“เฮ้ย แกยังเก็บเงินไว้ในบัญชีฝากประจำอยู่อีกเหรอ? ดอกเบี้ยต่ำแบบนี้จะไปเอาอะไรกินตอนเกษียณ เอาเงินมาร่วมทุนกับเราดีกว่า เนี่ยเรารู้จักเพื่อนที่ไปลงทุนไว้ได้กำไรมาเป็นกอบเป็นกำ เขาจะเอาเงินไปเทรดฟอร์เร็กซ์ ใช่ๆ หากำไรจากค่าเงินนั่นแหละไม่เสี่ยงหรอก การันตีขั้นต่ำเดือนละ 40 เปอร์เซ็นต์จ่ายปันผลทุกสัปดาห์ ถ้าจะลงก็รีบๆ หน่อยนะเขาจะปิดการระดมทุนแล้ว ตอนลงทะเบียนก็บอกว่าเราแนะนำนะจะได้โบนัสเพิ่มอีกคนละ 15 เปอร์เซ็นต์”

ถ้าเจอประโยคชักชวนลักษณะข้างต้นจากคนสนิทใกล้ตัว ผู้เขียนแนะนำให้ถอยออกมาห่างๆ แล้วเตือนด้วยความหวังดีว่าเขาหรือเธออาจตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่หรือที่ฝรั่งเรียกว่าการฉ้อฉลของนายพอนซี (Ponzi Schemes) ที่ช่วงนี้กลับมาระบาดอีกครั้งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจขาลง

กลไกการทำงานของแชร์ลูกโซ่นั้นง่ายมาก โดยเจ้ามือวงแชร์จะนำเงินจากเหยื่อรายใหม่มาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับเหยื่อคนก่อนหน้า หากวงขยายเงินก็ยังหมุนสะพัดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรายได้จากเหยื่อหน้าใหม่ไม่เพียงพอที่จะจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ร่วมลงทุนในตอนต้นอีกต่อไป เมื่อนั้นก็ได้เวลาวงแตก ส่วนเจ้ามือก็มักจะเผ่นหายไปในกลีบเมฆพร้อมกับเงินก้อนมูลค่ามหาศาล

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะชวนมาจับผิดแชร์ลูกโซ่ ต่อด้วยการตอบคำถามว่าแชร์แบบไหนที่เล่นได้ไม่ผิดกฎหมาย จบด้วยคำอธิบายว่าทำไมการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำแต่ได้ผลตอบแทนสูงจึงเป็นไปไม่ได้ในทางเศรษฐศาสตร์

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นแชร์ลูกโซ่?

