*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

หลายๆ คนคงเป็นแฟนคลับโปเกมอนกันมานานมากแล้ว ดิฉันเองก็ได้ดูตั้งแต่ที่ช่องเก้าการ์ตูนนำมาฉาย ตอนนั้นน่าจะสักแปดเก้าขวบ ดิฉันเป็นพวกสนใจสัตว์ประหลาดมาตั้งแต่เด็กแล้ว เวลาดูอุลตราแมน ก็ไม่ได้ถึงกับเชียร์สัตว์ประหลาด แต่ชอบฟังว่าตัวนั้นตัวนี้ทำอะไรได้มั่ง หรือมาจากไหน เพราะฉะนั้น ถึงปิกาจูจะน่ารักแค่ไหน และถึงแม้ซาโตชิจะชนะแทบทุกรอบที่แข่ง ดิฉันก็ชอบมองโปเกมอนตัวอื่นๆ มากกว่า  บางทีก็ชอบมองเทรนเนอร์คนอื่นๆ หรือเจ้าของยิม บางคนมีเรื่องราวน่าสนใจกว่าซาโตชิมาก เช่นซับเวย์บอสอิงโกกับเอ็มเม็ท (Subway Boss Ingo and Emmet หรือซับเวย์มาสเตอร์โนโบริกับคุดาริในเวอร์ชั่นญี่ปุ่น) หรือเบิร์ก เจ้าของยิมโปเกมอนแมลง ซึ่งเป็นดีไซเนอร์ (Berg หรือ อาร์ตี้ในเวอร์ชั่นอเมริกา) ฯลฯ

เมื่อได้ข่าวว่าจะมีภาพยนตร์เรื่อง POKÉMON Detective Pikachu หรือ โปเกมอน ยอดนักสืบปิกาจู ดิฉันจึงไม่พลาดที่จะไปดู และเชื่อว่าแฟนๆ ของโปเกมอนหลายคนคงได้ดูกันไปแล้ว ขณะที่บางคนอาจจะประทับใจที่ได้เห็นโปเกมอนตัวนั้นตัวนี้ที่ตัวเองชอบได้โลดแล่นอยู่ในหนัง บางคนก็ไม่ได้เห็นว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดี หรือมีคุณค่าขนาดนั้น สำหรับดิฉันแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าค่อนข้างน่าสนใจเมื่อเทียบกับการ์ตูนโปเกมอนหลายๆ ภาค และเหมือนจะชวนให้เราคิดเรื่องคำถามพื้นฐานของการ์ตูนและเกมโปเกมอน นั่นคือ ‘ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับโปเกมอน’ หรือในอีกแง่หนึ่ง ‘ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์’ ค่ะ

POKÉMON Detective Pikachu เริ่มต้นคล้ายเนื้อเรื่องการ์ตูนโปเกมอนทั่วไป เริ่มจากการจับสัตว์คู่หูและออกผจญภัย เพียงแต่ทิม กูดแมน (Tim Goodman) ตัวเอกไม่ได้อยากทำอย่างนั้น เขาไม่ได้มีความฝันเป็นโปเกมอนเทรนเนอร์อย่างที่ซาโตชิและคนอื่นๆ ในการ์ตูนมักจะเป็น ทิมมีความสุขดีกับการทำงานบริษัทประกันภัยเพื่อดูแลยาย เมื่อเพื่อนชวนให้ออกผจญภัยและจับโปเกมอน เขาออกไป แต่ก็ล้มเหลว ก่อนที่เขาจะกลับไปทำงานอย่างเดิม ก็มีคนมาแจ้งว่า แฮร์รี่ กูดแมน (Harry Goodman) พ่อของเขา ซึ่งเข้าเมืองไรม์ (Ryme City) ไปศึกษาโปเกมอนและกลายเป็นนักสืบนั้น ได้เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุรถตกสะพาน

เขาตัดสินใจเข้าเมืองเพื่อเก็บข้าวของจากแฟลตของพ่อโดยแทบไม่ได้แสดงท่าทีไว้อาลัยพ่อผู้ทิ้งเขาไปหาโปเกมอนตั้งแต่เขายังเด็ก แต่แล้วเขาก็เจอกับลูซี สตีเวนส์ (Lucy Stevens) กับไซดัค (Psyduck หรือโคดัคในฉบับญี่ปุ่น) นักข่าวฝึกงานที่ต้องการรู้ความจริงเกี่ยวกับการตายอันเป็นปริศนาของแฮร์รี ทิมไม่อาจตอบอะไรเธอได้ เขาได้เข้าไปสำรวจของในห้องของพ่อ และเจอหลอดบรรจุแก๊สพิษที่ทำให้เอปอม  (Aipom หรือเอปัมในฉบับญี่ปุ่น) อาละวาด และก็ได้เจอปิกาจูของแฮร์รี่ ซึ่งความจำเสื่อมแต่พูดภาษาคนได้ (โดยที่ทิมได้ยินแค่คนเดียว) ปิกาจูเชื่อมั่นว่าแฮร์รี่ยังไม่ตายและขอให้ทิมช่วยตามหา ทิมจำใจมีคู่หูเป็นปิกาจูทั้งๆ ที่ไม่ค่อยอยากเพื่อตามหาความจริงเรื่องพ่อ เขาได้เจอกับเฮาเวิร์ด คลิฟฟอร์ด (Howard Clifford) ชายชรานั่งรถเข็นผู้สถาปนาเมืองไรม์ให้เป็นเมืองสันติระหว่างคนและโปเกมอน เฮาเวิร์ดได้ขอให้ทิมและปิกาจูหาความจริงเรื่องแฮร์รี่ เพราะเขามีคลิปข่าวฉบับเต็มที่ชี้ให้เห็นว่ามิวทู (Mew Two) โปเกมอนชนิดใหม่ที่ธุรกิจเครือคลิฟฟอร์ดสร้างจากซากของมิว (Mew) โปเกมอนตัวแรกบนโลกนั้นทำให้รถตกสะพาน

