ย้อนไปเมื่อประมาณ 11-12 ปีที่แล้ว ภาพถุงร้อนใส่ส้มตำ ซุปหน่อไม้ น้ำตก ฯลฯ จากรถเข็นหน้าออฟฟิศที่กลายมาเป็นขยะพลาสติกกองย่อมๆ บนโต๊ะอาหารกลางวันหลังจากบรรจุอาหารไม่เกินห้านาที คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราในฐานะนักเขียนสารคดีสิ่งแวดล้อมฉุกคิดถึงความไม่คุ้มค่าในการใช้งานถุงพลาสติกแต่ละใบ แถมยังเป็นขยะตกค้างไปอีกหลายร้อยปี จากวันนั้นเองเราจึงตัดสินใจเริ่มต้นลงมือ ถือจานชามไปซื้ออาหารในรัศมีเดินใกล้และพกปิ่นโตไปซื้ออาหารที่ต้องเดินทางไกล

จากนั้นก็พยายามลด ละ เลี่ยงการสร้างขยะพลาสติกชีวิตเดียว (Single Use Plastic) จากกิจวัตรกินดื่มมาเรื่อยๆ โดยมีมิชชั่นการเขียนหนังสือโลกใบเขียวของคิ้วหนา’ (ตีพิมพ์เมื่อ .. 2552) ที่บอกเล่าปฏิบัติการลดขนาดรอยเท้าทางนิเวศของตัวเองเป็นแรงผลักดันระลอกสอง และความอยากท้าทายตัวเองเป็นแรงจูงใจลำดับถัดมา 

แม้ทุกวันนี้จะพกกล่องใส่อาหารเช้าออกจากบ้าน พกกระติกน้ำส่วนตัว ปฏิเสธหลอดเมื่อเข้าร้านอาหาร ใช้ซ้ำถุงพลาสติกหูหิ้ว ฯลฯ แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ชีวิตขยับไปถึงระดับปลอดพลาสติกได้เลย

ดังนั้น เมื่อเห็นแคมเปญ ‘Plastic Free July’ ที่มูลนิธิ Plastic Free ประเทศออสเตรเลีย ปล่อยออกมาเป็นปีที่สองหลังจากได้เสียงตอบรับดีในปีที่แล้ว เพื่อจุดกระแสรณรงค์ระดับสากลให้คนทั่วโลกร่วมมือแก้ปัญหามลพิษพลาสติกผ่านการลดการใช้และลดการสร้างขยะพลาสติกชีวิตเดียว ในชีวิตประจำวันเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม เราจึงกระโดดเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวโดยไม่รอช้า (แม้มันจะไม่คึกคักเลยในบ้านเรา) เพราะถือเป็นโอกาสดีที่จะสำรวจการสร้างขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้งให้ถ้วนถี่ พร้อมกับทบทวนพฤติกรรมตัวเองว่ามีส่วนสร้างขยะพลาสติกกี่มากน้อย 

เมื่อตั้งใจกับเป้าหมายใหม่แล้ว อะไรที่เคยหย่อนๆ ผ่อนๆ ไปบ้างก็จะต้องเข้มงวดขึ้นอีกครั้ง แต่เพียงวันแรกขยะพลาสติกก็โผล่มาแล้วสี่ชิ้น

สองชิ้นแรกเกิดขึ้นช่วงเช้ามืดระหว่างขับรถไปออกกำลังกาย เพราะเลือกดื่มนมรองท้อง จึงสร้างขยะกล่องนมและหลอดดูดอย่างง่ายดาย แม้เราจะมีหลอดซิลิโคนที่ล้างทำความสะอาดได้ แต่มันไม่สะดวกในการใช้งานกับเครื่องดื่มในกล่องเท่าไร เพราะต้องฉีกหรือตัดมุมกล่องให้กว้างพอกับขนาดอ้วนๆ ของหลอด ถ้าจะไม่ใช้หลอดที่แพ็กติดมาข้างกล่องนมจริงๆ ก็ต้องตัดกล่องนมก่อนออกจากบ้าน ไม่ใช่คว้าขึ้นรถแล้วมาเจาะดูดอย่างที่เราทำ ซึ่งต้องอาศัยการคิดวางแผนล่วงหน้านิดนึง

ชิ้นที่สามโผล่มาเมื่อกลับถึงบ้านในช่วงค่ำ มันคือซองอาหารแมวเอ่อ เลี้ยงดูกันมาสามปี เพิ่งคิดได้ว่า เธอก็มีส่วนสร้างขยะพลาสติก โดยเฉพาะจากบรรจุภัณฑ์อาหารเม็ด อาหารเปียก และขนม ให้เราต้องรับผิดชอบจัดการด้วยเช่นกัน

