ไม่ใช่ความผิดของทุนนิยมหรือเพราะความไม่ทันสมัยในบ้านเรา หากก็ยอมรับโดยดุษณีว่าเมื่อพูดถึง ‘ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก’ แทนที่จะเป็นชื่อของนักออกแบบอย่าง Anna Castelli Ferrieri หรือ Vico Magistretti เรากลับนึกได้แต่สินค้าจากร้านทุกอย่าง 20 บาท หรือถ้าอยู่กรุงเทพฯ ก็อาจจะเป็นร้านทุกอย่าง 60 บาทโดยแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่น ภาพจำของพลาสติกในชีวิตประจำวันเราจึงหนีไม่พ้นแก้วน้ำพลาสติกสีฉูดฉาดจากร้านอาหารตามสั่ง กล่องใส่กระดาษทิชชูม้วนทรงมนที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมบนโต๊ะอาหาร หรือกล่องสี่เหลี่ยมใสใส่ของสัพเพเหระ และบรรจุภัณฑ์อีกมากมายที่เราแทบไม่เคยหยุดพินิจรูปร่างของมันในแง่สุนทรียะหรือในฐานะงานดีไซน์

การได้มาชมนิทรรศการ Plastic Fantastic นิทรรศการที่อุทิศให้กับภูมิปัญญาของมนุษย์ในการคิดค้นและออกแบบผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ที่ D Museum ในย่าน Yonsan-gu ของกรุงโซล จึงทำให้เราตระหนักว่าโลกของพลาสติกหาได้มีแค่ข้าวของที่เราคุ้นชินในชีวิตประจำวัน แต่ยังมีงานออกแบบอันสวยเฉียบจำนวนนับไม่ถ้วนโดยดีไซน์เนอร์ระดับโลก และงานต้นแบบอีกมากมาย (ที่เราอาจเคยผ่านตาจากบทความในนิตยสาร art4d, Wallpaper หรือข้อเขียนของประชา สุวีรานนท์ และภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์) ก่อนที่ผลงานเหล่านี้จะถูกต่อยอดให้กลายเป็น mass product เพื่อที่สุดแล้วจะกลายร่างมาเป็นแก้วน้ำพลาสติกสีเจ็บๆ รอคุณยกจิบในร้านอาหารตามสั่งใกล้ที่ทำงาน

D Museum เป็นพิพิธภัณฑ์ในเครือ Daelim Cultural Foundation เพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2015 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเพียงนิทรรศการหมุนเวียนหนึ่งงานต่อช่วงฤดูกาล (ระยะเวลา 3-4 เดือน) ความน่าสนใจคือ ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยที่พยายามนำเสนองานสร้างสรรค์แบบจับต้องได้ ไม่อาร์ตจ๋า มีคาแร็กเตอร์แบบพิพิธภัณฑ์ออกแบบ หากก็มีชั้นเชิงในการเล่าเรื่องและนำเสนอที่เปี่ยมไปด้วยบรรยากาศของงานทดลองและศิลปะ

เปรียบเทียบแบบใกล้ตัว เราว่านี่คือนิทรรศการที่ให้อารมณ์คล้ายนิทรรศการของ TCDC ในยุคแรกเริ่ม คือเป็นนิทรรศการที่เริ่มต้นจากโจทย์ที่เป็นสิ่งของหรือวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว สืบสาวต้นตอ ก่อนจะค่อยๆ ร้อยเรียงกิ่งก้านสาขา เพื่อโยงกลับเข้ามาสู่ความสนใจรวมหมู่ของผู้ชมส่วนใหญ่ หรือประสบการณ์อันคุ้นเคยในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไป

นิทรรศการ Plastic Fantastic โหมโรงบรรยากาศอย่างน่าตื่นตาด้วยทางเดินที่ห้อมล้อมด้วยแผ่นพลาสติกคล้องด้วยห่วงอลูมิเนียมที่ถูกร้อยต่อกันจนเป็นมู่ลี่ แขวนเรียงอย่างต่อเนื่องล้อกับแสงไฟไปตลอดบันไดทางลง เชื่อมพื้นที่ต้อนรับส่วนหน้าไปสู่พื้นที่นิทรรศการที่อยู่ชั้นล่าง

นิทรรศการแบ่งออก 6 เซ็กชัน เริ่มต้นจาก ‘The Beginning of A Dream’ ที่พาเราไปยังยุคสมัยของการคิดค้นพลาสติกผ่านการจำลองห้องแล็บวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 19

เซ็กชันที่ 2 และที่ 3 (‘Bring Colors to Domesticity’ และ ‘Molding New Living’) บอกเล่าผลพวงจากประสิทธิภาพในการปรับเปลี่ยนรูปทรงได้แทบไร้ข้อจำกัด และการถูกสวมทับด้วยสีสันต่างๆ ส่งผลให้พลาสติกมีบทบาทในการเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมการออกแบบครั้งสำคัญในศตวรรษที่ 20 (เข้าไปแทนที่เหล็กในรถยนต์ แก้ว และกระจกในข้าวของเครื่องใช้และหน้าต่าง และแทนที่ไม้ในงานเฟอร์นิเจอร์)

เซ็กชันที่ 4 ‘Design Becomes Everyday Landscape’ นำเสนอความหรูหราของพลาสติกในแง่มุมของวัตถุดิบสุดล้ำ ที่นักออกแบบชั้นนำในศตวรรษก่อนนำมาใช้ในการออกแบบ พร้อมไปกับการจัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ที่เป็น masterpiece ของพวกเขาเหล่านั้น

ส่วนเช็กชันที่ 5 ‘When Designers Dream’ ซึ่งยังคงย้ำความหรูหราของงานออกแบบจากพลาสติก ด้วยการจัดแสดงชุดเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากพลาสติกโปร่งใสบนแท่นวงกลมซึ่งหมุนเองได้ คล้ายม้าหมุนที่มีเก้าอี้ Ghost chairs รุ่นต่างๆ หลายสิบตัวตระหง่านต้องแสงไฟ ค่อยๆ หมุนวนอวดโฉมราวกับเป็นนางงาม ต่อด้วยห้องโถงที่มีวิดีโอบทสัมภาษณ์เหล่านักออกแบบชั้นนำที่พูดถึงแรงบันดาลใจการออกแบบผลงาน masterpiece ของพวกเขา เช่น Phillippe Starck พูดถึงงานพลาสติกโปร่งแสงไร้รอยต่ออย่าง La Marie นักออกแบบ Antonio Citterio เล่าถึงตู้ลิ้นชักติดล้อ Mobil และนักออกแบบ Piero Lissoni ที่โด่งดังจากการพัฒนางานออกแบบจากไฟเบอร์กลาส จนกลายมาเป็นเก้าอี้ดีไซน์สวยจับใจอย่าง Piuma

เซ็กชันสุดท้าย ‘Constantly Evolving’ เป็นวิดีโอบทสรุปของนิทรรศการที่เริ่มเล่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นของพลาสติกจนถึงการหลอมรวมเข้ากับวิถีชีวิตร่วมสมัยของผู้คนจากทั่วโลก และสรรเสริญศักยภาพของวัตถุดิบ (ที่คิวเรเตอร์เขียนอธิบายเสียหรูหราว่าเป็นวัตถุดิบอันไร้ข้อจำกัดทางจินตนาการ)

แม้เนื้อหานิทรรศการจะให้น้ำหนักไปทางกระบวนการออกแบบและสรรเสริญผลงานจากนักออกแบบจนว่าไปก็คล้ายการโฆษณาแฝงขายเฟอร์นิเจอร์ แต่นั่นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะสปอนเซอร์หลักของงานนี้คือ Kartell แบรนด์จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังจากอิตาลี

กระนั้นนิทรรศการนี้ก็ยังนับว่ายอดเยี่ยม จากวิธีการจัดแสดง แสง เฉดสี และที่ว่าง รวมทั้งกิมมิกทางการตบแต่งพื้นที่และทางเดินที่คิวเรเตอร์หยิบอัตลักษณ์ของพลาสติกมาใช้ได้อย่างแพรวพราว อาทิ มู่ลี่พลาสติกบริเวณทางเข้า (ที่ได้กล่าวไปแล้วตอนต้น) การจัดวางแสงและสีให้สอดรับกับความโปร่งใสของพลาสติกผ่านทางเดินเชื่อมโถงนิทรรศการที่มีเพดานเป็นพลาสติกใส เหนือขึ้นไปคือผลิตภัณฑ์จากพลาสติกหลากสีที่เมื่อต้องแสงสปอตไลต์ สีสันเหล่านั้นก็ลอดผ่านเพดานมาตกกระทบยังทางเดินสร้างมิติโปร่งแสงอันฉูดฉาด

รวมทั้งห้องที่ดูเหมือนรายล้อมไปด้วยกระจกทุกมุมด้าน แต่เมื่อมองดีๆ จะพบว่าเงาสะท้อนที่เราเห็นนั้นมาจากแผ่นอะคริลิก และห้องในเซ็กชันสุดท้ายที่ทางเดินถูกกั้นด้วยม่านพลาสติกกันอากาศ แบบที่เราคุ้นเคยในโรงงานหรือตลาดสดโดยมีแสงสีน้ำเงินชวนฉงนส่องผ่านม่านเหล่านั้น กลายเป็นทางเดินวงกตที่ปลายสุดห้องคือวิดีโอบอกเล่าบทสรุปของนิทรรศการ เป็นงาน Installation art ที่แฝงอยู่ในนิทรรศการเชิงความรู้ได้อย่างเฉียบเท่

Plastic Fantastic จึงเป็นนิทรรศการที่ไม่ว่าคุณจะมาดูเพื่อหาข้อมูลความรู้ก็ได้รู้ มาชมงานมาสเตอร์พีชระดับโลกก็ได้เห็น หรือแค่มาเพื่อหามุมสวยๆ ถ่ายรูปก็ยังไม่ผิดหวัง

Fact Box

นิทรรศการจัดแสดงถึงวันที่ 4 มีนาคมนี้ ค่าบัตรเข้าชมงานคนละ 8,000 วอน (ประมาณ 235 บาท)

D Museum เปิดวันอังคาร – อาทิตย์ 10.00 – 18.00 น. (เสาร์-อาทิตย์เปิดถึง 20.00 น.) พิพิธภัณฑ์อยู่ในย่าน Yongsan-gu อยู่ห่างจากย่านฮิปอย่าง Itaewon อยู่สามป้ายรถเมล์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.daelimmuseum.org/dmuseum

Tags: , , ,