จากข่าวการเสียชีวิตของลูกพะยูนน้อย ‘มาเรียม’ วัยยังไม่หย่านมต้องจบชีวิตลงเมื่อกลางเดือนที่แล้ว โดยมีเศษพลาสติกอุดตันลำไส้เป็นหนึ่งในสาเหตุการตาย ตามมาด้วยกวางที่เขาใหญ่ และสัตว์อื่นๆ ที่ที่ไม่เป็นข่าว เราไม่มีทางรู้ว่า เศษพลาสติกพวกนั้นเคยผ่านมือใครบ้างก่อนลงไปอยู่ในท้องพะยูนหรือสัตว์เหล่านั้น เป็นเราหรือป่าวที่ทิ้งมันไป
แต่เอาล่ะ อย่างน้อยความตายก็ส่งแรงกระเพื่อม ภาครัฐโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งเป้าถอดบทเรียนเป็น ‘มาเรียมโปรเจ็กต์’ เพื่อการอนุรักษ์ดูแลพะยูน พร้อมกับเร่งรัดดำเนินการตามแผนลดปริมาณขยะทะเลด้วย
แล้วผู้บริโภคอย่างเราๆ แม้จะพยายามระวังการรับพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วยสารพัดวิธีแล้ว แต่ก็ยังมีพลาสติกอีกจำนวนไม่น้อยที่หลั่งไหลเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันโดยมิอาจหลีกเลี่ยง มันจึงไม่ง่ายนักที่จะเป็นมนุษย์ปลอดขยะพลาสติก แต่ขณะเดียวกันมันก็ไม่ยากเกินที่จะส่งต่อขยะพลาสติกของเราให้ไปอยู่ถูกที่ถูกทางและก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพียงลองปฏิบัติตามแนวทางเหล่านี้…
ขั้นตอนแรก
ล้างสารพันพลาสติกที่เคยบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม จากนั้นผึ่งให้แห้งสนิท เพื่อป้องกันการเน่าบูดหรือขึ้นรา ตราบที่สะอาดมันจะไม่กลายเป็นขยะที่จะต้องทิ้ง แถมยังสะดวกต่อการจัดการในลำดับต่อไปด้วย
ขั้นตอนที่สอง
คัดเลือกพวกที่ยังไม่หมดประโยชน์เก็บไว้ใช้ซ้ำ เช่น
-
พกถุงพลาสติกหูหิ้วไซส์เล็กไซส์ใหญ่ติดกระเป๋าหรือติดรถไว้บ้าง บางจังหวะสะดวกกว่าพกถุงผ้า เพราะพับได้เล็ก น้ำหนักเบา กันน้ำได้ด้วย
-
ขวดสบู่เหลว น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า ฯลฯ ซื้อแบบถุงรีฟิลมาเติมได้อีกหลายครั้ง
-
ตลับ กระปุก ถ้วยหรือกล่องพลาสติกหลายรูปแบบ สามารถใช้ใส่ข้าวของกระจุกกระจิก ใส่ยาประจำตัว ใส่อาหารพกพาหรือแช่ตู้เย็นได้อีก แปลงร่างเป็นแจกันดอกไม้หรือกระถางปลูกต้นไม้ แต่ละคนสามารถคิดสร้างสรรค์หรือ DIY การใช้ประโยชน์ได้ตามอัธยาศัย
ขั้นตอนที่สาม
แยกพลาสติกรีไซเคิลได้ เพื่อขายซาเล้งและร้านรับซื้อขยะรีไซเคิล โดยแบ่งกลุ่มกว้างๆ ตามประเภทการรับซื้อ ดังนี้
-
‘ขวด PET’ หรือขวดพลาสติกเบอร์ 1 โพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate) ซึ่งเป็นขวดพลาสติกใสและแข็งแรง ใช้บรรจุน้ำดื่ม น้ำอัดลม น้ำมันพืช จุดสังเกตคือก้นขวดจะมีรอยนูนบนเนื้อพลาสติกที่เกิดจากการเป่าขึ้นรูปในกระบวนการผลิต อันนี้ขายง่ายสุด ราคาดี
-
พลาสติกรวม ได้แก่ กล่องอาหารพร้อมรับประทานสีขาวทึบ ถ้วยโยเกิร์ตสีขาวที่ผิวนอกสกรีนลายมีสีสัน แก้วเครื่องดื่มสีขาวทึบหรือขาวขุ่นๆ ด้ามแปรงสีฟันที่เป็นพลาสติกล้วนไม่มียางหุ้ม สี่รายการนี้เป็นพลาสติกเบอร์ 5 โพลีโพรพิลีน (Polypropylene หรือ PP) ขวดน้ำและถังน้ำสีขาวขุ่น ขวดนม ขวดแป้งฝุ่น ขวดยาสระผม แกลลอนน้ำยาทำความสะอาด ขวดนมเปรี้ยวแบบขาวขุ่นๆ หกรายการหลังนี้เป็นพลาสติกเบอร์ 2 โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene หรือ HPDE) ราคาขายถูกว่าขวด PET ครึ่งต่อครึ่ง
-
‘ถุงพลาสติกรวม’ ได้แก่ ถุงหูหิ้วสีขุ่นที่เป็นพลาสติกเบอร์ 2 โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene หรือ HPDE) ถุงที่เหนียว นิ่ม ยืดง่าย เช่น ถุงใส่ขนมปังแถว เป็นพลาสติกเบอร์ 4 โพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (Low Density Polyethylene หรือ LDPE) ถุงใส่ช้อนโยเกิร์ตสีขาวขุ่น ถุงซิป ฟิล์มพลาสติกหุ้มแพคขวดน้ำ กลุ่มนี้ราค่าถูกลงไปอีก แต่ก็ต้องรวมจำนวนเยอะหน่อย เพราะถุงแต่ละใบน้ำหนักเบามาก
ขั้นตอนที่สี่
เก็บขยะพลาสติกกลุ่มพิเศษส่งให้โครงการรับซื้อหรือรับบริจาคเป็นการเฉพาะ ได้แก่
-
ถุงพลาสติกหูหิ้ว ฟิล์มหุ้มแพ็กกล่องนม ฟิล์มหุ้มแพ็กขวดเครื่องดื่ม ฟิล์มพลาสติกห่อแพ็กทิสชู ผ้าอนามัย และผ้าอ้อมสำเร็จรูป ซองไปรษณีย์ ถุงซิปล็อค ซองยา พลาสติกกันกระแทก ถุงขนมปัง ถุงน้ำตาลทราย ถุงใส่ผักผลไม้ ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกเบอร์ 4 โพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (Low Density Polyethylene หรือ LDPE) ซึ่งเหนียว นิ่ม ยืดง่าย หากเก็บไว้นานแล้วก็ยังไม่ครบกิโลฯ สักที แทนที่จะรอขาย ส่งรีไซเคิลกับโครงการ ‘วน’ อาจจะง่ายกว่า ที่อยู่ตามนี้ บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) 42/174 ม.5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210 https://www.facebook.com/wontogether/
-
ตระกูลโฟม ไม่ว่าจะเป็นแผ่นโฟม ถาดโฟม กล่องโฟม เศษโฟม ตาข่ายโฟมห่อผลไม้ หรือโฟมกันกระแทก จัดเป็นพลาสติกเบอร์ 6 โพลีสไตริน (Polystyrene หรือ PS) บริษัท เอ็นไวรอนพลาสต์ จำกัด พร้อมอ้าแขนรับ เพียงส่งไปที่ 29/1 หมู่ 9 ถนนวงแหวนรอบนอกตะวันตก ต.คลองข่อย อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120 โทร 080 440 8788 https://www.facebook.com/EVP.Environplast
-
ฝาขวด ขวดนม ช้อน/ส้อม/มีดพลาสติก หลอดดูด แก้วน้ำพลาสติก และบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางพลาสติก บริษัท ซีโร่ เวสท์ โยโล จำกัด ยินดีรับจัดการ จ่าหน้ากล่องตามนี้ 432 ถ.พรานนก–พุทธมณฑล แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน กทม. 10170 โทร 061 536 5514 https://www.facebook.com/zerowasteyolo/
-
ใครอยากทำบุญขวด PET ส่งไปแปลงร่างเป็นเส้นใยพลาสติกสำหรับทอเป็นผ้าไตรจีวร ได้ที่วัดจากแดง ซอยวัดจากแดง ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โทร 066 159 9558
-
ฝาขวดน้ำหลากสีสันก็ไม่ไร้ค่า โครงการ Precious Plastic Bangkok สามารถรีไซเคิลเป็นกระถางหรือแจกันได้ จักรพงษ์วิลล่า 396/1 ถ.มหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 https://www.facebook.com/PreciousPlasticBKK/
-
กล่องเครื่องดื่มรีไซเคิลไม่ได้ แต่ผลิตเป็นแผ่นหลังคาได้ เพียงส่งต่อให้โครงการหลังคาเขียว ที่บริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด (ระบุหน้ากล่องว่า ร่วมโครงการหลังคาเขียวฯ ) 30/11 หมู่ที่ 11 วัดบางเสาธง ถนนบางนา–ตราด ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ 10570 https://www.facebook.com/Thaigreenroof/
ขั้นตอนสุดท้าย
พลาสติกที่เหลือคือพวกใช้ซ้ำไม่ได้ ขายไม่ได้ รีไซเคิลไม่ได้ และไม่มีใครต้องการ คือเป็นขยะจริงๆ เช่น ซองฟอยด์ ถุงลามิเนตที่ผลิตจากฟิล์มพลาสติกและอะลูมิเนียมฟอยด์ เศษพลาสติกต่างๆ หลอดยาสีฟัน ฯลฯ ก็ยังสามารถผลิตเป็น ‘Eco-Bricks’ ได้ง่ายๆ
เพียงตัดขยะแห้งและสะอาดเหล่านั้นเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ลงขวด PET ขนาด 0.5-2 ลิตรที่แห้งและสะอาดเช่นกัน ใช้แท่งไม้อัดให้แน่นจนเต็ม ชนิดที่ปิดฝาแล้วจะไม่สามารถบีบหรือบิดขวดได้อีก
เมื่อสะสมได้จำนวนพอควร ก็ส่งต่อ Eco-Bricks ให้โครงการผึ้งน้อยนักสู้ 1/778 อาคารการ์เด้นโฮมพลาซ่าโซน 2 ถนนพหลโยธิน ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 12130 หรือแบมบูสคูล (Bamboo School) 234 ซ.แมมแคท หมู่บ้านบ้องตี้ล่าง ต.บ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี 71150 ซึ่งเป็นสองกลุ่มที่กำลังต้องการใช้มันเป็นส่วนประกอบของการก่อสร้างบ้านดินหรืออาคารเรียน
ห้าขั้นตอนนี้ลงมือได้ไม่ยาก ถ้าช่วยกันทำอย่างต่อเนื่อง ปริมาณขยะพลาสติกที่ออกไปเพ่นพ่านและก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมจะต้องลดลงแน่นอน
Tags: ขยะพลาสติก, single-use plastic