ก่อนที่จะกลายมาเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่สี่ของพรรคอนาคตใหม่ ชื่อของ ‘ทิม’ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นที่รู้จักในสองบทบาท หนึ่ง—คือนักธุรกิจบริษัทน้ำมันรำข้าว ผู้พลิกวิกฤติหนี้ร้อยล้านของครอบครัวสู่การทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และสอง—เซเลบริตี้หนุ่มดีกรีปริญญาโทสองใบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเอ็มไอที ผู้พิชิตหัวใจนางเอกสาวชื่อดังจากภาพยนตร์เรื่อง Season Change จนแต่งงานกันเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน และมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน
เมื่อก้าวเข้ามาสู่วงการการเมือง พรรคอนาคตใหม่ได้มอบหมายให้พิธาดูแลด้านการเกษตร ที่เขามาพร้อมกับนโยบาย ‘เกษตรก้าวหน้า’ เพื่อสะสางปัญหาเรื้อรังกว่าครึ่งศตวรรษของเกษตรกรไทยที่ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดก็ยังไม่อาจแก้ไขได้
คุณทิมรู้จักกับคุณธนาธรได้อย่างไร
ส่วนตัวแล้วผมรู้จักพี่เอก—ธนาธรก่อนที่พี่เอกจะรู้จักผม เขาเรียนธรรมศาสตร์รุ่นแก่กว่าผม 3 ปีครับ ได้ยินชื่อมานาน แต่ไม่ถึงกับสนิทกัน ผมรู้จักกับพี่น้องของเขาที่เรียนธรรมศาสตร์ด้วยกัน หรือสมัยเป็นนักเรียนที่ต่างประเทศ ก็จะเจอพี่สาวพี่เอก แต่ไม่เคยเจอพี่เอกโดยตรง จนกระทั่งเกิดพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา ผมสนใจในสิ่งที่เขาพูด ตอนแรกก็ตามไปฟังตามที่ต่างๆ เมื่อมีเวลาว่าง ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาฯ เมษาฯ ปีก่อน พอฟังเขามาเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าวิสัยทัศน์เราคล้ายๆ กัน แต่ก็ไม่ได้คิดที่จะแนะนำตัวกับพี่เขา ในระหว่างนั้นก็ทำงานภาคเอกชนไปเรื่อยๆ ได้คุยกับพรรคการเมืองหลายๆ พรรค แล้วก็ยังไม่มีพรรคไหนที่รู้สึกว่าวิสัยทัศน์กับวัฒนธรรมตรงกัน ซึ่งมันเป็นสองอย่างที่สำคัญสำหรับผม วิสัยทัศน์ตรงกันอย่างเดียว แต่ว่าวัฒนธรรมไม่เหมือนกันก็อาจจะทำงานด้วยกันลำบาก
หมายความว่าก็มีพรรคอื่นมาทาบทามคุณด้วย
ก็มีคุยกันบ้าง ผมเองเคยทำงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐมาแล้ว เคยเป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี พ.ศ. 2547-2548 แต่ว่าพอได้ฟังสิ่งที่พี่เอกกับอาจารย์ป๊อก ปิยบุตร (แสงกนกกุล) พูดถึงวิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับประเทศไทย ศักยภาพของประเทศไทย ความเหลื่อมล้ำในสังคม ทุนผูกขาด ราชการรวมศูนย์ ซึ่งผมในฐานะอดีตข้าราชการก็รู้สึกว่า บางทีทุกสิ่งทุกอย่างอาจจะมารวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ มากจนเกินไป
คุณธนาธรชวนคุณมาร่วมงานอย่างไร
สักประมาณเดือนตุลาคมปีที่แล้ว พี่เอกก็นัดผ่านคนรู้จักที่อยู่ในวงการการเกษตรว่า ขอให้มาเจอกันหน่อยเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ผมได้พูดคุยกับพี่เอกประมาณ 1 ชั่วโมง เขาก็ถามว่าสนใจอยากจะทำงานการเมืองไหม ผมก็กลับมานั่งคิดแล้วตัดสินใจ เพราะว่าเราฟังความคิดเขามานาน พี่เอกก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับตัวเรามาด้วย พอได้พูดคุยกันถึงวิสัยทัศน์ในเรื่องของการสะสางปัญหาภาคการเกษตรที่มันสะสมมานาน ได้เข้าไปเจอกับบุคคลหลากหลายที่อยู่ในพรรค ด้วยวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ ผมก็ยิ่งมั่นใจขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยตัดสินใจมาทำงานที่พรรคอนาคตใหม่ครับ
การทำงานการเมืองเป็นเป้าหมายที่คุณมีอยู่ในใจมานานแล้วหรือยัง
ผมจบปริญญาโทเกี่ยวกับการเมืองการปกครองโดยตรง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2551 จะบอกว่าไม่เคยสนใจการเมืองเลยก็คงเป็นการโกหกแน่นอน ผมเคยอยู่ภาคเอกชนและคยทำงานภาครัฐที่กระทรวงพาณิชย์ เพราะฉะนั้นผมก็จะเห็นว่าเหรียญมีสองด้าน ความท้าทายของธุรกิจก็แบบหนึ่ง ความท้าทายของภาครัฐก็แบบหนึ่ง ที่ผมตัดสินใจสมัครเรียนทั้งการเมืองการปกครอง และบริหารธุรกิจ เพราะผมไม่ได้เตรียมตัวมาเพื่อเป็นนักธุรกิจอย่างเดียว และวิธีที่จะทำให้ประเทศเจริญ เอกชนเก่งหรือรัฐเก่งอย่างเดียวมันไม่ได้ ผมอยากจะเข้ามาทำงานการเมือง เพราะคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญในทุกวันของทุกคน
ตอนที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคอนาคตใหม่รู้สึกสะดวกใจมากน้อยแค่ไหนกับภาพลักษณ์ของพรรคที่ค่อนข้างแข็งกร้าวหรือภูมิหลังของผู้นำพรรคที่มีข้อครหาในสังคม เช่นการที่คุณธนาธรถูกกล่าวหาว่าเป็นเสื้อแดง อาจารย์ปิยบุตรก็เป็นนักวิชาการที่เคยรณรงค์เรื่อง ม.112 มาก่อน
ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ครับ เราอยู่ในโลกธุรกิจมา เราพอที่จะรู้อยู่ว่าข่าวลือก็คือข่าวลือ บางเรื่องมันไม่จริง หรือว่าอาจถูกบิดเบือนเจตนา ผมคิดว่าสิ่งที่จะพิสูจน์ได้คือการกระทำ มันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่จะมีคำตัดสินคนหนึ่งคน ต้องดูไปเรื่อยๆ สิ่งที่ผมเห็นจากพี่เอกก็คือเราจะทำอย่างไรที่จะส่งประเทศไทยที่ดีกว่าให้กับคนรุ่นหลังของเรา เราคิดว่าประเทศไทยมีศักยภาพเยอะเหลือเกิน ไม่อยากจะทรยศศักยภาพประเทศ แล้วก็ไม่อยากที่จะทรยศศักยภาพของตัวเราทั้งคู่ด้วย
ที่สำคัญ พรรคมีความหลากหลาย และความหลากหลายในพรรคก็คงไม่สามารถที่จะหาค่าเฉลี่ยและบอกออกมาว่า เป็นพรรคที่ก้าวร้าว หรือว่าดุดัน ถ้ามองในบริบทไทยอาจจะใช่ แต่ถ้ามองในบริบทต่างชาติ อาจจะบอกว่าพรรคนี้กล้าฟันธง เพราะฉะนั้นเรื่องพวกนี้ผมว่าต้องให้เวลาเป็นตัวตัดสิน แล้วก็มองหลายๆ มุม ผมไม่ได้ขอให้ใครเปลี่ยนความคิดนะ แต่ขอให้ใช้เวลาในการมอง
นโยบายใดของพรรคอนาคตใหม่ที่ดึงดูดให้คุณตัดสินใจเข้าร่วมทำงาน
แน่นอนว่าเรื่องการเกษตร เศรษฐกิจดิจิทัล แล้วก็เรื่องของการศึกษา แต่สิ่งที่ทางพรรคมอบหมายให้ผมรับผิดชอบก็คือเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการเกษตร และผมก็เชื่อมาตลอดว่า จุดแข็งของประเทศไทยหรือขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยคือเรื่องของการเกษตรกับเรื่องท่องเที่ยว แต่ว่ามันต้องเป็นเกษตรที่ก้าวหน้า เกษตรที่มีการเพิ่มมูลค่า ที่มีการแปรรูป มีการปลดปล่อยแล้วก็ปลดล็อกหลายๆ สิ่ง
คุณคิดว่ามีชาวนากี่คนที่ส่งออกข้าวด้วยตัวเองได้ หรือการที่คุณเป็นชาวสวนมะพร้าวที่ดังที่สุดของทับสะแก แต่เวลาคุณอยากจะแปรรูปทีหนึ่งคุณต้องส่งมะพร้าวเป็นระยะทาง 600 กิโลเมตร เข้ามารวมศูนย์ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทยสมัยก่อนมีคำพูดว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เดี๋ยวนี้ชาวบ้านบอกว่า ในน้ำมียา ในนามีหนี้ เพราะที่ดินถูกกระจุกไว้จำนวนมาก มีชาวบ้านชาวช่องที่เขาต่อสู้มา 50 ปีแล้วยังไม่มีสิทธิในการทำมาหากิน แต่เรามีนิคมอุตสาหกรรมที่สามารถให้ต่างชาติเข้ามาใช้ได้เป็นเวลานานถึง 99 ปี มีสิทธิประโยชน์พิเศษให้เขา ระบบภาษีที่เอื้อให้เขา มีระบบน้ำไฟให้เขา แต่คนไทยด้วยกันยังไม่มีที่ดินทำกิน ยังไม่มีชลประทาน ยังต้องเป็นหนี้นอกระบบ ผมไม่ได้บอกว่านิคมอุตสาหกรรมผิด มันเกิดขึ้นได้ แต่ทำไมคนอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 25 ล้านคนของประเทศไทยถึงได้เป็นคนที่ทำงานหนักมากที่สุด แต่ยังจนที่สุด ไม่ต้องไปดูตัวเลขจากกระทรวงอะไรเลย เวลาลงพื้นที่ผมก็เคาะลูกคิดในหัวผมได้เลยว่าเขามีรายได้เดือนละเท่าไร เคาะทีไรพวกเขามีรายได้ไม่น่าจะเกิน 5,000 บาทต่อเดือน
สำหรับนโยบายข้าว คุณพอจะวิพากษ์ได้ไหมว่าระหว่างโครงการจำนำข้าว เทียบกับการประกันราคาข้าว มีข้อดีข้อด้อยอย่างไร ทำไมถึงยังแก้ไขปัญหาราคาข้าวไม่ได้ และทางพรรคมีวิธีที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร
วิธีการสนับสนุนเกษตรกรมีหลายแบบ มีมา 70-80 ปี แล้ว การสนับสนุด้านราคาก็คือการประกันหรือจำนำอย่างที่เราเคยเห็น สนับสนุนในเรื่องของต้นทุนก็คือลดต้นทุน แต่ว่าไม่ไปยุ่งกับราคานะ เพราะราคามันเป็นราคาตลาดโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ว่าเราควบคุมต้นทุนได้ และอีกประเภทถือเป็นจำพวกที่ 3 ก็คือการสนับสนุนเรื่องของประสิทธิภาพประสิทธิผล
