ตอนนี้หากสังคมจะพูดถึง ‘แอนนาเสือ’ แอนนา เสืองามเอี่ยม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2022 สิ่งที่คนส่วนใหญ่นึกออกมักเป็นภูมิหลังความจน อาชีพของบุพการีที่พ่อเป็นพนักงานเก็บขยะ ส่วนแม่เป็นพนักงานกวาดถนนของรัฐวิสาหกิจสำนักงานเขตตลิ่งชัน นอกจากนี้เธอยังเติบโตท่ามกลางบรรยากาศของพุทธศาสนาในชุมชนแออัด เพราะทวดที่บวชอยู่ในสำนักชีนำแอนนาไปเลี้ยงดูในพื้นที่วัด
The Momentum มีบทสนทนาเล็กๆ กับแอนนา เพื่อขยายมุมมองของเธอจากประสบการณ์ตรง คือเรื่องการศึกษาที่นำ ‘การทำความดี’ มาเป็นเกณฑ์วัด ‘โอกาส’ ในการรับทุนเล่าเรียน รวมถึงการเป็นนางงามที่สามารถเป็น ‘กระบอกเสียง’ ให้คนที่ด้อยโอกาสได้มากน้อยแค่ไหน และบทเรียนระหว่างรันเวย์เวทีการประกวดที่ทำให้เธอได้เรียนรู้ที่จะ ‘รักตัวเอง’ ให้เป็น ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่เธอหวังว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้บ้าง
เราต้องทำ ‘ความดี’ บางอย่างเพื่อแลกกับการไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา
คุณคงเคยได้ยินเรื่องทุนการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส แต่เคยรู้ไหมว่ากระบวนการคัดเลือกผู้รับทุนนั้นทำกันอย่างไรบ้าง
แอนนา เสืองามเอี่ยม ก็คือหนึ่งในนักเรียนที่ยื่นเรื่องขอทุนการศึกษาหลายต่อหลายครั้ง นับแต่เรียนระดับมัยธยมศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษา เธอเป็นเหมือนกับอีกมากมายหลายคนที่ต้องดิ้นรน เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา
“แอนนาเติบโตมากับการเรียนในโรงเรียนวัด เพื่อนๆ แต่ละคนก็มาจากครอบครัวที่แตกต่างกัน มีเรื่องราวไม่เหมือนกัน แรงสนับสนุนด้านการศึกษาต่างกัน ในเวลานั้นเราอาจจะยังมองเห็นเรื่องแรงสนับสนุนด้านการศึกษาที่ยังไม่ค่อยชัดเท่าไร แต่พอเริ่มโต โรงเรียนก็จะแจ้งกับเด็กๆ ว่ามีทุนการศึกษามาให้กับคนที่สนใจ คราวนี้ภาพที่ว่าจะเริ่มชัดขึ้น เพราะเราสามารถแบ่งกลุ่มเพื่อนในห้องแบบคร่าวๆ ได้ เป็นกลุ่มคนที่อยากได้ทุนการศึกษา กับกลุ่มคนที่ไม่ต้องการทุน
“เด็กบางคนที่ไม่อยากได้ทุนการศึกษาอาจเป็นเพราะครอบครัวเขายังส่งไหว หรือไม่อยากจะต้องมีข้อจำกัดในชีวิตมากขึ้น เพราะคนที่อยากได้ทุนการศึกษาไม่ได้แปลว่าลงชื่อแล้วได้เลยแบบฟรีๆ แต่เด็กเหล่านั้นจะต้องทำ ‘ความดี’ บางอย่างเพื่อแลกมา
“แอนนาเป็นหนึ่งในคนที่ต้องการทุนการศึกษาที่ว่า แล้วเราจะต้องทำบางอย่างเหมือนกัน แอนนาต้องเก็บขวด ต้องเริ่มบริจาคเลือดหลายครั้งทั้งที่ตัวเราในตอนนั้นรู้ดีว่าไม่อยากทำเลย แต่เราต้องทำเพื่อจะได้มีอะไรเขียนลงในสมุดบันทึกความดี แล้วทุนที่ว่าบางครั้งก็ไม่ใช่ทุนฟรีจริงๆ พอแอนนาเรียนจบก็ต้องรีบทำงานหาเงินเพื่อคืนทุนที่เคยได้มา”
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อแอนนาในช่วงวัยนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก ลองคิดในมุมเด็กคนหนึ่งที่หลังเลิกเรียนแล้ว ควรมีเวลาได้เล่นกับเพื่อน อ่านหนังสือการ์ตูน ทำการบ้าน ช่วยพ่อแม่หยิบจับงานบ้าน หรือแค่มีเวลาว่างพักผ่อน ฯลฯ แต่เด็กคนนั้นกลับต้อง ‘เร่ง’ ทำความดีสารพัน เพื่อเขียนลงสมุดบันทึกความดี เพื่อเป็นการรับประกันว่าตนคู่ควรกับทุนการศึกษา และจะไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา
แต่แม้จะไม่อยากทำ แอนนาก็ต้องดิ้นรน เพราะเธอมองว่าการศึกษาสำคัญยิ่งต่อชีวิต ความคิดที่ได้รับการปลูกฝังจากแม่ของเธอ — ผู้หญิงที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน
“อาจเป็นเพราะแม่แอนนาเรียนจบแค่ประถมศึกษาปีที่ 6 ตอนนั้นแม่ก็ยังอยากเรียนต่อมากๆ แต่ด้วยความที่ครอบครัวไม่สามารถส่งเสียให้เรียนต่อได้ ทำให้แม่ต้องออกไปทำงานตั้งแต่เด็ก ขณะที่เพื่อนรอบตัวหลายคนมีโอกาสได้เรียนในระดับที่สูงกว่า แล้วก็ประสบความสำเร็จในชีวิตกันค่อนข้างเยอะ แม่เลยเชื่อว่าการศึกษาจะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิต หรือเปลี่ยนแปลงต้นทุนบางอย่างได้
“ความหวังจากโอกาสทางการศึกษาทำให้แม่ทำงานสามที่ต่อวัน ตั้งแต่ตีห้าจนถึงสามทุ่ม เพื่อจะได้ส่งเสียให้เราเรียนจนจบ แอนนาเห็นความพยายามของแม่มาตลอด แม่แค่อยากให้เราได้เรียนหนังสือ ขอแค่ให้แอนนาสอบผ่าน เราเลยเกิดความรู้สึกว่าเรื่องแค่นี้ทำไมเราจะทำไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้กดดันตัวเองถึงขั้นว่าเราจะต้องเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
“พอแอนนาเรียนจบ เราก็ได้เห็นด้วยตัวเองว่ามีโอกาสใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตเยอะมาก รวมถึงโอกาสที่ได้รับมงกุฎมิสยูนิเวิร์สด้วย ส่วนหนึ่งก็เกิดจากคำที่แม่บอกว่าการศึกษาจะเปลี่ยนชีวิตแอนนา แอนนารับความคิดนั้นมาจากแม่อีกที แล้วก็ได้พิสูจน์ด้วยตัวเองด้วยว่าสิ่งที่แม่คิดนั้นถูกต้องแล้ว”
แม้เธอจะไม่หลุดจากระบบการศึกษา และนำพาตัวเองมาได้ถึงจุดนี้ แต่แน่นอนว่า ประสบการณ์ชีวิตที่ต้องดิ้นรนแต่วัยเด็ก ก็ยังคงทิ้งคำถามหลายอย่างไว้กับเธอ
“แอนนามองว่า ทำไมการที่เราเกิดมาในครอบครัวที่ไม่เท่ากับคนอื่น ทำให้เรามีชีวิตที่ยากขนาดนี้ ทำไมเด็กคนหนึ่งจะต้องบริจาคเลือดตัวเอง ทำไมเราถึงต้องนั่งเก็บขวดหลังเลิกเรียน ทำไมเราถึงต้องเร่งทำความดีเพื่อที่ตัวเองจะได้อยู่ในระบบการศึกษา
“ปัจจุบันนี้มีหลายคนบอกว่าการศึกษาคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่พลเมืองไทยทุกคนควรได้รับ เด็กทุกคนควรได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน จริงๆ แล้วสิ่งที่พูดมานี้ไม่เคยจริงเลย และในเมื่อแอนนาอยู่ในจุดที่เสียงของตัวเองดังขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง เราเลยอยากจะพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น พูดย้ำๆ ว่าปัญหานี้ยังคงมีอยู่”
เราเป็นเพียงคนหนึ่งที่หวังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
แอนนายอมรับว่า จากแรกเริ่มที่เคยรู้จักเวทีนางงามและตัดสินใจเข้าร่วมประกวด เพราะเธอมองว่า นี่คือหนทางไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น แต่ระหว่างเส้นทางก่อนได้รับตำแหน่ง แอนนาก็ได้เห็นและเรียนรู้ว่า ‘เสียง’ ของนางงามก็เป็นคุณค่าอย่างหนึ่งที่น่าจะมีส่วนผลักดันไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ — ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ตัวเธอเอง
“ทุกคนอาจจะมองว่าแอนนาพูดอะไรก็ได้ เพราะตัวเองประสบความสำเร็จแล้ว แต่การพยายามมาอยู่ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าแอนนาทำเพื่อคนอื่นอย่างเดียว แอนนามาเพื่อตัวเองด้วย เราเชื่อว่าไม่มีใครตั้งเป้าหมายบางอย่างขึ้นมาโดยที่ไม่อยากทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จ แต่คุณจะไม่มีทางไปเติมเต็มความฝันของคนอื่นได้เลย ถ้าคุณไม่สามารถทำความฝันของตัวเองให้สำเร็จได้เสียก่อน นั่นเป็นหนึ่งเหตุผลว่าทำไมเวทีนี้ถึงเปลี่ยนความคิดของแอนนา
“เสียงของแอนนาไม่อาจทำให้เกิดความเท่าเทียมทางการศึกษา แต่อย่างน้อยถ้ามีผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจหลายคนได้ผ่านมาฟัง หรือทุกคนร่วมกันผลักดันประเด็นนี้ไปพร้อมกัน เราก็คงพอจะมีหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แล้วลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อีกหน่อย คอยตอกย้ำว่าเรื่องการศึกษาคือสิ่งจำเป็น เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ และเราจะมีวิธีใดบ้างที่ทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายขึ้น เรื่องเล็กๆ อย่างการพูดของเราอาจจะพอช่วยเหลือเด็กเหล่านั้นได้
“เรื่องราวชีวิตของแอนนาทำให้ทุกคนรู้จักตัวตนของเรามากขึ้น แอนนาอาจจะประสบความสำเร็จจากสตอรี่ตัวเอง แต่จะดีกว่าไหม ถ้าแอนนาใช้เรื่องราวนี้เปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างได้ด้วย ไม่รู้จะทำอย่างไรให้หลายคนรู้ว่าเราพูดจากใจจริงๆ เพราะเราเคยผ่านเรื่องราวพวกนี้มาจริงๆ
“เวทีนี้เลยเหมือนมอบสองโอกาสให้กับแอนนา ทั้งทำเพื่อตัวเองและทำเพื่อคนอื่น ความคิดที่ว่าเรามาอยู่ตรงนี้เพราะอยากเป็นตัวแทนของคนกลุ่มหนึ่ง มันกลายเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ไม่ใช่แค่ตัวแอนนาอีกต่อไป แต่หมายถึงเด็กอีกหลายคนที่เคยมีชีวิตหรือกำลังเผชิญชีวิตแบบเราในตอนเด็ก สิ่งนี้ทำให้รู้สึกว่าเป้าหมายการเดินทางของชีวิตเราไม่ใช่แค่ตัวเราแล้ว แต่เป็นคนอื่นด้วยเหมือนกัน
“แอนนาเชื่อว่าทุกคนต้องการเห็นสังคมเราเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่เราต้องรู้ด้วยว่า ณ ตอนนี้เราทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้แอนนามีมงกุฎมิสยูนิเวิร์สที่ทำให้แอนนามีเสียงที่ดังขึ้น แอนนาก็อยากจะพูดให้ทุกคนได้ยินว่าเราเจออะไรมาบ้าง อยากให้ทุกคนได้รู้ว่ายังมีเด็กอยู่อีกหลายคนที่เฝ้ารอการเปลี่ยนแปลง
“อย่างน้อยๆ แค่ได้รู้ว่ากลุ่มชายขอบยังมีตัวตน ได้รู้ว่ามันไม่ง่ายเหมือนกันที่พวกเราจะประสบความสำเร็จด้านการศึกษา แค่แอนนาได้ทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด แอนนาก็จะทำ”
นอกเหนือจากเรื่องราวของภูมิหลังที่ยากจน การดิ้นรนเพื่อการศึกษา และความพยายามไต่ระดับทางสังคมเพื่อชีวิตที่ดีกว่า เราถามเธอไปว่า อยากให้คนรู้จักมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ที่ชื่อแอนนาในมุมไหนอีกบ้าง
“เมื่อก่อนแอนนาจะคิดว่าเรารักตัวเองตลอด แต่พอมาดูจริงๆ มีหลายครั้งที่เราใจร้ายกับตัวเอง เช่น การที่เราชอบดูถูกตัวเองว่าคงทำสิ่งนั้นไม่ได้ ทำอย่างนี้ไม่ได้ แล้วพอเราเริ่มสังเกตเห็นสิ่งนี้ มองในมุมกลับกัน ถ้ามีเพื่อนคนหนึ่งที่คอยบอกกับเราว่า เธอทำอย่างนั้นไม่ได้ เธอคงทำสิ่งนั้นไม่ได้อยู่ตลอดเวลา เราจะยังคบกับเพื่อนคนนี้อยู่ไหม อาการที่ว่ามาเกิดขึ้นกับแอนนาบ่อยมาก โดยเฉพาะในช่วงแรกที่อยู่ในกองประกวด
“ช่วงแรกแอนนาจะกดดันตัวเองมาก ตอนที่สองของการประกวดอย่าง ‘Rock the Runway’ ที่วัดเรื่องการเดินว่าเดินอย่างไรให้อยู่ตรงกลางตลอดเวลาโดยไม่ตกน้ำ เราก็จะกดดันตัวเองว่าต้องทำตรงนี้ให้ดีที่สุด แต่ในใจประหม่าอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องทำอย่างไรเราถึงจะไม่ตกน้ำ เอาแต่คิดว่าถ้าตกน้ำจะต้องได้คะแนนน้อย ถ้าย้อนกลับไปดูจะเห็นว่าแอนนาเดินแข็งมาก เพราะเราไม่มั่นใจในตัวเองเลย มันแสดงออกมาทั้งการเดินและสีหน้าที่กังวลมากๆ
“กลายเป็นว่าสิ่งที่กองประกวดต้องการจะดูจริงๆ ไม่ใช่การวัดว่าใครจะตกน้ำแล้วใครจะไม่ตกน้ำ แต่กองอยากดูว่าผู้เข้าประกวดมั่นใจแค่ไหนที่จะเดินต่อไปในแต่ละก้าว ถ้ามีคนตกน้ำ คนนั้นก็จะลุกขึ้นเดินต่อได้ แอนนาตีโจทย์ผิดหมดเลยเพราะแอนนาเอาแต่กลัว
“จบตอนนั้นแอนนากลับบ้านไปร้องไห้กับทีม บอกพี่เลี้ยงว่าทำพลาด โทษตัวเองทั้งหมด ซึ่งตรงนี้ก็มาคิดได้ทีหลังเหมือนกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เราไม่ผิดที่จะเสียใจ แต่ก็ไม่ควรโทษตัวเองเพราะเหตุการณ์มันได้ผ่านไปแล้ว สิ่งที่จะทำได้หลังจากนี้คือการเตรียมตัว ทำการบ้าน ดูว่าตอนต่อไปจะวัดกันด้วยอะไร โจทย์คืออะไร แล้วพยายามตีตรงนี้ให้แตก เมื่อคิดแบบนั้นเราก็เตรียมพร้อมพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นเลยว่าเราจะทำให้ดีให้ได้
“ตอนต่อมาคือ ‘Swimsuit Competition’ ที่แอนนาภูมิใจมากๆ เพราะเราทำเต็มที่ด้วยความมั่นใจ มันเหมือนปลดล็อกอะไรหลายๆ อย่างในใจเรา เดินจบก็มีความสุขมาก ถ้าเราคิดจะทำให้ดี เรามีคุณค่ามากพอที่จะทำสิ่งนั้นได้ มันก็ทำได้จริงๆ หลังจากนั้นเลยสำรวจตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่าเรารักตัวเองเพิ่มขึ้นหรือยัง คู่ไปกับความพยายามลองมั่นใจในตัวเองมากขึ้น หลังจากนี้ถ้าจะพลาดก็พลาดไปเลย มันเกิดขึ้นแล้ว แต่เราก็จะเดินต่อไป
“การดูถูกตัวเองมันเป็นเหมือนกฎแรงดึงดูด ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ มันจะทำไม่ได้จริงๆ แต่ถ้าเชื่อว่าทำได้ ถ้าคิดว่าเธอทำได้แน่นอน ฉันอยู่ข้างเธอเสมอ ถ้าเรามีเพื่อนคนนี้ที่คอยซัพพอร์ตเรา แล้วจะทำได้ เพราะมันมีกำลังใจดีๆ จากตัวเราเอง ทำให้กลับมาถามตัวเองว่า ใจดีกับตัวเองพอแล้วหรือเปล่า อยากให้ทุกคนลองคิดดูว่าเรารักตัวเองจริงๆ หรือยังในทุกวันนี้”
แล้วจุดเด่นในตัวของแอนนาคืออะไร
“แอนนาไม่เคยคิดว่าตัวเองเด่นอะไรไปเสียทุกเรื่อง ไม่เคยคิดว่ามีข้อไหนที่เด่นมากที่สุด แอนนาอยากพัฒนาในทุกๆ เรื่อง สามารถเติมเต็มได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการพูด ภาษาอังกฤษ บุคลิก ทักษะการเดิน หรืออะไรอีกหลายอย่าง แอนนาอยากทำตัวเหมือนน้ำไม่เต็มแก้ว เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมมี Growth mindset เพื่อพัฒนาตัวเองได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด
“ส่วนข้อด้อยก็อย่างที่บอกไปแล้วว่า เราเรียนรู้และจะพยายามไม่มองว่ามันเป็นความล้มเหลวผิดพลาด แต่จะมองว่าเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาให้กลายเป็นจุดแข็งได้ในอนาคต
“ตั้งแต่เกิดมาแอนนาไม่เคยมีเป้าหมายในชีวิตที่ใหญ่ขนาดนี้มาก่อน ซึ่งแอนนาก็ทำสำเร็จไปแล้วหนึ่งขั้น แต่ว่าครั้งต่อไป (การประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2022) เป็นเป้าหมายที่ใหญ่กว่าเดิมไปอีก เรากลายเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ เลยต้องพยายามพัฒนาเพื่อให้ตัวเองสมกับสิ่งที่ได้รับมาแล้ว”
มิสยูนิเวิร์สเป็นตำแหน่งที่มีระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น หลังพ้นวาระแล้วแอนนาวางแผนชีวิตไว้แบบไหน
“ตอนนี้ไม่มีอะไรที่พอสำหรับแอนนา แอนนาอยากที่จะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ โลกใบนี้มันยังมีอะไรหลายอย่างที่แอนนาต้องเรียนรู้ให้ตัวเองได้พัฒนา ทำให้ตัวเองกลายเป็นตัวแทนที่ดีที่สุด
“การเป็นมิสยูนิเวิร์สไม่ใช่แค่ระยะเวลาหนึ่งปี แต่จะเป็นตำแหน่งที่ติดตัวไปตลอดชีวิต แอนนาก็จะทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป จะทำสิ่งที่ได้รับมาคือการส่งเสียงที่ดังขึ้น ทำบางสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้เกิดมา แอนนาโชคดีที่ได้เกิดมาพูดแล้วทุกคนฟังแอนนา จึงจะใช้สิ่งนี้ ใช้พลังที่แอนนามี ทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด ทำอะไรก็ได้ให้รู้สึกว่าครั้งหนึ่งที่เราได้เกิดมาเราทำสิ่งดีๆ
“เพราะมันไม่ใช่ระยะเวลาแค่ปีเดียว แต่คือชั่วชีวิตของแอนนา”
Tags: Close-Up, Interview, ความเหลื่อมล้ำ, Miss Universe Thailand 2022, การศึกษา, การประกวดนางงาม, Miss Universe, มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์, มิสยูนิเวิร์ส, แอนนา เสืองามเอี่ยม, นางงาม, แอนนาเสือ, Miss Universe Thailand, Anna, people, Anna Sueangam-iam, สัมภาษณ์, แอนนา, สังคมไทย