1

เมื่อรัสเซียรุกรานยูเครน คิม จอง อึน (Kim Jong-un) ผู้นำรุ่นที่ 3 แห่งบังลังก์ตระกูลคิมที่ปกครองเกาหลีเหนือมาอย่างยาวนาน ก็คาดการณ์ว่า โลกใบนี้จะต้องเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นอย่างแน่นอน

แม้ประเทศจะเจอวิกฤตทั้งโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจลำบาก แต่คิมรุ่น 3 ก็ยังมุ่งมั่นกับการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อใช้เป็นอาวุธสำคัญในการรับมือกับภัยคุกคามต่อจากนี้ให้ได้

สำหรับภัยคุกคามของเกาหลีเหนือนั้น เดาได้ไม่ยาก คือสหรัฐอเมริกานั่นเอง

ในยามที่โลกมีความขัดแย้ง รัสเซียของประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ก่อการรุกราน ทำให้สหรัฐอเมริกาและหลายชาติตะวันตกรวมตัวกันสนับสนุนยูเครน ไม่เพียงเท่านั้น คำขู่ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน (Joe Biden) ต่อจีนในเรื่องไต้หวัน ที่พร้อมปกป้องและประณามเหตุการณ์ที่มณฑลซินเจียง ซึ่งทั้งโลกรู้กันว่า รัฐบาลจีนก่อตั้งค่ายลับเพื่อปรับทัศนคติคนเชื้อสายอุยกูร์ซึ่งนับถือมุสลิม นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก

เมื่อจีนและรัสเซียเจอการรุกกลับของโลกเสรีตะวันตก เกาหลีเหนือของคิมรุ่น 3 ก็สบโอกาสแนบชิดสนิทสนมกับจีนและรัสเซียอีกครั้ง นับเป็นหมากสำคัญที่คิมคิดว่ามันคุ้มค่าทีเดียว

แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายยังคงครุ่นคิดกันว่า มันจะคุ้มจริงหรือ

2

ในช่วงเวลาที่อเมริกากดดันจีนหนักเรื่องไต้หวัน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งเดิมนั้น รัฐบาลจีนก็พิจารณาการบุกครั้งนี้อย่างถี่ถ้วน เพราะหากรัสเซียยึดยูเครนสำเร็จ มันก็อาจเอื้อให้จีนสามารถรุกรานไต้หวันได้ง่ายขึ้น เพราะกระแสอาจจะหนุนส่งเสริม

แต่เมื่อหมากเคลื่อนไปยูเครนไม่สำเร็จ แถมรัสเซียยังบอบช้ำอย่างหนัก ทั้งถูกคว่ำบาตร ปราชัยหลายสมรภูมิ จากที่คิดว่าจะง่ายเป็นปอกกล้วยเข้าปาก กลับสะดุดเปลือกกล้วยล้มหน้าคะมำเสียได้ ทำให้จีนต้องคิดหนักเรื่องไต้หวัน และทำให้อเมริกาสบช่องเตือนจีนเรื่องนี้อย่างเปิดเผยมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ทาง สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีจีนคงจะพิจารณาอย่างดีแล้ว แค่นึกถึงคำพูดของเหมา เจ๋อตุง (Mao Zedong) ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งพูดเรื่องไต้หวันต่อหน้าประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ว่า “เรารอได้ ต่อให้อีกเป็นร้อยปี เราก็จะรอ”

แต่สำหรับคิมรุ่นที่ 3 แห่งเกาหลีเหนือ เขาไม่รออะไรทั้งสิ้น เจ้าตัวประกาศสนับสนุนว่าไต้หวันเป็นดินแดนของจีนในทันที ไม่เพียงเท่านั้นเขายังสนับสนุนรัสเซียด้วย ถึงขนาดโหวตคัดค้านการประณามจากคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติที่มีต่อรัสเซีย ในวันที่ 2 มีนาคม หลังการรุกรานยูเครน

การโหวตคัดค้านนี้ถือเป็นหมากที่เกาหลีเหนือออกตัวเต็มเครื่องหนุนรัสเซียสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะขนาดจีนมิตรใกล้เคียงปูติน ยังงดออกเสียงเลย

เรียกได้ว่าเปียงยาง (เมืองหลวงเกาหลีเหนือ) หนุนมอสโก (เมืองหลวงรัสเซีย) แบบสุดๆ

การเปิดตัวหนุนจีนและรัสเซียขนาดนี้ของคิม ทำให้ 2 มหาอำนาจตอบแทนความภักดี ด้วยการโหวตวีโต้ร่างข้อเสนอของสภาความมั่นคงของสหประชาชาติที่ต้องการแก้ปัญหาและคว่ำบาตรเกาหลีเหนือมากกว่าเดิม ซึ่งการวีโต้ไม่เห็นด้วยของรัสเซียกับจีนนี้ ถือเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เกาหลีเหนือเริ่มทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ จนมีการออกมาตรการตอบโต้ในปี 2006

ที่ผ่านมา ทั้งรัสเซียและจีนไม่เคยวีโต้การแก้ปัญหานี้เลย แต่เพราะสถานการณ์ระหว่างประเทศมันดุเดือดเลือดพล่าน และมิตรตัวน้อยอย่างเกาหลีเหนือก็ออกโรงเปิดหน้าชนอเมริกา หนุนรัสเซียกับจีน

ใครมันก็ต้องตอบแทนกันบ้าง (ว่ะ)

3

เอาเข้าจริงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับจีน แม้จะแน่นแฟ้นแต่ก็ไม่ได้ราบรื่นเท่าไร เพราะจีนเองไม่ค่อยสบอารมณ์กับเกาหลีเหนือหลายเรื่อง โดยเฉพาะการพยายามทดลองระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งจะสร้างความเสี่ยงในภูมิภาคคาบสมุทรเกาหลีอย่างมาก

ทั้งสองประเทศเหมือนจะรักกันดี แต่ก็ไม่ได้อบอุ่นดังที่คิด ทั้งนี้ หมากของเกาหลีเหนือในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถือว่าชำนาญพอดู เพราะคิมรุ่นที่ 3 ได้เดินตามรอยปู่ของตัวเอง คิม อิลซุง (Kim Ilsung) คิมรุ่นที่ 1 และเป็นบิดาแห่งเกาหลีเหนือ ที่พยายามรักษาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตไปมาเหมือนลูกตุ้ม โดยเหวี่ยงสร้างความอบอุ่นต่อทั้งสองไว้ เพื่อจะได้อาหารและความช่วยเหลือทางกองทัพมาอย่างสม่ำเสมอ

หากข้างใดข้างหนึ่งพยายามมีอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือมากไป ก็จะเหวี่ยงลูกตุ้มกลับไปหาอีกฝ่าย เพื่อถ่วงดุลและดึงอีกฝ่ายมาหนุนตัวเองไว้

คิมรุ่นที่ 3 ก็เจริญรอยตามปู่ตัวเอง เดิมนั้น เขาไม่ถูกใจกับอิทธิพลจีนต่อเกาหลีเหนือมากนัก จึงหันไปผูกมิตรกับรัสเซียเพื่อต่อต้านการปักหมุดของอเมริกาในช่วงประธานาธิบดี บารัก โอบามา (Barack Obama) การผูกมิตรกับปูตินทำให้เกาหลีเหนือได้รับเชื้อเพลิงราคาถูกหลั่งไหลเข้ามาในประเทศ และลดการพึ่งพิงพลังงานจากจีนได้

ไม่เพียงเท่านั้น คนงานเกาหลีเหนือก็ได้เดินทางไปทำงานในรัสเซียอีกด้วย

แต่แม้จะมีความสัมพันธ์ดีขึ้น แต่รัสเซียกับจีนก็ไม่เคยไว้ใจเกาหลีเหนือแม้แต่น้อย ที่ผ่านมาพวกเขาร่วมคว่ำบาตรเพื่อให้ประเทศของคิมหยุดทดลองระเบิดนิวเคลียร์ เพิ่งจะเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง จึงเปลี่ยนการตัดสินใจ

ดังนั้น หมากนี้ถือว่าคิมรุ่น 3 เดินได้อย่างถูกต้องน่าสนใจทีเดียว

แต่มันก็มีมุมกลับที่ต้องครุ่นคิดให้ดี

เพราะถึงอย่างไร จีนและรัสเซียก็ไม่เคยสบอารมณ์กับเกาหลีเหนือ ที่ชอบเดินหน้าทดลองระเบิดนิวเคลียร์อย่างจริงจัง ซึ่งว่ากันว่า ตัวคิมเองนั้นลุ่มหลงถึงขั้นหมกมุ่นกับเรื่องนี้อย่างมาก เพราะหากมีอาวุธอานุภาพร้ายแรงนี้ได้ เขาก็จะถือเป็นมหาอำนาจ เป็นอิสระที่ไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่นอีก

แม้จีนและรัสเซียอาจคัดค้านการคว่ำบาตรครั้งล่าสุด แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะอยากให้การทดลองนี้เดินหน้าต่อ ดังนั้น จีนได้กระซิบบอกให้หยุดเรื่องนี้ไปเสียก่อนจะดีกว่า

ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือมักจะฟังจีนแล้วเพิกเฉย ไม่สนใจเดินหน้าทดลองต่อ แต่ครั้งนี้พวกเขาต้องยอมร่วมวงมหาไพบูลย์อำนาจนิยมด้วย เพราะตัวเองดันไปใกล้ชิดกับรัสเซียและจีนมากกว่าเดิมเสียแล้ว

อีกเรื่องที่สำคัญคือ การที่เกาหลีใต้ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่มีแนวโน้มออกขวา แข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือมากกว่าเดิม และอาจจะอิงอเมริกายิ่งขึ้น การที่เกาหลีเหนือดูวุ่นกับการสร้างอาวุธทรงพลานุภาพแบบนี้ ยิ่งทำให้เกาหลีใต้และอเมริกากลับมาใกล้ชิดกันแนบแน่นกว่าเดิมอีกด้วย

เกาหลีใต้และอเมริกาส่งสัญญาณว่าจะมีการร่วมซ้อมรบกันมากขึ้น เพื่อเป็นนัยยะไปยังประเทศของคิมว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการทดลองระเบิดนิวเคลียร์นี้เลยแม้แต่น้อย

แม้เกาหลีเหนือจะพยายามชี้แจงว่า พวกเขาต้องการอาวุธไว้เพื่อป้องกันตัวเอง เสริมสมรรถภาพในการปกป้องประเทศต่อภัยคุกคามอื่น (ซึ่งก็หมายถึงอเมริกา) แต่การใกล้ชิดกับจีนและรัสเซีย จะทำให้การเสริมศักยภาพนี้ทำได้ยากขึ้นกว่าเดิมด้วย เพราะคงไม่มีใครยินดีกับการเห็นประเทศเล็กๆ อย่างเกาหลีเหนือ ที่ผู้นำคิมรุ่นที่ 3 ซึ่งเอาแน่เอานอนไม่ได้ มีอาวุธนิวเคลียร์ในกำมือ ซึ่งมันอันตรายอย่างมาก

แถมหากเกาหลีเหนือทำสำเร็จ ก็จะยิ่งมีปากเสียงเพิ่มมากยิ่งขึ้น จีนกับรัสเซียเองก็คงคิดลึกๆ ว่า หากวันหนึ่งเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกับตัวเอง พวกเขาจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ระเบิดจะพุ่งเป้าไปเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรืออเมริกา บางทีมันอาจย้อนใส่ตัวเองก็เป็นได้

เมื่อทบทวนโดยละเอียดแล้ว ฉากหน้าที่จีนประณามอเมริกา เรื่องต้องการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือให้มากขึ้น ก็อาจเป็นฉากทางการทูตที่ต้องแสดงออกปกป้องเกาหลีเหนือ เพื่อดึงมาเป็นพวก ให้ความช่วยเหลือทั้งอาหาร อาวุธ วัคซีนโควิด-19 แต่แลกกับเกาหลีเหนือที่จะเพิกเฉยหรือจะให้ดีก็พักไว้ก่อนเรื่องอาวุธนิวเคลียร์

ดังนั้น จีนกับรัสเซียก็มีหมากให้เดินกับเกาหลีเหนืออีกชั้นเช่นกัน ใช่ว่าคิมรุ่น 3 จะเดินหมากเป็นฝ่ายเดียวที่ไหนเล่า