ในมุมมองของพรรคอนาคตใหม่ ตอนที่ผมคุยกับพี่เอกเรื่องของราคา ผมไม่เห็นด้วยในระยะยาว ไม่เห็นด้วยในการที่จะให้ปลาชาวบ้านแต่ไม่สอนวิธีจับปลาให้เขา แต่ถ้าเกิดปัญหาในระยะสั้น เราก็ไม่เคอะเขินที่จะใช้เงินอุดหนุนในรูปแบบอะไรก็แล้วแต่ วิธีคิดของผมก็คือการช่วยเหลือเรื่องต้นทุน หรือว่าการช่วยเหลือในการเรื่องของประสิทธิภาพ
ปัจจัยการผลิตของชาวนาหลักๆ มีอยู่ 5 อย่าง อย่างที่ 1 แรงงาน 2 ปุ๋ย 3 สารเคมี 4 เมล็ดพันธุ์ และ 5 เรื่องของน้ำ ผมจะพิจารณาปัจจัยการผลิต 5 อย่างนี้ว่ามันมีทุนผูกขาดอยู่หรือไม่ที่ทำให้ราคามันไม่ลง แล้วพิจารณาต่อว่ามันมีทางเลือกในท้องถิ่นไหมที่จะสามารถลดต้นทุนพวกนี้ได้ เรารู้อยู่แล้วว่า ต้นทุนหลักๆ หรือว่าปัจจัยการผลิตของชาวนามีอะไรบ้าง เช่น ปุ๋ย—ทำไมต้องเป็นปุ๋ยเคมี ในเมื่อภูมิปัญญาชาวบ้านหรือการที่เราสนับสนุนให้เกิดการตั้งโรงปุ๋ยในท้องถิ่นซึ่งใช้วัตถุดิบเหลือใช้ เศษอาหาร เศษใบหญ้าที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ สามารถที่จะนำมาทำเป็นปุ๋ยได้ ไม่ได้บอกว่าให้เลิกใช้ปุ๋ยเคมี 100% นะ แม้เวียดนามเขาพยายามจะทำอย่างนั้นอยู่ แต่อาจจะใช้ปุ๋ยเคมีครึ่งหนึ่ง ใช้ปุ๋ยที่ทำในท้องถิ่นครึ่งหนึ่ง หรืออยากจะทำปุ๋ยท้องถิ่นให้กลายเป็นอินทรีย์ไปเลยก็ได้
หรือวิธีจัดการเรื่องของเมล็ดพันธุ์ เราสนับสนุนให้มีความหลากหลาย เพื่อที่จะสามารถปลูกข้าวหลายๆ รูปแบบ แล้วให้มันกลายเป็นข้าวพรีเมี่ยม เหมือนอย่างประเทศญี่ปุ่นอย่างนั้นไหม ปกติข้าวธรรมดากิโลกรัมละ 30-40 บาท แต่ถ้าเกิดเป็น Niigata Rice ข้าวพรีเมี่ยมของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นข้าวที่เหมาะกับการทำซูชิมากที่สุด กิโลกรัมละ 3,000 เยน ก็ตกกิโลกรัมละพันบาท เขาทำได้เพราะเขาทำการตลาดโดยการนำข้าวของเขาไปผูกกับวัฒนธรรมการกินอาหาร ถ้าผมมีโอกาสได้เข้ามาดูแลกระทรวงเกษตร กระทรวงแรกที่ผมอยากจะเข้าไปพูดคุยด้วยก็คือ กระทรวงวัฒนธรรมฯ
เพราะอะไร
ผมคิดว่าเรื่องของวัฒนธรรมสามารถช่วยในเรื่องการเกษตรได้ คุณลองคิดถึงไวน์ ช็อกโกแลต กาแฟ ชา ซิการ์ ชีส ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่เคยต้องมาห่วงเรื่องราคาเลยนะ เพราะสามารถนำไปโยงกับเรื่องอาหารและวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ได้ ตอนปี ค.ศ. 2010 ผมมีโอกาสไปอยู่กับครอบครัวโฮมสเตย์ที่คิวบา เขาเป็นคนมวนซิการ์ ผมถามว่าซิการ์แท่งนี้ราคาเท่าไร เขาบอกว่า 8,000 บาท โอ้โฮ แปดพันนี่เท่ากับข้าวหนึ่งตันสมัยนั้นเลยนะ ผมถามเขาว่าคุณคิดอย่างไรถึงได้กล้าขายราคานี้ เขาบอกว่านี่มันคือวัฒนธรรมคิวบา แท่งนี้ ฟิเดล คาสโตร สูบ คุณจะซื้อไม่ซื้อเรื่องของคุณ แต่กลับมามองที่บ้านเรา มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ข้าวตันหนึ่งก็ต้องไปแข่งกับเวียดนาม แข่งกับอินเดีย แข่งกับนานาประเทศ แต่ของเขามันมีสตอรี่ มีวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง
อีกเรื่องก็คือเกษตรท่องเที่ยว ทำนาไร่หนึ่งอาจจะได้กำไรสัก 2,000-3,000 หารด้วย 3 เดือน ก็ประมาณเดือนละ 800-900 บาทต่อไร่ ตัวเลขอาจจะไม่เป๊ะนะครับ แต่ถ้าเราเปลี่ยนเรื่องเกษตรเป็นเรื่องของโรงเรียนชาวนาล่ะ ซึ่งเราเห็นได้ชัดเจนที่น่านและสุโขทัย โชว์วิถีการทำนา ดำนา ฝัดข้าว วิถีแบบเดิมๆ ของเกษตรกรที่มีเสน่ห์ ดึงเอาบริษัทที่มีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการบุ๊กห้องโฮมสเตย์เข้ามาช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมกันเสียส่วนใหญ่ คำว่า ‘เกษตรก้าวหน้า’ ของผมก็คือ การยกระดับเกษตรกรให้เกิดเกษตรกรรมที่ทันสมัยและมีเสน่ห์ ไม่จำเป็นว่าการอยู่ในยุคดิจิทัล 4.0 แล้วจะต้องมีโดรนในนา มีหุ่นยนต์กำจัดวัชพืช เปลี่ยนน้ำทะเลให้กลายเป็นน้ำจืด ต้องทำ Atmospheric Water (การดึงน้ำจากชั้นบรรยากาศ) เหมือนอย่างที่กาตาร์ เปรู หรืออิสราเอลทำ แต่เราอาจจะทำการเกษตรที่มีเสน่ห์ก็ได้ มันอยู่ที่กรอบวิธีคิดว่า เกษตรกรรมของเราจุดแข็งอยู่ที่สินค้าที่เราผลิต หรืออยู่ที่สมองกับสองมือของเรา ผมอยากจะให้ทุกจังหวัดที่ทำการเกษตรมีสิ่งเหล่านี้ขึ้น ไม่ว่าคุณจะทำสวนกาแฟ ทำนา หรือทำไร่ข้าวโพด
ความสนใจด้านการเกษตรของคุณมาจากธุรกิจครอบครัวหรือเปล่า
ผมโตมาในครอบครัวที่ทำเรื่องการเกษตร คุณพ่อผมอยู่ในวงการเกษตรมาตลอด อาจจะได้จากคุณพ่อไม่มากก็น้อย แต่ตอนผมอายุ 11-12 ปี มีโอกาสได้ไปอยู่ที่นิวซีแลนด์ 3-4 ปี ซึ่งครอบครัวที่อยู่ด้วยอยู่ในเขตปศุสัตว์ของนิวซีแลนด์ ได้เห็นการเกษตรของนิวซีแลนด์ที่ทั้งทันสมัยและมีเสน่ห์
แต่ทั้งหมดทั้งปวงนั้นมันจะทำไม่ได้เลย ถ้าเราไม่ช่วยเหลือชาวนา ผมก็ไม่อยากถึงขนาดใช้คำว่า set zero แต่การที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่ในวงจรของหนี้ตลอดเวลาและไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง สองอย่างนี้เป็นโซ่ตรวนของเกษตรกรไทย อาจจะต้องมีการพักหนี้หรือมีการปรับหนี้เพื่อให้เขาไปต่อได้ อันนี้น่าจะเป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจ แต่คุณต้องเข้าใจว่า มีเกษตรกรจำนวนมากที่อายุมากแล้ว ทุพพลภาพ สูญเสียหัวหน้าครอบครัว คิดว่าน่าจะต้องมีการ set zero หรือมีการปลดหนี้ ซึ่งทางพรรคอนาคตใหม่กันวงเงินไว้ 2,500 ล้านที่เราอยากจะทำทันทีเพื่อปลดหนี้ ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข
แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีเกษตรกรไฟแรงอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการมีเงินทุนในการทำมาหากิน และอยากได้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตอนนี้ก็กำลังเป็นเทรนด์ทั่วโลกโดยเฉพาะจีนกับญี่ปุ่น ก็คือการเอาคนพันธุ์ใหม่กลับเข้าสู่ภาคเกษตร ปีที่แล้วประเทศจีนมีลูกหลานเกษตรกรที่ทำงานเป็นวิศวะอยู่ตามบริษัทไฟฟ้า บริษัทปิโตรเลียม อยากกลับไปอยู่กับพ่อกับแม่ถึง 8 ล้านคน รัฐบาลจีนก็จัดหาที่ดินหาทุนให้ แล้วนำคนเหล่านี้กลับไปอยู่ภาคเกษตร ให้เป็นเกษตรกรพันธุ์ใหม่ ซึ่งถ้าเราได้เกษตรกรพันธุ์ใหม่ เราก็พร้อมแล้วที่จะนำเกษตรแม่นยำใส่ลงไปให้เขา เพราะฉะนั้นในการที่จะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ มันต้องพัฒนาคนด้วย อุตสาหกรรมการเกษตรด้วย และพัฒนาตัวพืชพันธ์ุไปในตัวด้วย ซึ่งเป็นการบ้านที่ง่ายๆ แต่ต้องใช้เวลา
จะว่าไปแนวคิดดีๆ ทั้งหลายก็เป็นเรื่องที่เราได้ยินมาทุกรัฐบาล ทำไมปัญหาด้านการเกษตรถึงเป็นปัญหาที่ยั่งยืนและแก้ไม่ได้เสียที
เพราะขาดการมีส่วนร่วม และต้องยอมรับด้วยว่ามีการผูกขาดปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และที่สำคัญเพราะราชการรวมศูนย์ การที่คุณจะมีพืชอะไรสักอย่าง ก็จะมีคณะกรรมการ 17 คนบ้าง 27 คนบ้าง ที่พอดูในรายละเอียดแล้วจะพบว่าคณะกรรมการนั้นคือราชการรวมศูนย์ทั้งนั้นเลย การจะแก้ปัญหาควรจะเป็นคนในท้องถิ่น เช่น เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล หรือผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม การที่เราให้คนที่ไม่ได้อยู่หน้างานแต่อยู่ในศูนย์ราชการกรุงเทพฯ มาเป็นคนส่วนใหญ่ของคณะกรรมการนั้นๆ ผมไม่แน่ใจว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่
ประการที่สองก็คือทุนใหญ่ที่เข้าไปเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่มาจากชาวนาชาวไร่ ผมคิดว่าเราต้องเริ่มจากการปรับสัดส่วนนี้ทันที ไม่ว่าจะเป็นบอร์ดคณะกรรมการเกี่ยวกับพืช ปศุสัตว์ หรือประมง สิ่งจำเป็นที่จะต้องมีก็คือ การกระจายออกไป และดูสัดส่วนว่าในแต่ละกระทรวงมีคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ กี่เปอร์เซ็นต์ อยู่ในท้องถิ่นจริงๆ กี่เปอร์เซ็นต์ กระจายทั้งงบฯ กระจายจำนวนคน และกระจายอำนาจในการตัดสินใจ ทั้งหมดทั้งปวงนี้มันอยู่ที่เรื่องการกระจาย มันควรอยู่ที่คน 27 คน 28 คนนี้ตลอดเวลาหรือเปล่า ที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเขารู้เรื่องหรือว่าฟังประชาชนจริงๆ หรือเปล่า
แปลว่านโยบายเกษตรก้าวหน้า ข้อหนึ่งก็ต้องชนกับระบบราชการแน่ๆ ละ
ผมว่ามันก็ต้องเป็นทั้งเลือก ทั้งดึง ทั้งดันนะ มันอาจจะต้องมีการชนบ้าง แล้วก็ต้องมีการให้ความรู้กับประชาชน ให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน ระบบนี้มันมีอยู่ในทุกประเทศ พอผ่านไประยะเวลาหนึ่ง มันก็จะมีการทลายลง หรือทุเลาลงได้ จากการที่ประชาชนส่วนมากของประเทศเข้ามาเห็น เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในตอนนี้ พ.ร.บ. ต่างๆ ที่กำลังจะผ่านสภาฯ ก็ถูกยับยั้ง ทุเลาลง ซึ่งก็เป็นเพราะว่าประชาชนมีส่วนร่วม จับตาดู ผลักดัน อย่างกลุ่ม BIOTHAI กลุ่ม P-Move ทั้งเรื่องของสารเคมี ที่ดินทำกินของประชาชน อย่างการสนับสนุนให้มีกัญชาเพื่อการแพทย์ ประเทศอื่นใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี ประเทศไทยใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น
เรื่องพวกนี้มันต้องใช้เวลา และความก้าวหน้ามันไม่ใช่เป็นเส้นตรง มันต้องมีซิกแซกซ้ายขวา แต่สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่พยายามทำก็คือ อย่างน้อยเราชี้แจงให้เห็นว่านี่คือปัญหา แล้วก็หวังว่าจะมีหลายๆ ฝ่ายเข้ามาร่วมกับเราในภาคประชาสังคม ช่วยกันผลักดันในเรื่องที่เขาเห็นว่าเป็นประโยชน์กับเขา ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น สิ่งที่ไม่เป็นธรรมก็สามารถที่จะทุเลาลงได้ แล้วก็ค่อยๆ ทำให้เกิดความก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ
ในฐานะนักธุรกิจ คุณทิมมองการทำงานการเมืองอย่างไร
เรื่องการเมืองกับเรื่องการทำธุรกิจ มันมีทั้งข้อเหมือนและต่าง ข้อเหมือนก็คือธุรกิจที่ดีต้องเอาลูกค้าเป็นที่ตั้ง การทำงานการเมืองหรือการสร้างบ้านเมืองที่ดีก็คือการเอาประชาชนเป็นที่ตั้งเหมือนกัน เรื่องของภาวะผู้นำในภาคธุรกิจเราจะเห็นว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จผู้นำนั้นสามารถจะสร้างศักยภาพของคนทุกคนในบริษัทมาใช้ทำงานได้ ผู้นำทางการเมืองที่ดีก็คือผู้นำที่สามารถที่จะปลดปล่อยศักยภาพของคนทั้งประเทศขึ้นมาได้ ไม่ใช่คนแค่ 10% ข้างบน หรือว่าแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีคำพูดฝรั่งเขาพูดไว้ว่า Business of business is business. Business of government is service.’ ธุรกิจของธุรกิจก็คือธุรกิจ คือการทำกำไร แต่ธุรกิจของรัฐบาลก็คือการให้บริการ การรับใช้ประชาชน วิธีคิดในแบบธุรกิจก็สามารถนำมาใช้ในระบบราชการได้ แต่เราต้องรู้ว่ามันมีอะไรที่เหมือนกัน อะไรที่ต่างกัน จึงจะสามารถที่จะเอามาใช้ได้ถูกต้อง
เมื่อตัดสินใจนับหนึ่งกับการทำงานการเมืองและลงเลือกตั้ง คุณรู้ใช่ไหมว่ามันเป็นการเลือกตั้งที่ดูจะประสบความสำเร็จยากมากด้วยสถานการณ์ทางการเมืองอย่างที่เห็นกันอยู่
ถ้าถามเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวหรือเปล่าที่เป็นแบบนี้ ผมว่าประเทศอื่นแรงกว่านี้อีกนะ ผมว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว ถ้าเราคนรุ่นใหม่คิดว่าการเมืองมันเป็นสิ่งที่สกปรกและน่ากลัว คิดอย่างนี้ทั้งประเทศ ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราเข้าใจมัน แล้วก็ค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละเปลาะ มีโอกาสในการทำงานก็ทำไป หากถามว่าทำไมต้องตอนนี้ ก็ตอบไม่ได้ คงเป็นเรื่องความเหมาะสมของอายุ วัยวุฒิ หรืออะไรบางอย่างที่มันอยู่ในใจ มันไม่ได้ใช้แค่หัวคิด มันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นปัจจัยในการตัดสินใจ
ครอบครัวมีความเห็นอย่างไรบ้างกับการตัดสินใจของคุณ
ไม่ว่าอะไรเลยครับ ครอบครัวผมรู้มาตลอด เขาเป็นคนส่งผมไปเรียนที่ John F. Kennedy School of Government ชื่อมันก็บอกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ผมตัดสินใจปุบปับอยากเล่นการเมือง ผมสนใจการเมืองมาโดยตลอด ตอนผมอยู่เท็กซัส จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ชนะเลือกตั้ง ผมก็ลงไปดูการทำงานของเขา ได้เห็นวิธีการการทำงานต่างๆ พอไปอยู่ฮาร์วาร์ดที่บอสตัน เป็นปีที่โอบามาชนะเลือกตั้ง ผมก็ลงไปช่วยในฐานะอาสาสมัคร และผมก็เรียนมาทางนี้โดยตรง ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่เราจะได้มาทำ
แล้วทำไมคุณทิมไม่ลงสมัครเป็น ส.ส. เขต
ทางพรรคคงอยากให้เป็นบัญชีรายชื่อ และให้รับผิดชอบเรื่องที่ตัวผมเองถนัด ส่วนในเขตก็มีคนที่เก่ง มีความพร้อมกว่า คนเราไม่ได้เก่งทุกอย่าง คนไหนที่เขาถนัดพื้นที่ก็ควรให้เขาลงพื้นที่
วาดภาพเหตุการณ์หลังเลือกตั้งของพรรคอนาคตใหม่ไว้อย่างไร
เรื่องของวันที่ 24 มีนาคม ผมคิดว่ายังเร็วเกินไปที่จะคิดไปถึงตอนนั้น ตอนนี้ทุกวันเราอยู่กับปัจจุบัน คิดแค่ว่า อาทิตย์นี้ วันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ มีลงพื้นที่ที่ไหนบ้าง แล้วเราจะสื่อสารอย่างไรกับประชาชนบ้าง ผมไม่ได้มองไปในอนาคตว่า พอหลังวันที่ 24 แล้วจะยังไง รอให้มันถึงเวลา แล้วก็เห็นอาณัติสัญญาณจากประชาชนว่าตัวเลขมีเท่าไร…คำถามที่คุณอยากจะถามผมคืออะไร
อยากรู้ว่าจะจับมือทำงานกับพรรคเพื่อไทยไหม จะร่วมงานหรือไม่ร่วมงานกับใครบ้าง
อย่างที่พี่เอกและอาจารย์ป๊อกได้พูดไว้ก็คือ เราไม่ได้มองที่ตัวบุคคล และไม่ได้มองที่ชื่อ การที่เราคิดเร็วไปมันก็อาจจะทำให้เสียสมาธิกับปัจจุบัน และเป็นการดูถูกประชาชนเกินไป คงต้องดูว่าประชาชนให้ความไว้วางใจแค่ไหน แต่ว่าหลักการก็คือ เราต้องการนายกฯ ที่มาจาก ส.ส. ต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา และไม่เอาผลพวงของ คสช. หรือว่ากฎหมายลูกต่างๆ นานาที่เป็นการกดทับศักยภาพของประเทศไทยอยู่ ถ้าพรรคไหนก็ตามโดยไม่ต้องดูชื่อ—เขามีแนวทางที่ใกล้เคียงกับเราในเรื่องของหลักการ ส่วนเรื่องของรายละเอียดยังพอยืดหยุ่นกันได้ ก็มาทำงานด้วยกัน เราพร้อมที่จะเป็นรัฐบาลและพร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้าน เพราะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญเท่ากันในระบอบประชาธิปไตย
หลักการสำคัญกว่าบุคคล หลักการสำคัญกว่าชื่อพรรค ไม่ได้มีความจำเป็นว่าเราจะต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยหรือไม่ได้เห็นตรงกับหลักการของพรรค เพราะเราเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการทำงานการเมืองระยะยาว การเลือกตั้งนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง มีอะไรที่จะต้องทำอีกเยอะ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นจุดสำคัญของพรรค ก็ต้องทำงานในปัจจุบันให้เต็มที่ แล้วที่เหลือก็เข้มข้นกับการแข่งขัน เข้มแข็งกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น
แล้วเตรียมตัวกันอย่างไรสำหรับวันที่ 26 มีนาคม สองวันหลังวันเลือกตั้ง ซึ่งทางพรรคจะมีนัดที่ศาลอาญาอีกรอบ
ผมไม่ได้กังวลอะไร ทางพรรคก็ไม่ได้กังวลอะไร แต่ก็มีการเตรียมตัวชี้แจงไว้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่อยากจะสื่อสารกับประชาชนก็คือ ผมคิดว่าการยุบพรรคมันไม่ใช่ทางออก ในเมื่อกำลังจะเลือกตั้งอยู่แล้ว ประชาชนจะเป็นคนที่ตัดสินใจ ไม่ว่าจะพรรคไหนซึ่งก็ยุบมาหลายพรรคแล้วในประวัติศาสตร์ประเทศไทย แล้วเราก็รู้แล้วว่ามันไม่ได้ทำให้ปากท้องประชาชนดีขึ้น หรือไม่ได้ทำให้ระบอบเสถียรมากขึ้น การกลั่นแกล้งหรือเอาการยุบพรรคมาเป็นเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจก็คงยังมีการใช้กันต่อไป แต่เราในฐานะที่เป็นประชาชน เราต้องคิด วิเคราะห์ แยกแยะให้ได้ว่า สิ่งที่เขาทำจริงๆ แล้วมันคืออะไร แทนที่จะให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตัดสิน ประชาชนเขาพร้อมที่จะตัดสินเอง
ที่ว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค คุณรวมถึงพรรคไทยรักษาชาติด้วยหรือเปล่า
ไม่ว่าพรรคไหนๆ ผมก็ไม่เห็นด้วย คิดว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ประชาชนจะสั่งสอนพรรคการเมืองด้วยตัวของเขาเอง ระบบวิธีคิดที่ยุบๆ มันไปให้หมด ความหลากหลายของระบอบประชาธิปไตยก็จะโดนทำลายไปด้วย
ถ้าไม่ใช่การถูกตัดสินยุบพรรค แต่ว่าเป็นการตัดสิทธิ์ทางการเมือง อนาคตข้างหน้าของพรรคอนาคตใหม่คืออะไร
ไม่มีปัญหาเลย เพราะครั้งนี้อนาคตใหม่ส่งปาร์ตี้ลิสต์ 120 กว่าคน มี ส.ส. เขตครบ 350 เขต มีบุคลากรที่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรโดยตรงของพรรคที่เป็นทีมงานของพรรค หรือที่เป็นอาสาสมัครของพรรค เพราะฉะนั้นเราพร้อมที่จะเข้ามาต่อสู้อยู่แล้ว เพราะพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หมดยุคที่จะมีเทคโนแครตหนึ่งคนที่รู้ไปหมดทุกอย่าง เก่งไปหมดทุกอย่าง หมดยุคที่จะเป็นเรื่องของการเมืองที่จะต้องมีคนใดคนหนึ่งขี่ม้าขาวเข้ามาช่วย มันเป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีม มีการกระจายความเก่ง กระจายความถนัดของแต่ละคน แล้วทุกคนก็พร้อมที่จะช่วยเหลือกัน
แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระหว่างพรรคต่างๆ มันเป็นภาพของ ‘คนชนคน’ อยู่เหมือนกันนะ อย่างพรรคอนาคตใหม่เองก็ชูตัวบุคคลอย่างคุณธนาธรขึ้นมา
คำถามคุณก็พูดถูกอยู่แล้วว่ามันเป็น ‘ภาพ’ เราอาจจะมีเวลาเสนอประชาชนสั้นไปหน่อยหรือน้อยไปหน่อย แต่ว่าเบื้องหลังที่ไม่ใช่ภาพ มันคือการทำงาน การประสานงานกัน ร่วมมือกันเป็นทีมหลายฝั่งหลายฝ่าย แล้วก็ไม่ใช่เรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างที่พี่เอก—ธนาธรไม่เห็นด้วย แต่กรรมการบริหารพรรคเห็นด้วยก็มี
ยกตัวอย่างได้ไหม
เรื่องของระบบน้ำ คุณธนาธรบอกว่าเป็นเรื่องของชุมชนที่จะให้ชุมชนจัดการบริหารกันเอง แต่ผมมองว่าเราต้องเข้าไปช่วย ผมมองว่าเรื่องชลประทานหรือน้ำเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่แม้แต่สหประชาชาติก็คิดว่าภาครัฐจะต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง มันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่จำเป็นที่ต้องเห็นด้วยทุกอย่างกับคุณธนาธรหรือคุณปิยบุตร ในการทำงานของพรรค เราต้องฟังความเห็นจากกรรมการบริหารพรรค ทีมงานที่มีส่วนร่วมในหลายๆ ฝ่าย รวมถึงอาสาสมัครด้วย
หลังจากการลงพื้นที่จนเข้าโค้งสุดท้ายแล้ว คุณประเมินเสียงหรือการตอบรับจากประชาชนอย่างไรบ้าง
กระแสทุกที่ที่ไปดีมากครับ หน้าที่ของเราก็คือจะเปลี่ยนกระแสตรงนี้ให้เป็นคะแนนได้อย่างไร จากภาพที่เห็นมันมีท่วมท้น ทั้งกระแสในโลกโซเชียลฯ แต่ว่าการทำงานการเมืองหรือจากการศึกษาการเมืองของคนอื่นก็ทำให้รู้ว่า การเป็นกระแสไม่ได้หมายความว่าเป็นคะแนน การที่อยู่ในแฮชแท็กเยอะๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคะแนน เพราะฉะนั้นในโค้งสุดท้ายเราไม่รู้ว่าเราจะต้องเจอกับอะไรบ้าง แต่สิ่งที่เราตั้งใจที่จะทำก็คือ พบปะประชาชนให้ได้มากที่สุด แต่ละคนก็จะกระจายไปแต่ละพื้นที่ในช่วงสุดท้ายให้ได้มากที่สุด ทำให้เต็มที่ แล้วก็ยอมรับผลที่จะเกิดขึ้น แต่อย่างน้อยเรามั่นใจว่า เราได้ทำเต็มที่ที่สุดเท่าที่จะทำได้
แล้วทุกวันนี้คุณมีเวลาให้ลูกบ้างไหม
เขาก็ไปกับผมครับ เท่าที่ไปได้ ก็มีคุณย่าไปด้วย ไปแต่ละครั้งเขาก็ชอบนะ เพราะว่ามีคนเล่นด้วยเยอะ แล้วคนที่อยู่ในพรรคก็มีคนทำงานด้านการศึกษา มีครูอนุบาล มีคนที่อายุใกล้ๆ กัน มีลูกรุ่นเดียวกันเยอะ พรรคให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ คุณมีภาระหน้าที่ก็จริง แต่อีกบทบาทหนึ่งคุณก็เป็นแม่เป็นพ่อคน ก็จะเห็นคนในพรรคพิมพ์คอมพ์ไปมีลูกแบกอยู่ข้างหลังด้วย มีเด็กผู้ชายอายุ 2 ขวบครึ่งวิ่งไปมา ที่พรรคก็จะมีส่วนหนึ่งเป็นมุมให้เด็กเล่นได้ ไม่ต่างจากออฟฟิศ Google หรือ Facebook ที่สามารถเอาลูกไปทำงานได้ แต่แน่นอนก็ต้องดูบริบทด้วย ไม่ใช่ว่าตะบี้ตะบันให้ลูกไปกับเราทุกที่ ถ้าเขาไม่สบาย หรือใกล้จะเริ่มเรียนแล้วก็คงต้องไปเรียน พอลูกเข้าเรียน ผมก็คงได้มาทำงานการเมืองเต็มที่
ทุกวันนี้ผมพยายามใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะตอนผมอยู่ที่นิวซีแลนด์ พ่อบ้านก็เลี้ยงลูกด้วยตัวเอง ผมคิดว่าพ่อกับแม่มีความสำคัญเท่ากัน แล้วก็ต้องเลี้ยงลูกอย่างเท่าเทียมกัน พ่อก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำทุกอย่างที่แม่ทำเป็น เพราะฉะนั้นผมเปลี่ยนผ้าอ้อมเป็น ทำกับข้าวให้ลูกเป็น อาบน้ำให้ลูกเป็น เอาลูกเข้านอนเอง ทำเองหมดทุกอย่าง
ผมคิดว่าเด็กช่วงวัยนี้ เขาสะกดคำว่า ‘รัก’ ยังไม่เป็น แต่สะกดคำว่า ‘เวลา’ เป็น เพราะฉะนั้นของขวัญที่พิเศษที่สุดที่เราจะให้เขาได้ก็คือเวลา เมื่อเราให้เวลากับเขา เขาก็จะผูกพันกับเรา สื่อสารกับเขามากๆ รับฟังเขามากๆ เพราะอย่างน้อยเขาก็จะรู้ว่ายังมีพ่อคนหนึ่งละที่รับฟังเขา ให้เขาแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกัน เราก็จะรู้จักนิสัยเขามากขึ้น สามารถที่จะป้องกันเวลาที่เขาจะดื้อ หรือไม่ฟังเราได้มากขึ้น แทนที่คุณจะต้องมาคอยแก้ไขพฤติกรรม คุณก็จะป้องกันได้ก่อนที่พฤติกรรมนั้นจะเกิดขึ้น
ได้ยินมาว่าคุณทิมอ่านนิทานให้ลูกสาวฟังเป็นประจำ
อ่านทุกคืนครับ เรื่องเอลซ่า ผมอ่านคืนหนึ่ง 7-8 รอบ จะให้ผมท่องให้ฟังไหมล่ะ “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองเอเรนเดลล์มีเจ้าหญิง 2 คน ชื่อเอลซ่ากับแอนนา ทั้งคู่เป็นพี่น้องกัน แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่ง เอลซ่าทำร้ายแอนนาด้วยความไม่ตั้งใจ มันเป็นอุบัติเหตุ ทำให้ทั้งคู่โตขึ้นมาไม่สนิทสนมกันเหมือนเคย”
แล้วถ้าสักวันหนึ่งคุณต้องกลายเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว รู้สึกหนักใจไหม
ไม่นะครับ ผมคิดว่าผมไม่สามารถที่จะควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมได้ แต่ผมควบคุมวิธีที่จะตอบสนองกับมันได้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมก็ใช้เวลาอยู่กับลูกเต็มที่ ได้ลงมือทำและดูแลด้วยตัวเองมาตลอด เพราะฉะนั้นผมเลยทำเป็นหมดทุกอย่าง ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงและไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหาแต่อย่างใด
ที่ฟังมาทั้งหมดจะเห็นว่าเป็นคนวางแผนชีวิตพอสมควร มองหรือคาดหวังในอนาคตของตัวเองไว้อย่างไร
จริงๆ แล้วตอนเด็กๆ ก็ไม่ได้วางแผนอะไรเยอะ เป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แล้วก็ได้ลอง ได้ท่องเที่ยว ได้ทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ แต่พอคุณพ่อเสียชีวิตก็ทำให้เข้าใจว่า คุณค่าของชีวิตคืออะไร ชีวิตมันไม่ได้ยืนยาวไปตลอด ก็เริ่มที่จะวางแผนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผมวางแผนเป็นระยะเวลา 10 ปี แล้วก็หวังว่าคงจะมีชีวิตถึง 70-80 เหมือนคนทั่วไป 10 ปีต่อจากนี้อุทิศให้กับการเมือง การช่วยเหลือประชาชน อาจจะต่อไปอีก 10 ปี ถ้าภารกิจยังไม่สำเร็จ แต่ก่อนจะถึง 10 ปี สุดท้ายอยากจะเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด อาจจะขอไปอยู่ที่แม่โจ้ นเรศวรหรือที่สงขลา คงไม่อยู่ในกรุงเทพฯ แน่ๆ เพราะผมโตมาแบบนี้ โตมาในเมืองที่มีประชากรอยู่ 5,000 คน แต่มีแกะเป็นล้านตัว ชอบชีวิตชนบทมากกว่า และ 10 ปี สุดท้ายขออยู่ในฟาร์มของตัวเอง อยู่ในที่ของตัวเองที่ได้เตรียมไว้ตั้งแต่ตอนนี้ ก็หวังว่าจะไปใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่ฟาร์ม
มองอนาคตทางการเมืองของตัวเองในระยะยาวไว้อย่างไร
ผมไม่เคยใฝ่ฝันที่จะเป็นอะไรเลย ในลักษณะที่จะต้องมีตำแหน่งหรืออะไร ตำแหน่งเป็นแค่เส้นทาง แต่ว่าปลายทางคือการเปลี่ยนแปลง ผมอยากจะทำให้เกิด dent in the universe อยากจะให้มันมีรอยเขยื้อนในประวัติศาสตร์ไทยที่มาจากเรา ให้มันเป็นการเขยื้อนในสิ่งที่ดีขึ้นไม่มากก็น้อย จะมีอำนาจหรือไม่มีอำนาจก็ค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง แต่ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะว่าเราไม่ได้ต้องการที่จะมาเอาอะไรจากตำแหน่ง
Fact Box
- ‘ทิม’ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีพี่น้องสองคน เขาเป็นลูกชายคนโตของพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (เสียชีวิตแล้ว) กับลิลฎา ลิ้มเจริญรัตน์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะบริหารธุรกิจ การเงินการธนาคาร ภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1) และระดับปริญญาโท สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสาขาบริหารธุรกิจที่ Sloan, Massachusetts Institute of Technology (MIT) สหรัฐอเมริกา
- จากนั้นพิธากลับมาทำงานธุรกิจของครอบครัว ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด และเกรท โอเชียน ฟู้ด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตผลิตผลทางการเกษตร เช่น น้ำมันรำข้าว นอกจากนี้ เขายังเคยทำงานเป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ และ Exective Director ของบริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด