หนึ่งเดือนกว่าเข้าไปแล้วหลังจากวันเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562 เรายังไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล ทั้งที่การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้งบประมาณแผ่นดินถึง 5,800 ล้านบาท มากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนเป็นเท่าตัว

(จะว่าไป การสรรหาวุฒิสมาชิก (สว.) ก็ใช้งบประมาณไม่น้อยเหมือนกัน กว่า 1,300 ล้านบาท ทั้งที่เป็นระบบแต่งตั้งทั้งร้อยเปอร์เซนต์ และจนถึงวันนี้เราก็ยังไม่รู้แม้แต่ชื่อของแคนดิเดต 400 คน ที่เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลือกให้เหลือ 250 คน แต่เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  จึงไม่อยู่ในขอบเขตของบทความชิ้นนี้)

กกต. ชุดนี้ (ซึ่งต้องสรรหากันถึงสามครั้งสามครากว่าจะ ‘ลงตัว’ เป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจ) ฝาก ‘วีรกรรม’ เอาไว้มากมายที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทย ตั้งแต่กรณีบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าจากนิวซีแลนด์ไม่ถูกนำมานับ ปัญหาจำนวนบัตรไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ บัตรเกิน ปัญหาระบบไอทีในการรวมคะแนนและรายงานผล ฯลฯ และ ฯลฯ

ปัญหาเหล่านี้และอื่นๆ อีกมากมายทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจ กกต. อย่างกว้างขวาง มีผู้สร้างแคมเปญล่ารายชื่อถอดถอน กกต. บนเว็บไซต์ change.org ซึ่งเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็มีคนไปลงชื่อกว่า 850,000 คน สร้างสถิติเป็นแคมเปญบนเว็บนี้ที่มีผู้สนับสนุนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

ที่น่าตกใจก็คือ แทนที่ กกต. จะน้อมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ชี้แจงข้อเท็จจริง เอ่ยคำขอโทษประชาชนในความผิดพลาด พยายามปรับปรุงกระบวนการ เปิดเผยข้อมูลมากขึ้นเพื่อความโปร่งใส กลับสั่งฟ้องหมิ่นประมาทประชาชนไม่น้อยกว่า 7 คน ที่แชร์แคมเปญล่ารายชื่อถอดถอนบนเว็บไซต์ดังกล่าว

นอกจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผู้เขียนยังเห็นว่า กกต. ชุดนี้ใช้ตรรกะ(?) อย่างพิลึกพิลั่นจนน่ากังขาว่า กำลังพยายามทำงานอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นกลาง หรือว่ากำลังหาทางตีความกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ขั้วอำนาจที่แต่งตั้งตนขึ้นมากันแน่

ผู้เขียนอยากยกตัวอย่างสามกรณีที่เห็นว่าสะท้อนการใช้ตรรกะแบบแปลกๆ ของ กกต.

กรณีแรก การแจก “ใบส้ม” ใบแรก ให้กับว่าที่ ส.ส.

วันที่ 24 เมษายน ที่ประชุม กกต. มีมติสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครของ นายสุรพล เกียรติไชยากร ว่าที่ ส.ส.เขต 8 เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ไว้เป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี หลังพิจารณาสำนวนสืบสวนที่คณะกรรมการสืบสวนของสำนักงาน กกต. จังหวัดเชียงใหม่ รายงานแล้วเห็นว่า “พฤติการณ์ของนายสุรพล เข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73(2) เสนอให้ สัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด”

ด้านว่าที่ ส.ส. ให้สัมภาษณ์สื่อว่า กรณีดังกล่าวเกิดจากการที่ตนได้นำเงินสดจำนวน 2,000 บาท และ นาฬิกา 1 เรือนไปถวายพระ พระอยู่ในงานผ้าป่า ตนได้ชี้แจงกับ กกต. เชียงใหม่แล้วว่า ตนตั้งใจบริจาคให้กับพระเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่เป็นการบริจาคให้กับวัด อีกทั้งพระก็ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง จึงเห็นว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย

กรณีนี้ กกต. ตีความการถวายปัจจัยให้พระ (ปัจเจกบุคคล) ว่าเท่ากับเป็นการบริจาคเงินให้วัด (องค์กร) จึงมองว่าผิดกฎหมาย ทั้งที่ในความเป็นจริง พระสงฆ์จำนวนไม่น้อยมีบัญชีส่วนตัว หรือให้สานุศิษย์ดูแลแทน แยกต่างหากจากเงินกองกลางของวัด

กรณีที่สอง การสอบและแถลงผลสอบ “โต๊ะจีน” ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

กรณีนี้ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โดย ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคม ร้องให้ กกต. ตรวจสอบการจัดเลี้ยง “โต๊ะจีน” เพื่อระดมทุนกว่า 650 ล้านบาทเข้าพรรค ในสามประเด็น ได้แก่

1) มีข้าราชการ และหรือหน่วยงานรัฐร่วมบริจาคทั้งทางตรงหรือทางอ้อมตามมาตรา 76 แห่ง พรป.พรรคการเมือง 2560 หรือไม่ อย่างไร

2) เงินที่นิติบุคคลบางแห่งบริจาคนั้น เป็นบริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุนมาโดยตลอด แต่ทำไมจึงมีศักยภาพในการบริจาคได้ ซึ่งอาจเข้าข่ายมาตรา 72 และหรือมาตรา 29 แห่ง พรป. พรรคการเมือง 2560 หรือไม่

3) มีพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น กทม. ททท. ฯลฯ มาร่วมซื้อโต๊ะ และหรือบริจาคด้วยหรือไม่ ตามที่มีชื่อปรากฎในแผนผังของการจัดโต๊ะจีนดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 12 มีนาคม 2562 เลขาธิการคณะกรรมการ กกต. กลับแถลงผลการตรวจสอบตามมาตรา 74 (รับเงินต่างชาติ) ว่า “ตรวจสอบนิติบุคคล 40 ราย และบุคคล 84 คน ไม่พบการบริจาคจากต่างชาติ จึงถือว่าไม่มีความผิดเข้าข่ายยุบพรรค”

ทั้งที่ผู้ร้องมิได้ร้องให้ตรวจสอบเรื่องการรับเงินต่างชาติแต่อย่างใด ร้องให้ตรวจตามมาตรา 72 และ 29 ต่างหาก (ประเด็นที่ 2 ข้างต้น) แต่ กกต. กลับไม่พิจารณาในประเด็นดังกล่าว

ต่อมาในวันที่ 25 เมษายน 2562 มีรายงานข่าวจาก กกต. ว่า กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปรากฎชื่อหน่วยงานรัฐในผังโต๊ะ (ประเด็นที่ 3 ข้างต้น) แต่ระบุว่า ตราบใดที่เงินยังไม่เข้าระบบบัญชีของพรรค จะยังไม่ถือว่ามีความผิด (!)

กรณีที่สาม คำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องสูตรคิดคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์)

เนื่องจากการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 เป็นครั้งแรกที่ไทยใช้ระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ซึ่งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อ้างว่า นำต้นแบบมาจากประเทศเยอรมนี (ทั้งที่ไม่ได้เอามาทั้งหมด คนเยอรมันยังกาได้ 2 เบอร์ เลือกพรรคแยกกันกับเลือกคน ขณะที่คนไทยถูกรอนสิทธิเหลือแค่กาเบอร์เดียว ต้องคิด(หนัก)เอาเองว่า อยากเลือกพรรคหรือเลือกคนมากกว่ากัน) จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นความสับสนอลหม่านมากมายในการตีความตามกฎหมายว่า “สูตร” ใดเป็นสูตรที่ถูกต้องในการคำนวณคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์)

เพียงไม่กี่วันหลังการเลือกตั้ง เราก็สรุปรายงานของสำนักข่าวต่างๆ ได้ว่า มีสูตรที่เป็นไปได้อย่างน้อย 3 สูตร ได้แก่

  1. วิธีคำนวณที่ กรธ. บางคน เคยคิดเป็นตัวอย่าง แจก ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ให้กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน​ (71,057 คน หรือ คะแนนพึงมี) จำนวน​ 27​ พรรค​ โดยให้เหตุผลที่แปลกประหลาดว่า ในเมื่อผู้ชนะการเลือกตั้ง ส.ส.เขต หลายเขตมีคะแนนเสียง 35,000-40,000 เสียง ก็ได้เป็น ส.ส. แล้ว ดังนั้น พรรคเล็กที่ได้คะแนนรวมทั้งประเทศ 35,000-40,000 เสียง จึง “สมควร” ได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน เช่นกัน

การให้เหตุผลเช่นนี้ผิดฝาผิดตัวอย่างยิ่ง เพราะเอากติกาที่ต่างกันมาเทียบกัน

ส.ส. เขตนั้นวัดกันที่เสียงข้างมาก ใครได้เสียงมากที่สุดชนะ ขณะที่ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ นั้น คำนวณจากสัดส่วนคะแนนเสียงทั่วประเทศของพรรคการเมือง – การจะให้พรรคเล็กได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ย่อมหมายถึงการโยนคะแนนเสียงของพรรคใหญ่ “ทิ้งน้ำ” ไป แถมยังจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91(4) ซึ่งระบุชัดเจนว่า ให้นำจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ไปจัดสรรให้แก่พรรคที่มี ส.ส. เขต ต่ำกว่าจำนวน ส.ส. พึงมี “แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมี ส.ส. เกินจำนวนที่จะพึงมี”

ด้วยเหตุนี้ พรรคการเมืองทุกพรรคที่คำนวณ ส.ส. พึงมี ได้น้อยกว่า 1 (ได้คะแนนเสียงทั่วประเทศน้อยกว่า 71,057) และไม่ได้ชนะ ส.ส. เขต แม้แต่ 1 คน ย่อมไม่อาจมี ส.ส. ในสภาได้

2. วิธีคำนวณที่ได้ 16​ พรรค โดยไม่แจก ส.ส. ให้กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,057​ คะแนน และตัดทศนิยมทิ้ง

​3. วิธีคำนวณที่ได้ 16 พรรค ไม่แจก ส.ส. ให้กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,057​ คะแนน และไม่ตัดทศนิยมทิ้ง

ทั้งสามสูตรข้างต้นตรงตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 แต่มีเพียงวิธีคำนวณแบบสูตรที่ 2. และ 3. เท่านั้น ที่จะไม่ขัดมาตรา 91 ในรัฐธรรมนูญด้วย นับว่าตรงต่อเจตนารมณ์ที่สุด

ถ้าหาก กกต. ไม่แน่ใจว่าควรใช้สูตรใดคำนวณ ก็ควรจะถามศาลรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนไปทั้งสามสูตร แต่ กกต. กลับตีโจทย์อย่างคับแคบ ขอให้ศาลวินิจฉัยแต่เพียงว่า พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่

เนื้อหาคำร้องสื่อนัยว่า กกต. กำลังพิจารณาเพียงสูตรที่ 1. เท่านั้น นั่นคือ สูตรที่แจก ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ให้กับพรรคเล็กที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าคะแนนพึงมี เพราะเป็นสูตรเดียวที่ทำตาม พ.ร.ป. เลือกตั้ง มาตรา 128 และสุ่มเสี่ยงว่าจะขัดมาตรา 91 ในรัฐธรรมนูญ

ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง และวินิจฉัยว่า “ไม่ขัด” ก็เท่ากับ “ไฟเขียว” ให้ กกต. ใช้สูตรที่ 1. แจกคะแนนพรรคเล็กที่ได้คะแนนไม่ถึงคะแนนพึงมีทันที ทั้งๆ ที่เราได้เห็นแล้วว่ามีวิธีคำนวณตาม พ.ร.ป. เลือกตั้ง ที่ไม่ขัดต่อมาตรา 91 ในรัฐธรรมนูญ นั่นคือ สูตรที่ 2. และ 3.

โชคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ไม่รับวินิจฉัยคำร้อง เพราะเห็นว่า “ยังไม่ปรากฎว่าผู้ร้องได้ใช้หน้าที่และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติ กรณีนี้จึงยังถือไม่ได้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องเกิดขึ้นแล้ว”

ทั้งสามกรณีที่ผู้เขียนยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น น่าจะทำให้เห็นภาพเรื่องตรรกะอันแสนประหลาดของ กกต. ชุดนี้ได้เป็นอย่างดี

Tags: , , , ,