เดือนที่ผ่านการปะทะกันระหว่าง ‘เฟมทวิต’ กับ ‘เบียว’ บนโลกโซเชียลมีเดียกลายเป็นหัวข้อที่จุดประเด็นให้สังคมหันมาตั้งคำถามถึงความเสมอภาคทางเพศระหว่างหญิงชาย
แต่ภายใต้การถกเถียงกันที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไร้สาระ กลับแฝงสาระให้ชวนคิดต่อหลายประเด็น ทั้งเรื่องที่เบียวมองว่าเฟมทวิต ดีแต่ ‘ฉอด’ ไม่ได้ลงมือทำอะไรอย่างแท้จริงเหมือนกลุ่มเฟมินิสต์ที่เคลื่อนไหวรณรงค์อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง หรือ #มองนมไม่ผิด ที่ต่างฝ่ายต่างโต้กันไปมาถึงเหตุและผล ไปจนถึงการอ้าง Free speech ในการโจมตีอีกฝ่าย แต่กลับเปลี่ยนไปเป็น Hate speech แทน
เมื่อโลกโซเชียลฯ เอื้อให้เราเป็นใครก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบคำพูดของตัวเอง ขอบเขตของการแสดงความเห็นควรอยู่ตรงไหนถึงจะไม่ล้ำเส้นกลายเป็นการสร้างความเกลียดชังหรือคุกคามฝ่ายตรงข้าม
The Momentum หยิบประเด็นนี้ไปคุยกับ ‘พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ’ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประเทศไทยของ ARTICLE 19 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติที่ทำงานเพื่อปกป้องและส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก นอกจากประเด็นนี้แล้ว เรายังชวนคุยถึงการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในประเทศไทยด้วย ว่าจากประสบการณ์ขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่องนั้น มีประเด็นอื่นใดอีกที่สังคมยังไม่เคยรู้
จากรณีของ ‘เฟมินิสต์’ กับ ‘เบียว’ คุณมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง
ถ้าถามว่าเฟมทวิตเป็นเฟมินิสต์ไหมเราว่าทุกคนที่เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศหรือเรียกร้องสิทธิสตรี ก็ถือว่าเป็นเฟมินิสต์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือ LGBTQ ซึ่งมันมีความเข้าใจกันว่าเฟมทวิตเป็นพวกประสาทแดก ไม่ใช่เฟมินิสต์จริงๆ แต่ประเด็นว่าใครจริง ใครแท้นั้น เราไม่เห็นด้วยกับการโต้เถียงนี้ เพราะสิ่งที่เฟมทวิตทำมันก็เป็นรูปแบบหนึ่งในการเคลื่อนไหว ดังนั้นคนที่เรียกร้องอยากเห็นความเท่าเทียมทางเพศสำหรับเราทุกคนก็เป็นเฟมินิสต์ แต่รูปแบบวิธีการอาจจะไม่เหมือนกัน และที่น่าสนใจกว่านั้นคือไม่ว่าจะเป็นเฟมทวิตหรือคนที่ออกมาด่าเฟมทวิตเราจะเห็นได้ว่ามันอยู่ในแพลตฟอร์มของชนชั้นกลางนะ คนที่ตีกันไปตีกันมานี่ เป็นชนชั้นกลางทุกคนเลย
แล้วคนที่ต้องการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ แต่เขาอาจจะไม่ได้อยู่ในแพลตฟอร์มนี้ อย่างคนที่อยู่ในชนชั้นแรงงานหรืออยู่ในภาคการเกษตร จริงๆ แล้วมันมีพื้นที่ให้เขาพูดในประเด็นของเขาไหม ถ้าถามว่าเขาคิดหรือไม่คิดถึงการเรียกร้องความเท่าเทียม อันนี้เราก็ไม่สามารถฟันธงไปได้ แต่ถ้าสมมติว่าเขาอยากจะพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน หรือเรื่องค่าแรง มันมีพื้นที่ให้เขาพูดไหม ตรงนี้เรายังไม่ค่อยเห็นนะ มันเลยกลายเป็นว่าพื้นที่โซเชียลมีเดียคือพื้นที่ที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็เป็นพื้นที่ของชนชั้นกลางมากกว่า ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องไม่ดีนะ แต่ว่าทุกคนที่อยู่ในดีเบตนี้ก็จำเป็นต้องตระหนักด้วยว่าเราอยู่ในจุดที่มีสถานะทางสังคมสูงกว่าคนอื่นหรือเปล่า ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในชนชั้นนี้เราอาจจะไม่ได้มีเวลามาตีกันในทวิตเตอร์ก็ได้ แต่เมื่อพื้นที่ออนไลน์เป็นแบบนี้ ลองดูว่าเราจะขยับออกนอกพื้นที่ออนไลน์ไปหาคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสถานะทางสังคมแบบเดียวกันกับเราได้อย่างไรบ้าง ตรงนี้เป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ
เราอาจจะเห็นกันว่าเฟมินิสต์ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงนี้ ในอดีตประเทศไทยเคยมีการเคลื่อนไหวในประเด็นนี้มากน้อยแค่ไหน
ในประวัติศาสตร์ไทยมันจะไม่ค่อยเหมือนที่อื่น เพราะว่าพอมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 ทุกคนได้สิทธิ์เลือกตั้งพร้อมกันเลยไม่ว่าจะผู้ชายหรือผู้หญิง แต่ประเทศอื่นผู้หญิงจะได้สิทธิ์หลังผู้ชาย อย่างสวิตเซอร์แลนด์ ผู้หญิงเพิ่งได้มีสิทธิเลือกตั้งเมื่อปี 1971 ซึ่งก็ไม่นานนี้เองนี้เอง แต่ตอนนี้สวิสส์ก็กลายเป็นประเทศที่ขยับไปเยอะแล้วในเรื่องสิทธิมนุษยชน
ในโลกตะวันตก การเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ถูกแบ่งออกเป็น First wave ตามมาด้วย Second wave และ Third wave ใช่ไหม First wave ก็คือสิทธิในการเลือกตั้ง แต่เมืองไทยเรามีพร้อมกันเลยในปี 2475 เพราะฉะนั้นการต่อสู้ของไทยมันจึงขยับมาเป็น Second wave ที่เรียกร้องสิทธิในการได้ค่าแรงเท่ากับผู้ชาย สิทธิในการลาคลอด สิทธิในหน้าที่การงาน หรือว่าการมี ส.ส. หญิงในรัฐสภา แล้วเรื่องสิทธิลาคลอดในเมืองไทยนั้น จริงๆ ขับเคลื่อนโดยกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย–อ้อมใหญ่ เพราะตอนแรกช่วงผู้หญิงลาคลอดได้ 30 วัน เขาก็เลยต่อสู้ให้ลาคลอดได้ 90 วัน ซึ่งก็ต้องยกเครดิตให้ขบวนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศที่เป็นชนชั้นแรงงานด้วย
ขบวนแรงงานจึงน่าจะเป็นขบวนผลักดันสิทธิสตรีที่ใหญ่สุดตั้งแต่เคยมีมาแล้วแหละ แต่เขาอาจจะไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นขบวนสิทธิสตรีโดยตรง
หลังจากนั้นขบวนแรงงานก็ถูกตัดตอนไปเรื่อยๆ ในช่วง 6 ตุลา 19 หรือช่วงความขัดแย้งเหลืองแดงที่ทำให้ความสมานฉันท์ในขบวนแรงงานที่ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีมันอ่อนลงไป เวลาเกิดสถานการณ์ทางการเมืองขบวนก็ถูกทำให้อ่อนแอลงเรื่อยๆ ด้วยอำนาจรัฐ โผล่มาอีกทีก็เห็นเฟมทวิตตีกันกับเบียวในทวิตเตอร์แล้ว ซึ่งจริงๆ มันมีการเคลื่อนไหวมาก่อนหน้านั้น แต่อาจจะไม่ได้อยู่ในการรับรู้ของคนส่วนใหญ่
ถ้าถามว่าองค์กรภาคประชาสังคมอะไรที่มีความพยายามผลักดันให้ออกมาเคลื่อนไหวเป็นขบวนใหญ่ ก็ยังไม่เห็นนะ ส่วนใหญ่จะเป็นการต่อสู้รายประเด็นไปมากกว่า ไม่เหมือนกับขบวนแรงงานที่ฐานกว้างใหญ่มหาศาล ทุกวันนี้บ้านเรามีแรงงานทั้งในและนอกระบบถึง 30 กว่าล้านคน
ดังนั้นสิ่งที่เรายังขาดอยู่จึงเป็นสิทธิในร่างกายหรือเปล่า ระยะหลังคนจึงหันมาพูดถึงประเด็นการแต่งกายหรือการคุมคามทางเพศมากขึ้น
ส่วนหนึ่งเราว่าเป็นเรื่องวัฒนธรรมด้วย 2475 อาจจะเปลี่ยนแปลงในเรื่องสิทธิพลเมืองอย่างชัดเจน เมื่อถึงยุคขบวนแรงงานช่วงสงครามเย็นจนถึงช่วงก่อนรัฐประหาร 2549 ก็เป็นการสู้เรื่องสิทธิของผู้หญิงในสถานประกอบการ มันก็มาเป็นคลื่นเหมือนกันว่าช่วงนั้นสู้เรื่องนี้ ช่วงนี้สู้เรื่องนั้น บางเรื่องสู้ไปได้ประมาณหนึ่งละ ก็เป็นเรื่องอื่นต่อ เรื่องที่มันเป็นอะไรที่เห็นชัดๆ จับต้องได้มีผลประโยชน์ชัด
ตอนนี้ก็ขยับมาถึงเรื่องวัฒนธรรม อย่างการแต่งกาย ที่เราควรเลือกได้ว่าจะใส่เสื้อผ้าอะไรก็ได้ คุณไม่มีสิทธิ์มายุ่งกับเรา มันก็เป็นพัฒนาการของสังคมตามปกติ สังคมไทยอาจจะขยับไปช้ากว่าสังคมตะวันตกในแง่ของการต่อสู้ด้านวัฒนธรรม แต่มันก็มาแล้ว
ทำไมการออกมาเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องเฟมินิสต์ในโลกออนไลน์ถึงดูเหมือนเป็นการ ‘ฉอด’ ไปวันๆ มากกว่าการขับเคลื่อนจริงในโลกออฟไลน์
ก็เป็นลักษณะของโลกจังหวะนี้ โดยรวมๆ เลย อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของเฟมินิสต์ด้วยซ้ำ แต่ถ้าอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังไงก็ต้องมีขบวนการอยู่ในโลกออฟไลน์ด้วย หากอยากผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายหรือมีส่วนร่วมกับการผลักดันกฎหมายจริงๆ เพราะโลกยังฟังก์ชันในรูปแบบนี้อยู่ คือไม่ได้บอกว่าในออนไลน์ไม่มีพลังนะ มันก็มีพลังในการสร้างความรับรู้ได้ แต่ในเมื่อพื้นที่อำนาจมันยังอยู่ในโลกออฟไลน์ เราก็ต้องออกมาผลักนั่นแหละ อย่างการเปลี่ยนแปลงกฎหมายลาคลอด ขบวนแรงงานออกเขาก็มาประท้วง ออกมาล่ารายชื่อ
สังเกตว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการออกเรียกร้องของกลุ่มเฟมินิสต์จะมีกลุ่มต่อต้านขึ้นมาทุกครั้ง ซึ่งไม่ใช่แค่ในไทย แต่ในต่างประเทศก็เป็นเหมือนกัน
มันเป็นปกติค่ะ ใครที่เสนอความเปลี่ยนแปลง ก็ต้องมีแรงต้านเสมอ เรื่องที่เคยต่อสู้กันมาอย่างการใช้คำนำหน้าชื่อนาง นางสาว ตอนนั้นมันก็มีแรงต้านนะว่าจะรู้ได้ยังไงว่าแต่งกับใคร ซึ่งไม่ต้องรู้ก็ได้ไหม (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ในสังคมไทยขยับมาเป็นเรื่องวัฒนธรรม การที่มีแรงต้านก็ไม่แปลก เพราะจะมีคนส่วนหนึ่งที่รู้สึกว่าได้ประโยชน์จากสิ่งที่เป็นอยู่ เราไม่ได้สรุปว่าเป็นคนหรือเป็นเพศอะไรนะ แต่มันเป็นโครงสร้างที่เอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเหนืออีกคนเสมอ
อย่างประเด็นทรงผมนักเรียนก็เป็นเรื่องสิทธิสตรีนะ เพราะคนที่โดนมากกว่าจะเป็นเด็กผู้หญิง ต้องใส่เสื้อทับ ต้องตัดผมสั้น ห้ามใส่เครื่องประดับ เดี๋ยวจะแรด เดี๋ยวจะมีผัวก่อนวัยอันควร จริงๆ มันเป็นการควบคุมเพื่อให้รู้สึกว่า—โอเค กูยังมีอำนาจเหนือใครบางคนหรือคนบางกลุ่ม เรื่องการแต่งตัวก็เหมือนกันมันก็จะมีความรู้สึกว่าผู้หญิงจะมีเสรีภาพมากไปแล้วที่จะเดินโนบราออกไปไหน แต่การโต้เถียงกันมันไม่ได้เป็นเรื่องแบบนั้น เพราะมันมีการบิดข้อโตแย้งเพื่อพยายามที่จะควบคุมให้อยู่ในร่องในรอย นี่ก็คือพื้นฐานของการต่อสู้ของเฟมินิสต์ด้วยนะ เพราะว่าผู้หญิงถูกควบคุมโดยวิธีคิดของสังคม เขาจึงต่อสู้เพื่อให้หลุดออกมาจากโครงสร้างนั้นที่พยายามควบคุมเขาเอาไว้
หมายความว่าเรายังคงติดอยู่ในโครงสร้างชายเป็นใหญ่ ซึ่งไม่เพียงแค่ผู้ชายเท่านั้นที่ควบคุม แต่บางครั้งผู้หญิงเองก็เป็นคนร่วมรักษาโครงสร้างนั้นไว้
ใช่ เราเห็นเคสที่สามีพยายามให้ภรรยาของตัวเองอยู่ในร่องในรอยว่าต้องกลับบ้านไม่เกินกี่โมง แล้วก็มีผู้หญิงบางคนมาโต้แย้งว่าเรื่องแค่นี้เอง ไม่เห็นจะเป็นไร ซึ่งคุณพอใจตรงนั้น แต่ผู้หญิงคนอื่นเขาอาจจะไม่พอใจตรงนั้นก็ได้ บางครั้งผู้หญิงก็ไม่รู้ตัวว่าโครงสร้างมันบังคับกดขี่ผู้หญิงอีกที แต่ไม่ต้องมาอวดว่าเป็นเรื่องที่ดีกว่าหรือเป็นคนที่ดีกว่า มันไม่ได้ดีกว่า แล้วแต่ว่าคุณจะเลือก ซึ่งระบบก็ไม่ได้เปิดให้ทุกคนเลือกได้อย่างเสรี
ส่วนหนึ่งที่การเรียกร้องของเฟมทวิตดูเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะมองผิวเผินเหมือนว่าผู้หญิงกับผู้ชายเท่ากันแล้วหรือเปล่า
คนที่เขาบอกว่าเท่ากัน มาตรฐานของเขาคืออะไร เอาแค่ภาพใหญ่เราก็เห็นแล้วว่า สัดส่วนผู้สมัคร ส.ส. หญิงในการเลือกตั้งรอบนี้ 21% แค่นั้นเอง แล้วพอเลือกเข้ามาแล้วจำนวนผู้หญิงในรัฐสภาแค่ 15% ขนาดในรัฐสภาก็ยังไม่เท่ากัน นี่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดถึงระดับบุคคลที่เขาต้องเจอการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานอีกนะ บางบริษัทระบุไว้เลยว่าถ้าเป็นผู้หญิงอายุเท่านี้ถึงนี้ไม่รับเดี๋ยวตั้งครรภ์แล้วลาคลอด หรือรับก็ได้แต่ต้องได้ค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชาย เรื่องอะไรพวกนี้มันยังมีอยู่จริงๆ และถ้ามันยังมีเรื่องพวกนี้อยู่มันก็เรียกไม่ได้หรอกว่าสังคมเท่าเทียมกัน
แม้กระทั่งสังคมตะวันตกที่สู้กันมาเยอะ ก็ยังมีประเด็นเรื่องค่าแรงไม่เท่ากัน ในอเมริกานี่ค่าแรงผู้หญิงกับผู้ชายก็ยังห่างกันอยู่ มันจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเท่ากันแล้ว เราจะไปมองแค่ผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญระดับประเทศไม่ได้ เพราะสังคมนี้ยังมีผู้หญิงอีกหลายสิบล้านคนที่เผชิญกับปัญหาที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ ไม่ว่าจะเรื่องการโดนล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน ความรุนแรงในครอบครัว หรือการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน แล้วผู้หญิงบางคนเขาก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่ได้ประโยชน์อะไรจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายจากระดับบนมากขนาดนั้น
เมื่อก่อนเฟมินิสต์จะเป็นขบวนการที่ขับเคลื่อนในเรื่องเดียวกัน แต่ทุกวันนี้ขบวนการเฟมินิสต์มีความหลากหลายมาก บางกลุ่มก็เห็นขัดแย้งกัน การที่มีความหลากหลายนี้สะท้อนอะไรบ้าง
เราว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดหรือเรื่องไม่ดีนะ มันก็สะท้อนความหลากหลายของขบวนการนั่นแหละ ยกตัวอย่างการขายบริการทางเพศ จนถึงทุกวันนี้บ้านเราเฟมินิสต์กับเบียวอาจจะยังไม่ได้ตีกันในประเด็นนี้ แต่ฝั่งในตะวันตกเขาตีกันไปแล้ว ซึ่งก็มีบางฝ่ายที่บอกว่ามันเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง จะหรือไม่ทำก็เป็นสิทธิของเขา แต่ก็มีฝ่ายที่โต้ว่ามันไม่ได้มีใครมีเจตจำนงเสรีขนาดนั้นว่าจะขายหรือไม่ขาย เพราะส่วนใหญ่คนที่ไปขายบริการก็เป็นเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นเขาก็ต่อสู้ให้แบนให้หมดเลย เพราะมองว่าเป็นการหาประโยชน์จากเรือนร่างของผู้หญิง
คิดว่าเฟมินิสต์มีปัญหาในตัวของมันเองไหม
เราว่าแนวคิดไม่ได้มีปัญหานะคะ แต่ว่าความตรรกะพังมันมีอยู่ทุกที่แหละ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดแบบไหน เราอาจจะเห็นแนวคิดของฝ่ายขวาที่ตรรกะพังตลอดเวลา มีอำนาจรัฐอยู่ในมือก็เลยทำให้ความตรรกะพังกลายเป็นกฎหมายได้ ในการเคลื่อนไหวใดๆ มันก็จะมีทั้งคนที่ทั้งแม่นยำในตรรกะ และก็คนที่อาจจะไม่ได้ชัดเจนมากอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะหากเป็นผู้หญิงที่อยู่ในโรงงานอยากพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่อาจจะไม่สามารภใช้ภาษาหรือใช้วิธีพูดได้เท่านักวิชาการ มันก็ต้องถามก่อนแหละว่ามีพื้นที่ให้พวกเขาเกิดการเติบโตมากน้อยขนาดได้
แนวคิดจริงๆ มันไม่ควรจะมีปัญหา เพราะเป็นแนวคิดที่เรียกร้องความเท่าเทียม ส่วนเรื่องตรรกะหรือวิธีที่ใช้ก็ต้องมีการพูดคุยในขบวนการเองนั่นแหละ หรือแม้แต่ในวงคนนอก เพื่อพิจารณาว่าไอเดียนี้ผ่านไหม เราว่ามันเป็นเรื่องปกติ กรอบกว้างไม่ได้มีปัญหา แต่การเลือกเฟรมรายละเอียดมันต้องมาคุยกัน แม้กระทั่งในขบวนการเองก็ยังงัดกันไปงัดกันมา เอาแค่เรื่องขายบริการก็ตีกันยับเหมือนกันนะ
การถกเถียงกันระหว่างเฟมทวิตกับเบียวถือเป็น Free speech อย่างหนึ่งไหม เพราะบางครั้ง Free speech ก็เปลี่ยนไปเป็น Hate speech
ถ้าจะพูดว่าอะไรคือ Free speech อะไรคือ Hate speech มันจะมีเส้นที่แบ่งอยู่ Hate speech หรือคำพูดสร้างความเกลียดชัง จริงๆ แล้วไม่ได้มีนิยามที่ยอมรับร่วมกันชัดเจน กรอบกฎหมายสิทธิมนุษยชนก็ไม่ได้มีคำว่า Hate speech แต่สรุปแล้วมันเป็นคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง หรือการไปโจมตีกับคนอื่นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ชาติพันธุ์ สัญชาติ สีผิว และเพศ เช่น อยู่ดีๆ ไปด่ารัฐมนตรีคนหนึ่งว่า ‘ไอ้เหี้ยอ้วนเบาหวาน’ อันนั้นไม่ใช่ Hate speech นะ เพราะว่ามันไม่ได้อยู่บนอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่มีคำหนึ่งที่อยู่ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ คือ ‘Incitement’ หรือคำพูดที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง อันนี้แบนแน่ๆ เพราะเป็นการถอดบทเรียนจากการฆ่าล่างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
แล้วเราจะรู้ได้ยังไว่าอะไรแบนได้ อะไรแบนไม่ได้นั้น มันมีมีหลักการบอกไว้อยู่ว่าอะไรเข้าข่าย เช่น บริบทของการพูด สมมติเรานั่งคุยกันเองบอกว่า เกลียดรัฐมนตรีคนนี้ว่ะ ไปฆ่ามันกันเถอะ มันก็ดูปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงใใช่ไหม แต่เมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมแล้วแทบเป็นไม่ได้เลย ซึ่งก็จะเกี่ยวด้วยว่าผู้พูดเป็นใคร ถ้าเรา–ประชาชนพูดว่าไปตีหัวรัฐมนตรีคนนี้กันเถอะ กับรัฐมนตรีคนนั้นพูดว่าไปตีหัวนักกิจกรรมกันเถอะ น้ำหนักของคำพูดมันไม่เท่ากัน นอกนั้นก็มีเรื่องว่าตั้งใจจริงๆ หรือพูดฉอดไปเล่นๆ มีเนื้อหา ขอบเขตของคำพูด และความเป็นไปได้ของการที่จะเกิดความรุนแรงจริงไหม คือ มันมีมาตรฐานอยู่ว่าแบบไหนเป็นการยั่วยุปลุกปั่น
การด่ากันไปด่ากันมา ความจริงแล้วยังไม่ได้จัดเป็น Hate speech หรือว่ามันอาจจะเป็น Hate speech ก็ได้ แต่มันยังไม่ได้อยู่ในระดับที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงจนถึงขั้นต้องแบนหรือบังคับไม่ให้พูด ซึ่งประเด็นนี้ควบคุมยากมาก เพราะว่ามันก็จะมีฝ่ายที่บอกว่าปล่อยให้พูดต่อๆ ไป เดี๋ยวมันก็กลายเป็น Norm หรอก แต่ว่าถ้าใช้วิธีแบน สมมุติฝ่ายเฟมินิสต์สามารถรณรงค์แบนพวกเบียวไม่ให้พูดได้ แล้วสมมุติวันหนึ่งเบียวได้เป็นนายกรัฐมนตรีขึ้นมาจะทำยังไง (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นการไปบังคับไม่ให้พูดมันไม่ใช่ทางออก มันอาจจะฟังดูโลกสวย แต่การเปิดพื้นที่ให้กับทุกๆ ฝ่าย มาปะทะสังสรรค์กันทางความคิด ถ้ามันไม่ถึงขั้นข้ามเส้นไปเป็นการคุกคามทางเพศ การล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว และไม่ใช่การยั่วยุความรุนแรง ก็อาจจะต้องปล่อยให้พูดไป
Political Correctness หรือ PC ก็เป็นวิธีห้ามไม่ให้พูดอย่างหนึ่งด้วยใช่ไหม
เป็นดีเบตที่วนๆ อยู่ในบริบทของอเมริกามากเลยนะเรื่องนี้ เพราะในช่วงยุค 70s-80s PC เป็นคำล้อกันเองของฝ่ายซ้าย เช่น สมมติอยู่ในมหาวิทยาลัยแล้วเห็นเพื่อนเราซื้อโค้กมากิน ก็จะทักว่ามึงไปซื้อสินค้าของทุนนิยมได้ยังไง คนนั้นก็จะตอบว่ามึงจะ PC ไปไหน แต่พอ Identity politics หรือการเมืองเรื่องอัตลักษณ์มีที่ทางชัดเจนขึ้น เลยกลายเป็นว่าบางเรื่องไม่ควรจะไปแตะต้อง ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องการใช้คำพูดที่ดูถูกหรือเหยียดหยาม อย่างยาสีฟันดาร์กี้ที่เปลี่ยนชื่อเป็นดาร์ลี่ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง เพราะก็ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมในการผลักดันให้ไปในทางที่ดีขึ้น แต่ว่ามันก็ไม่น่าจะกลายมาเป็นการจำกัดเสรีภาพของคนในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพราะบางครั้งเราไม่สามารถไปยุ่งกับสิ่งที่มันอยู่ในหัวคนได้
อาจจะมีคนที่เกลียด LGBTQ แต่เขาจะถูกตัดสินก็ต่อเมื่อแสดงออกมา ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบางทีอาจจะต้องปล่อยนะถ้าอยู่แค่ในหัวเขา เราว่า PC มันโอเคประมาณหนึ่งที่จะผลักดันสังคมให้อยู่ในแนวปฏิบัติหรือมาตรฐานที่ดีขึ้น แต่ว่าถ้ามันจะล้ำเส้นด้วยการพยายามเข้าไปควบคุมสิ่งที่อยู่ในหัวคนอื่น มันคงเป็นไปไม่ได้ แต่รณรงค์ได้
คิดว่า PC เป็นการห้ามเหยียด—ที่เหยียดอีกที่ไหม เพราะอย่างคำเรียก ‘คนดำ’ ก็มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ดังนั้นการที่เราคิดว่าเป็นคำเหยียดก็เพราะว่าเรานึกเหยียดเองหรือเปล่า
เราว่าต้องถามคนที่เป็นเจ้าของอัตลักษณ์ด้วย ซึ่งไปๆ มาๆ มันก็จะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมาก ถ้าเป็นเพื่อนสนิทกันก็อาจเรียกว่านิกเกอร์ได้นะ หรือเรามีเพื่อนคนฟิลิปปินส์ที่เป็นเกย์ เราเรียกเขาว่าอีกะเทยในภาษาตากาล็อก เขาก็ไม่โกรธนะ มันจึงกลายเป็นว่า PC ควรเป็น Norm ที่บังคับใช้รวมๆ หรือเปล่า…ก็พูดยากเหมือนกัน เพราะแต่ละคนจำกัดการเหยียดไม่เท่ากัน แต่ถ้าเราไปพูดกับคนอื่นก็อาจจะไม่ได้
อย่างการเรียกคนดำที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สุดท้ายคำที่ดีที่สุดก็คือ Black เมื่อก่อนเปลี่ยนไปเป็น Colored และสุดท้ายก็กลับมาเรียก Black เหมือนเดิมตามความเป็นจริง แต่ต้องยอมรับนะว่ามีแต่อเมริกาที่บ้าเรื่องนี้ เพราะพัฒนาการของ Identity politics ในอเมริกามันชัดเจน คนดำก็ถูกกดอยู่จนทศวรรษที่ 50s-60s หรือ LGBT ก็เพิ่งมีบทบาทขึ้นมาในทศวรรษที่ 70 แล้วทีนี้ก็มาผสมกับแนวคิดของนักวิชาการ Post-modern ด้วย เรื่องของอำนาจทางภาษา ก็เลยระเบิดบูมขึ้นมา แต่ในยุโรปไม่ขนาดนี้นะ อย่างตอน #METOO Catherine Deneuve (นักแสดงฝรั่งเศสที่เติบโตมาในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศ 1968) ก็ยังบอกเลยว่า ถ้าจะนู่นก็ห้ามทำ นี่ก็ห้ามพูด แล้วคนจะเฟลิร์ตกันได้ยังไง ส่วนตัวเราไม่ได้เห็นด้วยกับเดอเนิฟนะ แต่ที่จะบอกคือเส้นของความ PC ของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นมันไม่สามารถมีมาตรฐานเดียวกันกับทุกคนได้
เมื่อขอบเขตของการเหยียดแต่ละคนมีเส้นแบ่งที่ไม่เท่ากัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าการพูดในระดับไหนยังอยู่ไม่เกณฑ์ที่รับได้ ไม่ถือเป็นการเหยียด
มันจะมีเส้นบางส่วนที่ห้ามข้าม ถ้าข้ามก็เลวอยู่นะ อย่างเช่น การด่ากันไปด่ากันมาระหว่างเบียวกับเฟมทวิต เราว่าทำได้ตราบใดที่ไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัว แต่การเอาโปร์ไฟล์เขามาแขวนให้คนเข้าไปถล่ม หรือการพูดที่แสดงถึงการคุกคามทางเพศ อันนี้ไม่ได้ละ ถ้าหาตัวเจอก็ควรจัดการตามกฎหมาย แต่ถ้ามันไม่ได้ข้ามเส้นก็ต้องปล่อยไป ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหาขนาดนี้ เพราะเราไม่เห็น ทุกคนต่างก็อยู่ที่ของใครของมัน แต่เมื่อวันนี้เราเห็น มันก็พิสูจน์ความอดทนอดกลั้นเหมือนกันนะ
อย่างถ้าเป็นโปแลนด์หรือฮังการีเขาเถื่อนกันยิ่งกว่านี้อีก ถ้ากลุ่มเฟมินิสต์ตั้งแถวประท้วงในโอกาสอะไรสักอย่างหนึ่ง ฝั่งนีโอนาซี หรือ Far-right จะตั้งแถวเผชิญหน้าเลย โดยมีตำรวจคั่นอยู่ตรงกลาง ไม่งั้นกลุ่มนี้จะเข้ามาตีกลุ่มเฟมินิสต์ ซึ่งถามว่าแล้วทำไม่แบน Far-right ให้สิ้นซาก ง่ายกว่าอีก ไม่ต้องให้ตำรวจมาคอยดูแลด้วย แต่ถ้าไปตีคนอื่นยังไงก็ผิดกฎหมาย แต่การตั้งม็อบเผชิญหน้ากัน โดยที่ยังด่ากันไปด่ากันมา ถือว่ายังอยู่บนเส้นของกฎหมาย ซึ่งมันก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีพื้นที่แสดงออกถึงแนวคิดหรืออดุมการณ์ของตัวเอง
Fact Box
- พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปเรียนต่อปริญญาโทด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศคอสตาริกาและฟิลิปปินส์ ก่อนมาทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการประท้วง
- เฟมทวิต คือคำที่กลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์เรียกผู้หญิงที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือเรียกร้องในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศผ่านทางทวิตเตอร์ โดยแรกเริ่มมีความหมายในเชิงเสียดสีว่าเป็นเฟมินิสต์เทียมที่ดีแต่ฉอดไปวันๆ แต่ผู้หญิงเหล่านั้นกลับพลิกจากการถูกเรียกอย่างดูแคลน ให้กลายเป็นความภาคภูมิใจที่เป็นเฟมทวิต
- เบียว คือ กลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า ‘The sanctuary of เบียวชิบหาย’ ซึ่งภายในกลุ่มมีการโพสต์ข้อความที่เป็นมุกตลกเรื่องเพศหรือมีเนื้อหาเหยียดเพศ ไปจนถึงสนับสนุนความรุนแรงทางเพศ โดยอ้างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้เบียวยังที่มีมาจาก ‘จูนิเบียว’ (Chuunibyou) คำสแลงในแง่ลบของญี่ปุ่นที่มีความหมายว่า Middle School 2nd Year Syndrome หรือ โรคเด็กม.2 สำหรับเรียกคนที่มีพฤติกรรมต่อต้าน พยายามทำในสิ่งที่ตนเองคิดว่าเท่ และคิดว่าตัวเองรู้ไปหมดทุกสิ่ง แต่ในสายตาของคนทั่วไปมองว่ามันขัดกับตรรกะสุดๆ
- การปะทะกันระหว่างเฟมทวิตกับเบียวไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ แต่ประเด็นล่าสุดที่ถกเถียงกันในวงกว้างคือ #มองนมไม่ผิด และการเหมารวมว่าผู้ชายทั้งหมดคือ Men are trash