เขาเตือนทิมให้ระวังโรเจอร์ (Roger Clifford) ลูกชายเขากับมิวทู ผู้จงใจบิดเบือนภาพข่าวให้คนเห็นว่าเป็นอุบัติเหตุ ทิมกับลูซีช่วยกันตามหาความจริงในฐานปฏิบัติการของเครือคลิฟฟอร์ด ทั้งคู่พบว่าแฮร์รี่อาจมีส่วนในการสร้างแก๊สพิษและสร้างมิวทู ปิกาจูก็พบว่าตัวเองช่วยปล่อยให้มิวทูออกมา จากนั้นทั้งคู่ก็ต้องผจญภัยไปในเฟสอื่นๆ และค้นพบความจริงบางอย่างที่รออยู่ตอนท้ายเรื่อง

ในขณะที่การ์ตูนโปเกมอนจะชวนให้เราเห็นการร่วมทุกข์ร่วมสุขของซาโตชิกับปิกาจู ที่อยู่ด้วยกันแทบจะตลอดเวลาและกลายเป็นชีวิตประจำวันอันมีสีสันของกันและกัน ทีนี้สิ่งที่ดิฉันคิดว่าหนังทำได้น่าสนใจ และน่าชวนคุยในคราวนี้คือการเริ่มเรื่องด้วยตัวละครที่ไม่ได้สนใจจะมีโปเกมอนเป็นของตัวเอง ไม่คิดจะไปจับอะไรมาเลี้ยง เขาเลือกใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็นจริงๆ ในโลกทุนนิยมและทิ้งความฝันในการผจญภัยเอาไว้ในส่วนลึก

จุดเริ่มต้นนี้ต่างจากโปเกมอนฉบับเด็กน้อยมากๆ มันชี้ชวนให้เราเห็นความแปลกแยกระหว่างวิถีชีวิตประจำวันแบบฉบับมนุษย์ออฟฟิศ กับโลกผจญภัยของโปเกมอน คล้ายว่าตัวเรื่องกำลังพุ่งเป้ามาที่คนดูกลุ่มวัยยี่สิบสามสิบปีที่เคยนั่งดูปิกาจู พูริน ฟูจิกิดาเนะ เมื่อยังเป็นเด็กน้อย และเติบโตเป็นมนุษย์เงินเดือนแบบเดียวกันกับทิม และเมื่อมีเกมอย่าง โปเกมอน โก ออกมาเราก็ไม่รีรอที่จะลงไปเล่น หากแต่ถ้ามันต้องแลกกับเวลาชีวิตมากเท่าที่ทิมต้องแลก เราก็อาจคิดหนักไม่ต่างกันกับเขาในตอนแรก แน่นอนว่าทิมอาจจะไม่เหมือนพวกเราหลายๆ คนที่ยังคงรักโปเกมอนและพร้อมจะปรับตัวเขาหามันเพื่อเติมเต็มความฝันวัยเด็ก

ในแง่การอยู่ร่วมกันของคนกับโปเกมอน การ์ตูนต้นฉบับดูพยายามจะวิพากษ์คนที่เอาแต่ใช้อำนาจ บ้าโปเกมอนแข็งแรงๆ ซึ่งวิธีแบบนั้นที่สุดแล้วมันไม่สามารถสู้กับความรักความผูกพันกับโปเกมอนแบบที่ซาโตชิมีได้ แต่สิ่งที่ภาพยนตร์นักสืบปิกาจูเล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เขากับปิกาจูไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นขนาดนั้น ตัวเรื่องพยายามเน้นย้ำความรักความผูกพันระหว่างสองตัวละครนี้ก็จริง แต่ผูกพันระหว่างโปเกมอนในเรื่องนี้ไม่ได้เกิดเพราะแพสชั่นที่คนมีต่อโปเกมอน แต่เป็นเพราะการมองเห็นว่าปิกาจูเป็นร่างกายที่จะได้รับความเจ็บปวด หรือกระทบกระทั่งจากความรุนแรงภายนอกไม่ต่างจากตัวเอง

ฉากที่ดิฉันเห็นว่าค่อนข่างสำคัญคือฉากที่ทิมเข้าไปช่วยปิกาจูตอนที่ต้องสู้กับชาริซาร์ด (Charizard ถ้าเป็นฉบับญี่ปุ่นจะใช้ชื่อว่าลิซาร์ดอน) ที่กำลังบ้าคลั่งเพราะฤทธิ์ยา ก่อนหน้านั้นทิมแนะนำปิกาจูก่อนจะสู้ว่า ท่าไหนจะเหมาะกับปิกาจูเมื่อต้องสู้กับชาริซาร์ด กลายเป็นว่าปิกาจูกลับลืมว่าจะต้องใช้ท่าเหล่านั้นยังไง ทิมต้องกระโดดลงไปช่วยปิกาจูเอง จะเห็นได้ว่าตัวเรื่องได้สร้างปิกาจูที่นอกจากจะพูดได้แล้ว ยังเป็นปิกาจูที่เป็นแค่ก้อนเนื้อที่ต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรง ไม่มีอาวุธ และไม่ใช่อาวุธของใคร การต่อสู้ระหว่างโปเกมอนในฉากนี้ถูกนำเสนอให้ดูเหมือนเป็นสถานที่ลับ อันตราย เหมือนสถานที่อโคจร เมืองไรม์แห่งนี้ไม่มียิมโปเกมอนให้เราเห็นเลย เมืองนี้มีกฎไม่ให้มีการจับโปเกมอนต่อสู้กันด้วยซ้ำ ราวกับว่าโครงเรื่องคราวนี้ ได้ข้ามผ่านการใช้โปเกมอนสู้กันตัวต่อตัวโดยตรงมาแล้ว และดูเหมือนจะวิพากษ์การสู้กันระหว่างเทรนเนอร์ในลักษณะของเกมกีฬาตามแบบการ์ตูนโปเกมอนปกติอีกด้วย

การเลือกใช้ฟอร์มหนังสืบสวนสอบสวนก็ควรต้องพูดถึงเช่นกัน เมื่อโครงเรื่องมีลักษณะของวรรณกรรมสืบสวนสอบสวน ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็หนีไม่พ้นการเดินตามขนบวรรณกรรมสืบสวนสอบสวนยุคเริ่มแรกอย่าง The Murder in the Rue Morgue (คดีฆาตกรรมบนถนนมอร์ก) ของเอ็ดการ์ อลัน โพ (Edgar Allan Poe) และเรื่องราวของเชอร์ลอค โฮมส์ (Sherlock Holmes) ซึ่งเขียนโดย เซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) นั่นคือการจัดฉากอยู่ในพื้นที่เมือง ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย แสดงให้เห็นการเติบโตของเศรษฐกิจที่มักจะพัวพันกับคดีที่เกิดขึ้นเสมอๆ เมื่อเรื่องราวการผจญภัยไม่ใช่การพิชิตรางวัล ไม่ใช่การปราบสัตว์ร้าย แต่เป็นการตามหาความจริงในพื้นที่เมืองอันน่าตื่นตาตื่นใจแต่แท้จริงแล้วบิดเบี้ยว การผจญภัยตามยิม หรือในพื้นที่ธรรมชาติ จับสัตว์มันไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว ตัวเรื่องกำลังพาเราไปดูด้านมืดหรือปัญหาของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับโปเกมอนมากกว่า

หากจะพูดถึงการจับคู่เข้าคู่กันของคนกับโปเกมอน เราอาจจะต้องพูดถึงเรื่องที่อาจจะน่าคิดบางอย่างในตอนจบ เมื่อมิวทูเฉลยว่านักสืบปิกาจูนั้นแท้จริงคือแฮร์รี่ กูดแมน (Harry Goodman) พ่อของทิมที่เขาและนับสืบปิกาจูตามหาอยู่ โดยที่จริงแล้ว มิวทูใช้พลังดึงจิตวิญญาณของแฮร์รี่มาอยู่ในร่างปิกาจู เพราะต้องการจะให้จิตของแฮร์รี่ไม่พังไปกับร่างที่ประสบอุบัติเหตุ (แต่มีผลข้างเคียงคือทำให้แฮร์รี่เสียความทรงจำ) ถ้าพูดกันแบบย่อๆ คือ ปิกาจูไม่ได้เป็นแค่คู่หู แต่เป็นพ่อตัวเอกเลยด้วยซ้ำ

เรื่องได้พยายามเชื่อมโยงการคืนดีกับพ่อกับการสานสัมพันธ์กับโปเกมอนไว้ในระนาบเดียวกัน เหมือนโปเกมอนเป็นญาติ เป็นมิตร ที่ขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องหวานชื่นอะไรต่อกันขนาดนั้น ตัวเรื่องพยายามชี้ให้เห็นการพยายามต่อรองระหว่างโปเกมอนกับคนอยู่บ่อยๆ การเดินเรื่องแบบสุขนาฏกรรม (Comedy) ซึ่งมักเน้นย้ำความประดักประเดิดขัดเขิน ก็ช่วยชี้ให้เห็นความไม่ราบรื่นนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ฉากหนึ่งที่หลายคนน่าจะจำได้คือฉากที่ลูซี สตีเวนส์ (Lucy Stevens) ขับรถพาทิมไปสังเกตการณ์ที่แล็บ ณ ตอนนั้น ทิมและปิกาจูก็ได้รู้ว่า ลูซีต้องเปิดเพลงสปาไปตลอดทาง ไม่อย่างนั้นไซดัค ของเธอจะระเบิด สุดท้ายปิกาจูก็ต้องมานวดแขนนวดเท้าให้คุณไซดัค ไม่อย่างงั้นจะระเบิดเอาได้ โปเกมอนไม่ได้เป็นเพียงสัตว์กึ่งอาวุธที่สถิตอยู่แต่ในโปเกบอลที่จะช่วยอำนวยความสะดวกกับเทรนเนอร์ได้มาก แต่ในภาพยนตร์ผู้เลี้ยง/คู่หู ของโปเกมอนต้องรับผิดชอบต่อสัตว์ของตัวเองมากกว่านั้น

เช่นเดียวกัน หากมองว่านี่คือความสัมพันธ์พ่อลูก ระหว่างแฮร์รี/ปิกาจู และ ทิม ก็ไม่ได้ราบรื่นตลอดรอดฝั่ง ต้องผ่านการเรียนรู้กันและกัน ถึงแม้จะใช้ภาษามนุษย์แล้วก็เถอะ นั่นไม่ได้รับประกันว่าจะเป็นคู่หูกันได้โดยง่าย

ตัวเรื่องเน้นย้ำถึงความไม่ตายตัวของความสัมพันธ์เพราะเกิดการตัดขาดระหว่างปิกาจูกับทิมอยู่บ่อยครั้ง ต่างฝ่ายต่างต้องเรียนรู้สภาวะอันเป็นจริงของตัวเอง ซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และไม่มีที่สิ้นสุด จากปิกาจูที่น่ารำคาญในสายตาทิม กลายเป็นคู่หู จากคู่หู กลายเป็นต้องแยกทางเพราะปิกาจูกลัวจะทำร้ายทิม จากนั้นก็กลายเป็นพ่อลูก ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกในตอนจบก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น สิ่งที่เรารับรู้ว่าเป็นจริงนั้นอาจไม่จริง และต้องตั้งรับเปลี่ยนวิธีเชื่อมสัมพันธ์ตลอดเวลา นี่คือแนวคิดที่สะท้อนความสัมพันธ์คนกับสัตว์ที่ควรจะเป็นได้ดีเช่นกัน แม้แต่นักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่อาจอ้างได้ว่ารู้จักสัตว์ทุกกระเบียดนิ้ว ถึงต้องศึกษาวิจัยกันต่อไป

การเลือกจับคู่ระหว่างโปเกมอนกับตัวละครก็นับว่าน่าสนใจ เช่นโปเกมอนคู่หูของเฮาวาร์ด คลิฟฟอร์ด ตัวละครที่มากับการเป็นนายทุนก็คือ ดิตโต (เมตามอน ในเวอร์ชั่นญี่ปุ่น) ดิตโตแปลงร่างเป็นอะไรก็ได้ และสามารถใช้พลังของโปเกมอนได้ทุกชนิด แต่ตัวดิตโตเองก็เผยให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองเป็นของปลอมเพราะดิตโตไม่สามารถทำตาของตัวเองให้เหมือนกับโปเกมอนอื่นได้ เฮาเวิร์ดเองก็เหมือนดิตโต เพราะเขาหลอกทิมว่าลูกชายเขากับมิวทูอาจอยู่เบื้องหลัง แถมยังซ่อนความจริงตัดต่อภาพหลอกทิมอีก แต่เรื่องนี้ก็เป็นเหมือนวรรณกรรมสืบสวนสอบสวนส่วนใหญ่ ที่สุดท้ายเรารู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังการหลอกลวง ที่สุดแล้วเราจะได้มองเห็นดวงตาของดิตโตในร่างปลอมๆ ของมัน (เวลาดิตโตแปลงร่างเป็นมนุษย์ในเรื่องนี้ ดิตโตจะสวมแว่นตาดำ)

ว่าถึงตรงนี้ดิฉันต้องพูดถึงอำนาจทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เฮาเวิร์ด คลิฟฟอร์ด และโรเจอร์ คลิฟฟอร์ด สองพ่อลูกต้องแข่งกันในระบบทุนนิยมปิตาธิปไตย พยายามสร้างชื่อ สร้างความเป็นใหญ่ในทางศีลธรรมจรรยาให้แก่ตัวเอง ทั้งสองคนรู้ตัวว่าเป็นเจ้าพ่อ เป็นนายทุนใหญ่เจ้าของสื่อชนิดที่สามารถบิดเบือนความจริงได้ แต่มันก็คงมีความรู้สึกผิดบางประการที่ทำให้ต้องโยนบาปกล่าวโทษกันไปมา ในสังคมทุนนิยมปิตาธิปไตย เรือนร่างที่ชราและป่วยของเฮาเวิร์ดไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีประโยชน์อะไรให้แก่ระบบทุน เป็นผู้ชายที่ร่างกายอ่อนแอเทียบกับลูกชายที่แข็งแรงกว่าไม่ได้ การโกหกว่าลูกชายเป็นคนก่อเรื่องและทำให้ตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์อาจเป็นตัวช่วยต่ออายุให้กับความชราของตัวเอง

เฮาเวิร์ดสวมบทพ่อพระ สร้างพื้นที่ให้คนกับโปเกมอนอยู่ด้วยกันได้ โดยไม่ต้องทำร้ายกัน (ดิฉันว่าทีมออกแบบฉากควรทำให้เห็นไปเลยว่าเมืองที่คนอยู่กับโปเกมอนได้เป็นยังไง ไม่ใช่ให้ไปปีนป้ายบ้าง เกาะสายไฟบ้าง ดิฉันคิดว่าเขาน่าจะให้เราได้เห็นอะไรที่ใช้จินตนาการ สร้างพื้นที่ที่คนไม่คุ้นเคย แต่อยู่ร่วมกับโปเกมอนได้ เช่น ท่ามกลางบ้านคน เราก็อาจจะเห็นบ้านโปเกมอนบ้างก็ได้) แล้วก็โกหกว่าลูกชาย นายทุนใหญ่อีกคน อาจจะมีแผนชั่วร้ายบางอย่าง คือสุดท้ายเราก็ได้รู้ว่าใครเป็นตัวร้ายจริงๆ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าโรเจอร์จะเป็นคนดีบริสุทธิ์ เพราะในตอนจบ เขาก็ยังเป็นนักธุรกิจหลงตัวเองอยู่ดี

นายทุนในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงตัวร้ายด้วยการหลอกลวง แต่ยังเป็นตัวร้ายต่อ ‘ธรรมชาติ’ (เรื่องนี้เหมือนจะให้ทุนเป็นตัวร้ายโต้งๆ ชัดๆ แต่ก็ไม่ได้ตั้งคำถามอะไรนอกจากจับคนร้ายอย่างเดียว ปัญหาต่างๆ ก็เป็นไปได้ว่ายังคงอยู่ เพราะโรเจอร์ก็อาจจะควบคุมสื่อเหมือนที่พ่อตัวเองตัดต่อภาพก็ได้) ฉากที่เราว่าเป็นฉากที่พูดถึงความน่ากลัวของทุนคือฉากที่ทิม ลูซี ปิกาจู และโกดัควิ่งหนีเกรนินจา ที่เฝ้าแล็บพัฒนาโปเกมอน ทั้งสี่วิ่งผ่านสวนทอร์แทร์ราที่ไต่เขาวุ่นวายไปหมด สุดท้ายแผ่นดินแยก จึงเห็นตาดวงโตเบ้อเริ่มข้างใต้นั่น ถึงได้รู้ว่าตัวเองยังหนีไม่พ้นสวนของทอร์แทร์ราเลย เพราะที่นี่เพาะเลี้ยงทอร์แทร์ราให้ใหญ่พิเศษ ผืนดินทั้งหมดตรงนั้นก็มาจากการทดลองเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจบางอย่างของพวกคลิฟฟอร์ดเอง  

ถ้าเรามองว่าทุนนิยมกำลังเปลี่ยนธรรมชาติเพื่อเพิ่มพูนกำไรให้ตัวเอง ฉากนี้กำลังบอกว่าเราไม่มีทางหนีมันพ้นเลย แม้แต่ในพื้นที่อันแสนห่างไกลจากเมือง ในพื้นที่อันมีลักษณะเป็นต้นไม้ ภูเขาลำเนาไพร ที่สุดแล้วเรากำลังวิ่งอยู่บนผลผลิตของทุนนิยมอยู่ดี ธรรมชาติที่เราเสพกันในบางพื้นที่ก็เป็นธรรมชาติที่ทุนนิยมได้รังสรรค์ขึ้น

และโปเกมอนที่ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ก็ไม่พ้นจะเป็นเพียงเครื่องมือของมนุษย์ แม้โปเกมอนบางตัวจะกลายเป็นเพื่อนคู่หูที่ประนีประนอมกับมนุษย์บางคนได้ตาม ยิ่งเมื่อเรารู้ภายหลังว่า เฮาเวิร์ดต้องการจะให้โปเกมอนที่เขาเพาะเลี้ยงเป็นเหมือนร่างเทียมให้คนพิการอย่างเขาได้ต่อชีวิตและกลายเป็นมิวทูผู้ทรงอำนาจ จากภาพของเมืองที่ปรับให้คนอยู่ร่วมกับโปเกมอนได้อย่างกลมกลืน สุดท้ายกลับกลายเป็นผลพวงของการทดลองเพื่อสืบทอดอำนาจให้แก่มนุษย์ และเห็นโปเกมอน ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต ‘ถูกพัฒนา’ และ ‘รองรับ’ ก้าวต่อไปของมนุษย์ การทำลายเส้นแบ่งระหว่างคนกับโปเกมอนแท้จริงเป็นไปเพื่อเสริมอำนาจของคนอยู่ดี

แต่สุดท้ายเราก็ได้เห็นว่าระหว่างคนกับโปเกมอนนั้นสื่อสารกันพอได้ แม้ไม่มีทางสมบูรณ์ ต่างฝ่ายต่างมีช่องว่างเพราะต่างเป็นอื่นต่อกัน แต่ก็ใช่ว่าจะเข้าใจกันไม่ได้เลย ฉากที่ทิมขอร้องให้บัลบาซอร์ (Bulbasaur หรือฟูจิงิดาเนะ ในฉบับญี่ปุ่น) ช่วยพาปิกาจูไปหาโปเกมอนที่รักษาโรคได้นั้นก็เป็นฉากที่ชี้ให้เห็นว่า มันพอจะเป็นไปได้ และอาจจะฟังดูโลกสวยไปมาก ที่คนกับสัตว์จะสื่อสารกัน  แต่หนังก็ได้ให้ภาพอย่างนั้น โดยเฉพาะในคู่ของทิมกับปิกาจู

(คำบรรยายภาพ: บัลบาซอร์)

อาจแย้งได้ว่า การเจรจาต่อรองระหว่างปิกาจูกับทิมตลอดทั้งเรื่องนั้นเป็นไปได้ (อย่างไม่ราบรื่นนัก) ก็เพราะปิกาจูพูดภาษาคนนี่นา แถมเพราะปิกาจูไม่ใช่ปิกาจู แต่เป็นพ่อของทิมอีกต่างหาก ถ้าอย่างงั้นปิกาจูก็เป็นแค่คนทรงสำหรับจิตวิญญาณแฮร์รี่หรือเปล่า จะต่างอะไรกับตอนที่เฮาเวิร์ดใช้มิวทูล่ะ

ดิฉันคิดว่าแฮร์รี่ในร่างปิกาจูไม่เหมือนกับเฮาเวิร์ดในร่างมิวทูหรอกค่ะ นอกจากจะแตกต่างกันที่ที่มาแล้ว (คนหนึ่งมิวทูใช้พลังรักษา อีกคนใช้สารเคมีควบคุมสัตว์) ยังแตกต่างกันตรงที่ คนดู หรือแม้แต่ปิกาจูเอง ก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใครจนจะจบเรื่อง พูดง่ายๆ คือปิกาจูก็เหมือนจะรู้ตัวเองว่าเป็นปิกาจู แต่ก็จำอะไรไม่ได้ จำท่าต่อสู้ก็ไม่ได้ ปิกาจูพูดทุกอย่างในฐานะกึ่งๆ อะไรสักอย่าง เหมือนชีวิตสัตว์ถูกแปลออกมาเป็นภาษาคน มีฉากหนึ่งที่ปิกาจูเพิ่งเจอกับทิมใหม่ๆ แล้วเดินคุยกัน ปิกาจูบอกทิมว่าที่ตัวเองไม่ใส่เสื้อผ้าเพราะเป็นคนทะลึ่ง (immodest)

แน่นอนแหละ คนดูก็ขำ ทำไมถึงขำ ก็สัตว์ทุกตัวมันก็ไม่สวมเสื้อผ้าอยู่แล้ว ความคิดเรื่องความโป๊เปลือยเป็นความคิดของคนอย่างเดียว (“สัตว์เปลือยโดยที่ไม่มีความคิดเรื่องเปลือย” ฌัคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida) นักคิดฝรั่งเศสได้เสนอไว้) แทนที่ปิกาจูจะไม่พูดเรื่องนี้ แต่พอพูดออกมาแถมให้เหตุผลว่าตัวเองชอบโป๊ๆ ไม่แคร์สังคม เหตุผลของสัตว์กลายเป็นเหตุผลของคน ความขัดกันตรงนี้กลายเป็นมุก ซึ่งชี้ให้เห็นด้วยว่าสถานะของปิกาจูตัวนี้ไม่ชัดเจน คนก็ไม่ใช่ สัตว์ก็ไม่เชิง อย่างน้อย ในสายตาคนดู ปิกาจูตัวนี้มันก็เป็นแค่ปิกาจูที่พูดได้ เราไม่รู้เลยว่ามันเป็นคนหรือเปล่า นอกจากการนำความคิดหรือพฤติกรรมแบบคนมาใช้ (ความโป๊เปลือย หรือการดื่มกาแฟเป็นต้น) เพราะฉะนั้น ตลอดเรื่อง เราจะเห็นปิกาจูเป็นปิกาจูที่ไม่และเก่งกาจแบบที่เรารู้จักในการ์ตูน และเราก็แค่เห็นว่ามันพูดได้ เรามารู้ทีหลังนี่เอง (รู้เพราะมิวทูบอกด้วย ปิกาจูก็ไม่ได้เฉลย) ว่าปิกาจูมีจิตของแฮร์รี่อยู่

ถึงปิกาจูมีจิตของแฮร์รี่ ปิกาจูก็ไม่ได้นำเสนอตัวเองเป็นสัตว์หรือคนอย่างชัดเจน ถึงจะดูเหมือนคนมากกว่าสัตว์ก็ตาม อย่างไรเสีย ดิฉันคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าปิกาจูเป็น ‘คน’ ปิกาจูเป็นคนแบบไหน ปิกาจูเป็นใครในหมู่มนุษย์ ที่ดิฉันถามคำถามนี้ก็เพราะว่าเรายังใช้กรอบความคิดแบบมนุษย์มองสัตว์อยู่ ไม่มากก็น้อย เราไม่อาจเข้าใจสัตว์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ นักชีววิทยาเขายังวิจัยกันอยู่เลยค่ะ ในเมื่อเรามีแต่ภาษามนุษย์ คำศัพท์ที่สะท้อนความคิดและบริบทแบบมนุษย์ ใช่ว่าการใช้กรอบคิดหรือภาษาแบบมนุษย์ไม่อาจสื่อสารให้สัตว์เข้าใจได้เสมอไป (ทิมยังพยายามสื่อสารให้บัลบาซอร์เข้าใจได้เลย) สิ่งที่เราต้องอ่านคือ เสียงของคนที่ให้สัตว์ไปเป็นเสียงใคร จินตนาการเกี่ยวกับสัตว์ที่เราสร้างขึ้นมันยังแสดงให้เห็นว่าเรามีอำนาจมากกว่ามัน ดีกว่ามัน ตัดขาดจากมันโดยสิ้นเชิงหรือเปล่า

นี่แหละค่ะคือสิ่งที่ดิฉันขอวิพากษ์

ยิ่งกว่านั้นแล้ว ทำไมต้องเป็นพ่อลูก ทำไมต้องเป็นผู้ชายกับผู้ชาย ดิฉันเบื่อการเป็นการ์ตูน/ภาพยนตร์สำหรับเด็กผู้ชายของโปเกมอนเต็มทนแล้ว คือเราไม่แน่ใจว่าเส้นแบ่งระหว่างการ์ตูนผู้หญิงการ์ตูนผู้ชายในญี่ปุ่นมันถูกท้าทายมากน้อยแค่ไหนแล้ว สุดท้ายเรื่องก็ยังส่งต่อแฟนตาซีแบบผู้ชายๆ ปิกาจูผู้เป็นคู่หูก็ต้องมีจิตของผู้ชาย มีเสียงผู้ชาย และที่สำคัญเป็นพ่ออีกต่างหาก สุดท้ายภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เน้นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างผู้ชาย (ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในสังคมชายเป็นใหญ่) ตัวเรื่องทำให้แม่กลายเป็นปิกาจูไม่ได้เหรอ ตัวเรื่องทำให้ลูซีกลายเป็นปิกาจูไม่ได้เหรอ ทำไมผู้หญิงถึงเป็นคู่หูของผู้ชายไม่ได้ ทำไมลูซีต้องเดทกับทิมตอนจบ ทำไมตัวละครผู้หญิงหลักๆ มีแค่แม่(ของแม่) และ(ว่าที่)เมีย

ถ้าจะให้เสียงอันครึ่งๆ กลางๆ แก่ปิกาจูเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ ทำไมต้องเป็นเสียงผู้ชาย ทำไมเรื่องต้องจบลงเพื่อสนองความต้องการผู้ชายที่จะได้ผจญภัยและทำงานไปพร้อมกัน หรือเป็นเพราะตั้งต้นว่าคนดูก็คือมนุษย์ผู้ชายในออฟฟิศที่โหยหาการผจญภัยและการต่อสู้ที่มากไปกว่าการรบกับงานที่มาเป็นตั้งๆ ศัตรูตัวจริงที่ทำลายตัวตนของผู้ชายเหล่านั้น ลดทอนคุณค่าของผู้ชายเหล่านั้นคือทุนนิยม (ซึ่งให้คุณค่ากับงานและเงิน เพิ่มกำไรให้นายทุน) และสังคมชายเป็นใหญ่ (ซึ่งชื่นชมผู้ชายที่แข็งแรง บุกทะลวงไปทุกที่) จนถึงตอนจบ ศัตรูเหล่านี้ยังไม่ถูกทำลาย สิ่งที่ถูกจับคือคนแต่ระบบยังไม่ถูกแก้ไข

และในอีกประเด็นหนึ่งดิฉันเองยังสงสัยเสมอว่า ขณะที่สัตว์อย่างโปเกมอนมีโอกาสที่จะได้พัฒนาความสัมพันธ์กับคนโดยที่มันไม่ได้เป็นเพียงฝ่าย passive (แม้ที่สุดแล้วยังมีระบบครอบอยู่แต่ก็มีผู้ที่ขบถได้สำเร็จ) แต่ในโลกความเป็นจริงภายใต้ระบบทุนนิยม เราจะรักสัตว์ได้สักแค่ไหน มันก็อาจจะฟังดูโลกสวยไปนิดที่จะบอกว่าเหมือนในหนังนั่นแหละ สัตว์ทุกตัวมันไม่ได้อยู่ภายใต้ระบอบทุนตลอดไป เพราะสุดท้ายแล้วมันก็กลายเป็นเรือนร่างที่มีสิทธิให้มันได้สื่อสารและให้ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้กัน เมื่อยามที่มีคนอยากรักอยากเลี้ยงและในที่สุดก็เปิดใจให้กับมัน  แน่นอนว่าการเรียนรู้เหล่านี้มันก็เป็นเหมือนการแกะเอาฉลากที่ตลาดแปะไว้กับสัตว์ที่เป็นสินค้าเหล่านี้ออก (เช่น หมาแมวน่ารักบ๊องแบ๊วในโฆษณา หมาเลี้ยงแกะแสนรู้ในภาพยนตร์) —ใช่ เราอาจจะพูดอย่างนั้นได้

แต่ก็นั่นแหละค่ะ ดิฉันเห็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ เรื่องคนฆ่าสุนัขของใครคนหนึ่งตามคำขอก่อนตายของเจ้าของ เพื่อจะได้พบกันในโลกหน้า เห็นแล้วดิฉันก็ตกใจ ระบอบทุนนิยมและการเติบโตของบริโภคนิยมในศตวรรษที่สิบเก้ามีส่วนสำคัญในการสร้างตลาดสัตว์เลี้ยงอย่างจริงจัง เกิดการประกวดสุนัขครั้งแรกในประเทศอังกฤษช่วงทศวรรษ 1850 เกิดธุรกิจเพาะพันธุ์สุนัข ผลิตอาหารสุนัข และอุปกรณ์สำหนับสุนัขตามมามากมาย การพูดถึงความรักต่อสุนัขและความเชื่อว่าสุนัขจงรักภักดีนั้นมีมาก่อนคริสตศตวรรษที่สิบเก้า เพราะทั้งมนุษย์เห็นสุนัขเป็นสัตว์ใช้งานใกล้ชิดมานาน ไม่ว่าจะใช้เฝ้าทรัพย์สมบัติ หรือล่าสัตว์

การเลี้ยงสุนัขเริ่มในหมู่เจ้าขุนมูลนาย และนำมาสู่การเขียนโคลงกลอนบรรยายความรักความอาลัยต่อสัตว์เลี้ยงในหมู่กวีเจ้าขุนมูลนายเหล่านั้น กลอนเหล่านี้ชื่นชมสุนัขด้วยว่าจงรักภักดี เปี่ยมด้วยความรัก แนวคิดด้านนี้เกี่ยวกับสุนัขเริ่มแพร่หลายในหมู่ชนชั้นกลางอังกฤษ ณ ช่วงเวลาที่บริโภคนิยมเติบโต เราอาจกล่าวได้ว่าสุนัขคือสินค้าแห่งความรักสำหรับลูกค้าหลายๆ คน เป็นสิ่งที่เขามองว่าจะต้องตอบสนองเขาในเลิกที่ความรักความภูมิใจในตัวเองน้อยลง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วสุนัขเป็นมากกว่านั้น

โชคร้ายที่ไม่ใช่ว่าผู้เลี้ยงสุนัขทุกคนจะเห็นด้านอื่นๆ ของสุนัขนอกจากตัวแทนแห่งความรักหรือความน่ารักสดใส แต่เห็นมันเป็นเครื่องส่งเสริมตัวตนของตัวเองในโลกไร้ความรัก เป็นเหมือนเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่คุณสรรหาเพื่อมาพยุงร่าง พอจะตายแล้วก็ขอพาสุนัขไปพยุงร่างตัวเองที่โลกหน้าอีก สุนัขมีสิทธิ์ในร่างกายของตัวเองหรือเปล่า หรือว่าไม่มี ความรักที่ระบบทุนโปรโมทก็มักจะเป็นความรักที่มนุษย์ทึกทักเอาเองข้างเดียวว่ามันจะรักเราไปตลอดกาล

ทั้งนี้ ดิฉันไม่ได้บอกว่าสุนัขรักไม่เป็น หรือไม่มีทางรักมนุษย์ ดิฉันแค่สงสัยว่าเราจะเข้าใจได้มากแค่ไหนว่าสุนัขรักเรามากหรือน้อย หรือสุนัขรู้สึกยังไง ความรักของสุนัขต่อคนเหมือนความรักของเพื่อนต่อเพื่อนไหม หากมองโลกในแง่ดี ระบบทุนนิยมก็ได้เปิดให้คนรู้สึกรักชอบสิ่งที่ค่อนข้างจะเป็นอื่นจากตัวเอง และได้เรียนรู้มันมากขึ้นหลังจากซื้อไป แต่ในขณะเดียวกัน ระบบทุนนิยมก็ทำให้เกิดคนแบบที่เห็นมันเป็นสินค้าที่จะรักเราไปตลอดจนถึงโลกหน้า โปเกมอนในท้องตลาดก็ตอบสนองเรื่องนี้แหละค่ะ ก็ใครจะไปเห็นสิทธิ์ในตัวโปเกมอนบ้างล่ะคะ มันเป็นการ์ตูน มันเป็นสินค้า มันไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ถึงแม้ว่ามันจะถอดแบบมาจากสิ่งมีชีวิตสารพัดชนิดทั่วโลกเลยก็ตาม

การรักโปเกมอนคงเป็นสิ่งที่คนเห็นว่าตลก เป็นรักอะไรเพ้อเจ้อไม่มีจริง แต่ดิฉันก็หวังว่าการ์ตูนโปเกมอนที่พูดถึงสัตว์ไม่จริงเหล่านี้ จะทำให้เรารักสัตว์ที่มีอยู่จริงๆ มองเห็นปัญหาที่ทุนนิยมกระทำต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สินค้าที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองโลกอันเต็มไปด้วยความแปลกแยกโดดเดี่ยว นั่นก็อาจจะทำให้เราเริ่มได้ยินเสียงสรรพสิ่งขึ้นมาจริงๆ ในวันหนึ่ง เหมือนทิม ที่จู่ๆ ก็ได้ยินเสียงของปิกาจู