จากลูกชายชาวสวนยางสู่  ‘กุ๊ก เสื้อแดง’

บ่ายวันนั้น กุ๊ก นันทพงศ์ หนุ่มผิวเข้มในชุดเสื้อเชิ้ตขาว กางเกงสแล็คสีดำ นั่งคอยอยู่ในร้านอาหารอีสานเล็กๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ศาลแขวงดุสิต เขามีนัดรายงานตัวกับศาลเป็นครั้งที่ 3 ทว่ายังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของคดีนี้

“เป็นวันสุดท้ายที่ตำรวจจะสั่งฟ้อง ตำรวจส่งสำนวนให้อัยการ แต่อัยการตีสำนวนกลับ เพราะสำนวนยังไม่ดีพอ เลยสั่งให้ตำรวจไปหาพยานหลักฐานมาเพิ่ม ศาลนัดอีกทีวันที่ 3 ธันวาคมครับ” เขาอัปเดตให้ฟัง และบอกด้วยว่ายังไม่รู้ว่าจะโดนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีกหรือไม่

“พี่คิดดูแล้วกัน น้องผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 19 ปี อีกคนก็เป็นนักศึกษา ยังมาโดนข้อหาอะไรก็ไม่รู้ เรื่อง พ.ร.บ. ชุมนุม เรื่องการใช้เครื่องขยายเสียง มันไม่น่าเป็นเรื่องรุนแรงถึงขั้นจับไปขัง แต่รัฐบาลนี้ทำกับประชาชน” เขาผายมือไปยังรุ่นน้องมหาวิทยาลัยรามคำแหงสองคนที่นั่งทานมื้อเที่ยงอยู่ด้วยกัน

ใบหน้าคมเข้มและผิวคล้ำกร้านแดดแบบหนุ่มปักษ์ใต้ น้ำเสียงสุภาพ เป็นคนที่เรียบเรียงความคิดผ่านคำพูดได้ดีขณะสนทนา นั่นคือตัวตนของนันทพงศ์ในยามแรกพบเจอตัวจริง

“เป็นเรื่องที่ไม่สมควรมาถึงจุดนี้ พวกเราเรียกร้องอย่างสันติวิธี แต่แรงสะท้อนตอบโต้กลับมามันกลายเป็นความรุนแรงทั้งนั้นเลย จริง ๆ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ตอนสมัยพันธมิตรชุมนุม ผมยังเรียนมัธยมต้น ตอนนั้นยังไม่ได้สนใจการเมือง จำได้ว่าบรรยากาศในโรงเรียน ครูที่สอนสังคมหรือประวัติศาสตร์นี่แหละ ขึ้นเวทีหน้าโรงเรียน ประกาศให้เด็กบริจาคกันคนละ 5 บาท 10 บาท ช่วยสนับสนุนกลุ่มพันธมิตร

“ผมมาเริ่มสนใจการเมืองตอน ม.6  ตอนนั้นผ่านรัฐประหารแล้ว ได้อ่านหนังสือของ จิตร ภูมิศักดิ์ เรื่อง ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’ กับ ‘โองการแช่งน้ำ’ และเล่มอื่น ๆ มันทำให้ผมตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่”

 ปี 2553 ลูกชายชาวสวนยางคนนี้หอบกระเป๋าเสื้อผ้าพาร่างผอมบางจากเชิงเขาพรหมคีรี นครศรีธรรมราช มาเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปีเดียวกับเหตุการณ์ทหารล้อมปราบสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงกลางเมืองหลวง

“พอขึ้นมาเรียนรามฯ ผมไปทำค่ายอาสาทุกภาค เห็นความลำบากของคนทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้บ้านเรา ทำให้เห็นชัดเจนว่ารัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์ จุดเปลี่ยนสำคัญคือตอนเข้าไปเป็นรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และตั้งกลุ่มกล้าคิด สร้างมิตร สร้างประชาธิปไตย จัดเวทีเสวนาพูดคุยเยอะมาก ทำให้เราได้ความคิดที่ชัดเจนถึงรากเหง้าปัญหาการเมืองไทย”

นันทพงศ์บอกว่าหนังสือที่อ่านบวกกับกิจกรรมที่ออกไปพบเจอหลากชีวิตทำให้ความคิดโตขึ้น เริ่มตั้งคำถามกับรัฐประหาร ปี 2549 เริ่มทำวงเสวนาเพื่อต่อต้านรัฐประหาร พูดถึงวีรชนอย่างลุงนวมทอง ไพรวัลย์ และการปราบปรามคนเสื้อแดงอย่างรุนแรงในปี 2553 จนมีคนตายเกือบร้อยศพและบาดเจ็บหลายพันชีวิต เขาเดินสายยื่นหนังสือเรียกร้องให้เกิดการเยียวยาหรือหาผู้กระทำผิด แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นถูกโจมตีจากคนใต้ในรั้วรามคำแหงว่าเป็นพวกเดียวกับคนเสื้อแดง

 ผมถูกเรียกว่า ‘ไอ้กุ๊ก เสื้อแดง’ ทั้งที่จริง ๆ ผมยังไม่ได้เป็นเสื้อแดงในตอนนั้น เพียงแค่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และรู้สึกว่าเราไม่ควรสูญเสียคนอย่างลุงนวมทองไป แกเป็นวีรชนคนหนึ่งของฝ่ายประชาธิปไตยที่เสียสละชีวิต ทำไมเราจะพูดถึงแกไม่ได้”

 

เมื่อเกิดการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ในช่วงปลายปี 2556 จนถึงเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 นันทพงศ์แสดงออกชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยมาแต่ต้น ขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งรักษาการประธานสภาองค์การนักศึกษารามคำแหง ส่วน อุทัย ยอดมณี เป็นนายกองค์การฯ ที่ต้องการนำชื่อสภาองค์การนักศึกษาไปขึ้นเวทีเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เพื่อสนับสนุนกลุ่ม กปปส. จนถึงขั้นที่เขาแถลงข่าวคัดค้าน และดีเบตกันผ่านรายการโทรทัศน์มาแล้ว

“ผมไม่เห็นด้วยที่พี่อุ้ย (ชื่อเล่นของนายอุทัย ยอดมณี) ไปขึ้นเวที คปท. และนำชื่อสภาองค์การนักศึกษาฯ รามคำแหงไปใช้บนเวที แม้ว่าผมจะแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ก็ไม่ต้องการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราอยากต่อสู้ในวิถีทางประชาธิปไตย 

“ตอนนั้นสู้กันหนัก พี่อุ้ยไปขึ้นเวที คปท. ส่วนผมจัดเวทีแถลงข่าวที่รามคำแหงในนามสภาองค์การนักศึกษาว่าไม่เห็นด้วยที่นำชื่อไปอ้าง อันนี้มีหลักฐานอยู่ในรายการของคุณจอมขวัญสมัยจัดอยู่เนชั่น ผมขึ้นดีเบตกับพี่อุ้ย แต่แกไม่มาในรายการ ใช้วิธีดีเบตกันทางโฟนอิน  ผมถามพี่อุ้ยว่าสิ่งที่พี่กำลังทำนี่คือการปูทางไปสู่การรัฐประหารใช่ไหม พี่อุ้ยตอบว่าไม่ใช่ ถ้ามีรัฐประหารผมก็ไม่เอาเหมือนกัน แต่สุดท้ายมีการรัฐประหาร และพี่ได้ดิบได้ดีจนถึงทุกวันนี้” นันทพงศ์ย้อนความหลังให้ฟัง

“ตอนนั้นจำได้ว่า ผมจัดกิจกรรมบ่อยมากเพื่อส่งเสียงว่า กปปส.และเวที คปท. ปูทางไปสู่รัฐประหาร แม้แต่วันที่นายกฯ ยุบสภาแล้วคุณก็ยังไม่หยุด นี่คือสิ่งเลวร้ายที่สุเทพ เทือกสุบรรณ อุทัย ยอดมณี และถาวร เสนเนียม พรรคประชาธิปัตย์ทำเอาไว้ นี่คือความสกปรกที่พวกคุณชุมนุมปิดสถานที่ราชการ ทำร้ายคนเห็นต่างอย่างมหาศาล ทุกวันนี้คุณได้ดิบได้ดีหมด จากการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากประชาชน”  

 

รามคำแหงกับประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ชำระ

จุดเปลี่ยนของนันทพงศ์สู่ความเข้มข้นของชีวิตมาถึงในวันที่คนเสื้อแดงจัดชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถานและเกิดการปะทะกันกับนักศึกษารามคำแหงเมื่อ 30 พ.ย.-1 ธ.ค. 2556 นักศึกษาหนุ่มรั้วพ่อขุนเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า ‘ประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ถูกชำระ’

“ตอนนั้นผมเห็นคนเสื้อแดงถูกทำร้ายเยอะมากที่หน้ารามฯ  มีการทุบรถเมล์ ไล่ล่าทำร้าย รู้สึกว่าไม่ใช่แล้ว วันนั้นเลยตัดสินใจขึ้นเวที นปช. ไปบอกพี่น้องเสื้อแดงว่า นักศึกษารามฯ ไม่ได้เป็นศัตรูกับพี่น้องเสื้อแดงนะ และนักศึกษารามฯ ไม่มีเจตนามารบราฆ่าฟันกับพี่น้องเสื้อแดง เราอยู่คนละที่กันตอนนี้ แล้วผมพูดเรื่องทฤษฎีการทำม็อบ ผมไม่เห็นด้วยกับสุเทพ เทือกสุบรรณที่เอาม็อบมาชนกัน ก็พูดประมาณนี้บนเวที พอพูดจบกลับห้องไป ห้องผมถูกงัด ประตูห้องเปิด ข้าวของในห้องพังหมด  นี่คือสิ่งที่ผมโดนกระทำตอนนั้น”

ทฤษฎีม็อบชนม็อบคือสิ่งที่นันทพงศ์ยืนยันข้อเท็จจริงในฝั่งเขาว่า คนเสื้อแดงมารวมตัวชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลอยู่ก่อนม็อบ คปท. เขาจึงเห็นความต้องการให้เกิดการปะทะกันระหว่างม็อบทั้งสองฝ่าย แต่เมื่อเห็นสภาพห้องพักถูกรื้อค้นจึงโกรธและแค้นใจว่า ขึ้นเวทีพูดแค่นั้นเหตุใดต้องมุ่งร้ายกันขนาดนี้

“หลังจากนั้นผมก็ขึ้นเวที นปช. อีกสองครั้งเพื่อยืนยันในหลักการว่า เราไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของอุทัย ยอดมณี ในการล้มล้างรัฐบาลมาจากระบอบประชาธิปไตย ไม่เห็นด้วยว่ายุบสภาแล้วไม่หยุด ไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่นำพาไปสู่รัฐประหาร”

หลังควันไฟแห่งการปะทะเริ่มจาง ม็อบเสื้อแดงถูกสลายท่ามกลางความสูญเสียและความโกรธแค้น นันทพงศ์ตัดสินใจหลบหนีเอาตัวรอดออกจากรามคำแหง เพราะมีการปล่อยข่าวว่าเขาเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กรามถูกยิง และล่าแม่มดชนิดที่หากเจอตัวต้องเอาให้ตาย

 

“มีการประกาศในโลกโซเชียลว่าเจอผมที่ไหนเอาผมให้ตาย มีการตามล่าจากพวกการ์ด เขาอ้างเหตุผลว่าเพราะผมขึ้นเวที นปช.ทำให้เด็กรามคำแหงถูกยิง นี่คือสิ่งที่ผมโดนกระทำจากทีม กปปส. และ คปท.ขณะนั้น ผมก็งงว่าไม่ได้ไปยิงใคร ผมแค่ขึ้นเวที นปช. ที่บ้านก็ได้รับผลกระทบพอสมควร มีคนไปว่าพ่อ ด่าแม่ ว่าเลี้ยงลูกยังไงเหรอ ลูกถึงพวกเสื้อแดง นปช.”

 

หลังกลุ่ม นปช. ยุติการชุมนุมด้วยความเจ็บช้ำ คนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งกวักมือเรียกเขาให้นั่งรถทัวร์ไปลงนครปฐม มีรุ่นพี่รับตัวไปพักด้วย 2 คืน นันทพงศ์ย้ายไปอยู่ชลบุรีอีกร่วมสัปดาห์ จากนั้นเขาทิ้งการเรียนย้ายไปหาห้องเช่าปักหลักที่เชียงใหม่นาน 8 เดือน รอให้พี่น้องที่กรุงเทพฯ ประเมินสถานการณ์ให้ เมื่อเห็นว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เขาก็ตัดสินใจกลับมาเรียนจนจบ แต่วันสอบต้องขอให้รุ่นน้องไปช่วยเฝ้าดูแลความปลอดภัยถึงหน้าห้องสอบ

“ย้อนกลับไปไม่ใช่แค่เด็กรามฯ ที่เสียชีวิต ต้องยอมรับกันนะว่าพี่น้องเสื้อแดงก็เสียชีวิตหน้าราชมังคลาฯ  ถูกเผาในรถทัวร์ด้วย สิ่งเหล่านี้ไม่สมควรเกิดขึ้น ผมแค่ขึ้นไปจับไมค์พูด ไม่ได้ประกาศสนับสนุนให้คนใช้กำลังทำร้ายกัน แต่วันนั้นมือปืนเข้าไปในรามคำแหงอย่างไร ถ้านักศึกษาไม่เห็นด้วย 

“เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ต้องชำระประวัติศาสตร์กันว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเห็นด้วยไหม หรือเป็นการจัดฉากยิงพวกเดียวกันหรือไม่ มีการวางแผนกันมาหรือไม่ว่าต้องการให้เกิดการสูญเสีย และต้องการให้เกิดความขัดแย้ง เกิดการปะทะ มือปืนชุดดำขึ้นไปบนตึกได้อย่างไรถ้ามหาวิทยาลัยไม่รับรู้หรือไม่สมคบคิดกับ กปปส. อันนี้อาจเป็นข้อกล่าวอ้างของผมก็ได้ ผมอาจไม่มีหลักฐาน แต่มันเป็นเรื่องของการชำระประวัติศาสตร์” นันทพงศ์หยุดคิดชั่วครู่ ก่อนบอกว่า

“แต่คิดในใจของผมว่าน่าจะเป็นการกระทำของเขาเอง เพราะมันเคยมีประวัติที่เด็กรามฯ จะรู้กันว่า การเมืองพวกนี้จะเล่นแบบนี้ การเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยมที่เป็นมาเฟียรามฯ ชอบเล่นแบบนี้”

 สิ่งที่เขายืนยันตลอดการสนทนาคือ ความภูมิใจกับเลือดพ่อขุนในฐานะนักศึกษารามคำแหง แม้จะเผชิญกับภัยคุกคามซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะจุดยืนทางการเมืองก็ตาม แต่ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของนักศึกษารามฯ คือสิ่งที่เขาเชิดชูและใช้มันเป็นต้นแบบการลงสนามเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทย

 

“ผมภูมิใจกับรามคำแหง เพราะรามคำแหงเราถูกโจมตีว่าเป็นการ์ดมาตลอด ตั้งแต่ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ทั้งที่สองเหตุการณ์นี้เด็กรามคำแหงตายมากที่สุด แต่เด็กรามฯ ไม่เคยได้รับการยกย่องว่าคือคนเสียสละ ถูกมองเป็นแค่การ์ดเท่านั้นเอง มาตอนช่วงพฤษภาทมิฬ ความจริงเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นครั้งแรกที่รามคำแหง โดยพี่ตู่ จตุพร พรหมพันธุ์ และพี่สิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ นายกองค์การนักศึกษา ออกไปตามราคายางจากรัฐบาลชาติชาย แล้วพอมีรัฐประหารก็ออกไปต้านรัฐประหารแล้วถูกจับ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของพฤษภาทมิฬ” 

 

นันทพงศ์ย้อนประวัติศาสตร์ให้ฟัง เขาบอกว่าสนใจเรื่องนี้และศึกษาการเคลื่อนไหวของนักศึกษารามคำแหงอย่างลึกซึ้ง

 “ศพแรกของพฤษภาทมิฬคือภิรมย์ รามขาว เด็กรามคำแหง คนอำเภอชะอวด นครศรีธรรมราช เป็นวีรชนคนแรกของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หลังจากที่อื่นแตกหมดแล้วแต่นักศึกษารามมาประกาศชัยชนะที่รามคำแหง ผมรู้สึกว่ารามคำแหงก็ไม่ได้น้อยหน้า แม้ว่าก่อนหน้านี้เราถูกเคลมประวัติศาสตร์มาตลอดว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อสู้ พลตรีจำลอง ศรีเมืองเป็นคนต่อสู้ แต่ชาวรามคำแหงรู้ดี เพราะรุ่นพี่ของเราต่อสู้กันมา”

 

เปลี่ยนครอบครัวไม่ได้ ไม่ต้องไปจัดตั้งคนอื่น

การต่อสู้ของนันทพงศ์ไม่ได้เริ่มจากความเห็นชอบของคนในครอบครัว ทั้งการขึ้นเวที นปช. และการเคลื่อนไหวหลังจากนั้นอีกพักใหญ่ซึ่งเจอแรงต้านทั้งจากในรามคำแหงและที่บ้านเกิดนครศรีธรรมราช

“ตอนนั้นพ่อแม่ไม่ได้เห็นด้วยกับผมนะ แต่สิ่งสำคัญที่ผมคิดมาตลอด ถ้าผมจัดตั้งคนในครอบครัวไม่ได้ จัดตั้งคนรอบข้างไม่ได้ ผมไม่ต้องไปจัดตั้งคนอื่น ตอนแรกผมไม่มีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเลย พอมาเรียนกรุงเทพฯ ผมทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย สะสมเงินซื้อโน้ตบุ๊กได้เครื่องหนึ่งก็เอาไปเปิดคลิปให้พ่อแม่พี่สาวและคนรอบข้างดู บอกพ่อว่ามันเป็นแบบนี้ สิ่งที่ผมเห็นมันเป็นแบบนี้ แล้วพวกเขาก็ค่อยๆ เปลี่ยน”

 “แต่เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เขาไม่ห้ามและกลับสนับสนุนด้วยซ้ำ คือหลังผมกลับมาเรียนจนจบและเกิดรัฐประหารโดยคสช. ผมออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยจนถูกจับกุมที่ สน.บางเสาธงพร้อมกับโรม รังสิมันต์ เรื่องรณรงค์เรื่อง พ.ร.บ.ประชามติ ตอนนั้นถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร คือเราไปรณรงค์ให้คนออกมาโหวตโน แต่เรากลับถูกทหารจับ แต่อีกฝั่งทำได้ทุกอย่าง เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนทำเอง มีงบประมาณลงไปทำกับสถานศึกษาได้เต็มที่ ไม่ได้รับผลกระทบอะไร และได้รับการสนับสนุนด้วยซ้ำ”

หลังถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร เขากลายเป็นหนึ่งใน 7 นักโทษประชามติที่ประกาศเจตนารมย์ว่าไม่ยอมรับอำนาจศาลทหารจึงไม่ยอมประกันตัว ยืนยันการต่อสู้โดยศาลต้องปล่อยโดยไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น

“แต่สุดท้ายศาลไม่ปล่อย พวกเรา 7 คนถูกคุมตัวส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  14 วัน 13 คืนในเรือนจำ เหตุการณ์นี้ทำให้ที่บ้านผมรู้สึกว่าลูกเราผิดอะไร พ่อแม่ดูข่าวก็เห็นว่าสิ่งที่ผมทำคือไปยืนแจกเอกสาร มันไม่ใช่ความผิดเลย แม่ไม่ด่าผม แต่แกรู้สึกว่าทำไมต้องทำกับลูกแม่แบบนี้ ถ้าผมไปฆ่าคน ไปขโมยของแล้วติดตะรางมันก็สมเหตุสมผล แต่นี่ไม่ได้ทำอะไรเลย”

นันทพงศ์เล่าว่าแม่ของเขาพยายามขึ้นมาเยี่ยมกระทั่งครบผลัด 14 วัน และหากต่อผลัดฝากขังพวกเขาประกาศอารยะขัดขืนอดข้าวอดน้ำในเรือนจำ เหตุการณ์นี้ทำให้ญาติพี่น้องที่สนิทชิดเชื้อของเขาเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน

 “เขาบอกเลยว่าไม่ชอบรัฐบาล คสช. เกลียดรัฐบาลประยุทธ์ หลังจากนั้นพ่อแม่ผมไม่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ไปใช้สิทธิ์แต่ไม่เลือกพรรคพวกนี้เด็ดขาดโดยที่ผมไม่เคยบังคับ ผมแค่ชี้ให้เห็นว่า ตัวละครในบ้านเราเป็นอย่างไร”

 

คนใต้ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการเมือง

โจทย์ใหญ่ของนันพงศ์คือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของทั้งคนในรั้วรามคำแหง และคนปักษ์ใต้บ้านเกิด ต้องเปลี่ยนวิธีคิดในเรื่องวัฒนธรรมการเมืองที่ออกห่างจากระบอบประชาธิปไตย

“ผมโตมา ข้างบ้านมีร้านน้ำชากาแฟ  คนใต้ชอบ ‘แหลงการเมือง’ เพราะเป็นคอการเมืองมาก ปัญหาคืออยากพูดแต่ไม่ชอบรับฟัง โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ มันเป็นวัฒนธรรมที่จำกัดการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ พอเด็กพูด ผู้ใหญ่จะหาว่า ‘ทำพอได้’  ไม่ฟังเด็ก หาว่าเด็กไม่มีประสบการณ์ นี่คือข้อเสียของคนใต้” 