หากอิงจากคำชักชวนข้างต้นสามารถแตกประเด็นออกมาได้ตามนี้ครับ

  • ‘เขาจะเอาเงินไปเทรดฟอร์เร็กซ์’ – แชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่จะมีกลยุทธ์ลงทุนที่สลับซับซ้อนฟังแล้วเคลิ้มๆ งงๆ หรือลงทุนในสินทรัพย์ที่เราอาจไม่คุ้นชินเพื่อให้เราไม่ตั้งคำถามมากนัก ซึ่งผู้เขียนจะมีกฎจำง่ายสำหรับนักลงทุนมือใหม่เพื่อไม่ให้หลงเชื่อคำชักชวนในลักษณะดังกล่าวคือ อย่าลงทุนในสินทรัพย์ที่ตนเองไม่เข้าใจหรือไม่รู้จัก
  • ‘ไม่เสี่ยงหรอก’ – ในโลกแห่งความเป็นจริงการลงทุนแทบทั้งหมดก็มีความเสี่ยงทั้งนั้นแหละครับ อยู่ที่ว่าจะเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย หรือเป็นความเสี่ยงในลักษณะใด เงินฝากออมทรัพย์ก็มีความเสี่ยงที่จะสูญเงินต้นหากธนาคารขาดสภาพคล่อง แม้แต่พันธบัตรรัฐบาลเองก็ใช่ว่าจะไร้ความเสี่ยงเพราะรัฐบาลมือเติบจนเงินหมดคลังก็มีตัวอย่างให้เห็นอยู่พอสมควร กระทั่งการแสวงหากำไรแบบไร้ความเสี่ยง (Arbitrage) ซึ่งเป็นไปได้ในทางทฤษฎี ก็ยังเผชิญความเสี่ยงกับคู่สัญญา (counterparty risk) ว่าจะจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้หรือไม่ 
  • ‘การันตีขั้นต่ำเดือนละ 40 เปอร์เซ็นต์จ่ายปันผลทุกสัปดาห์’ – ประโยคนี้ชวนคิ้วย่นมากครับเพราะหากเทียบกับการลงทุนที่ถือว่าความเสี่ยงค่อนข้างสูงอย่างหุ้นสามัญในไทยแบบเก่งๆ ก็ยังได้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ กระทั่งดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ว่ากันว่าโหดหินยังอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่นี่ได้เดือนละ 40 เปอร์เซ็นต์ แบบไม่สนใจสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งบอกตามตรงว่าเป็นไปไม่ได้แน่นอนครับ
  • ‘บอกว่าเราแนะนำนะจะได้โบนัสเพิ่มอีกคนละ 15 เปอร์เซ็นต์’ – วงแชร์ลูกโซ่จะมั่นคงอยู่ได้ต้องอาศัยสมาชิกใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจหากหลายวงจะมีโปรโมชันแนะนำเพื่อนแบบปากต่อปากพร้อมแรงจูงใจที่ชวนให้ตาลุกวาว

ทั้ง 4 ประเด็นคือ ‘กลิ่น’ ของแชร์ลูกโซ่ซึ่งเราสามารถขุดคุ้ยต่อโดยการตั้งคำถาม เช่น ขอเอกสารแนะนำการลงทุน หรือข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะเอาเงินลงทุนไปทำอะไร ส่วนใครที่เผลอตัวลงเงินไปแล้วก็จะเผชิญความยุ่งยากหากต้องการถอนเงินออกในภายหลัง

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจงุนงงสับสนว่า อ้าว! แล้วแชร์ที่เล่นกันอยู่ในออฟฟิศนี่ผิดกฎหมายไหม?

ใจเย็นๆ ก่อนนะครับ เพราะถึงชื่อจะคล้ายกันแต่แชร์ลูกโซ่กับแชร์ที่นิยมเล่นกันในหมู่เพื่อนร่วมงานนั้นแตกต่างกันค่อนข้างมาก ซึ่งแชร์ที่เล่นกันโดยทั่วไปนั้นจะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534

เล่นแชร์อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย?

การเล่นแชร์ที่กฎหมายรองรับจะเป็นวงแชร์ที่หลายคนคุ้นเคยกันดีโดยอาศัยความเชื่อใจภายในกลุ่ม โดยหนึ่งวงแชร์จะประกอบไปด้วยท้าวแชร์และสมาชิก สมมติว่าวงหนึ่งมีท้าวแชร์และสมาชิกรวม 10 คน ตกลงเล่นแชร์คนละ 1,000 บาท ในแต่ละเดือนสมาชิกในวงแชร์จะต้องเสนอดอกเบี้ยที่ต้องการจะจ่ายหรือเปียแชร์เพื่อได้เงินทั้งหมดในกอง (9,000 บาท) ไป ผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนทุกคนได้มีโอกาสเปียจะเป็นอันหมดสัญญา

จะเห็นว่าการเล่นแชร์ลักษณะนี้ก็คล้ายคลึงกับการออมเงินและการกู้ยืมระหว่างกันโดยไม่ผ่านตัวกลาง ซึ่งมีความเสี่ยงเดียวคือการผิดนัดชำระหนี้ เช่น สมาชิกหนีวงแชร์โดยไม่ยอมจ่ายเงิน เป็นต้น โดยกฎหมายไทยกำหนดให้ท้าวแชร์ตั้งวงแชร์ได้ไม่เกิน 3 วงโดยมีสมาชิกรวมไม่เกิน 30 คนและวงเงินรวมทุกวงไม่เกิน 300,000 บาท หากมีการผิดนัดชำระหนี้ก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้

