรอ แต่จะขับรถวนในภูเขาและเปิดเพลงดังๆ สร้างอารมณ์ พอถึงเวลา เขาก็จะวิทยุสื่อสารมาถามว่าพี่น้อยพร้อมไหม เราก็จะบอก พร้อมแล้ว (ลุกขึ้นทำท่าทางเหมือนกำลังแสดงหนังอยู่) ตอนนั้นคือรู้สึกเกลียดขุนพันธ์แล้ว เพราะเราสร้างอารมณ์มาเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น ทุกคนก็มีเทคนิคของตัวเอง ส่วนเราไม่ใช่ method แต่ใช้จินตนาการจนทุกอย่างมันเป็นจริงในช่วงแสดง
ถ้าในบทที่ต้องเล่นเป็นสิ่งที่คุณไม่เคยมีประสบการณ์จริงเลย คุณใช้วิธีไหน
ยกตัวอย่าง ฉากในขุนพันธ์ที่เราโดนจับแล้วต้องถูกตำรวจมัด ฉากนั้นเรารู้ว่าต้องฆ่าเขา ต้องเกลียดเขามาก ซึ่งเราเองก็ไม่มีประสบการณ์ชีวิตว่าอยากจะฆ่าใคร แต่เราก็คิดและบิลด์อารมณ์ว่า อะไรที่จะทำให้เราอยากทำร้ายชีวิตเขา เราก็คิดว่า ถ้ามีใครฆ่าลูกเรา ก็คงเป็นสิ่งที่ทำให้คนคนหนึ่งสามารถทำร้ายอีกคนได้ เราเลยคิดว่าสองคนนั้นฆ่าลูกเรา จนเรารู้สึกโมโหมาก ซึ่งมันเวิร์ก
แต่บางเรื่องก็ไม่ต้องทำขนาดนั้น อย่างหนังตลก ซึ่งใช้ความเป็นทีมเวิร์กมากกว่า เพราะต้องมีจังหวะรับส่งมุข ซึ่งเราว่ายาก เพราะในประสบการณ์จริงเรารู้ว่ารับส่งมุขไม่เก่ง แต่จะถนัดเวลาต้องทำอะไรคนเดียว พูดแรงๆ หรือทำอะไรแรงๆ ออกมา ตะโกนร้องไห้ ซึ่งเราคิดว่าไม่ยากเท่าไร เพราะมันคือความรู้สึกเห็นแก่ตัวที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว
มีบทไหนที่คุณอยากเล่น แต่ยังไม่มีโอกาสเล่นบ้างไหม
(นิ่งคิด) ณ ตอนนี้ที่เราได้รับรีเควสมากที่สุด แล้วเราอยากเล่น น่าจะเป็นบทจ๊อด ฮาวดี้ ในหนังเรื่องอันธพาล (2555) เพราะหลายคนอยากให้มีภาค 2 อยากเห็นเราแบบนั้นอีก แม้อาจจะเป็นบทที่เล่นซ้ำก็ได้ แต่มันน่าจะเป็นบทที่คนจำเราได้มากที่สุด เราก็อยากให้สิ่งที่เขาต้องการ แต่บางทีก็คิดว่า เก็บไว้เป็นความทรงจำแบบนั้นอาจจะดีกว่า
มีเด็กหลายคนส่งภาพตัวเองที่สักลายจ๊อดมาให้ดู เรารู้สึกเป็นเกียรติมาก แต่ก็สร้างความกดดันให้เราว่า ไม่อยากทำให้น้องเขาผิดหวัง จนกระทั่งมันกระทบเวลาเราเลือกรับบท เพราะจะคิดว่า ถ้ายอมเล่นบทเรื่องนี้ แฟนๆ ที่รักเราและเอาภาพเราไปสักบนร่างกายจะคิดอย่างไร เราคิดและแคร์มากว่าแฟนๆ เขาคิดอย่างไร
แล้วบทแบบไหนที่คุณจะไม่แคร์เด็ดขาด ต้องคว้าให้ได้ ถึงแม้จะมีคนอื่นมาแคสต์อีกหลายคนก็ตาม
(นิ่งคิด) เราปฏิเสธบทเพี้ยนๆ มาเยอะแล้ว เพราะไม่อยากซ้ำตัวเอง แต่สารภาพว่ามันก็สนุก ทุกคนอยากให้เราเล่นเป็นโจ๊กเกอร์ของเมืองไทย เราคิดว่าก็น่าจะสนุก หนังที่เราถนัดหรือคนยอมเสียเงินมาดู ส่วนใหญ่จะเป็นหนังดราม่า โรคจิต แรงๆ แต่ปัญหาคือหนังแบบนั้นขายไม่ได้แล้วในประเทศไทย หรือทั่วโลกด้วยซ้ำ
เราก็เข้าใจเรื่องของธุรกิจ เดี๋ยวนี้มันมีสตรีมมิ่ง คนที่จะยอมเสียเงินไปดูหนังดราม่า หนังแรงๆ ในโรงส่วนใหญ่ก็จะอายุมากหน่อย คงไม่ใช่เด็กๆ อาจจะมีหนังอย่าง 4 KINGS ที่ยังมีคนดูเป็นเด็กผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่หนังแบบนี้ก็ไม่ค่อยมีแล้ว เราก็ดีใจที่ 4 KINGS ประสบความสำเร็จ แต่ทุกวันนี้หนังไทยที่เห็นในโรง ก็จะเป็นหนังผี หนังวัยรุ่น หนังตลก เยอะมาก คนที่เสียเงินไปดูในโรงส่วนใหญ่เลยเป็นเด็กๆ คนวัยอย่างเราจำนวนมากเลยเลือกดูสตรีมมิงอยู่ที่บ้าน นั่นก็เป็นสาเหตุที่เราเลือกที่จะเล่นหนังน้อยลง ความจริงมีซีรีส์ติดต่อเข้ามา แต่หลายอย่างยังไม่คลิก แล้วเราก็ไม่มีเวลาด้วย เพราะซีรีส์ต้องใช้เวลา ต้องถ่ายทุกศุกร์เสาร์อาทิตย์ หลายเดือน ซึ่งเรามีครอบครัวและมีงานด้านอื่นด้วย
แต่ว่าอย่าเข้าใจผิด ยังจ้างเราได้นะ (หัวเราะ) นั่นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราพูดเสมอว่า เพลงมันต่างจากหนัง เพราะว่าเราสร้างเพลงได้เอง แต่ถ้าเป็นหนัง เราต้องรอให้คนโทรศัพท์มาชวนเราเล่น
คุณมองแวดวงการแสดงหรืออุตสาหกรรมหนังไทยตอนนี้เป็นอย่างไร
ต้องยอมรับว่าเมื่ออายุมากขึ้น บทที่คุณอยากเล่นจริงๆ อาจจะไม่มาเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่เราอาจจะผิดก็ได้ เพราะมันก็ขึ้นอยู่กับนักแสดงแต่ละคน เราสังเกตว่า นักแสดงชายต่างประเทศที่อยู่ได้นานอย่าง ทอม ครูซ (Tom Cruise) คีอานู (Keanu Reeves) พออายุ 50 ขึ้น ต้องเล่นหนังแอ็กชัน เราจะไม่เห็นทอม ครูซเล่นหนังโรแมนติก เพราะคนไม่ดู แต่ถ้าเล่นแอ็กชัน คนก็ยังยอมเสียเงินไปดูเขาเล่น อาจจะมีแค่แบรต พิท (Brad Pitt) คนเดียวที่เล่นหลายอย่างได้ นั่นคือซูเปอร์สตาร์
เราก็กลุ้มใจ ในประเทศไทยคนที่เป็นซูเปอร์สตาร์อายุ 18 แต่ที่เมืองนอกอายุ 18 ยังไม่มีใครเป็นเลย เมืองไทยเกิดเร็วมากแล้วก็ไปเร็ว เราก็โมโหว่าทำไมในประเทศอินเดียหรือเกาหลีใต้ นักแสดงอาวุโสเขายังเป็นพระเอกกันอยู่เลย แต่ทำไมเมืองไทยถึงไม่ได้ ซึ่งมันเป็นวัฒนธรรมบ้านเรา
แต่เราก็คิดในแง่บวก ข้อดีของนักแสดงในประเทศไทย โดยเฉพาะนักแสดงหญิงจะมีพลังเยอะมาก เรียกว่าเท่าเทียมกับนักแสดงไทยชายเลย ค่าตัวก็เท่าๆ กัน ไม่เหมือนเมืองนอกที่ค่าตัวนักแสดงชายสูงกว่า การที่นักแสดงหญิงได้ค่าตัวเยอะกว่า เพราะเขาดึงคนมาดูละครได้มากกว่า หรือดึงคนมาซื้อสินค้าที่เขาเป็นพรีเซนเตอร์ได้มากกว่า เราเข้าใจหลักการเท่าเทียมนะ แต่ในสายนักแสดง หรืออย่างสายนักกีฬา เรามองว่าคนที่สามารถดึงคนมาดูได้มากกว่า ก็สมควรได้เงินมากกว่า ยกตัวอย่าง ทีมฟุตบอลหญิงอเมริกาที่ตอนนี้ที่ได้เงินมากกว่าทีมนักฟุตบอลชายแล้ว เพราะเขาสู้มาตลอด และสามารถดึงคนให้มาดูการแข่งขันได้มากกว่า
คุณเป็นทั้งนักร้อง นักแสดง และยังเป็นนักธุรกิจด้วย ทุกวันนี้คุณยังมีเป้าหมายชีวิตในด้านอื่นอีกไหม