นันทพงศ์บอกว่า คนปักษ์เคร่งครัดระบอบอาวุโส และถือพรรคถือพวก หากนับใครเป็นพวกก็จะปกป้องสนับสนุนโดยไม่สนข้อเท็จจริง ความเห็นนี้มาจากประสบการณ์ในครอบครัวของเขาเอง

“อย่างพ่อแม่ผมตอนผมยังเด็ก เขาก็เลือกนายชวน ต้องนายหัวชวน หลีกภัยไว้ก่อน มีตัวเลือกใหม่ๆ ก็ไม่เปิดรับ จนกระทั่งเขาดูถูกว่าเอาเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง” เขาพูดพลางหัวเราะ

เด็กหนุ่มจากอำเภอพรหมคีรีเชื่อมั่นว่า ทุกวันนี้ลูกหลายชาวปักษ์ใต้รุ่นใหม่มีความคิดเปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนความคิดให้พ่อแม่ ยังไม่กล้าที่จะแลกเปลี่ยนกับผู้ใหญ่ เพราะยังติดวัฒนธรรมเดิม ๆ ที่หากเด็กไปพูดกับผู้ใหญ่จะถูกกล่าวหาว่า ‘ปีนเฒ่า’ หรือ ‘ปีนเกลียว’ แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น นันทพงศ์ยกตัวอย่างกรณีไล่ล่ารถยนต์ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่ลงไปช่วยผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้วถูกขับไล่และรุมทุบรถที่นครศรีธรรมราช จนเกิดกระแสต่อต้านผู้กระทำในพื้นที่จากคนรุ่นใหม่จำนวนมาก นี่คือจุดที่เขาเชื่อมั่นว่าเกิดพลวัตรทางการเมืองของคนใต้รุ่นใหม่ ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ควรรับฟังคนเหล่านี้

 

“ผมรู้สึกว่าในฐานะคนใต้ คนใต้เราโดนดูถูกว่าสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ แต่สำหรับผมคนหนึ่งและอีกหลายคนในนครศรีธรรมราช ในภาคใต้ ยังมีฝั่งประชาธิปไตย อาจจะไม่มากเท่าเขา แต่วันนี้ผมเชื่อว่าคนใต้ก็ไม่น้อยหน้า ที่ออกมายืนยันว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน และประชาชนเป็นเจ้าของประเทศนี้ ร่วมกับผมและพี่น้องคณะราษฎร”

 

 เมื่อถามนันทพงศ์ว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะนักกิจกรรมภาคพลเมืองในช่วงทศวรรษนี้จะปูทางไปสู่การกระโดดลงไปเล่นการเมืองในอนาคตหรือไม่ เขายิ้มบอกว่า ณ ขณะนี้พวกเขายังต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองเรื่องสืบทอดอำนาจไม่สำเร็จ จึงยังไม่คิดถึงจุดนั้น

 “ผมเป็นคนเชื่อเรื่องงานจัดตั้ง ก่อนหน้านี้ผมคาดหวังว่า การที่ผมมาอยู่กรุงเทพฯ และรับรู้เรื่องพวกนี้ผมต้องกลับไปทำให้คนในครอบครัวหรือคนรอบข้างผมเปลี่ยน ผมดีใจที่ผมทำให้พ่อแม่พี่น้องผมเปลี่ยนได้ ส่วนในรามคำแหง ผมก็ทำงานทางความคิดในการเผยแพร่ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดของการปกครองเป็นของประชาชน และไม่เอาการรัฐประหารโดยเด็ดขาดเพราะเป็นวงจรอุบาทว์ รุ่นพี่รามคำแหง 2535 และประชาชนออกไปเรียกร้องให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง แต่นี่ปี 2563 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเขียนว่านายกฯ และคนเลือกนายกฯ มาจากคนนอก  เท่ากับที่พี่ๆ รามคำแหงต่อสู้มากำลังจะสูญเปล่า ผมจึงมองว่า เราต้องขยายความคิดเพิ่ม นี่คือภารกิจของผมครับ”

Fact Box

ปัจจุบัน นันทพงศ์ ปานมาศกำลังศึกษาต่อใกล้จบระดับปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาร่วมกับรุ่นน้องในรั้วพ่อขุนตั้งกลุ่ม ‘เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย’ ผลักดันเรียกร้อง 3 ข้อ ‘ให้พล.อ.ประยุทธ์และคณะทุกองคาพยพลาออก-แก้ไขรัฐธรรมนูญ-ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์’ ร่วมกับคณะราษฎร นอกจากนี้ยังเดินสายปราศรัยพบปะพี่น้องนักเคลื่อนไหวทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

Tags: , , , ,