ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังร้อนระอุไม่แพ้อุณหภูมิ 40 องศาของเมืองไทยในยุคโลกร้อน การถกเถียงในโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ รวมถึงโปรแกรมแชทขวัญใจชาวไทยอย่าง ไลน์ ก็ร้อนแรงไม่แพ้โลกนอกจอเลยทีเดียว
ในสถานการณ์อย่างนี้ เราทุกคนควรทำความรู้จักกับอันตรายของภาวะ ‘การรับรู้ไม่ลงรอย’ หรือ cognitive dissonance เพราะมันส่งผลต่อสภาพอารมณ์ของเรา โดยที่บ่อยครั้งเราไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังตกอยู่ในภาวะนี้
ในยุคโซเชียลมีเดีย ข้อมูลไหลบ่ามหาศาลทุกนาทีที่นิ้วของเราเลื่อนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ แน่นอนว่ามีทั้งข้อมูลจริง ข้อมูลเท็จ ครึ่งจริงครึ่งเท็จ ข้อมูลเคยจริง ข้อมูลวันนี้จริงแต่พรุ่งนี้ตัวใครตัวมัน ความคิดเห็น การด่าทอ และการป้ายสีร้อยแปดพันเก้า ข้อมูลและความเห็นเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้าในใจจากการรับข้อมูลมากเกินไป หรือที่วันนี้มีศัพท์เรียกว่า ‘information fatigue syndrome’
เรารับข้อมูลออนไลน์อย่างท่วมท้นล้นปรี่และรวดเร็วเกินกว่าความสามารถของสมองเราที่ต้องใช้เวลาตรึกตรอง พินิจพิจารณาข้อมูลแต่ละชิ้นอย่างถี่ถ้วน ถ้าอยากทบทวนว่าเราคิดอย่างไรกับมันกันแน่ นอกจากนี้ ความเร็วทันใจและ ‘ได้ฟินทันควัน’ (instant gratification) ของโซเชียลมีเดียยอดนิยมทั้งหลาย ซึ่งแสดงยอดไลก์ยอดแชร์และความเห็นท้ายข้อความในเวลาจริงทุกเสี้ยววินาที ก็ทำให้เรามักจะอยากแสดงความคิดเห็นต่อทุกเรื่องในทันที บ่อยครั้งโดยไม่ทันคิดด้วยซ้ำไป ยังไม่ต้องพูดถึงการตั้งใจทบทวนความคิดของตัวเราก่อนกดแป้นพิมพ์หรือมือถือ
นักจิตวิทยาค้นพบมาหลายสิบปีแล้วว่า จิตใจของคนเราพยายามทำความเข้าใจโลกตลอดเวลา มันพยายามตีความข้อมูลข่าวสารจากภายนอกให้สอดคล้องกับความคิดและความเชื่อเดิมของเรา ถ้าหากข้อมูลใหม่ขัดแย้ง เราก็จะรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ จิตใต้สำนึกเราจะหาทางคลี่คลายความคับข้องใจนี้ด้วยการยกเหตุผลมาอธิบายข้อมูลใหม่ในทางที่ไม่ขัดแย้งกับความเชื่อเดิม
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตอนแรกเราสนับสนุนผู้นำเผด็จการทหารด้วยเหตุผลว่า ‘คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ซื่อสัตย์ ไม่โกง” แต่ต่อมามีข้อมูลที่มีมูลว่า นายพลบางคนในคณะนี้อาจมีส่วนโกง เราก็อาจปรับเหตุผลใหม่ว่า “อย่างน้อย คสช. ก็ไม่โกงเท่ากับนักการเมือง” เป็นต้น
พูดง่ายๆ ก็คือ เวลาที่เกิดภาวะการรับรู้ไม่ลงรอยเพราะข้อมูลใหม่ขัดแย้งกับความเชื่อเก่า เราจะรู้สึกแย่ ดังนั้น สมองจึงรีบหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเอง – โดยที่เรามักไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอย่างนั้นอยู่ด้วยซ้ำ – เพื่อสลายความไม่ลงรอยกันระหว่างข้อมูลใหม่กับความเชื่อเดิม
ลีออน เฟสติงเจอร์ (Leon Festinger) นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน ได้เครดิตว่าเป็นผู้ค้นพบอาการ cognitive dissonance และพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับภาวะนี้เป็นคนแรกระหว่างที่เขาศึกษาลัทธิ (cult) ต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ผู้นำของลัทธิคนหนึ่งพยากรณ์ว่า จากการติดต่อกับอารยธรรมต่างดาว เธอมั่นใจว่าโลกจะมาสู่จุดจบในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1954 และบอกให้สาวกของเธอเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับ ‘วันพิพากษา’ แต่เมื่อวันแห่งคำพยากรณ์มาถึงและจากไปอย่างราบรื่น แทนที่สาวกจะเสื่อมศรัทธาในตัวศาสดา เลิกนับถือหรือด่าทอว่าเธอหลอกลวง สาวกส่วนใหญ่กลับทวีศรัทธาในตัวเธอ
เฟสติงเจอร์พบว่า เมื่อโลกไม่ถูกทำลาย ความไม่สบายใจจาก ‘การรับรู้ไม่ลงรอย’ ระหว่างความเชื่อที่ว่าศาสดาเป็นผู้รู้แจ้งและติดต่อกับชาวต่างดาวได้จริง กับความจริงที่ว่าพวกเขาถูกหลอกครั้งใหญ่นั้น รุนแรงเสียจนพวกเขาต้องปรับเปลี่ยนความเชื่อเสียใหม่เพื่อสร้างความชอบธรรมต่อไป โดยการบอกตัวเองในหัวว่า ที่โลกไม่แตกนั้นเป็นเพราะมนุษย์ต่างดาวมาช่วยกอบกู้โลก เพราะเป็นห่วงศาสดากับบรรดาสาวกของเธอในลัทธินี้!
การหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเอง โกหกตัวเอง หรือปลอบใจตัวเอง หรือที่ภาษาวัยรุ่นเรียกว่า ‘ดริฟต์’ เพื่อจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนใจ กลายเป็นเรื่องปกติในโลกออนไลน์ และในเมื่อจิตใจของเราพร้อมเสมอที่จะช่วยเราหลอกตัวเอง (เพื่อคลี่คลายความอึดอัดใจจากภาวะ ‘การรับรู้ไม่ลงรอย’) จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะชอบเสพแต่เนื้อหาที่ช่วย ‘ตอกย้ำ’ ความคิดความเชื่อเดิมของเรา ไม่ใช่ข้อมูลที่ตั้งคำถามหรือคัดง้างกับมัน
ด้วยเหตุนี้ เนื้อหาประเภทโฆษณาชวนเชื่อหรือ ‘ข่าวปลอม’ (fake news) ที่ไม่สนใจมูลความจริงตั้งแต่ต้น จึงมีพลังทำลายล้างสูงมากในแง่ที่มันพุ่งเป้าไปที่สมองของเราโดยตรง จงใจหลอกล่อให้เราคลิกเข้าไปอ่าน (clickbait) จากนั้นเราก็จะอยากแชร์เพราะเนื้อหามันช่าง ‘โดนใจ’ เราเหลือเกิน
ไม่ต้องหยุดคิดหรอกว่ามันน่าจะจริงหรือเปล่า
นักจิตวิทยาค้นพบต่อไปว่า การหลอกตัวเองไม่ใช่วิธีเดียวที่จะรับมือกับภาวะ ‘การรับรู้ไม่ลงรอย’ ถึงแม้มันอาจเป็นกลไกที่ธรรมชาติมอบให้
นักจิตวิทยาแบ่งวิธีรับมือของเราทั้งหมดได้สามวิธีหลักๆ ด้วยกัน ซึ่งแต่ละวิธีไม่มีอะไรรับประกันได้ว่ามันจะ ‘สำเร็จ’ ทุกครั้งที่ลองใช้ แต่อย่างน้อยเราก็ตั้งใจลองทำได้
วิธีแรก พยายามเปลี่ยนทัศนคติ พฤติกรรม หรือความเชื่อ เพื่อจัดวางความสัมพันธ์เสียใหม่ให้สอดคล้องลงรอยกัน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเชื่อว่า ‘การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ’ เราก็ควรพยายามเลิกหรือลดการสูบบุหรี่ให้ได้ ไม่ว่าจะยากเย็นเพียงใด ไม่อย่างนั้นก็จะรู้สึกแย่ต่อไป
วิธีที่สอง ลดทอนความสำคัญของความเชื่อหรือทัศนคติที่ไม่ลงรอย
ยกตัวอย่างกรณีสูบบุหรี่ แทนที่เราจะพยายามเปลี่ยนพฤติกรรม (เลิกสูบบุหรี่) เราก็อาจบอกตัวเองว่า ‘ชีวิตแสนสั้นที่ได้มีความสุขกับการสูบบุหรี่นั้น ดีงามกว่าชีวิตยืนยาวที่ไม่ได้สูบ’ การให้เหตุผลแบบนี้ลดความสำคัญของความเชื่อที่ไม่ลงรอย (‘การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ’)
วิธีที่สาม เปิดรับข้อมูลใหม่ที่มีน้ำหนักมากกว่าความเชื่อที่ไม่ลงรอย
ยกตัวอย่างกรณีสูบบุหรี่เช่นเคย ถ้าเราเลือกรับข้อมูลใหม่อย่างเช่น ‘ผลจากงานวิจัยพิสูจน์ไม่ได้ 100% ว่า การสูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งปอด’ ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าความเชื่อเดิม (‘การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ’) เราก็จะขจัดภาวะการรับรู้ไม่ลงรอยได้ โดยสูบบุหรี่ต่อไป
ข้อค้นพบทางจิตวิทยาเรื่องภาวะ ‘การรับรู้ไม่ลงรอย’ บอกเราว่า การเปลี่ยนใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะธรรมชาติสร้างเราให้มีกลไกรับมือกับความรู้สึกแง่ลบติดตัวมาแต่เกิด
แต่ถ้าเรายืนกระต่ายขาเดียว ไม่ยอมเปลี่ยนใจ ในเรื่องที่ ‘ข้อเท็จจริง’ ขัดแย้งแตกต่างจากความคิดความเชื่อเดิมของเรามากขึ้นเรื่อยๆ คำถามก็คือแบบนี้เรายิ่งไม่แย่หรือ ในเมื่อ ‘เหตุผล’ ที่เราจะยกมาเข้าข้างตัวเองนั้นย่อมฟังดูไร้สาระหลุดโลกขึ้นเรื่อยๆ เมื่อความจริงแยกทางจากความเชื่อชนิดไม่มีทางมาบรรจบลงรอยกันได้
ผู้เขียนสังเกตว่า ‘หน้าตา’ ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญเหมือนกันในสังคมไทย ยกตัวอย่างเช่น กองเชียร์ คสช. หลายคนวันนี้พยายามรับมือกับภาวะ ‘การรับรู้ไม่ลงรอย’ ของตัวเอง ด้วยการเฉไฉไปโพสแต่เรื่องเที่ยว ร้านอาหาร การเข้าวัดปฏิบัติธรรม อ้างว่า ‘ไม่สนใจการเมืองแล้ว’
หลายคนที่อ้างแบบนี้เริ่มมองเห็นความจริงแล้ว แต่ยังไม่อยากยอมรับกับคนอื่นว่าเคยคิดผิด ความที่ไม่อยากรู้สึกแย่ เลยเฉไฉไปทำกิจกรรมที่จะทำให้รู้สึกดี
ระหว่างเผชิญกับความท้าทายประจำวันว่าจะเปลี่ยนใจ หรือจะหาเหตุผลมาหลอกตัวเองต่อไปว่า ‘คสช. ไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ’
Tags: cognitive dissonance, การรับรู้ไม่ลงรอย