สัปดาห์ที่แล้วมีวันสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมถึงสองวัน ได้แก่ วันสิ่งแวดล้อมโลกและวันมหาสมุทรโลก โดยปีนี้ต่างก็พุ่งเป้ารณรงค์เรื่องเดียวกันคือ มลพิษพลาสติก

โครงการมหาสมุทร (The Ocean Project) ซึ่งริเริ่มให้ 8 มิถุนายนเป็นวันมหาสมุทรโลกมาตั้งแต่ปี 2002 โฟกัสเรื่องป้องกันมลพิษพลาสติกและสนับสนุนวิธีแก้ปัญหาเพื่อสุขภาพที่ดีของมหาสมุทร

ขณะที่องค์การสหประชาชาติซึ่งประกาศให้ 5 มิถุนายนเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลกมานับตั้งแต่ปี 1974 ดูจะขึงขังกว่าเล็กน้อยในธีม ‘Beat Plastic Pollution’ พร้อมสโลแกน ‘If you can’t reuse it, refuse it’ ที่ชวนให้ขบคิดว่า ในทางปฏิบัติ หากผู้บริโภคอย่างเราๆ ไม่สามารถนำข้าวของพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำได้ จะปฏิเสธการใช้มันได้จริงหรือ และจะปฏิเสธได้สักกี่มากน้อย หรือต่อให้พกกระติกน้ำทุกครั้งที่ออกจากบ้าน แต่ในพื้นที่สาธารณะกลับไม่มีแหล่งน้ำดื่มสะอาดให้กรอกเติม เราก็ต้องซื้อน้ำดื่มบรรจุอยู่ดี

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร มลพิษพลาสติกก็เป็นประเด็นที่น่าห่วงจริงๆ และนับวันจะปรากฏหลักฐานหรือภาพถ่ายบ่งชี้ว่าสถานการณ์ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ไล่มาตั้งแต่แพขยะขนาดใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซากนกทะเลที่มีขยะพลาสติกเต็มท้อง ม้าน้ำเกาะเกี่ยวก้านคอตตอนบัต หลอดกาแฟในรูจมูกเต่าทะเล ไปจนถึงการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสัตว์ทะเลขนาดเล็ก น้ำประปา และเกลือ

ล่าสุดยังมีข่าวความตายสองกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันในช่วงต้นเดือนมิถุนายน หนึ่งคือวาฬนำร่องครีบสั้นซึ่งเกยตื้นในคลองนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และอีกหนึ่งคือเต่าตนุตัวน้อยซึ่งเกยตื้นบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

การผ่าซากชันสูตรแล้วพบขยะพลาสติกจำนวนมากในกระเพาะอาหารของสัตว์ทะเลเคราะห์ร้ายทั้งคู่ ไม่เพียงตอกย้ำความสาหัสของปัญหามลพิษพลาสติก แต่ยังกระตุกความรู้สึกว่า มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะเกิดเหตุในน่านน้ำไทยนี่เอง

การผ่าซากชันสูตรแล้วพบขยะพลาสติกจำนวนมากในกระเพาะอาหารของสัตว์ทะเลเคราะห์ร้ายทั้งคู่ กระตุกความรู้สึกว่า มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะเกิดเหตุในน่านน้ำไทยนี่เอง

ในฐานะที่พยายามลดการสร้างขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งมานานเกินสิบปี เราสังเกตว่า ผู้บริโภคเริ่มลุกขึ้นมาจัดการตัวเองในประเด็นนี้กันอย่างคึกคักก็เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ด้วยวิธีการหลากหลาย เช่น ปฏิเสธถุงพลาสติกหูหิ้วใหม่เอี่ยมด้วยการพกถุงผ้าหรือใช้ซ้ำถุงพลาสติกหูหิ้วใบเดิม พกกล่องข้าว ปิ่นโต หรือภาชนะล้างทำความสะอาดได้ไปใส่อาหารที่ซื้อ พกกระติกน้ำไปซื้อเครื่องดื่มร้อน-เย็น ปฏิเสธหลอดพลาสติกด้วยการดื่มจากแก้วหรือพกหลอดที่ล้างทำความสะอาดได้ ฯลฯ หรือรวมกลุ่มอาสาสมัครช่วยกันเก็บขยะพลาสติกตามชายหาด

ภาครัฐโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ค่อยๆ ขยับมาขอความร่วมมือ (แบบเกรงใจถึงขีดสุด) จากห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ งดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วแก่ลูกค้าในบางวันของสัปดาห์

ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาพากันเลือกทำในสิ่งที่เข้มข้นกว่า มหาวิทยาลัยมหิดลออกสตาร์ตเป็นแห่งแรกด้วยโครงการ ‘มหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติก’ ขอความร่วมมือจากร้านสะดวกซื้อในวิทยาเขตศาลายาและศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก งดให้บริการถุงพลาสติกตั้งแต่กลางปี 2559 ถ้าลูกค้าไม่เตรียมถุงมาเองก็ต้องบริจาคเงิน 2 บาทแลกกับถุงพลาสติกใบใหม่ หรือหยิบถุงพลาสติกใช้ซ้ำซึ่งได้รับบริจาค

ตามมาด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับโครงการ “Chula Zero Waste” ที่เริ่มมาตรการงดแจกถุงพลาสติกในร้านสหกรณ์และร้านสะดวกซื้อทั้งหมดภายในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ต้นปี 2560 โดยจัดเตรียมถุงผ้าหรือถุงพลาสติกใช้แล้วเป็นทางเลือกให้ลูกค้าหมุนเวียนหยิบใช้งาน และเก็บเงินค่าถุงพลาสติกใบใหม่

นอกจากนั้นก็มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และมหาวิทยาลัยอีกอย่างน้อยสองแห่งที่กระโดดเข้าร่วมขบวน

ความตื่นตัวทั้งหมดถือเป็นเรื่องน่ายินดีและสมควรสนับสนุนให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่…

หากจะรบกับมลพิษพลาสติก – ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยิ่งใหญ่ระดับ ‘วาระแห่งโลก’ และเป็นโจทย์ท้าทายที่สุดของมนุษยชาติ – แต่เรายังสาละวนกันอยู่แค่ควบคุมการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและอุปกรณ์กินดื่มพลาสติกที่ปลายทาง ย่อมไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทันเวลา

เพราะยังมี ‘ว่าที่’ ขยะพลาสติกอีกปริมาณมหาศาลซึ่งหลั่งไหลออกจากโรงงานอุตสาหกรรมในรูปของบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม

ทางเดียวที่จะต่อกรกับมันได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ คือต้องคิดทั้งระบบและมองย้อนไปให้ถึงต้นทาง ให้เห็นว่าการออกแบบและการผลิตซึ่งเกี่ยวพันกับพลาสติกแบบเดิมๆ สร้างปัญหาต่อพื้นที่ธรรมชาติ สัตว์ป่า สัตว์ทะเล และวนกลับมาคุกคามสุขภาพของผู้คนอย่างไรบ้าง

ยุทธวิธีนี้ออกจะเกินศักยภาพของผู้บริโภคทั่วไป แต่มันเป็นบทบาทสำคัญของภาคเอกชนและผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย

โดยหลักพื้นฐาน รัฐบาลทั่วโลกมีหน้าที่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนจากมลพิษพลาสติกด้วยการสนับสนุนกระบวนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งในบางครั้งก็ต้องใช้ข้อบังคับทางกฎหมายที่เคร่งครัดเข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในวงกว้าง รวมถึงจัดสรรงบประมาณเพื่อค้นคว้าวิจัยวัสดุทนแทนพลาสติก เช่น พลาสติกชีวภาพ (bioplastic) จากพืช

ยังมี ‘ว่าที่’ ขยะพลาสติกอีกปริมาณมหาศาลซึ่งหลั่งไหลออกจากโรงงานอุตสาหกรรมในรูปของบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม

พลาสติกชีวภาพเหล่านี้ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติหลากหลาย เช่น เซลลูโลส เคซีน (casein) หรือโปรตีนจากนม และโปรตีนจากถั่ว แต่ที่ได้รับความนิยมมากสุดคือแป้งและน้ำตาล เนื่องจากพบในข้าวโพด ข้าวสาลี อ้อย มันฝรั่ง มันเทศ และมันสำปะหลัง ซึ่งมีปริมาณมากและราคาค่อนข้างถูก

ปัจจุบันมีเอกชนในประเทศไทยที่ผลิตบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพกันบ้างแล้ว แต่มักเน้นส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศมากกว่าขายในประเทศ หากรัฐบาลช่วยสนับสนุนจริงจังให้เกิดการใช้งานแพร่หลายในเชิงพาณิชย์ก็น่าจะดีไม่น้อย

สุดท้ายนี้ องค์การสหประชาชาติซึ่งอยากให้วันสิ่งแวดล้อมโลกเป็นจุดเปลี่ยนที่จะสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คิดค้นนวัตกรรม นักรณรงค์ และผู้นำประเทศ ยืนยันว่า ในสนามรบของมลพิษพลาสติก เราจะลงมือแค่เก็บกวาดซากขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวไม่ได้ ต้องให้ความสำคัญกับการหาช่องทางสร้างความเปลี่ยนแปลงในการใช้พลาสติกที่ต้นทางควบคู่ไปด้วย

…ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่รู้เลยว่า เรื่องสร้างสรรค์พรรค์นี้จะมีโอกาสเกิดขึ้นในบ้านเราหรือไม่ เอาเข้าจริงผู้นำของเราอาจไม่อยากลุกขึ้นมาสู้รบกับมลพิษพลาสติกเลยก็เป็นได้

Tags: , , , ,