หลังผ่านพ้นบรรยากาศเทศกาลปีใหม่ โลกเดินหน้าสู่เกมชิงไหวชิงพริบระหว่างมหาอำนาจอีกครั้ง น่าจับตาว่าในปี 2019 โดนัลด์ ทรัมป์จะประลองกำลังอย่างไรกับจีนและเกาหลีเหนือ

เริ่มต้นเดือนมกราคม 2019 ประธานาธิบดีทรัมป์ นั่งในทำเนียบขาวมาได้ครึ่งสมัยในวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี นับแต่ต้นปี 2017 เป็นต้นมา มหาเศรษฐีผู้ผันตนเป็นนักการเมืองรายนี้ ขยันจุดประเด็นกินแหนงแคลงใจกับพันธมิตร พร้อมกับเปิดเกมบาดหมางกับคู่แข่งของอเมริกาอย่างไม่หยุดหย่อน

สไตล์การนำที่นักวิจารณ์เรียกว่า เปลี่ยนใจง่าย ทำให้ทรัมป์ถูกมองเป็นคนคาดเดายาก คนแบบนี้ดีลด้วยลำบาก ขณะที่ฝ่ายเชียร์บอกว่า ลีลานักธุรกิจเขี้ยวลากดินแบบนี้แหละ ช่วยปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ รักษาเงินในกระเป๋าของชาวอเมริกัน

ถึงแม้มีกรอบกติกา กฎหมาย ข้อตกลง องค์การสารพัดชื่อ คอยถ่วงทานอยู่ด้วย แต่กิจการโลกก็ขับเคลื่อนด้วยการเดินหมากของมหาอำนาจเป็นด้านหลัก  ดังนั้น ไม่ว่าชอบหรือชัง เราจะต้องอยู่กับทรัมป์ไปอีก 2 ปี เผลอๆ แถมต่ออีกวาระ หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งสมัยที่สอง

ในครึ่งหลังของวาระแรก เราคงได้เห็นทรัมป์แยกเขี้ยวยิงฟันกับประเด็นร้อนๆ อย่างเช่น การค้า และนิวเคลียร์ อีกหลายรอบ นับเฉพาะในปี 2019 เขามีนัดเชิดฉิ่งกับประเทศที่เขามองเป็นคู่แข่งหลายนัดทีเดียว

‘สงครามการค้า’ กับจีน

ทรัมป์พูดจาตกลงกับสีจิ้นผิง ผู้นำจีน เมื่อคราวพบกันที่กรุงบัวโนสไอเรสเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2018 ว่า ทั้งสองฝ่ายจะพักการขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กันเอาไว้ก่อน เพื่อเจรจากันเป็นเวลา 60 วัน

แต่นักสังเกตการณ์ประเมินว่า เมื่อครบกำหนดพักรบในวันที่ 2 มีนาคม ปักกิ่งคงตอบสนองข้อเรียกร้องของสหรัฐฯได้ไม่ถึงระดับที่วอชิงตันจะพึงพอใจ ฉะนั้น สงครามการค้าอาจยกระดับขึ้นไปอีก

ในช่วงก่อนสิ้นปี 2018 รัฐบาลจีนส่งสัญญาณรอมชอม ด้วยการสั่งซื้อถั่วเหลือง ลดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐฯ กลับไปอยู่ที่ 15 เปอร์เซนต์แทนที่จะขึ้นเป็น 25 เปอร์เซนต์ และสั่งให้โรงกลั่นของรัฐสั่งซื้อน้ำมันจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

แต่นักวิเคราะห์บอกว่า ทั้งหมดนั้นยังไม่ได้แตะข้อเรียกร้องหลักของสหรัฐฯ เลย ทรัมป์ต้องการให้จีนเลิกอุดหนุนรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ เลิกบังคับเอกชนอเมริกันให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่บริษัทร่วมทุนของจีน แก้ไขกฎหมายเรื่องการแข่งขัน การร่วมทุน การคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา และการเข้าถึงตลาด

แม้ว่ามาตรการเบื้องต้นดังกล่าวของจีนเป็นสัญญาณทางบวก สร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการเจรจาซึ่งคาดว่าจะเริ่มในเดือนมกราคม แต่ประเมินกันว่า ผลการเจรจาอาจไม่เป็นที่สบอารมณ์ของทรัมป์ เพราะผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายนับว่าขัดกันในขั้นพื้นฐาน เนื่องจากจีนเน้นบทบาทของรัฐในการควบคุมเศรษฐกิจ อาศัยรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ซึ่งได้รับอภิสิทธิ์ต่างๆ เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนา

ที่สำคัญ จีนมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมไฮ-เทค เพื่อแข่งขันกับการครอบงำตลาดของสหรัฐฯ ตั้งแต่เรื่องการบินอวกาศ หุ่นยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์พลังงานทางเลือก ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์

การประชันขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี จึงเป็นเกมที่มหาอำนาจทั้งสองยากจะหลีกเลี่ยง

‘นิวเคลียร์’ เกาหลีเหนือ

ทรัมป์บอกว่า กำลังเล็งหาโอกาสเหมาะๆ ที่จะหารือกับคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ อีกครั้ง แม้ยังไม่กำหนดสถานที่ แต่คาดกันว่า ผู้นำทั้งสองจะเจอกันในช่วงต้นปี 2019

ตั้งแต่ทรัมป์กับคิมออกถ้อยแถลงเมื่อคราวพบกันครั้งประวัติศาสตร์ที่สิงคโปร์ แสดงเจตนาที่จะ “ถอดถอนอาวุธนิวเคลียร์” เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายได้พูดจากันหลายครั้ง แต่การเจรจาไม่เกิดผลคืบหน้า

ถ้อยแถลงเมื่อเดือนมิถุนายน 2018 ระบุข้อตกลงเพียงกว้างๆ ว่า เกาหลีเหนือมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อให้เกิดการถอดถอนอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี และสหรัฐฯ จะให้หลักประกันความมั่นคงแก่เกาหลีเหนือ

ทำไมการเจรจาจึงไม่คืบหน้า ฝ่ายเปียงยางเพิ่งเสนอคำอธิบายเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เกาหลีเหนือขยายความอย่างชัดเจนถึงความหมายของคำว่า ‘denuclearization of the Korean Peninsula’

ขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯ ใช้คำว่า ถอดถอนนิวเคลียร์ ในความหมายของการปลดอาวุธทำลายล้างสูงของเกาหลีเหนือนั้น บทความที่เผยแพร่ผ่านสำนักข่าวเคซีเอ็นเอของเกาหลีเหนือบอกว่า วลีที่ว่านี้แปลว่า ภัยนิวเคลียร์ทุกรูปแบบต้องกำจัดออกจากพื้นที่ของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ รวมถึงพื้นที่โดยรอบที่เล็งเป้ามายังคาบสมุทรเกาหลี

แปลเป็นรูปธรรมก็คือ ฝ่ายที่ต้องปลดอาวุธไม่ได้มีแต่เกาหลีเหนือเท่านั้น มาตรการ ‘ร่มนิวเคลียร์’ ที่สหรัฐฯคุ้มครองญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์และเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ ก็ต้องยกเลิกให้หมดด้วย

เกาหลีเหนืออธิบายสาเหตุที่ตัวเองต้องพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ด้วยว่า เป็นเพราะนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ คุกคาม เมื่อถูกจ่อเล็งก็ต้องมีนิวเคลียร์ไว้ป้องปรามการโจมตี ดังนั้น ถ้าอเมริกาล้มเลิกร่มนิวเคลียร์ เกาหลีเหนือก็หมดความจำเป็นต้องเก็บอาวุธแบบนี้ไว้

นักสังเกตการณ์มองว่า คงเป็นไปไม่ได้ที่ทรัมป์ หรือไม่ว่ารัฐบาลอเมริกันชุดไหน จะยกเลิกนโยบายร่มนิวเคลียร์ ดังนั้น ท้ายที่สุด โลกอาจต้องยอมรับที่จะมีประเทศนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง

คงต้องจับตาดูว่า ก่อนครบกำหนดเจรจา 90 วัน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์  รัฐบาลทรัมป์จะบรรลุข้อตกลงการค้ากับจีนหรือไม่ ถ้าตกลงกันไม่ได้ สงครามการค้ารอบใหม่จะส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร

นอกจากนี้ ถ้าทรัมป์พบกับคิมจองอึนอีกรอบ การเจรจาจะจบลงด้วยการจับมือยิ้มแย้มออกสื่อ หรือว่ามึนตึงเข้าหากัน แล้วตามด้วยท่าทีแข็งกร้าวยิ่งขึ้นของแต่ละฝ่าย.

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , , , , ,