ที่หน้าห้องขัง สน.ชนะสงครามข้าพเจ้าถูกขอร้องให้ช่วยพูดปลอบน้ำตาที่ไหลอยู่เป็นสาย แต่ข้าพเจ้าจะพูดอะไรได้ในภาวะอันน่าละอายและอยุติธรรมนั้น ที่ข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในผู้รอดหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แต่เธอไม่ใช่ ข้าพเจ้าแข็งใจบอกเธอว่า ขอให้ทำใจนึกเสียว่ากำลังเข้าสู่พื้นที่โรงละครแห่งใหม่ ขอให้แปรมันเป็นวัตถุดิบ ขอให้สู้ทนเขียนไว้ ข้าพเจ้าสัญญาจะรอตีพิมพ์ เธอรักษาสัญญา และข้าพเจ้าก็เช่นกัน แต่บันทึกเล่มนี้ยังเป็นมากกว่านั้น มันคือการพิสูจน์ว่าคนที่เชื่อมันและลงแรงตลอดมาในการสร้างแสงสว่าง จะไม่มีทางยอมเป็นแค่เหยื่อแม้เมื่อตกอยู่ในความมืด

ไอดา อรุณวงศ์ บก.สำนักพิมพ์อ่าน เขียนไว้ในคำนำหนังสือ บรรยายถึงสถานการณ์เมื่อครั้งพบเจอผู้เขียนในวันที่โดนจับกุม

800 กว่าหน้าของหนังสือขนาดเท่าคัมภีร์ไบเบิลคือผลงานการเขียนของภรณ์ทิพย์ มั่นคง หรือ กอฟ อดีตผู้ต้องหาคดี 112 จากการทำละครเวทีเมื่อปี 2556 และหลังการรัฐประหาร 2557 เธอต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำกว่า 2 ปี

เหตุผลที่รูปลักษณ์ของหนังสือเล่มนี้ดูคล้ายไบเบิลก็เพราะไบเบิลมีบทบาทในชีวิตของเธอในเรือนจำไม่น้อย หน้าปกหนังสือเป็นรูปกระดาษของพระคัมภีร์ในบทวิวรณ์ที่เธอแอบฉีกมาเขียนบันทึกอารมณ์ เรื่องราว ผู้คน ที่พบเจอ ลายมือขยุกขยุยแทรกอยู่ตามที่ว่างของกระดาษและลงวันที่ไว้ว่า 11.11.58

ใครหลายคนบอกว่าการเขียนบันทึกคือการเยียวยาตัวเอง เพราะได้สนทนากับตนเองและระบายสิ่งที่อัดแน่นอยู่ในก้นบึ้งของจิตใจ แต่การเยียวยาตนเองไม่ได้รับอนุญาตให้ทำที่นั่น ต้องลักลอบกระทำการอย่างยากลำบาก เช่นกันกับเรื่องพื้นฐานอย่างการอ่านหนังสือที่ไม่อนุญาตให้ทำบนเรือนนอน สถานที่ซึ่งนักโทษต้องใช้เวลาราว 14 ชั่วโมงในทุกๆ วัน

การเล่าเรื่องในเล่มเป็นการเล่าย้อนหลังเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เหมือนเส้นทางสายหลักที่ประกอบส่วนด้วยซอยย่อยๆ มากมายที่ผู้เขียนพูดถึงแต่ละเว้นรายละเอียดทางอารมณ์ไว้เพื่อดุ่มเดินต่อไปบนทางหลัก

บทบันทึกอารมณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสถานการณ์หนึ่งๆ อาจคือเส้นทางสายย่อยที่ว่า หลายครั้งมันมืดดำและจมดิ่ง การบันทึกสิ่งเหล่านี้เป็นไปด้วยความยากลำบากดังได้กล่าวไป ส่วนการนำมันออกมาเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งกว่า มันจึงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นสภาวะของมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกจำคุกเพราะความผิดทางความคิด และต้องดิ้นรนให้อยู่ให้ได้ในโลกใบใหม่ที่ทั้งโหด มัน ฮา และเหลือเชื่อว่าจะเต็มไปด้วยมิตรภาพที่เป็นของแท้

…..

สิ่งที่เขาเขียนเล่าในหนังสือกับสิ่งที่บันทึกตอนนั้นมันคนละโทนมากๆ ตอนเขียนหนังสือเขาพยายามบอกว่า ฉันไม่เป็นไร ฉันโอเค มีมิสชั่นจะทำโน่นทำนี่ แต่ถ้าอ่านบันทึกมันจะดาร์กมาก เหมือนโกรธเกลียดโลกทั้งใบ และไม่มีความหวังกับมนุษยชาติ เป็นการเขียนสองอันที่ต่างกันจนช็อคคนอ่าน เป็นการปะทะกันของสองด้านที่อยู่ในคนคนเดียว จึงเอามันแทรกไว้ตรงกลางและตัดสินใจสแกนเป็นลายมือที่เขียนตัวเล็กๆ เบียดๆ แบบนั้น โดยตัวมันเองมันก็บันทึกอย่างยากลำบากและเขียนโดยไม่รู้ว่าจะได้ออกมาสู่โลกภายนอกไหม คนอ่านก็ควรอ่านด้วยสปิริตเดียวกัน ตัวเนื้อหาอาจไม่ได้สำคัญเท่ากระบวนการพยายามสื่อสาร เหมือนงานศิลปะมากกว่าไอดาให้ความเห็น

โลกใบใหม่ของภรณ์ทิพย์ไม่ได้แคบเท่าคุกเพียงแค่นั้น แต่ยังมีตรวนที่มองไม่เห็นและน้ำหนักแห่งอำนาจที่กดไว้บนบ่า สะท้อนออกมาด้วยการที่นักโทษต้องคลานเข่าเข้าไปพูดกับเจ้าหน้าที่ หรือมีเวลาอาบน้ำเพียงนับ 1 ถึง 30 หรือต้องนอนด้วยผ้าห่มเพียงสามผืนบนพื้นที่มีความกว้างเท่ากระเบื้องแผ่นครึ่ง หรือต้องพร้อมถอดเสื้อผ้าให้ตรวจร่างกายทุกซอกมุม ฯลฯ 

แม้หนังสือจะเล่าเรื่องเหล่านี้ด้วยน้ำเสียงแห่งความหวัง ด้วยมุมมองแห่งเยาว์วัยที่กระหายการเรียนรู้และซุกซน แต่ผู้อ่านจะได้รับรู้ถึงน้ำหนักของมันผ่านรายละเอียดต่างๆ ในชีวิตนักโทษ ซึ่งมีภรณ์ทิพย์ทำหน้าที่เป็นไกด์

ใช่ เธอเล่าเรื่องของตัวเองไปพร้อมๆ กับเรื่องของคนอื่นๆ ด้วยในเวลาเดียวกัน ทั้งรูปแบบการกดขี่ของรัฐต่อนักโทษโดยทั่วไป และการเพ่งมองเจาะจงเป็นรายคน ไม่ใช่เฉพาะนักโทษในคดีการเมือง ทำให้เห็นความกลมของมนุษย์คนหนึ่งๆ รวมถึงตัวเธอเองด้วย เช่น การช่วยเหลือผู้อื่นมีทั้งเหตุผลของการเห็นอกเห็นใจและเพราะต้องการใช้ประโยชน์ในกันและกัน ฯลฯ

ความอลหม่านต่างๆ ถูกเล่าไปตามเส้นเวลาอย่างมีสีสัน ทำให้บันทึกความจริงนี้สามารถอ่านเป็นนวนิยายไปได้พร้อมกัน

แตงกวาติดคุกมาในคดีลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ทรัพย์ที่แตงกวาลักมาคือถังแก๊สเปล่าจากหน้าบ้านอดีตผู้พิพากษาที่ปิดร้าง เอาไปขายได้เงินสามสิบบาทมาซื้อข้าวเหนียวไก่ย่างให้ลูกสามคน แต่กลับโดนแจ้งความดำเนินคดี ตัดสินโทษสามปี แตงกวาต้องกินยากล่อมประสาทในช่วงแรกๆ แต่ตอนนี้ไม่ต้องกินแล้ว ชีวิตในคุกของแตงกวาน่าสนใจ จากคนประสาทไม่ค่อยดี ค่อยๆ ขยับฐานะจากลูกไล่มาเป็นแม่ค้าตลาดมืด

นี่คือตอนหนึ่งของฉากทะเลาะตบตีกันของนักโทษ และผู้เขียนเล่าถึงแบ็คกราวน์ดของตัวละครตัวหนึ่ง

ในทางวิชาการก็จัดบันทึกแบบนี้เป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่ง มันเป็นเรื่องจริงแต่ในแง่เทคนิคการเขียนมีความเป็นวรรณกรรมสูง มีหลายฉากที่จู่ๆ ที่เขาเปลี่ยนไปเล่าเป็นบทละคร ซึ่งเราจะเห็นว่าบางทีมันมีความเข้มข้นในความรู้สึกบางอย่าง การเล่ามันออกมาแบบปกติมันไม่สมกัน ไม่สมกับความรู้สึก ตอนนั้น เช่น ฉากที่โดนสอบสวน หรือฉากที่นักโทษไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลและถูกปฏิบัติบางอย่าง เพราะการเล่าแบบนี้มันสื่อความจริงมากกว่าการเล่าข้อเท็จจริงไอดาให้ความเห็น

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งอีกประการคือ ชื่อหนังสือที่ยาวแบบแปลกๆ นี้

ชื่อหนังสือคิดเยอะมาก แต่ตัดสินใจใช้ชื่อนี้เพราะมันคือสิ่งที่ถูกตัดออก สิ่งที่ถูกเซ็นเซอร์อย่างเดียวในหนังสือเล่มนี้ เป็นคำพูดของผู้หญิงคนหนึ่งที่เรา assume เอาว่าเขาเจ็บปวดกว่า โศกเศร้ามากกว่าเรา และกอง บก.จำเป็นต้องตัดประโยคนี้เพราะอาจมีความสุ่มเสี่ยงบางประการ เราเลยเอาประโยคนี้ขึ้นมาเป็นชื่อหนังสือ เพื่อแทนความรู้สึกจริงๆ ก็เพิ่งรู้สึกตัวเองเหมือนกันว่าเราก็พูดประโยคคล้ายๆ กันแบบนี้ เพิ่งรู้ว่าเราฝังประโยคนี้ไว้ในหัวตลอดตอนที่เขาพูดมันเต็มไปด้วยพลัง ยังสัมผัสได้ถึงแรงบีบที่มือ มันไม่ใช่การประชดประชัน การประชดประชันนั้นเป็นเสียงเรา (หัวเราะ) แต่สำหรับคนนั้น มันคือ สุดละ มึงทำอะไรกูไม่ได้อีกแล้วภรณ์ทิพย์เคยอธิบายไว้เช่นนี้

Fact Box

  • ผู้สนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อมันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (กันยายน 2563) ราคา 550 บาท ได้ที่เพจสำนักพิมพ์อ่าน 

 

Tags: , ,