ชิ้นสุดท้ายของวันแรก (และเป็นชิ้นสุดท้ายของเกือบทุกวัน) คือไหมขัดฟันที่ใช้งานหลังแปรงฟันก่อนเข้านอน

ขอสารภาพตามตรง ที่ผ่านมาเราใช้ไหมขัดฟันใช้แล้วทิ้งโดยไม่เคยคิดอะไรเลย เพิ่งตระหนักว่ามันย่อยสลายไม่ได้เพราะผลิตจากเส้นใยไนล่อนหรือพลาสติกสังเคราะห์ก็วันนี้เอง และเกือบทุกยี่ห้อที่วางขายก็ใช้วัสดุแบบเดียวกันเสียด้วย

เมื่อลองค้นหาสิ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า ก็พบข่าวดีว่าในบ้านเรามีไหมขัดฟันที่ผลิตจากเส้นใยไหมธรรมชาติ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้และผ่านการพัฒนาจนมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับไหมขัดฟันใยสังเคราะห์ที่วางขายในท้องตลาดแล้ว จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและต้องหาซื้อมาทดลองใช้งานบ้าง

วันที่สองของภารกิจ Plastic Free July ช่วงเย็นหลังเลิกงานเราแวะกินก๋วยเตี๋ยวและจ่ายตลาดในซูเปอร์มาร์เก็ตค้าส่ง ทำให้สร้างขยะพลาสติกขึ้นมาอีกสี่ชิ้น!! จากซองพลาสติกใส่ตะเกียบไม้ โฟมห่อกะหล่ำปลีสองชิ้น ถุงพลาสติกใส่ผักชั่งน้ำหนักอีกหนึ่งใบ

มันทำให้ต้องจำว่า ก๋วยเตี๋ยวร้านนี้ไม่ได้ใช้ตะเกียบพลาสติกที่ล้างใช้ซ้ำได้ เมื่อกลับไปอุดหนุนครั้งต่อๆ มา เราจึงพกตะเกียบส่วนตัวหรือขอช้อนส้อมจากคนขาย แม้ไม่ได้อรรถรสเท่าการคีบเส้นเข้าปาก แต่ก็ยอมแลก เพราะลดขยะพลาสติกได้หนึ่งชิ้นและขยะตะเกียบไม้ได้สองชิ้นเลย

ส่วนถุงพลาสติกบางเฉียบที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเตรียมไว้ให้ลูกค้า เราเตรียมรับมือด้วยการพกถุงพลาสติกใช้แล้วมาเองในครั้งต่อไป 

วันที่สาม สี่ ห้าการสังเกตและรวบรวมขยะพลาสติกยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ นอกจากทำให้เห็นความจริงที่ว่า พลาสติกเดินพาเหรดเข้ามาในชีวิตเราทุกวัน การตั้งข้อสงสัยกับที่มาที่ไปของพลาสติกเหล่านั้น ยังทำให้เราพบเจอกับประเด็นน่าสนใจ 6 ประการ พอสรุปได้ดังนี้

ประการที่ 1 ราวๆ ร้อยละ 75-80 ของขยะพลาสติกที่เราล้างทำความสะอาดและเก็บไว้ (ไม่มีไหมขัดฟันนะ เพราะใช้แล้วทิ้งโลด) ตลอดหนึ่งเดือน คือบรรจุภัณฑ์ของอาหารและเครื่องดื่มจากระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม ตั้งแต่ระดับครัวเรือน กลุ่มโอท็อป ไปจนถึงโรงงานทันสมัยใหญ่โต 

โดยอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้มักผลิตล่วงหน้าและใช้เวลานานกว่าจะเดินทางถึงปากท้องของคนกิน ผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องเลือกใช้บรรจุภัณฑ์คุณสมบัติเหมาะสม ทั้งที่เป็นพลาสติกล้วน เช่น โพลิเอทิลีน โพลีโพรพิลีน ฯลฯ และที่เป็นพลาสติกผสมวัสดุอื่น เช่น พลาสติกลามิเนตที่เป็นการเคลือบฟิล์มพลาสติกบนกระดาษหรืออะลูมิเนียมฟอยล์ เพื่อรักษาคุณภาพ รสชาติ ลักษณะเด่นของอาหารและเครื่องดื่มให้ได้มากที่สุด หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดในระหว่างรอการซื้อไปบริโภค