  การเล่นแชร์ไม่ได้มีเฉพาะที่เมืองไทยเท่านั้นนะครับ การเล่นแชร์มีชื่อเล่นภาษาฝรั่งว่ารอสกา (Rotating savings and credit association: ROSCA) หรือชมรมออมเงินและให้สินเชื่อแบบหมุนเวียนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินในระดับชุมชนที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทซึ่งประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคารได้ รอสกาจะเป็นทางเลือกที่ดีอย่างยิ่งในการออมเงินรวมถึงการขอสินเชื่อเมื่อเงินขาดมือ

ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนสูง มีจริงหรือไม่?

ประโยคแรกๆ ที่ผู้เขียนเรียนในห้องเรียนการเงินคือ “High Risk High Return” ซึ่งหมายถึงยิ่งความเสี่ยงมากเท่าไหร่ ผลตอบแทนก็ยิ่งคุ้มค่ามากเท่านั้น นี่คือหลักคิดที่นักลงทุนต้องทำให้ขึ้นใจว่าโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ประโยคนี้เป็นจริงได้เนื่องจากมือที่มองไม่เห็นซึ่งปรับกลไกตลาดเพื่อตอบสนองต่อความต้องการซื้อและความต้องการขายที่เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อใดก็ตามที่นักลงทุนมองเห็นโอกาสลงทุนเพื่อได้รับ ‘ผลตอบแทนที่มากกว่าปกติ (abnormal return)’ สิ่งแรกที่พวกเขาทำคือกระโจนใส่โอกาสการลงทุนเหล่านั้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ในมือ ไม่นานนัก คนอื่นๆ ในตลาดก็ย่อมเห็นผลตอบแทนที่มากกว่าปกติและเทเม็ดเงินเข้าใส่โอกาสการลงทุนเหล่านั้นเช่นกัน จนกระทั่งผลตอบแทนที่มากกว่าปกติค่อยๆ ปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติด้วยกลไกตลาด

เพื่อให้เห็นภาพ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกรณีที่หุ้นสมมติชื่อว่า MMT จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สองแห่งคือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ซื้อขายในสกุลเงินบาท) และตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (ซื้อขายในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ) สมมติว่าอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 30 บาท และหุ้นดังกล่าวซื้อขายบนกระดานไทยในราคา 30 บาทต่อหุ้น แต่ซื้อขายบนกระดานนิวยอร์กในราคา 1.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น (เทียบเท่ากับ 33 บาท) หากไม่มีต้นทุนในการทำธุรกรรม สิ่งที่เกิดขึ้นคือนักลงทุนจะแห่ซื้อหุ้น MMT บนกระดานไทยและไปขายในกระดานนิวยอร์ก แรงซื้อจะทำให้ราคาหุ้น MMT ที่ซื้อขายในไทยปรับตัวสูงขึ้น ในขณะเดียวกันแรงขายก็จะทำให้ราคาหุ้น MMT ในนิวยอร์กปรับตัวลดลง กระทั่งอยู่ในจุดดุลยภาพที่ไม่มีใครสามารถทำกำไรได้อีกต่อไป

ภาวะ ‘ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนสูง’ จึงเกิดขึ้นได้ในห้วงเวลาสั้นๆ แต่หากใครเห็นโอกาสเหล่านั้นก็คงไม่อยากป่าวประกาศนักเพราะจะทำให้กลไกตลาดปรับตัวจนโอกาสทำกำไรหายไปอย่างรวดเร็ว นี่คือเหตุผลที่เราควรสงสัยคำโฆษณาชวนเชื่อที่บอกว่าสามารถการันตีผลกำไรโดยแทบไม่มีความเสี่ยง ไม่ว่าคำกล่าวนั้นจะมาจากใครก็ตาม

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

Ponzi Scheme

Low-Risk vs. High-Risk Investments: What’s the Difference?

 

Tags: , ,