ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดหวังว่าโลกออนไลน์จะขจัดตัวกลางทางการค้าให้หายไป เพราะผู้ซื้อและผู้ขายสามารถแลกเปลี่ยนกันได้โดยตรงผ่านตลาดแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่เราคุ้นตากันดีก็มี Amazon, Lazada, eBay, Alibaba หรือ Shopee อาจารย์ด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก แยนนิส บากอส (Yannis Bakos) ระบุว่าอินเทอร์เน็ตจะเปลี่ยนกลไกราคาตลอดไป เพราะผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาจากร้านค้าแทบทุกร้านได้โดยปลายนิ้วคลิก

ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นอาจต้องผิดหวัง เพราะพ่อค้าคนกลางเป็นอาชีพตายยาก แถมยังฉวยโอกาสทำกำไรบนโลกอินเทอร์เน็ตแบบแทบจะไร้ความเสี่ยง เพราะผู้บริโภคไม่ได้ ‘มีเหตุมีผล’ มากเท่าที่นักเศรษฐศาสตร์ตั้งสมมติฐานไว้

การทำกำไรบนโลกอินเทอร์เน็ตในฐานะพ่อค้าคนกลางแทบไม่ต้องใช้เงินทุนหนุนหนา ตากแดดตากลมเดินคุยกับคู่ค้าหลายต่อหลายเจ้า เพียงแต่ต้องใช้เวลาเลือกสินค้า แต่งภาพสวยๆ เปิดหน้าร้านบนแพลตฟอร์มยอดนิยม แล้วการซื้อมาขายไปก็จะเกิดขึ้นบนจอคอมพิวเตอร์ เรียกว่านอนอยู่บ้านก็ทำกำไรได้ไม่ยากเย็น

ผู้อ่านคงจะคุ้นเคยกันดีกับโมเดลธุรกิจพ่อค้าคนกลางที่เน้นเฟ้นหาสินค้าราคาประหยัด สั่งซื้อมาแล้วขายไปในราคาสูง แน่นอนครับว่าความเสี่ยงที่พ่อค้าคนกลางต้องแบกรับคือสินค้าที่ซื้อมาดันขายไม่ออก แต่โลกอินเทอร์เน็ตเปิดโอกาสให้พ่อค้าคนกลางยุคใหม่แทบไม่ต้องแบกรับความเสี่ยง หรือที่เหล่านักการเงินเรียกว่าการทำ Arbitrage ตีความกว้างๆ ว่าการฉวยโอกาสซื้อจากตลาดหนึ่งไปขายยังอีกตลาดหนึ่ง เมื่อพบว่าราคาสินค้าที่วางขายในสองตลาดไม่เท่ากัน

บทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปรู้จักการทำกำไรแบบไร้ความเสี่ยงของสองกรณีศึกษา ที่ใช้โอกาสจากราคาที่ผันผวนตามฤดูกาลของตำราเรียน และความขี้เกียจของผู้บริโภคจนทำให้เกิดธุรกิจ ‘ขายฝากส่ง (Drop Shipping)’ อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

หากำไรจากความผันผวนของราคาตำราเรียน

 นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ต้องใช้ตำราต่างประเทศคงรู้ซึ้งถึงราคามหาโหดของตำราเรียนมือหนึ่งที่อาจเริ่มต้นที่หลักหลายพันบาท หรือบางครั้งถึงขั้นหลายหมื่นบาท ตลาดตำราเรียนภาษาอังกฤษมือสองในประเทศไทยอาจไม่ได้มีสภาพคล่องมากนัก แต่ในต่างประเทศ การซื้อขายตำราเรียนมือสองถือว่าเป็นกิจการที่เป็นล่ำเป็นสัน

ตรรกะของการทำกำไรแบบไร้ความเสี่ยงนั้นก็ตรงไปตรงมา โดยเหล่าพ่อค้าคนกลางจะกะจังหวะเข้าซื้อตำราเรียนในช่วงปิดภาคเรียนที่เหล่านักศึกษาจะเทขายตำรามือสองจนท่วมตลาด ราคาลดต่ำลง เก็บไว้ในคลังไม่นานเพื่อรอเปิดภาคการศึกษาใหม่ที่ราคาตำราจะพุ่งสูงขึ้น ตรรกะง่ายๆ ที่สร้างกำไรได้อย่างมหาศาล

ตัวอย่างเช่น ตำรา Principles of Economics ตีพิมพ์ครั้งที่ 5 โดยอาจารย์เกรกอรี แมนคิว (Gregory Mankiw) ตำราเรียนพื้นฐานของเหล่านักศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ ราคาตำรามือสองอาจลดต่ำลงเหลือราว 260 บาท (8.45 ดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ก่อนจะกลับมาพุ่งสูงขึ้นถึง 1,600 บาท (52.99 ดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงเปิดภาคเรียน แต่ราคาดังกล่าวก็ยังถูกกว่าราคาตำรามือหนึ่งที่สูงถึงราว 6,000 บาท (199.99 ดอลลาร์สหรัฐ)

กราฟแสดงราคาเฉลี่ยของหนังสือ Principle of Economics ตีพิมพ์ครั้งที่ 5 โดยอาจารย์เกรกอรี แมนคิว ซึ่งขายบนเว็บไซต์ Amazon ในสภาพดี จะเห็นว่าราคาของตำราเรียนจะตกฮวบหนังจบภาคการศึกษา และกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงใกล้เปิดเทอม ภาพจาก Planet Money/ Quoctrung Bui/NPR

นี่คือราคาตำรามือสองที่ซื้อขายบนเว็บไซต์ Amazon เท่านั้นนะครับ ยังไม่นับเหล่าตำรามือสองที่ซื้อหาได้ตามร้านหนังสือ หรือซื้อได้ตามกรุ๊ปเฟซบุ๊กซึ่งมีแนวโน้มที่จะราคาถูกกว่า และมีสภาพคล่องไม่น้อยกว่ากันมากนัก (แต่อาจต้องปวดหัวกับการตามหาสินค้าสักหน่อย)

บ็อบ ปีเตอร์สัน (Bob Peterson) เป็นผู้ประกอบการหัวใสรายแรกๆ ที่ชี้ช่องรวยโดยการทำกำไรเป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจซื้อขายตำราเรียนบนโลกออนไลน์ โดยลงทุนเงินก้อนและคลังสินค้าเพื่อจัดหาหนังสือและนำมาขายในช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่วนคู่แข่งเจ้าใหญ่ที่หลายคนคงน่าจะเดาได้ ก็คือ Amazon เองนี่แหละ ที่กระโดดเข้ามาแข่งในตลาดด้วยระบบรับซื้อ (Trade In) สำหรับสินค้าที่ตลาดมีความต้องการซื้อสูง โดย Amazon จะซื้อเป็นเงินเครดิตในเว็บไซต์สำหรับช็อปปิ้งสินค้าอื่นๆ ต่อนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ระบบดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้การทำกำไรแบบไร้ความเสี่ยงหายไป โดยใครที่ยังพอมีเวลาว่างและต้องการหารายได้เสริม สามารถนั่งเช็คราคาสินค้าที่ Amazon รับซื้อ กับสินค้าที่วางขายโดยผู้ขายรายอื่นๆ ทั้งบนเว็บไซต์ Amazon เองหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่บางคนก็สร้างโอกาสธุรกิจในการเขียนอัลกอริธึมเพื่อจับโอกาสทำกำไรแบบไร้ความเสี่ยง แล้วนำโปรแกรมดังกล่าวมาวางขายให้นักเสี่ยงโชคผู้ต้องการทำงานบนอินเทอร์เน็ตอีกทีหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ธรรมชาติของการทำกำไรแบบไร้ความเสี่ยงคือ เมื่อทุกคนมองเห็นโอกาส มีคู่แข่งจำนวนมากขึ้น ตลาดจะปรับราคาโดยอัตโนมัติซึ่งทำให้อัตรากำไรน้อยลงทุกที จนกระทั่งไม่มีโอกาสในการทำกำไรแบบไร้ความเสี่ยงอีกต่อไป

‘ขายฝากส่ง (Drop Shipping)’ ธุรกิจไร้ต้นทุนที่ทำกำไรจากปลายนิ้ว

ธุรกิจขายฝากส่ง (Drop Shipping) กำลังเป็นที่นิยมอยู่ทั่วโลก เพราะไม่ว่าใครก็สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ง่ายๆ แค่มีอินเทอร์เน็ต และรู้จักวิธี Copy และ Paste รูปจากเว็บไซต์ เพื่อให้เข้าใจง่าย ผู้เขียนขอนำกรณีศึกษาของผู้ประกอบการรายแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจขายฝากส่ง เฟรด และนาตาชา รุกเกล (Fred & Natasha Ruckel) สองสามีภรรยาที่ประสบความสำเร็จจากของเล่นแมวสุดล้ำ Ripple Rug

Ripple Rug นวัตกรรมของเล่นแมวเหมียวซึ่งถูกนำไปวางขายโดยเหล่านักธุรกิจขายฝากส่งบน eBay ในราคาที่สูงกว่าราคาที่วางขายใน Amazon ราว 5 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ภาพจากเว็บไซต์ Amazon

ทั้งสองเลือกช่องทางวางขาย Ripple Rug บน Amazon โดยมียอดขายเติบโตขึ้นต่อเนื่องทุกวัน กระทั่งวันหนึ่ง พวกเขาต้องการขยายตลาดไปเปิดแพลตฟอร์ม eBay ก่อนจะพบว่ามีร้านจำหน่าย Ripple Rug แล้วอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และร้านเหล่านั้นไม่ใช่ตัวแทนจำหน่ายแต่อย่างใด เมื่อเฟรดทดลองสั่งสินค้าจากร้านดังกล่าว สิ่งที่ได้รับคือกล่องสินค้าส่งตรงจาก Amazon ในชื่อร้านของเขาเอง สิ่งเดียวที่แตกต่างออกไป คือราคา Ripple Rug ที่วางขายใน eBay นั้นสูงกว่าที่ร้านของเขาราว 5 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์

นี่แหละครับคือหัวใจของธุรกิจขายฝากส่ง สิ่งที่คุณต้องทำคือสมัครบัญชีแล้วเปิดร้านขายสินค้าบนแพลตฟอร์มต่างๆ และก็อปรูปสินค้าของคนอื่นมาใส่เอาไว้แล้วตั้งราคาให้แพงกว่าราคาสินค้าต้นทาง เมื่อมีคนส่งคำสั่งซื้อเข้ามา ก็แค่นำรายละเอียดดังกล่าวไปส่งคำสั่งซื้อในเว็บไซต์ต้นทาง แล้วนั่งชิลๆ อยู่บ้านเพื่อกินกำไรส่วนต่างจากความขี้เกียจของผู้บริโภค

 ธุรกิจที่ว่านี่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันโดยเฉพาะประเทศที่เคยชินกับการซื้อของออนไลน์อย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีเว็บไซต์อย่าง DSdomination.com (แปลตรงตัวว่า Drop Shipping ครองโลก!) แพลตฟอร์มของเหล่าเจ้าของหน้าร้านขายฝากส่งที่มีผู้ใช้กว่า 140,000 ราย ที่ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon, eBay และ Walmart เพื่อสร้างโอกาสทำกำไรแบบไร้ความเสี่ยง

ขั้นตอนของการเริ่มธุรกิจขายฝากส่งนั้นง่ายมาก เพียงส่องหาร้านค้าออนไลน์ที่คุณต้องการ เซฟรูปภาพสินค้า แล้วไปเปิดหน้าร้านใหม่เพื่อขายของชนิดเดียวกันในราคาที่สูงขึ้นนิดหน่อยบนแพลตฟอร์มอื่น เมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา ก็แค่ส่งต่อคำสั่งซื้อนั้นไปยังร้านค้าต้นทางเป็นอันเสร็จ ภาพจาก AliDropship

ในขณะที่ผู้ประกอบการเจ้าของผลิตภัณฑ์อย่างเฟรด และนาตาชา อาจรู้สึกเกรี้ยวกราดราวกับถูกโกง แต่เหล่านักเศรษฐศาสตร์ต่างพากันยักไหล่ แล้วหันกลับไปบอกว่า “แล้วมันผิดตรงไหน?” ในเมื่อเหล่านักธุรกิจขายฝากส่งเป็นแรงผลักเพิ่มยอดขายให้กับเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้นทาง ไม่ได้ไปผลิตสินค้าลอกเลียนแบบแต่อย่างใด แถมผู้บริโภคยังสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น เห็นไหมล่ะ ว่ายิ้มกันทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ!

อีกอย่างหนึ่ง ธุรกิจขายฝากส่งก็ไม่ใช่ว่าไม่ได้ทำอะไรนะจ้ะ เพราะนี่คือโมเดลธุรกิจพ่อค้าคนกลางแบบดั้งเดิม หากมองใกล้ตัวอย่างใกล้ตัว เช่น สินค้าเกษตรจากทั่วภูมิภาคที่เดินทางมายังตลาดไท ก่อนที่พ่อค้าแม่ขายจะไปเลือกสรรแล้วนำมาวางขายที่ตลาดสดใกล้บ้าน พร้อมกับบวกค่าแรงค่าเหนื่อย ถ้ากลับมามองธุรกิจขายฝากส่ง พวกเขาก็ต้องบากบั่นไปตั้งหน้าร้านในต่างเว็บไซต์ เมื่อไม่ให้ผู้บริโภคต้องเมื่อยนิ้วเปลืองค่าอินเทอร์เน็ตค้นหาสินค้าจากเว็บไซต์ A มาเว็บไซต์ B

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีการตั้งคำถามว่าการทำกำไรบนอินเทอร์เน็ตในลักษณะนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ ในกรณีการทำกำไรจากตำราเรียน ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าหากินกับโอกาสทางการศึกษาของเด็กๆ ส่วนธุรกิจขายฝากส่งก็ถูกมองว่าเป็นปลิงที่ไม่สร้างประโยชน์โภชน์ผลใดๆ ให้กับระบบเศรษฐกิจ แต่ใช้ความขี้เกียจของผู้บริโภคเพื่อกอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋า แถมยังทิ้งภาระทั้งการควบคุมคุณภาพสินค้า บริการหลังการขาย การรับเปลี่ยนคืนสินค้า ไว้ให้กับเจ้าของกิจการตัวจริงอีกด้วย

ใครมีไอเดียทำกำไรแบบไร้ความเสี่ยงบนอินเทอร์เน็ตก็อย่าลืมเอามาแบ่งปันกันบ้างนะครับ เผื่อเราจะได้มีโอกาสรวยไปด้วยกัน!

 

อ้างอิง:

Planet Money EP 724: Cat Scam

American Economists Like Drop Shipping. Here’s why

Why It’s Nearly Impossible to Stop This Amazon and eBay Scheme

THE DROP SHIPPING EXPERIMENT: BUYING FROM EBAY

 

Tags: , , ,