เมื่อเราตัดสินใจซื้ออาหารและเครื่องดื่มเหล่านั้น หรือได้รับเป็นของฝากจากญาติสนิทมิตรสหาย ก็เท่ากับเรากำลังสร้างขยะพลาสติกบรรจุภัณฑ์โดยมิอาจหลีกเลี่ยง และต้องไม่ลืมว่า อาหารของสัตว์เลี้ยงสุดเลิฟก็มาพร้อมบรรจุภัณฑ์เทือกนี้เช่นกัน

ประการที่ 2 อาหารและเครื่องดื่มพร้อมรับประทาน เช่น นม โยเกิร์ต ฯลฯ หรือเกือบพร้อมรับประมาณ เช่น อาหารแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในถ้วย นอกจากบรรจุตัวเองอยู่ในภาชนะพลาสติก ยังมักแถมอุปกรณ์กินดื่ม เช่น ช้อนส้อมพลาสติก หลอดพลาสติก ฯลฯ มาด้วย

ต่อให้เราไม่ใช้ เพราะมีอุปกรณ์กินดื่มส่วนตัวหรือตั้งใจซื้อกลับมารับประทานที่บ้าน ก็ยากจะปฏิเสธ หรือถ้าใช้แล้วจะล้างเพื่อเก็บไว้ใช้ซ้ำ มันก็มิได้แข็งแรงทนทานนัก และในกรณีของหลอดพลาสติกที่มาพร้อมนมหรือน้ำผลไม้บรรจุกล่อง พวกมันมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 4 มิลลิเมตร ซึ่งค่อนข้างยากต่อการล้างให้สะอาดเพื่อใช้งานซ้ำ

ประการที่ 3 ไม่ใช่ซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่งที่จะสนับสนุนความพยายามลดใช้พลาสติกชีวิตเดียวของลูกค้า บางแห่งยินยอมให้เราพกกล่องพลาสติกเข้าไปใส่ของสด เช่น เนื้อสัตว์ กุ้ง ปลา ไปจนถึงสลัดบาร์ แต่บางแห่งพนักงานไม่สะดวกใจให้เราทำเช่นนั้น โดยให้เหตุผลว่า เพื่อป้องกันการตักสินค้าเพิ่มหลังจากชั่งน้ำหนักและแปะสติ๊กเกอร์ราคาบนฝากล่องแล้ว เพราะไม่สามารถผนึกฝากล่องได้ก่อนการชำระเงิน ต่างจากถุงพลาสติกแบบางเฉียบที่ซูเปอร์มาร์เก็ตจัดเตรียมไว้ ซึ่งพนักงานใช้สก๊อตเทปสีรัดปากถุงได้ง่ายดาย

ในแง่นี้ การซื้อเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ในตลาดสด เราสามารถลดการรับถุงพลาสติกใบใหม่ได้ง่ายกว่า เพราะเมื่อเลือกสินค้า ส่งให้ชั่งน้ำหนัก คิดราคา และจ่ายเงินกับพ่อค้าแม่ค้าแต่ละแผง เราสามารถยื่นกล่องหรือถุงพลาสติกใช้ซ้ำให้เขาใส่ของให้ได้ทันที และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยเจอท่าทีอิดออดของผู้ขายเลยสักครั้ง เพียงแต่เราต้องวางแผนการจ่ายตลาดสักหน่อย เพื่อจะได้พกภาชนะไปให้เพียงพอกับของที่จะซื้อ

อย่างไข่ไก่ไข่เป็ด ถ้าซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตต้องบรรจุมาในกล่องกระดาษ แผงกระดาษครอบฝาพลาสติก หรือแผงพลาสติกใสพร้อมฝาปิด แต่ถ้าไปตลาดสด เรามีโอกาสเจอแผงไข่พลาสติกแบบที่ค่อนข้างแข็งแรงทนทาน ซึ่งสามารถซื้อไข่ยกแผงและส่งคืนเพื่อเวียนใช้ซ้ำได้ หรือกรณีซื้อจำนวนน้อย เราสามารถเตรียมถุงพลาสติกรองก้นด้วยกระดาษหรือฟางกันกระแทกไปใส่เองได้ และก็เก็บไว้ใช้ซ้ำสำหรับการซื้อครั้งต่อๆ ไป

ประการที่ 4 พกกระติกหรือแก้วน้ำส่วนตัวออกนอกบ้าน ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ แต่ก็ยังมีโอกาสสร้างขยะจากขวดน้ำพลาสติกอยู่ดี ในกรณีที่เราไม่พบจุดเติมน้ำดื่มสะอาดระหว่างวัน