เราอยากร้องเพลงและเป็นนักแสดงต่อไปนะ แต่ก็กลัวว่าเมื่อไรจะต้องหยุด ซึ่งมันต้องหยุดสักวันหนึ่ง เหมือนค่อยๆ ลดลงไป เราก็กลัวว่าจะต้องเอาความรู้สึกไปไว้ตรงไหน หรืออาจจะโชคดีเหมือนศิลปินรุ่นใหญ่คนอื่นๆ ที่ยังไปได้เรื่อยๆ ก็ได้ อีก 8 ปี เราก็อายุ 60 แล้ว อีก 30 ปี ก็ตายแล้ว เวลามันผ่านไปเร็ว
แต่ว่ามีอะไรที่อยากทำไหม (นิ่งคิด) เราอาจจะทำงานด้านสังคม แต่ไม่ใช่นักการเมือง มันแปลกดี การเป็นนักร้อง นักแสดง ตอนอายุเท่าเราอาจจะดูแก่ แต่ถ้าเป็นงานด้านสังคม ถือว่าไม่แก่นะ แต่เราก็ยังไม่กล้าพูดเยอะ เพราะมันเป็นความรับผิดชอบที่มโหฬารมาก
อะไรทำให้คุณคิดอยากทำงานด้านสังคม แล้วคุณสนใจสังคมในด้านไหน
เรายังไม่รู้ แต่แค่คิดว่ามันอาจมีอีกสเตจในชีวิตก็ได้ เราสังเกตว่าในวัยนี้ก็เริ่มมีคนมาขอคำแนะนำ เหมือนที่น้องมาสัมภาษณ์เรา เพราะอาจคิดว่าเรามีบางสิ่งที่แนะนำจากประสบการณ์ได้ แน่นอนคงไม่ใช่ทุกคน แต่ก็อาจมีบางคนที่ชื่นชมเรา แต่ก็ต้องระวัง เพราะมันฟังเหมือนเราบ้าตัวเอง แต่ไม่ใช่ เราแค่คิดว่า เราเป็นสะพานให้ใครได้หรือเปล่า ซึ่งถ้าไปทางด้านสังคม มันก็เป็นความรับผิดชอบอีกระดับหนึ่งเลย เหมือนเวลาหลายคนถามว่าโลกของเพลง การแสดง กับธุรกิจต่างกันอย่างไร เราจะบอกว่าการทำธุรกิจ (โรงแรม) ยากกว่ามาก ความรับผิดชอบสูงมาก มันคือการรับผิดชอบการดูแลคน ซึ่งเหนื่อยมากๆ และเราก็รักทุกคนที่ทำงานกับเราจริงๆ ดังนั้น ถ้าวันหนึ่งเราไปทางด้านสังคม มันเจอเต็มๆ แน่ๆ (หัวเราะ) เพราะต้องมีคนที่ทั้งชอบและไม่ชอบคุณ ซึ่งเราเคารพทุกคนที่ทำงานด้านสังคมนะ โดยเฉพาะคนที่ยอมเสียสละจริงๆ อย่างพวก NGO
อย่างไรก็ดี เราจะพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด
ท้ายที่สุด คุณอยากให้คนมองและจดจำคุณในฐานะอะไรมากที่สุด
ถามแบบนี้ หมายถึงเราแก่แล้วใช่ไหม (หัวเราะ) อยากให้มองว่าเราพยายามอย่างดีที่สุดแล้ว (นิ่งคิด) เราทำอย่างดีที่สุดเพื่อจะเคารพคุณทุกคน โดยที่ยังเป็นเราในเวลาเดียวกัน นอกนั้นก็ขึ้นอยู่กับคนอื่นว่าเขามองเราอย่างไร เราแตกต่างไหม ชอบหรือไม่ชอบก็ได้ แต่คุณพูดว่าไม่ได้ว่าเราไม่พยายาม เราแคร์มากว่า ประชาชนไทยคิดอย่างไรกับเรา เราพูดเสมอว่า เราโชคดีที่เกิดมามีครอบครัวคอยสนับสนุน แต่เราไม่ได้อยากเกิดมาแล้วเป็นแค่เด็กที่ช่วยธุรกิจครอบครัว เราอยากทำอะไรมากกว่านั้น ซึ่งเราก็คิดว่าตัวเองมีพรสวรรค์ด้านการแสดงและการร้องเพลง เราเลยเลือกมาทางนี้ แล้วหวังว่าคนจะยอมรับเรา
ตอนเด็กๆ เราคิดว่า เราอยากรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับประเทศนี้ ตอนนี้ก็ถือว่าดีขึ้น เพราะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งมากกว่าแต่ก่อน และคิดว่าทำได้มากกว่าที่ตัวเองคิด ซึ่งเรารู้สึกดีมาก
ขอบคุณประชาชนทุกคน I love you, Man
Tags: ภาพยนตร์, ดนตรี, ภาพยนตร์ไทย, The Frame, น้อยวงพรู, พรู, กฤษดา สุโกศล แคลปป์, น้อย กฤษดา, น้อย พรู