ความหายนะในระบบเศรษฐกิจและโรคระบาดในเกาหลีเหนือเอง ก็ทำให้คิมต้องพึ่งจีนกับรัสเซียมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการแลกเปลี่ยนข้อเสนอจากมหามิตรเพื่อนบ้าน ก็เป็นสิ่งที่คิมต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน

เพราะแม้ในประเทศ เขาจะใหญ่คับฟ้าเพียงใด แต่นอกแผ่นดินแล้ว เขาก็ต้องยอมเป็นลูกไล่คนอื่นด้วย

อย่างที่ภาษานักเลงบอกไว้ เราก็ต้องเป็นลูกน้องของใครสักคนอยู่ดีแหละ!

4

เรื่องสำคัญที่คิมจะลืมไม่ได้ นั่นก็คือการแนบชิดจีนกับรัสเซียแบบนี้ในอนาคต แล้วหากมีการพูดคุยกับอเมริกา คิมเองก็จะมีความลำบากขึ้นกว่าเดิม เพราะจะต้องหาจุดลงตัวที่ทำให้อเมริกาพอใจในฐานะคู่เจรจา แถมยังต้องทำให้จีนและรัสเซียพอใจอีกด้วย

เรียกได้ว่าการแนบชิดใกล้นี้ มันมีข้อเสียที่ทำให้เกาหลีเหนือไม่เป็นอิสระ และต้องพึ่งพิงจีนกับรัสเซียเข้าไปใหญ่ด้วย ที่สำคัญก็คือ แม้เรื่องไต้หวัน จีนกับอเมริกาจะเห็นต่างกันอย่างชัดแจ้ง แต่เรื่องเกาหลีเหนือแล้ว ทั้งสองประเทศเห็นด้วยในทิศทางเดียวกันมาหลายครั้งแล้ว ดังนั้น หมากของคิมจึงยากจะมองออกว่ามันคุ้มได้คุ้มเสียกันหรือไม่

เพราะจีนกับอเมริกาอาจเห็นตรงกันว่า เกาหลีเหนือมีความอันตรายในระดับที่ต้องจัดการก่อนเรื่องไต้หวัน ดังนั้น เราก็ไม่รู้ว่าหากวันนั้นมาถึง ตัวคิมเองจะรู้สึกอย่างไร จะสำนึกผิดกับการเดินหมากแบบนี้ เพราะบ้าบิ่นไป หรือคิดไม่ถี่ถ้วนกันแน่ หรืออาจรู้สึกเฉยๆ เหมือนทุกครั้ง อะไรมันก็เป็นไปได้ในโลกใบนี้

5

จีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ มีปมร่วมกันอย่างหนึ่ง พวกเขามีประสบการณ์ร่วมในเรื่องถูกรุกรานจากต่างชาติ สำหรับรัสเซียแล้ว บาดแผลสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกนาซีเยอรมันรุกราน คนตายหลายล้านคน ยังเป็นไม้เด็ดให้ปูตินเอากลับมาใช้รุกรานยูเครนได้หน้าตาเฉย โดยบอกว่าต้องการขับไล่นาซี ซึ่งแม้จะผิดฝาผิดตัวถึงขั้นมั่ว แต่ก็เป็นเหตุผลบางๆ ให้รัสเซียยังคงรุกรานแบบยืดเยื้อต่อไป ไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น แม้จะต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม รัสเซียก็ยังปลุกผีการป้องกันการรุกรานได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนจีนนั้น แน่นอนว่าก่อนพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะชนะสงครามกลางเมือง จีนประสบกับการถูกมหาอำนาจแย่งชิงแผ่นดิน รุกรานประเทศมาอย่างยาวนาน บาดแผลนี้เป็นสิ่งที่ทางการจีนใช้มันเสมอ ยามที่ต้องเผชิญภัยคุกคามจากต่างแดน (และในประเทศด้วย)

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ภายหลังเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนที่จตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 แล้ว เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) ผู้มีอำนาจตัวจริงในขณะนั้น ได้ตั้งคำถามว่าแบบเรียนจีนตามสถานศึกษาทั้งหลาย บอกเล่าเหตุการณ์จีนก่อนพรรคคอมมิวนิสต์ยึดครองประเทศน้อยไปหรือไม่ ทำให้เยาวรุ่นทั้งหลายไม่รู้จักภัยคุกคามจากต่างแดนแบบนี้ จนอยากได้ประชาธิปไตยมากกว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีน

กรณีไต้หวัน สำหรับสี จิ้นผิง ผู้นำจีนแล้ว เป็นเรื่องสำคัญมาก เขาก็ต้องเดินหมากให้ดี เพราะปีนี้โอกาสที่เขาจะครองอำนาจต่อสมัยที่ 3 เปิดทางสู่การเป็นผู้นำตลอดชีวิต ภัยคุกคามจากต่างแดนก็เป็นหมากสำคัญให้เขาใช้มันปลุกความเป็นหนึ่งในประเทศได้เสมอ

ที่สำคัญอาจปลุกได้ดีกว่ารัสเซียเสียอีก

ส่วนเกาหลีเหนือ บาดแผลจากสงครามเกาหลียังคงถูกปลุกระดมใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ คิม จองอึนถึงขนาดปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารจากต่างแดน สร้างเรื่องราวของตระกูลคิมที่อุทิศตัวเพื่อประเทศ เพื่อคุมความคิดคน และลงโทษผู้แอบดูข่าวสารรายการจากต่างประเทศอย่างหนักหน่วง โดยประณามอินเทอร์เน็ตว่าเป็นยุงพาหะนำโรคร้าย ส่วนอุดมการณ์ทุนนิยมนั้น ก็เป็นไวรัสแสนอันตราย แถมตัวคิมยังลงทุนสร้างพิพิธภัณฑ์สงครามให้คนได้รับรู้อุดมการณ์ที่ถูกครอบงำมากขึ้นกว่าเดิมด้วย

พวกเขาจึงเข้าขาไปด้วยกันได้ เพราะมีบาดแผลบางอย่างร่วมกันในอดีต จนเอามาใช้ปลุกเร้าความเป็นหนึ่งของชาติได้

ทั้งนี้ การรุกรานของรัสเซียเปิดพื้นที่ให้ปูตินใช้การคุมข่าวสารมากขึ้น จนคนบอกว่า เป็นการเลียนแบบเกาหลีเหนือ ซึ่งทั้งสามประเทศได้เปิดหน้าเป็นตัวแทนอำนาจนิยมอย่างมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าความพยายามของทั้งสามประเทศจะมีจุดจบเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ล้มเหลวหรือสำเร็จ ประวัติศาสตร์คงจะเป็นคำตอบให้เอง

สำหรับเกาหลีเหนือ เมื่อผลประโยชน์ของประเทศต้องมาก่อน แถมรัสเซียกับจีนก็คงไม่ไว้ใจคิมรุ่นที่ 3 เท่าใดนัก แม้อีกฝ่ายจะทำดีแค่ไหน ภายใต้มหาอำนาจพญามังกรและหมีขาว พวกเขาอาจตอบแทนเกาหลีเหนือบ้าง แต่จะให้เชื่อใจประเทศของคิมไปเสียทั้งหมด คงไม่มีวันหรอก เพราะบทเรียนทางประวัติศาสตร์ก็สอนไว้ว่า เกาหลีเหนือเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้

ดังนั้น การพึ่งพิงจีนกับรัสเซียของคิมนั้น แม้ตัวเขาจะมองว่ามันคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง แต่มันจะคุ้มค่าจริงหรือ คงไม่มีใครตอบได้ในตอนนี้ เพราะสุดท้ายแล้ว

‘มันอาจไม่คุ้มค่าสำหรับคิม จองอึน ผู้นำรุ่นที่ 3 แห่งเกาหลีเหนือเลยก็เป็นได้’

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.aljazeera.com/news/2022/6/9/china-russia-explain-n-korea-vetoes-at-un-meeting

https://thediplomat.com/2022/05/dancing-on-bones-history-and-power-in-china-russia-and-north-korea/

https://asia.nikkei.com/Spotlight/Comment/North-Korea-s-shift-closer-to-China-and-Russia-comes-at-hefty-cost

https://asia.nikkei.com/Spotlight/Comment/A-seventh-North-Korean-nuclear-test-would-carry-China-risk

Tags: , , , , , , , ,