เคยมีคนพูดให้ฟังว่าไม่ควรถกเถียงกันเรื่องการเมืองและศาสนา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ทำให้คนทะเลาะมานักต่อนัก บางทีเถียงกันไป สุดท้ายก็เป็นการพูดพร่ำความเชื่อของตัวเองมากกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็น

คำถามคือ เราสามารถเปลี่ยนความเชื่อทางการเมืองของคนอื่นได้ไหม?

โจนาส แคปแลน (Jonas Kaplan) และซาราห์ กิมเบล (Sarah Gimbel) นักจิตวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และนักประสาทวิทยา แซม แฮร์ริส (Sam Harris) ได้ทำการวิจัยเชิงจิตวิทยาเพื่อหาคำตอบของคำถามข้างต้น โดยผลวิจัยได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Scientific Reports ระบุว่า

เมื่อนำอาสาสมัครที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบ ‘ลิเบอรัล’ 40 คน เข้าเครื่องสแกน fMRI (Functional Magnetic Resonance Imaging) เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวของสมองระหว่างที่ถูกท้าทายอุดมการณ์ทางการเมืองด้วยวิธีต่างๆ
อาทิ การเป่าหูว่า “สหรัฐฯ ควรลดงบประมาณทางทหารลง” หรือ “รัสเซียครองอาวุธนิวเคลียร์เยอะกว่าอเมริกาเกือบ 2 เท่า” สลับกับเรื่องที่ไม่ใช่การเมืองอย่าง “โทมัส เอดิสัน ผลิตหลอดไฟ” และ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ คือหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล” เพื่อเปรียบเทียบความเคลื่อนไหวในสมองระหว่างที่รับรู้ถึงการท้าทายอุดมการณ์ที่ยึดถือกับเรื่องที่มีอารมณ์พัวพันน้อยกว่า

แคปแลนพบว่า เนื้อหาที่ท้าทายความเชื่อทางการเมืองสร้างผลกระทบต่อผู้เข้าร่วมการทดลองได้มากกว่าเรื่องที่ไม่ใช่การเมือง สำหรับหัวข้อและระดับการเปลี่ยนแปลงความเชื่อแสดงอยู่บนตารางข้างใต้นี้ โดยชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนความคิดในเรื่องอย่างความสำเร็จของ โทมัส เอดิสัน สวนทางกับเรื่องอย่างการทำแท้ง แต่งงานเพศเดียวกัน  และผู้อพยพ

ผู้เข้าร่วมทดลองมีความเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดของตนเองในประเด็นที่ไม่ใช่การเมืองมากกว่า
Photo: vox.com

เมื่อดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสมองก็พบว่า ส่วนที่เรียกว่า Default Mode Network (DMN) ซึ่งคาดว่ายึดโยงกับตัวตนและอารมณ์ด้านลบมากกว่าส่วนอื่นๆ ซึ่งเชื่อมโยงถึงความจำ อาการใจลอย การครุ่นคิดถึงเรื่องอัตลักษณ์และตัวตน ได้รับการกระตุ้นเกี่ยวกับอารมณ์ด้านลบ โดยเฉพาะเมื่อได้รับคำท้าทายความเชื่อทางการเมือง

นอกจากนี้ ในงานวิจัยที่ทีมเคยทำก่อนหน้านี้ ที่ถามถึงเรื่องศาสนาที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อและตัวตน ก็ให้ผลใกล้เคียงกัน

ซึ่งสมองส่วน DMN มักจะถูกกระตุ้น เมื่อมีเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณาตัวตน และรับรู้ภัยคุกคาม จนอาจขวางกั้นความคิดความเชื่อใหม่ๆ ที่ไม่ตรงกับความเชื่อของตัวเอง จนเป็นเหตุให้ไม่ยอมรับข้อเท็จจริง

นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ระบุอีกว่า การต่อต้านคำท้าทายเกี่ยวกับความเชื่อทางการเมืองของสมองไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสมองมีหน้าที่หลักในการปกป้องและดูแลร่างกาย ซึ่งหมายรวมถึงตัวตนในแง่จิตวิทยาด้วย

เพราะเหตุนี้ เมื่อตัวตนที่มีถูกโจมตีหรือคุกคาม จึงไม่แปลกที่สมองจะต่อต้านและพยายามป้องกันตัวตนเดิมของเรา

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:

–  http://www.vox.com/science-and-health/2016/12/28/14088992/brain-study-change-minds

Tags: ,