ขวดน้ำพลาสติก 1 ขวด หมายถึงขยะพลาสติกอย่างน้อย 3 ชิ้น ได้แก่ ขวด ฝา และฉลาก ยังดีที่ประเทศไทย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เจรจากับผู้ผลิตน้ำดื่มและประกาศเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มหรือแคปซีลตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2561 จึงลดสร้างขยะพลาสติกได้อีกจำนวนมหาศาล

ประการที่ 5 สั่งสินค้าออนไลน์สะดวกจริง และแถมขยะพลาสติกจริง แม้แอปฯ จัดส่งอาหารบางรายจะเพิ่มทางเลือกไม่รับอุปกรณ์การกินที่เป็นพลาสติกใช้แล้วทิ้ง แต่อาหารเครื่องดื่มแบบเดลิเวอรี่ส่วนใหญ่ก็ยังมาในภาชนะพลาสติกอยู่ดี เพราะสะดวกสุดสำหรับการจัดส่ง

หากเป็นข้าวของเครื่องใช้ พวกชิ้นเล็กหรือน้ำหนักเบาผู้ขายนิยมใส่ซองพลาสติก สินค้าที่น้ำหนักมากหน่อยมักมาในกล่องกระดาษรัดด้วยสายคาดพลาสติก ส่วนสินค้าที่ต้องระมัดระวังการแตกหักก็จำต้องเพิ่มการหุ้มห่อด้วยพลาสติกกันกระแทกด้วย

ประการที่ 6 ของใช้เพื่อสุขอนามัยส่วนบุคคลเต็มไปด้วยพลาสติก อย่างแปรงสีฟัน ตัวมันเองมีอายุการใช้งานนาน 2-3 เดือน แต่หีบห่อกระดาษและพลาสติกนั่นก็หมดหน้าที่เมื่อเราแกะใช้งาน สบู่ก้อนบางยี่ห้อมาในกล่องกระดาษแล้ว แต่ก็ดันหุ้มพลาสติกรวมเพื่อขายแพค 4-6 ก้อน หรือห่อพลาสติกรายก้อนซ่อนอยู่ในกล่องอีกที

หลอดยาสีฟัน สบู่เหลว ยาสระผม โฟมล้างหน้า และเครื่องสำอางประทินผิว ล้วนอยู่ในบรรจุภัณฑ์พลาสติก แม้อายุการใช้งานของมันค่อนข้างยาวนานกว่ากลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารเครื่องดื่ม แต่สุดท้ายก็เป็นขยะพลาสติกเหมือนกัน

และสุดท้ายประการที่ 7 ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้บริโภคปลายทางที่จะลดการสร้างขยะพลาสติกให้เหลือศูนย์ เพราะเกือบทั้งหมดมาจากกระบวนการผลิตที่ต้นทาง ซึ่งกว่าจะครบหนึ่งเดือน มนุษย์เมืองสายพันธุ์สีเขียวกลางๆ ค่อนไปทางเข้มหนึ่งคนอย่างเรา ก็ผลิตขยะพลาสติกของตัวเองและเจ้าเหมียวนับรวมกันได้เกือบหนึ่งร้อยชิ้น 

นี่ขนาดตั้งสติลดใช้และลดสร้างขยะพลาสติกชีวิตเดียวแล้วนะ ถ้าไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้ขยะทิ้งง่ายย่อยสลายยากพวกนี้ไหลเข้ามาในชีวิตโดยไม่ขัดขืน คงจะสร้างขยะมากกว่านี้อย่างน้อย 2-3 เท่า

หากเทียบกับสิบปีที่แล้ว สังคมไทยในปัจจุบันตื่นตัวกับการลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจากการกินดื่มมากกว่าเดิมเยอะ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีและควรปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆ แต่ข้อสังเกตทั้งหมดนี้ก็ช่วยขยายมุมมองให้เห็นว่า ยังมีขยะพลาสติกจากสิ่งอื่นๆ อีกมากมายในชีวิตประจำวันที่ผู้บริโภคสีเขียวอ่อนๆ ควรขยับให้ความสนใจและพยายามหาทางลดปริมาณขยะพลาสติกด้วย เพื่อเลื่อนตัวเองเป็นผู้บริโภคสีเขียวเข้มทีละน้อยและช่วยกันลดขยะพลาสติกให้ได้มากขึ้นอีกนั่นเอง

Tags: