ทหารและวงจรอุบาทว์

ในวิชาสังคมศึกษาระดับมัธยมเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว มีการสอนเรื่องวงจรอุบาทว์ทางการเมือง (vicious cycle)

ขั้นตอนแรก นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาโกงกินคอร์รัปชั่นบ้านเมือง สร้างความเสียหายให้กับสังคมประเทศชาติบ้านเมือง มีแต่ทะเลาะเบาะแว้งสร้างความไม่สงบ เลือกตั้งไม่กี่ปี ก็ต้องยุบสภาไม่ไว้วางใจกันอีก ผลาญเงินภาษีประชาชนคนไทยเป็นว่าเล่น ระบอบประชาธิปไตยและนักการเมืองไทยนั้นไม่เหมาะสมกับประเทศไทย

ขั้นตอนที่สอง เมื่อเกิดปัญหาคอร์รัปชันและความไม่สงบเรียบร้อยแล้ว ก็บังเกิดฮีโรขี่ม้าขาวเข้ามาแก้ไข กองทัพผู้แสนดีที่เห็นประโยชน์ประเทศชาติบ้านเมืองมากกว่าประโยชน์ส่วนตนก็บึ่งรถถังเข้ารัฐสภา พร้อมเชิญนายกรัฐมนตรีลงจากเก้าอี้ด้วยความสุภาพ พร้อมตั้งรัฐบาลในค่ายทหารปกครองประเทศช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างสงบสุขอีกวาระหนึ่ง

ขั้นตอนที่สาม จนเมื่อมีประชาชนไม่หวังดีก่อหวอดเรียกร้องการเลือกตั้งเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงแล้ว ชายชาติทหารจึงยอมถอยออกมาจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง (ทั้งๆ ที่ฉันจะอยู่ต่อก็ได้นะ ฉันจะใช้ปืนขู่บังคับก็ได้นะจ๊ะ แต่ไม่เอาอะ)

แล้วขั้นที่สี่ เมื่อประชาชนเลือกตั้งมา ก็มีการซื้อสิทธิขายเสียง ได้นักการเมืองมาโกงกินบ้านเมืองต่อ สร้างความเสียหายให้สังคม ทหารจึงต้องออกมารัฐประหารอีก (ทั้งๆที่ไม่อยากทำเล้ย) แล้วก็ย้อนวนลูปไปเหมือนเดิมเรื่อยๆ

ความรู้ในวัยเด็กดังกล่าว ฝังหัวให้กับคนไทยไม่มากก็น้อย และเชื่อว่ามันเป็นเหตุการณ์ปกติของไทย

รัฐประหารเพื่อส่วนรวม?

Acemoglu et al. ไม่เชื่อว่าการรัฐประหารของกองทัพมีจุดประสงค์เพื่อส่วนรวม แต่มีไว้เพื่อผลประโยชน์และความมั่นคงของกองทัพเอง กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์การเมืองนี้พยายามใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์เพื่อพิสูจน์สมมติฐานและอธิบายว่า เหตุใดทหารจึงรัฐประหาร และชนชั้นนำก็ไม่ควรไว้ใจกองทัพเกินไปนัก

ในแบบจำลองนี้ เขาสมมติว่ากลุ่มประชาชนมีเพียงสองกลุ่ม คือชนชั้นนำผู้ปกครอง และชนชั้นธรรมดา  โดยมีกองทัพทหารเป็นผู้เล่นตัวแทน (agent) ของชนชั้นนำ กลุ่มชนชั้นนำจะไม่ชอบระบอบประชาธิปไตยเท่าใดนัก เพราะเป็นระบบที่กระจายอำนาจและทรัพยากรต่างๆ ที่ผูกขาดในชนชั้นนำไปให้กับประชาชนกลุ่มอื่น และชนชั้นปกครองทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาระบอบอำนาจเก่า และยับยั้งการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย มาตรการความรุนแรงที่ใช้รวมถึงมาตรการทางทหารที่กดขี่ผู้อยู่ใต้อำนาจ

อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นผู้ปกครองกับทหารก็มิได้แนบแน่นเสมอไป อำนาจทหารเปรียบเสมือนดาบสองคม เมื่อทหารมีอำนาจมากขึ้น และเริ่มเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองมากขึ้น ก็มีความเสี่ยงสูงว่า ชนชั้นผู้ปกครองเดิมจะถูกรัฐประหารจากกองทัพเสมอ ถ้าสร้างความไม่พอใจหรือมีการแบ่งสรรผลประโยชน์ให้กองทัพไม่เพียงพอต่อความต้องการ

เมื่อรัฐประหารสำเร็จ อาจจะเกิดผลเป็น 2 รูปแบบ คือ ทหารเข้ามาปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการทหาร หรือทหารเลือกชนชั้นนำกลุ่มอื่นเข้ามาปกครองแทน ซึ่งชนชั้นนำเองนอกจากเป็นผู้ขี่หลังเสือทหารแล้วแต่ก็ไม่อาจไว้ใจทหารได้เท่าไรนัก และต้องหามาตรการต่างๆ เพื่อลดอำนาจทหารลง เช่น จัดการปฏิรูปกองทัพ เลือกผู้บังคับบัญชาคนใหม่ที่มีความไว้ใจมากกว่า เพราะถ้าชนชั้นนำถูกโค่นลงผลประโยชน์ที่เคยได้ก็จะหายไป แล้วกองทัพหรือชนชั้นปกครองกลุ่มใหม่ก็จะแบ่งสรรปันส่วนกันแทน

กองทัพเองก็ไม่ได้เป็นตัวแทนภายใต้อาณัติของชนชั้นนำตลอดไป และจะตัดสินใจก่อรัฐประหารเพื่อผลประโยชน์ตัวเองเสมอถ้าชนชั้นนำเริ่มเป็นภัยต่อสถาบันกองทัพ ในขณะเดียวกัน ก็มีสมมติฐานอีกว่า กลุ่มประชาชนธรรมดาเป็นกลุ่มที่ไม่เอารัฐประหาร และเลือกการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย และเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านแล้วจะเกิดการปฏิรูปกองทัพตามมา

กลุ่มชนชั้นนำจึงต้องหาจุดสมดุลเพื่อจะรักษาอำนาจและผลประโยชน์ตัวเอง โดยมียุทธวิธี 3 ทางเลือกคือ

  1. เปลี่ยนผ่านสู่ระบบประชาธิปไตย ยกเลิกการปกครองด้วยการกดขี่
  2. ยังคงปกครองด้วยการกดขี่เช่นเคยโดยมีทหารเป็นเครื่องมือ อย่างไรก็ตาม ก็มีต้นทุนต้องจ่าย โดยแบ่งสัมปทานผลประโยชน์เพื่อเลี้ยงทหารไว้ไม่ให้ก่อการรัฐประหาร
  3. ปกครองด้วยการกดขี่เช่นเดิม แต่ไม่แบ่งส่วนแบ่งให้ทหาร และพร้อมรับความเสี่ยงจากการถูกรัฐประหารจากทหารเสมอ

ปัจจัยที่สนับสนุนให้ชนชั้นนำเลือกทางเลือกที่หนึ่งได้แก่ ต้นทุนในการสร้างความเข้มแข็งกองทัพเพื่อใช้กำลังกดขี่ประชาชนสูงเกินไป เช่น ในรัฐที่กำลังทหารไม่ได้เข้มแข็งมากและมีโอกาสล้มเหลวสูงถ้าเลือกใช้กำลังกดขี่ หรือในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ กลุ่มประชากรเข้าถึงอำนาจและทรัพยากรไม่ต่างกันมากนัก ชนชั้นนำจึงต้องใช้ต้นทุนสูงในการปราบทุกกลุ่ม เป็นต้น

ในขณะที่ทางเลือกที่สองมีปัจจัยสนับสนุน เช่น ยิ่งถ้าประเทศมีความเหลื่อมล้ำสูงและมีทรัพยากรเศรษฐกิจมหาศาล ชนชั้นนำก็สามารถแบ่งเสี้ยวของผลประโยชน์ได้เพียงพอเพื่อเลี้ยงทหารไว้ไม่ให้ก่อรัฐประหาร หรือสถาบันทหารมีขนาดใหญ่และมีความเข้มแข็งสูงในการกดขี่ประชาชน ชนชั้นนำจึงมีต้นทุนต่ำกว่าทางเลือกที่หนึ่งในการใช้กำลังกดขี่

ส่วนในทางเลือกที่สาม ชนชั้นนำต้องมั่นใจว่า การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของประชาชนเป็นไปได้ยาก และอำนาจของทหารไม่มีมากพอที่จะก่อรัฐประหาร ต้นทุนในการใช้อำนาจกดขี่ต้องต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบสองวิธีแรก และกองทัพมีความสัมพันธ์อันดีและไว้วางใจกับชนชั้นนำ หรืออาจเป็นไปในรูปแบบเผด็จการทหารที่ผู้ปกครองและกองทัพเป็นสถาบันเดียวกัน

รัฐประหารไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

เมื่อเทียบมาตรฐานระดับต่างประเทศกลับพบว่า การรัฐประหารและกำลังทหารไม่ใช่ทางออกวิกฤตการเมือง สถิติการก่อรัฐประหารมีแนวโน้มลดลง ในช่วงทศวรรษ ‘60 ที่มีการก่อรัฐประหารทั้งโลกรวม 61 ครั้งกลับค่อยๆ ลดลงเป็น 36 ครั้งในทศวรรษ 80 และ 10 ครั้งในช่วงสหัสวรรษใหม่  และมีโอกาสประสบความล้มเหลวมากขึ้น

ในช่วงระหว่างปี 1946 ถึง 2019 ประเทศซูดานมีความพยายามก่อรัฐประหารมากที่สุดถึง 33 ครั้ง แต่ประสบความสำเร็จเพียง 5 ครั้ง
ประเทศที่มีลักษณะเป็นเป็นรัฐที่ล้มเหลวอย่างอิรัก มีความพยายามก่อรัฐประหารถึง 29 ครั้งแต่สำเร็จเพียงแค่ 4 ครั้งหรือ ราวๆ 1 ใน 7 แต่ประเทศไทยกลับมีอัตราประสบความสำเร็จสูงกว่าที่อื่น มีความพยายามก่อรัฐประหาร 18 ครั้ง และประสบความสำเร็จถึง 10 ครั้ง หรือมากกว่าครึ่ง

ทำไมจึงเกิดการรัฐประหารไทยและประสบความสำเร็จบ่อยครั้ง? จึงเป็นคำถามที่ต้องการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมตามมา

Tags: , , , ,